รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 037


    ตอนที่ ๓๗

    แต่ได้เรียนให้ทราบแล้วที่ได้ขอให้ท่านผู้ฟังระลึกอยู่เสมอว่า ปัญญาไม่ใช่ไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง สิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงคือชีวิตปกติทุกๆ ขณะ แต่คนที่มีกิเลสจะรู้ว่าตนเองมีกิเลสก็ต่อเมื่อมีสติ ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป ก็จะยิ่งเห็นตนเองนี้ชัดขึ้นว่า มีกิเลสมากมายเหลือเกิน ที่จะต้องชำระขัดออกด้วยการเจริญสติ ด้วยปัญญาที่รู้ชัดเพิ่มขึ้น มากขึ้น จึงจะละคลายได้

    คนมีกิเลส แต่ไม่รู้ตามความเป็นจริงว่ามีกิเลส ก็ไม่ปรารภความเพียรเพื่อละกิเลส อุปมาภาชนะสัมฤทธิ์ที่ละอองและสนิมจับอยู่โดยรอบ เจ้าของไม่ใช้ และไม่ขัด และยังเก็บไว้ในที่ที่มีละออง สนิมก็จับยิ่งขึ้น จักเป็นผู้มีจิตเศร้าหมองทำกาละ เป็นของธรรมดาของคนที่มีกิเลส แล้วไม่ขัดเกลาด้วยการเจริญสติ ก็ยิ่งสะสมเศร้าหมองยิ่งขึ้น เป็นผู้มีจิตเศร้าหมองทำกาละ

    บุคคลที่ ๒ เป็นบุคคลที่มีกิเลส แต่รู้ตามเป็นจริงว่ามีกิเลส บัณฑิตกล่าวว่า เป็นบุรุษประเสริฐ

    ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานถูกต้องตามความเป็นจริง บัณฑิตกล่าวว่า เป็นบุรุษประเสริฐ ประเสริฐเพราะรู้ เพราะเจริญสติ เพราะรู้ชัดตามความเป็นจริงตามปกติ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่พระอรหันต์ ยังไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล ไม่ใช่พระสกทาคามีบุคคล ยังไม่ใช่พระโสดาบันบุคคล แต่เป็นผู้ที่กำลังเจริญสติปัญญารู้ชัดตามความเป็นจริง ในลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้น ไม่ได้ผิดปกติ ไม่ใช่ว่าในการเจริญสติปัฏฐานนั้นต้องไม่มีกิเลสเสียก่อนถึงจะเจริญสติปัฏฐาน หนีไป แล้วก็ไปเจริญสติปัฏฐาน ไม่ทำอย่างนั้น ไม่ทำอย่างนี้ เพราะคิดว่าเป็นกิเลสทำไม่ได้ แต่ว่าเป็นผู้ที่เป็นบุคคลที่มีกิเลสแต่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่ามีกิเลสบัณฑิตกล่าวว่าเป็นบุรุษประเสริฐ ประเสริฐเพราะรู้ชัด ถึงแม้ว่ายังมีกิเลส เพราะฉะนั้นการเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่ว่าให้หมดกิเลสหรือไม่ให้มีกิเลสแล้วไปเจริญสติปัฏฐาน แต่ว่าการเจริญสติปัฏฐานเป็นการรู้ชัดตามความเป็นจริงตามปกติ เพื่อละการยึดถือว่าเป็นตัวตน

    คนมีกิเลส แต่รู้ชัดตามเป็นจริงว่ามีกิเลส เปรียบเหมือนภาชนะสัมฤทธิ์ที่ละอองและสนิมจับ เจ้าของใช้ขัดสี และไม่เก็บไว้ในที่มีละออง สมัยอื่นภาชนะสัมฤทธิ์นั้นจะพึงเป็นของหมดจดผ่องใส จะปรารภความเพียรละกิเลส มีจิตไม่เศร้าหมองทำกาละ

    นี่เป็นผู้ที่ขัดอยู่เสมอ และเป็นผู้รู้ด้วยว่า มีกิเลสอยู่ตรงไหน ก็ขัดได้ถูกต้อง เพราะเหตุว่าผู้ที่เจริญสติ เมื่อเจริญสติแล้วย่อมมีสมัยที่ภาชนะสัมฤทธิ์นั้นจะพึงเป็นของหมดจดผ่องใส แล้วจิตไม่เศร้าหมองทำกาละ

    บุคคลที่ ๓ คือ บุคคลที่ไม่มีกิเลส แต่ไม่รู้ชัดตามเป็นจริงว่าไม่มีกิเลสในภายใน บัณฑิตกล่าวว่า เป็นผู้เลวทราม

    ทั้งๆ ที่ไม่มีกิเลส แต่ไม่รู้ชัด บัณฑิตก็กล่าวว่า เป็นบุรุษเลวทราม ถ้าไม่เจริญ สติปัฏฐานก็ไม่เข้าใจในพยัญชนะนี้อีกเหมือนกัน เป็นคนที่ไม่มีกิเลสควรจะดี ควรจะเป็นผู้ประเสริฐ แต่เพราะไม่รู้ชัดตามความเป็นจริง ในขณะที่ไม่มีกิเลส

    บุคคลไม่มีกิเลส ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่าไม่มีกิเลส จักมนสิการสุภนิมิตมีราคะ โทสะ โมหะ มีจิตเศร้าหมองทำกาละ เปรียบเหมือนภาชนะสัมฤทธิ์ เป็นของหมดจดผ่องใส แต่เจ้าของไม่ใช้ ไม่ขัด ซ้ำเก็บไว้ในที่มีละออง สมัยอื่นภาชนะสัมฤทธิ์นั้นจะพึงเป็นของเศร้าหมอง สนิมจับได้ เพราะเหตุนั้นจึงเป็นบุคคลที่บัณฑิตกล่าวว่า เป็นบุรุษเลวทราม

    บางท่านเป็นผู้มีกุศลจิต แต่ไม่รู้ตัวเลยว่าเป็นกุศล เป็นผู้มีจาคะ มีการสละวัตถุช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้อื่น แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นกุศลในขณะนั้น เพราะเหตุว่าไม่ได้เจริญสติ ไม่รู้จักตนเองตามความเป็นจริง ก็ไม่พากเพียรที่จะขัดเกลา เพราะถ้าตราบใดที่ไม่รู้ว่ายังมีกิเลสที่ลึก ที่ละเอียด ก็จะต้องเป็นผู้ที่ประมาท ทั้งๆ ที่จิตใจมีกุศลมาก มีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต แต่เพราะไม่รู้จักสภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็ย่อมมนสิการในสุภนิมิต มีราคะ มีโทสะ มีโมหะ เพลิดเพลินไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งแต่ละท่านที่สนใจในธรรม แล้วเจริญสติปัฏฐาน คงอดไม่ได้ที่จะระลึกถึงญาติพี่น้องเพื่อนฝูงซึ่งเป็นผู้มีจิตใจที่ดีงาม แต่ก็เพลิดเพลินไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทั้งๆ ที่ท่านเหล่านั้นมีกุศลจิต แต่เพราะไม่ทราบตามความเป็นจริง ก็ทำให้เป็นผู้ที่เพลิดเพลินไปด้วยราคะ โทสะ โมหะ อุปมาเหมือนกับภาชนะสัมฤทธิ์ที่สะอาดหมดจด แต่เจ้าของไม่ใช้ ไม่ขัด ซ้ำเก็บไว้ในที่มีละออง สมัยอื่นภาชนะสัมฤทธิ์นั้นจะพึงเป็นของเศร้าหมอง สนิมจับได้ ปล่อยไป เพลินไปกับโลภะ โทสะ โมหะมากๆ เข้า จิตใจก็ย่อมจะเศร้าหมองมากขึ้นเป็นของธรรมดา

    บุคคลที่ ๔ คือ บุคคลใดไม่มีกิเลส ก็รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ไม่มีกิเลสในภายใน ย่อมจะไม่มนสิการสุภนิมิต ราคะไม่ครอบงำ มีจิตไม่เศร้าหมองทำกาละ เปรียบเหมือนภาชนะสัมฤทธิ์ เป็นของหมดจด เจ้าของใช้ขัดสี และไม่เก็บไว้ในที่มีละออง สมัยอื่นภาชนะสัมฤทธิ์นั้นก็พึงเป็นของหมดจดผ่องใสยิ่งขึ้น

    ท่านที่มีกุศลจิตอยู่แล้ว และก็รู้ชัดตามความเป็นจริง ก็ยิ่งจะทำให้ได้ขัดเกลามากขึ้น ภาชนะที่หมดจดนั้นก็ยิ่งผ่องใสหมดจดยิ่งขึ้นได้

    ท่านพระสารีบุตรกล่าวกับภิกษุทั้งหลายต่อไปว่า

    ดูกร ท่านผู้มีอายุ อิจฉาวจระที่เป็นบาปอกุศลเหล่านี้ (อิจฉาวจระได้แก่ความปรารถนา ความติดข้องในลาภ ในยศ ในสักการะ ในสรรเสริญ เป็นต้น) ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งยังละไม่ได้แล้ว ชนทั้งหลายยังเห็น ยังได้ฟังอยู่ แม้เธอจะอยู่ในป่า มีเสนาสนะอันสงัด ถือบิณฑบาตเป็นวัตร เที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอก ถือผ้าบังสกุลเป็นวัตร ทรงจีวรเศร้าหมองอยู่ ถึงอย่างนั้น เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายก็ไม่สักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุนั้น

    เปรียบเหมือนภาชนะสัมฤทธิ์ เป็นของหมดจดผ่องใส เจ้าของใส่ซากศพงู ซากศพสุนัข หรือซากศพมนุษย์ จนเต็มภาชนะสัมฤทธิ์นั้น ปิดด้วยภาชนะสัมฤทธิ์ใบอื่น แล้วเอาไปร้านตลาด ชนเห็นภาชนะสัมฤทธิ์นั้นแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า

    ท่านผู้เจริญ สิ่งที่ท่านนำไปนี้คืออะไร คล้ายของที่น่าพอใจยิ่ง พึงลุกขึ้น เปิด ภาชนะสัมฤทธิ์นั้นดู พร้อมกับการเห็นซากศพนั้นก็เกิดความไม่พอใจ ความเกลียดชัง แม้คนที่หิวก็ไม่ปรารถนาที่จะบริโภค ไม่ต้องกล่าวถึงคนที่บริโภคอิ่มแล้ว ฉันใดก็ฉันนั้น

    ท่านพระสารีบุตรกล่าวต่อไปว่า

    ดูกร ท่านผู้มีอายุ อิจฉาวจรที่เป็นบาปอกุศลเหล่านี้ อันภิกษุรูปใดรูปหนึ่งละได้แล้ว ชนทั้งหลายยังเห็น ยังได้ฟังอยู่ แม้เธอจะได้อยู่ในเสนาสนะใกล้บ้าน รับนิมนต์ ทรงคฤหบดีจีวร ถึงอย่างนั้นเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายก็ยังสักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุนั้น

    เปรียบเหมือนภาชนะสัมฤทธิ์ เป็นของหมดจดผ่องใส เจ้าของใส่ข้าวสุกแห่งข้าวสาลี ที่เลือกเอาของดำออกแล้ว แกงและกับหลายอย่างจนเต็มภาชนะสัมฤทธิ์นั้น ปิดด้วยภาชนะสัมฤทธิ์อื่น แล้วเอาไปยังร้านตลาด ชนเห็นภาชนะสัมฤทธิ์นั้นแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า

    ดูกร ท่านผู้เจริญ สิ่งที่ท่านนำไปนี้คืออะไร คล้ายของที่น่าพอใจยิ่ง พึงลุกขึ้นเปิดภาชนะสัมฤทธิ์นั้นดู พร้อมกับการเห็นข้าวสุกแห่งข้าวสาลีขาวสะอาด มีแกงและกับหลายอย่างนั้น ก็เกิดความพอใจ ความไม่เกลียดชัง แม้คนที่บริโภคอิ่มแล้ว ก็ยังปรารถนาบริโภค ไม่ต้องกล่าวถึงคนหิว ฉันใด

    ภิกษุที่แม้จะอยู่ในเสนาสนะใกล้บ้าน รับนิมนต์ ทรงคฤหบดีจีวร แต่ว่าละ อิจฉาวจระที่เป็นบาปอกุศลได้แล้ว เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายก็ยังสักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุนั้น

    เป็นเรื่องของสถานที่หรือไม่ เป็นเรื่องของการละกิเลสทั้งนั้นที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้อง

    เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังเป็นผู้ที่เจริญสติ แล้วก็เป็นสติปัฏฐานด้วย ไม่ใช่เป็นผู้ที่หลงลืมสติ เพราะเหตุว่าชีวิตนี้ก็น้อยนัก ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ ทุกขณะที่กำลังเป็นปัจจุบัน เกิดขึ้นปรากฏ ก็ควรที่จะให้สติระลึกรู้ เพื่อละความไม่รู้ เพื่อละการยึดถือว่าเป็นตัวตน ไม่ใช่ว่าท่านจะต้องเป็นผู้ที่คอยวันคอยคืน เพราะเหตุว่าในมรณสติการระลึกถึงความตายบ่อยๆ เนืองๆ มีประโยชน์อะไรถ้าไม่ใช่เพื่อให้เกิดวิริยะความเพียรที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏอยู่นี้ การที่ให้ระลึกถึงความตาย ก็เพราะเหตุว่าไม่มีใครทราบว่าจะเป็นเย็นนี้หรือพรุ่งนี้ หรือว่าวันไหน หรือว่า ณ สถานที่ใด เมื่อระลึกเช่นนี้แล้วความเพียรที่จะระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏก็เกิดขึ้น ไม่คอยโอกาส ไม่ผลัดผ่อนไปด้วยความเข้าใจผิดคิดว่าจะต้องตระเตรียม หรือว่าคิดว่าจะต้องไปสู่สถานที่นั้นสถานที่นี้ มิฉะนั้นแล้วมรณะสติจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย เมื่อระลึกแล้วก็ไม่ได้ช่วยให้ท่านเกิดความเพียรที่เจริญระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะเหตุว่าความตายเป็นสิ่งไม่แน่นอน แล้วก็ทำให้เกิดความเพียรที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏ ที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ที่เป็นชีวิตจริงๆ ของท่าน เพราะเหตุว่าการที่จะละคลายความยินดีในภพชาติ ละคลายมันยึดถือว่าเป็นตัวตนนั้น จะต้องรู้จักชีวิตจริงๆ แต่ละขณะ ไม่ใช่ของเท็จ ไม่ใช่ของหลอกลวง ไม่ใช่ของสร้างขึ้น แต่ว่าทุกๆ ขณะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ที่มีแล้วในอดีต ไม่ว่าท่านจะใส่รองเท้า ท่านจะดูนาฬิกา ท่านจะทำงาน หรือว่าท่านจะกระทำกิจใดๆ ก็ตาม ก็เป็นสิ่งที่มีปัจจัยในอดีตทำให้สิ่งเหล่านี้ต้องเกิดขึ้นเป็นชีวิตจริงๆ ที่สติจะต้องระลึกรู้ แล้วก็ละคลายการยึดถือว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลเป็นตัวตน เพราะฉะนั้นการเจริญสติปัฏฐานไม่จำเป็นที่จะต้องผลัดผ่อน หรือว่ารอเวลา หรือว่าเลือกสถานที่ แต่ว่าการระลึกถึงความตาย แล้วก็การระลึกถึงพระธรรมวินัยก็จะทำให้เกิดความเพียรที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏ

    เพื่อประกอบความเข้าใจของท่านผู้ฟัง ขอกล่าวถึงมัชฌิมนิกาย อุปริปันนาสก์ ภาค ๑ ซึ่งมีข้อความต่อหนึ่งว่า

    ณ พระวิหารเชตวัน พระผู้มีพระภาคตรัสกับพระภิกษุ ทรงแสดงสัปปุริสสูตรกับท่านพระภิกษุเหล่านั้นว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก อสัตบุรุษเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร อสัตบุรุษนั้นจึงยกตน ข่มผู้อื่น เพราะความเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตรนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ อสัปปุริสธรรม ฯ

    ส่วนสัตบุรุษแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรมคือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ย่อมไม่ถึงความหมดสิ้นไป เพราะความเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ถึงแม้ภิกษุไม่ใช่เป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร แต่เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติธรรมอันสมควร คนทั้งหลายก็ต้องบูชาสรรเสริญเธอในที่นั้นๆ สัตบุรุษนั้นทำการปฏิบัติแต่ภายในเท่านั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตรนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้นี้ก็คือ สัปปุริสธรรม ฯ

    ส่วนข้อความต่อไปก็เป็น

    อสัตบุรุษเป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ซึ่งกิเลสนั้นย่อมไม่หมดไป เพราะความเป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร

    อสัตบุรุษเป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ซึ่งกิเลสนั้นย่อมไม่หมดไป เพราะความเป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร

    อสัตบุรุษเป็นผู้อยู่โคนไม้เป็นวัตร ซึ่งกิเลสนั้นย่อมไม่หมดไป เพราะความเป็นผู้อยู่โคนไม้เป็นวัตร

    อสัตบุรุษเป็นผู้อยู่ป่าช้าเป็นวัตร ซึ่งกิเลสนั้นย่อมไม่หมดไป เพราะความเป็นผู้อยู่ป่าช้า

    นอกจากนั้นก็เป็นเรื่องของธุดงค์ ขัดเกลานานาประการ นอกจากนั้นพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสถึง อสัตบุรุษที่ได้ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ไปจนกระทั่ง เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน แล้วตรัสว่า กิเลสย่อมไม่ให้หมดไป เพราะได้ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ไปจนกระทั่ง เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน

    นี่ก็เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าถ้าเช่นนั้น ประพฤติปฏิบัติเช่นไร กิเลสจึงจะหมดไปได้ เพราะเหตุว่ากิเลสเป็นสิ่งที่ละเอียด และลึกมาก ถ้าไม่รู้ชีวิตจริงๆ เป็นปกติ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 8
    2 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ