รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 029


    * * * เนื้อความช่วงต้นซ้ำกับตอนที่ 026 * * *

    (ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่

    เป็นของที่แน่นอนทีเดียวที่ว่า ถ้าตายแล้ววันหนึ่งบ้าง ๒ วันบ้าง ๓ วันบ้าง ก็ขึ้นพอง มีสีเขียวน่าเกลียด มีกายของใครบ้างที่จะไม่เป็นอย่างนี้ แต่ใครจะรู้ว่า อาจจะเป็นเย็นนี้ พรุ่งนี้ อีกเดือนหนึ่ง หรือว่าอีกปีหนึ่ง ก็ไม่มีใครที่จะพ้นสภาพอันนี้ได้เลย ถ้ามีดินน้ำไฟลมเกิดขึ้นปรากฏแล้ว ก็ต้องดับไป เพราะเหตุว่า สังขารธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา สภาพที่ไม่เที่ยงนั้น เป็นทุกข์ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ตั้งแต่เกิดทีเดียว เพียงขณะแรกที่เกิด รูปที่เกิดพร้อมปฏิสนธิจิตก็ดับ แล้วก็เกิดสืบต่อมาเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ความสิ้นไปของรูปที่เกิดปรากฏ มากเข้าๆ ก็ปรากฏให้เห็นเป็นความเสื่อม เป็นความแปรปรวนของร่างกาย ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็มีรูปที่เกิดจากกรรมบ้าง เกิดจากจิตบ้าง เกิดจากอุตุบ้าง เกิดจากอาหารบ้าง ไม่เหมือนกับซากศพที่มีแต่รูปที่เกิดจากอุตุ ไม่มีรูปที่เกิดจากกรรม ไม่มีรูปที่เกิดจากจิต ไม่มีรูปที่เกิดจากอาหาร และขอให้ดูว่า ต้นไม้ใบหญ้าทั้งหลายที่เกิดจากอุตุ ก็ยังไม่น่ารังเกียจ ไม่น่าเกลียดเท่ากับซากศพ เท่ากับดินน้ำไฟลมที่เกิดเพราะกรรม เพราะจิต เพราะอุตุ เพราะอาหาร แล้วเมื่อถึงกาลที่จะต้องเสื่อมสลายแปรปรวน ก็กลายเป็นซากที่ขึ้นพอง น่าเกลียด ยิ่งกว่าต้นไม้ใบไม้ที่มองเห็นเวลาที่ต้นไม้ใบไม้เหี่ยวแห้งตายไป ไม่น่ารังเกียจเท่ากับซากศพ ซึ่งทุกคนจะต้องเป็นอย่างนั้น ไม่มีใครหนีพ้นเลย ควรระลึกถึงความจริงข้อนี้ ระลึกบ้างหรือเปล่า ควร แต่ไม่ค่อยจะระลึก ด้วยเหตุนี้จึงเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพื่อให้ระลึกแล้วพิจารณารู้ชัดในลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏ จุดประสงค์ของการเจริญสติปัฏฐาน ก็เพื่อให้รู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แต่เพราะเหตุว่า ไม่ค่อยจะระลึกรู้ลักษณะของจริงตามปกติ จึงต้องมีเครื่องระลึกรู้หลายๆ ประการ รวมทั้งความเป็นอสุภะของกายที่ทุกคนก็จะต้องเป็นอย่างนั้น ในวันหนึ่ง

    ถ. ความเป็นอสุภะนี้จะเป็นการพิจารณาในแง่ไหน คือจะพิจารณาในแง่ของความเป็นธาตุ หรือพิจารณาในแง่ของความเป็นปฏิกูล

    ท่านอาจารย์ เวลานี้มีการเห็น ยังไม่เป็นอสุภะ มีการได้ยิน มีกลิ่น มีโผฏฐัพพารมณ์ธัมมารมณ์กำลังปรากฏ ผู้ที่สามารถระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจได้ ก็ระลึกรู้ แต่เพราะเหตุว่าวันหนึ่งๆ หลงลืมสติกันมากทีเดียว แม้จะเห็นอสุภะก็ไม่ระลึก อาจจะเข้าใจว่า ขณะนั้นเจริญสติปัฏฐานไม่ได้ จึงไม่ระลึกรู้ความเป็นอสุภะของสิ่งที่กำลังปรากฏ จากกายภายนอกก่อนก็ได้ แล้วจึงจะน้อมมาระลึกถึงความเป็นอสุภะที่จะต้องเป็นซากศพในวันหนึ่ง แต่ว่าความรวดเร็วของจิต ความรวดเร็วของอารมณ์ ความรวดเร็วของสติ ไม่ใช่มีผู้หนึ่งผู้ใดไปวางกฎเกณฑ์ว่า ให้ระลึกเป็นขั้นๆ อย่างไร เพราะเหตุว่าในขณะที่ระลึกเช่นนั้นแล้ว สติอาจจะเกิดขึ้นรู้ว่า แม้การระลึกอย่างนั้นก็เป็นนามชนิดหนึ่งเท่านั้น จึงจะตรงกับสติปัฏฐาน แต่อสุภะเป็นเครื่องให้ระลึก ไม่ควรที่จะให้เห็นอสุภะแล้วหลงลืมสติ แต่ทั้งหมดเพื่อให้รู้ชัดในลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏ แต่ว่าสิ่งต่างๆ เหล่านั้น เป็นเครื่องให้ระลึกได้ ถ้าไม่ตรัสไว้ในสติปัฏฐานสูตร เวลาที่ท่านผู้หนึ่งผู้ใดเห็นอสุภะ จะระลึกไหม ไม่ระลึก เพราะคิดว่าเจริญสติปัฏฐานไม่ได้ แต่ความจริงแล้วทุกขณะทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นเห็นอะไรก็ตาม ถ้าเนื่องกับกาย ก็เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน แม้แต่เห็นอสุภะที่ขึ้นพอง แทนที่จะผ่านไป ก็ขอให้เป็นที่ให้สติระลึก และปัญญารู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนั้น

    ถ. เวลาเห็นอสุภะ จะเจริญสติปัฏฐานอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เรื่องของการที่ไม่รู้จะเจริญสติปัฏฐานอย่างไร เป็นเรื่องที่ไม่รู้ทั้งนั้น ไม่ใช่เฉพาะอสุภะ กำลังนั่ง กำลังนอน กำลังยืน กำลังเดิน กำลังเห็น กำลังพูด ก็ไม่รู้ว่าจะเจริญสติปัฏฐานอย่างไร เพราะฉะนั้น เวลาที่เห็นอสุภะ ก็ไม่รู้ว่าจะเจริญสติปัฏฐานอย่างไร

    แต่ผู้ที่เข้าใจถูกว่า สติเป็นสภาพที่ระลึกได้ แล้วความที่เป็นปุถุชนผู้หนาแน่นด้วยกิเลสนั้น ก็ทำให้เป็นผู้ที่หลงลืมสติอยู่เสมอ เพราะฉะนั้น จึงสะสมเหตุปัจจัยด้วยการอบรมเจริญสติเนืองๆ บ่อยๆ ทุกขณะ ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาลมหายใจก็ได้ หรือว่าธาตุก็ได้ หรือว่าส่วนต่างๆ ของร่างกายก็ได้ หรือแม้อสุภะ ซากศพที่ปรากฏก็ได้ ทุกโอกาสที่สติจะระลึกรู้เป็นไปในกายได้

    บรรพต่อไป ก็เป็นเรื่องของอสุภะเช่นเดียวกัน สำหรับอสุภะทั้งหมดมีด้วยกัน ๙ บรรพ ข้อความต่อไปมีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่า พึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า อันฝูงกาจิกกินอยู่บ้าง ฝูงนกตะกรุมจิกกินอยู่บ้าง ฝูงแร้งจิกกินอยู่บ้าง หมู่สุนัขกัดกินอยู่บ้าง หมู่สุนัขจิ้งจอกกัดกินอยู่บ้าง หมู่สัตว์ตัวเล็กๆ ต่างๆ กัดกินอยู่บ้าง เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่าก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังพรรณนามาฉะนี้

    ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกาย ในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายทั้งภายในและภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่

    อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่

    ถ้าไม่ระลึกอย่างนี้จะเป็นอย่างไร สีสวยจริง รูปสวยจริง มีความยินดีพอใจเกิดขึ้น แต่ถ้าระลึกได้ก็ไม่ติด สติสามารถที่จะเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะนั้นได้ จึงควรระลึกเนืองๆ ถึงความเป็นอสุภะ ความเป็นซากศพ

    เวลานี้เหมือนกับทุกคนยังไม่เป็นอย่างนั้นเลย แต่ว่า อีกร้อยปีผ่านไป กระดูกทุกชิ้นที่อยู่ที่นี่ ก็เหมือนกับป่าช้าแห่งหนึ่ง เวลานี้ยังไม่เป็น มีมนุษย์ มีชีวิต อยู่กันเยอะแยะทีเดียว พูดคุย ยิ้มแย้มกัน สนุกสนานรื่นเริง แต่อีกร้อยปีจะเหลืออะไร เนื้อเหลือไหม ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะปรากฏความเป็นอสุภะ ถ้าคิดอย่างนี้ ในขณะนี้ ถึงเห็นมีเนื้อมีหนัง ก็เหมือนกับกระดูก ระลึกได้ไหมอย่างนี้ ถ้าไม่ระลึกก็เพลินไป สวย ชอบ ถูกใจ เพลินไปแล้ว แต่ระลึกสักหน่อยเถิดว่า นั่นกระดูก หรือว่าเนื้อ ก็แล้วแต่จะฉาบทาติดเอาไว้มากน้อยเท่าไรตามกาลเวลาที่ว่า ตอนแรกก็อาจจะขึ้นพอง แล้วก็มีสีเขียวน่าเกลียด ต่อไปจนกระทั่งถึงความเป็นกระดูก ขอให้ระลึกได้เพื่อให้ปัญญาเกิดขึ้น รู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้น

    ขอเรียนให้ทราบว่า เพราะเหตุใด อสุภะจึงเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

    เพราะเหตุว่า ทั้งๆ ที่บุคคลอบรมเจริญสติ เนืองๆ บ่อยๆ ระลึกรู้ลักษณะของนามบ้าง รูปบ้าง ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง แต่ยังไม่บรรลุอริยสัจจธรรม ยังมีกิเลส เป็นปัจจัยให้กิเลสเกิดขึ้น อกุศลธรรมเกิดขึ้น นานาชนิด ในวันหนึ่งๆ มากมายแล้วแต่ว่าใครจะสะสมมามากน้อย

    เวลาที่หลงลืมสติจึงมีมาก แล้วเวลาที่กำลังเจริญสติ แม้สติกำลังระลึกรู้ลักษณะของดิน ของน้ำ ของไฟ ของลม ของรูป ของนามใดๆ ก็ตาม แต่ยังไม่คลายเลย เพราะฉะนั้นการระลึกถึงความเป็นซากศพนี้ จะช่วยน้อมจิตของผู้นั้นให้ละคลายโดยอาศัยเครื่องระลึกคือซากศพ หรือลักษณะที่ปรากฏโดยความเป็นซากศพ นี้เป็นเรื่องของการอบรมอินทรีย์ ซึ่งถ้าท่านผู้ฟังยังไม่ได้อบรมอินทรีย์ ก็จะไม่ทราบเลย แต่ไม่ใช่ให้นึกเอา เรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน การเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานทั้งหมดที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ไม่ใช่ให้ท่านผู้หนึ่งผู้ใดนึกเอา พระพุทธโอวาทที่ได้ทรงแสดงกับท่านพระราหุลว่า ให้อบรมเจริญภาวนา เสมอด้วยแผ่นดิน เสมอด้วยน้ำ เสมอด้วยไฟ เสมอด้วยลม เสมอด้วยอากาศ แต่ไม่ใช่ให้นึกเอา วันหนึ่งวันหนึ่งว่า ใครจะกระทบกระเทียบเปรียบเปรย ก็อย่าโกรธ อย่าอึดอัด อยากขุ่นเคืองใจ ทำตัวให้เหมือนกับแผ่นดินได้ เหมือนกับน้ำบ้าง เหมือนกับไฟบ้าง เหมือนกับลมบ้าง เหมือนกับอากาศบ้าง ไม่ใช่เพียงให้นึกเอา แต่หมายความว่า ในขณะที่กำลังเจริญสติรู้ลักษณะของนามของรูป ก็ให้จิตเสมอด้วยแผ่นดิน เสมอด้วยน้ำ เสมอด้วยไฟ เสมอด้วยลม เสมอด้วยอากาศ คือไม่ยึดถือสิ่งที่กำลังปรากฏนั้นว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน นี่ก็เป็นสิ่งที่จะต้องทราบดีในขณะที่เจริญสติ ก็จะต้องมีการระลึกถึงสภาพความเป็นจริงของสิ่งที่ปรากฏด้วย มิฉะนั้นแล้วปัญญาก็จะไม่เจริญขึ้น ไม่สามารถที่จะละคลายได้

    เพราะเหตุว่า บางทีเวลาที่เห็นอสุภะซากศพที่ทิ้งไว้ในป่าช้า ฝูงกาจิกกินบ้าง ฝูงนกตะกรุมจิกกินบ้าง ฝูงแร้งจิกกินอยู่บ้าง หมู่สุนัขกัดกินอยู่บ้างเหล่านี้ หรือว่าหมู่สัตว์ตัวเล็กๆ ต่างกัดกินอยู่บ้าง อาจจะไม่คิดว่าเป็นตัวท่านก็ได้ใช่ไหม คิดว่าเป็นคนอื่น แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ก็อาจจะเป็นท่านวันหนึ่งก็ได้ ไม่เพลินไปด้วยความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ แต่ถ้าไม่ระลึกอย่างนี้ก็จะเพลินไปหลายขณะทีเดียว หรือว่าอาจจะเพลินไปตลอดเวลาก็ได้ แต่พอระลึกเช่นนี้แล้วก็ทำให้สติเกิดพิจารณาเห็นกายในกาย เห็นธรรมที่เกิดขึ้นและเสื่อมไปตามความเป็นจริงได้ ข้อสำคัญคือให้สติระลึกได้ ถ้าสมมติว่า ไม่โทรแสดงไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตร พอเห็นอสุภะในลักษณะนี้ จะมีการระลึกได้ไหม หลงลืมไปอีกเรื่อยๆ ทีเดียว

    ประการต่อไป มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่า พึงเห็นสรีระอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้าเป็นร่างกระดูก ยังมีเนื้อและเลือด ยังมีเส้นเอ็นผูกรัดอยู่ เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่าก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังพรรณนามาฉะนี้

    ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่

    อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่

    ข้อนี้ก็โดยนัยเดียวกัน เวลาที่เห็นร่างกระดูกยังมีเนื้อและเลือด ยังมีเส้นเอ็นผูกรัดอยู่ เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่าก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา เมื่อเห็นแล้วก็ไม่เพียงแต่คิดว่าเป็นอสุภะ เป็นซากศพข้างนอกเท่านั้น แม้ที่กายก็เป็นอย่างนี้ เพื่อจะได้ละคลายการยึดมั่นในร่างกายของตนเอง เคยพอใจ เคยยึดถือมากทีเดียวในร่างกายอันนี้ การยึดมั่นในร่างกายของตนเอง ประดับประดา บำรุงตกแต่ง สารพัดอย่าง แต่ถ้าระลึกอย่างนี้ ก็อาจจะทำให้มีสติเกิดขึ้น แล้วก็รู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะนั้น นี่เป็นข้อความตอนท้ายแม้ของอสุภะ บรรพนี้ก็เช่นเดียวกัน ข้อความสุดท้าย ก็จะต้องมีการ

    พิจารณาเห็นกายในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง

    โดยอาศัย การระลึกถึงอสุภะ

    ท่านผู้ฟังถามว่าในเวลาที่รับประทานอาหาร ก็เห็นอสุภะซากศพหลายชนิด ปลากุ้งไก่หมูก็แล้วแต่ชนิด จะเป็นกระดูก หรือว่าจะเป็นอะไร ควรมนสิการหรือพิจารณาอย่างไร แล้วแต่อัธยาศัย ถ้าท่านผู้ใดจะระลึกถึงความเป็นธาตุก็ได้ จะระลึกถึงความเป็นซากศพแล้วจิตสลด ในขณะนั้น ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะนั้นก็ได้ ข้อสำคัญก็คือว่า ขอให้สติระลึกได้ แทนที่จะปล่อยให้เป็นโมหะหรืออวิชชาเท่านั้นเอง ไม่มีกฎเกณฑ์ว่าจะให้ผู้หนึ่งผู้ใดระลึกอย่างนั้น เพราะเหตุว่าบางท่าน ระลึกด้วยความเป็นอสุภะ บางท่านระลึกด้วยความเป็นธาตุ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่า พึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นร่างกระดูกปราศจากเนื้อ แต่ยังเปื้อนเลือด ยังมีเส้นเอ็นผูกรัดอยู่ เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่าก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังพรรณนามาฉะนี้

    ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกาย ในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่

    อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่

    การที่ได้อ่านสติปัฏฐานทั้งหมดนั้น ก็เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟัง ได้ฟังด้วยตัวของท่านเอง เพื่อที่จะให้หมดความเคลือบแคลงสงสัย ในพระพุทธโอวาท ในพระธรรมเทศนา มิฉะนั้นแล้วท่านก็อาจจะคิดว่า คงจะไม่ได้ทรงแสดงไว้อย่างนี้แน่ คงแต่ให้พิจารณากายของตนเองเท่านั้น ไม่ใช่พิจารณากายภายนอก หรือว่ากายของบุคคลอื่นด้วย นั่นก็เป็นเรื่องความคิดของท่านเอง ความเข้าใจของท่านเอง แต่ว่าจะถูกต้องตรงตามธรรมวินัยหรือไม่ นั่นก็เป็นสิ่งซึ่งท่านผู้ฟังควรจะได้สอบทานแล้วก็ควรได้ฟังข้อความในมหาสติปัฏฐานสูตรอย่างครบถ้วนสมบูรณ์จริงๆ ถ้าสงสัยก็ควรจะได้แก้ไขความสงสัยให้หมดไปเสีย เพื่อที่จะไม่ค้านกับพระธรรมวินัย แต่ว่าความเป็นจริงแล้วถ้าเข้าใจจุดมุ่งหมายว่า ปุถุชนมีกิเลสมาก ซึ่งเป็นปัจจัยให้หลงลืมสติ จึงได้ทรงแสดงเรื่องของกายทั้งหมด ทุกประการ เพื่อให้สติระลึก ตามพยัญชนะที่ว่า สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ก็เพียงแต่สักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น

    นามรูปเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ชั่วขณะที่ระลึกถึงความเป็นอสุภะของซากศพ คิดนิดเดียวหมดแล้ว สติจะระลึกที่นามอะไรต่อไป รูปอะไรต่อไปก็ได้ เพราะเหตุว่าอาศัยการระลึกถึงอสุภะนั้นเกิดขึ้นแล้ว เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็หมดไป ก็เป็นปัจจัยทำให้สติเกิดขึ้นระลึกต่อไปถึงนามหรือรูป ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็ได้ ไม่ได้ให้จดจ้องอยู่ที่หนึ่งที่ใด หรือว่าให้เกินกว่านั้นเลย เพราะเหตุว่าสภาพของนามรูปนั้นเกิดดับอย่างรวดเร็วมาก เมื่อกายเป็นเพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น ก็แล้วแต่ว่าปัญญาจะรู้ชัดในลักษณะของนามอะไร ของรูปอะไร

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่า พึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นร่างกระดูกปราศจากเนื้อและเลือดแล้ว ยังมีเส้นเอ็นผูกรัดอยู่ เธอย่อมน้อมมาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่ายกายอันนี้เล่าก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังพรรณนามาฉะนี้

    ภิกษุย่อมพิจาณาเห็นกาย ในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่

    อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่

    ท่านผู้ฟังเรื่องจะสงสัยว่า คนที่ระลึกถึงความเป็นอสุภะหรือซากศพ ทำไมถึงยังรักสวยรักงามอยู่ เจริญสติปัฏฐานแล้วก็รู้ข้อความในมหาสติปัฏฐาน บรรพต่างๆ แต่ทำไมยังรักสวยรักงามอยู่


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 8
    25 ก.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ