โสภณธรรม ครั้งที่ 146


    ตอนที่ ๑๔๖

    ท่านอาจารย์ เคยมีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งที่ท่านถามมากทีเดียว เรื่องพัดลมหมุน ขอให้คิดดูว่า กว่าจะเห็นเป็นพัดลมหมุนได้ เป็นจักขุทวารวิถีจิตกี่วาระ แล้วมโนทวารวิถีคั่นกี่วาระ กว่าจะขยับไปทีละนิดจนกระทั่งจิตสามารถจะทรงจำว่า เป็นพัดลมที่กำลังหมุน นับไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นที่เห็นเป็นคนนั่งบ้าง คนเดินบ้าง คนยืนบ้าง คนพูดบ้าง กิริยาอาการทั้งหลายเหล่านี้ ก็จะเห็นได้ว่า จิตเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว แล้วก็ไม่สามารถจะรู้ความจริงของนามธรรมและรูปธรรมเลย ถ้าไม่ศึกษาโดยละเอียด เพราะเหตุว่าขณะที่จักขุทวารวิถีจิตวาระหนึ่งเกิดขึ้น รูปนั้นเคลื่อนไหวไม่ได้ เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้นเมื่อภวังคจิตเกิดสืบต่อ มโนทวารวิถีจิตรับรูปนั้นต่อ แล้วจักขุทวารวิถีจิตวาระอื่นก็รู้รูปอีกรูปหนึ่งซึ่งเป็นรูปใหม่ ไม่ใช่รูปเก่า แล้วรูปนั้นก็เกิดสืบต่อใกล้เคียงกัน ความทรงจำก็สืบต่อว่า เป็นสิ่งที่เคลื่อนไปนิดหนึ่ง แต่ว่าความจริงแล้ว สิ่งที่เห็นนั้นต้องใหม่ ไม่ใช่เก่า เพราะเหตุว่ารูปารมณ์ที่ได้เห็นแล้ว ทางปัญจทวารวาระก่อนดับหมด เพราะฉะนั้นในขณะที่จะเห็นอีกอย่างหนึ่ง ก็จะต้องเป็นจักขุทวารวิถีจิตอีกวาระหนึ่ง แล้วก็เห็นสิ่งนั้น และสิ่งนั้นก็ดับด้วย และความทรงจำที่ประมวล และยึดโยงไว้ เวลาที่จักขุทวารวิถีจิตวาระอื่นเกิดขึ้น และรู้รูปทางตาอีกรูปหนึ่ง กว่าจะต่อกันเป็นพัดลมหมุน หรือว่ากว่าจะต่อเป็นคนเดิน ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่ศึกษาลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ไม่มีทางที่จะเข้าใจได้เลยว่า ปัญญาที่จะรู้จริง จะต้องอบรมเจริญอย่างไร เพราะเหตุว่าแม้แต่เพียงการฟัง ก็จะต้องฟังจนกระทั่งไถ่ถอน และก็รู้ว่าเหตุที่ทำให้เห็นเป็นคน เป็นสัตว์กำลังเคลื่อนไหวนั้นเกิดจากจักขุทวารวิถีและมโนทวารวิถีซึ่งเกิดดับสลับสืบต่อกันแต่ละวาระ โดยรูปปรมัตถ์แต่ละรูป จะต้องปรากฏและดับไปหมดทางจักขุทวารวิถีแต่ละรูป แต่ขณะนี้ดูเสมือนว่าไม่มีอะไรดับ และยังคงเป็นการเคลื่อนไหว เพราะฉะนั้นเห็นความรวดเร็วได้

    เพราะฉะนั้นก็จะต้องอบรมเจริญจนกว่าจะค่อยๆ รู้ขึ้นจริงๆ

    พระ อันนี้มีเหตุผลมาก เพราะว่าจะไปสู่วิตกในสัมปฏิจฉันนะ ในปัญจทวารวิถี วิถีแรก จะต้องมีปัญญาสะสมถึงท่านพระสารีบุตร ๑ อสงไขยกัป์แสนกัป์ โดยที่ปัญญาจะเจริญได้ก็ต้องอบรมจริงๆ จะรู้ลักษณะของธรรมแต่ละอย่าง ก็ต้องเข้าใจก่อน อย่างตอนนี้จะไประลึกรู้ลักษณะของสัมปฏิจฉันนะ น่ากลัวแย่เหมือนกัน ไม่เจอแน่ๆ

    ท่านอาจารย์ มิได้ เพราะเหตุว่าตามปกติธรรมดาจะต้องรู้ตอนชวนจิต เพราะเหตุว่าในขณะนั้นเป็นการแล่นไปในอารมณ์สืบต่อกันถึง ๗ ขณะ แต่ทั้งหมดนั้นในจักขุทวารวิถีจิตทั้งหมดตลอดวาระหนึ่ง มีรูปที่ยังไม่ดับรูปเดียวเป็นอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็น ปัญจทวาราวัชชนจิต จักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต หรือชวนจิต ๗ ขณะ ซึ่งเป็นโลภะหรือโทสะ หรือโมหะ ก็ต้องมีรูปที่ยังไม่ดับไปเป็นอารมณ์ จึงเป็นจักขุทวารวิถีจิต ยังไม่ใช่มโนทวารวิถีจิต

    พระ เพราะว่ารูปที่เกิดขึ้นแล้ว จะต้องอาศัยจิตดับไปถึง ๑๗ ขณะ จึงจะนับได้ว่า รูปนั้นดับ

    ท่านอาจารย์ ไม่มีอะไรที่จะวัดอายุของรูปได้ นอกจากสิ่งที่ละเอียดและอายุสั้นกว่ารูป ถึงจะวัดได้ว่า รูปนั้นมีอายุเท่ากับสิ่งที่สั้นกว่า คือ จิต เจตสิกเกิดดับ ๑๗ ขณะ รูปนั้นจึงจะดับ

    พระ อีกปัญหาหนึ่ง และสติปัฏฐานที่จะเกิดขึ้นในปัญจทวารวิถี เพราะว่าในชวนะสามารถมีกุศลญาณสัมปยุตต์เกิดได้ และสามารถรู้สภาพธรรม คือ สิ่งที่ปรากฏทางตาได้ เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานก็สามารถเกิดในปัญจทวารวิถีได้

    ท่านอาจารย์ เวลาที่มีการระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แยกไม่ออก ว่า มโนทวารวิถี หรือจักขุทวารวิถี หรือมโนทวารวิถี หรือโสตทวารวิถี หรือมโนทวารวิถี หรือฆานทวารวิถี แต่ขณะใดเป็นผู้ที่มีสติ ขณะนั้นไม่หลงลืมสติ จะมีการศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่สืบต่อกันทั้งปัญจทวารและมโนทวาร ด้วยเหตุนี้ทางปัญจทวาร จึงมีมหากุศลญาณสัมปยุตต์ที่กำลังรู้รูปนั้นเป็นอารมณ์ได้

    พระ แล้วสามารถเข้าใจถึงลักษณะ

    ท่านอาจารย์ กำลังประจักษ์รูป

    พระ กำลังประจักษ์รูป เพราะฉะนั้นก็เป็นปัญญาขั้นสติปัฏฐาน

    ท่านอาจารย์ ขั้นสติปัฏฐาน แต่ไม่ใช่วิปัสสนาญาณ

    พระ ใช่ เพราะว่ายังไม่แทงตลอดสภาพธรรมอีกมากมาย

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นวิปัสสนาญาณแล้วก็เป็นมโนทวารวิถีโดยตลอดทุกวาระ แต่ก็มีปัญจทวารวิถีสลับคั่น มิฉะนั้นแล้วรูปก็จะไม่ปรากฏ

    พระ แสดงว่าปรมัตถธรรมที่ปรากฏทางตา อาจจะเป็นจักขุทวารวิถี หรือมโนทวารวิถีที่เป็นปรมัตถธรรม กี่วิถีก็แล้วแต่ แล้วก็ศึกษาใส่ใจในขณะที่กำลังปรากฏ ส่วนขณะใดที่รู้ลักษณะที่เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน ในขณะนั้นก็พิจารณาถึงจิตที่คิดนึกถึงบัญญัติ รูปร่างสัณฐาน ในมโนทวารวิถี คือ อาจจะไม่เลือกว่าชื่ออะไร แต่สภาพธรรมที่กำลังปรากฏลักษณะ ก็ใส่ใจถึงสภาพที่คิดนึกถึงรูปร่างสัณฐานที่ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งต่างกัน ใช่ไหม หรือเริ่มละคลายบัญญัติด้วยใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ การอบรมเจริญปัญญาที่เป็นสติปัฏฐาน เพื่อที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จึงจะละคลายการที่เคยยึดถือสภาพธรรมนั้นๆ ว่าเป็นเรา

    ไม่ทราบมีข้อสงสัยอะไรหรือเปล่า ในเรื่องของปัญจทวารวิถี ต้องมีรูปที่ยังไม่ดับเป็นอารมณ์ตลอดทั้งวาระ ต่อเมื่อรูปดับแล้ว วิถีจิตเกิดได้ไหม ทันทีที่รูปดับ วิถีจิตเกิดได้ไหม ทันทีที่รูปดับวิถีจิตเกิดไม่ได้ ต้องเป็นจิตที่ไม่ใช่วิถี คือ ภวังคจิตเกิด

    เพราะฉะนั้นภวังคจิตจะต้องเกิดสลับคั่นระหว่างวิถีจิตแต่ละวาระ และวิถีจิตวาระไหนเป็นอย่างไร ก็ไม่สลับกัน ไม่ใช่เอาปัญจทวารวิถีเป็นมโนทวารวิถี ปัญจทวารวิถีก็เป็นปัญจทวารวิถีจิต เพราะเหตุว่าอาศัยรูปที่เป็นปสาทเป็นทวารรู้อารมณ์ คือ รูปที่ยังไม่ดับ และเมื่อภวังคจิตเกิดแล้ว มโนทวารวิถีจิตก็จะเกิด โดยมโนทวาราวัชชนจิตเกิดเป็นขณะแรก และเมื่อมโนทวาราวัชชนจิตดับแล้ว ชวนจิตจึงเกิดต่อ โดยไม่ต้องมีปัญจทวาราวัชชนจิต สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะเลย เพราะเหตุว่าไม่ใช่เป็นการรู้รูปที่ยังไม่ดับ เพียงแต่นึกถึงรูปที่ดับแล้ว

    เพราะฉะนั้นการอบรมเจริญปัญญาต้องอีกนาน กว่าจะเข้าใจจริงๆ โดยเริ่มจากการแยกโลกทั้ง ๖ ออกเป็นแต่ละทางจริงๆ ขณะใดที่กำลังเห็น ไม่มีเสียงเข้ามาเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นเรื่องของสีสันที่ปรากฏ จะสุข จะทุกข์ จะชอบ จะตรึก ก็เป็นเรื่องของโลกเงียบ เพราะเหตุว่าเป็นโลกของสี ไม่ใช่เสียง ขณะใดที่เป็นโลกของเสียง ก็เป็นเรื่องราวคิดนึกตามเสียงที่ได้ยิน ไม่เห็น เพียงแต่นึกถึงเท่านั้น เพราะฉะนั้นคนที่คิดมากๆ และสติเริ่มที่จะระลึกรู้ ก็จะรู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นสัญญา ความจำคำที่กำลังคิด

    มีท่านผู้หนึ่ง ท่านคิดถึงเพื่อนของท่านที่เสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุ อย่างไรๆ ท่านก็ไม่คิดว่า เขาสิ้นชีวิตแล้ว ทันทีที่นึกถึงเขา ก็ยังจำเป็นเรื่องเป็นราว เหมือนกับเขายังไม่สิ้นชีวิต ยากที่จะเชื่อว่าเขาสิ้นชีวิต เพราะว่าเป็นการจากไปอย่างกะทันหัน ถามว่าจะทำอย่างไรดี ซึ่งความจริงท่านผู้นั้นก็สิ้นชีวิตไปแล้วแน่ๆ แต่ว่าเรื่องราวทั้งหลายซึ่งเคยเห็น เคยได้ยิน เคยติดต่อ เคยคบหาสมาคม เคยคุ้นเคย ก็ทำให้คิดถึงเหมือนกับครั้งที่ยังไม่สิ้นชีวิต

    เพราะฉะนั้นหนทางเดียว คือ จะต้องรู้ความจริงว่า ขณะที่ระลึกถึงแม้เพียงชื่อของผู้ที่สิ้นชีวิตแล้ว ขณะนั้นก็จะต้องรู้ว่า เป็นเพียงสัญญา ลักษณะที่จำชื่อ ไม่ใช่เรา มิฉะนั้นแล้วจะไม่มีทางเลยที่จะรู้ว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลตัวตนทั้งผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือว่าผู้ที่สิ้นชีวิตแล้ว เพราะเหตุว่าผู้ที่สิ้นชีวิตแล้วท่านหนึ่ง ท่านก็ใช้คำดีมาก ท่านบอกว่า ก็เขาเกิดแล้วไม่ใช่หรือ คือ แทนที่จะบอกว่าเขาสิ้นชีวิตแล้ว เขาเกิดแล้ว ก็เป็นความจริง เพราะว่าทันทีที่จุติจิตดับ ปฏิสนธิจิตก็เกิด เพราะฉะนั้นใครจะโศกเศร้าเสียใจ เขาก็เกิดแล้ว เขาก็ยังเห็น ยังได้ยิน ยังได้กลิ่น ยังลิ้มรส ยังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพราะว่าถ้ายังไม่ใช่พรหมบุคคล ก็จะพ้นไปจากโลกของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะไม่ได้เลย แต่สำหรับผู้ที่ยังมีความเป็นตัวตน การระลึกถึงผู้หนึ่งผู้ใด ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ยังมีชีวิต หรือสิ้นชีวิตแล้ว การที่จะเกิดปัญญาที่จะรู้ชัดว่าไม่ใช่เรา ไม่มีใคร เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละขณะที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ก็จะต้องระลึกถึงลักษณะของสภาพจำ ขณะที่จะนึกถึงชื่อใครก็ตาม ก็รู้ว่าขณะนั้นเป็นแต่เพียงลักษณะที่จำชื่อ จำชื่อเท่านั้น และต่อไปก็จะจำเรื่องของคนนั้น แต่เมื่อรู้ว่าเป็นสภาพที่จำชื่อ เวลาที่คิดถึงเรื่อง ก็จะรู้ได้ว่า ขณะนั้นก็คือสภาพธรรมที่จำเรื่อง

    เพราะฉะนั้นลักษณะของปรมัตถธรรมจริงๆ คือ ลักษณะที่จำ แต่ลักษณะที่จำนั้นไม่ใช่เรา เกิดขึ้นจำสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็คิดเป็นคำ เป็นชื่อนั้นๆ ในขณะนั้นเท่านั้น

    นี่เป็นการที่จะต้องอบรมเจริญปัญญาจนกว่าจะละคลายการยึดถือแม้สัญญาขันธ์ หรือสัญญาเจตสิก ซึ่งเคยยึดถือว่าเป็นเราที่จำว่าเขายังมีชีวิตอยู่ หรือว่าเป็นเราที่จำว่าเขาสิ้นชีวิตแล้ว

    ถาม ที่เราเห็นมีแต่จักขุวิญญาณ จิตอื่นๆ ไม่เห็นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ จิตอื่นไม่ได้ทำทัสสนกิจ แต่มีรูปนั้นแหละที่ยังไม่ดับเป็นอารมณ์ ถ้าเป็นจักขุทวารวิถี เพราะเหตุว่าต้องอาศัยตาจึงสามารถจะรู้รูปารมณ์ที่ยังไม่ดับ แม้ว่าไม่เห็นแต่ก็รู้ เพราะเหตุว่าหลังเห็นก็รู้ ถ้าไม่เคยเห็นจะรู้ไหม ไม่รู้ แต่เมื่อเห็นแล้วรู้ไหม ก็รู้ เพราะฉะนั้นจิตก็ทำกิจต่างกัน แม้ว่าจะเกิดต่อกัน แต่ทำกิจต่างกัน

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นถ้าเรากำลังเพ่งดูสิ่งหนึ่งสิ่งใดตลอดเวลาที่เราเห็นนั้น เราเห็นอยู่ตลอดเวลาเลย แสดงว่าตลอดเวลาที่เห็น มีขณะที่ไม่เห็นมากมายทีเดียวใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ถูกต้อง เหมือนขณะนี้มีภวังคจิตเกิดคั่น ภวังคจิตไม่เห็นเลย แต่ว่าเหมือนเห็นตลอดเวลา ทุกท่านกระพริบตาวันละกี่ครั้ง กำลังกระพริบตาอยู่ก็มี ขณะที่กำลังกระพริบตา ขณะนั้นต้องไม่เห็น ใช่ไหม สีต้องไม่ปรากฏ แต่ว่ามีใครบ้างที่จะรู้ว่า ขณะที่กระพริบตานั้นไม่มีสีปรากฏ

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า แม้การกระพริบตาซึ่งไม่น่าจะมีรูปารมณ์ปรากฏเลย ความรวดเร็วของจิตก็ทำให้เหมือนกับว่า เห็นอยู่ตลอดเวลา

    ประวิทย์ มีคนฝากมาถาม อาจารย์บอกว่า ทำอะไรก็ตามให้พิจารณาถึงประโยชน์ก่อน เขาถามว่า การสรงน้ำพระมีจุดประสงค์อะไร

    ท่านอาจารย์ ที่จริงแล้วในพระไตรปิฎกไม่มีธรรมเนียมนี้ แต่ว่าพระผู้มีพระภาคทรงให้ท่านพระอานนท์สรงน้ำภิกษุอาพาธ เพราะเหตุว่าท่านป่วยไข้ ท่านไม่สามารถที่จะสรงน้ำด้วยตนเองได้ เพราะฉะนั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบ ท่านก็เสด็จไปพร้อมกับท่านพระอานนท์ และสรงน้ำ และพยาบาลภิกษุที่ป่วยไข้นั้น

    เพราะฉะนั้นผู้ใดก็ตามที่ช่วยเหลือเกื้อกูลหรือพยาบาลภิกษุไข้ ก็เหมือนกับพยาบาลคณะสงฆ์ซึ่งมีพระผู้มีพระภาคเป็นประมุข นี่เป็นเรื่องของพระภิกษุที่สรงน้ำ เมื่อมีความป่วยไข้ แต่ว่าสำหรับธรรมเนียมการสรงน้ำ ดิฉันคิดว่า ถ้าจะสรงน้ำพระภิกษุในวันสงกรานต์ไปที่โรงพยาบาลสงฆ์ก็ดี เพราะว่าท่านกำลังต้องการความช่วยเหลือจริงๆ สำหรับพระที่ท่านสุขภาพดี ก็เป็นแต่เพียงการแสดงความเคารพเท่านั้น ตามธรรมเนียมที่ผสมปะปนกัน เพราะเหตุว่าไม่มีทางที่จะแสดงความรู้สึกในใจ ถ้าใครก็ตามที่มีความเคารพในบุคคลหนึ่งบุคคลใด ก็พยายามหาทางที่จะแสดงในวาระต่างๆ กัน เพราะฉะนั้นถ้าจะมีผู้คิดธรรมเนียมการรดน้ำก็ดี หรือการสรงน้ำก็ดี ก็คงจะหมายความถึงการแสดงความเคารพนอบน้อมที่สามารถจะกระทำให้ปรากฏได้

    ไม่ทราบว่าจะเป็นการถูกต้องหรือเปล่า แต่ว่าถ้าต้องการอานิสงส์ในการสรงน้ำพระ คิดว่าควรที่จะไปที่โรงพยาบาลสงฆ์ และไม่ควรแต่เฉพาะสรงน้ำ จะทำกิจป้อนอาหาร หรืออะไรก็แล้วแต่ก็ได้ หลายอย่างที่จะเป็นการเกื้อกูลให้ท่านได้รับความสะดวกสบาย

    พระ เรื่องของประเพณี เคยได้ยินมาว่า พระภิกษุด้วยกันนำโยมลอยกระทง เพราะคิดว่าวันลอยกระทง พระภิกษุควรจะนำ เพราะได้ยินมาว่า ลอยกระทงในแม่น้ำคงคาไปหาพระพุทธเจ้าหรืออย่างไร โยมมีตัวอย่างไหม ลอยไปเพื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้า เหมือนกับในอดีต

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่องธรรมเนียมต่างๆ พิธีต่างๆ ทำขึ้นเพื่อที่จะให้มีจุดเกี่ยวเนื่องอย่างหนึ่งอย่างใดกับเรื่องหนึ่งเรื่องใด ซึ่งสำหรับท่านผู้ฟังที่เป็นชาวพุทธ ก็คงจะได้ฟังข้อความในอังคุตตรนิกาย

    ติกนิบาต เกสปุตตสูตร ข้อ ๕๐๕ ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับชาวกาลามะว่า

    • (๑) ท่านทั้งหลายอย่าได้ถือโดยฟังตามกันมา

    เช่นพระพรหมมีลูกสาว แล้วก็ตัดศีรษะ และศีรษะจะตกไปที่ดินไม่ได้ ก็แสดงให้เห็นว่า เป็นสิ่งที่ฟังตามๆ กันมา ใครเชื่อ เพราะฉะนั้นก็ต้องพิจารณา การจะเชื่อเพราะเหตุว่าถือโดยฟังตามกันมาเท่านั้น เพราะเหตุว่าพระพรหมไม่มีบุตร ถ้าเป็นพรหมบุคคลแล้วไม่มีภรรยา ไม่มีสามี ไม่มีบุตร ถ้าเป็นพระพรหมจริงๆ

    (๒) อย่าได้ถือโดยเป็นลำดับสืบๆ กันมา

    คือ ธรรมเนียมเคยทำอย่างไร ก็ทำอย่างนั้นต่อๆ กันมาเรื่อยๆ แต่ถ้าเป็นผู้เกิดกุศลจิตได้ เพราะเหตุว่าสามารถจะเข้าใจความมุ่งหมายของธรรมเนียมนั้น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่โดยที่ไม่เข้าใจ แต่ก็ทำตามๆ กันมา โดยที่ไม่รู้เรื่องเลย ขณะนั้นก็ต้องเป็นอกุศล แม้ว่าจะมีกุศลบ้าง ก็คงจะเป็นเล็กๆ น้อยๆ มาก เพราะไม่ประกอบด้วยความเข้าใจเหตุผล

    (๓) อย่าได้ถือโดยความตื่นว่า ได้ยินว่าอย่างนี้ๆ

    เช่นข่าวลือต่างๆ เชื่อไหม ยังไม่ทราบเลยว่า ความจริงเป็นอย่างไร แต่ก็ตื่นเต้นได้

    (๔) อย่าได้ถือโดยอ้างตำรา คือไม่เข้าใจในอรรถ

    (๕) อย่าได้ถือโดยนึกเดาเอา

    บางคนก็ชอบคิดเดาไปต่างๆ นานา เพราะว่าทุกคนมีอิสระเสรีที่จะคิด แต่ต้องระวังว่า ไม่ใช่การเดาให้ผิด เพราะฉะนั้นถ้าจะไม่เดาก็จะดีกว่า

    (๖) อย่าได้ถือโดยคาดคะเน

    บางคนพอเห็นอะไรนิดๆ หน่อยๆ ก็คาดการณ์ว่าจะต้องเป็นอย่างนี้ ต้องเป็นอย่างนั้น เพียงเห็นการกระทำของบางบุคคล นี่ก็เป็นการถือเอาโดยคาดคะเน

    (๗) อย่าได้ถือโดยตรึกตามอาการ

    ไม่ใช่เดา แล้วก็ไม่ใช่คาดคะเน แต่มีอาการที่ชวนให้คิดว่า จะเป็นอย่างนั้นๆ แต่ก็ย่อมจะผิดได้ เพราะฉะนั้นก็ไม่ควรที่จะตรึกตามอาการ

    (๘) อย่าได้ถือโดยชอบใจว่า ต้องกับลัทธิของตน

    อันนี้ฟังดู บางท่านก็บอกว่า ท่านชอบของท่านอย่างนี้ ท่านพอใจที่จะเชื่ออย่างนี้ เช่นบางท่านอาจจะคิดว่า ตายแล้วก็ไม่ต้องเกิดอีก ไม่มีเหตุผลอะไรเลยทั้งสิ้น ท่านบอกว่า ท่านชอบ ท่านบอกว่านั่นถูกแล้ว นี่ก็เป็นการถือเอาโดยชอบใจว่า ต้องกับลัทธิของตน เพราะฉะนั้นก็ได้ถือโดยชอบใจว่า ต้องกับลัทธิของตน

    (๙) อย่าได้ถือโดยเชื่อว่า ผู้พูดสมควรจะเชื่อได้

    บางท่านก็คิดว่า ท่านผู้นี้มีอายุมากและบวชมานาน หรือเป็นผู้ที่อยู่ในป่า หรือผจญชีวิตปฏิบัติมาอย่างโชกโชน ที่มักจะใช้คำนี้บ่อยๆ แต่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อย่าได้ถือโดยเชื่อว่า ผู้พูดสมควรจะเชื่อได้

    (๑๐) อย่าได้ถือโดยเชื่อ โดยความนับถือว่า ผู้นี้เป็นครูของเรา

    ต้องพิจารณาคำพูดและเหตุผลให้ตรงกับสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ใช่เพียงแต่ว่าเมื่อผู้นั้นเป็นครูบอกอะไรก็เชื่อทุกอย่าง

    เพราะฉะนั้นเรื่องธรรมเนียมต่างๆ ก็คงจะเข้าเรื่องที่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับชาวกาลามะว่า จะต้องเป็นผู้พิจารณาในเหตุผล

    เรื่องของจิตเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก และขนบธรรมเนียมทุกอย่างก็จะต้องพิจารณาให้เข้าใจว่า ขณะนั้นจิตที่กระทำตามขนบธรรมเนียมประเพณีนั้นเป็นกุศลจิต หรือเป็นอกุศลจิต ถ้าไม่มีการพิจารณาให้เข้าใจ ก็จะเป็นการประพฤติตามขนบธรรมเนียมประเพณีด้วยความไม่รู้ หรือว่าด้วยความติดในกุศล

    ไม่ทราบท่านผู้ฟังมีข้อสงสัยอะไรบ้างหรือเปล่าในเรื่องนี้ ในเรื่องการสรงน้ำพระ การประพฤติปฏิบัติของคฤหัสถ์ต่อบรรพชิต ซึ่งก็จะต้องเป็นไปตามพระวินัยบัญญัติ และตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ในสมัยโน้นมีคฤหัสถ์ท่านใดที่ไปสรงน้ำพระผู้มีพระภาคและพระภิกษุบ้างหรือเปล่า เพราะเหตุว่าคฤหัสถ์ในครั้งพุทธกาลเป็นผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาอย่างมาก เพราะฉะนั้นการเคารพนอบน้อมของคฤหัสถ์ในสมัยนั้นที่ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค หรือไปหาพระภิกษุสงฆ์ ท่านก็ไปด้วยความเคารพและสักการะด้วยดอกไม้ของหอมเท่านั้น

    เพราะฉะนั้นก็ไม่ควรที่จะปะปนธรรมเนียมของคฤหัสถ์กับธรรมเนียมของบรรพชิต

    นิภัทร การสรงน้ำพระ กระผมไม่ติดใจหรอก แต่อยากจะเล่าประเพณีทางอีสานที่สรงน้ำพระ เรารู้อยู่แล้วว่า ทางภาคอีสานกันดารน้ำ ในเดือนเมษา ซึ่งเป็นวันสงกรานต์ ทางวัดจะจัดประรำ และนิมนต์พระพุทธรูปประจำวัดไปไว้ที่ประรำหรือที่ศาลาวัดก็แล้วแต่สะดวก แล้วก็จัดที่สำหรับวางเครื่องสักการบูชาธูปเทียน และป่าวประกาศให้ชาวบ้านเอาน้ำมาสรง ส่วนใหญ่น้ำที่สรงนั้นก็เป็นน้ำหอม ใช้ขมิ้นหอมผสมกับน้ำมาสรง พระมีกี่องค์ๆ พระพุทธรูปมีกี่องค์ก็จะนำมาทั้งหมด บางแห่งก็สรงเป็นอาทิตย์ บางแห่งก็ ๓ วัน


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 25
    23 ก.พ. 2565

    ซีดีแนะนำ