โสภณธรรม ครั้งที่ 158


    ตอนที่ ๑๕๘

    นิภัทร ที่ท่านอาจารย์กล่าวถึงนักฟ้อนที่ท่านฟังธรรมจากพระพุทธองค์ แล้วท่านได้อุปสมบท แล้วได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ แล้วท่านก็กล่าวถึงว่า จิตไม่สามารถหลอกลวงท่านได้อีกต่อไป ก็หมายความว่าตั้งแต่ท่านสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านไม่ได้อยู่ในอำนาจของจิต แต่ว่าท่านก็ยังมีเห็น มีได้ยิน มีได้กลิ่น มีรู้รส มีถูกต้องสัมผัส มีคิดนึก การที่ท่านเห็น ได้ยิน รู้กลิ่น รู้รส ถูกต้องสัมผัส หรือคิดนึกนี่ ไม่ถือว่าท่านอยู่ในอำนาจของจิตหรือ

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นการฟังพระธรรมโดยนัยของพระสูตร ซึ่งก็จะต้องประกอบด้วยนัยของพระอภิธรรมด้วย ถ้าฟังเพียงเผินๆ ก็ดูเสมือนว่าจะไม่มีจิตอีกต่อไป แต่ความจริงต้องทราบว่า ไม่มีจิตประเภทที่เป็นอกุศลและกุศลอีกต่อไป มีแต่จิตที่เป็นวิบากจิตและกิริยาจิตสำหรับพระอรหันต์ เพราะเหตุว่ากิเลสไม่มีทางที่ล่อลวงให้มีความยินดียินร้าย ไม่มีกิเลสใดๆ เกิดขึ้นได้ ก็ยังเหลือกรรมที่ได้กระทำแล้วซึ่งยังคงจะให้ผลต่อไป ทางตามีการเห็น ทางหู มีการได้ยิน ทางจมูก มีการได้กลิ่น ทางลิ้น มีการลิ้มรส ทางกาย มีการกระทบสัมผัส จนกว่าจะถึงขณะจิตสุดท้าย คือ จุติจิต เมื่อจุติจิตเกิดแล้วดับไป ไม่มี ปฏิสนธิจิตอีกเลยสำหรับผู้ที่เป็นพระอรหันต์

    นิภัทร ก็หมายความว่า พระอรหันต์ท่านไม่มีอกุศลจิตและกุศลจิต

    ท่านอาจารย์ มีแต่วิบากจิตและกิริยาจิต แต่คนที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ มีวิบากจิต และมีกุศลจิตและอกุศลจิต สำหรับกิริยาจิตมีเพียง ๒ ดวง หรือ ๒ ประเภทเท่านั้นเอง ขณะที่ไม่ใช่ภวังคจิต

    สำหรับเรื่องของกรรม ก็จะขอกล่าวถึงอีกตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้เมื่อปฏิสนธิจิตเกิดแล้วว่า จะมีการเห็นอะไร จะมีการรับผลของกรรมในลักษณะใด แล้วจะมีกุศลหรืออกุศลจิตเกิดขั้นใด ซึ่งไม่มีทางที่แต่ละคนจะรู้ได้เลย จนกว่าจะถึงเวลานั้น

    ข้อความในปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย รัชชุมาลาวิมาน มีข้อความว่า

    ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน เขตพระนครสาวัตถี พราหมณ์คนหนึ่งในหมู่บ้านคยา ได้ให้ธิดาของตนแก่บุตรพราหมณ์คนหนึ่งในหมู่บ้านคยานั้น เมื่อนางเป็นใหญ่ในเรือนแล้ว ก็ไม่ชอบหน้าลูกสาวทาสีในเรือนนั้นเลย ทั้งด่าว่าทุบตีด้วยศอก เข่า หมัด เหมือนผูกอาฆาตกันมาแต่ชาติก่อนๆ หลายชาติทีเดียว

    ใครกำลังทุกข์ยากอย่างนี้ก็ต้องทราบว่า ถ้าไม่มีเหตุ คือ กรรมของตนในอดีตแล้วละก็ ไม่มีการที่จะได้รับกระทบสัมผัสอย่างนี้แน่

    ซึ่งในอดีตสมัย คือ สมัยพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่า พระกัสสปะนั้น ทาสีนั้นได้เป็นนายของนาง ส่วนนางก็เป็นทาสีของหญิงนั้น ในสมัยนั้นนางผู้เป็นทาสีก็ถูกนายดุด่าว่า ทำร้ายด้วยก้อนดิน ศอก เข่า หมัด จนเหนื่อยหน่ายที่ถูกกระทำร้ายบ่อยๆ จึงได้กระทำบุญให้ทานเป็นต้น ตามกำลังของตน แล้วก็ได้ตั้งความปรารถนาว่า ในอนาคตขอเราพึงเป็นนาย มีความเป็นใหญ่เหนือหญิงนั้น และความปรารถนาของหญิงทาสีนั้นก็สัมฤทธิ์ผลในสมัยของพระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ คือ หญิงที่เคยเป็นทาสีในสมัยของพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่า กัสสปะ และนายของหญิงนั้นในสมัยพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่า กัสสปะ ก็เกิดเป็นทาสี ในสมัยของพระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ นางพราหมณีผู้เป็นนายก็ได้กระทำแก่ทาสีซึ่งเคยเป็นนาย โดยจิกผม ใช้ทั้งมือทั้งเท้าตบถีบอย่างเต็มที่ เมื่อทาสีนั้นไปศาลาอาบน้ำ ก็โกนผมของตนเองจนเกลี้ยง เพื่อไม่ให้นายจิกผมอีก แต่ก็ไม่พ้นจากการประทุษร้ายของนายไปได้ หญิงผู้เป็นนายได้เอาเชือกพันศีรษะ และจับนางให้ก้มลงเฆี่ยนตรงนั้นเอง และไม่ให้นางเอาเชือกนั้นออก นางทาสีนั้นจึงได้ชื่อว่า รัชชุมาลา ตั้งแต่นั้นมา

    พระผู้มีพระภาคทรงตรวจดูสัตว์โลกตอนใกล้รุ่ง ทรงเห็นอุปนิสัยแห่งโสตาปัตติมรรคของนางรัชชุมาลา จึงเสด็จไปประทับนั่งที่โคนต้นไม้ต้นหนึ่ง นางรัชชุมาลาถูกนายเบียดเบียนจนคิดที่จะฆ่าตัวตาย จึงคิดจะไปผูกคอตาย จึงถือเอาหม้อน้ำออกจากบ้าน ทำทีเดินไปที่ท่าน้ำ และผูกเชือกเข้าที่กิ่งไม้ต้นหนึ่ง ไม่ไกลต้นที่พระผู้มีพระภาคประทับนั่ง

    นางรัชชุมาลาเหลียวดูรอบๆ ก็เห็นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกนาง เมื่อนางเข้าไปเฝ้าถวายบังคมพระองค์แล้ว พระองค์ทรงแสดงอนุปุพพิกถาและอริยสัจจ์ ๔ นางก็ได้บรรลุโสตาปัตติผล มีขันติ เมตตา เอาหม้อน้ำตักน้ำกลับไปเรือน ไม่หวั่นเกรงนางผู้เป็นนายว่าจะเบียดเบียนหรือจะฆ่าก็ตาม

    เมื่อพวกพราหมณ์ในบ้านเห็นนางกลับมาช้า และเห็นสีหน้าของนางผ่องใส ไม่เหมือนเดิม ก็ได้ไต่ถามเรื่องราว ซึ่งนางก็ได้เล่าให้ฟัง พราหมณ์ก็นิมนต์พระผู้มีพระภาคไปที่เรือนเพื่อถวายภัตตาหารและได้ฟังธรรม แม้พวกชาวบ้านคฤหบดีทั้งหลายก็ได้ไปเฝ้าและฟังพระธรรมด้วย

    พระผู้มีพระภาคตรัสกรรมที่นางรัชชุมาลาได้กระทำในชาติก่อน และนางพราหมณีผู้เป็นนายได้กระทำในชาติก่อนด้วย และได้แสดงธรรมตามสมควรแก่บริษัทที่มาฟังธรรมนั้น นางพราหมณีและมหาชนที่มาประชุมกัน ณ ที่นั้น ฟังพระธรรมแล้วต่างดำรงอยู่ในสรณะและศีล พระผู้มีพระภาคเสด็จลุกจากอาสนะ แล้วเสด็จไปยังกรุงสาวัตถีตามเดิม

    พราหมณ์ผู้บิดาของนางพราหมณีได้ตั้งนางรัชชุมาลาไว้ในตำแหน่งลูกสาว และลูกสะใภ้ คือ นางพราหมณีผู้เป็นนายนั้นก็มีความรักใคร่เอ็นดูในนางรัชชุมาลาตั้งแต่นั้นไปตลอดชีวิต

    ต่อมานางรัชชุมาลานั้นสิ้นชีวิตแล้วก็เกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อท่านพระมหาโมคคัลลานะได้ไปเทวจาริกยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ นางรัชชุมาลาก็ได้เล่าถึงกรรมที่นางได้กระทำแล้ว และได้กล่าวถึงความเลื่อมใสของนางที่มีต่อพระผู้มีพระภาค

    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    พระพุทธเจ้าชื่อว่า เป็นผู้เกื้อกูลแก่โลกทั้งมวล เพราะพระองค์มีประโยชน์เกื้อกูลโดยส่วนเดียวแก่โลกแม้ทั้งมวล ที่แตกต่างกันโดยประเภท มีคนเลว เป็นต้น เพราะทรงประกอบด้วยพระมหากรุณา

    ไม่ว่าใครจะรู้หรือไม่รู้ถึงพระมหากรุณาคุณของพระองค์ พระมหากรุณาคุณของพระผู้มีพระภาคก็เป็นเองอย่างนั้น

    ข้อความต่อไปมีว่า

    พระผู้มีพระภาคมีพระนามว่า มีพระอินทรีย์อันทรงคุ้มครองแล้ว เพราะพระอินทรีย์ทั้งหลาย มีใจเป็นที่ ๖ พระองค์ทรงคุ้มครองได้แล้ว ด้วยมรรคอันยอดเยี่ยม คือ ด้วยอรหัตตมรรคที่ทำให้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า ยินดีในฌาน เพราะทรงยินดียิ่งในผลฌานอันเลิศ

    ไม่มีใครที่จะมีคุณธรรมเลิศเทียบเท่ากับพระผู้มีพระภาค ทรงประกอบทั้งวิชชาและจรณะ แม้ในเรื่องของฌานสมาบัติ ก็ทรงเป็นผู้มีความชำนาญอย่างยิ่งทั้งในเรื่องของอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า พระองค์ทรงพระนามว่า ยินดีในฌาน เพราะทรงยินดียิ่งในผลฌานอันเลิศ คือ โลกุตตรฌาน ได้แก่ ผลสมาบัติ

    ไม่ว่าในขณะใด แม้ในขณะที่ทรงแสดงธรรม ก็ทรงแสดงโดยสลับกับการเข้าผลสมาบัติ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์

    ทรงพระนามว่า มีพระทัยไม่วอกแวกไปภายนอก เพราะทรงมีพระทัยหลีกออกจากอารมณ์ที่มีรูปเป็นต้นอันเป็นภายนอก แล้วหยั่งลงในพระนิพพานอันเป็นอารมณ์ภายใน

    ตามปกติทุกคนก็จะต้องมีอารมณ์ภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และทุกคนก็ติด ก็ยังคงแสวงหาพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ด้วยเหตุนี้จึงยังไม่ประจักษ์ในพระนิพพาน แต่สำหรับผู้ที่สามารถรู้แจ้งอริยสัจจ์ ประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน เป็นผู้ถึงพร้อมทั้งวิชชาและจรณะ ประกอบด้วยฌานสมาบัติ เป็นผู้ที่หลีกออกจากอารมณ์ มีรูปเป็นต้น อันเป็นภายนอก และหยั่งลงในพระนิพพานอันเป็นอารมณ์ภายใน

    นี่ก็เป็นสิ่งที่จะเห็นได้ว่า ผู้ที่รู้แจ้งแล้วและถึงพร้อมด้วยฌาน ก็สามารถจะมีนิพพานเป็นอารมณ์อีกในขณะที่ผลจิตเกิด

    ทรงพระนามว่า เป็นที่หวาดหวั่นของมิจฉาทิฏฐิบุคคลผู้น่ากลัว เพราะอันมิจฉาทิฏฐิบุคคลผู้มีความเห็นผิด ด้วยกลัวจะถูกปลดเปลื้องจากการถือผิด และเพราะเกิดความกลัวแก่เขาเหล่านั้น

    นี่ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ คนที่ยึดมั่น มีความหลงผิด มีความเข้าใจผิด ไม่กล้าฟังสิ่งที่ถูกต้อง เพราะกลัวว่าจะถูกปลดเปลื้องจากความเห็นผิดหรือความยึดถือผิด

    เป็นไปได้ไหม ลองคิดดูสำหรับคนที่ยึดมั่นอย่างเหนียวแน่นในความเห็นผิด เพราะว่าธรรมดาทุกคนมีความเห็นผิดบ้าง เล็กๆ น้อยๆ บ้าง แต่บางคนก็มีมาก จนกระทั่งไม่กล้าที่จะไปสู่ความเห็นถูก ไม่กล้าที่จะไปหาผู้ที่มีความเห็นถูก ไม่กล้าที่จะเข้าใกล้ผู้ที่มีความเห็นถูก

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่าถึงสภาพธรรมที่สะสมมาต่างๆ กัน ไม่กล้าแม้แต่จะฟังคำอธิบายที่จะทำให้มีความเข้าใจถูกในพระธรรมเกิดขึ้น

    ทรงพระนามว่า หาผู้เข้าใกล้ได้ยาก เพราะอันบุคคลผู้ปโยควิบัติและอาสยวิบัติเข้าถึงไม่ได้ และอันใครๆ จะพึงเข้าใกล้ไม่ได้ คือ แม้เพื่ออันเห็น ความว่า ดอกที่มีในต้นมะเดื่อเป็นของเห็นได้ยาก บางคราวก็มี บางคราวก็ไม่มี ฉันใด การเห็นบุคคลผู้สูงสุดเช่นนี้ก็ฉันนั้น

    ใครจะได้เห็นพระผู้มีพระภาคบ้าง ในสมัยที่ยังไม่ปรินิพพาน อาจารย์ที่เป็นผู้ยึดมั่นในความเห็นผิด เช่น นิครนถ์นาฏบุตรไม่เคยไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเลย แม้ว่าจะเคยได้ยินได้ฟังกิตติศัพท์ของความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่นิครนถ์นาฏบุตรก็ไม่เคยแม้เพียงที่จะเข้าใกล้ ที่จะได้เห็นพระผู้มีพระภาค

    เพราะฉะนั้น ทรงพระนามว่า หาผู้เข้าใกล้ได้ยาก เพราะอันบุคคลผู้ปโยควิบัติและอาสยวิบัติเข้าถึงไม่ได้

    อาสยะ ก็คืออุปนิสัย ปโยคะ ก็คือความเพียรหรือการกระทำ เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่มีอุปนิสัยอย่างไร ก็ทำความเพียรอย่างนั้น ถ้าเป็นผู้ที่มีอุปนิสัยเห็นผิด ก็เพียรผิดๆ เพียรที่จะผิดเรื่อยๆ เพียรมากเท่าไรก็ยิ่งผิดมากเท่านั้น เพราะเหตุว่าเป็นผู้ที่มีปโยควิบัติและอาสยวิบัติ

    และอันใครๆ จะพึงเข้าใกล้ไม่ได้ คือ แม้เพื่ออันเห็น

    เมื่อพระผู้มีพระภาคปรินิพพาน ใครได้เห็นพระองค์ คือ ผู้ได้เห็นพระธรรม หรือใคร่ที่จะได้ฟังพระธรรมนั้น เพราะฉะนั้นผู้ที่มีความใคร่ที่จะเห็นถูก เป็นผู้ที่ไม่กลัวต่อการเข้าใกล้พระธรรมที่จะฟังให้เข้าใจ

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้เรื่องที่ได้ยินได้ฟังจะซ้ำไปซ้ำมาอย่างไร แต่ประโยชน์ก็คือ ให้ถึงการที่จะรู้ได้ว่า ตั้งแต่เกิดจนตายเป็นจิตแต่ละขณะที่ทำกิจแต่ละอย่าง ปฏิสนธิจิตเกิดแล้วก็ดับไป สำหรับผู้เป็นมนุษย์ที่ไม่พิการก็ปฏิสนธิจิตด้วยมหาวิบากจิต ซึ่งเป็นผลของมหากุศล หรือกามาวจรกุศลนั่นเอง แต่ก็ต่างกันไปเป็น ๘ ประเภท คือ ปฏิสนธิจิตของบางท่าน ก็เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา มีปัญญาเกิดร่วมด้วย และเป็นอสังขาริก สำหรับบางท่าน ปฏิสนธิจิตก็เป็นโสมนัสเวทนา มีปัญญาเกิดร่วมด้วย แต่เป็นสสังขาริก และบางท่านปฏิสนธิจิตเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย เป็นอสังขาริก และสำหรับบางท่านปฏิสนธิจิตเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย และเป็นสสังขาริก

    ไม่มีใครรู้ว่า ปฏิสนธิของแต่ละท่านเป็นจิตดวงไหน และบางท่านก็ปฏิสนธิด้วยมหาวิบากที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นอสังขาริก บางท่านก็ปฏิสนธิด้วยอุเบกขาเวทนา มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นสสังขาริก บางท่านก็ปฏิสนธิด้วยมหาวิบากที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นอสังขาริก และบางท่านก็ปฏิสนธิด้วยมหาวิบากที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย และเป็นสสังขาริก

    แม้ว่าปฏิสนธิจิตจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่ถ้ายังมีความยินดีในพระธรรม ก็เป็นการสะสม แม้จากผู้ที่ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย ก็จะทำให้ในชาติต่อไปมีปัญญาเกิดร่วมด้วยได้ และสำหรับผู้ที่ปฏิสนธิจิตมีปัญญาเกิดร่วมด้วย เมื่อได้อบรมจิตด้วยการฟังพระธรรม ตรึกตรองและอบรมเจริญปัญญายิ่งขึ้นทุกๆ ชาติไป ก็จะทำให้ชาติหนึ่งก็จะเหมือนกับรัชชุมาลาได้ หรือเหมือนกับพระอริยะทั้งหลายซึ่งเมื่อได้ฟังพระธรรม ก็สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม โดยที่ในชาตินั้นใครจะรู้ว่า บุคคลเช่น รัชชุมาลา ก็จะเป็นพระโสดาบันท่านหนึ่ง จากอดีตกรรมที่ทำให้ต้องเกิดเป็นทาสีของนางพราหมณี และถูกประทุษร้าย จนกระทั่งคิดที่จะฆ่าตัวตาย

    ถาม ปกติที่สัตว์จะเกิดเป็นอะไร ปฏิสนธิจิตด้วยจิตดวงไหนขึ้นอยู่กับชวนจิตวิถีจิตสุดท้ายด้วย ทีนี้อสัญญสัตตาพรหมมีแต่รูปขันธ์รูปเดียว ถ้าอสัญญสัตตาจะไปปฏิสนธิ จะมีกรรมอะไรนำไปปฏิสนธิ

    ท่านอาจารย์ เมื่ออสัญญสัตตาพรหมจุติ มีแต่รูปจุติ แต่ว่าอสัญญสัตตาพรหมไม่ใช่พระอรหันต์แน่นอน เพราะฉะนั้นก็มีอดีตกรรมที่ได้กระทำแล้วกรรมหนึ่ง เป็นปัจจัยที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด แต่ในภูมิที่เป็นอสัญญสัตตาพรหม ไม่มีจิต เจตสิกเกิดเลย เพราะฉะนั้นจุติก็เป็นแต่เพียงรูปจุติ

    อดิศักดิ์ ใครเป็นคนตั้งชื่อให้นางรัชชุมาลา ไพเราะจริงๆ

    ท่านอาจารย์ ไพเราะ โดยมีเชือกพันรอบศีรษะสำหรับดึง สำหรับเฆี่ยน สำหรับตี ไพเราะไหม

    อดิศักดิ์ ก็ยังไพเราะ แล้วก็ยังยอมถ้าเผื่อได้เกิดเป็นนางรัชชุมาลา โดนศอก โดนเข่า โดนหมัด แล้วได้บรรลุ ก็น่าแลก เราเกิดมาในชาตินี้ โดนยิ่งกว่านั้นอีกก็ยังไม่ได้ แม้กระทั่งโดนศัสตรา แต่ไม่ถึงชีวิต ก็ยังไม่ได้เลย ถ้าจะให้แลกกับนางรัชชุมาลาก็ยังเอา

    ท่านอาจารย์ หรือว่าไม่โดน ก็ยังไม่ได้ใช่ไหม ไม่ถึงนางรัชชุมาลาก็ยังไม่ได้

    ถาม ผมยังไม่เข้าใจว่า ความเพียร ความเห็นผิด ความเข้าใจผิด ที่ว่าการสะสมหรือการสั่งสม จะพยายามหนีความเห็นที่ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ มีไหม เพียรขยันศึกษา แต่ว่าเห็นผิด ยิ่งเพียรก็ยิ่งผิด ไม่อยากจะกล่าวเจาะจงว่าเป็นคำสอนใด แต่ว่าคำสอนก็มีมากมาย คำสอนใดก็ตามที่ผิดจากลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ คำสอนนั้นก็ไม่ถูกต้อง

    ผู้ฟัง พอจะรู้ได้ไหมว่า ตอนนี้เรากำลังเห็นผิด หรือกำลังเห็นถูก โดยมีสิ่งมาช่วยชี้แนะว่า อันนี้ผิด อันนี้ถูก หรือว่าเป็นเพราะอะไรเราถึงเริ่มศึกษาผิด

    ท่านอาจารย์ ตราบใดที่ยังไม่ได้ฟังพระธรรม ทุกคนก็จะต้องมีความคิดเห็นต่างๆ บางคนก็คิดเอาเองต่างๆ ว่า ตายแล้วสูญบ้าง หรือว่าตายแล้วเที่ยงบ้าง เป็นต้น แต่ว่าเมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว จึงได้ทราบว่า ขณะใดเป็นความเห็นผิดอย่างไร และความเห็นผิดทั้งหมดจะมีรากฐาน มีมูลจากสักกายทิฏฐิ คือ การยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เพราะฉะนั้นถ้าดับสักกายทิฏฐิได้ ก็จะดับความเห็นผิดทั้งหมดได้ แต่ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับสักกายทิฏฐิ ก็ยังมีโอกาสที่อาจจะมีปัจจัยทำให้คิดเห็นผิดได้ต่างๆ

    เพราะฉะนั้นที่สำคัญ ควรที่จะได้ทราบหนทางที่จะอบรมเจริญความเห็นถูก จนกระทั่งสามารถจะดับความเห็นผิดได้จริงๆ เพราะเหตุว่าถ้าเป็นความเห็นผิดจะดับความเห็นถูกไม่ได้ ต้องเป็นความเห็นถูก ความเข้าใจถูกที่เจริญขึ้นๆ จึงจะค่อยๆ ละคลายความเห็นผิด จนกระทั่งในที่สุดก็ดับความเห็นผิดได้เป็นสมุจเฉท ไม่เกิดอีกเลย

    ผู้ฟัง ผมเพิ่งมาครั้งแรก สักกายทิฏฐิ มีความหมายอย่างไร

    สุ. ขอเชิญท่านผู้รู้บาลีช่วยกรุณาอธิบายด้วย

    สมพร คำว่า สักกายทิฏฐิ มาจาก ส + กาย + ทิฏฐิ หมายความว่ามีความเห็นผิดในกายว่าเป็นของตน หรือมีความเห็นผิดว่าตนมีกาย คล้ายกับว่ากายของเราบังคับบัญชาได้ ท่านจึงเรียกว่า สักกายทิฏฐิ มีความเห็นว่า มีกายของเรา มีกายบังคับบัญชาได้

    ท่านอาจารย์ มีไหมสักกายทิฏฐิ คือ ฟังพระธรรมแล้วต้องเข้าใจถึงตัวเอง จะเป็นประโยชน์มากทีเดียว ถ้าได้เข้าใจว่าสักกายทิฏฐิคืออะไรแล้ว มีสักกายทิฏฐิไหม ยังมีอยู่ ยังไม่ได้ดับ

    ขอเรียนให้ทราบว่า เมื่อวานนี้มีผู้โทรศัพท์มาแล้วบอกว่า ชอบฟังคำถามที่มีท่านถามในการบรรยายนี้มากทีเดียว เพราะว่าเป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้นถ้าท่านผู้ฟังมีคำถาม ขอเชิญ เพื่อประโยชน์กับท่านผู้ฟังท่านอื่นด้วย


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 25
    24 ก.พ. 2565

    ซีดีแนะนำ