โสภณธรรม ครั้งที่ 127


    ตอนที่ ๑๒๗

    ท่านอาจารย์ ถ้ายังไม่รู้จักจิต แล้วจะถอดจิตยังกะถอดรูป ก็เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นจะต้องเข้าใจว่า มีจิตหลายประเภท และจิตบางประเภทมีพลัง เช่น ผู้ที่มีความสงบของจิตมั่นคงเป็นฌานจิตถึงขั้นปัญจมฌาน แล้วยังต้องฝึกจิตที่จะทำอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ แต่เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องทียากแสนยาก ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะทำได้โดยง่าย เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องของอุตริมนุสสธรรม ภาษาธรรมใช้คำว่า “อุตริมนุสสธรรม” คือ ธรรมที่เหนือมนุษย์ธรรมดา เพราะฉะนั้นถ้ายังเป็นมนุษย์ธรรมดาอยู่ ก็คงยังไม่ต้องสนใจถึงกับในเรื่องที่จะทำอย่างนั้น

    ๔. มนุษย์ถูกกำหนดขึ้นมาพร้อมกับกิเลส ทำไมเราจึงต้องค้นหาทางตัดกิเลส

    ตอบ เพราะว่ากิเลสทำให้เป็นทุกข์ เมื่อใครไม่ต้องการทุกข์ คนนั้นก็มีหนทางที่จะดับทุกข์ได้ แต่ถ้าใครยังชอบกิเลสมากๆ ไม่เห็นว่ากิเลสเป็นทุกข์ ยังอยากจะมีกิเลสอยู่ คนนั้นก็ไม่หาทางที่จะตัดกิเลส

    ๕. ทำไมไม่ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติที่กำหนดมา

    ตอบ ถ้าธรรมชาติคือไม่รู้ แล้วยังพอใจที่จะไม่รู้ ธรรมชาติมีกิเลส ก็ยังพอใจที่จะให้มีกิเลสต่อไป ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล แต่ว่าบุคคลใดก็ตาม เช่นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้น ทรงเห็นโทษของกิเลส แล้วทรงเห็นโทษของการเกิด เพราะฉะนั้นก็ทรงบำเพ็ญพระบารมีที่จะอบรมเจริญปัญญาจนสามารถที่จะดับกิเลสได้ แล้วทรงแสดงธรรมสำหรับผู้ที่มีความประสงค์ที่จะดับกิเลสเช่นเดียวกับพระองค์ด้วย

    ๖. ตัวของเรา จิตของเรา เป็นไปได้ไหมที่จะมีความรู้สึกขัดแย้งกับวิญญาณของเรา เช่น ตัวเราเป็นอีกแบบหนึ่ง แต่จิตวิญญาณเราต้องการอีกแบบหนึ่ง

    ตอบ มีเยอะไปหมดเลย มีทั้งตัวเรา ทั้งจิตเรา มีทั้งวิญญาณเรา ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่ของเราเลยสักอย่างเดียว แต่ว่าเมื่อยังไม่ได้เข้าใจตามความเป็นจริง ทั้งในเรื่องของจิต ซึ่งใช้เรียกว่า วิญญาณบ้าง ก็เลยทำให้เข้าใจว่ามีความขัดแย้งกัน แต่ความจริงแล้วจิตขณะหนึ่งเกิดขึ้นเป็นอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น เปลี่ยนไม่ได้ เช่นในขณะที่เกิดความพอใจสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นโลภะ เป็นความต้องการ จะเปลี่ยนจิตในขณะนั้นให้เป็นการสละ ไม่ต้องการสิ่งนั้นอีกต่อไปก็ไม่ได้ นี่แสดงให้เห็นว่า จิตใดเป็นกุศล จะเปลี่ยนกุศลจิตนั้นให้เป็นอกุศลไม่ได้ และจิตใดที่เป็นอกุศล ก็จะเปลี่ยนจิตที่เกิดมาเป็นอกุศลให้เป็นกุศลไม่ได้ จิตชนิดไหนเกิดมาเป็นอย่างไร ก็เกิดมาเป็นอย่างนั้นชั่วขณะหนึ่งแล้วดับ

    เพราะฉะนั้นไม่ใช่เราขัดแย้งกัน แต่ว่ามีจิตหลายๆ ประเภท คือ โลภมูลจิต จิตที่มีโลภะก็มี โทสมูลจิต คือ จิตที่มีโทสะก็มี จิตที่ประกอบด้วยเมตตาก็มี จิตที่ประกอบด้วยความตระหนี่ก็มี มีจิตหลายๆ อย่าง แต่ว่าเกิดดับสลับกันทีละอย่าง ก็เลยทำให้ดูเหมือนขัดแย้งกัน เพราะว่าบางคนอาจจะได้อยากได้บุญ แต่ไม่อยากให้ทาน ก็มี เพราะเหตุว่าใจจริงๆ อยากได้ผลของบุญ แต่ว่ามีความตระหนี่ ไม่สละวัตถุให้ทั้งๆ ที่อยากจะได้ผลของบุญ

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ขณะที่ตระหนี่เป็นขณะหนึ่ง และขณะที่อยากจะให้จิตเป็นกุศล ก็อีกขณะหนึ่ง ซึ่งความจริงแล้วทุกขณะก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่ของเราทั้งสิ้น

    ๗. ทำไมเราจึงรู้สึกเบื่อชีวิตมากๆ เป็นบางครั้ง เบื่อชีวิตวัยรุ่น เบื่อความฟุ้งเฟ้อ และจะทำอย่างไรจึงจะดำรงชีวิตอย่างไม่กระวนกระวายได้

    ตอบ ก็มีอย่างเดียว ไม่มียาวิเศษ ไปหาหมอที่ไหน โรงพยาบาลไหนขอยาไม่เบื่อชีวิตก็ไม่มี แต่ว่าปัญญาที่รู้ความจริงของธรรมเท่านั้นที่จะทำให้เบื่อน้อยลง เพราะรู้ว่าการเบื่อไม่มีประโยชน์ สิ่งใดจะเกิดก็ต้องเกิดตามเหตุตามปัจจัย ควรที่จะเข้าใจสภาพนั้นตามความเป็นจริง ไม่ใช่เบื่อ เพราะเหตุว่าความเบื่อความหมายว่าต้องการสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้นต่างหากจึงเบื่อ ถ้าต้องการสิ่งใดแล้วได้ ยังเบื่อชีวิตไหม อยากจะได้อะไรก็ได้ทุกสิ่งทุกอย่าง ยังเบื่อชีวิตไหม ไม่เบื่อ แต่ถ้าอยากจะได้แล้วไม่ได้เมื่อไร เมื่อนั้นจะเบื่อทันที อยากจะแข็งแรง แต่เกิดไม่สบายป่วยกระเสาะกระแสะ ต้องรับประทานยาบ่อยๆ ต้องมาโรงพยาบาลบ่อยๆ เบื่อแล้วชีวิตนี้ ไม่เห็นไปที่ไหนเลย นอกจากเข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาล เพราะเหตุว่าไม่ชอบสิ่งที่กำลังเป็นอยู่ แต่ถ้าได้ทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว จะไม่มีการเบื่อเลย

    นี่ก็ต้องแสดงให้เห็นว่า ความเบื่อมาจากไม่ได้สิ่งที่ต้องการ และสิ่งที่ต้องการ ไม่สามารถที่จะได้ตลอดเวลา บางครั้งก็ได้สิ่งที่ต้องการ บางครั้งก็ไม่ได้สิ่งที่ต้องการ จึงทำให้เบื่อ

    เพราะฉะนั้นถ้าหมดกิเลสไปทีละเล็กละน้อย ความเบื่อก็จะลดน้อยลงไปด้วย

    สมพร การเบื่อบางอย่างก็เกิดจากกิเลส อย่างที่อาจารย์ว่า ต้องการสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เกิดความเบื่อขึ้น การเบื่อชนิดนี้ที่ละได้ก็ด้วยปัญญา การศึกษาให้เข้าใจ สร้างกุศล จิตก็ไม่รู้สึกว่าเบื่อ คือ ไม่มีความไม่สบายใจ การเบื่อก็หมายความถึงความไม่สบายใจนั่นเอง ถ้าเราเข้าใจเรื่องการปฏิบัติ มีปัญญา เข้าใจว่าควรทำอย่างไร อย่างนี้ก็สามารถแก้ความเบื่อได้ คือจิตเราผ่องใส

    ท่านอาจารย์ คำถามต่อไปนี่ก็เป็นเรื่องที่ทุกคนจะต้องตัดสินด้วยตัวของท่านเองเหมือนกัน คือ ถามว่าการระลึกชาติได้มีจริงหรือไม่

    ตอบ ถ้าระลึกจริงๆ มี แต่ไม่ง่าย แล้วเหตุก็ต้องสมควรแก่ผลด้วย หรือผลคือการที่จะระลึกชาติได้ ต้องมีเหตุที่ถูกต้อง ไม่ใช่ว่าไม่มีเหตุแล้วก็จะระลึกได้

    ถาม เรื่องที่เคยได้ยินมีอยู่ว่า เด็กเกิดมาอายุได้ประมาณ ๕ - ๘ ปี จำได้ว่าญาติและบ้านเดิมอยู่ที่ใด จำญาติอื่นๆ ได้หมดทุกคน และได้เล่าให้ฟังว่า ขณะที่ตายไปนั้น เขาให้นั่งเรียงแถว และให้กินน้ำลืมชาติทุกคน แต่บุคคลนี้อมน้ำไว้แต่ไม่กลืน พอเขาเผลอก็บ้วนทิ้ง แกเลยจำชาติได้ อาจารย์เชื่อแค่ไหน เพียงใด

    ตอบ ความคิดวิจิตรมาก ใครจะคิดอย่างไร ไม่มีใครที่จะห้ามได้ ใช่ไหม จะคิดว่าระลึกชาติก่อนเคยเป็นอย่างนั้นเคยเป็นอย่างนี้ ก็คิดได้ แต่ว่าความจริงจะเป็นอย่างนั้นหรือไม่ ต้องเป็นเรื่องของเหตุและผล เพราะเหตุว่าแม้แต่ในชาตินี้ ใครจะจำได้มากน้อยแค่ไหน เหมือนกันไหม บางคนอาจจะลืมไปแล้ว เมื่อวานนี้รับประทานอาหารอะไร รสชาติเป็นอย่างไร ทั้งๆ ที่ยังไม่สิ้นชีวิต ยังไม่จากโลกนี้ไป เพียงข้ามวันข้ามคืน ข้ามเดือนข้ามปีก็ลืมแล้ว

    เพราะฉะนั้นการที่จะระลึกชาติได้ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีเหตุที่จะทำให้พระองค์ระลึกชาติได้ แม้พระสาวก หรือแม้แต่เดียรถีย์ หรือผู้ที่ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนาเลย แต่เป็นผู้ที่อบรมสะสมสติ แล้วก็ฝึกหัดการที่จะมีความจำ เช่น ถ้าจะหัดเดี๋ยวนี้ ถอยไปว่าขณะก่อนที่จะอยู่ที่นี่ทำอะไร และก่อนที่จะอยู่ที่นั่น ทำอะไร ถอยจากวันนี้ ถึงเมื่อวานนี้ ไปทีละวันๆ จนครบปีครบเดือน อันนั้นจะเป็นเหตุให้มีความจำที่สามารถจะรู้ว่า เมื่อเกิด นาทีแรกที่เกิดในชาตินี้ต่อจากชาติก่อน คือ เป็นใครอยู่ที่ไหน อย่างไร นี่คือการระลึกชาติด้วยเหตุผลจริงๆ หมายความว่าต้องเป็นผู้จิตสงบถึงขั้นฌาน และใช้ฌานจิตที่มั่นคงที่สงบนั้น ฝึกหัดที่จะระลึก คือ ถอยความจำจากวันนี้ไปสู่ขณะหลังๆ เรื่อยๆ ไป จนสามารถที่จะระลึกได้แต่ละชาติๆ

    พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้เลิศในอภิญญา ในความรู้ที่พิเศษยิ่งกว่าคนอื่นทั้งหมด เพราะฉะนั้นการระลึกชาติของพระองค์ สามารถที่จะในอสงไขยแสนโกฏิกัปป์นั้น จะระลึกชาติไหนได้ทันที โดยที่บางคนทำอย่างนั้นไม่ได้ เหมือนอย่างคนที่เริ่มหัดใหม่ๆ ก็จะต้องระลึกจากวันนี้ไปเมื่อวานนี้ แต่ถ้าจะระลึกชาติวันนี้ถึงเมื่อสิบปีก่อน วันที่เท่านั้น เดือนนั้นจริงๆ ทำไม่ได้ แต่ผู้ที่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ที่ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะทั้งปวง

    เพราะฉะนั้นการระลึกชาติของพระองค์พิเศษกว่าคนอื่น คือ ไม่ว่าจะระลึกชาติไหนในระหว่างชาติไหนในแสนโกฏิกัปป์ ย่อมได้ทันที

    เพราะฉะนั้นที่ว่าระลึกได้ในขณะที่ตายไปนั้น เขาให้นั่งเรียงแถว และให้กินน้ำลืมชาติทุกคน

    ใครเคยเห็นน้ำลืมชาติบ้าง เกิดมาจนถึงเดี๋ยวนี้ ใครเคยเห็น เคยดื่ม เคยรับประทาน หรือเคยได้ยินเรื่องน้ำลืมชาติบ้าง และก็ถอยไปถึงรุ่นของคุณปู่คุณย่า คุณตาคุณทวด ท่านเคยเล่าให้ฟังเรื่องน้ำลืมชาติบ้างหรือเปล่า

    เพราะฉะนั้นคนนี้ที่บอกว่าอายุ ๕ – ๘ ปีนี่ ก็คงจะตายไปไม่นานหรอก ในสมัยนั้นก็คงจะไม่ถึง ๒๐ ชาติ มีน้ำลืมชาติบ้างไหม แต่ความคิดของคนก็สามารถจะทำให้คิดไปได้ว่า ในขณะที่ตายไปนั้น เขาให้นั่งเรียงแถว แล้วให้กินน้ำลืมชาติทุกคน แต่บุคคลนี้อมน้ำไว้แต่ไม่กลืน พอเขาเผลอก็บ้วนทิ้ง แกเลยจำชาติได้

    นี่ไม่เป็นเหตุเป็นผลใดๆ ทั้งสิ้น แสดงให้เห็นถึงคนเราจะคิดอย่างไรก็คิดได้ แต่คนอื่นที่จะเชื่อ ก็ควรจะพิจารณาหาเหตุผล ถ้ายังไม่มีน้ำลืมชาติ เรื่องนี้จะจริงได้อย่างไร แต่ถ้าใครอยากจะเชื่อ ก็ย่อมเชื่อได้เหมือนกัน โดยที่ไม่เหตุผล เชื่อโดยแม้ไม่มีน้ำลืมชาติ ก็เชื่อเสียแล้วว่า น้ำลืมชาติก็คงจะมี น้ำในแก้ววันนี้ที่กำลังรับประทานกันข้างนอกนี่ ลืมชาติไหม

    อาจารย์จะเพิ่มเติมไหม

    สมพร อันนี้เป็นแต่เพียงคำพูดกันมาสมัยเก่าๆ ในปัจจุบันนี้ก็ยังพูดกันว่าน้ำลืมชาติ ก็พูดกัน แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้นหรอก คนที่สามารถระลึกชาติได้ บางอย่างที่จำได้บางอย่างก็มีเล็กน้อย ที่ว่าดื่มน้ำลืมชาติ คงไม่ใช่หรอก อาจจะเป็นเหมือนฝันไป การฝันจะถือเป็นประมาณไม่ได้ แต่ถ้าระลึกชาติได้ พูดได้ถูกต้อง ก็มีบ้างเล็กๆ น้อย แต่ไม่มีใครรับรอง

    ท่านอาจารย์ ขอเรียนให้ทราบความจริงว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ดิฉันจากอาจารย์ว่า มีการพูดถึงเรื่องน้ำลืมชาติ ไม่ทราบว่าท่านผู้ฟังจะเหมือนดิฉันหรือเปล่า เพราะอายุก็น้อยกว่า คงมีโอกาสได้ยินได้ฟังเรื่องน้ำลืมชาติน้อยกว่าแน่ๆ เพราะเหตุว่านี่เป็นครั้งแรกที่ได้ยิน

    คำถามต่อไป

    ๑. ฝันมากเพราะอะไร ทำอย่างไรจึงจะไม่ฝันมาก ทำไมบางคนไม่ฝันเลย เวลาฝันจะกำหนดจิตได้หรือไม่

    ๒. ทำไมฝันแล้วก็เป็นจริง บางครั้งก็ไม่จริง คนที่ฝันเป็นประจำ สาเหตุเพราะอะไร จึงชอบฝัน

    ตอบ ปัญหาก็ร้อยแปดเพิ่มขึ้น ถ้าจะให้เป็นปัญหา แม้แต่เรื่องฝันก็ยังเป็นเรื่องที่กังวล เป็นสิ่งที่บังคับไม่ได้ แต่ทำไมถึงฝันมาก ไม่พอใจ ไม่ชอบที่จะฝัน ฝันมากเพราะอะไร ความฝันมีหลายอย่าง มีหลายลักษณะ แต่ตามความเป็นจริงแล้วที่เรียกคำว่า “ฝัน” ก็คือจิตที่คิดเท่านั้นเอง ในขณะที่เห็น เห็นสิ่งใด ทุกคนอดจะคิดเรื่องที่เห็นไม่ได้เลย เพียงแต่ว่าจะคิดสั้นๆ หรือจะคิดยาวๆ อย่างเวลาเห็นคนที่ไม่รู้จักเดินผ่านไปตามถนน ก็เห็นว่าเป็นคน รูปร่างลักษณะอย่างนั้น ก็เท่ากับคิดแล้วถึงรูปร่าง ถึงลักษณะอาจจะคิดถึงเสื้อผ้าเครื่องแต่งตัวของคนนั้นด้วยก็ได้ นั่นก็แสดงว่าไม่ใช่เพียงเห็น ยังคิดด้วย เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า ขณะที่เห็นโดยไม่คิด เป็นไปไม่ได้ หรือขณะที่ได้ยินเสียงเสียงหนึ่งเสียงใด ก็ยังคิดตามเสียงนั้นด้วย ขณะที่ได้กลิ่น ขณะที่ลิ้มรส รวมความว่าชีวิตในวันหนึ่งๆ นอกจากเห็น นอกจากได้ยิน นอกจากได้กลิ่น นอกจากลิ้มรสแล้วก็เต็มไปด้วยความคิดมากเหลือเกิน ไม่ใช่แต่เฉพาะในขณะที่ฝัน ทั้งๆ ที่ไม่ฝัน เห็นแล้วก็คิด ได้ยินแล้วก็คิด เพราะฉะนั้นนี่เป็นเหตุที่ว่า ทำไมเราถึงฝันมาก เพราะเหตุว่าเราคิดมากในวันหนึ่งๆ ฝัน อาจจะไม่เคยคิดพิจารณาเลยว่า เป็นความคิดนึกถึงสิ่งที่เคยเห็น เคยได้ยิน เคยได้กลิ่น คือฝันถึงเรื่องราวต่างๆ

    ถ้าขณะนี้ทุกคนอยากจะเข้าใจความฝัน หรือขณะที่ฝันมากขึ้น ลองคิดดูว่าเมื่อคืนนี้ฝันหรือเปล่า ดิฉันฝัน ท่านผู้ฟังเมื่อคืนนี้ฝันหรือเปล่า ฝัน ดิฉันฝันทุกคืน ไม่ทราบว่าท่านที่มาฟัง ฝันทุกคืนเหมือนดิฉันหรือเปล่า ไม่หรือ ถ้าอย่างนั้นดิฉันฝันมากกว่า แต่ให้ทราบว่าความฝันเพราะคิด แม้แต่ว่าไม่เห็น เวลานี้ใครใจลอย ที่เราใช้คำว่า “ใจลอย” คือ ไม่ได้ยินคำที่กำลังพูด แล้วพูดว่าอะไรก็ไม่รู้ เพราะว่ากำลังนึกถึงต้นไม้ที่บ้าน หรือว่ากำลังนึกถึงสัตว์เลี้ยงที่บ้าน หรือว่ากำลังนึกถึงคนไข้ที่อยู่ตึกนั้นหรือห้องนี้ นั่นก็เป็นความคิดนึกเหมือนกัน แสดงให้เห็นว่า แม้ไม่เห็นก็คิดได้ แม้ไม่ได้ยินก็ยังคิด ไม่ได้ลิ้มรส ไม่ได้กระทบสัมผัส ก็คิด เราตัดความคิดไม่ได้

    เพราะฉะนั้นแม้ว่าหลับแล้ว คือ ไม่เห็น ที่ใช้คำว่า “หลับ” คือ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่คิดนึกถึงสิ่งที่เห็น แต่ว่าคิดนึกเรื่องอื่น ขณะที่กำลังหลับ ทุกคนคิดถึงเรื่องที่ตาไม่เห็น หูไม่ได้ยิน แต่ว่าจำไว้ เคยฝันถึงคนที่ตายไปแล้วไหม เคย เพราะอะไร เพราะยังจำเขาไว้ ทั้งๆ ที่ไม่เห็น แต่ก็คิดถึงเรื่องเขา

    เพราะฉะนั้นเวลาฝันขอให้ทราบว่า ถ้าตื่นขึ้นมาแล้วเป็นผู้มีสติ จะรู้ได้ทันทีว่า จิตกำลังคิด คิดเรื่อง เวลานี้จะคิดถึงเพื่อนสักคนหนึ่ง คิดได้ใช่ไหม เขาใส่เสื้อสีอะไร เพื่อนคนนั้นที่คิด ไม่เห็นเสื้อเขา แต่คิดถึงเขาได้ ก็แสดงให้เห็นว่าคิดเรื่อง โดยที่ไม่จำเป็นต้องเป็นเหมือนกับที่ตาเห็นนี่เลย

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ความจำของเรามีมากเหลือเกิน และการปรุงแต่งของความคิดในวันหนึ่งๆ ก็มาก จนกระทั่งแม้ไม่เห็นแล้ว ก็ยังจะต้องฝัน คือคิดต่อไป บังคับไม่ได้ ถ้าคนที่มีสติมาก และเวลาที่ตื่นหลังจากที่ฝันแล้ว จะรู้ทันทีว่าเป็นแต่เพียงความคิด แต่เวลาที่สติไม่เกิดก็อาจรู้ว่า ความฝันเมื่อกี้นี้ที่ชักจะลืมๆ ไป ลองทบทวนดูอีกทีซิว่า เมื่อกี้ฝันว่าอย่างไรแน่

    นี่ก็เท่ากับมีความสำคัญในความฝันจนกระทั่งอยากจะรู้ว่า เมื่อกี้นี้ฝันว่าอะไร นี่ก็เป็นลักษณะของความยึดมั่นในเรื่องราว ในสิ่งที่เคยเห็น เคยได้ยินเท่านั้นเอง ไม่มีอะไรที่ผิดปกติ แต่ให้ทราบว่าทุกคนต้องฝัน ถ้าไม่ใช่พระอรหันต์ จะหมดความฝันไม่ได้เลย เพราะเหตุว่ายังมีความเกาะเกี่ยว ยังผูกพันกับเรื่องราวต่างๆ กับสิ่งที่เห็น และกับบุคคลต่างๆ ถ้าจะไม่ฝันก็ต้องเป็นพระอรหันต์เท่านั้น

    สมพร เรื่องความฝันนี่คล้ายๆ กับทุกสิ่งทุกอย่างมีเหตุมีปัจจัยให้เกิดขึ้นทั้งนั้น โบราณก็พูดเหตุของความฝัน ๔ อย่าง คือ ปุพพนิมิต จิตนิวรณ์ เทพสังหรณ์ ธาตุกำเริบ

    ความฝันที่เกิดจากจิตนิวรณ์ ก็คืออย่างที่อาจารย์ว่า คือ ความคิดเมื่อเห็นรูป ฟังเสียงต่างๆ เหล่านี้ พอตกกลางคืนก็คิดอีก แต่ว่าหลับไปแล้ว ก็เกิดความฝันขึ้น อย่างนี้เรียกจิตนิวรณ์

    เทพสังหรณ์ ก็เวลาที่เทพยดาจะมาให้โทษหรือมาให้คุณ ก็มาทำให้เราเห็นภาพต่างๆ เรียก เทพสังหรณ์

    ปุพพนิมิต โดยมากเกี่ยวกับกรรมเก่า อย่างพระพุทธเจ้าก่อนที่จะตรัสรู้ก็ฝัน หรือเรียกว่าปุพพนิมิต เกิดจากกรรม

    ธาตุกำเริบ คนปกติธาตุไม่ดี เจ็บไข้ได้ป่วย หรือท้องไม่ปกติ อย่างนี้เป็นต้น

    ท่านรวบรวมไว้ ๔ อย่าง นี่โดยย่อ ส่วนมากเกิดจากวิตกที่อาจารย์พูด

    ท่านอาจารย์ ที่เกี่ยวกับความฝัน คือว่ากุศลจิตหรืออกุศลจิตที่ฝัน เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการสะสมของแต่ละบุคคล ถ้าบุคคลนั้นมีโลภะมาก ความฝันก็เป็นเรื่องราวที่เต็มไปด้วยโลภะ ถ้าคนนั้นกำลังโกรธ หรือผูกโกรธใครอยู่ บางครั้งความฝันก็จะมีความตระหนกตกใจ หรือเป็นลักษณะของจิตที่เป็นโทสะ

    สำหรับคนที่เห็นโทษของอกุศล เวลาที่ฝันด้วยอกุศล ก็ทำให้รู้ว่า มีอกุศลมากมายเหลือเกิน แม้ว่าจะกล่าวว่า ไม่เจตนา ไม่ตั้งใจที่จะฝันอย่างนั้นอย่างนี้ก็ตาม แต่แม้อกุศลจิตที่ฝัน ก็เป็นไปตามการสะสม คือกิเลสที่ยังมีอยู่ของตนนั่นเอง

    เพราะฉะนั้นในความฝันในวันหนึ่งๆ จะเห็นได้ว่า น้อยนักที่จะเป็นกุศล สำหรับบางท่านอาจจะฝันเป็นกุศลมาก แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว ถ้าเป็นผู้ตรง วันนี้มีกุศลน้อยในชีวิตจริงๆ ที่ยังไม่ฝัน เพราะฉะนั้นเวลาฝันก็ต้องฝันด้วยอกุศลมากกว่าฝันด้วยกุศล แล้วเราเริ่มจะเห็นตัวเองตามความเป็นจริงว่า เป็นคนที่น่ารักหรือน่าชัง เพราะเหตุว่าเป็นคนมีอกุศลมาก ต้องรู้จักตัวเอง คนอื่นอาจจะไม่รู้จักอกุศลของเรา เพราะว่าไม่ได้แสดงออก บางครั้งก็เป็นเพียงความคิดนึกที่เป็นอกุศล แต่ถ้าเป็นผู้ที่ตรงจริงๆ เราก็รู้ตัวเองได้ว่า แท้จริงแล้วคนอื่นไม่อาจจะเห็นอกุศลของเราได้ และอกุศลนั้นก็ยังมีมากเหลือเกิน ถ้ารู้อย่างนี้ก็จะเป็นผู้เห็นโทษของอกุศล แล้วก็ศึกษาพระธรรมที่จะทำให้ปัญญาเกิด และอกุศลลดน้อยลง ถ้าเข้าใจ ก็เป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา แม้ว่าจะเป็นเพียงเล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ เพราะเหตุว่ายังไม่ได้ศึกษาความละเอียดของธรรม หรือเรื่องของจิต เรื่องของเจตสิก เรื่องของรูป ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ แต่ว่าก็ยังมีโอกาสที่จะได้เข้าใจเรื่องของจิตบ้าง เรื่องของการรักษาศีลหรือว่าการเจริญสมถวิปัสสนาบ้าง แต่ว่าเพียงเท่านี้ยังไม่พอ พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ ๔๕ พรรษา แล้วเราจะฟังเพียงในเวลา ๒ ชั่วโมง หรือ ๔ ชั่วโมง เป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าใจโดยตลอด แต่ว่าสามารถที่จะฟังอีกได้ เข้าใจอีกได้ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเห็นประโยชน์


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 25
    14 ก.พ. 2565

    ซีดีแนะนำ