โสภณธรรม ครั้งที่ 133


    ตอนที่ ๑๓๓

    ผู้ฟัง คนเราเกิดมาก็ต้องมีปัญหาทั้งนั้น จะแก้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ มีปัญหาที่ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน เพราะฉะนั้นที่จะแก้ปัญหาก็ต้องรู้ว่า ปัญหาอยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่อวิชชา ความไม่รู้จักโลก ไม่รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง และต่อไปขอให้อาจารย์อธิบายคร่าวๆ ว่าวิธีทำของอาจารย์นั้นทำอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ คือมีพระธรรมเป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง ก็ต้องฟังพระธรรมไปเรื่อยๆ เพิ่มความเข้าใจพระธรรมไป

    ถาม ...

    ท่านอาจารย์ ได้ยินไหม

    ผู้ฟัง ได้ยิน แต่เสียงก็เป็นเสียง

    ท่านอาจารย์ ได้ยินก็เป็นได้ยิน

    ผู้ฟัง ...

    ท่านอาจารย์ ถ้าดิฉันจะถามกรุณาตอบด้วย ได้ยินไหม

    ผู้ฟัง ได้ยิน

    ท่านอาจารย์ ได้ยินไม่ใช่เสียง ตอบก่อนว่าได้ยินไหม

    ผู้ฟัง ได้ยิน

    ท่านอาจารย์ ได้ยินไม่ใช่เสียง ถ้าเสียงกับได้ยินยังรวมกัน ก็จะต้องไปสืบหาผู้รู้อีก ใช่ไหม แต่นี่ได้ยินไหม คำว่า “ได้ยิน” ก็ตอบอยู่แล้วว่า มีสภาพที่ได้ยินเสียง อาการได้ยิน ลักษณะได้ยินเป็นสภาพรู้เสียง เพราะฉะนั้นไม่ต้องมีผู้หนึ่งผู้ใดไปรู้เสียงอีก เพราะว่าเสียงปรากฏกับสภาพที่รู้เสียงเท่านั้น ขณะใดที่มีเสียงปรากฏ ขณะนั้นมีสภาพรู้เสียงที่ปรากฏ เฉพาะเสียงที่ปรากฏด้วย เพราะฉะนั้นเสียงปรากฏแก่จิตที่ได้ยิน

    จิตเป็นสภาพรู้ เป็นอาการรู้เสียงที่ปรากฏ ไม่มีบุคคลอื่นอีกต่างหากที่จะรู้เสียงนั้น เพราะที่เข้าใจว่าเป็นเรารู้เสียง หรือที่เราได้ยิน แท้ที่จริงได้ยินเกิดขึ้นเมื่อเสียงปรากฏเท่านั้น เวลาที่เสียงไม่ปรากฏ ได้ยินจะมีไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้นเสียงปรากฏเมื่อไร ก็มีได้ยินเมื่อนั้น หรือว่ามีได้ยินเมื่อไร เสียงก็ปรากฏเมื่อนั้น

    ผู้ฟัง ...

    ท่านอาจารย์ ตามองเห็น เวลานี้ดิฉันก็ย้อนไปอีกว่า เห็นไหม

    ผู้ฟัง เห็น

    ท่านอาจารย์ เห็นอะไร

    ผู้ฟัง เห็นผู้รู้

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวซิคะ ยังไม่ต้องไปถึงผู้รู้ ต้องเห็นก่อน เห็นมี เห็นอะไร

    ผู้ฟัง เห็นว่าเป็นรูป

    ท่านอาจารย์ เห็นว่า นั่นต่างจากเห็นแล้ว นี่คือความละเอียด ถ้าหลับตา ขอความกรุณาหลับตาจริงๆ เห็นอะไรไหม

    ผู้ฟัง มองไปก็ไม่เห็น

    ท่านอาจารย์ ลองมองที่แสงสว่างแล้วหลับตาซิ

    ผู้ฟัง พอเห็น

    ท่านอาจารย์ กี่สี มีกี่สี หลับตาแล้วก็มองเห็น

    ผู้ฟัง สีเดียว

    ท่านอาจารย์ สีเดียว ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ใช่ไหม เป็นสี ถูกไหม พอลืมตาขึ้น เปลี่ยนจากสีเดียวเป็นหลายสี เท่านั้นเอง ทำไมว่าเป็นคน ก็ยังต้องเห็นเป็นสีอยู่ ถึงจะถูกใช่ไหม ถูกหรือไม่ถูก ที่ว่าเห็นสี ถูก แล้วนึกถึงรูปร่างของสีต่างๆ แล้วก็รู้ว่านี่เป็นคน แต่ต้องมีการคิดถึงรูปร่างของสีต่างๆ

    เพราะฉะนั้นนี่ก็เป็นการเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วของจิต ซึ่งไม่มีวันจะรู้ได้เลยถ้าไม่ฟังพระธรรม ที่จะประจักษ์ว่าจิตเป็นอนัตตา เกิดขึ้นแล้วดับไป เกิดขึ้นแล้วดับไป ต้องฟังพระธรรมโดยละเอียด จึงจะรู้ว่าในขณะที่เห็น สิ่งที่กำลังปรากฏ ปรากฏกับการเห็น หรือจิตเห็น ที่ถามว่าเห็นไหม ขณะที่บอกว่าเห็น นั่นคือสภาพที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่มีอีกคนอื่นอีกคนมารู้ แต่ขณะใดที่เห็น ขณะนั้นเป็นสภาพรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่มีตัวตน พอหลับตาลง หรือเสียงปรากฏ ขณะที่รู้เสียง ขณะนั้นก็ไม่ใช่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ก็เป็นจิตอีกประเภทหนึ่งแล้ว

    วันหนึ่งๆ มีจิตเกิดดับมากมายหลายประเภท กว่าจะรู้ว่าไม่ใช่เรา ก็จะต้องฟังจนกระทั่งเข้าใจเป็นลำดับขั้น จนกระทั่งถึงขั้นที่สติระลึกได้ แล้วก็พิจารณาจนรู้จริงๆ ว่า ขณะนี้เพียงแต่เห็นสีต่างๆ ยังไม่แปลสีเป็นคน ถึงจะเป็นอนัตตาได้

    นี่เป็นเหตุที่เวลาเห็นคน ต้องเป็นอัตตา เพราะเป็นคน แต่ถ้ารู้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏเท่านั้น กี่ภพกี่ชาติ สีนี้ก็ลวงเราให้เห็นว่าเป็นคนนั้นคนนี้ เมื่อลืมตาขึ้นก็เริ่มลวง ถูกลวงว่าเป็นคนนั้นคนนี้ เพราะเหตุว่ามีหลายสี ก็เลยคิด แล้วก็เกิดความยึดมั่นในสิ่งที่คิดว่า ต้องเป็นคนนั้นแน่นอน แต่ความจริงเป็นความจำสี แล้วก็ยังมีอัตตสัญญาว่าจำคนด้วย แต่จริงๆ แล้วเห็นที่ไหนเมื่อไร ก็เห็นเพียงสีต่างๆ เท่านั้นเอง แล้วก็นึกคิด

    เพราะฉะนั้นทุกคนอยู่ในโลกของความคิดของตัวเอง เมื่อกี้นี้ไม่ได้คิดถึงใครที่บ้านใช่ไหม เดี๋ยวนี้ลองคิดซิคะ มีไหม ไม่มีเลยสักคนเลยหรือ ข้างๆ บ้านมีใครบ้างไหม มีหลายคนไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่คิดแล้วจะมีไหม ก็ไม่มี เพราะฉะนั้นแสดงว่าตลอดชีวิตของเรา เราอยู่กับความคิด ยึดมั่นในความคิด แล้วก็เลยรู้สึกว่าเป็นคน เป็นสัตว์ ตลอดเวลา

    สมพร การเห็น การได้ยิน ดมกลิ่น รู้รส ถูกต้องเย็นร้อนเหล่านี้ รอบๆ ตัวเรานี่ก็เป็นอารมณ์ให้เราคิดนึกอยู่ทุกวัน ก็ไม่พ้นจากการเห็น หรือการได้ยินเสียงเหล่านี้เป็นต้น เพราะว่า ที่ว่าเห็นทางตาหรือฟังเสียงทางหู ในพระอภิธรรมท่านเรียกว่าเป็นธรรมขั้นสูง ที่ว่าสูงเพราะว่า เสียงก็คงเป็นเสียง จะเปลี่ยนเสียงเป็นสีก็ไม่ได้ หรือ รูปก็คงเป็นรูป รูปก็คือเป็นสี จะเปลี่ยนรูปเปลี่ยนสีให้เป็นเสียงก็ไม่ได้ ทางทวารทั้ง ๖ คือทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจซึ่งเราสัมผัสอยู่ทุกวันนี้ เรียกว่าเป็นพระอภิธรรม คือธรรมอย่างยิ่ง คงสภาพไว้ เช่นรูปก็คงเป็นรูป นามก็คงเป็นนาม รูปคืออะไร คำจำกัดความง่ายๆ คือ คำว่า “รูป” ก็คือ สิ่งที่ไม่รู้อะไร สิ่งที่ปรากฏ คือปรากฏให้จิตรู้ รูปทางตาเรียกว่าสี รูปทางหูเรียกว่าเสียง ทางจมูกเรียกว่ากลิ่น ทางลิ้นเรียกว่ารส ทางกายเรียกว่าถูกต้องเย็นร้อนเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นรูปทั้งสิ้นเลย ทางการศึกษาชีวิตประจำวัน รู้สิ่งเหล่านี้ รู้ไปทำไม ว่าสิ่งเหล่านี้ รูปก็คงเป็นรูป ไม่ใช่คนไม่ใช่สัตว์ ที่เราเห็นเราก็นึกไปถึงว่าเราเคยจำได้ว่าสิ่งนี้เขาเรียกว่าคน แต่แท้จริง เห็นจริงๆ คือสีเท่านั้น หลายๆ สีประชุมกัน เราก็สมมติว่าเป็นคนเป็นสัตว์หรือเป็นสิ่งของ นี้เรียกว่า “รูป” หรือเรียกว่า “รูปธรรม” ส่วน “นามธรรม” นั้นคืออะไร สิ่งที่รู้อารมณ์ คือรู้ว่า รูปมาปรากฏว่าอันนี้เป็นแต่เพียงสี อันนี้เป็นเพียงเสียง อันนี้เป็นเพียงกลิ่น อันนี้เป็นเพียงรส อันนี้เป็นแต่เพียงเย็นร้อนอ่อนแข็ง สิ่งรู้อย่างนี้เรียกว่า “จิต” หรือ “นามธรรม” นามธรรมคือสภาพที่น้อมไป น้อมไปรู้ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างชีวิตประจำวัน จะะพ้นจากสิ่งเหล่านี้ไปไม่ได้เลย การที่ท่านอาจารย์บรรยายชีวิตประจำวัน เป็นสภาพธรรม เป็นวิปัสสนา เพื่อให้รู้ตามเป็นจริงว่า สิ่งเหล่านี้ รูปก็คงเป็นรูปเท่านั้น นามก็คงเป็นเพียงนามเท่านั้น ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ กลิ่นปรากฏขณะที่รู้กลิ่น รสปรากฎขณะที่กำลังรู้รส หรือเย็นร้อนอ่อนแข็งปรากฏก็ขณะที่รู้นี้เอง ความจริงความเย็นความร้อนหรือความอ่อนแข็งที่เราได้สัมผัสเกิดจากวิบากกรรม วิบากกรรมมี ๒ อย่าง คือ กุศลวิบาก อกุศลวิบาก ถ้าเราสัมผัสสิ่งใดสิ่งนั้นทำให้สบาย นั่นเกิดจากกุศลวิบาก ถ้าสัมผัสแล้วมีความไม่สบาย สิ่งนั้นก็เกิดจากอกุศลวิบาก หรือการรับประทานอาหารไม่ถูกใจ ก็เกิดจากอกุศลวิบาก ซึ่งกระทำไว้แล้ว หรืออาหารน่าทานแล้วได้รสโอชา สิ่งนี้ก็เกิดจากกุศลวิบาก แต่อย่าลืม ถ้าได้ของดี ถ้าเราไม่ระลึกรู้ โลภะก็เกิด โลภะคืออะไร โลภะเป็นภาษาบาลี ถ้าภาษาไทย ก็คือความยินดีติดใจ ยินดีติดใจ ผูกพัน สมมติว่าเมื่อรับประทานครั้งนี้อร่อยแล้ว ต่อไปก็จะต้องแสวงหาของอร่อยๆ อีก เป็นอยู่เช่นนี้ โลภะ ความยินดีติดใจนี้เป็นที่ตั้งของตัณหา ตัณหาก็เป็นเหตุที่เกิดทุกข์ สิ่งเหล่านี้ก็มีอยู่ ๒ อย่างตา ทางหู ทางลิ้น ทางกาย มี ๒ อย่าง ที่จะเกิดขึ้นปรากฏ ก็คือ ความยินดี กับ ความยินร้าย ถ้าไม่ยินดีก็ยินร้าย เมื่อเป็นเช่นนี้เราจะกำหนดอย่างไรไม่ให้จิตมีความยินดี จะกำหนดอย่างไรไม่ให้จิตเรามีความยินร้ายคือความไม่สบายใจ อันนี้เป็นปัญหาสำคัญ แต่ถ้าหากว่าเราพยายามเข้าใจเรื่องรูป เรื่องนาม และแยกรูปออกได้ แยกนามออกได้ โดยการพิจารณา แล้วก็จะค่อยคลายสิ่งเหล่านี้ไป คลายอย่างไร เพราะว่า สิ่งที่เห็นทางตา ก็เป็นแต่เพียงสี เป็นแต่เพียงรูป ความยินดีก็ไม่เกิดขึ้น เพราะรูปจะยินดีทำไม ถึงว่าสีที่ดี ก็เป็นแต่เพียงรูปเท่านั้น ไม่ได้ทำอะไรให้วิเศษขึ้นเลย จิตที่รู้นั้น ก็เป็นสภาพรู้เท่านั้น แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว สีที่เห็น เห็นแล้วจิตก็รู้ คือต้องมีสีปรากฏ ปรากฏแล้วจิตก็รู้สี เมื่อรู้สีแล้ว จิตที่รู้ก็ดับไปอย่างรวดเร็ว แล้วเราก็มาคิดว่า สีนั้นเป็นคน เป็นสัตว์

    กิเลสเกิดตอนนี้แหละ เกิดตอนที่เห็นเป็นคน เป็นสัตว์ คนดี คนไม่ดี สิ่งของนั้นดี ไม่ดี ถ้าเห็นเป็นของดี กิเลส โลภะก็เกิด ถ้าเห็นเป็นของไม่ดี กิเลส โทสะก็เกิด กิเลส ๒ อย่างนี้ป้วนเปี้ยนอยู่ใกล้ตัวเราก็ว่าได้ คือ โลภะ ความยินดีติดใจ โทสะ ความไม่สบายใจ เพราะเกิดจากการเห็นได้ เกิดจากการได้ยินเสียงก็ได้ เกิดจากรู้กลิ่นก็ได้ รู้รส หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากระทบกายก็ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จึงเรียกว่า เป็นชีวิตประจำวัน ที่ท่านอาจารย์สอนอยู่ทุกวันนี้

    ท่านอาจารย์ ไม่ทราบยังมีข้อสงสัยไหม เรื่องผู้รู้ ไม่มีเราอีกต่างหากเลย ถ้าแยกชีวิตประจำวันออกแล้ว ก็มีเห็น จิต จิตเป็นสภาพรู้ จิตมีหลายประเภท และมีความรู้หลายขั้น มีปัญญาหลายขั้น ปัญญาขั้นการฟังดับกิเลสไม่ได้เลย เพราะว่าอย่างที่กล่าวเมื่อสักครู่นี้ รู้สารพัดรู้ รู้ดีรู้ชั่วทุกอย่าง แต่ก็ไม่หมดกิเลส เพราะเหตุว่าเป็นเพียงปัญญาขั้นฟัง ยังไม่ใช่ขั้นโลกุตตระที่เจริญอบรมจนกระทั่งประจักษ์ชัดลักษณะของนามธรรม โดยสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน จนถึงขั้นที่เป็นโลกุตตรปัญญา ที่ประจักษ์แจ้งลักษณะนิพพานจึงจะดับกิเลส

    เพราะฉะนั้นก็แสดงว่า ปัญญามีหลายขั้น แต่ต้องเริ่มจากขั้นฟังให้เข้าใจ ถ้ายังไม่เข้าใจอะไรเลย ก็ไม่มีทางที่ปัญญาจะคมกล้าขึ้นถึงขั้นโลกุตตระได้ แต่ข้อสำคัญก็คือว่า เข้าใจเรื่องที่พูดถึงว่า อะไรเป็นสภาพรู้หรือยัง ยังไม่เข้าใจ อันนี้ถูก เพราะว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก แต่ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ พิจารณาว่า เห็นมีแน่ๆ กำลังนี้กำลังเห็น ถูกไหม เห็นเสียงได้ไหม เห็นกลิ่นได้ไหม เห็นควันได้ไหม เห็นอยู่ เห็นรถได้ไหม รถก็ไม่เห็น เห็นคนนั้นคนนี้ได้ไหม ถ้าลืม ทางตาเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นสีสันต่างๆ เท่านั้น ขอให้ทราบความจริงว่า นี่คือเมื่อไรเห็นอย่างนี้ จึงจะรู้ว่า ไม่ใช่คนเลยสักคนเดียวที่กำลังปรากฏทางตา แต่ว่าคิดถึงคนได้หลังจากที่เห็นแล้ว ต้องเห็นเสียก่อน แล้วจึงจะคิดได้

    ถาม จากการบรรยายธรรมของท่านอาจารย์ในวันนี้ ผมคิดว่าผู้ฟังอาจจะมีความรู้ไม่เท่ากัน ผมอยากให้อาจารย์ให้รายละเอียดธรรมในชีวิตประจำวัน แล้วให้ได้ประโยชน์ คือบางครั้งทำงานก็มีปัญหาต้องแก้ไข ทีนี้จะทำงานให้มีความสุข จะทำอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ต้องขอบพระคุณ เพราะว่าปัญหานี้เริ่มจากชีวิตประจำวันนี้คือธรรม และจะให้เข้าใจจริงๆ ว่า ไม่ปราศจากธรรมเลยในชีวิตประจำวัน แม้แต่กำลังเห็น กำลังได้ยินเป็นต้น ทีนี้ก็ก้าวต่อไปถึงความสุข ความทุกข์ในชีวิตประจำวัน หรือปัญหา ดิฉันขอเรียนถามว่า กำลังมีปัญหาอะไรหรือเปล่า ปัญหาเป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง อย่างเราตั้งเป้าหมายไว้ แต่ทำไม่ถึงตามเป้าหมาย เราก็หงุดหงิดใจ

    ท่านอาจารย์ แล้วทำจนเต็มความสามารถหรือยัง

    ผู้ฟัง เราทำเต็มความสามารถ แต่ผู้ร่วมงาน

    ท่านอาจารย์ แต่ว่าเราทำอย่างดีที่สุดหรือยัง ถ้าเราทำอย่างดีที่สุดแล้ว ผลเป็นอย่างนั้น เราจะช่วยอะไรอีกได้ไหมในเมื่อเราทำดีที่สุดแล้ว

    ผู้ฟัง แต่ขึ้นกับคนอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย

    ท่านอาจารย์ ถ้าเราทำดีที่สุดในทุกๆ ทาง แล้วผลคืออย่างนี้ เราก็ต้องยอมรับตามความเป็นจริงว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เราสามารถจะแก้เพียงตัวเราคนเดียวได้ แต่ว่าเราไม่สามารถจะแก้คนอื่นได้ นอกจากแนะนำเขาเท่าที่เขาจะฟัง แต่ว่าเราจะไปแก้ให้ทุกคนดีอย่างที่เราปรารถนาต้องการ เป็นไปไม่ได้ อยากให้เขาเก่งอย่างที่เราต้องการไม่ได้ แต่ถ้าเราได้ทำหน้าที่ของเราอย่างดีที่สุดแล้ว ก็เป็นอันว่าเราต้องยอมรับผลที่เกิดขึ้นว่า เราจะแก้เฉพาะตัวเรายิ่งขึ้น

    ไม่ใช่เฉพาะท่านผู้นี้ท่านเดียว ทุกท่านจะตอบเหมือนกันหมดว่า ไม่มีใครได้อะไรอย่างใจ เพราะฉะนั้นทุกคนจึงต่างเป็นทุกข์ เพราะว่าปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ แต่ถ้าเราคิดว่าเราทำดีที่สุด ทุกๆ ทางแล้ว อันนั้นก็ต้องยอมรับสภาพตามความเป็นจริงว่า เราแก้คนอื่นไม่ได้ เราแก้เศรษฐกิจของประเทศไม่ได้ เราแก้เศรษฐกิจของโลกไม่ได้ แต่เมื่อเราทำสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว เต็มที่แล้ว ผลก็คืออย่างนี้ เพราะว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตานี้เห็นได้ชัด เพราะฉะนั้นก็อย่าเป็นทุกข์ไปเลย ในเมื่อแก้ไม่ได้ เพราะว่าเป็นทุกข์ก็เท่านั้น ไม่ทุกข์ก็เท่านั้น ผลก็คือเท่าเดิม เพราะฉะนั้นจะอยู่เป็นสุขกว่า โดยที่ผลเท่าเดิมแล้วก็ไม่ต้องไปกังวล ซึ่งจะเพิ่มความทุกข์ขึ้น

    ผู้ฟัง ในวาระที่ท่านมาให้การอบรมครั้งนี้ เท่าที่ผมได้รับการอบรมหลายอย่างมา ไม่ซาบซึ้งถึงจิตใจเท่ามาพบท่านอาจารย์ในวันนี้ จะเป็นด้วยเหตุอย่างไรไม่ทราบ กระผมเป็นคนที่ยึดมั่นมากเกินไปหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ บางสิ่งบางอย่างขอเรียนให้พ่อแม่พี่น้องที่มาร่วมกันอบรมครั้งนี้ ให้คิดที่ผมจะถามต่อไปนี้ หรือท่านจะไม่คิดก็ตามแต่ท่าน พระกินหมากอย่างนี้ ถือว่าเป็นกิเลสอย่างหนึ่งหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ความพอใจมีหลายทาง ทางตาก็ชอบสิ่งที่สวยๆ ทางหูก็ชอบเสียงเพราะๆ ทางจมูกก็ชอบกลิ่นหอมๆ ทางลิ้นก็ชอบรสอร่อยๆ ทางกายก็ชอบสัมผัสสิ่งที่สบาย ผู้ที่จะละความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะได้ต้องเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระอนาคามีบุคคล เหลืออีกเพียงขั้นเดียวจะถึงความเป็นพระอรหันต์

    ผู้ฟัง ท่านตอบมา ผมไม่มีอะไรสงสัย แจ่มแจ้งชัดเจนที่สุด แต่ทีนี้ก็อยากจะถามเรื่องพระที่เกิดอกุศล เราจะแก้ไขได้ไหม หรือว่าเราก็ไม่ต้องแก้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 25
    15 ก.พ. 2565

    ซีดีแนะนำ