โสภณธรรม ครั้งที่ 140


    ตอนที่ ๑๔๐

    อภิธรรม หมายถึงธรรมส่วนละเอียด คือ ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า นามธรรมทุกประเภท รูปธรรมแต่ละชนิด ทำให้เราฉลาดที่จะรู้ว่า สิ่งที่เราไม่เคยรู้ แล้วก็หลงยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นร่างกายทั้งแท่ง แท้ที่จริงแล้วมีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ พร้อมที่จะแตกสลายเป็นผงจุนละเอียดยิบเมื่อไรก็ได้ เท่ากับว่าผงคลีหรือว่าฝุ่นแต่ละส่วนเล็กๆ มารวมกัน เกิดเพราะกรรมบ้าง เกิดเพราะจิตบ้าง เกิดเพราะอุตุ ความเย็นความร้อนบ้าง เกิดเพราะอาหารที่เราบริโภคเข้าไปบ้าง ทำให้ร่างกายนี้คงดำเนินต่อไปได้ และเราก็ยึดถือว่า สิ่งที่รวมกันนี้เป็นเรา แต่ถ้ารู้ว่ามีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ และแตกสลายไปเมื่อไร เมื่อนั้นก็หาความเป็นเราไม่ได้

    ถาม ...

    ท่านอาจารย์ แสดงให้เห็นว่า เหตุกับผลต้องตรงกัน ถ้าเราทำอกุศล ทำแต่สิ่งที่ไม่ดี และเราก็ขอแต่สิ่งที่ดี จะเป็นไปได้ไหม อย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ถ้าเราทำแต่สิ่งที่ดี และจะให้สิ่งที่ไม่ดีเกิดขึ้นกับเรา เป็นไปได้ไหม

    เพราะฉะนั้นเหตุกับผลต้องตรงกัน ถึงแม้ว่าไม่ขอ แต่ถ้าทำดี ผลก็คือ เห็นดี ได้ยินดี ได้กลิ่นดี ลิ้มรสดี กระทบสัมผัสสิ่งที่ดี

    ผู้ฟัง ...

    ท่านอาจารย์ มีกรรมและก็มีผลของกรรม

    ผู้ฟัง ...

    ท่านอาจารย์ ต้องปัญญาเท่านั้น ใครทำอะไรไม่ได้เลย กิเลสเขาทำหน้าที่ของกิเลส คือ โลภะเขาก็มีกิจหน้าที่ของเขา คือ ติดทุกสิ่งทุกอย่าง เห็นแล้วก็ชอบอยากได้ ได้ยินเสียงก็ติดข้อง มีความยึดมั่นไม่สละ นั่นคือกิจของโลภะ ถ้าโทสะก็เป็นสภาพที่หยาบกระด้าง ขณะใดที่เกิดขึ้นเขาก็แข็งกระด้าง ขุ่นเคือง ทำร้ายทำลายทุกอย่าง นั่นคือลักษณะของโทสะ

    ส่วนปัญญาเขาก็มีกิจที่ตรงกันข้ามกับอกุศล เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า เราทำอะไรไม่ได้เลย ถ้าเรารู้กิจของปัญญา ถ้าปัญญาสามารถที่จะรู้ว่าสิ่งใดผิด สิ่งใดถูก สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร เราก็จะอบรมเจริญปัญญา ให้ปัญญาเกิดขึ้นแล้วก็ทำกิจของปัญญาได้ แต่ถ้าปัญญาไม่เกิด แล้วจะอ้อนวอนขอให้เราเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ก็เป็นไปไม่ได้ และอยู่ดีๆ ปัญญาก็เกิดไม่ได้ ต้องอบรมเจริญให้ค่อยๆ เกิดขึ้น

    ถาม ...

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเราอุทิศส่วนกุศล เวลาทำกุศลแต่ละครั้งเราอุทิศได้ ส่วนอกุศลเราก็ไม่อุทิศให้ใคร เพราะฉะนั้นหลังจากทำกุศลแล้วอุทิศทันที เฉพาะกุศลที่ทำ แต่ไม่ต้องไปคิดถึงขณะอื่น ทำกุศลสำเร็จขณะใด ก็อุทิศเฉพาะกุศลที่ทำอันนั้นให้

    ถาม ...

    ท่านอาจารย์ กุศลจิตบางขณะเกิดร่วมกับความรู้สึกเฉยๆ ปานกลาง บางขณะก็เกิดร่วมกับความปีติโสมนัส เพราะฉะนั้นเราก็บังคับไม่ได้ บางขณะที่เราทำกุศล เราก็ปีติ บางขณะเราก็เฉยๆ แต่ให้ทราบว่ากุศลเป็นธรรมฝ่ายดี ไม่ว่าจะเกิดร่วมด้วยกับโสมนัส ความปีติหรือไม่เกิดร่วมด้วยกับโสมนัสก็ตาม ก็ยังเป็นกุศล

    ผู้ฟัง ...

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจะทราบได้ว่า สภาพธรรมแม้แต่จิตของเราก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา สัมมาสติคือขณะที่ระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิต แล้วก็เห็นความไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน คือ จุดเริ่มของปัญญา ไม่ใช่ไปเห็นอย่างอื่น หรือทำอย่างอื่นเลย แต่เจอของจริงๆ คือ ขณะที่กุศลจิตเกิดไม่เกิดปีติ ขณะนั้นก็เกิดกับปีติ

    ถาม ...

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นพุทธศาสนิกชนจะต้องเป็นผู้มั่นคงไม่หวั่นไหวในเหตุในผล คือ ในกรรมและผลของกรรมของตนเอง

    จะต้องไม่หวั่นไหวจริงๆ อย่างคนที่ได้รับอุบัติเหตุ ถ้าไม่เคยมีกรรมมาก่อนเลย จะไม่มีร่างกาย ซึ่งบางวันจะกระทบกับสิ่งที่สบาย บางวันก็จะกระทบกับสิ่งที่ไม่สบาย แต่ถ้าถูกโจรผู้ร้ายประทุษร้าย ก็อาจจะคิดว่าที่กำลังเจ็บปวดเพราะโจรผู้ร้าย ลืมว่าไม่ใช่เลย ถึงแม้ไม่มีโจรผู้ร้าย ตกเครื่องบินก็ได้ ตกรถไฟก็ได้ ถูกรถทับก็ได้ อะไรก็ได้ ทุกอย่างที่จะเกิดขึ้น แต่พอมีบุคคลอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องเลยคิดว่าเพราะคนอื่น ฉันใด เวลาที่จะได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ ก็คิดว่าเพราะคนอื่นให้ แต่ลืมว่าเป็นเพราะกรรมของเราเอง คนอื่นจะให้ได้อย่างไรในเมื่อเขาเองก็มีกรรมของเขาเอง เป็นของเขา จะไปทำกรรมให้คนอื่น เป็นไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้นคำว่า “พร” หรือ “วรัง” ที่แปลว่าประเสริฐ คนอื่นให้ได้ไหม ที่ให้พรกัน อวยพรกัน เป็นแต่เพียงขณะนั้นเป็นเมตตาจิตที่มีความหวังดี มีความปรารถนาดี มีความระลึกถึงในทางดีต่อกัน แต่ว่าใครก็ตามที่ขอพร หวังพร ต้องการพร ก็คือว่าต้องทำกุศลด้วยตนเอง จึงจะได้ ถ้าขอพรมากๆ ก็หมายความว่า ต้องทำกุศลให้พอที่จะได้รับที่จะเป็นปัจจัยให้พรนั้นๆ เกิด ไม่ใช่ทำนิดเดียว แล้วก็ขอมากๆ เหตุกับผลไม่ตรงกันเลย

    เพราะฉะนั้นที่คนไหนได้รับพร สิ่งที่ดีมาก ก็เพราะกุศลที่ทำไว้มากต่างหาก ไม่ใช่เพราะคนอื่นมาให้ได้

    มีหนังสือ “พระพุทธเจ้าเสวยเนื้อหรือไม่” ที่มีเรื่อง “พร” แสดงให้เห็นถึงในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน มหาอุบาสิกาวิสาขาขอพร คือ ขอโอกาสที่จะกระทำกุศล เพราะรู้ว่า พรทั้งหลาย สิ่งที่ดีทั้งหลาย สิ่งที่ประเสริฐทั้งหลาย จะมีได้ เกิดขึ้นได้ก็เพราะกุศลซึ่งเป็นเหตุ แต่ไม่ใช่ว่าไปเที่ยวขอพรจากคนนั้นคนนี้แล้วหวังว่า สิ่งที่ได้รับนั้นมาจากคนนั้นคนนี้

    ถาม ผู้ที่บำเพ็ญเพียร แล้วมองเห็นเลข ๒ ตัว ๓ ตัว ไม่มีเหตุผลเลย แต่ในขณะเดียวกันก็มีคนถูก

    ท่านอาจารย์ ก็เพราะมีกรรมเป็นของตน แล้วก็ประจวบกันได้ เพราะฉะนั้นถึงคราวที่กรรมให้ผลดี ก็ถูก ถึงคราวกรรมไม่ดี ก็ผิด ไม่ใช่จะต้องถูกเสมอไป เวลานี้ใครจะมองเห็นอะไร ก็มองเห็นได้ทั้งนั้น แต่ว่าจะถูกหรือจะผิด

    ผู้ฟัง อย่างลงในร่างทรงที่ในปัจจุบันมีกันมากมาย อาจารย์แสดงความคิดเห็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ จิตมีพลังถ้าคนนั้นเคยเจริญสมาธิ แม้ว่าเป็นมิจฉาสมาธิ เพราะเหตุว่าเรื่องของสัมมาสมาธิเป็นเรื่องละคลายขัดเกลากิเลส เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า แม้มิจฉาสมาธิ ซึ่งไม่เป็นเรื่องของปัญญา ไม่ได้เป็นการเห็นโทษของอกุศล ไม่ใช่เป็นเรื่องของการขัดเกลากิเลสเลย ก็ยังสามารถที่จะสร้างรูปบางรูปได้ด้วยกำลังของจิต เพราะฉะนั้นถ้าเป็นสัมมาสมาธิที่ถูกต้องเป็นฌานจิตจริงๆ จะเกิดอิทธิปาฏิหาริย์ซึ่งเป็นของจริงๆ ได้แค่ไหน เพราะเพียงเศษเล็กเศษน้อยในสังสารวัฏฏ์ แต่ละคนก็คงจะเคยทำสมาธิมาบ้าง แล้วก็มีการสะสมหลงเลยเป็นเศษเล็กเศษน้อย ก็ยังมีผลเล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้ได้ แต่ว่าไม่ใช่เรื่องอัศจรรย์ และไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องที่ว่า เป็นเหตุเป็นผลที่สมควรแก่เหตุจริงๆ เพียงแต่การสะสมเล็กๆ น้อยๆ อย่างบางคนสังหรณ์ใจหรือเฉลียวใจ นั่นก็เป็นเรื่องสะสมความละเอียด การที่จะคิดไตร่ตรอง และเป็นผู้ที่มีความว่องไวที่จะไม่ขาดเหตุผล ก็ทำให้เกิดการนึกเฉลียวใจได้

    เพราะฉะนั้นแต่ละเรื่องก็เป็นสภาพของจิตที่สะสมสืบต่อสลับซับซ้อนมา แต่ว่าไม่ใช่ประโยชน์อันแท้จริง ถ้าเป็นประโยชน์อันแท้จริงแล้ว ต้องเป็นเรื่องละคลาย เรื่องปัญญา เรื่องสัมมาสมาธิ

    ผู้ฟัง อย่างเรื่องเทวดาก็มี

    ท่านอาจารย์ ก็อนุโมทนาที่รู้ว่า กุศลมีหลายระดับขั้น เพราะฉะนั้นผลของกุศลก็ต้องมีหลายระดับขั้นด้วย การเกิดเป็นมนุษย์เป็นผลของกุศลฉันใด ถ้ากุศลนั้นมีกำลังก็ทำให้เกิดในภูมิที่สบายกว่ามนุษย์ มีอารมณ์ที่ละเอียดประณีตกว่าเป็นสวรรค์ชั้นต่างๆ นั่นคือผลของกรรมที่ประณีต

    เพราะฉะนั้นที่สงสัยนี่ เป็นเรื่องเทวดามาเข้าทรงหรือหรืออย่างไร

    ผู้ฟัง ...

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าสวรรค์มีจริง เพราะเหตุว่ากุศลที่ประณีตก็มี เพราะฉะนั้นสวรรค์ก็มี แต่ไม่ต้องไปสนใจ เพราะว่ายังไม่เห็น เหมือนอย่างโลกนี้ เราก็อาจจะสงสัยว่า โลกนี้เป็นอย่างไร

    ตอนเกิด ปฏิสนธิจิตต้องเกิด ไม่ใช่เป็นก้อนเนื้อเฉยๆ แต่จะต้องมีจิตเกิด ขณะแรกของการอยู่ในครรภ์ เราก็ไม่รู้ว่าโลกนี้จะเป็นอย่างนี้ หรือว่าใครรู้ก่อนว่า โลกนี้คืออย่างนี้ มีสีอย่างนี้ มีเสียงอย่างนี้ มีกลิ่นอย่างนี้ เราก็ไม่รู้ แต่เมื่อเกิดในโลกนี้ ก็รู้จักโลกนี้ เห็นสีสันของโลกนี้ ได้ยินเสียงของโลกนี้ ได้กลิ่นของโลกนี้ ซึ่งมีทั้งกลิ่นที่ดีและกลิ่นที่ไม่ดี ขยะก็อยู่ในโลกนี้ ดอกไม้น้ำหอมก็อยู่ในโลกนี้ นี่คือกลิ่นของโลกนี้ฉันใด เวลาที่เรายังไม่ไปสู่สวรรค์ เราก็ไม่รู้ว่า สวรรค์จะมีลักษณะอย่างไร แต่ว่าตราบใดก็ตามที่ยังไม่หมดภพชาติ ก็จะต้องเห็น นี่เป็นผลของกรรม ต้องได้ยิน ต้องได้กลิ่น ต้องลิ้มรส เพียงแต่อารมณ์ที่ปรากฏ หรือสิ่งที่จิตกำลังรู้ กำลังเห็นนั้นประณีตต่างกัน หรือว่าทุกข์ทรมานต่างกัน อย่างสัตว์ดิรัจฉานกับมนุษย์ ความสะดวกสบายก็ต่างกันอยู่แล้วตามกรรม ก็เป็นภูมิหนึ่งซึ่งเรามองเห็นได้ ทั้งๆ ที่ร่วมโลกเดียวกัน แต่ระดับของจิตต่างกันเพราะผลของกรรมต่างกัน

    ที่จริงแล้วก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจทั้งหมด เพราะว่าเรามาสู่โลกนี้แล้วเราก็จะต้องจากโลกนี้ แต่เราไม่รู้ว่าเราจะไปไหนเท่านั้นเอง แต่ถ้าเราเป็นผู้ที่มั่นคงในเหตุผล เราก็ทราบได้ว่า ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม เราก็ต้องเกิดในภพภูมิที่ดี ในวันหนึ่งๆ อกุศลมากกว่ากุศลมากมายนับไม่ถ้วนเลย เพราะฉะนั้นทำความดีทุกโอกาสที่จะกระทำได้ โดยที่ว่าดีเท่าไรก็ยังไม่เพียงพอ เพราะเหตุว่ายังไม่ได้ดับกิเลส เพราะฉะนั้นก็จะต้องอบรมเจริญปัญญาให้มาก

    ศุกล อย่างเมื่อกี้นี้ที่พูดกันในตอนต้น เรื่องเคราะห์กรรมที่ไปปล่อยสัตว์ต่างๆ ถ้าจะให้ผมพูดตามความเข้าใจ ถ้าจะให้พูดถึง “เคราะห์” ไม่ใช่พระพุทธศาสนา แต่กรรมเป็นเรื่องของพระพุทธศาสนา เพราะเหตุว่าเมื่อพูดถึงเคราะห์ ก็มีการสะเดาะเคราะห์ เหมือนกับว่าไปทำอะไรสักอย่างให้ผลของกรรมน้อยลง เพราะกรรมเป็นเรื่องของ กรรมทายาโท มีกรรมเป็นทายาท

    ท่านอาจารย์ ที่จริงการปล่อยสัตว์ก็เป็นกุศลกรรม แต่ว่าเราทำด้วยเจตนาอะไร นี่สำคัญที่สุด คือแทนที่เราจะระลึกได้ว่า เพื่อเราจะเจริญเมตตาให้มากขึ้น เรากลับไปหวังผลของการกระทำนั้น ก็เป็นการที่ไม่ตรง

    คุณหญิง ถ้าเมตตาด้วย และปล่อยด้วย จะได้ผลไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องหวังเลย เพราะเหตุว่ากรรมดีต้องให้ผลแน่ๆ โดยที่เราไม่ต้องหวัง เพราะฉะนั้นเวลาเราไปหวัง เราเสียตรงหวัง เพราะว่าผลนั้นต้องเกิดแน่นอนอยู่แล้ว

    คุณหญิง ดิฉันก็ปล่อยสัตว์มาก เพราะคิดว่าถ้าเราตายแล้วไม่ได้ปล่อย

    ท่านอาจารย์ คือช่วยให้เขามีชีวิต ขณะนั้นเป็นเมตตา แต่ว่าเราไม่จำเป็นต้องหวังอะไรเลย เพราะเหตุว่าถ้าถึงเวลาเราจะตาย ไม่ว่าเราจะอายุน้อยอายุมาก อย่างคุณอลัน เราก็เห็นอยู่แล้ว เพราะว่าจุติจิตจะต้องเกิดเพราะกรรม เราจะไปฝืนไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นเราก็ไม่หวั่นไหว วันไหนก็วันนั้น ก็หนีกรรมไม่พ้นทุกคน ที่ใช้คำว่า “ถึงแก่กรรม” นั้นตรงตัวที่สุด เพราะว่ากรรมทำให้จุติจิตเกิด คนอื่นทำไม่ได้แน่นอน อย่างคุณกาญจนายังไม่ถึงแก่กรรม แต่คุณอลันถึง ทั้งๆ ที่อยู่ด้วยกันในที่เดียวกัน แล้วแต่ว่ากรรมจะทำให้จุติจิตของใครเกิด ถ้ายังไม่เกิดก็ทำให้จักขุวิญญาณเกิด โสตวิญญาณเกิด จิตอื่นๆ ประเภทอื่นๆ เกิด

    เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องหวังอะไรเลย เพียงแต่ทำความดีไปเรื่อยๆ วันไหนก็วันนั้นที่ต้องเปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติตามกรรม

    ธนิต เรียนให้อาจารย์ทราบย่อๆ เกี่ยวกับเรื่องกรรมที่สลับซับซ้อน ที่บ้านผมใกล้สระน้ำ วันหนึ่งไปยืนบนกระท่อมกลางสระ เห็นงูตัวหนึ่งกำลังกินกบ แล้วนอนนิ่ง พอผมเห็นผมก็แปลกใจ ผมยืนดูอยู่ ๒๐ นาที ไม่กระดุกกระดิกเลยทั้งงูทั้งกบ เมื่อผมพิจารณาดูก็รู้ว่า งูตัวนี้ไม่สามารถจะกินกบต่อไปได้อีก เพราะกบตัวนี้ใหญ่มาก มันอมขาเข้าไปติดอยู่ที่สะโพก ก็เลยลองเอาก้อนหินปาดูไปถูกงู มันตกใจก็ค่อยคลายๆ กบออกแล้วงูก็หนีไป ผมก็นำกบมาทอด ก็มีคนมาว่าผมว่า ไปแย่งอาหารงู งูมันหิว ผมก็เถียงว่า งูมันกลืนไม่เข้าแล้ว ผมเคยเลี้ยงงู ผมทราบดี ผมจึงไม่สนใจ ผ่าท้องกบดู พบปูตัวเบ้อเร้ออยู่ในท้องกบ จึงเอาปูมาใส่ในขัน สักครู่ปูก็กระดุกกระดิกได้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 25
    15 ก.พ. 2565

    ซีดีแนะนำ