รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 015


    ตอนที่ ๑๕

    ถามว่า ขณะที่มีสติระลึกรู้ทันลักษณะของสิ่งที่ปรากฏแต่ละทาง เช่น ระลึกรู้ลักษณะของเสียง ถ้าเสียงสิ้นลงไป นามที่ได้ยินก็ดับพร้อมกัน

    พร้อมกันได้อย่างไร พร้อมกันโดยปริยัติ หรือว่าพร้อมกันโดยสติระลึกรู้ สิ่งที่ปรากฏทางหูเป็นลักษณะของเสียง เมื่อระลึกรู้ลักษณะของเสียงแล้วเวลาที่เสียงดับลงไป นามได้ยินดับพร้อมกัน รู้ได้อย่างไรว่านามได้ยินดับพร้อมกัน ในขณะนั้นระลึกรู้ลักษณะของเสียง แล้วจะบอกว่า ในขณะที่เสียงดับไป นามได้ยินดับพร้อมกัน รู้ได้อย่างไร ในเมื่อสติระลึกรู้ลักษณะของเสียงเท่านั้น แล้วทำไมถึงรู้ว่าถ้าสิ้นเสียงลงไปนามได้ยินดับพร้อมกัน จะระลึกรู้ทั้งนามได้ยินและเสียงด้วยพร้อมกันในขณะเดียวกันไม่ได้ เพราะฉะนั้น ความรู้อย่างนี้เป็นความรู้ขั้นการศึกษา แต่ไม่ใช่ในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามก็รู้ในลักษณะที่เป็นนาม ระลึกรู้ลักษณะของรูปก็รู้ในลักษณะที่เป็นรูป เวลาที่รูปดับไป หมดไป หรือว่าขณะที่กำลังระลึกรู้ลักษณะที่ได้ยิน ได้ยินก็ดับไป หมดไป

    ผู้ถามมีความสงสัยว่า จะใช่รูปนามดับหรือไม่

    ขณะนั้น ยังไม่ได้รู้ลักษณะของนามอื่น รูปอื่น ทางตา จมูก ลิ้น กาย ใจ มากมาย เช่น ระลึกรู้ลักษณะของเสียง ถ้าสิ้นเสียงลงไป นามที่ได้ยินดับพร้อมกัน ไม่ถูก เวลาที่เสียงดับสติระลึกรู้เสียงแล้วจะไปนามที่ได้ยินดับพร้อมกันไม่ได้ เพราะว่าสติขณะนั้นไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของนามได้ยิน สติระลึกรู้ลักษณะของเสียงเท่านั้น เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นเสียงหมดก็เป็นเสียงหมด

    การเจริญสติปัฏฐานนั้น จะต้องเจริญจนกระทั่งปัญญาสมบูรณ์ขึ้นเป็นขั้นๆ ขั้นที่ ๑ คือ นามรูปปริจเฉทญาณ เป็นความสมบูรณ์ที่ประจักษ์ลักษณะของนามแต่ละนาม รูปแต่ละรูป โดยความ “ไม่ใช่ตัวตน” ทางมโนทวาร เวลานี้มีใครทราบบ้างว่ามีทางมโนทวารเกิดต่อจากทางตาทางหู กำลังเห็นขณะนี้ เห็นทางตาแล้วรูปก็ดับไป แล้วนามจะต้องรู้สีที่ปรากฏทางตานี้ต่อ หรือว่าเสียงที่ปรากฏทางหูดับไปแล้ว สภาพรู้ทางใจจะต้องรับรู้เสียงนั้นต่อจากทางหู เวลานี้มีใครทราบบ้างว่าจิตทางมโนทวารเกิดขึ้นรับรู้อารมณ์ทางตาต่อจากขณะที่กำลังเห็น รับรู้เสียงทางหูต่อจากที่กำลังได้ยินที่กำลังปรากฏทางหู

    แต่นามรูปปริจเฉทญาณ เป็นการรู้แจ้งลักษณะของนามและรูป ทีละนาม ทีละรูปที่กำลังปรากฏในขณะนี้ โดยสภาพความไม่ใช่ตัวตน เวลานี้มีเห็น บางทีสติกำลังระลึกรู้ที่เห็นก็เป็นสภาพรู้ แต่ตัวตนก็ยังมีอยู่เรื่อยๆ ยังไม่หมดไปเลย

    ไม่ใช่ว่าการเจริญสติปัฏฐานพระผู้มีพระภาคทรงบำเพ็ญบารมีหลายอสงไขยแสนกัปป์ เพื่อจะสอนให้เรามีสติระลึกรู้นิดๆ หน่อยๆ แล้วก็เป็นการรู้นามดับรูปดับ เร็วๆ อย่างนี้ไม่ได้ แต่ว่าการเจริญสติเริ่มรู้ลักษณะของนามและรูปทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะสมบูรณ์ขึ้น และผู้นั้นจะไม่รู้สภาพของนามและรูปที่ต่างกันไม่ได้

    เมื่อปัญญาสมบูรณ์แล้ว ปัญญานั้นรู้ลักษณะของนามแต่ละนามแต่ละชนิด รูปแต่ละชนิดโดยสภาพความไม่ใช่ตัวตน เพราะเวลานี้ถึงจะระลึกรู้เสียง หรือระลึกรู้ได้ยิน ก็ยังมีความเป็นตัวตนที่มีอยู่เรื่อยๆ ต่อกันทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ยังไม่ประจักษ์โดยทางมโนทวาร ถึงลักษณะที่ต่างกันของนามแต่ละชนิด รูปแต่ละชนิด ซึ่งไม่ใช่ตัวตน เมื่อปรากฏทางมโนทวารก็แยกสภาพของนามและรูปนั้นชัดเจนทีเดียวว่า รูปเป็นรูปไม่ใช่นาม นามก็เป็นสภาพรู้แต่ละอย่าง แล้วแต่ว่าลักษณะในขณะนั้นรูปใดนามใดจะปรากฏ

    ผู้ฟัง โปรดให้ความสว่างอีกข้อ คือไม่เข้าใจแจ่งแจ้งในหัวข้อต่อไปนี้ที่ว่า ทุกข์ควรกำหนดรู้ สมุทัยควรละ นิโรธควรทำให้แจ้ง มรรคควรทำให้มีขึ้น

    ท่านอาจารย์ ทุกข์ควรกำหนดรู้ ทุกข์ที่นี่หมายถึง ความเกิดขี้นและดับไปของทุกสิ่งที่เกิดปรากฏ คือนามและรูปนั่นเอง ถ้าไม่รู้ลักษณะของนามและรูปก็เป็นตัวตนที่เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นก็ไม่ได้ละ ไม่ใช่อริยสัจจ์ เพราะฉะนั้นผู้ที่รู้อริยสัจจ์ว่า ทุกข์ควรกำหนดรู้นั้น ก็เพราะเหตุว่าทุกข์นั้นไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นนามแต่ละชนิด รูปแต่ละชนิดที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ส่วนสมุทัยเป็นสิ่งที่ควรละ ก็คือ ละความต้องการในนามและรูปที่ปรากฏ เพราะรู้ว่าเป็นแต่เพียงนามและรูปเท่านั้น เวลานี้ละความต้องการในนามและรูปที่ปรากฏบ้างหรือยัง เห็นทั้งวัน ได้ยินทั้งวัน ได้กลิ่น รู้รส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึกเรื่องราวต่างๆ เกิดขึ้นและก็ดับไปตามเหตุปัจจัย ละบ้างหรือยัง สมุทัยเป็นสิ่งที่ควรละ คือละความยินดีต้องการในนามรูปที่ปรากฏ เวลาที่รู้ว่าเป็นนาม เวลาที่รู้ว่าเป็นรูป ละความต้องการที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวเป็นตน นิโรธควรทำให้แจ้ง ทุกขณะที่รู้ลักษณะของนามและรูป ก็จะทำให้เริ่มละความต้องการนามรูป เมื่อเริ่มละความยินดีต้องการ หลงยึดติดมั่นในนามรูป ก็เริ่มจะเป็นหนทางที่นำไปสู่นิพพาน ส่วนมรรคก็เป็นส่วนที่ควรทำให้มีขึ้น เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องของการเจริญสติ ถ้าหลงลืมสติก็ไม่สามารถที่จะเกิดปัญญารู้ชัดในลักษณะของนามและรูปได้

    เพื่อประกอบความเข้าใจของท่านผู้ถามว่า มีข้อความใดในพระไตรปิฎกบ้างที่ให้ทราบได้ว่า การที่ทุกข์ควรกำหนดรู้ สมุทัยเป็นสิ่งที่ควรละ นิโรธควรทำให้แจ้ง มรรคเป็นสิ่งที่ควรทำให้มีขึ้น

    ขอกล่าวถึง สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ปริญญาสูตร ซึ่งมีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย

    เมื่อเธอพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ย่อมกำหนดรู้กายได้ เพราะกำหนดรู้กายได้ จึงเป็นอันชื่อว่า กระทำให้แจ้งซึ่งอมตะ (คือ พระนิพพาน)

    กายก็มีตลอดเวลา ผู้ที่จะรู้ชัดในกายได้ คือ ผู้ที่มีความเพียรที่จะระลึกรู้ลักษณะของกาย สำหรับข้อความต่อไปก็โดยนัยเดียวกัน คือ

    ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย เมื่อเธอพิจารณาเห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ย่อมกำหนดรู้ได้ จึงเป็นอันชื่อว่า กระทำให้แจ้งซึ่งอมตะ

    ใครอยากจะรู้แจ้งนิพพานบ้าง เจริญสติกันทำไม ถ้าไม่พิจารณาให้ลึกซึ้งก็อาจจะไม่เข้าใจแม้แต่ตัวท่านเอง หรือคนอื่นก็อาจจะพลอยไม่เข้าใจท่านไปด้วย อย่างบางคนอาจจะคิดว่า ผู้ที่เจริญสติไม่ได้อยากไปนิพพาน แต่ขอให้คิดดูว่า ท่านที่ยังไม่ได้เจริญสติมาก่อน มีศรัทธา มีวิริยะ มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา เริ่มรู้ลักษณะของนาม และรูปบ้างทีละเล็กทีละน้อย ในวันหนึ่งๆ ไม่ใช่ปล่อยให้เพลินไปด้วยความรู้สึกเป็นตัวตน เป็นไปกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอย่างก่อนๆ ซึ่งความจริงในขณะนั้นท่านน้อมไปแล้วสู่นิพพานทีละเล็กทีละน้อย

    พิจารณารู้กาย รู้เวทนา รู้จิต รู้ธรรม ซึ่งมีปรากฏอยู่ตลอดเวลา แล้วสติเริ่มเกิด เริ่มระลึก เริ่มรู้ จึงเป็นอันชื่อว่า กระทำให้แจ้งซึ่งอมตะ

    สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ฉันทสูตร มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย เมื่อเธอพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ย่อมละความพอใจในกายนั้นได้ เพราะละความพอใจได้จึงเป็นอันชื่อว่า ทำให้แจ้งซึ่งอมตะ

    ส่วนข้อความต่อไปก็โดยนัยเดียวกัน คือ พิจารณาเวทนา จิต ธรรม

    เมื่อเธอพิจารณาเห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ย่อมละความพอใจในเวทนา ในจิต ในธรรมเพราะละความพอใจได้ จึงเป็นอันชื่อว่า ทำให้แจ้งซึ่งอมตะ

    ถึงแม้เวลานี้ยังไม่รู้สึกว่าหน่าย คลายความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ในนาม ในรูป ที่สติเริ่มระลึกรู้ลักษณะทีละเล็กทีละน้อย แต่วันหนึ่ง เมื่อรู้มากขึ้นก็ต้องละความยินดีความพอใจ ละการยึดถือว่าเป็นตัวตน ซึ่งเมื่อละก็เป็นการกระทำอมตะให้แจ้ง หมายความว่าย่อมสามารถรู้แจ้งนิพพานได้

    ปฏิกูลมนสิการบรรพ เป็นเรื่องของการให้ระลึกถึงสิ่งที่มีอยู่ตามความเป็นจริง อยู่ที่ตัวเอง ทุกท่านทุกคนมี แต่ว่าไม่ค่อยจะได้พิจารณาถึงความจริงว่า สิ่งที่มีอยู่นั้นเป็นของที่ปฏิกูล เป็นของที่ไม่สะอาด พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงปฏิกูลมนสิการบรรพเป็นเรื่องส่วนต่างๆ ของร่างกายนั้นก็เพื่อจะให้พิจารณาเห็นตามความเป็นจริง และจะเห็นต่อไปว่าเป็นสิ่งที่ปฏิกูลอย่างไรบ้าง

    ส่วนที่เรายึดถือกันว่า เป็นกาย เป็นเรา เป็นตัวตนนั้น พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงในมหาสติปัฏฐานสูตรว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ แต่พื้นเท้าขึ้นไป แต่ปลายผมลงมา มีหนังเป็นที่สุดรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ว่า มีอยู่ในกายนี้ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้ทบ อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนไถ้มีปาก ๒ ข้าง เต็มด้วยธัญชาติต่างอย่าง คือ ข้าวสาลี ข้าวเปลือก ถั่วเขียว ถั่วเหลือง งา ข้าวสาร บุรุษผู้มีนัยน์ตาดีแก้ไถ้นั้นแล้วพึงเห็นได้ว่า นี้ข้าวสาลี นี้ข้าวเปลือก นี้ถั่วเขียว นี้ถั่วเหลือง นี้งา นี้ข้าวสาร ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน

    ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ แต่พื้นเท้าขึ้นไป แต่ปลายผมลงมา มีหนังเป็นที่สุดรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ว่า มีอยู่ในกายนี้ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ไส้ทบ อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร ดังพรรณนามาฉะนี้

    ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกาย ในกายภายในบ้าง

    พิจารณาเห็นกาย ในกายภายนอกบ้าง

    พิจารณาเห็นกาย ทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง

    พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง

    พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง

    พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่

    อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่

    จบปฏิกูลมนสิการบรรพ

    มีใครบ้าง ที่ไม่มีสิ่งที่ได้กล่าวถึงแล้ว ผมเป็นเครื่องระลึกได้ ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก พวกนี้ แต่ละอย่างล้วนแต่เป็นสิ่งปฏิกูล คือเป็นของที่ไม่สะอาดทั้งสิ้น ไม่สามารถที่จะค้นหาสิ่งที่มีค่าในกายนี้ได้เลยสักอย่างเดียว จะเป็นเพชร แก้วมณี หรือว่าของหอม ให้บุคคลค้นหาภายในร่างกายจะไม่พบเลยสักอย่างที่มีค่าเหมือนกับเพชรนิล จินดา แก้วมณีต่างๆ หาไป ค้นไป ดูไป ก็มีแต่สิ่งที่เป็นปฏิกูลทั้งสิ้น ถ้าระลึกอยู่เสมอ ก็จะทำให้ละคลายการที่เคยยึดถือ ยินดี พอใจ ในรูปร่างกายได้

    ในพระไตรปิฎกมีข้อสังเกตว่า ไม่ว่าจะเป็นใน ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย ก็ตาม ถ้าเป็นเรื่องส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยมากใช้คำว่า อาการ ๓๒ แต่ถ้านับดูอาการที่ได้กล่าวแล้ว และแม้ในพระสูตรตอนอื่นๆ นับแล้วจะมีอาการ ๓๑ เท่านั้น แต่ว่าส่วนอาการ ๓๒ ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก มีกล่าวไว้ใน ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ภาค ๑ ซึ่งมีข้อความแสดงอาการ ๓๒ ถ้าใช้ภาษาบาลีก็จะทำให้ทราบว่า คำไหนหมายความถึงอะไร

    ในกายนี้มี เกสา ผม โลมา ขน นะขา เล็บ ทันตา ฟัน ตะโจ หนัง

    นั่นก็เป็นหมวด ๕

    มังสัง เนื้อ นะหารู เอ็น อัฏฐิ กระดูก อัฏฐิมิญชัง เยื่อในกระดูก วักกัง ไต

    หมวดต่อไป

    หะทะยัง หัวใจ ยะกะนัง ตับ กิโลมะกัง พังผืด ปิหะกัง ม้าม ปัปผาสัง ปอด

    หมวดต่อไปมี ๔

    อันตัง ไส้ใหญ่ อันตะคุณัง ไส้น้อย อุทะริยัง อาหารใหม่ กรีสัง อาหารเก่า

    นี่ก็เป็นอาการของธาตุดิน ๑๙

    หมวดต่อไปเป็นอาการของธาตุน้ำ คือ

    ปิตตัง ดี เสมหัง เสลด ปุพโพ หนอง โลหิตัง เลือด เสโท เหงื่อ เมโท มันข้น

    หมวดต่อไปเป็น

    อัสสุ น้ำตา วะสา มันเหลว เขโฬ น้ำลาย สิงฆาณิกา น้ำมูก ละสิกา ไขข้อ มูตตัง น้ำมูตร

    และประการสุดท้าย คือ

    มัตถะเก มัตถะลุงคัง มันสมอง หรือเยื่อในสมอง

    แต่ในพระไตรปิฎกนั้นใช้พยัญชนะ ๒ อย่าง มันสมอง ๑ กับเยื่อในสมอง ๑ ความจริงก็มีความหมายเหมือนกัน คือ จะใช้คำว่ามันสมอง หรือเยื่อในสมองก็เหมือนกัน

    สำหรับมันสมอง หรือเยื่อในสมองนั้นก็รวมอยู่ในเยื่อในกระดูก แต่ถ้าท่านผู้ฟังจะนับดูในพระไตรปิฎก จะพบว่าส่วนมากในพระสูตรเป็น ๓๑

    อีกประการหนึ่ง พยัญชนะเดิมที่แปลว่าม้าม ความจริงแปลว่าไต คือ วกฺกํ โบราณแปลว่าม้าม แต่โดยความหมายแล้ว วกฺกํ ไม่ใช่ม้าม แต่เป็นไต

    เพราะฉะนั้น ข้อความที่อ่านตามพระไตรปิฎกที่ว่า เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ มีอยู่ในกายนี้ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม นั่นแปลตามโบราณ แต่ที่ถูกควรจะเป็นไต และส่วนที่เป็นไตก็ควรจะเป็นม้าม

    เป็นข้อสังเกตที่ว่า ควรที่จะได้ทราบตามพยัญชนะบาลีด้วย คงไม่มีข้อสงสัยว่า ทำไมจึงได้แสดงส่วนต่างๆ ของร่างกายโดยปฏิกูลมนสิการบรรพในมหาสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่า ตามธรรมดาผู้ที่ไม่ได้เจริญสติจนกระทั่งชิน จนกระทั่งเป็นปกติ ย่อมหลงลืมสติเป็นธรรมดา วันหนึ่งๆ มีสิ่งที่จะให้ระลึกรู้ตลอดเวลาทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทั้งสี ทั้งเสียง ทั้งกลิ่น ทั้งรส ทั้งโผฏฐัพพารมณ์ก็ปรากฏ และสติบางครั้งก็ระลึกได้ บางครั้งก็ระลึกไม่ได้

    เพราะฉะนั้น เวลาที่ไม่สามารถที่จะระลึกเป็นไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย โดยนามรูป บางครั้งเวลาที่เห็นส่วนต่างๆ ส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย ก็อาจจะทำให้เกิดสติระลึกได้โดยความเป็นของปฏิกูล และก็รู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏนั้น ด้วยเหตุนี้จึงรวมอยู่ในมหาสติปัฏฐานด้วย

    ที่เราหลงยึดถือร่างกายว่าเป็นตัวเรา ขอให้คิดดูว่า มองดูแล้วก็เหมือนกับรูปต่างๆ ชิ้น ที่เอามาต่อติดกันไว้นั่นเอง ขาตัดออกได้ไหม ได้ ผม หัวใจก็ตัดออกได้ แต่ที่เอามาต่อ เอามาติด เอามารวมกันไว้ ทำให้ยึดถือว่าเป็นรูป เป็นร่างกาย แต่ความจริงแล้ว แยกออกได้เป็นแต่ละอาการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ปฏิกูล

    บางท่านคงจะสงสัยว่า ในส่วนต่างๆ ของร่างกายนี้ก็เป็นกัมมัฏฐานของสมถภาวนาด้วย แต่การเจริญสมถภาวนากับการเจริญสติปัฏฐานนั้นต่างกันที่ว่า เวลาที่ระลึกเป็นไปในส่วนต่างๆ ของกายเพื่อให้จิตสงบโดยนัยของสมถกัมมัฎฐานนั้น มีความจงใจ มีความต้องการที่จะให้จิตสงบ

    เพราะฉะนั้น จึงต้องมีวิธีที่ทำอย่างไรจิตจึงจะสงบได้ โดยผู้ที่ใช้ส่วนต่างๆ ของร่างกายเป็นเครื่องระลึกให้จิตสงบนั้นจะต้องรู้ว่ามีส่วนใดบ้าง แบ่งออกเป็นกี่ตอน หรือว่ากี่หมวด แล้วก็ท่องๆ จนคล่องทีเดียว โดยนัยของอนุโลมตามลำดับ คือ จากข้อต้นไปหาข้อท้าย และโดยนัยของปฏิโลม คือ จากท้ายมาหาต้น จนกระทั่งคล่องแคล่ว แต่จะต้องท่องด้วยปากเสียก่อน เมื่อท่องด้วยปากจนกระทั่งคล่องแคล่ว แล้วก็ท่องด้วยใจ

    การท่องด้วยใจทำให้แม่นยำ และเป็นปัจจัยที่จะให้ระลึกถึงลักษณะของส่วนต่างๆ ที่เป็นปฏิกูลเพื่อที่จะให้จิตสงบด้วย นั่นเป็นสมถภาวนา ซึ่งก็จะต้องมีวิธีศึกษา แล้วก็เจริญจนกระทั่งจิตสงบถึงขั้นที่เป็นฌานจิต

    แต่สำหรับนัยของการเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่อย่างนั้น เป็นนัยที่เมื่อระลึกลักษณะส่วนหนึ่งส่วนใดของกาย สติสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะนั้น แล้วปัญญาก็รู้ชัดในลักษณะนั้นโดยความเป็นธาตุ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 8
    13 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ