โสภณธรรม ครั้งที่ 101


    ตอนที่ ๑๐๑

    ผู้ฟัง ก็อย่างลมหายใจนี่ เราก็ไม่ได้ทำ เป็นแต่ว่าถ้าเรารู้สึกว่า ลมหายใจมันออกมาจนสุดแล้ว ก็ถือว่ามันดับ

    ท่านอาจารย์ ถือไม่ได้ ไม่ได้รู้ว่าเป็นรูปนาม ถ้าตราบใดที่ยังไม่ประจักษ์แจ้งลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมโดยแยกขาดจากกัน ที่เป็นนามรูปปริจเฉทญาณ และวิปัสสนาญาณขั้นอื่นๆ ยังไม่เกิด จะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมไม่ได้

    คำว่า “ประจักษ์” หมายความถึงปัญญา ขณะนี้เสียงดับไป ทุกคนรู้ว่าเสียงดับ เป็นปัญญาหรือเปล่า เห็น ไม่ใช่ได้ยิน ทุกคนก็รู้โดยการฟังว่า เห็นก็ดับ และได้ยินในขณะนี้ก็ดับ แล้วจึงเห็นอีก ไม่ใช่เห็นเกิดสืบต่อไปเรื่อยๆ มีได้ยินเกิดสลับ แล้วมีจิตอื่นเกิดสลับ ขณะนั้นเป็นปัญญาหรือยัง ถ้าไม่เป็น จะใช้คำว่า “ประจักษ์” ไม่ได้ เพราะเหตุว่าประจักษ์หมายความถึงปัญญาที่รู้ชัด ลักษณะของสภาพธรรมนั้นเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว แต่ว่ายังไม่ได้อบรมเจริญปัญญาที่จะประจักษ์ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ต่อเมื่อใดปัญญาเจริญขึ้นรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรม สภาพธรรมปรากฏตามความเป็นจริง ปัญญาขั้นนั้นจึงประจักษ์ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมปรากฏแก่ปัญญาที่อบรมเจริญแล้ว

    เรื่องการปฏิบัติธรรมก็เป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นเรื่องที่จะต้องฟังจริงๆ แล้วก็เข้าใจจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสมถภาวนา หรือวิปัสสนาภาวนา แล้วก็ไม่สับสนปะปนกันเรื่องของมิจฉาสมาธิ เรื่องของสัมมาสมาธิ เรื่องของสมถภาวนาต่างกับวิปัสสนาภาวนาอย่างไร หรือว่าในชีวิตประจำวันซึ่งเป็นการอบรมเจริญกุศลทุกประการ ก็เป็นทั้งสมถะและวิปัสสนาด้วย ถ้าสติปัฏฐานเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    สำหรับความสัมพันธ์กันของทั้ง ๓ ปิฎก ก็จะเห็นได้ว่า เพื่อให้ปัญญาอบรมรู้สภาพธรรมตามเพศของคฤหัสถ์และบรรพชิต บางท่านสับสน เป็นคฤหัสถ์ แต่ก็อยากจะทำ คืออยากจะปฏิบัติธรรมยิ่งกว่าเพศบรรพชิต เพราะฉะนั้นนั่นก็ไม่สามารถจะบรรลุผลได้ หรือว่าถ้าเป็นบรรพชิตซึ่งยังมีการประพฤติอย่างคฤหัสถ์ ก็ไม่สามารถจะบรรลุผลที่ประสงค์ได้ เพราะเหตุว่าชีวิตของบรรพชิตกับชีวิตของคฤหัสถ์ต่างกันมาก ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานก็เป็นผู้ที่ตรงตามความเป็นจริงว่า ถ้าเป็นคฤหัสถ์ ก็อบรมเจริญปัญญาในเพศของคฤหัสถ์ ไม่ใช่ว่าจะไปทำอย่างบรรพชิต คือ จะต้องไปสู่สถานที่หนึ่งสถานที่ใด แล้วก็ไม่ทำกิจการงานใดๆ ซึ่งแม้บรรพชิต ท่านก็ยังมีกิจที่จะต้องกระทำตามเพศของบรรพชิต แต่ต้องเข้าใจว่า ก่อนที่สติปัฏฐานจะเกิด เพราะเคยยึด เคยคิดว่า เป็นเรา เพราะฉะนั้นทุกบรรพของสติปัฏฐาน เพื่อให้พิจารณาลักษณะของรูปและนามที่ปรากฏ

    ถ้าจะขอเรียนถามท่านผู้ฟังที่ยังอาจจะไม่แจ่มแจ้ง หรือว่าอาจจะสงสัย ไม่แน่ใจ เช่นถามว่า เจริญสติปัฏฐานเพื่ออะไร บางทีได้กล่าวไปแล้ว กล่าวทบทวนอีกครั้งหนึ่ง ก็อาจจะทำให้เพิ่มความแจ่มแจ้งขึ้นได้ เช่น ถ้าถามว่า เจริญสติปัฏฐานเพื่ออะไร

    การกระทำทุกอย่างต้องมีจุดประสงค์ ถ้าไม่รู้จุดประสงค์ ก็ไม่สามารถที่จะบรรลุความสำเร็จได้ เพราะฉะนั้นท่านที่จะเจริญสติปัฏฐาน จะเจริญสติปัฏฐานเพื่ออะไร

    คำตอบเปลี่ยนได้ แต่ต้องถูก จะตอบอย่างไรก็ได้ เชิญ

    ตอบ รู้สภาพธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ท่านอาจารย์ ตอบอย่างนี้ก็ได้ จะตอบอย่างอื่นอีกได้ไหม เรื่องเดียวกันสัมพันธ์กันทั้งหมด แล้วแต่ว่าจะตอบแง่ไหน ถ้าจะตอบว่า เพื่อละความไม่รู้ ได้ไหม ก็ได้อีก ไม่รู้อะไร ละความไม่รู้อะไร ไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้

    เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นผู้ที่รู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า ไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้แค่ไหน แค่ที่ยังไม่รู้เลย ว่าเป็นนามธรรมและรูปธรรมอย่างไร หรือว่าแค่ที่ยังไม่ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรม วิปัสสนาญาณทุกญาณประจักษ์แจ้งอะไร คำตอบจะเหมือนเดิมไหม

    วิปัสสนาญาณทุกวิปัสสนาญาณประจักษ์แจ้งอะไร

    ประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จะประจักษ์อย่างอื่นนอกจากลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้ไหม

    ชีวิตตามความเป็นจริงในวันหนึ่งๆ ของผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน จะเห็นความสัมพันธ์ของสภาพปรมัตถธรรมที่ปรากฏกับความคิดนึก และการเจริญสติปัฏฐาน

    เพราะเหตุว่า สติปัฏฐานจะเกิดสลับกับปรมัตถธรรมที่ปรากฏ

    ขณะนี้ ทางตาเป็นสิ่งที่มีจริง กำลังเห็น สติปัฏฐานเกิดสลับกับปรมัตถธรรมที่ปรากฏ เพราะเหตุว่าสติปัฏฐานจะระลึกลักษณะของธาตุรู้ที่กำลังเห็นในขณะนี้ หรือว่าระลึกศึกษาลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา จนรู้ชัด ละคลายการยึดถือสิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุ เป็นพี่ เป็นน้อง เป็นเพื่อน เป็นบุคคลต่างๆ โดยการรู้ว่า คิดนึกเกิดสืบต่อจากทางตา

    นี่คือการที่สติปัฏฐานจะเกิดสลับกับปรมัตถธรรมที่ปรากฏในวันหนึ่งๆ เพราะเหตุว่ามีสภาพปรมัตถธรรมปรากฏให้ศึกษา เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานก็ศึกษาโดยระลึกลักษณะของปรมัตถธรรมที่ปรากฏ สติปัฏฐานจึงเกิดสลับกับปรมัตถธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งผลก็คือว่า เมื่อปัญญาเจริญขึ้นก็จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง แล้วปัญญาจะค่อยๆ โน้มไป สู่การที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรม เช่น ถ้าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ไม่ใช่ใครเลยทั้งสิ้น แล้วจะรักจะชังสิ่งที่ปรากฏทางตาแล้วก็ดับไปอย่างนั้นหรือ

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ปัญญาที่จะเจริญจากการเป็นปุถุชน จนกระทั่งถึงความเป็นพระอรหันต์ที่จะดับกิเลสได้ ก็คือการรู้สัจจธรรม ของจริงที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยแยกออกได้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นอย่างไร และหลังจากนั้นคิดนึกเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นรูปร่าง สัณฐาน อย่างไร

    เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ ก็จะอยู่กับความคิดเรื่องของสิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งทั้งหมดก็เป็นเพียงชั่วขณะเดียวที่เกิดแล้วก็ดับไป

    อดิศักดิ์ การเจริญสติปัฏฐานเท่าที่ได้ฟังมา ได้ศึกษามาก็ว่า ต้องมีปัจจุบันอารมณ์ คือ ต้องมีอารมณ์ปัจจุบัน เพื่อที่จะระลึกถึงปรมัตถธรรมที่ปรากฏในขณะนั้น ทีนี้ในการสนทนาธรรมในวันเสาร์ก่อน มีผู้หนึ่งบอกว่า ได้ค้นคว้าในพระไตรปิฎกแล้วว่า การเจริญสติปัฏฐาน ใครนะเป็นคนพูดว่า จะต้องมีปัจจุบันเป็นอารมณ์ อดีตก็ได้ อนาคตก็ได้ มีตั้ง ๗ อารมณ์ ในพระไตรปิฎกก็ไม่ได้บอกว่า จะต้องมีปัจจุบันเป็นอารมณ์ มีหลักฐานอย่างไรที่จะแสดงให้เห็นว่า ต้องใช้อารมณ์ปัจจุบันตามที่ได้ศึกษามาว่าถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า ปัญญาที่จะประจักษ์แจ้งทุกขอริยสัจจะนั้นคือรู้อะไร เพราะเหตุว่าอริยสัจจธรรมมี ๔ อริยสัจจ์ที่ ๑ คือ ทุกขอริยสัจจะ ได้แก่ การเกิดดับของสภาพธรรมตามปกติที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ ถ้ายังไม่ประจักษ์แจ้งการเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ จะชื่อว่า รู้ทุกขอริยสัจจะไม่ได้

    เพราะฉะนั้นในขณะนี้ทางตาเกิดแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ไม่ศึกษา ไม่พิจารณารู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ ย่อมไม่สามารถที่จะประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมได้ เพราะฉะนั้นก็จะไม่ประจักษ์แจ้งลักษณะของทุกขอริยสัจจะ

    อดิศักดิ์ ที่อาจารย์ตอบมานี่ก็เป็นเหตุผล ผมเองได้ตอบไปด้วยเหตุผลอีกอันหนึ่งบอกว่า ถ้าเผื่อยังนำอดีตมาเป็นอารมณ์ เอาอนาคตมาเป็นอารมณ์ หรือจะเอาอารมณ์ทั้ง ๗ ที่เขาไปค้นคว้ามาอย่างไรก็แล้วแต่ จะเป็นอารมณ์อดีต หรือเป็นอารมณ์อนาคต ถ้าเผื่อมาสู่ปัจจุบันในขณะนั้น ถ้าเป็นปัจจุบันแล้ว จะไม่มีเรื่องราว จะไม่มีสัตว์ จะไม่มีบุคคล แต่ถ้ายังเป็นสัตว์ ยังเป็นบุคคล ยังเป็นเรื่องราวอยู่แล้ว แล้วจะตัดวัฏฏะได้อย่างไร ขณะนั้นจิตก็ยังปรุงแต่งเป็นเรื่องราวอยู่ ก็ไม่มีทางที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ จากคำตอบของผมที่ตอบไปนี่ พอจะเป็นเหตุผลไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ทราบว่าจะเจริญปัญญา หรือเจริญสติปัฏฐานเพื่ออะไร

    อดิศักดิ์ ก็เพื่อตัดวัฏฏะ

    ท่านอาจารย์ คือถ้ายังไม่รู้จุดประสงค์ของการเจริญสติปัฏฐาน ก็จะเจริญสติปัฏฐานทำไม หรือว่าจะเจริญสติปัฏฐานเพื่ออะไร

    เพราะฉะนั้นในการศึกษาพระอภิธรรม หรือการฟังพระธรรม ก็จะต้องรู้ว่า จุดประสงค์คือเพื่ออะไร

    การฟังพระธรรมเพื่อที่จะให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ และที่ชื่อว่า อภิธรรม ก็คือว่าเป็นธรรมส่วนละเอียด ที่จะทำให้เห็นจริงว่า สภาพธรรมเหล่านี้ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะเหตุว่าก่อนที่จะฟังพระธรรม ก็ยึดถือสภาพธรรมทั้งหมดว่าเป็นเรา เป็นตัวตน ที่กำลังเห็น ก็เป็นเราเห็น ที่กำลังได้ยิน ก็เป็นเราได้ยิน ที่กำลังคิดนึก ก็เป็นเราคิดนึก ที่กำลังเป็นสุขเป็นทุกข์ ก็เป็นเรา นี่เป็นความเห็นผิดจึงศึกษาพระธรรมส่วนละเอียดที่เป็นพระอภิธรรม เพื่อที่จะให้เข้าใจได้จริงๆ ว่า ไม่มีสักขณะเดียวซึ่งเป็นตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธตรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    นี่คือขั้นฟัง ขั้นศึกษาให้เข้าใจจริงๆ แต่ไม่ใช่ขั้นประจักษ์แจ้ง เพราะฉะนั้นการที่จะประจักษ์แจ้ง เป็นปัญญาขั้นที่ไม่ใช่เพียงขั้นการฟัง แต่ว่าเป็นปัญญาที่เจริญขึ้นจนกระทั่งสามารถแทงตลอดลักษณะเกิดดับของสภาพธรรมในขณะนี้ได้ ก็จะต้องอาศัยสติปัฏฐานที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยการฟังเข้าใจจุดประสงค์ของการศึกษาพระธรรมว่า ศึกษาเพื่อประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม เมื่อเข้าใจอย่างนี้ สติปัฏฐานจึงจะเกิดได้ มิฉะนั้นแล้วสติปัฏฐานก็เกิดไม่ได้ ถ้าไม่เข้าใจจุดประสงค์ของการศึกษา และจุดประสงค์ของสติปัฏฐาน

    ด้วยเหตุนี้สติปัฏฐานจึงเป็นขณะที่สติเกิดระลึกได้ ตามที่ได้ยินได้ฟังในขณะนั้น ที่เป็นสติปัฏฐานคือระลึกตรงลักษณะของสภาพที่กำลังเป็นนามธรรมชนิดหนึ่งชนิดใด หรือรูปธรรมชนิดหนึ่งชนิดใด จะตรงไหมกับการศึกษาถ้าเป็นโดยลักษณะนี้ มิฉะนั้นแล้วการที่จะศึกษาเรื่องของสภาพธรรมทั้งหมดจะมีประโยชน์อะไร ศึกษาเรื่องจิตมีประโยชน์อะไร ถ้าไม่รู้ลักษณะของจิต ศึกษาเรื่องรูปแล้วมีประโยชน์อะไร ถ้าจะไม่รู้ลักษณะของรูป การศึกษาทั้งหมดก็ไม่ได้เป็นประโยชน์เกื้อกูลในการที่จะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรม แต่ในการที่ทุกท่านในขณะนี้กำลังฟังเรื่องของสภาพธรรม ก็เพื่อเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ จนกว่าปัญญาจะรู้ชัดประจักษ์แจ้งได้ในสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้

    นี่คือจุดประสงค์ของการศึกษา หรือว่าจะมีท่านผู้ใดศึกษาโดยที่ไม่มีจุดประสงค์ คือศึกษาไปเฉยๆ เรื่อยๆ เพื่อจะเป็นความรอบรู้เท่านั้น หรือว่าศึกษาเพื่อจะได้พิจารณาลักษณะของสภาพธรรมตรงตามที่ได้ยินได้ฟัง แม้ในขณะนี้เองถ้าจะพูดเรื่องจิต แต่ละท่านก็เข้าใจความหมาย ลักษณะ อรรถของจิต คือ สภาพที่รู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏ เพื่อขณะนี้จะได้รู้ว่า กำลังเห็นเป็นจิต นี่คือจุดประสงค์ของการศึกษา จนกว่าจะประจักษ์แจ้งว่า ขณะที่กำลังเห็นนี่ก็ไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    สุชาติ การศึกษาเพื่อที่จะรู้แล้วละ รู้แล้วพยายามละให้ได้

    เมื่อสักครู่ท่านที่มาถาม ผมพิจารณาแล้วเห็นว่า ท่านถามว่าในเวลาไปเจริญสติปัฏฐาน ใช้อารมณ์ปัจจุบันก็ได้ อนาคตก็ได้ อดีตก็ได้ ใช่ไหม คำตอบก็คล้ายๆ ว่าต้องเป็นปัจจุบันเท่านั้น ทีนี้คำถามก็อยากจะทราบว่า เวลาไปเจริญสติปัฏฐาน มีอารมณ์ มีนามรูปเป็นอารมณ์ ต้องเป็นปัจจุบันเท่านั้น แต่ท่านที่สนทนาในวันเสาร์ก็บอกว่า ได้ทั้งอดีต อนาคต คำตอบก็คือว่า ถ้าไม่ใช่อดีต ก็ต้องเป็นปัจจุบัน ถ้าไม่ใช่อนาคตก็ต้องเป็นปัจจุบัน แต่เรามาคิดว่าต้องเป็นปัจจุบันเท่านั้นจึงเป็นคำตอบ แต่เท่าที่ศึกษาทราบมา ผมไม่ได้บอกว่าเอาอดีตมาเป็นอารมณ์วิปัสสนา แต่เวลาเราไปเจริญสติปัฏฐาน ๑. ตัวอารมณ์คือนามรูปนั้นไม่เปลี่ยนแปลงแน่ เวลาไปเจริญสติปัฏฐานต้องมีทั้งอดีตและอนาคต คือนามรูปที่กำลังเกิดดับเป็นอารมณ์ของการเจริญสติปัฏฐาน แต่เรามีหน้าที่พยายามจับอารมณ์ที่เป็นปัจจุบันให้ได้ ต้องจับให้ได้ แต่ถ้าถามถึงตัวอารมณ์ ตัวอารมณ์คือนามรูป

    เวลาที่เราเจริญสติปัฏฐาน เราไม่ได้เห็นอารมณ์ปัจจุบันได้เลย อยู่ๆ เอาอารมณ์ปัจจุบันมาเจริญได้ก็ดี แต่ว่าอารมณ์นามรูป ต้องเอาทั้งอดีตและอนาคตมันมั่วกันอยู่ มาเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน แต่ขณะที่เราเจริญไปนั้น เรามีหน้าที่จับให้เป็นปัจจุบันเท่านั้น แต่ถ้าจะตอบว่าไม่ได้เลย หมายความว่าเขาพูดผิด หมายความว่าเอาทั้งอดีตและอนาคตมาเป็นอารมณ์เจริญสติปัฏฐาน ถ้าเขาบอกว่าต้องได้ ลักษณะที่เป็นปัจจุบันที่เห็นจริงแล้วก็ผิด แต่ถ้าเราจะบอกว่าเวลาเราไปเจริญสติปัฏฐาน ต้องปัจจุบันเท่านั้น ผมว่าไม่ถูกเหมือนกัน เพราะอยู่ๆ จะเป็นปัจจุบันได้อย่างไร เราก็ต้องเอาทั้งอดีตและอนาคตเป็นอารมณ์ก่อน แล้วเราก็เจริญให้เป็นปัจจุบัน ถอยให้มาเป็นปัจจุบันให้ได้ ทีนี้อาจารย์ท่านก็ตอบ รู้สึกจะเป็นอีกอย่างหนึ่ง ความจริงที่เป็นปัจจุบัน เราต้องการคำตอบว่า ขณะเป็นปัจจุบันนั้น เรายืนยันว่า นี่เป็นปรมัตถธรรมที่แท้จริง หรือมีสภาพอย่างไร

    เพราะฉะนั้นนี่ก็ไม่ใช่คำตอบ เป็นการแสดงความคิดเห็น แต่การแสดงความคิดเห็นอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นคำถามได้ ถ้าสมมติว่าผมกำลังนึกถึงบัญญัติ ผมอยากจะถามว่าบัญญัตินั้นเป็นปัจจุบันอารมณ์ได้หรือไม่

    ท่านอาจารย์ เวลานี้รู้สึกว่า เรื่องของการเจริญสติปัฏฐานที่กำลังสนทนากันอยู่ กล่าวถึงในขณะนี้ ไม่ได้เป็นไปตามลำดับ เพราะฉะนั้นเราควรที่จะพิจารณาเป็นลำดับ ดีไหม คือ ขั้นต้น ที่กล่าวว่าเวลาจะไปเจริญสติปัฏฐาน ความถูกความผิดต้องมีตั้งแต่ต้นทีเดียว ถ้าเข้าใจผิดตั้งแต่ต้น ปัญญาจะไม่เกิดเลย

    เพราะฉะนั้นก่อนอื่นที่กล่าวเมื่อสักครู่นี้ว่า เวลาจะไปเจริญสติปัฏฐาน ควรพิจารณาว่าถูกหรือผิด ถ้าถูกต้องถูกตั้งแต่ต้น ถ้าผิดก็ต้องผิดตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้นขอทราบความเห็นที่กล่าวว่า เวลาจะไปเจริญสติปัฏฐาน ถูกหรือผิด

    สุชาติ คงจะเป็นเรื่องของคำพูดมากกว่า เวลาจะไปเจริญสติปัฏฐาน ทำไมจะต้องจะไป ความจริงก็เจริญได้ทุกขณะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นที่กล่าวว่า เวลาจะไปเจริญสติปัฏฐาน ไม่ถูกใช่ไหม

    ขอประทานโทษ ท่านผู้ใดจะพูดไม่สำคัญ เวลานี้กำลังพิจารณาความถูกต้องของเหตุผล คือ ถ้ามีผู้ที่คิดว่า จะไปเจริญสติปัฏฐาน ถูกหรือผิด

    สุชาติ ประเด็นนั้นผมก็ยอมรับ สมมติว่าเราเจริญสติปัฏฐานในตอนนี้ ผมกำลังพูด ผมได้ยินเสียงผมพูด เสียงเป็นรูป ตัวรู้ผมก็เป็นนาม เจตนาที่จะพูดก็เป็นนาม พูดออกไปแล้วก็เป็นรูป ขณะนี้ผมคิดว่าจะเป็นอารมณ์ปัจจุบันได้อย่างไร แต่ผมก็รู้ว่าผมกำลังพิจารณารูปนั่นแหละ คงจะเป็นทั้งอดีตและปัจจุบัน ผมหมายถึงอย่างนั้นว่า เราก็คงจะพูดในวงนั้นเอง

    ท่านอาจารย์ เรายังไม่ไปไกลถึงขั้นนั้น ขอความกรุณาที่จะพิจารณาไปตามลำดับ คือ ถ้ากล่าวว่า จะไปเจริญสติปัฏฐาน แล้วไม่ถูก เพราะเหตุว่าสติเป็นอนัตตา เช่นเดียวกับได้ยิน ได้ยินจะเกิดเมื่อไร ไม่มีใครรู้ ฉันใด สติปัฏฐานจะเกิดเมื่อไร ก็มีเหตุปัจจัยที่สติปัฏฐานจะเกิดเมื่อนั้น โดยที่ไม่ใช่ต้องไปเจริญสติปัฏฐาน อันนี้ถูกต้องที่ว่า สติปัฏฐานจะเกิดในขณะไหนก็แล้วแต่เหตุปัจจัย

    ข้อที่ ๒ ก็คือว่า เมื่อสติปัฏฐานเกิด มีอะไรเป็นอารมณ์ อันนี้สำคัญที่สุด เพราะเหตุว่าปัญญาจะต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ยังไม่ต้องพูดถึงอดีต ปัจจุบัน อนาคต เพียงแต่ว่าเวลาที่สติปัฏฐานเกิด สติปัฏฐานมีอะไรเป็นอารมณ์ จะได้ทราบว่าขณะใดเป็นความเห็นถูก ขณะใดเป็นความเห็นผิด

    มีท่านผู้ใดจะให้ข้อคิดเห็นบ้างไหมในเรื่องนี้

    สุชาติ ก็คงจะมีนามรูปเป็นอารมณ์

    ท่านอาจารย์ คงจะ หรือว่ามีนามรูปเป็นอารมณ์

    สุชาติ ถ้าจะตอบให้ชัด ก็ต้องมีนามรูปเป็นอารมณ์เท่านั้น

    ท่านอาจารย์ มีนามธรรมหรือรูปธรรมเป็นอารมณ์ ทำไมต้องมีนามธรรมและรูปธรรมเป็นอารมณ์ เพราะอะไร

    สุชาติ เพราะเป็นปรมัตถ์ที่มีจริง

    ท่านอาจารย์ เป็นสิ่งที่มีจริงๆ ที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

    สุชาติ นอกนั้นไม่มี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นถึงแม้จะได้ยินได้ฟังเรื่องนามธรรมมานาน หรือรูปธรรมมานาน เป็นเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมทั้งนั้น จนกว่าสติปัฏฐานจะเกิดระลึกตรงลักษณะของนามธรรม แต่ความรู้ก็ยังไม่ได้เจริญพอที่จะรู้ว่า นั่นเป็นนามธรรม ถูกไหม

    สุชาติ ถ้าจะรู้ว่านั่นเป็นนามธรรม ต้องเป็นปัจจุบัน

    ท่านอาจารย์ เพียงแต่สติเกิดครั้งเดียว แล้วก็จะให้รู้ลักษณะนั้นเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ ไม่ใช่ตัวตน เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ต้องอาศัยสติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพนามธรรมเนืองๆ บ่อยๆ เช่นในขณะนี้ ไม่ต้องเป็นขณะอื่นเลย ในขณะนี้ปัญญารู้ชัดหรือยังว่า ขณะที่กำลังเห็นเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ขณะที่กำลังได้ยิน เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ทั้งๆ ที่เวลาศึกษาก็ทราบว่า เป็นวิถีจิตทางจักขุทวาร ได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต จักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต ชวนจิต ตทาลัมพนจิต ล้วนแล้วแต่เป็นจิตที่กำลังมีสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอารมณ์ ฉันใด ทางหู วิถีจิตต่างๆ ก็มีเสียงเป็นอารมณ์ฉันนั้น

    เพราะฉะนั้นเมื่อยังไม่ประจักษ์แจ้ง และการที่จะประจักษ์ได้ ก็โดยการที่สติระลึกตรงลักษณะนั้น แล้วต้องพิจารณาน้อมไปรู้ว่า ลักษณะนั้นที่เป็นสภาพรู้ คือ อาการรู้

    นี่คือสติปัฏฐานที่ระลึกลักษณะของนามธรรม จนกว่าลักษณะของนามธรรมจะปรากฏ โดยสภาพที่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ฉันใด รูปแต่ละรูปที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็ฉันนั้น

    นี่คือการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานต้องมีนามธรรมหรือรูปธรรมเป็นอารมณ์ จนกว่าจะประจักษ์ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 25
    11 ก.พ. 2565

    ซีดีแนะนำ