โสภณธรรม ครั้งที่ 116


    ตอนที่ ๑๑๖

    สังขารุเปกขาญาณเป็นปัญญาที่วางเฉย เป็นกลางในสภาพธรรมที่ปรากฏ ในการเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรม

    เพราะว่าเมื่อปัญญาประจักษ์แจ้งไตรลักษณะของสังขารธรรมทั้งหลายเพิ่มยิ่งขึ้นแล้ว ไม่ใช่ว่าผู้ที่อบรมเจริญวิปัสสนาจะปฏิบัติเป็นพักๆ แต่ว่าแล้วแต่สติสัมปชัญญะจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมขณะใด ปัญญาที่เคยประจักษ์แจ้งแทงตลอดในไตรลักษณะของสังขารธรรม ก็ชัดขึ้นและชินขึ้น เมื่อปัญญาประจักษ์ลักษณะของสังขารธรรมที่เกิดดับเพิ่มยิ่งขึ้นแล้วก็ทำให้สังขารธรรมทั้งหลายที่เคยปรากฏโดยสภาพที่เที่ยง เป็นสุข และเป็นอัตตา คือเป็นตัวตนนั้นอ่อนกำลังลง

    นี่ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานก็พอจะเทียบเคียงได้ว่า ถ้าปัญญายังไม่สมบูรณ์ถึงขั้นนั้นจริงๆ แล้ว ที่ความเป็นตัวตนก็ดี หรือความเป็นสุข หรือความเที่ยงที่ปรากฏใน ชีวิตประจำวันนั้นจะอ่อนกำลังลงไปไม่ได้เลย เมื่อสภาพธรรมปรากฏจนกระทั่งเห็นว่าเที่ยง เป็นสุข และเป็นตัวตนอ่อนกำลังลง จนกระทั่งเกิดความวางเฉยในสังขารธรรมทั้งหลาย ด้วยปัญญาที่รู้ความจริง ขณะนั้นก็จะถึงขั้นของปัญญาที่รู้ชัดว่า ตราบใดที่ยังไม่ถึงกาลที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของพระนิพพาน โดยมีนิพพานเป็นอารมณ์ ตราบนั้นก็ต้องพิจารณาลักษณะหนึ่งลักษณะใดของอารมณ์ที่ปรากฏต่อไปอีกเรื่อยๆ คือ ไม่มีหนทางอื่นเลย จะไปเร่งรัด จะไปขวนขวาย ไปกระวนกระวายที่จะรู้แจ้งลักษณะของนิพพาน เพราะเหตุว่าลักษณะของนิพพานนั้นต้องละเอียดกว่าลักษณะของนามธรรม ขณะนี้มีลักษณะของรูปที่ยังปรากฏให้เห็นได้ทางตา ปรากฏให้ได้ยินได้แม้ว่ามองไม่เห็น แต่ก็ปรากฏให้ยินได้ทางหู จะว่าหยาบหรือว่าละเอียด ในเมื่อมองไม่เห็น แต่ว่าเป็นสภาพธรรมที่มีจริงที่ปรากฏ แม้กระนั้นนามธรรมซึ่งเป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ ก็ยังละเอียดกว่ารูป เพราะเหตุว่าไม่ใช่รูป ไม่ใช่สี ไม่ใช่กลิ่น ไม่ใช่รสที่จะสัมผัสด้วยตา ด้วยหู ด้วยจมูก ด้วยลิ้น ด้วยกาย เป็นแต่เพียงธาตุรู้ เป็นอาการรู้เท่านั้น

    เพราะฉะนั้นปัญญาที่จะรู้ชัดในลักษณะของนามธรรม ก็จะต้องเห็นความละเอียดของนามธรรม จนกระทั่งประจักษ์การเกิดดับจนชิน และก็รู้ว่า แม้แต่ภวังคจิตก็ดี หรือโมหมูลจิตก็ดี แม้ว่าจะไม่ใช่โลภมูลจิตซึ่งมีความต้องการ มีความติดข้องในอารมณ์ หรือโทสมูลจิตซึ่งเป็นความขุ่นเคืองในอารมณ์ แม้ว่าจะไม่ใช่โลภมูลจิต โทสมูลจิต เป็นโมหมูลจิต หรือภวังคจิตก็ยังเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เพราะฉะนั้นก็ยังจะต้องเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงและเกิดดับ ยังไม่ใช่สภาพธรรมที่ละเอียดยิ่งกว่านั้น คือ ไม่ใช่สภาพธรรมซึ่งเป็นธาตุเกิดขึ้นรู้อารมณ์ แต่ว่าไม่มีใครที่สามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของพระนิพพานโดยความปรารถนา นอกจากสังขารุเปกขาญาณซึ่งเป็นญาณสุดท้าย เป็นวิปัสสนาญาณที่บรรลุถึงยอดเพราะเป็นวุฏฐานคามณีปัญญา คือ เป็นปัญญาที่เป็นเหตุพาพ้นภาวะของความเป็นปุถุชนเมื่อมรรควิถีเกิดขึ้น

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า การอบรมเจริญปัญญานั้น จะต้องเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ถ้าไม่มีปัญญาหรือความรู้เกิดขึ้น เจริญวิปัสสนาหรือสติปัฏฐานไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้นหนทางที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็จะต้องเป็นเรื่องของการเจริญขึ้นของปัญญาทีละเล็กทีละน้อย

    มีท่านผู้หนึ่งท่านก็บอกว่า สติเกิดน้อยมาก ดูเหมือนว่าท่านต้องการให้สติเกิดมาก แต่ท่านลืมพิจารณาว่า ความเข้าใจธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้เพิ่มขึ้นหรือเปล่า

    เรื่องของปัญญาเป็นเรื่องของความรู้ ความเข้าใจ ขณะใดที่มีความรู้เกิดขึ้นในขั้นของการฟังแล้วฟังอีกในสภาพของนามธรรมและรูปธรรม ที่จะเข้าใจลักษณะของนามธรรมที่กำลังเห็น แยกจากลักษณะของรูปที่ปรากฏทางตา และนามธรรมทางหู รูปธรรมทางหู เป็นเรื่องที่จะต้องฟังบ่อยๆ แล้วก็พิจารณาจนกระทั่งปัญญาเริ่มเข้าใจ ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เข้าใจขึ้นๆ จนกระทั่งสติปัฏฐานเกิด ไม่ใช่เป็นเรื่องหวัง หรือเรื่องผิดหวังว่า ทำไมสติปัฏฐานเกิดน้อย แทนที่จะคิดว่า มีความเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้นอีกหรือเปล่า

    ถ้าเป็นผู้ที่สนใจในเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ไม่ต้องห่วงเรื่องสติ เพราะเหตุว่าถ้าไม่เข้าใจแล้วสติเกิด จะมีประโยชน์อะไร คนที่คิดว่าจะเจริญปัญญา หรือคิดว่าให้ปัญญาเกิดขึ้น โดยไม่เข้าใจอะไรเลย ไม่เป็นพหูสูตร ไม่เป็นผู้ฟัง ไม่เป็นผู้พิจารณาธรรมที่ได้ฟัง จะไม่สามารถอบรมเจริญปัญญา แม้ว่าต้องการให้สติเกิด และพยายามหาทางอื่นทุกทางให้สติเกิด แต่ว่าปัญญาไม่เจริญแน่นอน แต่ว่าตรงกันข้ามไม่ต้องสนใจว่าสติจะเกิดมากหรือน้อย เพราะเหตุว่าถ้าฟังพระธรรมแล้วก็เข้าใจ แล้วก็พิจารณา แม้แต่เพียงพระธรรมสั้นๆ บางข้อ ก็ยังส่องถึงความจริงได้ เช่น ถ้ามีข้อความที่กล่าวว่า “ขณะใดที่เป็นโลภะ ขณะนั้นไม่ใช่ปัญญา” เพียงเท่านี้ก็เห็นแล้วใช่ไหม ตั้งแต่ตื่นมาตลอดจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ โลภะมากแค่ไหน ถ้ายังไม่รู้ตัว ก็หมายความว่า ตลอดเวลาที่เป็นโลภะไม่ได้รู้เลยว่า ขณะนั้นไม่ใช่ปัญญา

    เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ ปัญญาจะเกิดมากสักแค่ไหน ในเมื่อโลภะเกิดอยู่เป็นประจำ จนกว่าจะฟังพระธรรมเข้าใจขึ้น ขอให้ทราบว่า การอบรมเจริญปัญญาต้องเป็นไปตามลำดับขั้นจริงๆ

    เพราะฉะนั้นท่านที่หวังและผิดหวัง แล้วยังจะถามต่อไปอีกเรื่อยๆ ว่า ทำไมสติเกิดไม่มาก และทำอย่างไรสติถึงจะเกิดมาก ก็ควรจะเปลี่ยนได้แล้วใช่ไหมคะ ไม่ต้องถามใคร เพราะเหตุว่ารู้ตนเองได้ตามความเป็นจริงว่า โลภะมากไหม โลภะเกิดขณะใด ขณะนั้นไม่ใช่ปัญญา เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ อวิชชาก็มากทั้งในอดีตและปัจจุบัน เพราะฉะนั้นก็อบรมเจริญกุศลทุกประการพร้อมด้วยปัญญาจนกว่าจะถึงวิปัสสนาญาณแต่ละขั้น เพราะเหตุว่าพอพูดถึงความเพียร ท่านก็รู้สึกว่า จะต้องให้ท่านเพียร แต่ความจริงไม่ใช่ให้ท่านไปเพียร หรือทำเพียร แต่ให้ท่านเพียรฟังพระธรรม เพียรพิจารณาพระธรรมเข้าใจขึ้น แต่ไม่ใช่ไปเพียรทำอย่างอื่นเลย

    นี่คือมัชฌิมาปฏิปทา ซึ่งเป็นทางสายกลางจริงๆ เพราะเหตุว่าความเพียรต้องเกิดร่วมกับปัญญา ไม่ใช่เพียรโดยที่ปัญญาไม่เกิด

    สำหรับการที่จะเป็นกลางจนกระทั่งถึงสังขารุเปกขาญาณได้ ต้องเริ่มตั้งแต่ต้น คือ ต้องเข้าใจหนทางปฏิบัติจริงๆ ในเรื่องของความอยาก และในเรื่องของการละความอยาก นี่เป็นเรื่องของทางสายกลางหรือเปล่า นี่เป็นเรื่องของความเป็นกลางหรือเปล่า เป็นเรื่องของข้อปฏิบัติที่จะเจริญปัญญาหรือเปล่า เพราะเหตุว่าถ้าไม่พิจารณา โลภะเป็นสภาพธรรมที่ฉลาด ไม่ใช่ปัญญา แต่ฉลาดที่จะพาไปสู่ข้อปฏิบัติที่ผิด เช่น ท่านที่อยากจะทำสมาธิ แม้ว่าจะได้ฟังพระธรรมอย่างไรๆ ก็คงจะมีบางท่านทีเดียว ก็ยังอยากจะทำสมาธิ ขณะนั้นจะรู้สึกตัวหรือเปล่าว่า เป็นความอยากอย่างหนึ่งที่จะให้จิตตั้งมั่นที่อารมณ์หนึ่ง แทนที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งจะละความอยาก ถ้าอยากจะทำสมาธิ แล้วก็ทำสมาธิ แล้วก็เกิดสมาธิ คือ จิตตั้งมั่นอยู่ที่อารมณ์หนึ่ง ผลคือ ไม่ได้ละความอยากเลย เพราะเหตุว่ายินดีในสมาธิในขณะที่จิตตั้งมั่น

    เพราะฉะนั้นก็เป็นความอยากโดยตลอด ตั้งแต่เริ่มจะทำ กำลังทำ และแม้แต่ขณะที่จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ ก็ยินดีในสมาธินั้น เพราะฉะนั้นไม่ใช่ข้อปฏิบัติที่จะละความอยาก ข้อปฏิบัติที่จะละความอยากได้ คือ ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทันที เป็นหนทางเดียวจริงๆ ไม่ใช่หนทางอื่น แต่ก็เป็นหนทางที่ช้า ละเอียด และต้องเป็นผู้ที่อดทน แต่ว่าให้รู้ได้ว่า แม้แต่จะได้ยินได้ฟังเรื่องของสภาพธรรม เรื่องของนามธรรม เรื่องของรูปธรรมบ่อยๆ แต่ก็เห็นว่า แม้ว่าจะฟัง แม้ว่าจะเข้าใจ แต่ว่าจะต้องรอจนกว่าสัมมาสติเกิด ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ซึ่งได้ยินได้ฟังมาทุกวันนั่นเอง

    สภาพธรรมไม่ปราศไปเลย ทั้งนามธรรมและรูปธรรม เพียงแต่เมื่อไรสติและปัญญาจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่งอย่างใดในขณะที่ลักษณะของสภาพธรรมกำลังปรากฏเท่านั้นเอง

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้จริงๆ ว่า เป็นเรื่องของความอดทน ที่จะต้องรู้ว่าหนทางละเอียด คือ หนทางที่ช้า แต่ว่าเป็นการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ

    เคยมีความรู้สึกว่า วางเฉยบ้างไหม บางคนก็อาจจะคิดว่าเป็นปัญญาที่วางเฉยในเหตุการณ์ต่างๆ แต่ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด จะรู้ไหมว่า ขณะนั้นเป็นปัญญา เป็นกุศล หรือว่าเป็นอกุศล

    วางเฉยจริง แต่สติไม่เกิด ปัญญาไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม แม้ในขั้นพิจารณาว่า นามธรรมและรูปธรรมใดๆ ที่เกิด เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยทั้งสิ้น

    นี่คือความต่างกัน ได้ยินเสียงก็เฉย เห็นก็เฉย หรือว่ามีเหตุการณ์ต่างๆ ก็เฉย ในขณะนั้นจะเป็นปัญญาไม่ได้ เพราะเหตุว่าสติไม่ได้เกิดที่จะรู้ความจริงในขณะนั้น แต่ถ้าไม่ว่าจะประสบเหตุการณ์ใดๆ ก็ตาม สติก็เกิดระลึกรู้ว่า แม้ในขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมซึ่งต้องเกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น ตามเหตุตามปัจจัย และวางเฉยในขณะนั้น คือ ไม่หวั่นไหว ไม่เดือดร้อน ในขณะนั้นจึงจะเป็นกุศล

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า แม้แต่เรื่องของการวางเฉยทั่วๆ ไป ก็จะต้องรู้ว่า ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล มิฉะนั้นแล้วทุกคนก็อาจจะวางเฉยโดยเป็นอกุศล แล้วคิดว่าขณะนั้นเป็นกุศลแล้ว

    พระ ขณะที่เกิดความฟุ้งซ่าน และความหวั่นไหวเกิดขึ้น ขณะนั้นวางเฉยไม่ได้ รู้สึกอยากจะมีสติเกิดขึ้นเพื่อให้ความฟุ้งซ่านหมดไป ในขณะนั้นก็ระลึก แต่ความฟุ้งซ่านก็ไม่หมด อาตมาเคยคิดว่า คงจะขาดสมาธิ คงจะไม่มีการปฏิบัติสมาธิ สติก็เลยเกิดขึ้นในขณะที่ฟุ้งซ่านไม่ได้ บางครั้งก็เลยท่องบ้าง ทำอะไรบ้าง แต่ก็สังเกตอีกที ในขณะนั้นต้องการให้ความฟุ้งซ่านหมดไป ก็เลยหาวิธีอื่นเข้ามา ขณะที่หาวิธีอื่นเข้ามา วิธีใหม่นั้นก็ไม่เคยฝึก เสร็จแล้ววิธีใหม่ก็ใช้ไม่ได้อีก ก็เกิดความสับสน ก็เลยคิดว่าตัวเองคงจะฝึกน้อยไป ก็เลยหาวิธีฝึกสมาธิอีก พอฝึกสมาธิไปเรื่อยๆ อย่างโยมว่า จะวางเฉยอย่างไร บางครั้งเหมือนกับรู้สึกว่าวางเฉยได้ เพราะว่าขณะที่ว่างๆ แล้วมานั่งหลับตา และกำหนดเช่นลมหายใจ รู้สึกมันเฉยได้ สบายใจ พอใจมากเลย อยากจะถามโยมอาจารย์ว่า ขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล ในขั้นปฏิบัติธรรมดา ผู้ปฏิบัติย่อมไม่รู้จักกุศลหรืออกุศล แต่เมื่อฟังธรรมใหม่ๆ มีความต้องการที่จะไม่ฟุ้งซ่านมากกว่า ทีนี้ข้อปฏิบัติเช่น พิจารณาลมหายใจ ในขณะนั้นมีเป้าหมายเพื่อไม่ให้เกิดความฟุ้งซ่าน จะถูกไหม

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะที่ ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้นถึงแม้จะเข้าใจว่า ขณะนั้นจิตตั้งมั่นอยู่ที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดในระยะหนึ่ง แต่ก็ต้องมีความฟุ้งซ่านเกิดขึ้นอีกแน่นอน เพราะเหตุว่าไม่ใช่หนทางที่จะดับความฟุ้งซ่าน

    เพราะฉะนั้นผู้ที่จิตใจฟุ้งซ่านแล้วก็อยากจะสงบ ก็ต้องถามตัวเองว่า อยากจะสงบขั้นไหน ขั้นชั่วคราว หรือขั้นเป็นสมุจเฉท ถ้าขั้นชั่วคราวถึงอย่างไรๆ ในภายหลัง จิตก็จะต้องกระสับกระส่ายฟุ้งซ่านอีก เพราะเหตุว่ายังไม่ได้ดับเหตุที่จะทำให้ดับความฟุ้งซ่าน

    พระ ทีนี้ถ้าต้องการดับความฟุ้งซ่านเป็นสมุจเฉท แต่ว่าสติปัฏฐานยังไม่มีกำลัง แล้วมีความต้องการความไม่ฟุ้งซ่านมากกว่า

    ท่านอาจารย์ เหตุกับผลต้องตรงกันว่า การที่จะดับเป็นสมุจเฉท ก็จะต้องอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น มิฉะนั้นแล้วก็จะต้องมีความเป็นตัวตนที่จะต้องฟุ้งซ่านบ้าง สงบบ้าง เวลาที่รู้สึกว่าไม่ฟุ้งซ่านก็พอใจ เวลาที่ฟุ้งซ่านก็เป็นโทสะ

    เพราะฉะนั้นไม่ใช่ลักษณะของปัญญาที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

    พระ ใช่ เพราะว่าในขณะนั้นมีโทสะเพราะไม่พอใจในความฟุ้งซ่าน ถ้าเกิดยังไม่เข้าใจเรื่องของสมถะ เรื่องของสมาธิ แล้วก็ไปหามาอีก อย่างนั้นคิดว่าจะเข้ามาแก้ไขได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นความสงบจะต้องประกอบด้วยปัญญา ถ้าเป็นการอบรมเจริญสมถภาวนา เพราะเหตุว่าขณะใดเป็นกุศลจิตเกิด ขณะนั้นสงบ เพราะฉะนั้นการที่จะรู้ได้ คือ สติสัมปชัญญะเกิด พิจารณาลักษณะสภาพของจิตว่า ในขณะนั้นสงบเพราะอะไร หรือว่าเพียงแต่ตั้งมั่นชั่วคราว แล้วก็ไม่ฟุ้งซ่านเท่านั้น แต่ไม่ใช่ลักษณะของกุศลจิตซึ่งสงบ

    พระ ทีนี้ถ้าผู้ที่เจริญฌาน โดยที่ไม่เจริญสติปัฏฐาน ก่อนที่ฌานจะเกิดขึ้น แน่นอนเขาย่อมไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นกุศล อกุศล แต่เขาพูดบ่อยๆ หรือเดาหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ผู้ที่เจริญสมถภาวนาต้องรู้ลักษณะของนิวรณธรรม ซึ่งเป็นอกุศล มิฉะนั้นแล้ววิตกเจตสิก วิจารเจตสิกก็ไม่ได้กระทำกิจที่จะละนิวรณธรรมเหล่านั้น แต่เพราะเหตุว่าสติสัมปชัญญะของผู้อบรมเจริญสมถภาวนาต้องเป็นผู้ที่ประกอบด้วยปัญญา จึงรู้ขณะจิตที่เป็นอกุศล แล้วจึงรู้ว่า ที่จะสงบเพราะวิตก วิจารเจตสิกระลึกอย่างไร มนสิการอย่างไร จิตจึงสงบ ไม่ใช่เพียงแต่ให้จิตตั้งมั่นเท่านั้น ด้วยความไม่รู้ ด้วยการปราศจากปัญญา เช่น ผู้ที่กำลังฟุ้งซ่าน แล้วก็อยากสงบ ก็เลยท่องสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ได้ คำไหนก็ได้ เพราะเหตุว่าเรื่องของการทำสมาธิ ไม่ได้มีแต่เฉพาะในพระพุทธศาสนา ชาติอื่นทุกชาติมีการทำสมาธิทั้งนั้น

    เพราะฉะนั้นก็จะต้องพิจารณาว่า สมาธิซึ่งแต่ละแบบทำกันนั้นเป็นมิจฉาสมาธิ หรือเป็นสัมมาสมาธิ ไม่ว่าจะเป็นชาวพุทธ หรือจะนับถือศาสนาใดก็ตาม ซึ่งข้อปฏิบัติที่กำลังเป็นที่นิยมก็มี ที่ใช้พยางค์หนึ่งแล้วก็ให้ท่อง แต่ว่าคนที่จะได้พยางค์นั้น จะต้องไปหาอาจารย์ท่านนั้น เพื่อที่จะให้ท่านมอบพยางค์หนึ่งให้โดยที่ไม่บอกใครเลย แล้วก็ท่องพยางค์นั้นไปเรื่อยๆ เขาก็บอกว่าจิตของเขาสงบ ทำให้ร่างกายสดชื่น มีกำลังแข็งแรงดี เพราะเหตุว่าเป็นนักธุรกิจซึ่งมีธุระมากมาย มีเรื่องวุ่นวายไม่สงบ แต่ขณะที่เขากำลังท่องพยางค์หนึ่งพยางค์ใด เขาเข้าใจว่าสงบ แต่ผู้ที่ศึกษาในเหตุในผลก็จะรู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นสมาธิ แต่ว่าจะชื่อว่าเป็นกุศลได้ไหม จะชื่อว่าสงบได้ไหม เพียงการท่องสิ่งหนึ่งสิ่งใดนานๆ

    พระ ถ้าอย่างนี้ก็เปรียบเหมือนเกิดความทุกข์ แล้วมีอกุศลจิต เช่น มีโลภะมากๆ หรือมีคนมานิยมชมชอบ หรือได้เงินได้ทองมากๆ แล้วไปเที่ยวในที่สนุกสบาย ในขณะนั้นก็มีความสบายจริงๆ เหมือนกัน เป็นความสุขเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ เป็นกุศลหรือเปล่า

    พระ ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่เป็น เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า การเพียงท่องจะบอกว่าเป็นกุศล ก็ขาดเหตุผลเหลือเกิน มิจฉาสมาธิก็มี เรื่องของสมาธิเป็นเรื่องธรรมดา การที่จะให้จิตตั้งมั่นอยู่ที่พยางค์หนึ่งพยางค์ใด คำหนึ่งคำใด หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ใช่เป็นเรื่องยาก อย่างจะจ้องดิน ใครๆ ก็จ้องได้ แต่จ้องดินแล้วเป็นกุศลอย่างไร หรือจะท่องคำหนึ่งคำใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นคำว่า “พุทโธ” ชาวพุทธอาจจะใช้คำว่า พุทโธ แต่คนที่ไม่ใช่ชาวพุทธ ก็ไปหาครูอาจารย์ที่สอนสมาธิ แล้วเขาก็ให้พยางค์หนึ่งมา จะเป็นพยางค์อะไรก็เป็นความลับ แล้วพยางค์นั้นก็จะต้องเสียเงินด้วยตามระดับรายได้ของบุคคลนั้น แล้วบุคคลนั้นก็ไปนั่งท่องพยางค์นั้นอยู่เรื่อยๆ และบางคนก็บอกว่าเขาสงบมาก

    เพราะฉะนั้นเพียงแต่คนบอกว่าสงบ แล้วเราจะบอกว่าเป็นกุศล เป็นความสงบจริงๆ ได้ไหม ในเมื่อเขาไม่เข้าใจเหตุที่จะทำให้จิตสงบ ไม่รู้ว่าความสงบคือขณะที่ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ

    พระ เคยสนทนาเขาบอกว่า เขาทุกข์มากเลย เพราะเขามีโทสะ มีความกลัวบ้าง กลุ้มใจบ้าง แต่เพราะมาท่อง อะไรเกิดขึ้น เขารู้สึกว่าเขาลืมเรื่องนั้นได้ พอลืมเรื่องนั้นเสร็จ เขาก็บอกว่าสบายใจจริงๆ

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นอยากท่องไหม

    พระ อยาก

    ท่านอาจารย์ เป็นโลภะหรือเป็นปัญญาที่อยาก

    พระ ถ้าอย่างนี้ในขณะที่อบรมความอยากบ่อยๆ เมื่อเกิดปัญหานั้น แต่เขาก็บอกว่าไม่ใช่ว่าไปหาสิ่งนั้นแล้วจะสุขทุกครั้ง บางครั้งก็ไม่สุข บางครั้งก็สุข อย่างนี้ถ้าความอยากเจริญขึ้นมากๆ อะไรจะเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ ความอยากก็เจริญ ความอยากเกิดมาก ความอยากก็เจริญ แล้วก็ติดในความอยากนั้นด้วย เพราะเหตุว่าลักษณะของความอยากเป็นลักษณะที่ต้องการและติด แต่เรื่องของปัญญาเป็นเรื่องรู้แล้วละ นี่คือสิ่งที่ผิดกันมากทีเดียว รู้แล้วละ ย่อมสงบ แต่อยากแล้วติดแล้วพอใจ จะกล่าวว่าสงบได้อย่างไร


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 25
    14 ก.พ. 2565

    ซีดีแนะนำ