โสภณธรรม ครั้งที่ 154


    ตอนที่ ๑๕๔

    บรรดาโจรเหล่านั้น โจรผู้เป็นหัวหน้าได้เป็นเทพบุตรผู้เป็นหัวหน้า โจรนอกนี้ได้เป็นบริวารของเทพบุตรผู้เป็นหัวหน้า ท่านเหล่านั้นท่องเที่ยวกลับไปมาไปสิ้นพุทธันดรหนึ่งในเทวโลก และเคลื่อนจากเทวโลกในกาลแห่งพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย คือ ในสมัยของพระผู้มีพระภาคพระสมณโคดมพระองค์นี้

    เทพบุตรผู้เป็นหัวหน้าได้ถือปฏิสนธิในท้องภรรยาของชาวประมงผู้เป็นหัวหน้าสกุล ๕๐๐ สกุล ในบ้านชาวประมงซึ่งมีอยู่ที่ประตูเมืองสาวัตถี เทพบุตรพวกนี้ได้ ถือปฏิสนธิในครรภ์ของชาวประมงที่เหลือทั้งหลาย เขาเหล่านั้นได้ถือปฏิสนธิและการออกจากครรภ์ในวันเดียวกันนั่นเอง ด้วยประการฉะนี้

    นี่อีกภพหนึ่งอีกชาติหนึ่ง หลายๆ ภพ หลายๆ ชาติ จากสมัยพระผู้มีพระภาคพระกัสสปะซึ่งเป็นโจร จนกระทั่งถึงได้ไปเกิดบนสวรรค์ และในที่สุดก็ได้เกิดในตระกูลของชาวประมง

    ครั้งนั้นแม้ภิกษุชื่อ กปิละ ก็มาเกิดเป็นปลาสีเหมือนทอง แต่ปากเหม็น ในแม่น้ำอจิรวดี ด้วยเศษกรรมที่เหลือจากการเกิดในนรก

    เป็นพระภิกษุชาติหนึ่งชาติใด แล้วก็เกิดในนรก แล้วก็เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน แล้วก็มีรูปร่างที่วิจิตรมาก คือ เป็นปลาสีเหมือนทอง แต่ปากเหม็น

    ต่อมาวันหนึ่ง เด็กชาวประมงนั้นทั้งหมดถือเอาแหไปจับปลา เมื่อทอดแหแล้วได้ปลาทองตัวนั้น ซึ่งทั้ง ๕๐๐ คนนั้นก็นำปลาไปให้พระเจ้าปเสนทิโกศลทอดพระเนตร

    เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลทอดพระเนตรเห็นปลาสีทอง ก็ทรงดำริว่า "พระผู้มีพระภาคจักทรงทราบเหตุที่ปลานี้เป็นสีทอง” ดังนี้แล้ว ก็รับสั่งให้นำปลานั้นไปที่สำนัก พระผู้มีพระภาคด้วย ในเวลาที่ปลาอ้าปากขึ้น พระเชตวันก็มีกลิ่นเหม็นอย่างยิ่ง

    ใครจะรู้ไหม อกุศลวิบากจะเกิดขึ้นในขณะไหนสำหรับผู้ที่อยู่ ณ พระวิหาร

    เชตวันในขณะนั้น

    พระราชาทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะเหตุไร ปลาจึงเกิดเป็นปลามีสีทอง และเพราะเหตุไร กลิ่นเหม็นจึงฟุ้งออกจากปากของปลานั้น"

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร ปลานี้ได้เป็นภิกษุพหุสูต ผู้เรียนจบปริยัติ ชื่อว่า กปิละ ในพระศาสนาของพระผู้มีพระภาค พระนามว่ากัสสปะ เป็นผู้ด่าบริภาษภิกษุทั้งหลายผู้ไม่เชื่อคำของตน เป็นผู้ทำศาสนาของพระผู้มีพระภาคให้เสื่อมไป เธอจึงตกในอเวจีมหานรก แล้วก็มาเกิดเป็นปลาในบัดนี้ด้วยเศษแห่งวิบาก ด้วยผลอันไหลออกแห่งกรรมที่เธอได้กล่าวพระพุทธพจน์ สรรเสริญพระพุทธคุณเป็นเวลานาน เธอจึงมีวรรณะเช่นนี้ เพราะเหตุที่เธอด่าบริภาษภิกษุทั้งหลาย กลิ่นเหม็นจึงฟุ้งออกจากปากของปลานั้น”

    นี่คือผลของกรรมที่วิจิตร

    ต่อไปเป็นข้อความที่แสดงโทษของบรรพชิตผู้ไม่อบรมตน ซึ่งมีข้อความว่า

    ก็ผู้ใดผู้หนึ่งสละเพศคฤหัสถ์ ถ้าแม้บวชด้วยการเข้าเหตุสักว่า การปลงผมและการนุ่งผ้าย้อมฝาดเป็นต้น ถ้าหากว่าเป็นคนปากกล้า คือเป็นผู้พูดคำหยาบ ยินดีในการเบียดเบียน เพราะพอใจในความเบียดเบียนจึงมีประการต่างๆ เป็นผู้ประดุจเนื้อร้าย เพราะเป็นผู้ที่เช่นกับเนื้อร้าย เพราะไม่มีหิริโอตตัปปะ โดยที่แท้บุคคลเห็นปานนี้ ได้แก่ภิกษุที่ยินดีในการทะเลาะ เพราะเป็นคนมีปากจัด ถูกโมหธรรมรึงรัดแล้ว เพราะถึงความงมงายที่จะรู้แจ้งอรรถแห่งสุภาษิต ย่อมไม่ทราบแม้คำที่ภิกษุทั้งหลายผู้มีศีลเป็นที่รักกล่าวแล้ว ไม่รู้จักพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ คือ ไม่รู้จักพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ แม้ตนจะกล่าวอยู่โดยประการต่างๆ แม้เมื่อเป็นอย่างนั้นชีวิตของภิกษุนั้นชื่อว่า เป็นชีวิตชั่ว

    ซึ่งข้อความต่อไปน่าพิจารณา ที่มีข้อความว่า

    ท่านทั้งหลายทั้งปวงจงเป็นผู้สามัคคีกัน เว้นบุคคลนั้นเสีย แล้วอย่าถึงความขวนขวายด้วยเหตุสักว่า การเว้นภิกษุนั้นเท่านั้น แต่โดยที่แท้แล ท่านทั้งหลายจงกำจัดบุคคลนั้นผู้เป็นเพียงดังแกลบ จงคร่าบุคคลผู้เป็นดังหยากเยื่อออกเสีย คือว่าจงคร่าบุคคลผู้เป็นดังหยากเยื่อนั้นโดยไม่ต้องใยดี ประดุจหยากเยื่อ และจงคร่าบุคคลเพียงดังแกลบ ประดุจราชบุรุษคร่าคนจัณฑาลซึ่งเป็นโรคเรื้อน มีแผลแตกไหลออก ผู้เข้าไปท่ามกลางแห่งกษัตริย์เป็นต้น คือว่า ท่านทั้งหลายจงจับบุคคลนั้นที่มือหรือที่ศีรษะแล้วคร่าออกไป เหมือนกับท่านพระมหาโมคคัลลานะจับปาปบุคคลนั้นที่แขนดึงออกไปจากซุ้มประตูภายนอก แล้วใส่ลูกดาล คือ ใส่กุญแจเสีย แม้ฉันใด ท่านทั้งหลายก็จะคร่าบุคคลนั้นเสียฉันนั้น

    ถามว่าเพราะเหตุไร

    ตอบว่า ชื่อว่า สังฆารามเขาสร้างไว้สำหรับผู้มีศีลทั้งหลาย ไม่ได้สร้างไว้สำหรับภิกษุทั้งหลายที่ทุศีล ต่อแต่นั้นไปท่านทั้งหลายจงขับบุคคลลีบ ผู้ไม่ใช่สมณะ ผู้ถือตัวว่าเป็นสมณะออกไปเสีย เหมือนอย่างว่าข้าวลีบทั้งหลายแม้ปราศจากข้าวสารในภายใน แต่ก็ปรากฏเหมือนข้าวเปลือก เพราะมีแกลบอยู่ข้างนอกฉันใด ปาปภิกษุทั้งหลายก็ฉันนั้น แม้เว้นจากคุณสมบัติมีศีลเป็นต้นในภายใน แต่ก็ปรากฏเหมือนภิกษุด้วยบริขาร มีผ้ากาสาวะเป็นต้นในภายนอก พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรียกว่า ปลาปา คนลีบ ท่านทั้งหลายจงคร่าบุคคลลีบเหล่านั้นเสีย คือ จงโปรยไป ได้แก่จงกำจัดบุคคลลีบเหล่านี้เสีย ซึ่งไม่ใช่สมณะโดยปรมัตถ์ แต่สำคัญตนว่าเป็นสมณะ ในภาวะสักว่าเพศ ครั้งกำจัดผู้มีความปรารถนาลามก ผู้มีอาจาระและโคจรลามกได้แล้วอย่างนี้ เธอทั้งหลายผู้บริสุทธิ์แล้วมีความเคารพกันและกัน จงสำเร็จการอยู่ร่วมด้วยบุคคลผู้บริสุทธิ์ทั้งหลาย

    ซึ่งในที่สุดแห่งพระเทศนา บุตรชาวประมงจำนวน ๕๐๐ คนนั้นก็ถึงความสังเวช สลดใจ ปรารถนาจะทำที่สุดทุกข์ได้บรรพชาในสำนักของพระผู้มีพระภาค ต่อกาลไม่นานเลยก็กระทำที่สุดทุกข์ได้ ได้มีการบริโภคเป็นอันเดียวกันกับพระผู้มีพระภาคด้วยการบริโภคธรรม คือ อเนญชวิหารสมาบัติ

    คือไม่ใช่เพียงแต่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระอรหันต์เท่านั้น ท่านเหล่านั้นยังได้บรรลุถึงจตุตถฌานโดยจตุตถนัยด้วย แต่ว่าก่อนที่ท่านเหล่านี้จะบรรลุอรหัตตผล ท่านเหล่านี้ก็มีความประพฤติที่ท่านเองเกิดความสลดใจ ดังข้อความในขุททกนิกาย อุทาน ยโสชสูตร ข้อ ๗๐ มีข้อความโดยย่อว่า

    ชาวประมง ๕๐๐ คนนี้หลังจากที่บวชแล้ว สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ก็สมัยนั้นพระภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูปมีพระยโสชะเป็นประมุข เดินทางมาถึงพระนครสาวัตถีโดยลำดับเพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาค ก็ภิกษุอาคันตุกะเหล่านั้นปราศรัยกับภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเจ้าถิ่น ปูลาดเสนาสนะ เก็บบาตรและจีวรกันอยู่ ได้ส่งเสียงอื้ออึง

    ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคตรัสถามท่านพระอานนท์ว่า ใครนั่นส่งเสียงอื้ออึงเหมือนชาวประมงแย่งปลากัน

    ท่านพระอานนท์ก็กราบทูลให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคตรัสให้ท่านพระอานนท์เรียกภิกษุเหล่านั้นมาเฝ้า แล้วตรัสว่า เพราะเหตุภิกษุทั้งหลายจึงส่งเสียงอื้ออึงเหมือนชาวประมงแย่งปลากัน

    ท่านพระยโสชะก็ได้กราบทูลให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงไป เราประณามเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายไม่ควรอยู่ในสำนักของเรา

    สมควรไหมที่จะตรัสอย่างนั้น

    ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคกระทำประทักษิณ แล้วเก็บเสนาสนะ ถือบาตรและจีวรหลีกไปทางวัชชีชนบท เที่ยวจาริกไปในวัชชีชนบทโดยลำดับ ถึงแม่น้ำวคุมุธานที กระทำกุฎีมุงด้วยใบไม้ เข้าจำพรรษาอยู่ใกล้แม่น้ำวคุมุธานที

    มาเฝ้าด้วยความหวังที่จะได้นมัสการ ได้ฟังพระธรรม แต่ก็ต้องผิดหวังกลับไป เพราะการกระทำของตนเอง ซึ่งเสียงดังอื้ออึงมากในขณะที่จัดเตรียมเสนาสนะกับภิกษุซึ่งเป็นเจ้าถิ่น

    ครั้งนั้นท่านพระยโสชะเข้าจำพรรษาแล้ว เรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วกล่าวว่า ท่านผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคทรงใคร่ประโยชน์ ทรงแสวงหาประโยชน์ ทรงอนุเคราะห์ ทรงอาศัยความอนุเคราะห์ประณามเราทั้งหลาย

    คือเห็นว่าเป็นความผิดของพวกท่านเอง ไม่ใช่ความผิดของพระผู้มีพระภาคเลย ท่านกล่าวต่อไปว่า

    พระผู้มีพระภาคทรงพึงใคร่ประโยชน์แก่เราทั้งหลายผู้อยู่ประการใด ขอเราทั้งหลายจงสำเร็จการอยู่ด้วยประการนั้นเถิด

    คือทราบว่าพระมหากรุณาที่ทรงอนุเคราะห์ อนุเคราะห์เพื่อที่จะให้ประพฤติปฏิบัติธรรม เมื่อทราบว่าเป็นความมุ่งหมายของพระองค์ เพราะฉะนั้นท่านก็กล่าวเตือนภิกษุพวกของท่านว่า ขอเราทั้งหลายจงสำเร็จความอยู่ด้วยประการนั้นเถิด

    ภิกษุเหล่านั้นรับคำของท่านพระยโสชะ แล้วหลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่ ทุกๆ รูปได้ทำให้แจ้งซึ่งวิชชา ๓ ภายในพรรษานั้นเอง

    คือนอกจากจะเป็นพระอรหันต์แล้วก็ยังสามารถได้ฌานสมาบัติด้วย

    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    ก็บรรดาภิกษุเหล่านี้ที่พระผู้มีพระภาคทรงประณามอย่างนี้ แม้รูปเดียวก็ไม่ได้ให้คำตอบว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงประณามข้าพระองค์ด้วยเหตุเพียงเสียงดัง หรือมิได้ให้คำอะไรอื่นๆ ด้วยพุทธคารวะ

    คือไม่โต้ตอบเลยทั้งสิ้น เพราะว่าเป็นความจริงอย่างนั้น เป็นความผิดของท่านเอง

    ภิกษุทั้งหมดเมื่อรับดำรัสของพระผู้มีพระภาคจึงกราบทูลว่า เป็นอย่างนั้นพระเจ้าข้า แล้วพากันออกไป

    ซึ่งข้อความในอรรถกถาแสดงว่า พระภิกษุทั้งหลายท่านก็เสียใจ เพราะเหตุว่าการที่ท่านมาเฝ้าพระผู้มีพระภาค ก็ด้วยความคิดว่า พวกเราจักเฝ้าพระศาสดา จักฟังธรรม จักอยู่ในสำนักพระศาสดา แต่พวกเรามายังสำนักพระศาสดาผู้เป็นครูเห็นปานนี้ กระทำเสียงดัง นี่เป็นโทษของพวกเราเท่านั้น พวกเราถูกประณามเพราะโทษ เราไม่ได้อยู่ในสำนักพระศาสดา ไม่ได้ชมพระโฉมมีวรรณะดังทองคำอันนำมาซึ่งความเลื่อมใสรอบด้าน ไม่ได้ฟังพระธรรมที่ทรงแสดงด้วยพระสุรเสียงอันไพเราะ และพวกท่านก็พิจารณารู้ว่า เราถูกประณามเพราะอาศัยการอนุเคราะห์ ไม่ใช่ถูกประณามเพราะหวังความขวนขวายเป็นต้นของตน

    คือพระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงประณามเพราะว่าทรงพอพระทัยที่จะประณาม แต่ว่าทรงประณามเพื่อจะอนุเคราะห์ เพราะเหตุว่าที่พระผู้มีพระภาคผู้หนักในธรรม ผู้ทรงประณามเพราะเหตุเพียงทำเสียงดัง จึงควรบูชาพระองค์ด้วยสัมมาปฏิบัติเท่านั้น คือ เราจะบำเพ็ญอปัณณกปฏิปทา ด้วยการประกอบสติสัมปชัญญะในที่ทุกสถาน เมื่อเราอยู่โดยประการใด พระผู้มีพระภาคพึงเป็นผู้มีพระทัยยินดี คือ อันพวกเราพึงให้พอพระทัยด้วยสัมมาปฏิบัติบูชา

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ทุกท่านที่เกิดระลึกได้ในความผิดของตนเอง ก็มีโอกาสที่รู้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุเคราะห์เรื่องอะไร ทรงอนุเคราะห์เพื่อที่จะให้ทุกท่านมีสัมมาปฏิบัติ เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดการระลึกได้ก็เริ่มสัมมาปฏิบัติได้

    ข้อความต่อไปในพระไตรปิฎกมีว่า

    ครั้งนั้นแลพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครสาวัตถีตามพระอัธยาศัยแล้ว เสด็จไปทางพระนครเวสาลี เสด็จถึงพระนครเวสาลี แล้วประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้พระนครเวสาลี

    ซึ่งข้อความในอรรถกถายังได้กล่าวถึงข้อความอีกตอนหนึ่ง ที่ว่า

    ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้ประทับอยู่ในที่แห่งหนึ่ง พระองค์ย่อมไม่ทรงไม่ยินดีเพราะอาศัยความวิบัติแห่งร่มเงาและน้ำ หรือเสนาสนะอันไม่เป็นที่สบาย หรือความที่พวกมนุษย์ไม่มีศรัทธาเป็นต้น หรือแม้การประทับอยู่นาน ก็ด้วยทรงพระดำริว่า อยู่เป็นผาสุกเพราะความสมบูรณ์ก็ไม่มีแก่พระผู้มีพระภาคทั้งหลาย ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ที่ใด มนุษย์ทั้งหลายในที่นั้นตั้งอยู่ในสรณะ สมาทานศีล บรรพชา หรือบรรลุโสตาปัตติมรรคเป็นต้น พระองค์จึงประทับอยู่เพื่อให้มนุษย์เหล่านั้นตั้งอยู่ในสมบัติเหล่านั้น

    นี่เป็นเหตุผลที่ประทับในที่ต่างๆ ซึ่งเมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จไปจากสาวัตถี ก็เพราะเหตุว่าในกาลนั้นพระองค์ไม่มีพุทธกิจที่พระองค์จะพึงกระทำในพระนครสาวัตถี จึงได้เสด็จไปพระนครเวสาลี

    ข้อความต่อไปในพระไตรปิฎกมีว่า

    เมื่อพระผู้มีพระภาคประทับที่พระนครเวสาลีแล้ว ก็ทรงทราบด้วยพระทัยว่า ท่านพระยโสชะและภิกษุเหล่านั้นบรรลุพระอรหันต์แล้ว พระองค์ตรัสให้ท่านพระอานนท์ให้ภิกษุรูปหนึ่งไปหาท่านพระยโสชะและภิกษุเหล่านั้น จะให้บอกว่าพระผู้มีพระภาสั่งให้หาท่านทั้งหลาย ซึ่งท่านพระยโสชะและภิกษุเหล่านั้นก็ได้เข้ามาเฝ้าพระผู้มีพระภาคในขณะที่พระองค์ประทับนั่งอยู่ด้วยอเนญชสมาธิ คือ จตุตถฌานโดยจตุตถนัย ท่านพระยโสชะและภิกษุทั้งหลายก็นั่งอยู่ด้วยอเนญชสมาธิเช่นเดียวกับพระองค์ ตลอดปฐมยาม มัชฌิมยาม และปัจฉิมยาม

    เมื่อราตรีล่วงไปแล้ว อรุณขึ้นแล้ว ท่านพระอานนท์ก็ลุกจากอาสนะ กระทำผ้าอุตตราสงฆ์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประณมอัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีล่วงไปแล้ว ปัจฉิมยามผ่านไปแล้ว อรุณขึ้นแล้ว ราตรีรุ่งอรุณ ภิกษุอาคันตุกะทั้งหลายนั่งอยู่นานแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคทรงปราศรัยกับภิกษุอาคันตุกะทั้งหลายเถิด พระเจ้าข้า”

    คือไม่ทราบเลยว่า ท่านพระยโสชะและภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นบรรลุอรหันต์ และได้ฌานสมาบัติ และไม่ว่าพระผู้มีพระภาคจะประทับนั่งด้วยสมาบัติใด ภิกษุเหล่านั้นก็อยู่ด้วยสมาบัตินั้น ตลอดตั้งแต่ปฐมยาม มัชฌิมยาม และปัจฉิมยาม

    ครั้งนั้นแลพระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากสมาธินั้น แล้วตรัสกับท่านพระอานนท์ว่า “ดูกรอานนท์ ถ้าเธอพึงรู้ไซร้ ความแจ่มแจ้งแม้มีประมาณเท่านี้ก็ไม่พึงปรากฏแก่เธอ ดูกรอานนท์ เราและภิกษุ ๕๐๐ เหล่านี้ทั้งหมด นั่งแล้วด้วยอเนญชสมาบัติ”

    ลำดับนั้นแลพระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นแล้ว

    ภิกษุใดชนะหนาม คือ กาม ชนะการด่า การฆ่า และการจองจำได้แล้ว ภิกษุนั้นมั่นคงไม่หวั่นไหวดุจภูเขา ภิกษุนั้นย่อมไม่หวั่นไหวเพราะสุขและทุกข์

    เกิดมาทั้งชาติ ทุกชาติๆ หวั่นไหวมากเหลือเกินในเรื่องสุขและทุกข์ จนกว่าจะถึงวาระที่ไม่หวั่นไหวในสุขและทุกข์ ก็ลองคิดดูว่า เมื่อไรจะถึงอย่างนั้น ถ้าไม่ได้อบรมเจริญปัญญาจริงๆ

    แต่เห็นได้ว่า ถ้ายังเป็นผู้ที่ประมาทในเรื่องของกรรมแม้เล็กๆ น้อยๆ ถ้ากรรมนั้นให้ผล ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ว่า แม้เป็นภิกษุพหูสูต แล้วมีบริวาร มีลาภสักการะ ก็ยังเกิดในนรก แล้วก็เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน มีข้อสงสัยไหมในเรื่องนี้

    สำหรับเรื่องของกิจที่ ๑ คือ ปฏิสนธิกิจ ถ้าจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้ฟังก็คือว่า เตือนให้ระลึกถึงปฏิสนธิจิตข้างหน้าที่จะเกิด

    สำหรับปฏิสนธิจิตทั้งหมดในทั่วจักรวาลทุกจักรวาลไม่ว่าที่ไหนทั้งสิ้น จะมีเพียง ๑๙ ประเภทเท่านั้น คือ เป็นกามาวจรปฏิสนธิ ๑๐ ประเภท หรือ ๑๐ ดวง เป็นรูปาวจรปฏิสนธิ ๕ ดวง เป็นอรูปาวจรปฏิสนธิ ๔ ดวง

    สำหรับกามาวจรปฏิสนธิ คือการเกิดในกามภูมิ ซึ่งทั้งหมดมี ๑๑ ภูมิ ได้แก่ อบายภูมิ ภูมิที่ไม่เจริญ ไม่สามารถจะอบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ ๔ ภูมิ และเป็นกามสุข ๗ ภูมิ คือ เป็นมนุษย์ ๑ ภูมิ และสวรรค์ ๖ ภูมิ

    สำหรับรูปาวจรภูมิซึ่งจิตที่จะเกิดในที่นั้นได้ ก็จะต้องเป็นผู้ที่ได้รูปฌาน จะต้องทำสมาธิด้วยจิตที่เป็นกุศล จนกระทั่งลักษณะของความสงบปรากฏเป็นขั้นๆ ตั้งแต่ขั้นปฐมฌาน ฌานที่ ๒ ทุติยฌาน ฌานที่ ๒ ตติยฌาน ฌานที่ ๓ จตุตถฌาน ฌานที่ ๔ ปัญจมฌาน ฌานที่ ๕ โดยปัญจกนัย ซึ่งเข้าใจว่าในสมัยนี้ทุกท่านก็คงจะหมดโอกาสที่จะเกิดเป็นรูปพรหมบุคคลในรูปพรหมภูมิ เพราะเหตุว่าโดยทั่วไปแล้วกุศลที่ทำกันอยู่ก็เป็นไปในขั้นของทาน ในขั้นของศีล ในขั้นของการเจริญความสงบในชีวิตประจำวัน และในการอบรมเจริญสติปัฏฐาน

    เพราะฉะนั้นผู้ที่เข้าใจหนทางปฏิบัติที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท ย่อมจะไม่เป็นผู้ที่พากเพียรที่จะให้จิตสงบโดยสมถภาวนาจนกระทั่งถึงขั้นฌานจิต เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ โดยสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    และสำหรับอรูปาวจรปฏิสนธิจิต ๔ ดวง ก็เป็นจิตที่ทำกิจปฏิสนธิในอรูปพรหมบุคคล นี่ก็ยิ่งเป็นพรหมชั้นสูง ยิ่งกว่าพรหมที่มีรูป เพราะเหตุว่าเป็นผู้ที่เห็นโทษของรูป เพราะรู้ว่าการกระทำอกุศลกรรมทั้งหลายจะสำเร็จลงไปได้ทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง เพราะฉะนั้นเมื่อเห็นโทษอย่างนั้น ก็เห็นว่ารูปาวจรจิตหรือรูปฌานจิตนั้นก็ยังใกล้กับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้นก็พยายามจะให้จิตสงบระงับโดยที่ไม่มีรูปเป็นอารมณ์ จนกระทั่งบรรลุถึงอรูปฌานกุศล ซึ่งถ้าฌานนั้นไม่เสื่อมก็จะทำให้ปฏิสนธิเป็นอรูปพรหมบุคคล

    สำหรับปฏิสนธิจิต ๑๙ ดวง เป็นกามภูมิ ๑๐ ดวง เป็นกามาวจรภูมิ ๕ ดวง เป็นอรูปาวจรภูมิ ๔ ดวง เพราะฉะนั้นปฏิสนธิของทุกท่านที่ไม่ได้ฌานจิต ก็จะไม่พ้นจากการเกิดในกามภูมิ ๑๑ ภูมิ จิตที่จะปฏิสนธิในกามภูมิ ๑๑ ภูมิ มีทั้งหมด ๑๐ ดวง ในจิต ๑๐ ดวงเป็นกามาวจรปฏิสนธิอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก ๑ ดวง เป็นผลของอกุศลกรรม ไม่ว่าจะเป็นกรรมเล็กน้อย กรรมใหญ่ กรรมทางกาย กรรมทางวาจาที่เป็นอกุศล อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม เวลาที่ให้ผลก็จะทำให้อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก ทำกิจปฏิสนธิในอบายภูมิ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 25
    24 ก.พ. 2565

    ซีดีแนะนำ