จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 051


    เพราะเหตุว่าความเห็นผิดเป็นอันตรายอย่างใหญ่ ซึ่งไม่ทำให้บุคคลนั้นพ้นจากความเห็นผิดนั้นได้ ไม่สามารถที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ตราบใดที่ยังมีความเห็นผิดอยู่

    7819 ที่ชื่อว่า มิจฉาปโถ - ทางผิด

    ที่ชื่อว่า มิจฺฉาปโถ ทางผิด เพราะไม่ใช่ทางตามที่เป็นจริง เหมือนอย่างว่า ทางอันคนหลงทิศ แม้ยึดถือว่า นี้เป็นทางแห่งบ้านชื่อโน้น ดังนี้ ก็ย่อมไม่ทำให้เขาถึงบ้านนั้นได้ ฉันใด ทิฏฐิ อันคนเจ้าทิฏฐิ แม้ถือว่า เป็นทางสุคติ ก็ไม่ทำให้เขาถึงสุคติได้ เหมือนฉันนั้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า “มิจฺฉาปโถ” แปลว่า ทางผิด เพราะไม่ใช่หนทางตามที่เป็นจริง

    เรื่องของการอบรมเจริญปัญญานี้ จะเห็นได้ว่า ทางไหนเป็นทางที่ถูก และทางไหนเป็นทางที่ผิด

    7820 การถวายที่ดินสร้างสำนัก

    ผู้ฟัง เรื่องของทิฏฐิ ในพุทธศาสนาถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะส่วนใหญ่ผู้ที่มีทิฏฐิอย่างแรงกลา ชาวโลกเขาถือว่า เขามีปัญญา ส่วนใหญ่อาจารย์ใหญ่ๆ ทุกวันนี้ มีความเห็นผิด มีข้อปฏิบัติผิด เสร็จแล้วก็ทำให้ท่านดังได้ มีเยอะ โดยเฉพาะอีกอย่างหนึ่ง บุคคลส่วนใหญ่นี้เชื่อตามอาจารย์แล้วเห็นความเลื่อมใส ก็เลยถวายที่ดินให้สร้างสำนักปฏิบัติ ก็การถวายที่ดินให้สร้างสำนักปฏิบัติ เป็นกุศลให้ไปสวรรค์ได้ ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ผลของอะไรคะ

    ผู้ฟัง ผลของทาน

    ท่านอาจารย์ ผลของทาน แต่ไม่ใช่ผลของความเห็นผิด

    ผู้ฟัง อันนี้ผลของทานที่จะเกิดขึ้นได้ ก็เกิดมาจากความเห็นผิดเป็นปัจจัย ก็บอกว่า ผู้ที่จะพ้นทุกข์ได้ ต้องเข้าสำนักปฏิบัติ ถ้าไม่เข้าสำนักปฏิบัติแล้วพ้นทุกข์ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเขาจึงให้ที่ดินสร้างสำนักปฏิบัติ เพราะฉะนั้นการให้ที่ดินสร้างสำนักปฏิบัติก็เกิดจากปัจจัย คือ ความเห็นอันนั้น

    ท่านอาจารย์ ถ้าจุดประสงค์ คือ การให้เพื่อตั้งสำนักปฏิบัติที่ไม่ถูก ขณะนั้นไม่ใช่กุศลค่ะ ไม่จัดว่าเป็นทาน ทานหมายความถึงการช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้ที่ควรสงเคราะห์ ผู้ที่กำลังทุกข์ยากเดือดร้อน หรือผู้ที่กำลังต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด และผู้ที่มีจิตเมตตาอนุเคราะห์สงเคราะห์ให้บุคคลนั้นได้รับสิ่งที่เป็นประโยชน์

    ผู้ฟัง จะเป็นประโยชน์ หรือไม่เป็นประโยชน์ก็แล้วแต่ แต่วัตถุเขาก็สละให้นี่ครับ ที่ดิน บางทีเป็นแสน เป็นล้าน เขาก็ให้กับบุคคลอื่นทั่วๆ ไป เป็นสาธารณะ เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นการให้นี่ครับ

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่เจตนาของผู้ให้ค่ะว่า ให้เพื่ออะไร

    ผู้ฟัง ก็ให้เพื่อสร้างสำนักปฏิบัติไงครับ

    ท่านอาจารย์ สร้างสำนักปฏิบัติ เพื่อให้การปฏิบัติผิดเจริญงอกงามขึ้น ขณะนั้นไม่ใช่กุศลแน่

    ผู้ฟัง แต่ขณะที่ให้ ขณะนั้นเป็นกุศล ได้ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ อันนี้เป็นเรื่องที่ยาก และละเอียดนะคะ เพราะบางท่านอยากจะถวายบางอย่างแก่สงฆ์ เพราะเหตุว่าท่านเป็นผู้มีทรัพย์สิน มีทุกสิ่งทุกประการ ซึ่งท่านก็ไม่อยากจะเก็บไว้เป็นสมบัติส่วนตัวของท่าน เพราะเหตุว่าก็มากมายเหลือใช้ ถ้าได้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นก็จะเป็นการดี ก็มีจิตคิดที่จะสละ ถ้าในขณะนั้นไม่มีเจตนามุ่งที่จะให้บุคคลอื่นประพฤติปฏิบัติผิด แต่มุ่งที่จะให้เป็นสถานที่สำหรับการศึกษา หรือการปฏิบัติธรรม และหวังว่าจะเป็นที่ๆ มีการปฏิบัติถูก ขณะนั้นก็เป็นกุศลนะคะ แต่ไม่ใช่เพราะเหตุว่ากำลังมีความเห็นผิด มุ่งที่จะส่งเสริมข้อปฏิบัติที่ผิด ถ้าในขณะนั้นแล้วละก็ไม่ใช่กุศล

    เรื่องของความเห็นผิด เป็นเรื่องซึ่งถ้าได้มีการฟัง และพิจารณาเหตุผลที่ถูก ก็ยังสามารถที่จะคลาย หรือละความเห็นผิดนั้นได้ เพราะฉะนั้นในบรรดาท่านที่เคยปฏิบัติผิด หรือเห็นผิดมาแล้ว เวลาที่ได้ฟังพระธรรมจากพระผู้มีพระภาค ท่านเป็นผู้ที่เกิดการพิจารณาถูกต้องขึ้นขณะใด มีความเห็นถูกเกิดขึ้นขณะใด ท่านก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ถ้าท่านได้มีการอบรมเหตุที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม

    เพราะฉะนั้นอย่าหมดหวัง หรืออย่าประมาทบุคคลอื่นซึ่งกำลังมีความเห็นผิด แต่ต้องเป็นผู้ที่มีความอดทนที่จะเกื้อกูลด้วยความเห็นที่ถูก ที่จะให้บุคคลนั้นพิจารณา ถ้าเขายังไม่พิจารณา ก็ไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลง หรือกลับความคิดเห็นของเขาได้ แต่ใครจะรู้ว่า วันไหนอาจจะเกิดสนใจ แล้วก็ฟังด้วยดี แล้วพิจารณา จนความเห็นถูกเกิดขึ้นได้ แต่ถ้ามุ่งที่จะส่งเสริมความเห็นผิด ขณะนั้นก็ไม่ใช่กุศล

    7821 ทิฏฐิในชีวิตประจำวัน

    ผู้ฟัง พระผู้มีพระภาคทรงแสดงทิฏฐิไว้ จำแนกออกเป็น ๖๒ ประการ ส่วนใหญ่ในพระไตรปิฎกก็กล่าวว่า เห็นว่าเที่ยง ก็เป็นทิฏฐิ เห็นว่าสูญ ก็เป็นทิฏฐิ เห็นว่ากายก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น ชีพก็อันนั้น พยัญชนะต่างๆ มากมายเหลือเกิน อ่านแล้วไม่ค่อยเข้าใจ แล้วก็บอกว่า บางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง บางทีก็ตรงกัน สังขารขันธ์ทั้งหลายไม่เที่ยง นิพพานเที่ยง อย่างนี้ก็ยังเป็นทิฏฐิอีก ขอให้อาจารย์อธิบายขยายความทิฏฐิทั้ง ๖๒ ประการให้หน่อย

    ท่านอาจารย์ ถ้าท่านผู้ฟังคิดว่า เป็นเรื่องที่เข้าใจยาก ก็พักไว้ก่อน คงจะเข้าใจตลอดหมดทุกสิ่งทุกประการคงไม่ได้ แต่สามารถที่จะเข้าใจทิฏฐิ คือ ความเห็นผิด ซึ่งเกิดขึ้น ในชีวิตประจำวันของท่านเอง หรือผู้ที่ใกล้ชิด หรือของมิตรสหายได้ ประโยชน์คืออะไรคะ เพื่อเกื้อกูลอนุเคราะห์ ถ้าสามารถจะกระทำได้ ที่จะให้เขาเกิดความเห็นถูกขึ้น อย่างท่านผู้ฟังที่เป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐานตอนกลางวัน ท่านก็บอกว่า พอตอนกลางคืน ท่านอยากจะทำสมาธิ ในขณะนั้นสติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน อาจจะเป็นการตรึกนึกคิดวุ่นวายเรื่องอื่นๆ เพราะเหตุว่ายามว่างจากธุรกิจการงาน ท่านก็อาจจะมีปัจจัยที่จะให้นึกถึงอดีตบ้าง อนาคตบ้าง เรื่องบุคคลนั้นบ้าง เรื่องบุคคลนี้บ้าง ทำให้มีความรู้สึกว่า อยากจะทำสมาธิ

    เพราะฉะนั้นในขณะนั้นทราบได้ว่า ไม่ใช่การอบรมเจริญสติปัฏฐาน อะไรทำให้ต้องการที่จะทำสมาธิ โลภมูลจิตค่ะ เกิดขึ้น จึงมีความพอใจ มีความต้องการสิ่งอื่น ที่ไม่ใช่การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามเหตุตามปัจจัย ตามความเป็นจริงในขณะนั้น

    7822 อกุศลบางครั้งรุนแรง

    ทุกท่านมีอกุศลค่ะ แล้วอกุศลบางครั้งก็รุนแรง จนกระทั่งทำให้รู้สึกว่า กระสับกระส่าย เดือดร้อนใจ แต่เป็นความจริง เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น ด้วยความเข้มแข็งที่มั่นคงต่อการที่จะศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัยในขณะนั้นว่า ไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้น มีอาการ มีลักษณะปรากฏอย่างนั้น เพื่อที่ปัญญาจะรู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เราในขณะนั้น ขณะนั้นจึงจะเป็นหนทางที่จะทำให้รู้ทั่วในลักษณะของสภาพธรรมแต่ละประเภท ซึ่งไม่ใช่ตัวตนจริงๆ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยลักษณะต่างๆ ในสังสารวัฏ จนกว่าจะถึงขณะที่โสตาปัตติมรรคจิตจะเกิดขึ้น รู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่ถ้าคิดที่จะหลบหลีกทันที คือ จะทำสมาธิ ในขณะนั้นก็ทราบได้ว่า ไม่ใช่กุศลจิต เพราะไม่ใช่สติปัฏฐาน แต่เป็นความต้องการชนิดหนึ่ง ซึ่งต้องการที่จะให้สมาธิเกิดขึ้น ไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

    7823 ถ้าไม่รู้ความจริงในชีวิตประจำวัน

    เพราะฉะนั้นกว่าจะถึงการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้จริงๆ ว่า ทางตาเดี๋ยวนี้เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง เพื่อที่จะรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงธาตุรู้ อาการรู้ กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นโลกสว่าง สำหรับคนที่มีจักขุปสาท เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป ไม่ใช่ในขณะที่ได้ยินเสียง ซึ่งเป็นลักษณะที่ดัง เป็นลักษณะสภาพธรรมอีกชนิดหนึ่ง ถ้าไม่รู้ความจริงในชีวิตประจำวันในขณะนี้เอง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็ยังไม่มีทางที่จะถึงความเป็นพระอริยบุคคลที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะเหตุว่าโลภะยังชักชวนที่จะให้ทำสิ่งอื่น ซึ่งไม่ใช่การระลึกรู้ทันที มีความอาจหาญ ร่าเริง ที่จะรู้ว่า แม้ลักษณะของโลภะซึ่งรุนแรง หรือโทสะซึ่งรุนแรงในขณะนั้น ก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    7824 สติปัฏฐาน กับ การไปนั่งสมาธิ

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นทิฏฐิ ความเห็นผิดของตนเองได้ในชีวิตประจำวันว่า ขณะใดเป็นความเห็นผิด ขณะใดเป็นความเห็นถูก เพราะเหตุว่าบางท่านกล่าวว่า ชีวิตของท่านมี ๒ อย่าง คือ การอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติอย่างหนึ่ง และการนั่งสมาธิอีกอย่างหนึ่ง ทำไมต้องสองอย่างล่ะคะ ทำไมไม่ใช่อย่างเดียว อะไรทำให้ต้องเป็นสอง แทนที่จะเป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นก็ยังมีทางที่จะติดอยู่ แล้วถ้าไม่รู้ว่า ขณะนั้นไม่เป็นประโยชน์เลย เพราะเหตุว่าถึงแม้ว่าจะไปนั่งสมาธิ ก็ไม่อาจที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริงได้ แต่จะมีความพอใจ เพราะเหตุว่ามีความรู้สึกว่า มีนามธรรม และรูปธรรมปรากฏให้รู้ชัด ไม่ว่าจะเย็นในขณะนั้น ก็รู้ หรือไม่ว่าจะคิดนึก หรือไม่ว่าจะมีกลิ่นปรากฏ มีเสียงปรากฏ ก็ดูเสมือนว่า เป็นความรู้ชัด แต่ถ้าไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ทำขึ้นด้วยความต้องการ แต่เป็นสภาพธรรมที่เกิดแล้วในขณะนี้ กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง ถ้าไม่รู้อย่างนี้ ก็ไม่มีทางที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้ แล้วก็ยังมีความพอใจที่จะทำสมาธิ เพราะคิดว่าในขณะนั้นสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมชัด แต่อย่าลืมว่า ไม่ใช่อารมณ์ชัด แต่ต้องเป็นปัญญาที่รู้ชัดในลักษณะของอารมณ์ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ จึงจะชื่อว่า รู้ชัด ไม่ใช่คอยไปเงียบๆ แล้วสิ่งใดเกิดปรากฏก็ว่าชัด แต่ในขณะนี้เอง ที่ชัด คือ ปัญญาสามารถรู้สิ่งที่กำลังปรากฏเพราะเกิดขึ้นแล้ว ตามเหตุ ตามปัจจัย ตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้นก็จะทราบได้ว่า หนทางไหนเป็นหนทางที่ถูก และหนทางไหนเป็นหนทางที่จะต้องอาจหาญร่าเริง เข้มแข็ง ที่จะไม่ติด เพราะการอบรมเจริญสติปัฏฐาน อย่าลืมนะคะ เพื่อละ เพราะฉะนั้นขณะใดที่รู้สึกว่าติด ขณะนั้นไม่ใช่การละ เมื่อไม่ใช่การละ จึงไม่ใช่หนทาง และการละต้องเป็นการละด้วยปัญญา ที่เกิดขึ้นพิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จึงจะละได้

    7825 เสียงมีลักษณะดัง

    ท่านอาจารย์ มีข้อสงสัยอะไรบ้างไหมคะ เชิญค่ะ

    ทุกท่านจะต้องเป็นผู้ที่ตรงนะคะ คือ พิจารณาเหตุผล และลักษณะของสภาพธรรมเพื่อที่จะได้รู้ว่า ความเห็นอย่างไรเป็นความเห็นผิด และความเห็นอย่างไรเป็นความเห็นถูก ซึ่งเป็นสภาพธรรมของการศึกษา และการพิจารณาธรรม

    ผู้ฟัง ที่ว่าสภาพดังเป็นเสียง ถ้าเรามีสติเกิดขึ้น เสียงต่างๆ ที่มากระทบหูก็เป็นสภาพดังทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเสียงอะไรก็ตาม เสียงที่อาจารย์บรรยายธรรม มันก็เป็นเสียงดัง แล้วเราจะเอาอะไรมาเข้าใจธรรมที่ท่านอาจารย์บรรยายล่ะครับ ถ้ารู้ว่าเป็นแต่เพียงเสียงๆ เท่านั้น

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรม คือ เสียง เพราะเหตุว่ามีลักษณะดัง จึงเป็นชื่อ หรือเป็นนาม คือ เป็นคำ ถ้าไม่มีเสียง คือ สภาพธรรมที่ดัง จะไม่มีคำใดๆ และไม่มีชื่อใดๆ เลย ไม่สามารถที่จะเข้าใจอะไรได้เลย ถ้าปราศจากเสียง ถ้ามีการเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา มีการจำหมายลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา มีการรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตานั้น ใช้สำหรับทำอะไร สำหรับรับประทาน หรือใช้รับประทานไม่ได้ บริโภคไม่ได้ นั่นเป็นการจำหมายทางตา แต่ไม่มีเสียง ไม่มีคำ ที่จะใช้สำหรับเรียก หรืออธิบายให้เข้าใจ แม้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง คือ จิต หรือเจตสิก หรือรูป ถ้าไม่มีเสียง ไม่มีคำ ไม่มีชื่อ ไม่มีการสามารถที่จะอธิบายอรรถ คือ ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างได้

    เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่มีจริง คือ ดัง ซึ่งก็เป็นเสียงนั่นเอง เป็นสิ่งซึ่งสามารถจะใช้อธิบายให้เกิดความเข้าใจในสิ่งที่ปรากฏซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เสียงนั่นเอง คือ ชื่อ หรือคำที่จะให้เข้าใจในอรรถของสภาพธรรม นั่งกันอยู่เฉยๆ ไม่พูดอะไรสักคำ ทำอย่างไรจึงจะเข้าใจเรื่องของสติ หรือว่าเรื่องของสัมมาทิฏฐิ หรือว่าเรื่องของมิจฉาทิฏฐิ หรือเรื่องของจิต เจตสิก รูป เรื่องของสภาพธรรมได้ ไม่มีทางใช่ไหมคะ

    เพราะฉะนั้นลักษณะที่ “ดัง” นี้เป็นชื่อได้ เป็นคำได้ สำหรับให้เข้าใจความหมาย

    7826 จะละว่าเราได้อย่างไร

    ได้ยิน มีใช่ไหมคะ ถูกไหมคะ ได้ยินมี เราไม่มี ไม่ได้หมายความว่า ได้ยินไม่มี ได้ยินมี แต่เราไม่มี เห็นมี แต่เราไม่มี เข้าใจมี แต่เราไม่มี เข้าใจก็เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ได้ยินก็เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง เห็นก็เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง นี่คือสัมมาทิฏฐิ ถ้าความเห็นใดย้อน หรือแย้งกับสภาพธรรมตามความเป็นจริง นั่นคือ มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด ถ้าคิดว่าเรามี ผิด หรือถูก ผิด

    นี่แหละค่ะ คือ ประโยชน์ของการที่จะพิจารณาสภาพธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ และทรงแสดง เพื่อให้เกิดสัมมาทิฏฐิ ความเข้าใจถูก เพราะเหตุว่าถ้าไม่ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ และทรงแสดง จะไม่มีใครสามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงว่า เป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    7827 ตามสภาพธรรม เราไม่มี

    ผู้ฟัง คำว่า “เรา” มี แต่ตามสภาพธรรมต่างๆ เราก็ไม่มี ก็รู้อยู่ในอภิธรรม แต่ในพระสูตร บางครั้งพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสว่า อตฺตาหิ อตฺตาโน นาโถ ก็หมายความว่า เรามีซิครับ คือ ตนเป็นที่พึ่งของตน ตนก็คือเรา เราก็คือตน อันนี้มันก็น่าคิดอยู่

    ท่านอาจารย์ ถ้าพระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ตถาคต” เป็นยังไงคะ

    ผู้ฟัง ก็หมายถึงพระองค์

    ท่านอาจารย์ ก็หมายถึงพระองค์ แต่เป็นอนัตตา ใช่ไหมคะ

    ผู้ฟัง ใช่ครับ

    ท่านอาจารย์ เช่นเดียวกันค่ะ แต่ละบุคคลก็คือขันธ์ ๕ มีจิต เจตสิก รูป เกิดดับ แต่แทนที่จะบอกว่า ขันธ์ ๕ ที่อยู่ทางซ้าย หรือขันธ์ ๕ ที่อยู่ข้างหลัง ขันธ์ ๕ ที่อยู่ทางโน้น ก็เป็นการยุ่งยาก

    7828 จะเจริญสติขณะนั้นได้ หรือไม่

    ผู้ฟัง กระผมขอถามเข้าไปอีก เมื่อกี้ท่านผู้ฟังถามว่า ขณะที่เราจะรู้เสียง ก็หมายความว่า เสียงมีสภาพดัง ในเมื่อสภาพดังนั้นก็แฝงความหมายอยู่ เช่นอาจารย์กล่าวว่า โลภมูลจิต ๘ ขณะที่เสียงดังแฝงมาพร้อมทั้งความหมาย เราฟังแล้วก็รู้เรื่องว่า หมายถึงอกุศลจิต ในเมื่อขณะนั้นเสียงก็มี รู้เรื่องก็มี สิ่งที่กระทบก็มี ในเมื่อเราจะเจริญสติ พิจารณาในขณะนั้นได้ หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ได้ ก็ไม่มีพระอริยบุคคลค่ะ

    ผู้ฟัง ก็รู้อยู่ครับว่าได้แน่ แต่ว่าขณะที่สติเกิดแล้ว เมื่อรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เมื่อเสียงกระทบ ขณะใดที่มีความรู้สึกตัว และมีสัมปชัญญะ ขณะนั้นก็รู้เรื่อง เมื่อรู้เรื่อง ก็รู้เสียงบ้าง รู้สภาพที่ได้ยินบ้าง เสร็จแล้วก็จบไปเท่านั้น แต่ว่าอาจารย์มักจะพูดบ่อยๆ ว่าให้พิจารณาๆ ขณะนั้นพิจารณาแล้ว หรือยังครับ

    ท่านอาจารย์ พิจารณาแล้วก็ดับไป ยังไม่พอ ก็ต้องพิจารณาอีก

    ผู้ฟัง คือ ขณะที่อาจารย์กล่าวว่า โลภมูลจิต ๘ เราก็รู้ว่าความหมายของคำว่า โลภมูลจิตคืออะไร ขณะนั้นก็รู้ว่าเป็นเพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง เสร็จแล้วก็ดับไป ขณะนั้นชื่อว่า พิจารณาแล้ว หรือยังครับ

    ท่านอาจารย์ ใครจะตอบได้ นอกจากสติปัฏฐานของผู้นั้นเอง ไม่อย่างนั้นคนอื่นก็สามารถจะมีอภิญญาจิต รู้ว่าจิตของบุคคลนั้นกำลังพิจารณาแค่ไหน อย่างไร แต่ตามความเป็นจริง บุคคลที่สติเกิด เป็นผู้ที่จะรู้ว่า พิจารณา หรือน้อมไปที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมบ้าง หรือยัง แล้วเริ่มรู้ขึ้นบ้าง หรือยัง ขณะไหนพอที่จะรู้ ขณะไหนก็ไม่รู้ไปเสียอีกแล้ว ตามปกติ ตามความเป็นจริงค่ะ

    7829 หนทางเดียว

    ท่านผู้ฟังคอยเมื่อไรจะเป็นพระอริยบุคคล เมื่อไรสภาพธรรมจะปรากฏชัด แต่ก็มีหนทางเดียวค่ะ คือ สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมด้วยความอดทน ที่จะพิจารณาจนกว่าสภาพธรรมนั้นจะปรากฏทางมโนทวาร

    ก็ไม่ต้องไปคิดเป็นห่วงนะคะ ระลึกไปเรื่อยๆ พิจารณาไปเรื่อยๆ ความรู้ค่อยๆ เกิดทีละเล็กทีละน้อย แล้วต้องมีความอดทน

    7830 อย่ายึดถือข้อปฏิบัติที่ผิด

    ข้อสำคัญคืออย่าเห็นผิด อย่ายึดถือข้อปฏิบัติที่ผิด ต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ด้วยการพิจารณาว่า ธรรมใดเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ และทรงแสดง ไม่ใช่เลื่อมใสโดยง่าย หรือว่าเชื่อทุกคนที่พูดถึงเรื่องของการปฏิบัติธรรม แต่จะต้องพิจารณาในเหตุผล เพื่อที่จะได้ไม่เห็นผิด และไม่ปฏิบัติผิด

    7831 ลักษณะของมิจฉาทิฏฐิ

    ถึงแม้ว่าทิฏฐิที่มีปรากฏในชีวิตประจำวัน จะมีลักษณะต่างๆ ลักษณะของมิจฉาทิฏฐิซึ่งเป็นอกุศลเจตสิก คือ

    อโยนิโส อภินิเวส ลกฺขณา มีความยึดมั่นโดยอุบายอันไม่แยบคาย เป็นลักษณะ

    ปรามาส รสา มีความยึดถือไปด้านอื่น ล่วงเลยธรรมโดยสภาวะ เป็นรสะ

    มิจฺฉาภินิเวส ปจฺจุปฏฺฐานา มีความยึดมั่นอย่างผิดๆ เป็นปัจจุปัฏฐาน

    อริยานํ อทสฺสนกามตาทิ ปทฏฺฐานา มีการไม่อยากเห็นพระอริยะทั้งหลาย เป็นต้น เป็นปทัฏฐาน

    พึงเห็นว่าเป็นโทษอย่างยิ่ง

    7832 มิจฉาทิฏฐิ [1]

    ท่านผู้ฟังควรจะพิจารณาลักษณะของมิจฉาทิฏฐิที่ว่า

    อโยนิโส อภินิเวส ลกฺขณา มีความยึดมั่นโดยอุบายอันไม่แยบคาย เป็นลักษณะ

    ถ้าไม่ฟังแล้วไม่พิจารณาจริงๆ หรือไม่พิจารณาให้ถูกขณะใด ขณะนั้นก็เป็นลักษณะของความเห็นผิด

    7833 มิจฉาทิฏฐิ [2]

    ปรามาส รสา มีความยึดถือไปด้านอื่น ล่วงเลยธรรมโดยสภาวะ เป็นรสะ คือเป็นกิจ

    ถ้าใครประพฤติปฏิบัติหนทางที่ไม่ใช่การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามปกติ ตามความเป็นจริง ให้ทราบว่า นั่นเป็นกิจของมิจฉาทิฏฐิ ที่มีความยึดถือไปด้านอื่น ล่วงเลยธรรมโดยสภาวะ เป็นรสะ ทำให้ลูบคลำข้อประพฤติปฏิบัติที่ผิด

    7834 มิจฉาทิฏฐิ [3]

    มิจฺฉาภินิเวส ปจฺจุปฏฺฐานา มีความยึดมั่นอย่างผิดๆ เป็นปัจจุปัฏฐาน คืออาการที่ปรากฏ ทำให้ทราบว่า ใครยังมีความเห็นอยู่ ใครยังประพฤติปฏิบัติผิดอยู่ และใครยังยึดมั่นในข้อประพฤติปฏิบัติที่ยังผิดอยู่ นั่นก็เป็น อาการที่ปรากฏของมิจฉาทิฏฐิ

    7835 มิจฉาทิฏฐิ [4]

    อริยานํ อทสฺสนกามตาทิ ปทฏฺฐานา มีการไม่อยากเห็นพระอริยะทั้งหลาย เป็นต้น เป็นปทัฏฐาน คือเป็นเหตุใกล้ให้เกิด

    ผู้ฟัง อันนี้มันก็น่าคิด ถ้าพุทธบริษัททั้งหลายที่จะไม่อยากเห็นพระอริยบุคคล ผมเชื่อเหลือเกินว่า ไม่มี

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าไม่มีใครไม่อยากเห็นใช่ไหมคะ แล้วจะรู้ได้อย่างไรคะว่า ที่เห็นนั้นน่ะเป็นพระอริยะ หรือเปล่า คนที่เห็นนั่นน่ะ เป็นพระอริยะ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็น หรือไม่เป็น เราไม่รู้ครับ แต่อยากเห็นน่ะต้องอยากเห็นแน่ ที่จะบอกว่า ไม่อยากเห็นพระอริยเจ้านั้น ไม่มีแน่

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นความเห็นผิด เช่น พวกเดียรถีย์ปริพาชก เห็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า อยากเห็น หรือไม่อยากเห็นคะ

    ผู้ฟัง พวกนั้นอาจจะไม่อยากเห็นก็มี เกี่ยวกับลาภ

    ท่านอาจารย์ พวกนั้นคือพวกไหน

    ผู้ฟัง พวกอัญญเดียรถีย์ในครั้งพุทธกาล

    ท่านอาจารย์ ก็คือพวกเห็นผิดในครั้งนั้นอย่างไร ในครั้งนี้ก็ย่อมอย่างนี้นะคะ เพราะฉะนั้นการที่จะได้เห็นพระอริยบุคคล ควรที่จะได้ทราบว่า จะเห็นได้ไหม และจะเห็นได้อย่างไร และคนที่กำลังถูกเห็นอยู่นั้นน่ะ เป็นพระอริยะ หรือเปล่า จะรู้ได้อย่างไร

    ที่ว่าอยากเห็น ก็ต้องมีเหตุผลที่ว่า จะเห็นได้อย่างไร ไม่ใช่ว่าเห็นแล้วก็เชื่อว่า นี่เป็นพระอริยะ โดยไม่มีเหตุผล ถ้ามีคนบอกว่า พระอรหันต์กำลังเดินมา ก็เชื่อว่านั่นเป็นพระอรหันต์กำลังเดินมา นั่นไม่ใช่เหตุผลค่ะ เหมือนอย่างพวกเดียรถีย์ ถึงแม้ว่าพระผู้มีพระภาคจะเสด็จมา พวกนั้นก็ไม่ได้เชื่อว่า พระผู้มีพระภาคเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    เพราะฉะนั้นวิธีที่จะเห็นพระอริยบุคคลแท้ๆ ก็ต้องมีนะคะ ด้วยปัญญา ไม่ใช่เพียงด้วยการฟังตามแล้วก็เชื่อทันทีว่า พระอรหันต์กำลังมา หรือบุคคลนั้นบุคคลนี้เป็นพระอริยบุคคล

    เพราะฉะนั้นนี่เป็นการพิสูจน์ใจจริงว่า ต้องการเห็นพระอริยบุคคล หรือเปล่า ถ้ายังยึดถือข้อประพฤติปฏิบัติผิด จะยังชื่อว่า ต้องการเห็นพระอริยะไหม แต่ถ้าพิจารณาเหตุผลในข้อปฏิบัติอย่างรอบคอบ อย่างละเอียด อย่างถี่ถ้วน ไม่ใช่ผู้เชื่อง่าย หรือว่าเพียงฟังก็เชื่อ แต่ว่ามีเหตุผลที่จะพิจารณาว่า การที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยบุคคลได้นั้น อบรมเจริญปัญญาอย่างไร ถ้ารู้เหตุจริงๆ ที่จะทำให้บุคคลสามารถที่จะเป็นพระอริยบุคคลได้ มีความเข้าใจในเหตุที่จะทำให้เป็นพระอริยบุคคลถูกต้อง ผู้นั้นก็มีโอกาสที่จะเห็นพระอริยบุคคลด้วยปัญญา แต่ถ้าไม่พิจารณาเหตุที่จะทำให้เป็นพระอริยบุคคลว่า อบรมเจริญอย่างไรจึงจะเป็นพระอริยบุคคล ก็จะไม่มีโอกาสเห็นพระอริยบุคคล ซึ่งก็แสดงว่า บุคคลนั้นไม่ได้มีความปรารถนาจริงๆ ที่จะได้พบพระอริยบุคคล เพราะเป็นผู้ที่เชื่อง่าย เชื่อเสียแล้ว โดยที่ไม่พิจารณาเหตุที่จะทำให้เป็นพระอริยบุคคล


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 19
    20 ธ.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ