โสภณธรรม ครั้งที่ 108


    ตอนที่ ๑๐๘

    เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่จะต้องฟังเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเป็นปรมัตธรรมโดยละเอียดไปเรื่อยๆ เพื่อที่สติจะได้ระลึกได้ แล้วก็ค่อยๆ ศึกษาสังเกต ไถ่ถอนการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล โดยแยกรู้ว่าทางตาจริงๆ มีสีหลายสีปรากฏ แต่เวลารู้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนั้นรู้แล้วว่าเป็นความคิดทางใจ เพราะเหตุว่าหลับตาแล้วก็ยังคิดได้ถึงรูปร่างสัณฐานต่างๆ เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าที่เข้าใจว่าเป็นคนเป็นสัตว์ ต้องต่างกับทางตาที่กำลังเห็น เพราะเหตุว่าทางตาที่กำลังเห็นนั้น ต้องเห็นเพียงสีต่างๆ เท่านั้น การที่มีปัญญาสามารถที่จะแยกลักษณะของปรมัตถธรรมที่ปรากฏทางตา กับการคิดนึกสืบต่อจากการเห็นทางตา จะเป็นเหตุที่จะทำให้รู้ว่า แท้ที่จริงแล้ว ปรมัตถธรรม ไม่พึงยืดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคลจริงๆ เพราะเหตุว่าสีต่างๆ ที่ปรากฏจะเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นเอง

    เพราะฉะนั้นก็จะเข้าใจขึ้นว่า แท้ที่จริงแล้วสภาพจิตที่คิดทางมโนทวาร ทำให้เกิดความจำความสำคัญหมายเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ทำให้เกิดความสุขความทุกข์ เป็นเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏทางตามากมาย สลับกันหนาแน่นสืบต่ออย่างรวดเร็ว ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทำให้ปรากฏเสมือนเป็นสิ่งซึ่งไม่มีการดับไปเลย แต่ว่าไม่ใช่ว่า พอตาเห็นก็กำหนดว่าเป็นนาม และก็สิ่งที่เห็นเป็นรูป ถ้ามิฉะนั้นแล้วการฆ่าสัตว์การทำร้ายสัตว์ก็ไม่บาป ที่ว่านะ พอเห็นคนเช่น บิดามารดา ก็เป็นเพียงนามรูปเท่านั้น ทำอะไรก็ได้ เห็นเช่นนี้ต้องผิดแน่ๆ อย่างไร

    ก็คืออย่างที่เรียนให้ทราบว่านามธรรมก็มีหลายประเภท รูปธรรมก็มีหลายประเภท การเกิดดับสืบต่อของนามธรรมและรูปธรรมทำให้ยืดถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีนามธรรมรูปธรรมที่เป็นมารดาบิดา เพราะเหตุว่าที่ถือเป็นมารดาบิดาก็คือนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเป็นผู้ที่มีพระคุณ ที่ได้กระทำคุณ ที่ได้กระทำสิ่งที่มีประโยชน์ต่อบุตรธิดานั่นเอง

    เพราะฉะนั้นผู้ใดก็ตามที่ได้รับประโยชน์เกื้อกูลจากบุพการี คือมารดาบิดาหรือผู้ที่มีพระคุณ ก็จะต้องรู้ตามความเป็นจริงด้วยว่ากุศลกรรมมี กุศลวิบากมี แต่ไม่ใช่สิ่งที่เที่ยงแท้ ที่เป็นตัวตน ที่ไม่ดับ

    เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมก็ต้องเข้าใจเหตุผลโดยละเอียด

    สำหรับเรื่องสังฆทาน ท่านบอกว่า ทั่วๆ ไปก็รู้กันว่า ถวายสังฆทานได้บุญมาก อาจารย์สุจินต์ท่านเคยบรรยายว่า ถ้านึกเช่นนั้นก็เป็นโลภมูลจิต เป็นอกุศล จะคิดอย่างไร

    เคยมีท่านผู้ฟังได้ยินว่า ดิฉันว่าเป็นโลภมูลจิตหรือเปล่า สังฆทาน ถ้าอยากได้บุญมาก นั่นเป็นโลภมูลจิต สังฆทาน เป็นกุศลสูงกว่าการถวายแก่บุคคล เพราะเหตุว่า ปาติบุคลิกทาน คือ การถวายแก่ภิกษุบุคคล แล้วแต่ว่าจะนิมนต์ภิกษุรูปใด เช่น อาจจะเป็นเจ้าอาวาสหรือว่าเป็นพระผู้ใหญ่ แล้วก็เกิดคิดว่าจะได้บุญมาก เข้าใจว่าจะเป็นเช่นนั้น แต่ว่ากุศลนั้นจะไม่สูงเท่ากับสังฆทาน เพราะเหตุว่าไม่ได้ถวายจำเพาะเจาะจงแก่ภิกษุบุคคลรูปหนึ่งรูปใด แต่มุ่งถวายต่อสงฆ์ ได้แก่ ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล แม้ว่าผู้รับจะไม่ใช่ แต่เจตนาของผู้ถวาย ถวายด้วยความนอบน้อมต่อภิกษุนั้นเสมอด้วยการนอบน้อมต่อพระอริยสงฆ์

    เพราะฉะนั้นก็เป็นกุศลทั้งในเรื่องของทานที่ไม่เจาะจง และก็ในเรื่องของจิตใจที่นอบน้อมต่อพระสงฆ์ด้วย เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นกุศลที่มีผลมากแน่นอน ถ้าจิตใจเป็นอย่างนั้นจริงๆ คือเป็นผู้ที่มีปรกติอ่อนน้อม และในการถวายก็ถวายโดยไม่เจาะจง และด้วยความนอบน้อมด้วย เพราะฉะนั้นก็ดูก็แล้วกัน ว่าจะเป็นกุศลมากไหม

    แต่สำหรับท่านที่ต้องการกุศลมาก นี่ผิดกันแล้วใช่ไหม สังฆทานจริงๆ คือจิตที่อ่อนน้อม แล้วก็ไม่ได้หวังผล โดยที่ว่าจะต้องถวายต่อภิกษุบุคคลรูปนั้นรูปนี้ แต่ว่าภิกษุผู้รับจะเป็นใครก็ได้ ผู้ถวายมีจิตที่นอบน้อมเสมอกับถวายต่อพระอริยะ

    เพราะฉะนั้นจิตขณะนั้นก็เป็นกุศลมาก เพราะฉะนั้นผลก็มาก นี่เป็นเรื่องของจิตที่เป็นสังฆทาน แต่ว่าถ้าขณะใดบุคคลใดต้องการผลมาก ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต ขณะที่ต้องการผลมาก เหมือนกับที่กำลังนอบน้อมถวายไหม

    เพราะฉะนั้นเรื่องของสังฆทาน ส่วนใหญ่ ก็เป็นที่จะพิจารณาจิตใจของผู้ที่จะกระทำสังฆทาน หรือว่าเป็นผู้ที่มีปรกติถวายเป็นสังฆทานอยู่เสมอ

    นี่คือความต่างกัน ถ้าเป็นผู้ที่ปรกติถวายสังฆทานอยู่เสมอ คือ ไม่เจาะจงภิกษุทุกครั้งที่ถวาย แล้วเวลาที่ถวายก็ถวายด้วยความนอบน้อม ผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้มีปรกติถวายสังฆทาน แต่ว่าสำหรับบางคนคิดว่าสังฆทานได้บุญมาก เพราะฉะนั้นก็อยากถวายสังฆทาน

    นี่ผิดกันแล้วใช่ไหม อยากได้บุญจึงจะถวายสังฆทาน โดยที่ไม่เข้าใจเลยว่าสังฆทานนั้นคือจิตในขณะที่นอบน้อมถวายต่อภิกษุโดยที่ไม่เจาะจง

    เพราะฉะนั้นที่ท่านว่าดิฉันว่าเป็นโลภมูลจิต ท่านก็ควรจะทราบว่า ที่เป็นโลภมูลจิตไม่ใช่ในขณะที่เป็นสังฆทาน แต่เป็นโลภมูลจิตในขณะที่อยากจะได้ผลมากของสังฆทาน

    เพราะฉะนั้นท่านผู้นั้นไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปรกติถวายสังฆทาน แต่ผู้ที่จะทำสังฆทานเพราะเหตุว่าจะได้ผลมาก เพราะฉะนั้นท่านผู้ฟังทุกคนก็จะพิจารณาจิตใจของตนเองได้ว่า ท่านเป็นบุคคลประเภทไหน จะถวายสังฆทานเพราะเหตุว่าจะได้บุญมาก หรือว่าเป็นผู้ที่มีปรกติถวายสังฆทานอยู่เสมอ

    เคยได้ยินบ่อยๆ ไหม ที่มีผู้ที่จะทำสังฆทาน แสดงถึงความเข้าใจของบุคคลนั้นหรือเปล่า ว่าเข้าใจถูกหรือเข้าใจผิดในเรื่องสังฆทาน แสดงว่าต้องเข้าใจผิดแล้ว จะทำสังฆทาน แล้วไม่ทราบว่าท่านผู้นั้นจะทำได้หรือเปล่า ถ้าไม่เข้าใจเรื่องของสังฆทาน

    แล้วเวลาที่บางท่านทำสังฆทานแล้ว คือท่านคิดว่าท่านทำสังฆทานแล้ว ท่านก็มาบอกว่าท่านพยายามจะให้เป็นสังฆทานแต่ก็ไม่เป็น เพราะเหตุว่าใจของท่านไม่ยอมที่จะอ่อนน้อม เป็นจิตใจที่กระด้าง สำคัญตน

    นี่ก็เป็นการที่รู้ลักษณะของจิตซึ่งทำให้เห็นว่า ถ้าปรกติไม่ใช่ผู้ที่อ่อนน้อม และถึงเวลาจะบังคับให้อ่อนน้อม จะเป็นไปได้ไหม เพราะฉะนั้นถ้าปรกติท่านเป็นผู้ที่มีความนอบน้อมต่อพระภิกษุสงฆ์ เพราะเหตุว่าไม่จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงปฏิปทาหรือข้อปฏิบัติของภิกษุบุคคล เพราะเหตุว่าบุคคลทำกรรมใดก็ได้รับผลของกรรมนั้น เป็นของที่แน่นอนที่สุด ไม่ว่าบรรพชิตหรือคฤหัสถ์

    เพราะฉะนั้นคฤหัสถ์ก็มีกิจของคฤหัสถ์ที่จะต้องนอบน้อมต่อพระภิกษุ โดยที่ว่าไม่ต้องคำนึงถึงแต่ละบุคคลว่าพระภิกษุนั้นปฏิปทาเป็นอย่างไร ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีปรกตินอบน้อม เวลาที่ถวายทานต่อพระภิกษุ ท่านก็ยังคงเป็นผู้ที่ถวายด้วยความนอบน้อมอยู่ ไม่จำเป็นที่ท่านจะต้องเป็นผู้ที่แข็งกระด้าง มีความสำคัญตน ไม่นอบน้อม แต่เวลาที่จะทำสังฆทานก็จะนอบน้อมขึ้นมา ซึ่งเป็นสิ่งซึ่งเป็นไปไม่ได้ ทำไม่ได้ เพราะเหตุว่าปรกติ ไม่เคยนอบน้อม

    ด้วยเหตุนี้จึงควรเป็นผู้ที่เข้าใจเรื่องของกุศล ว่าความนอบน้อม จิตใจอ่อนโยนเป็นกุศลชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถที่จะนอบน้อมต่อบุคคลอื่นที่ควรแก่การนอบน้อมได้ ถ้าปรกติเป็นอย่างนี้ เวลาถวายทานทุกครั้งก็เป็นสังฆทานได้ โดยที่ว่าไม่ใช่ว่าอยากจะทำสังฆทาน พอทำเสร็จแล้วก็มาบอกว่าไม่ใช่สังฆทาน เพราะเหตุว่านอบน้อมไม่ได้ จิตใจในขณะนั้นไม่เป็นสังฆทาน

    เพราะฉะนั้นเรื่องของการฟังพระธรรมนี่ก็ขอให้พิจารณาโดยละเอียด

    พระ เรื่องทำสังฆทานอาตมาก็เป็นสมมติสงฆ์ ก็เคยมีผู้ที่บอกว่าจะทำสังฆทาน หรือว่านิมนต์ไปทำสังฆทานก็หลายครั้งอยู่ เสร็จแล้วอาตมาก็ถามว่า ทำไมต้องทำสังฆทาน คือที่ถามเช่นนั้นก็คือ จะให้เขาเข้าใจนั่นเอง เขาบอกว่าเขาบนมา แล้วก็เค้าบอกเขาทำสังฆทานแล้ว เค้าจะได้บุญเยอะ แล้วก็โรคภัยก็จะหายไป อาตมาก็เลย ให้ความเห็นอย่างโยมให้ความเห็น เสร็จแล้วคนต่างๆ ที่เขาทำกันทุกวันนี้ เพื่อเป้าหมายทั้งนั้นเลย เพราะฉะนั้น สิ่งที่เขาคิด คิดว่าเป็นโลภแน่นอนเพราะว่าเขาต้องการแก้ไขปัญหาที่เค้ามีอยู่ แต่เขาไม่คิดหรือไม่รู้ว่ากุศลจิตนั้นคืออะไร คือไม่เข้าใจลักษณะของทานจริงๆ หรือบุญจริงๆ คิดวาดภาพเอาว่าทำสิ่งนี้แล้วสิ่งโน้นจะหายไป แล้วก็มีอีกจากประสบการณ์ อาตมาคิดว่า สังเกตจิตในขณะที่กราบพระสงฆ์ กราบพระครั้งที่สาม ทุกครั้งจิตไม่ผ่องใสทุกครั้ง จะชี้ให้เห็นว่าบางครั้งเราก็ไม่ได้คิดถึงพระอริยสงฆ์ทุกครั้ง ในขณะที่ผู้ที่จะทำสังฆทาน อาตมาคิดว่า ลองสังเกตจิตในขณะที่กราบพระสงฆ์ หรือว่าเคารพถึงคุณพระสงฆ์ดูว่ารู้จักพระสงฆ์จริงๆ แล้วหรือยังว่า พระอริยสงฆ์คือใคร แล้วก็การทำสังฆทานนั้นกุศลจิตเป็นอย่างไร อาตมาคิดว่าสำคัญตรงนี้

    ท่านอาจารย์ ข้อสำคัญคือไม่เจาะจงภิกษุผู้รับ คือว่าไม่เลือกบุคคล แล้วก็ถวายด้วยการนอบน้อม เหมือนกับถวายต่อพระอริยสงฆ์ ท่านจะเป็นหรือไม่เป็นไม่สำคัญเลยเจ้า แต่ว่าการถวายด้วยการนอบน้อมในสงฆ์ แม้ว่าภิกษุผู้รับเป็นภิกษุบุคคลรูปหนึ่งรูปใดก็ได้

    พระ เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับการที่จะนอบน้อมบ่อยๆ เพราะว่าเดี๋ยวนั้นจะเกิดไม่ได้ง่าย

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เป็นผู้มีปรกตินอบน้อมก็เกิดยาก เพราะว่าไปบังคับให้เกิดในขณะหนึ่งขณะใดก็เป็นไปไม่ได้เจ้า

    พระ แล้วก็ประสบการณ์ในแต่ก่อนที่เริ่มฟังใหม่ๆ แต่ก่อนนั้นอาตมาฟังพระธรรม เป้าหมายไม่ใช่เพื่อละคลายอกุศล หรือว่าให้รู้อริยสัจจธรรม แต่ก่อนเริ่มฟังธรรม อาตมาก็มีความคิดคล้ายๆ กับเจ้าของจดหมายเมื่อกสักครู่ คิดว่าลักษณะที่รู้ว่าอะไรเป็นรูปเป็นนามแล้ว บาปและอกุศลไม่มี หรือว่าการที่ปฏิบัติธรรมเพื่อจะรู้รูปนามทำอะไรก็ได้ ในขณะนั้นฟังนิดเดียวเท่านั้นเอง ฟังว่ารู้รูปนาม แต่ไม่รู้ว่ารู้เพื่ออะไร แล้วหลังจากนั้นพอเริ่มรู้อีกหน่อย ก็เที่ยวไปบอกใครว่าเดี๋ยวนี้จริงๆ แล้ว มันเป็นสิ่งนี้สิ่งนี้ เป้าหมายก็เพื่อว่ารู้มากกว่าคนอื่น เอาความรู้นี้ไปใช้ว่ารู้มากกว่าคนอื่น แล้วก็ปฏิบัติ จริงๆ แล้ว ไม่ได้ปฏิบัติ คิดเอาทั้งนั้นเลย พอคิดเอาแล้วปัญหาเกิดขึ้นมาก เพราะว่าความไม่เข้าใจธรรม แต่ก็เริ่มฟังไปเรื่อยๆ พอฟังไปเรื่อยๆ ก็เริ่มรู้จักกุศลจิตนิดๆ หน่อยๆ ขึ้นมา ก็เริ่มเห็นความต่างกันของกุศลจิต อกุศลจิต จนกระทั่งปัญญาก็จะเริ่มรู้ว่าการศึกษาธรรม มันเป็นเรื่องของความรู้มากกว่าความที่อยากจะไปเอา คือขอให้รู้ก่อน ถ้าไม่รู้แล้ว รีบๆ ไปเอาแล้ว ได้เหมือนกัน แต่ได้ผิด เพราะว่าไปคิดเอาเองแล้วเข้าใจเอาเอง อย่างที่โยมว่า อ่านจดหมาย จดหมายจากโยมจะเห็นว่า ฆ่าไก่ก็ฆ่าได้ แต่เขาไม่เข้าใจหรอกว่า มันเป็นเรื่องของความคิด แต่ถ้าประจักษ์อริยสัจจธรรมแล้ว สิ่งนั้นมันมีชั่วขณะเล็กน้อยมาก แล้วจะไปฆ่าทำไม ซึ่งขัดแย้งกับความคิดของเขาว่า ถ้ารู้รูปนามแล้วก็ฆ่าได้ มันจะเป็นไปได้ยังไงในเมื่อสิ่งนั้นน่ะไม่มี ไม่ใช่ไก่ หรือว่าเป็นเพียงสภาพธรรมเดี๋ยวเดียวชั่วขณะ จะไปหาฆ่าใครก็ไม่มีแล้ว เพราะฉะนั้น จิตใจย่อมน้อม เพราะว่าอวิชชาเริ่มคลายที่จะรู้อริยสัจจธรรมแล้ว อาตมามีความเห็นอย่างนี้ เพราะว่าตัวอย่างเคยเป็นมาแล้วเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลและเป็นผู้ที่สมบูรณ์ในศีลห้า นี่ก็แสดงให้เห็นว่าไม่มีเจตนาฆ่าแน่นอน เพราะเหตุว่ารู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมจนไม่มีเจตนาที่จะฆ่า นามธรรมและรูปธรรมก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ ทำไมจะต้องฆ่า

    พระ ที่ฆ่าเพราะว่าจริงๆ แล้ว เห็นเป็นไก่แล้วอยากจะกินไก่ แล้วคิดถึงเนื้อไก่ แล้วก็เคยสะสมการฆ่า

    ท่านอาจารย์ เพราะไม่รู้ลักษณะของนามธรรมแล้วรูปธรรม เจ้า แล้วก็ไม่รู้ลักษณะสภาพของจิตที่เป็นกุศลและอกุศลด้วย แล้วก็ไม่รู้เหตุปัจจัยของการที่กุศลจิตหรืออกุศลจิตจะเกิด แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปรกติเจริญสติปัฏฐาน และปัญญาเกิดจริงๆ สภาพธรรมทั้งหมดที่เป็นปรกติประจำวันก็จะปรากฏโดยลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ไม่มีเจตนาฆ่าแน่นอน

    พระ นี่อีกปัญหาหนึ่งของอาตมา คือ ตามที่ศึกษาปริยัติ การที่สภาพธรรมปรากฏทางปัญจทวาร สมมติว่าเสียงเป็นอารมณ์ที่ปรากฏ ขณะนั้น อารมณ์นั้นกระทบปสาท สภาพรู้ก็เกิดขึ้นที่ปสาทโดยรู้อารมณ์ที่ปรากฏ ทีนี้การที่จะน้อมรู้ลักษณะของปสาทได้ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่าเป็นรูปหยาบ นามธรรมเป็นสภาพที่ละเอียดกว่า ในขณะที่สภาพของรูปซึ่งไม่รู้อารมณ์กำลังปรากฏ ถ้าสติเกิดขึ้น ค่อยๆ น้อมศึกษาในลักษณะของปสาทที่กำลังกระทบ เพราะว่าปริยัติบอกว่า ในขณะที่เสียงกระทบปสาท ก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดโสตวิญญาณ ทีนี้ถ้าไม่มีปสาทในภูมิที่มีขันธ์ ๕ โสตวิญญาณเกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นสติเกิดขึ้นค่อยๆ น้อมในสภาพที่ถูกกระทบอยู่ ซึ่งเป็นสภาพกระทบได้แต่เสียง กระทบสี กระทบรู้อย่างอื่นไม่ได้ ขณะนั้นถือว่าเป็นการน้อมรู้ลักษณะของปสาท จะถูกหรือจะผิด อาตมาพิจารณาตามความเข้าใจที่ได้อ่านจากปริยัติ

    ท่านอาจารย์ รูปหยาบ คือ โอฬาริกรูป มี ๑๒ รูป ในรูป ๒๘ รูปที่เป็นรูปหยาบมี ๑๒ รูป ๑๒ รูปนั้นก็คือ รูปารมณ์ สีสันวัณณะ สีต่างๆ ที่ปรากฏทางตา ๑ รูป สัททะ คือ เสียง ๑ รูป คันธะ คือ กลิ่น ๑ รูป รสะ คือ รส ๑ รูป โผฏฐัพพะ ๓ รูป คือ ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม รวมเป็น ๗ รูป และปสาทรูป ๕ คือ จักขุปสาทรูป ๑ โสตปสาทรูป ๑ ฆานปสาทรูป ๑ ชิวหาปสาทรูป ๑ กายปสาทรูป ๑ รวมเป็น ๑๒ รูป

    ในบรรดารูปหยาบ ๑๒ รูปนี้ รูปใดปรากฏ

    พระ สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ รู้ชัด รู้จริงๆ ว่าไม่ใช่ตัวตน หรือเปล่า ถ้าไม่รู้แล้วไปคิดถึงปสาทรูป ก็เป็นเรื่องนึก แล้วก็เป็นเรื่องเจาะจง เป็นเรื่องตัวตนที่จะรู้ลักษณะของปสาทรูป เมื่อปสาทรูปไม่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม คือการที่จะต้องอบรมเจริญปัญญาขั้นต้นทีเดียว สิ่งใดกำลังปรากฏแล้ว เคยเข้าใจผิด เคยไม่รู้ลักษณะจริงๆ ของสิ่งนั้น อย่างที่บางท่านกล่าวว่า เหมือนอยู่ในโลกของความลวง คือ ลวงให้เห็นว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเรื่องราวต่างๆ แท้ที่จริงแล้วก็เป็นเพียงสีที่ปรากฏทางตา เสียงที่กระทบหูแล้วก็ดับ กลิ่นกระทบจมูกแล้วก็ดับ รสกระทบลิ้นแล้วก็ดับ โผฏฐัพพะกระทบกายแล้วก็ดับ แต่ลวงให้เห็นเป็นสิ่งต่างๆ ให้เห็นเป็นเรื่องต่างๆ แล้วอย่างนี้เมื่อไรจะละการยึดถือสภาพธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตน ตราบใดที่สิ่งต่างๆ เหล่านั้นยังลวงได้

    เพราะฉะนั้นเมื่อสีลวงให้เห็นว่าเป็นคน เป็นสัตว์ การที่จะละคลายก็จะต้องประจักษ์ลักษณะจริงของสิ่งที่ปรากฏ ไม่ต้องไปนึกถึงจักขุปสาทดีกว่าไหม เพราะเหตุว่าบางท่านที่ได้ศึกษาปรมัตถธรรมทั้งเรื่องของจิต เจตสิก รูป และได้ทราบว่า รูปประเภทไหนเป็นรูปหยาบ รูปประเภทไหนเป็นรูปละเอียด ก็เกิดความคิดที่จะรู้ปสาทรูปต่างๆ แต่ขณะนี้ปสาทรูปปรากฏหรือเปล่า แต่ปสาทรูปไม่ปรากฏ แต่ว่าสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏก็ยังลวงให้เป็นสัตว์ บุคคลต่างๆ ควรที่จะได้พิจารณาศึกษาไถ่ถอนความสำคัญผิดที่ยึดถือรูปที่ปรากฏว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน โดยไม่ต้องคำนึงถึงรูปอื่นๆ เลย เพราะเหตุว่าปัญญาจะต้องรู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏ เช่นเดียวกับผัสสเจตสิก เป็นนามธรรม เป็นสภาพที่เกิดกับจิต ดับพร้อมจิต เป็นสภาพที่กระทบอารมณ์ที่จิตรู้ ผัสสะเองก็รู้อารมณ์โดยการกระทบอารมณ์ที่ผัสสะรู้โดยกระทบ

    ใครรู้ลักษณะของผัสสะ ที่จะกล่าวว่า รูปารมณ์กระทบกับจักขุปสาท หรือสัททารมณ์กระทบกับโสตปสาท หรือจะกล่าวว่า ผัสสเจตสิกกำลังกระทบกับสัททารมณ์ ผัสสเจตสิกกระทบกับรูปารมณ์ นี่เป็นเรื่องชื่อ แม้ว่าในขณะนี้สภาพของผัสสเจตสิกกำลังทำกิจนี้อยู่แล้วแน่นอน กำลังเห็น ก็ต้องมีผัสสเจตสิกกระทบอารมณ์ รูปารมณ์จึงปรากฏแก่จิตที่รู้รูปารมณ์ได้ แม้กระนั้นก็ไม่ใช่ว่าจะต้องไปพยายามรู้ลักษณะของผัสสเจตสิก ทั้งๆ ที่ในขณะนี้เอง ผัสสะก็กำลังกระทบอยู่

    ถ้าผัสสะไม่กระทบ เวทนา ความรู้สึกต่างๆ มีได้ไหม ก็มีไม่ได้ที่เห็นแล้วจะชอบพอใจ ก็แสดงอยู่ชัดเจนว่า เพราะผัสสะกระทบจึงเกิดเวทนา จึงเกิดความดีใจบ้าง เสียใจบ้างในอารมณ์ที่ปรากฏ แต่แม้กระนั้นก็แล้วแต่ว่า ลักษณะของสภาพธรรมใดจะเป็นสติปัฏฐาน คือ เป็นสิ่งที่สติกำลังระลึกรู้ที่สิ่งนั้น เช่น ความรู้สึก เป็นของจริง รู้ได้ ขณะนั้นก็มีผัสสเจตสิก แต่ว่าความรู้สึกที่ดีใจ หรือความรู้สึกที่เสียใจ ความรู้สึกที่เฉยๆ มี ก็ควรที่ปัญญาจะระลึกจนกระทั่งรู้ว่า แม้ความรู้สึกนั้นก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่มีการจงใจที่อยากจะรู้ปสาทรูป หรือผัสสเจตสิก หรือนามธรรมใดรูปธรรมใดเลย เพียงว่า เมื่อสติเกิด สติเป็นสภาพที่ระลึกรู้ที่อารมณ์ที่ปรากฏ มีอารมณ์ที่กำลังปรากฏสั้นๆ นิดเดียวชั่วขณะ ปรากฏบ่อยๆ เนืองๆ สติระลึกได้

    อย่างท่านที่จะกล่าวว่า เห็นเมื่อกสักครู่นี้ก็ดับไปแล้ว ก็จริง แต่เวลานี้ก็มีเห็นที่สติจะระลึกได้ อ่อนหรือแข็งเมื่อกสักครู่นี้ก็ดับไปแล้ว แต่ก็มีอ่อนหรือแข็งที่สติจะระลึกได้

    เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องไปคำนึงถึงสิ่งที่เกิดดับสืบต่อกัน เพราะเหตุว่าปัญญายังไม่ได้ประจักษ์การเกิดดับสืบต่อกัน เพราะเหตุว่าปัญญาจะต้องรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ ซึ่งแยกขาดจากลักษณะของรูปธรรมแต่ละทางก่อน ไม่มีกิจอื่นเลย นอกจากศึกษาลักษณะของนามธรรมจริงๆ เพื่อที่จะได้รู้ว่าไม่ใช่เราที่กำลังเห็น เป็นแต่เพียงอาการรู้หรือธาตุรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 25
    11 ก.พ. 2565

    ซีดีแนะนำ