รวมสติปัฎฐาน ตอนที่ 013


    ตอนที่ ๑๓

    จะต้องระลึกรู้ลักษณะที่กระทบที่ปรากฏในโพรงจมูก หรือเบื้องบนริมฝีปาก แล้วแต่ว่าแต่ละท่านจะระลึกรู้ที่ไหน

    เวลาที่ลมหายใจปรากฏ ที่จะรู้ว่าลมหายใจออกยาวจะรู้ได้จากการกระทบนาน ถ้ากระทบนิดหน่อยก็เป็นลมหายใจออกสั้น หรือหายใจเข้าสั้น ถ้ากระทบนานก็เป็นลมหายใจออกยาว หายใจเข้ายาว

    การที่สติระลึกรู้ลักษณะของลมหายใจนั้น ต้องระลึกแม้อาการของลมที่ปรากฏในเบื้องต้น คือ ส่วนที่ยาวนี้จะต้องมีการปรากฏเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดของลมหายใจด้วย

    เวลาที่ลมหายใจออกสั้น จะต้องมีการปรากฏเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด ที่กระทบสั้นด้วย เพราะเหตุว่ารูปใดๆ ก็ตามถ้าเป็นแต่เพียงรูปที่เล็กที่สุดเพียงรูปเดียว ย่อมไม่สามารถปรากฏลักษณะได้ แต่เพราะเวลาที่ลมปรากฏครั้งหนึ่งๆ นั้นหลายรูป มีทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุดด้วย ซึ่งผู้เจริญสติจะต้องมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ รู้แม้ลมที่ปรากฏเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด

    ลมเป็นสิ่งที่ละเอียด ประณีต สติสัมปชัญญะก็ต้องสมบูรณ์ละเอียดประณีต จึงจะสามารถพิจารณารู้ลักษณะของลมที่กระทบได้ เพราะฉะนั้น ถ้าใครสามารถให้สติระลึกรู้ลักษณะของลมจนกระทั่งเป็นสมาธิ ก็จะได้รับประโยชน์ของการเจริญสมาธิที่เนื่องกับลมหายใจมาก

    ใน สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ภาค ๒ ทีปสูตร มีข้อความว่า

    อานาปานสติสมาธิอันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก

    ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงเรื่องของสติที่ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า มีข้อความต่อไปว่า

    ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า จะบรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี

    ผู้ที่จะบรรลุปฐมฌานต้องมีสติสมบูรณ์พร้อมด้วยสัมปชัญญะ ถึงจะบรรลุปฐมฌานได้ ถ้าเป็น ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน โดยจตุกนัย ต้องเป็นผู้มีสติระลึกรู้ที่ลมหายใจจนกระทั่งจิตสงบขึ้นๆ เป็นฌานที่สูงขึ้น

    ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงบรรลุอากาสานัญจายตนฌาน ก็พึงมนสิการ อานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี

    ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงบรรลุวิญญาณัญจายตนฌาน ก็พึงมนสิการ อานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี

    ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงบรรลุอากิญจัญญายตนฌาน ก็พึงมนสิการ อานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี

    ถ้าแม้ภิกษุพึงหวังว่า เราพึงบรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ก็พึงมนสิการ อานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี

    อากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน อากิญจัญญายตนฌาน เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เป็นอรูปฌาน

    ผู้ที่สามารถเจริญรูปฌานจนกระทั่งถึงจตุตถฌานแล้วทิ้งนิมิต คือ รูป ไม่ใส่ใจในรูปนิมิต แต่ใส่ใจในอากาศ จนกระทั่งจิตสงบถึงขั้นอากาสานัญจายตนฌานได้ จะต้องเป็นผู้มีวสี มีความชำนาญ มีความแคล่วคล่อง รู้เรื่องของการที่จะเจริญสมาธิในขั้นสงบประณีตยิ่งขึ้น ซึ่งถ้าเป็นผู้ที่ไม่สามารถในการเจริญสติ ในการเจริญสมาธิแล้ว ก็ย่อมไม่สามารถถึงขั้นที่จะบรรลุอรูปฌานได้

    ผู้ที่จะเจริญอรูปฌานได้นั้นจะต้องบรรลุจตุตถฌานเสียก่อน ซึ่งเป็นฌานที่มีรูปเป็นอารมณ์ แล้วทิ้งรูปนิมิต ไม่ใส่ใจในรูปนิมิต จึงจะสามารถทำให้จิตตั้งมั่นคงในอรูปกัมมัฏฐาน เพราะฉะนั้น ถ้าผู้นั้นเป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์สามารถที่จะพิจารณาลักษณะของลมหายใจได้จนกระทั่งถึงจตุตถฌาน ย่อมพึงหวังว่าเราพึงบรรลุอากาสานัญจายตนฌาน โดยการที่มนสิการอานาปานสติ เป็นเบื้องต้น

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนี้แหละ ถ้าแม้ภิกษุจะพึงหวังว่า เราพึงบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แหละให้ดี

    สำหรับสัญญาเวทยิตนิโรธ ผู้ที่ได้บรรลุเป็นพระอนาคามีบุคคล และพระอรหันตบุคคลที่ได้ถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานแล้ว สามารถที่จะระงับดับจิตและเจตสิกได้ในระหว่างที่เป็นสัญญาเวทยิตนิโรธ จิต เจตสิกไม่เกิดเลย และรูปซึ่งเกิดจากจิตก็ไม่เกิดด้วย เพราะเป็นผู้ที่เห็นว่า การที่จิต เจตสิกเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจนั้น ไม่มีสาระอะไรเลย เพียงเห็นแล้วก็หมดไป ได้ยินเสียงแล้วก็หมดไป ได้กลิ่นแล้วก็หมดไป ได้รสแล้วก็หมดไป คิดนึกสิ่งต่างๆ แล้วก็หมดไป ถึงแม้ว่าจะเป็นความสงบของสมาธิก็ไม่เที่ยง ความสงบที่เป็นสมาธิ เกิดแล้วก็ดับไปๆ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีจิต เจตสิกเกิดเลย ย่อมจะเป็นการสงบระงับอย่างยิ่ง แม้ในขณะที่ยังไม่สิ้นชีวิตไปจากโลกนี้ก็ตาม

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่สามารถจะดับจิต เจตสิกได้ด้วยสัญญาเวทยิตนิโรธนั้น ก็มีแต่เฉพาะบุคคลที่เป็นพระอนาคามีบุคคล และพระอรหันต์ ผู้ที่ได้ถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานแล้วเท่านั้น

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่ออานาปานสติสมาธิอันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ถ้าเธอเสวยสุขเวทนา ก็ย่อมจะรู้ชัดว่า สุขเวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่น่ายินดี ไม่น่าเพลิดเพลิน

    ถ้าเธอเสวยทุกขเวทนา ก็ย่อมจะรู้ชัดว่า ทุกขเวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่น่ายินดี ไม่น่าเพลิดเพลิน

    ถ้าเธอเสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็ย่อมจะรู้ชัดว่า อทุกขมสุขเวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่น่ายินดี ไม่น่าเพลิดเพลิน

    ถ้าเธอเสวยสุขเวทนา เธอก็ไม่พัวพันเสวยสุขเวทนานั้น

    ถ้าเธอเสวยทุกขเวทนา เธอก็ไม่พัวพันเสวยทุกขเวทนานั้น

    ถ้าเธอเสวยอทุกขมสุขเวทนา เธอก็ไม่พัวพันเสวยอทุกขมสุขเวทนานั้น

    เมื่อเธอเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่า เสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด

    เมื่อเธอเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่า เสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด

    ย่อมรู้ชัดว่า เวทนาทั้งหมดในโลกนี้แหละ อันไม่น่าเพลิดเพลิน จักเป็นของเย็น เพราะสิ้นชีวิต เบื้องหน้าแต่กายแตก

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนประทีปน้ำมัน จะพึงลุกโพลงได้ ก็เพราะอาศัยน้ำมันและไส้ เพราะหมดน้ำมันและไส้ ประทีปน้ำมันไม่มีเชื้อ พึงดับไปฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน

    เมื่อเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่า เสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด

    เมื่อเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่า เสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด

    ย่อมรู้ชัดว่า เวทนาทั้งหมดในโลกนี้แหละ อันไม่น่าเพลิดเพลิน จักเป็นของเย็น เพราะสิ้นชีวิต เบื้องหน้าแต่กายแตก

    ในพระสูตรทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการเจริญสมาธิ แต่จะไม่สิ้นสุดลงด้วยพยัญชนะที่เป็นเรื่องของสมาธิเท่านั้น แต่จะต้องเป็นเรื่องของการรู้ความจริงเป็นอริยสัจจธรรม เช่นข้อความที่ว่า

    เมื่ออานาปานสติสมาธิ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล

    ถ้าเธอเสวยสุขเวทนา ก็ย่อมรู้ชัดว่า สุขเวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่น่าเพลิดเพลิน ไม่น่ายินดี

    ซึ่งเป็นเครื่องเตือนให้ระลึกว่า ความรู้สึกมีทุกขณะจิต ไม่เคยขาดเลย บางครั้งเป็นอุเบกขา หรือใช้พยัญชนะว่า อทุกขมสุขเวทนา บางครั้งก็เป็นสุขเวทนา บางครั้งก็เป็นทุกขเวทนา แต่เป็นเครื่องระลึกว่า แม้เวทนานั้นก็ไม่เที่ยง ซึ่งสติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของความรู้สึกในขณะนั้นตามความเป็นจริง จึงจะละการพัวพันการยึดถือเวทนาต่างๆ นั้นได้

    แม้เป็นผู้เคยเจริญอานาปานสติ และบรรลุฌานขั้นต่างๆ ก็ตาม ก็ยังจะต้องระลึกรู้ลักษณะของเวทนาที่เกิดในขณะนั้นว่า เป็นแต่เพียงสภาพความรู้สึกแต่ละชนิดที่ไม่เที่ยง และไม่พัวพัน ไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตน

    การเจริญสมาธิต้องเป็นผู้ที่สะสมมาในการเจริญสมาธิด้วย สังเกตดูจากชีวิตในขณะนี้ก็ได้ ทุกคนมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และในวันหนึ่งๆ ก็มีการเห็น มีการได้ยิน มีการคิดนึก มีสักกี่ท่านที่เจริญสมาธิ

    เมื่อการเจริญสมาธิมีน้อย และสมาธินั้นก็มีทั้งอารมณ์ที่หยาบ หรืออารมณ์ที่ประณีต โดยเฉพาะเรื่องของลมหายใจ ถึงแม้ว่าเป็นสิ่งที่มี แต่ก็เป็นสิ่งที่ประณีต

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสมาธิ มีสักกี่ท่านที่เจริญอานาปานสติจริงๆ โดยการระลึกรู้ลักษณะของลมหายใจที่กระทบที่ปรากฏทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด จนกระทั่งจิตสงบขึ้น เป็นสิ่งที่ยาก อย่างอสุภกัมมัฏฐานยังหยาบกว่าเรื่องของลมหายใจ ทุกอย่างที่เนื่องกับกายอยู่ในกายานุปัสนาสติปัฏฐาน สติระลึกที่กายก็อยู่ในบรรพของกายานุปัสนา มีท่านผู้ฟังหลายท่านสงสัยว่า ควรที่จะรู้ลักษณะของลมหายใจเพื่อจะได้หายสงสัย และเพื่อที่จะได้ช่วยผู้อื่นด้วย

    ความจริงการเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่อัตตาตัวตนที่จะไปจงใจต้องการรู้นามไหนรูปไหนเลย แล้วแต่ว่าสติจะระลึกทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ถ้าผู้ใดเคยสะสมอบรมมาที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปบ่อยขึ้น ชินขึ้น สติจะไประลึกที่ลมหายใจก็เป็นเรื่องของสติเอง แต่ไม่ใช่ว่าเวลานี้ไม่ปรากฏ แต่อยากรู้ว่า ลมหายใจนั้นเป็นอย่างไร พยายามจดจ้องทิ้งทางอื่น ทางตาไม่ระลึก ทางหูไม่ระลึกตามปกติธรรมดา และมุ่งที่จะไปรู้ลมหายใจที่กระทบว่าเมื่อไหร่จะปรากฏ

    ถ้าอย่างนั้นเป็นเรื่องของตัวตน แต่การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่ว่าทุกท่านจะรู้นามละเอียดหมดทุกประเภท แม้แต่สัมปฏิจฉนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ หรืออะไรตามที่พระสัพพัญญุตญาณได้ทรงแสดงไว้ ไม่ใช่ว่าบุคคลแต่ละบุคคลจะมีความสามารถเท่าๆ กันที่จะไปรู้นามธรรมอย่างละเอียดถึงอย่างนั้น หรือรูปธรรมที่มีอย่างละเอียด แต่ผู้ใดจะรู้มาก จะรู้น้อย จะรู้ประเภทไหน ชนิดไหน แล้วแต่สติปัญญาที่ได้อบรมสั่งสมมา

    เพราะฉะนั้น ทุกคนเพียงเจริญสติตามปกติ ไม่คำนึงถึงว่าต้องการจะรู้ลมหายใจ หรือต้องการจะรู้กลิ่นกับลมหายใจว่าต่างกันอย่างไร เพราะกระทบที่จมูกเหมือนกัน แต่ว่าลมหายใจกระทบกายปสาทะ แต่กลิ่นกระทบฆานปสาทะซึ่งมีอยู่ในที่นั้น

    บางท่านศึกษาปริยัติมาก อยากจะหายสงสัย เพื่อแก้ความสงสัยของตัวท่านเอง และของผู้อื่นด้วย ถ้ายังเป็นตัวตนที่ต้องการจะรู้ เพื่อแก้ความสงสัย ไม่มีหนทางที่จะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ แต่ตรงกันข้ามเจริญสติเรื่อยๆ รู้ลักษณะของนามและรูปมากขึ้น จนกระทั่งวันหนึ่งการที่เคยสะสมอบรมมา สติปัญญาคมกล้าขึ้นเพิ่มพูนขึ้น สติจะระลึกรู้นามหรือรูปที่ละเอียดอย่างไรก็ได้ตามควรแก่บุคคลนั้นๆ

    อย่างท่านที่เคยสะสมมาในการเจริญอานาปานสติมาในครั้งอดีตในครั้งพุทธกาล มีความชำนาญในฌาน ในสมาธิ และเวลาที่ได้ฟังการเจริญสติปัฏฐาน จิตของท่านก็น้อมไปสู่ลมหายใจเพราะเคยเจริญ แต่สติจะต้องระลึกรู้ความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตนของลม และละความยึดถือว่าเป็นตัวตน นั่นสำหรับท่านที่เคยเจริญอานาปานสติมา

    แต่ผู้ที่เป็นพุทธบริษัทในสมัยนี้ อย่าคิดที่จะเจริญสติปัฏฐานตามแบบของผู้หนึ่งผู้ใด ถ้าท่านได้ทราบว่าพระผู้มีพระภาคทรงสละรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์เพื่อเป็นบรรพชิต แล้วท่านก็คิดว่าท่านจะต้องประพฤติอย่างนั้น ในปฐมยาม หรือในมัชฌิมยาม ในปัจฉิมยาม จะต้องให้จิตสงบ ระลึกชาติ หรือรู้จุติปฏิสนธิ แล้วก็รู้แจ้งอริยสัจจธรรม นั่นเป็นการพยายามทำตามแบบ แต่ตัวท่านไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่จะไปทำตามแบบนั้นแบบนี้ เมื่อผู้ที่ได้เคยเจริญอานาปานสติมาก่อน ท่านจะเจริญสติปัฏฐาน ท่านก็ต้องตั้งต้นด้วยอานาปานสติ นั่นไม่ใช่เรื่องที่จะต้องไปทำตามแบบ แต่เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจการเจริญสติปัฏฐานให้ถูกต้อง ซึ่งแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกันเลย มีการเห็น มีการได้ยินจริง แต่บางคนเป็นโลภะ บางคนเป็นโทสะ บางคนเป็นกุศลจิต บางคนเป็นอกุศลจิต

    เพราะฉะนั้น แล้วแต่นามรูปประเภทใดเกิดกับบุคคลใด ผู้นั้นก็มีสติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่เกิดกับตนเป็นอัธยาศัยของตนจริงๆ ไม่ใช่ว่าจะต้องไปทำตามแบบบุคคลอื่น

    ถ้าสติของใครจะเกิดระลึกรู้ที่ลมหายใจ จะทำอย่างไร รีบเปลี่ยนหรืออย่างไร เป็นเรื่องของมหาบุรุษ เราไม่ใช่มหาบุรุษเจริญไม่ได้ หรืออย่างไร เรื่องของการละกิเลสยากเหลือเกิน ยากจริงๆ เวลาระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป อาจจะมีความพอใจยินดีอยู่ในขณะนั้นโดยที่ไม่ละไม่คลายได้ หรืออาจจะไม่พอใจ เป็นโทมนัส ไม่ชอบในอารมณ์นั้นก็ได้ กลัว หวั่นไหว ไม่ใช่เรื่องที่ตนเองจะรู้การเกิดดับของลมหายใจได้และรีบเปลี่ยน ก็เป็นลักษณะของตัวตนอีกแล้ว

    ถ้าผู้ใดไม่เจริญสติตามปกติจนกระทั่งชินกับนามและรูป ซึ่งไม่ว่าจะเป็นนามรูปประเภทใด ก็เป็นแต่เพียงนามเป็นแต่เพียงรูปเท่านั้น และรู้ชัดขึ้น ละคลายเพิ่มขึ้น จึงจะเป็นหนทางให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้

    แต่ก่อนที่จะถึงขั้นนั้นก็ยาก มีแต่ความหวั่นไหว ไม่พิจารณานามรูปที่กำลังปรากฏ หรือว่าดีใจตื่นเต้น เลยจดจ้องต้องการที่จะให้รู้ชัดขึ้น นี่เป็นเรื่องที่สติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปมากขึ้น ละเอียดขึ้น แล้วก็ละคลายมากขึ้น

    บรรพต่อไป ในกายานุปัสนาสติปัฏฐาน มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเมื่อเดินก็รู้ชัดว่าเราเดิน เมื่อยืนก็รู้ชัดว่าเรายืน เมื่อนั่งก็รู้ชัดว่าเรานั่ง เมื่อนอนก็รู้ชัดว่าเรานอน หรือเธอตั้งกายไว้ด้วยอาการอย่างใดๆ ก็รู้ชัดอาการอย่างนั้นๆ ดังพรรณามาฉะนี้

    ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย ภายในบ้าง

    พิจารณาเห็นกายในกาย ภายนอกบ้าง

    พิจารณาเห็นกายในกาย ทั้งภายในบ้างทั้งภายนอกบ้าง

    พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง

    พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง

    พิจารณาเห็นธรรม คือทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่

    อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอย่อมตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่

    จบอิริยาบถบรรพ

    ผู้ฟัง ข้อความว่า เมื่อเดินอยู่ ก็รู้ว่าเราเดิน เมื่อนั่งอยู่ ก็รู้ว่าเรานั่ง อย่างนี้เป็นต้น คำว่า รู้ว่าเรานั่ง เรานอน เรายืน เราเดิน อย่างนี้ “เรา” นี้คืออะไร

    ท่านอาจารย์ บางทีพยัญชนะ หรือว่ารูปประโยคในภาษาต่างๆ ก็อาจจะทำให้สงสัย หรือเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ เพราะเหตุว่าบางประโยคนั้นไม่มีประธานก็ไม่ได้ หรือว่า ถ้าไม่มีประธาน ก็ไม่ชัด

    เวลาที่เดิน ถ้าไม่มีพยัญชนะว่า รู้ว่าเราเดิน ก็อาจจะคิดว่าคนอื่นเดิน ถ้าศึกษาสอบทานพิจารณาไตร่ตรองธรรมย่อมจะเข้าใจอรรถในที่นั้นไม่คลาดเคลื่อน เพราะเหตุว่า สติปัฏฐาน เห็นกายในกาย มีคำว่า “เรา” มีคำว่า “ตัวตน” ไหม ในบรรพนั้น เห็นกายในกาย เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรม ไม่มีคำว่า อัตตาเลย ไม่มีตัวตน

    การเห็นกายในกาย คือ ที่เคยยึดถือว่าเป็นกาย ก็เห็น พิจารณารู้ตามความเป็นจริงว่า เห็นกายว่าเป็นกายไม่ใช่ตัวตนนั้น เพราะมีลักษณะอย่างไร กายนั้นมีลักษณะอย่างไรจึงไม่ใช่ตัวตน

    ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานกล่าวว่า เห็นกายในกาย ไม่ใช่เห็นตัวตนในกาย หรือไม่ใช่เห็นว่ากายเป็นตัวตน แต่ว่าเห็นกายในกาย คือ ไม่ว่าจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน ก็มีสติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏที่กายตามความเป็นจริง คือ การเห็นกายในกาย

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ได้กรุณาอธิบายคำว่า กายในกายแล้ว เพราะฉะนั้น คำว่า เรา ตัดทิ้งไป แต่อยากจะทราบต่อไปว่า พยัญชนะที่ใช้คำว่า “รู้ชัด” ว่า เดิน นั่ง นอน ยืน รู้ชัดอย่างนี้ หมายความถึงรู้ชัดอะไรแน่ รู้ชัดอิริยาบถที่เดิน หรือรู้ชัดนอกจากนี้

    ท่านอาจารย์ ถ้าจะว่ารู้ชัดในอิริยาบถ ชัด คืออย่างไรที่ว่าชัด อิริยาบถมี คือ เดินบ้าง ยืนบ้าง นั่งบ้าง นอนบ้าง ที่รู้ชัดนั้น คือว่า รู้ชัดในรูปที่ปรากฏในอิริยาบถนั้นๆ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 8
    28 ก.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ