โสภณธรรม ครั้งที่ 137


    ตอนที่ ๑๓๗

    ผู้ฟัง พระพุทธเจ้าได้สั่งสอนมนุษย์ทั้งหลายเพื่อให้กระทำดี คำสั่งสอนของท่านนั้นเราเรียกว่า พระธรรม ถ้าปราศจากการเทศนาสั่งสอน หรือพุทธพจน์ หรือพุทธภาษิต เช่นท่านพูดว่า นัตถิ ตัณหา สมานที หรือ... พุทธภาษิตเหล่านี้เรานำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เพื่อปฏิบัติให้เกิดความเจริญ แม้แต่คำสั่งสอนของท่านทุกคำนั้นมีน้ำหนัก มีความหมาย เราเชื่อฟัง ทีนี้ผมฟังสูตรหนึ่ง เรื่องกาลามสูตร มีอยู่ ๑๐ ข้อ ข้อ ๑ บอกว่า อย่าเชื่อถือโดยการฟังตามกันมา ข้อ ๒ อย่าเชื่อถือโดยเห็นตามกันมา ข้อ ๓ อย่าเชื่อถือโดยเล่าลือกันมา ข้อ ๔ อย่าเชื่อถือโดยอ้างตำรา ข้อ ๕ อย่าเชื่อถือโดยนึกเดาเอาเอง ข้อ ๖ อย่าเชื่อถือโดยคิดติดตามอาการเป็นไป ข้อ ๗ อย่าเชื่อถือโดยชอบใจว่าถูกต้องตามหลักของตน ข้อ ๘ อย่าเชื่อถือโดยเห็นว่า เป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือ ข้อ ๙ อย่าเชื่อถือโดยการคาดคะเนเอาเอง ข้อ ๑๐ อย่าเชื่อถือโดยเห็นว่าเป็นครูบาอาจารย์ของเรา

    คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่องกาลามสูตรนี้ จะขัดต่อคำสอนของท่านที่มีต่อคนทั่วๆ ไปหรือไม่

    สมพร ตามที่กล่าวมานี่ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นสัจจวาจา เมื่อตรัสสิ่งใดแล้ว สิ่งนั้นจะไม่ขัดกัน ทั้งเบื้องต้น เบื้องปลาย เบื้องต้นตรัสอย่างไร เบื้องปลายก็ตรัสอย่างนั้น แต่มีข้อโต้แย้งอย่างที่ว่า ไม่ให้เชื่อโดยอาการ ๑๐ อย่าง แต่ถ้าเราพิจารณาให้ดี อ่านให้ตลอด ก็จะเห็นว่า การที่ไม่ให้เชื่อ ๑๐ อย่าง ไม่ให้เชื่อโดยความงมงาย ต้องพิจารณาก่อนว่า สิ่งนี้เป็นกุศลจริงหรือไม่ สิ่งใดทำจิตให้เศร้าหมอง สิ่งนั้นเป็นอกุศลจริงหรือไม่ สิ่งใดทำจิตให้ผ่องแผ้ว สิ่งนั้นเป็นกุศลจริงหรือไม่ คนไม่มีโลภะ เป็นกุศลหรือไม่ คนไม่มีโทสะ เป็นกุศลหรือไม่ เมื่อพิจารณาโดยเหตุผลแล้ว จึงให้เชื่อ ไม่ให้เชื่อโดยงมงาย โดยลักษณะ ๑๐ อย่างนั้นแหละ

    ผู้ฟัง ผมขอกราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า จุดมุ่งหมายที่เป็นสุดยอดปรารถนาของสังคมแต่ละสังคม มนุษย์แต่ละบุคคล คือว่าความสงบสุขของบุคคลและสันติภาพของสังคม ทีนี้ผมอยากกราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า เราจะอาศัยหลักธรรมในพระพุทธศาสนาที่จะมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับสังคม และให้มนุษย์แต่ละคนมีความสงบสุขได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า สังคม ก็คือแต่ละบุคคลรวมกันเป็นสังคมหนึ่งสังคมใด เพราะเหตุว่าถ้าใช้คำว่า “สังคม” ก็ไม่ได้หมายถึงเฉพาะคนเดียว ใช่ไหม สังคมหนึ่งก็จะต้องประกอบด้วยบุคคลหลายคน เพราะฉะนั้นการที่จะแก้สังคม ช่วยสังคม หรือทำให้สังคมดีขึ้น จะเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าแต่ละบุคคลไม่แก้ตัวเอง ซึ่งแต่ละบุคคลมารวมกันเป็นสังคม เพราะฉะนั้นจะแก้ตัวเองได้ จะเห็นได้ว่า ถ้ามีอวิชชา คือ ความไม่รู้สภาพธรรมที่มีจริงโดยความถูกต้อง เช่นไม่เข้าใจเรื่องของกุศลและอกุศล และไม่เข้าใจเรื่องผลของกุศลและผลของอกุศล ไม่มีทางใดที่จะทำให้ตัวเองและสังคมดีขึ้น

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ถ้าทุกคนยังมีอวิชชา คือ ความไม่รู้จักตัวเอง ก็คือไม่รู้จักโลก

    ที่กล่าวว่า ไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้จักโลก ก็เพราะเหตุว่าตัวเองมีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ และสิ่งที่เราเรียกว่า “โลก” ก็ไม่พ้นจากสิ่งที่ตาเห็น เสียงที่หูได้ยิน กลิ่นที่จมูก จิตรู้กลิ่นทางจมูก เป็นต้น หรือการคิดนึกเรื่องราวต่างๆ ก็จะไม่พ้นจากโลกย่อยๆ ๖ โลกนี้เลย ที่รวมกันเป็นโลกใหญ่ที่เข้าใจว่าเป็นโลกที่วุ่นวาย ต้องมาจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะฉะนั้นถ้าอวิชชาไม่รู้ความจริงของโลกทั้ง ๖ ทางนี้ ก็ไม่มีทางจะสงบได้ แต่ถ้ามีปัญญาเกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ก็จะทำให้เข้าใจโลกถูกต้องขึ้นว่า สิ่งใดเป็นประโยชน์ที่แท้จริง และสิ่งใดยังไม่ใช่ประโยชน์ที่แท้จริง

    เพราะฉะนั้นประโยชน์จริงๆ ก็คือ แต่ละคนแก้ไขตัวเอง แล้วในขณะเดียวกันก็ช่วยเหลือเกื้อกูลให้คนอื่นได้หนทางวิธีที่จะแก้ไขตัวเองด้วย ถ้าสามารถจะเป็นไปได้ แต่ถ้าไม่มีการรู้จักตัวเอง และไม่มีการแก้ตัวเอง ก็แก้สังคมไม่ได้

    ผู้ฟัง ในความคิดและความเข้าใจของผมเองว่า ที่เราอาศัยโลกและอายตนะ ๑๒ คือ อายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ อายตนะภายใจก็ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธัมมารมณ์ จะว่าตาเราเห็นรูป ก็เพียงว่าเห็นรูป สมมติว่าหูเราได้ยินเสียง ก็เพียงแต่ว่าหูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ก็เพียงได้กลิ่น วันทั้งวันก็เป็นอย่างนั้น ทีนี้เราเข้าใจว่าตัวตน สัตว์ บุคคล เราทำใจไว้ว่า เราไม่ใช่นั่น นั่นไม่ใช่เรา นั่นก็ไม่ใช่ของเรา โดยการไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เราทำใจให้ว่าง ว่างในที่นี้ อยากจะกราบเรียนถามอาจารย์ว่า ว่างอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีเรา จะว่างไม่ได้เลย เพราะว่ายังมีสิ่งที่ยังคงยึดถือว่าเป็นเรา ยังมีความเป็นตัวตนอยู่ จะว่างไม่ได้ แต่ว่างในทีนี้หมายความว่า ว่างจากการยึดถือว่าเป็นตัวตน

    สภาพธรรมนั้นมีจริง และเคยยึดถืออย่างเหนียวแน่นว่าเป็นเรา ว่างจากความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมนั้น เพราะเหตุว่าสภาพธรรมนั้นต้องเกิดขึ้นเมื่อมีเหตุปัจจัย เช่นได้ยิน เมื่อมีหู และมีจิต มีเสียงมากระทบก็ต้องได้ยิน แต่เคยยึดถือว่าเป็นเราที่ได้ยิน ชื่อว่า ไม่ว่าง แต่เวลาที่รู้ว่า เวลาที่ได้ยินเป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย คือ เมื่อเสียงมากระทบแล้วรู้เสียง ทั้งเสียงก็ดับ ทั้งได้ยินก็ดับ ว่างจากการจะยึดถือได้ยินว่า เป็นเราอีกต่อไป นั่นคือความหมายของว่าง

    เพราะฉะนั้นก่อนอื่นที่เป็นปัญหายุ่งๆ กันอยู่เสมอ เพราะเหตุว่าพยายามจะแก้คนอื่น ขอถามจริงๆ ว่า คิดจะแก้คนอื่น หรือคิดจะแก้เฉพาะตัวเอง จะแก้สังคม คิดจะแก้ใคร

    ผู้ฟัง แก้ที่ตัวเราก่อน

    ท่านอาจารย์ อันนี้ถูกต้อง เพราะฉะนั้นที่ว่าว่าง ก็คงจะเข้าใจแล้ว ใช่ไหม เพียงแต่บอกว่า อย่ายึดถือ ใครก็ทำไม่ได้ถ้าปัญญาไม่เกิด เพราะฉะนั้นปัญญาต่างหากที่ละความยึดถือ ไม่ใช่เราจะไม่ยึดถือ ถ้ามีคนบอกว่า อย่ายึดถือ กำลังเห็นนี่ก็อย่ายึดถือว่าเป็นเรา กำลังได้ยินก็อย่ายึดถือว่าเป็นเรา โลภ โกรธ หลง ก็อย่ายึดถือว่าเป็นเรา ใครทำได้ ทำไม่ได้ จะบอกสักเท่าไรก็ทำไม่ได้ บอกเรื่องผล แต่ไม่แสดงเหตุว่า ปัญญารู้อย่างไรจึงจะละการยึดถือว่าเป็นตัวตนได้

    เพราะฉะนั้นจะเห็นประโยชน์ของการฟังพระธรรมว่า เมื่อมีความเข้าใจเรื่องของสภาพธรรมในขั้นฟังยังไม่พอ ยังละกิเลสไม่ได้ ต้องมีปัญญาที่เจริญกว่านั้นอีกถึงจะละกิเลสได้ และปัญญาขั้นนั้นจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อฟังพระธรรมให้เข้าใจยิ่งขึ้น เป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้สติปัฏฐานเกิดระลึกได้ตรงลักษณะของสภาพที่เคยได้ยินได้ฟัง เช่น ลักษณะของจิต เวลานี้กำลังมีจิต ถ้าไม่ได้ฟังเลย จะไม่รู้ว่ากำลังเห็นเป็นจิตชนิดหนึ่ง กำลังได้ยินเป็นจิตชนิดหนึ่ง แต่ว่าเมื่อฟังจนกระทั่งรู้ว่า จิตก็คือสภาพรู้ เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง แม้ในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ก็อาจจะมีการระลึกได้ และก็รู้ว่าที่กำลังเห็นเป็นอาการรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ไม่ใช่ในขณะที่เสียงปรากฏ

    นี่ต้องฟังบ่อยๆ จนกระทั่งชิน จนกระทั่งเป็นสังขารขันธ์ที่จะทำให้สติปัฏฐานและปัญญาเจริญขึ้น

    ถาม ...

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นคำถามที่ดี เพราะเหตุว่าชาวพุทธเราจะได้ยินคำว่า “ขันธ์ ๕” บ่อยๆ

    ขันธ์ ๕ คือ ๑. รูปขันธ์ ๒. เวทนาขันธ์ ๓. สัญญาขันธ์ ๔. สังขารขันธ์ ๕. วิญญาณขันธ์

    ขณะนี้กำลังครบทั้ง ๕ ขันธ์ ไม่ได้อยู่ที่อื่นเลย ทุกขณะที่จิตเกิดขึ้นครั้งหนึ่งๆ มีรูป คือ จิตได้ยินก็ต้องอาศัยรูป เพราะฉะนั้นจะปราศจากรูปไม่ได้ เพราะฉะนั้นภพภูมินี้ซึ่งเป็นมนุษย์ จึงเป็นภูมิของขันธ์ ๕ จะขาดขันธ์หนึ่งขันธ์ใดไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง เป็นการปรุงแต่งของจิตใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แต่ง่ายๆ อย่างนี้สั้นๆ ไม่ใช่เพียงเท่านี้ เพราะฉะนั้นจะต้องทราบลักษณะของปรมัตถธรรม คือ สภาพธรรมที่มีจริง แม้ว่าเราจะไม่เรียกชื่ออะไรเลยทั้งสิ้น ไม่ใช่ภาษาหนึ่งภาษาใด ลักษณะของสภาพธรรมนั้นก็เกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น เช่น ลักษณะที่แข็ง ไม่ต้องใช้ภาษาหนึ่งภาษาใดเลย ภาษาไทยก็ไม่ต้องใช้ว่า แข็ง ภาษาอังกฤษก็ไม่ต้องใช้ ภาษาจีนก็ไม่ต้องใช้ แต่จะรู้แข็งเมื่อกระทบสัมผัส แล้วก็ไม่จำเป็นต้องเรียกชื่อ นั่นคือสภาพของปรมัตถธรรม คือ ธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ มีลักษณะเฉพาะของสภาพธรรมนั้นๆ เช่น เสียงก็ไม่ต้องเรียกว่าเสียง ไม่ต้องเรียกว่าอะไรเลย แต่เสียงก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง

    เพราะฉะนั้นธรรมที่ทรงแสดง ทรงแสดงปรมัตถธรรม คือ ลักษณะของปรมัตถธรรมที่มีจริงๆ มี ๔ อย่าง ถ้าจะเริ่มต้นศึกษาพระพุทธศาสนา อย่างน้อยควรจะเข้าใจความหมายของปรมัตถธรรม คือ ธรรมที่มีลักษณะจริงๆ แม้ไม่เรียกชื่อใดๆ ทั้งสิ้น

    ปรมัตถธรรมมี ๔ อย่าง คือ ๑. จิต ๒. เจตสิก ๓. รูป ๔. นิพพาน

    ในสมัยโบราณท่านใช้คำย่อๆ คือเรียกเฉพาะพยางค์หน้า ท่านใช้คำว่า “จิ เจ รุ นิ” แต่เราไม่รู้จักว่า จิต เจตสิก รูป นิพพาน จะมาบอกเราว่า จิ เราก็ไม่รู้อะไร เจ ก็ไม่รู้ว่าอะไร รุ ก็ไม่รู้ว่าอะไร นิ ก็ไม่รู้ว่าอะไร แต่ถ้าจำได้ว่า จิต เข้าใจกันอยู่แล้ว แล้วก็เจตสิกเพิ่มขึ้นมาอีกคำเดียวเท่านั้นเอง แล้วก็รูป ก็เข้าใจอยู่ แล้วก็นิพพาน ซึ่งชินหู

    เพราะฉะนั้นปรมัตถธรรมมีเพียง ๔ อย่าง คือ ๑. จิต ๒. เจตสิก ๓. รูป ๔. นิพพาน ไม่ใช่เรื่องผิวเผิน เป็นเรื่องที่ศึกษาตลอดชีวิต แล้วก็ทุกภพทุกชาติ จนกว่าจะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมทั้ง ๔ นี้ได้

    สำหรับจิต ทุกคนเข้าใจแล้ว ทุกคนมีจิต ถึงได้นั่งอยู่ที่นี่ ไม่ใช่คนที่สิ้นชีวิตแล้ว แต่ก็ควรจะเข้าใจว่า ลักษณะของจิตนั้นเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น ในขณะที่เห็น จิตกำลังเห็น ขณะที่ได้ยิน จิตกำลังได้ยิน ถามว่าจิตอยู่ที่ไหน ถ้าไม่ศึกษา จะตอบไม่ได้เลย แต่พอเข้าใจแล้ว ถามตอบได้ จิตมีจริง อยู่ที่ไหน กำลังเห็นเป็นจิต กำลังได้ยินเป็นจิต กำลังคิดเป็นจิต กำลังลิ้มรสเป็นจิต กำลังได้กลิ่นเป็นจิต กำลังรู้เย็นร้อนอ่อนแข็งนี่เป็นจิต

    นี่คือลักษณะของจิต มีใครสงสัยในเรื่องจิตบ้างไหม โดยย่อๆ แค่นี้

    ถ้าไม่มี จะได้ต่อไปถึงสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นปรมัตถธรรม คือ เจตสิก จิตเป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่างลักษณะเลย เจตสิกก็เป็นนามธรรมเช่นเดียวกัน คือ ไม่มีรูปร่างลักษณะ ไม่ใช่รูป แต่เจตสิกมีถึง ๕๒ ประเภท หรือ ๕๒ ชนิด ซึ่งเจตสิกแต่ละชนิดมีลักษณะเฉพาะของตน เช่น ความรู้สึก ความเสียใจเป็นความรู้สึกอย่างหนึ่ง ความดีใจก็เป็นความรู้สึกอีกอย่างหนึ่ง

    เพราะฉะนั้นขณะใดก็ตาม ที่มีการรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด จะขาดความรู้สึกต่อสิ่งนั้นไม่ได้เลย เพราะว่าบางครั้งพอเห็นก็ดีใจ บางครั้งพอเห็นก็ไม่ชอบใจ บางครั้งพอเห็นก็เฉยๆ

    เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่เป็นความรู้สึก มีความสำคัญต่อชีวิตมากเหลือเกิน จึงแยกเป็นขันธ์หนึ่ง คือ เวทนาขันธ์ เป็นเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิต ดับพร้อมจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต และมีที่ตั้งที่เกิดในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ที่เดียวกับจิต จิตเกิดที่ไหน เจตสิกเกิดที่นั่น ไม่แยกกันเลย

    เพราะฉะนั้นปรมัตถธรรมที่เป็นนามธรรม มี ๒ อย่าง ที่กล่าวถึงแล้ว คือ ๑. จิต ๒. เจตสิก

    ถ้าบอกว่า “จำได้” จำได้จริงๆ หรือเปล่า ความจำมีจริงหรือเปล่า มี เป็นปรมัตถธรรม สิ่งใดก็ตามที่มีจริงๆ เป็นปรมัตถธรรม ความจำเป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง เพราะว่าเกิดกับจิต ความเกียจคร้านมีจริงๆ หรือเปล่า มี ก็เป็นเจตสิกอีกชนิดหนึ่ง ถ้าจะพูดถึงสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด แสดงให้เห็นว่าเป็นเจตสิกแต่ละชนิด เช่น ความขยัน ความเมตตา ความโกรธ พวกนี้เป็นเจตสิกแต่ละชนิดทั้งนั้น

    ถาม เรื่องราวเก่าๆ ที่เราไม่คิด มันโผล่ขึ้นมา อันนี้มันสัญญาหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ จำ ขณะที่จำ ขณะนั้นไม่ใช่เรา เป็นเจตสิกชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็จำ

    ผู้ฟัง จะเป็นหลายสิบปีแล้วก็ตาม ซึ่งเราไม่คิด แต่ก็โผล่ขึ้นมาเอง มันเกิดขึ้นมาในความคิดของเรา อันนี้เป็นความจำ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เป็นสัญญาเจตสิกที่จำ แต่จริงๆ แล้วเรื่องของจิต เจตสิก รูป นิพพานซึ่งเป็นปรมัตถธรรม ๔ ละเอียดกว่านี้มากทีเดียว อันนี้เพียงแต่ย่อๆ

    ถาม อยากเรียนถามอาจารย์ว่า ทำไมท่านเป็นคนหนึ่งที่ยึดมั่นในพระพุทธศาสนาเหมือนกับผม ผมอยากจะรู้ความจริงข้อนี้สำหรับท่าน

    ท่านอาจารย์ สำหรับดิฉันเอง การที่เริ่มต้นศึกษาพระพุทธศาสนา เพราะยังไม่รู้ว่า พระพุทธศาสนาคืออะไร ได้เคยกราบไหว้บูชาพระรัตนตรัย แต่เมื่อไม่เข้าใจว่า พระพุทธเจ้าทรงสอนอะไร ก็จะทำให้เข้าใจในความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้

    เพราะฉะนั้นเมื่อได้ชื่อว่า นับถือพุทธ ก็ควรที่จะได้รู้ว่า พระพุทธเจ้าสอนอะไรด้วย นี่เป็นเหตุที่ทำให้ศึกษาพระพุทธศาสนา


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 25
    15 ก.พ. 2565

    ซีดีแนะนำ