โสภณธรรม ครั้งที่ 153


    ตอนที่ ๑๕๓

    สำหรับปัญจทวารวิถีกับมโนทวารวิถียังมีข้อสงสัยไหม

    โลภมูลจิตเกิดได้ทางจักขุทวารวิถีและทางมโนทวารวิถีด้วย โทสมูลจิตเกิดได้ทางจักขุทวารวิถีและทางมโนทวารวิถีด้วย เช่นเดียวกับทางหู โลภมูลจิตเกิดทางโสตทวารวิถีได้ และโลภมูลจิตก็เกิดทางมโนทวารวิถีด้วย แต่ต้องแยกกัน จิตแต่ละทางจะไม่ปนกันเลย จิตใดรู้อารมณ์ทางไหน ก็รู้อารมณ์ทางนั้นแล้วดับ ไม่ใช่มโนทวารวิถีจิตจะไปรู้อารมณ์ทางปัญจทวารวิถี หรือไม่ใช่ปัญจทวารวิถีจะมารู้อารมณ์ทางมโนทวารวิถี แม้ว่าเป็นโลภมูลจิต แต่ว่าโลภมูลจิตนั้นอาศัยตาเกิดขึ้นแล้วรู้รูปที่ยังไม่ดับ ต้องเป็นจักขุทวารวิถี แต่ส่วนโลภมูลจิตขณะใดที่ไม่ได้อาศัยตาเกิดขึ้นรู้สีที่ยังไม่ดับ โลภมูลจิตขณะนั้นต้องเป็นมโนทวารวิถีจิต

    โลภมูลจิตขณะใดเกิดขึ้น ชอบเสียงที่กำลังปรากฏ เป็นโสตทวารวิถีจิต ดับแล้ว และโลภมูลจิตที่นึกชอบในเสียงที่ทางโสตทวารวิถีจิตรู้และดับแล้ว โลภมูลจิตที่นึกชอบต่อจากโสตทวารวิถีจิต ขณะนั้นโลภมูลจิตนั้นเป็นมโนทวารวิถีจิต

    ก็คงไม่ต้องกล่าวถึงเรื่องของวิถีจิตทั้ง ๖ นี้อีก เพราะเหตุว่าได้กล่าวถึงไว้มากทีเดียว

    สำหรับการทบทวนที่จะให้เข้าใจลักษณะของจิตซึ่งเป็นไปในวันหนึ่งๆ ก็ควรที่จะได้ทราบว่า เมื่อจิตทั้งหมดมีถึง ๘๙ หรือ ๑๒๑ ประเภท แต่ว่ากิจทั้งหมดของจิตมีเพียง ๑๔ กิจเท่านั้น เพราะฉะนั้นในแต่ละกิจ จิตใดทำกิจนั้นๆ บ้าง หรือว่าจิตใดเกิดขึ้นทำกิจใดใน ๑๔ กิจ มิฉะนั้นก็จะไม่รู้จักตัวเองเลยว่า ขณะนี้เป็นจิตอะไร ทางทวารไหน ไม่ใช่เราอย่างเรา และก็จะไม่รู้ว่า เกิดมาทำอะไรกัน แต่จริงๆ แล้วเกิดมาทำกิจการงานตามทวารต่างๆ นั่นเอง บังคับไม่ให้ทำก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าไม่ใช่เรา แต่เป็นจิตที่เกิดขึ้นทำกิจการงานนั้นๆ

    สำหรับกิจที่ ๑ ปฏิสนธิกิจ จิตที่ทำกิจนี้เป็นวิบากจิต คือ เป็นจิตที่เป็นผลของกรรมหนึ่งทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม จิตที่ทำกิจปฏิสนธิก็ต้องเป็นอกุศลวิบากจิต หรือว่าถ้าเป็นผลของกุศลกรรม จิตที่ทำกิจปฏิสนธิก็ต้องเป็นกุศลวิบากจิต แต่ว่าจิตที่ทำปฏิสนธิกิจทั้งหมด มี ๑๙ ดวง ไม่ใช่มีเพียง ๒ ดวง

    ในจิตที่ทำกิจปฏิสนธิ ๑๙ ดวง เป็นอกุศลวิบากเพียง ๑ ดวงเท่านั้น อีก ๑๘ ดวงเป็นกุศลวิบาก ลองคิดถึงการเกิดขึ้นในโลก ในจักรวาล ไม่ว่าจะเป็นภพภูมิไหน ที่เป็นภูมิต่ำ ภูมิใหญ่ ภูมิเล็กภูมิน้อย ในอบายภูมิ เป็นสัตว์ดิรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นพรหม เป็นอรูปพรหม ทั้งหมดจิตที่ทำกิจปฏิสนธิจะมี ๑๙ ดวง แต่ว่าเป็นอกุศลวิบาก เป็นผลของอกุศลกรรมเพียง ๑ ดวงเท่านั้น

    สำหรับอกุศลวิบากที่ทำกิจปฏิสนธิจะทำให้เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ๑ หรือเป็นเปรต ๑ เป็นอสุรกาย ๑ และเกิดในนรก ๑

    ถ้าพูดเรื่องปฏิสนธิกิจ ทุกท่านก็รู้สึกว่าผ่านมาแล้ว ไม่น่าจะสนใจ เพราะว่าเสร็จแล้ว หมดแล้ว หลายปีแล้ว แต่อย่าลืมว่า กำลังจะเกิดอีกข้างหน้า น่าสนใจไหม ปฏิสนธิจิตในสังสารวัฏฏ์จะไม่หยุดเลย ตราบใดที่ยังมีกรรม และทุกคนมีทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรม เพราะฉะนั้นก็น่าที่จะไตร่ตรอง สังวร พิจารณาดูถึงปฏิสนธิจิตในภพต่อไปว่า กรรมใดจะทำให้เกิดในภพภูมิใด แม้ว่าไม่สามารถจะรู้ได้ แต่เพราะไม่สามารถจะรู้ได้จึงเป็นผู้ที่ไม่ประมาทในการเจริญกุศล เพราะเหตุว่าถ้าประมาท แล้วก็ทำอกุศลกรรมอยู่เรื่อยๆ ก็ย่อมจะเป็นปัจจัยทำให้ปฏิสนธิจิตของชาติหน้า หลังจุติจิตของชาตินี้เป็นอกุศลวิบาก คือ เป็นผลของอกุศลกรรม ซึ่งจะทำให้เกิดในนรก หรือเกิดเป็นเปรต เกิดเป็นอสุรกาย เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน

    น่าสนใจไหม ปฏิสนธิจิต เมื่อไรก็ไม่ทราบ วันไหนก็ไม่ทราบ อาจจะเป็นขณะนี้ หรือเย็นนี้ หรือพรุ่งนี้ หรือปีต่อไปก็เป็นได้

    เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะได้ทราบว่า สำหรับอกุศลวิบากที่ทำกิจปฏิสนธิ คือ อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก กรรมทั้งหลายที่ได้กระทำไป ไม่ว่าจะเป็นกายกรรมก็ตาม วจีกรรมก็ตาม กรรมหนักก็ตาม หรือว่ากรรมเบาเพียงเล็กๆ น้อยก็ตาม กรรมเหล่านั้นทั้งหมด เวลาให้ผล จะทำให้อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากเกิดในภูมิหนึ่งภูมิใดที่เป็นอบายภูมิ และทุกคนก็ยังระลึกถึงอกุศลกรรมของตนเองได้ว่า มี แม้ในชาตินี้ แต่ว่าการที่ปฏิสนธิจิตจะเกิดในชาติหน้า ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นเฉพาะผลของกรรมในชาตินี้ชาติเดียว แม้ว่ากรรมในอดีตอนันตชาติที่ได้กระทำแล้ว ก็ยังมีโอกาสที่จะเป็นชนกกรรม ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น หลังจากจุติจิตของชาตินี้ดับลง

    สำหรับอีก ๑๘ ดวง เป็นกุศลวิบากทั้งหมด ซึ่งก็ควรจะได้ทราบว่า แบ่งออกเป็นภูมิๆ คือ เป็นกามาวจรวิบาก เป็นผลของกุศลกรรมที่เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ซึ่งเรากระทำกันอยู่ การกระทำบุญกุศลของเราในปัจจุบันชาติ ก็ต้องเป็นไปกับรูปบ้าง เสียงบ้าง กลิ่นบ้าง รสบ้าง โผฏฐัพพะบ้าง เพราะฉะนั้นเวลาที่ให้ผล ก็ให้ผลทำให้กุศลวิบากจิตเกิดขึ้นในกามภูมิที่เป็นสุคติภูมิ

    สำหรับจิตที่ทำให้ปฏิสนธิในกามสุคติภูมิ มีทั้งหมด ๙ ดวง คือ เป็นกุศลวิบากอย่างอ่อนๆ ให้ผลทำให้ อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากเกิดขึ้นในภูมิมนุษย์ หรือในสวรรค์ชั้นต้น แต่ว่าไม่ประกอบด้วยความสมบูรณ์พร้อมทางกาย เช่น อาจจะพิการ หรือทางใจ ก็อาจจะบ้า หรือสติปัญญาอ่อน

    นี่ก็เป็นผลของกุศลกรรมอย่างอ่อน แต่ถ้าเป็นผลของกุศลกรรมที่มีกำลังขึ้น ก็ยังต้องแยกออกเป็น ๒ ประเภทว่า เป็นผลของกุศลกรรมที่ประกอบด้วยปัญญา หรือไม่ประกอบด้วยปัญญา ถ้าเป็นกุศลกรรมที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา เช่นการให้ทาน หรือว่าในขณะนั้นไม่ได้ศึกษาพระธรรม ไม่ใช่การเข้าใจพระธรรม ไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา ก็จะทำให้มหาวิบากทำกิจปฏิสนธิ แต่ว่าเป็นมหาวิบากประเภทที่ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย

    เพราะฉะนั้นก็เป็นชีวิตที่แต่ละท่านก็พอจะเลือกอบรมได้ว่า ต้องการปฏิสนธิชนิดไหน ถ้าต้องการปฏิสนธิที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ชาตินั้นทั้งชาติก็จะไม่มีความสนใจในพระธรรม อย่างที่ถึงขั้นที่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ สำหรับบางท่านที่เป็นผลของกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ก็ทำให้มหาวิบากปฏิสนธิประกอบด้วยปัญญา บางท่านยังไม่ค่อยจะสนใจศึกษาพระธรรม หรือถึงแม้ว่าศึกษาแล้ว ก็แล้วแต่ระดับขั้นของปัญญาที่สะสมมาว่า เป็นปัญญาขั้นไหน ถ้าเป็นปัญญาที่มีกำลังก็สามารถที่จะเข้าใจพระธรรมได้อย่างรวดเร็ว และบางท่านก็สามารถที่เพียงฟัง ก็สามารถที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ประจักษ์แจ้งการเกิดดับ รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคลได้ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมกำลังปรากฏ แต่ว่าปรากฏกับผู้ที่สะสมปัญญามาน้อยหรือมาก หรือว่าไม่ได้สะสมปัญญามาเลย ถ้าสะสมปัญญามากก็เข้าใจทันที ถ้าสะสมปัญญามามาก ก็สามารถจะประจักษ์แจ้งการเกิดดับของกำลังเห็นในขณะนี้ได้ กำลังได้ยินในขณะนี้ได้

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ฝ่ายกุศลวิบาก ๑๘ ดวง ก็จะต้องมีการประณีตเพิ่มขึ้นตามขั้นของเหตุ ซึ่งได้กระทำแล้ว เพราะฉะนั้นทุกคนก็จะเกิดอีก และไม่ทราบว่าจะเป็นที่ไหน จะได้พบกันอีกหรือไม่ ถ้าเกิดในสวรรค์ พบกันก็จำได้ เพราะเหตุว่าพวกเทพทั้งหลายเป็นโอปปาติกกำเนิด เป็นกำเนิดที่สามารถจะระลึกถึงชาติก่อนว่า จุติด้วยสภาพอย่างไร แล้วด้วยผลของกรรมอะไรจึงทำให้ปฏิสนธิในเทพชั้นนั้นๆ แต่ถ้าเกิดเป็นมนุษย์อีก ต่างคนต่างเกิดเป็นมนุษย์ ก็ไม่มีการที่จะรู้ได้เลยว่า คนนี้ชาติก่อนเคยพบกันหรือเปล่า หรือเคยรัก เคยชังกันสถานใด ถ้าเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ก็จำกันไม่ได้เลย ไม่มีทางที่จะรู้เลยว่า ใครเป็นใครในชาติไหน

    ปฏิสนธิจิตบางประเภทก็ทำให้เกิดในไข่ เช่น ไก่ ตุ๊กแก จิ้งจก แม้แต่จะเพียงดูการปฏิสนธิก็เห็นได้ว่า ช่างวิจิตรตามกรรม กรรมบางประเภทก็ทำให้เกิดในเถ้าไคที่ชื้นแฉะ เช่น พวกหนอน พวกแมลงต่างๆ และสำหรับในภูมิมนุษย์ก็ทำให้เกิดในครรภ์ และสำหรับพวกเทพและสัตว์นรก พวกเปรต อสุรกาย ก็ทำให้เกิดเป็นตัวสมบูรณ์ขึ้นทันที เป็นอุปปาติกะกำเนิด

    สำหรับเรื่องที่ควรจะคิดถึงปฏิสนธิจิตที่จะเกิดต่อจากจุติจิตในชาตินี้ ขอกล่าวถึงเรื่องกรรมที่บางท่านประมาทแล้วในครั้งพระผู้มีพระภาคพระองค์ก่อนๆ

    ข้อความในอรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต อรรถกถากัปปิลสูตรที่ ๖ มีข้อความว่า

    เมื่อพระผู้มีพระภาคพระนามว่า กัสสปะ เสด็จปรินิพพานแล้ว กุลบุตร ๒ พี่น้องออกบวชแห่งสำนักของสาวกทั้งหลาย ผู้พี่ชื่อว่า โสธนะ ผู้น้องชื่อว่า กปิละ ท่านทั้งสองมีมารดาชื่อ สาธนี มีน้องสาวชื่อ ตาปนา ทั้งมารดาและน้องสาวนั้นบวชในสำนักนางภิกษุณี

    เห็นได้ว่าบวชหมดทั้งครอบครัว ทั้งมารดา น้องสาว และบุตรชายทั้งสอง ก็ต้องเป็นผู้มีศรัทธามากทีเดียว แต่ควรที่จะไม่ประมาทในเรื่องของอกุศล

    ในบรรดาพระภิกษุทั้งสองนั้น พระภิกษุผู้พี่คิดว่า เราจะบำเพ็ญวาสธุระ คือ ธุระเป็นเครื่องอบรมตน ได้แก่การอบรมเจริญวิปัสสนา ดังนี้แล้วก็อยู่ในสำนักของอุปัชฌาย์และอาจารย์ทั้งหลายเป็นเวลา ๕ ปีไปสู่ป่า และได้บรรลุพระอรหัต

    พระกปิละคิดว่า เรายังหนุ่มอยู่ก่อน ในเวลาแก่แล้วเราจะบำเพ็ญแม้วาสธุระดังนี้ แล้วก็เริ่มคันถธุระ ได้เป็นผู้ทรงพระไตรปิฎกแล้ว พระกปิละนั้นมีบริวารเพราะอาศัยปริยัติ เพราะอาศัยบริวาร ลาภก็เกิด พระกปิละนั้นเมา ด้วยการเมาที่ตนเป็นพาหุสัจจะ สำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต มีความสำคัญว่าตนรู้ แม้ในสิ่งที่ตนยังไม่รู้ กล่าวสิ่งที่เป็นกัปปิยะที่ภิกษุเหล่าอื่นกล่าวแล้วว่าเป็นอกัปปิยะ คือ เป็นสิ่งที่ไม่สมควร กล่าวสิ่งที่สมควรว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมควร แม้สิ่งที่เป็นอกัปปิยะ ก็กล่าวว่าเป็นกัปปิยะ แม้สิ่งที่มีโทษ ก็กล่าวว่าไม่มีโทษ แม้สิ่งที่ไม่มีโทษ ก็กล่าวว่ามีโทษ

    ศึกษามาก แต่ถ้าเมาด้วยลาภสักการะ เพราะเหตุใดจึงกล่าวผิดจากพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ น่าคิดมากทีเดียว

    ต่อแต่นั้น พระกปิละนั้นอันพระภิกษุทั้งหลายผู้มีศีลเป็นที่รักโอวาทอยู่โดยนัยว่า ท่านอย่าได้พูดอย่างนี้ ดังนี้เป็นต้น ก็เที่ยวพูดขู่ตะคอกภิกษุทั้งหลายด้วยคำทั้งหลายว่า พวกท่านเหมือนกับคนมีกำมือเปล่า จะรู้อะไร ดังนี้เป็นต้นอยู่นั้นแล

    ภิกษุทั้งหลายได้บอกเรื่องนี้แม้แก่พระโสธนเถระผู้เป็นพี่ชายของท่าน แม้พระโสธนเถระนั้น ก็เข้าไปหาพระกปิละนั้น แล้วกล่าวกับพระกปิละว่า อย่าได้พูดแม้แต่สิ่งที่เป็นกัปปิยะว่าไม่เป็นกัปปิยะ แม้สิ่งที่มีโทษว่าไม่มีโทษ ท่านพระกปิละนั้นก็ไม่สนใจคำของท่านพระโสธนเถระผู้เป็นพี่ชาย

    ลำดับนั้นท่านพระโสธนเถระได้กล่าวกับท่านพระกปิละว่า ผู้อนุเคราะห์จะพึงพูดคำหนึ่งหรือสองคำ ไม่พึงพูดให้มากไปกว่านั้น เพราะว่าถ้าท่านผู้อนุเคราะห์จะพึงกล่าวให้มากไปกว่านั้น ก็จะพึงมีโทษในสำนักของพระอริยะได้

    แม้แต่การที่จะเตือนหรือการที่จะกล่าว ถ้าพูดมากกว่าที่ควรจะพูด ก็อาจจะทำให้ผู้ฟังเข้าใจผิดได้ คือ ไม่ได้เข้าใจเจตนาจริงๆ ของผู้พูด เพราะเหตุว่าในขณะที่กำลังเป็นอกุศล ก็ย่อมไม่เห็นว่าสิ่งใดถูกและสิ่งใดผิด สิ่งใดควรและสิ่งใดไม่ควร เพราะฉะนั้นท่านที่รู้สภาพธรรมแล้ว ท่านจึงกล่าวว่า ผู้อนุเคราะห์จะพึงพูดคำหนึ่งหรือสองคำ ไม่พึงพูดให้มากไปกว่านั้น

    นี่ก็เป็นความละเอียดของจิตที่จะต้องระวังว่า สำหรับผู้ฟังถ้าฟังแล้วเกิดอกุศลไปใหญ่โต เพราะฉะนั้นผู้พูดก็ยุติเสียเพื่อที่จะไม่ให้ผู้ฟังเกิดอกุศลมากไปอีก

    ท่านพระโสธนเถระกล่าวว่า พระกปิละเองจะปรากฏด้วยกรรมของตนเอง ดังนี้แล้วก็หลีกไป

    จำเดิมแต่นั้นภิกษุทั้งหลายที่มีศีลเป็นที่รัก ก็ทอดทิ้งพระกปิละนั้นเสีย

    พระกปิละนั้นเป็นผู้ประพฤติชั่ว มีพระภิกษุประพฤติชั่วแวดล้อมอยู่ วันหนึ่งคิดว่า เราจะลงอุโบสถ แล้วได้ขึ้นสู่อาสนะอันประเสริฐ จับพัดอันวิจิตร พอนั่งลงก็พูดขึ้น ๓ ครั้งว่า “อาวุโสทั้งหลาย ปาติโมกข์ย่อมควรแก่ภิกษุทั้งหลายในที่นี้หรือ”

    ครั้งนั้นแม้ภิกษุรูปหนึ่งก็ไม่พูดว่า “ปาติโมกข์ย่อมควรแก่ข้าพเจ้า” ทั้งก็ไม่ได้พูดว่า “ปาติโมกข์ย่อมควรแก่พระกปิละนั้นหรือแก่พระภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น”

    ลำดับนั้นพระกปิละนั้นก็พูดว่า “เมื่อปาติโมกข์พวกเราฟังก็ดี ไม่ฟังก็ดี ชื่อว่า วินัย ไม่มีหรอก” ดังนี้ แล้วก็ลุกขึ้นจากอาสนะ

    พระกปิละนั้นทำพระศาสนาของพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่า กัสสปะ ให้เสื่อมถอย คือให้พินาศแล้วด้วยประการฉะนี้

    ในกาลต่อมา ท่านพระโสธนเถระก็ปรินิพพาน พระกปิละก็มรณะ แล้วก็เกิดในอเวจีมหานรก มารดาและน้องสาวของพระกปิละเห็นตามท่าน และด่าบริภาษภิกษุทั้งหลายที่มีศีลเป็นที่รัก เมื่อสิ้นชีวิตแล้วก็เกิดในนรก

    ซึ่งในสมัยเดียวกันในขณะนั้นก็มีเรื่องของบุคคลอื่นที่ได้กระทำกรรมต่างๆ กันด้วย ซึ่งข้อความในอรรถกถากปิลสูตรมีว่า

    ก็ในกาลครั้งนั้น บุรุษประมาณ ๕๐๐ คน ทำบาปกรรมทั้งหลาย

    เห็นได้ว่า กรรมของแต่ละชีวิต แต่ละภพแต่ละชาติของแต่ละคนก็ต่างกันไป สำหรับ บุรุษประมาณ ๕๐๐ คน ทำบาปกรรมทั้งหลายมีการฆ่าชาวบ้านเป็นต้น เลี้ยงชีวิตด้วยความเป็นโจร ถูกพวกมนุษย์ในชนบทติดตามหนีไปอยู่ ได้หนีเข้าสู่ป่า ไม่เห็นที่กำบังหรือที่นั่งอะไรในป่านั้น ได้เห็นภิกษุผู้อยู่ในป่าเป็นวัตรรูปหนึ่งซึ่งอยู่ในที่ไม่ไกล ก็ได้เข้าไปไหว้แล้วกล่าวว่า "ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของพวกกระผม”

    พระเถระกล่าวว่า "ที่พึ่งเช่นกับศีลสำหรับท่านทั้งหลายไม่มี ขอให้ท่านทุกคนจงสมาทานเบญจศีล"

    โจรเหล่านั้นรับคำ แล้วสมาทานศีลทั้งหลาย

    พระเถระตักเตือนโจรเหล่านั้นว่า "บัดนี้ พวกท่านเป็นผู้มีศีลแล้ว เมื่อท่านทั้งหลายแม้ถูกปลงชีวิตของตนให้พินาศอยู่ ท่านทั้งหลายอย่าได้ประทุษร้ายใจ คือ อย่าโกรธ”

    คือไม่ทำลายใจของตนเอง โดยการที่ไม่โกรธ

    ซึ่งพวกโจรเหล่านั้นก็รับคำแล้ว

    เวลาที่รับศีล ควรจะไม่โกรธ ดีไหม

    ครั้งนั้น ชาวชนบทเหล่านั้นมาถึงที่นั้นแล้วมองหาอยู่ข้างโน้นบ้างข้างนี้บ้าง พบโจรเหล่านั้นแล้วก็ช่วยกันปลงชีวิตเสียสิ้นทุกคน พวกโจรเหล่านั้นทำกาละ คือสิ้นชีวิตแล้วก็บังเกิดในสวรรค์

    ถ้าใครสามารถจะทำอย่างโจรได้ คือ กำลังถูกฆ่าอยู่ก็ไม่โกรธ ขณะนั้นผลของกุศลจิตที่เกิดก่อนจุติเป็นชนกกรรม ทำให้กุศลวิบากจิตปฏิสนธิในสวรรค์ เพราะฉะนั้นแทนที่จะไปคิดถึงว่าถ้าโจรมาฆ่าก็จะไม่โกรธ ไม่ต้องเป็นโจรก็ได้ ใครก็ได้ ไม่ต้องฆ่าก็ได้ทำอะไรก็ได้แล้วก็ไม่โกรธ ขณะนั้นถ้าจุติจิตเกิด แล้วกุศลจิตซึ่งเกิดก่อนจุติเป็นชวนะสุดท้าย จะเป็นชนกกรรมที่จะทำให้ปฏิสนธิในสุคติภูมิได้ แต่ต้องไม่โกรธจริงๆ เพราะว่าเห็นประโยชน์ของความไม่โกรธ และเห็นโทษของความโกรธ

    เป็นไปได้ ถ้าจะไม่โกรธเสียเดี๋ยวนี้ แล้วก็ต่อๆ ไป เพราะเหตุว่าจะปฏิสนธิเมื่อไรไม่ทราบ ปฏิสนธิสำหรับชาติหน้าจะเกิดเมื่อไร ไม่ทราบ ถ้ากระทำอยู่เสมอจนกระทั่งเป็นอาจิณณกรรม ก็จะทำให้หวังได้ว่า กรรมนั้นก็จะทำให้เกิดในสวรรค์ได้

    บรรดาโจรเหล่านั้น โจรผู้เป็นหัวหน้าได้เป็นเทพบุตรผู้เป็นหัวหน้า โจรนอกนี้ได้เป็นบริวารของเทพบุตรผู้เป็นหัวหน้า ท่านเหล่านั้นท่องเที่ยวกลับไปมาไปสิ้นพุทธันดรหนึ่งในเทวโลก และเคลื่อนจากเทวโลกในกาลแห่งพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย คือ ในสมัยของพระผู้มีพระภาคพระสมณโคดมพระองค์นี้

    เทพบุตรผู้เป็นหัวหน้าได้ถือปฏิสนธิในท้องภรรยาของชาวประมงผู้เป็นหัวหน้าสกุล ๕๐๐ สกุล ในบ้านชาวประมงซึ่งมีอยู่ที่ประตูเมืองสาวัตถี เทพบุตรพวกนี้ได้ ถือปฏิสนธิในครรภ์ของชาวประมงที่เหลือทั้งหลาย เขาเหล่านั้นได้ถือปฏิสนธิและการออกจากครรภ์ในวันเดียวกันนั่นเอง ด้วยประการฉะนี้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 25
    24 ก.พ. 2565

    ซีดีแนะนำ