จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 086


    ซึ่งแต่ละท่านอาจจะเข้าใจว่าโลภะเป็นตัวท่าน แต่ความจริงไม่ใช่เลย โดยธาตุ เป็นธาตุแต่ละอย่าง แต่ละชนิด ที่อาศัยเหตุปัจจัยต่างๆ เกิดขึ้น

    เมื่อโลภมูลจิตมีบ่อย เป็นไปทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจมากมายเหลือเกินในวันหนึ่งๆ ก็ควรที่จะทราบว่า มีเจตสิกอะไรบ้างที่เกิดร่วมกับโลภมูลจิต

    ดังที่ได้ทราบแล้วว่า เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ประเภท หรือ ๕๒ ชนิด เป็น อัญญสมานาเจตสิก ๑๓ เป็นอกุศลเจตสิก ๑๔ และเป็นโสภณเจตสิก ๒๕

    อัญญสมานาเจตสิก คือ เจตสิกซึ่งสามารถเกิดกับจิตโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นกุศล หรืออกุศล หรือวิบาก หรือกิริยา

    อกุศลเจตสิก เป็นเจตสิกซึ่งเกิดได้เฉพาะกับอกุศลจิตเท่านั้น จะเกิดกับ วิบากจิต กิริยาจิตไม่ได้เลย

    สำหรับโสภณเจตสิก ๒๕ ไม่ได้ใช้คำว่า กุศลเจตสิก ๒๕ แต่ใช้คำว่า โสภณเจตสิก ๒๕ ซึ่งหมายความถึงเจตสิกฝ่ายดี เกิดได้ทั้งจิตที่เป็นกุศล หรือ กุศลวิบาก หรือกิริยาจิตที่เป็นโสภณะ

    อัญญสมานาเจตสิก ๑๓ ดวง หรือ ๑๓ ประเภทนั้น เป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ดวง และเป็นปกิณณกเจตสิก ๖ ดวง

    สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ได้แก่ ผัสสเจตสิก ๑ เวทนาเจตสิก ๑ สัญญาเจตสิก ๑ เจตนาเจตสิก ๑ เอกัคคตาเจตสิก ๑ ชีวิตินทริยเจตสิก ๑ มนสิการเจตสิก ๑ ซึ่งต้องเกิดกับจิตทุกดวง

    ในขณะที่กำลังเห็น ไม่ใช่มีแต่จิต แต่มีสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ดวงนี้ เกิดร่วมด้วย ใครจะรู้หรือไม่รู้ถึงเหตุที่ทำให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นก็ตาม เจตสิกเหล่านี้ก็เป็นปัจจัยโดยเกิดพร้อมกัน เป็นสหชาตปัจจัยแก่จิต และเป็นสัมปยุตตปัจจัยด้วย เพราะเป็นนามธรรมที่รู้อารมณ์ เพราะฉะนั้น จิตอื่นๆ นอกจากจักขุวิญญาณ ย่อมต้องมีสัพพจิตตสาธารณเจตสิกด้วย โลภมูลจิตก็ดี โทสมูลจิตก็ดี โมหมูลจิตก็ดี จะขาดผัสสเจตสิก เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก เจตนาเจตสิก เอกัคคตาเจตสิก ชีวิตินทริยเจตสิก และมนสิการเจตสิกไม่ได้เลย

    บางท่านอาจจะคิดว่า ทำไมต้องรู้ถึงเจตสิกซึ่งเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก จิตก็เกิดขึ้นแล้วยับยั้งไม่ได้ มีปัจจัยเกิดขึ้นก็จริง ทำไมต้องรู้ถึงปัจจัยคือเจตสิก ๗ ดวงที่ทำให้เกิดจิตนั้นๆ ด้วย แต่ถ้ามีความรู้เพิ่มขึ้น ก็ยิ่งจะละคลายการยึดถือจิตว่า เป็นเรา หรือเป็นตัวตน ในขณะที่จิตเกิดขึ้นทำกิจต่างๆ ทางทวารต่างๆ

    สำหรับอกุศลสำคัญที่เป็นมูลเหตุ เป็นสมุทัยของทุกข์และสังสารวัฏฏ์ คือ โลภะ ซึ่งเกิดบ่อยเป็นประจำทุกภพชาติ ไม่จบสิ้น ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    เพียงทางตาอย่างเดียว มีวัตถุซึ่งเป็นที่พอใจของโลภะมากไหม ไม่ว่าจะเป็นในเสื้อผ้า เครื่องใช้ อาหาร เครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ ไม่ว่าจะเห็นอะไรทั้งหมด ดอกไม้ใบหญ้า ทุกอย่าง อาหารทุกชนิด เครื่องใช้ทุกชนิด ในรูปลักษณะต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่โลภะมีความพอใจ มีความติด โดยไม่จบสิ้น ไม่ว่าตั้งแต่ในอดีตอนันตชาติ จนกระทั่งถึงปัจจุบันชาติ และที่จะเกิดต่อไปอีก

    ไม่ว่าจะเป็นโลภมูลจิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล ของพระเจ้าพรหมทัต ของท่านวิสาขามิคารมาตา ของราชสีห์ ของสุนัขจิ้งจอก ของท่านพระเทวทัต หรือของใครๆ ก็ตามในอดีตที่ผ่านมาแล้วทั้งหมด และในอนาคตที่จะเกิดขึ้น ก็เป็นโลภมูลจิตดวงใดดวงหนึ่งในโลภมูลจิต ๘ ดวง

    สำหรับโลภมูลจิต ไม่ว่าจะมีมากมายทางทวารต่างๆ วิจิตรต่างๆ ตามกาลสมัย ซึ่งชาติหนึ่งๆ ก็ต้องมีสิ่งที่เป็นอารมณ์ของโลภะแตกต่างกันไปตามยุคตามสมัย แต่แม้กระนั้น เมื่อประมวลลักษณะของโลภมูลจิตทุกภพทุกชาติและทุกภูมิ จะมี โลภมูลจิต ๘ ประเภท คือ

    ดวงที่ ๑ โสมนัสสสหคตัง ทิฏฐิคตสัมปยุตตัง อสังขาริกัง

    เป็นโลภมูลจิตที่เป็น ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ คือ เกิดร่วมกับความเห็นผิด

    และเป็นโลภมูลจิตที่เป็น โสมนัสสสหคตัง คือ เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา

    และเป็นโลภมูลจิตที่เป็น อสังขาริกัง คือ มีกำลังกล้าด้วยตนเอง ไม่ต้องอาศัยการชักจูง

    นี่คือโลภมูลจิตดวงที่ ๑ เกิดร่วมกับความเห็นผิด เกิดร่วมกับโสมนัส คือ มีความยินดีพอใจอย่างยิ่งในความเห็นผิดนั้น และมีกำลังกล้า คือ เกิดขึ้นโดยที่ไม่ต้องอาศัยการชักจูง

    น่ากลัวไหม โลภมูลจิตดวงที่ ๑ ดวงนี้ บางคนอาจจะมีความเห็นผิด แต่เวทนาเป็นเพียงอุเบกขา คือ ไม่ถึงกับชื่นชมโสมนัสยินดีในความเห็นผิดนั้นอย่างมาก หรือบางคนก็ยังต้องอาศัยการชักจูงทีละเล็กทีละน้อยที่จะคล้อยไปตามความเห็นผิด ซึ่งจะค่อยๆ เกิดขึ้นเป็นไป แต่คนที่มีความเห็นผิดที่มีกำลังกล้าประกอบด้วยโสมนัสเวทนา ย่อมเป็นอันตรายมากน้อยตามประเภทของความเห็นผิดนั้นๆ และย่อมสามารถที่จะกั้นสวรรค์ก็ได้ หรือกั้นมรรคผลนิพพานก็ได้ ถ้าเป็นความเห็นผิดที่มีกำลัง

    ตัวอย่างเช่น ในขณะที่ปลาบปลื้มโสมนัสว่า ได้บรรลุธรรม แต่รู้ผิด ขณะนั้นก็เป็น โสมนัสสสหคตัง ทิฏฐิคตสัมปยุตตัง ถ้ามีกำลังกล้าก็เป็น อสังขาริกัง เพราะ บางท่านคิดเองว่า ในขณะนี้ท่านกำลังเจริญโพชฌงค์ เพียงท่านอ่านหรือผ่านหนังสือบางข้อความ ท่านก็เข้าใจว่าในขณะนี้ท่านกำลังเจริญโพชฌงค์อยู่ ซึ่งโพชฌงค์เป็นธรรมที่เป็นองค์ของการตรัสรู้อริยสัจ จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นพละ มีกำลัง ไม่หวั่นไหวที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติในชีวิตประจำวันทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ อยู่ดีๆ จะเจริญโพชฌงค์ทีเดียว เป็นไปไม่ได้

    ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพานทรงแสดงธรรมว่า สาวกบางท่านก็เจริญสติปัฏฐาน บางท่านเจริญอินทรีย์ บางท่านเจริญพละ บางท่านเจริญโพชฌงค์ ซึ่งแล้วแต่การสะสมของแต่ละท่านว่า ในขณะนั้นสาวกท่านนั้นๆ กำลังอบรมปัญญาในขั้นใด เพราะผู้ที่สามารถจะถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ย่อมต้องเป็นผู้ที่ประกอบด้วยโพชฌงค์ แต่สำหรับผู้ที่กำลังฟังและพิจารณา และสติเริ่มระลึก ขณะนั้นยังไม่ใช่ทั้ง สติพละ หรือว่าสติโพชฌงค์

    เพราะฉะนั้น การเป็นผู้ตรงที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ จึงสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้ มิฉะนั้นแล้ว ย่อมจะรู้ผิด และเข้าใจผิดได้

    ขณะที่โลภมูลจิตประเภท โสมนัสสสหคตัง ทิฏฐิคตสัมปยุตตัง อสังขาริกัง เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในอดีต หรือในอนาคต หรือในปัจจุบัน หรือกับบุคคลใดๆ ก็ตาม ภพภูมิไหนก็ตาม จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๙ ประเภท คือ อัญญสมานาเจตสิก ๑๓ และอกุศลเจตสิก ๖

    สำหรับอัญญสมานาเจตสิก ๑๓ ที่เกิดร่วมกับโลภมูลจิตดวงนี้ ได้แก่ ผัสสเจตสิก ๑ เวทนาเจตสิก ๑ สัญญาเจตสิก ๑ เจตนาเจตสิก ๑ เอกัคคตาเจตสิก ๑ ชีวิตินทริยเจตสิก ๑ มนสิการเจตสิก ๑ รวมเจตสิก ๗ ดวงนี้ ชื่อว่า สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ต้องเกิดกับจิตทุกดวง ไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทใดทั้งสิ้น จะขาดสัพพจิตตสาธารณะ ๗ นี้ไม่ได้

    อัญญสมานาเจตสิกที่เหลืออีก ๖ เป็นปกิณณกเจตสิก ได้แก่ เจตสิกที่เกิดกับจิตบางดวง เว้นไม่เกิดกับจิตบางดวง สำหรับโลภมูลจิตดวงที่ ๑ นี้ ปกิณณกเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย มีวิตกเจตสิก เพราะวิตกเจตสิกไม่เกิดกับทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ และทุติยฌานขึ้นไปเท่านั้น มีวิจารเจตสิก เพราะตามปกติเมื่อวิตกเจตสิกเกิด วิจารเจตสิกก็เกิดพร้อมกันเสมอ เว้นวิจารเจตสิกที่เกิดในทุติยฌาน ไม่มีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ถ้าพูดถึงจิตที่เป็นกามาวจรจิต คือ ไม่ใช่ฌานจิต ไม่ใช่จิตที่เจริญความสงบถึงขั้นอัปปนาสมาธิ วิตกเจตสิกและวิจารเจตสิกจะเกิดพร้อมกันทุกครั้งนอกจากนั้น มีอธิโมกขเจตสิก วิริยเจตสิก และเนื่องจากประกอบด้วยโสมนัสเวทนา จึงมีปีติเจตสิกเกิดร่วมด้วย สุดท้าย คือ ฉันทเจตสิก รวมเป็นปกิณณกเจตสิก ๖ ดวง ที่เกิดกับโลภมูลจิตดวงที่ ๑ นี้

    เพราะฉะนั้น อัญญสมานาเจตสิกเกิดร่วมกับจิตดวงนี้ทั้ง ๑๓ ดวง คือ ผัสสเจตสิก เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก เจตนาเจตสิก เอกัคคตาเจตสิก ชีวิตินทริยเจตสิก มนสิการเจตสิก วิตกเจตสิก วิจารเจตสิก อธิโมกขเจตสิก วิริยเจตสิก ปีติเจตสิก และฉันทเจตสิก

    ถ้าไม่รู้ ก็ผ่านไป ทุกขณะที่โลภมูลจิตเกิด ไม่มีใครรู้ถึงความละเอียดเลยว่า จะมีอัญญสมานาเจตสิกทั้ง ๑๓ ดวงเกิดร่วมด้วยกับโลภะที่เกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนา

    นอกจากนั้น ต้องมีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย อกุศลเจตสิกทั้งหมดมี ๑๔ ดวง แต่อกุศลเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิตดวงนี้ มีเพียง ๖ ดวง คือ โมจตุกะ ๔ ได้แก่ โมหเจตสิก ๑ อหิริกเจตสิก ๑ อโนตตัปปเจตสิก ๑ อุทธัจจเจตสิก ๑

    อกุศลเจตสิก ๔ ดวงนี้ ต้องเกิดกับอกุศลจิตทุกประเภท และที่เรียกว่า โมจตุกะ ก็เพราะกลุ่มของเจตสิก ๔ ดวงนี้มีโมหเจตสิกเป็นหัวหน้า

    อกุศลเจตสิกอีก ๒ ดวงที่เกิดกับโลภมูลจิตดวงที่ ๑ นี้ คือ โลภเจตสิก ๑ และทิฏฐิเจตสิก ๑ รวมเป็นเจตสิกทั้งหมด ๑๙ ดวง หรือ ๑๙ ประเภท

    ไม่มากเท่าไรใช่ไหม ๑๙ ดวง ถ้าเป็นฝ่ายกุศล เจตสิกฝ่ายดีต้องเกิดมากกว่านี้ จึงมีกำลังที่จะเปลี่ยนจากอกุศลเป็นกุศลได้

    อัญญสมานาเจตสิก เกิดกับกุศลจิตก็ได้ อกุศลจิตก็ได้ วิบากจิตก็ได้ กิริยาจิตก็ได้ แต่อกุศลเจตสิก ต้องเกิดกับอกุศลจิตเท่านั้น

    สำหรับจิตประเภทโลภะ นอกจากโมจตุกะ ๔ ก็มีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วยแน่นอน จึงเป็นโลภมูลจิต และขณะใดที่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นเป็น ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ แต่ขณะใดที่ทิฏฐิเจตสิกไม่ได้เกิดร่วมด้วย ขณะนั้นจะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๘ ดวง คือ เว้นทิฏฐิเจตสิก

    ขณะใดที่ไม่ได้เป็นไปกับความเห็นผิด แต่เกิดพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะตามปกติ ขณะนั้นมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๘ ดวง คือ อัญญสมานาเจตสิกทั้ง ๑๓ ดวง และอกุศลเจตสิก ๕ ดวง ไม่มีทิฏฐิเจตสิก

    สำหรับเจตสิกที่จะเกิดกับโลภมูลจิต มีอีก ๑ ดวง คือ มานะเจตสิก

    จะขอกล่าวถึงโลภมูลจิตทีละดวง

    วิธีจำชื่อของจิตไม่ยาก คือ จิตทุกดวงต้องประกอบด้วยเวทนาเจตสิก เพราะฉะนั้น จะใช้เวทนากับสหคตัง หมายความว่า จิตดวงนั้นเกิดพร้อมกับเวทนานั้น เช่น โลภมูลจิตดวงที่ ๑ เกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนาก็เป็น โสมนัสสสหคตัง เกิดร่วมกับความเห็นผิดก็เป็น ทิฏฐิคตสัมปยุตตัง เป็นจิตที่มีกำลังกล้า ไม่ได้อาศัยการชักจูง ก็เป็น อสังขาริกัง

    สำหรับโลภมูลจิตที่แสดงไว้ใน อัฏฐสาลินี ข้อความใน จิตตุปปาทกัณฑ์ กถาแสดงธัมมุทเทสวาระ ในอกุศลบท พระบาลีอกุศลจิตดวงที่ ๑ มีข้อความว่า

    ธรรมเป็นอกุศล เป็นไฉน

    ธรรมที่เป็นอกุศล ไม่ใช่เฉพาะจิต เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็เป็นอกุศลธรรมด้วย เพราะฉะนั้น จึงมีคำถามว่า ธรรมเป็นอกุศล เป็นไฉน

    อกุศลจิตสหรคตด้วยโสมนัส สัมปยุตต์ด้วยทิฏฐิ มีรูปเป็นอารมณ์ หรือมีเสียงเป็นอารมณ์ มีกลิ่นเป็นอารมณ์ มีรสเป็นอารมณ์ มีโผฏฐัพพะเป็นอารมณ์ มีธรรมเป็นอารมณ์ หรือปรารภอารมณ์ใดๆ เกิดขึ้นในสมัยใด ย่อมเกิดผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา จิต วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตาแห่งจิต วิริยินทรีย์ สมาธินทรีย์ มนินทรีย์ โสมนัสสินทรีย์ ชีวิตินทรีย์ มิจฉาทิฏฐิ มิจฉาสังกัปปะ มิจฉาวายามะ มิจฉาสมาธิ วิริยพละ สมาธิพละ อหิริกพละ อโนตตัปปพละ สมถะ ปัคคาหะ อวิกเขปะ ในสมัยนั้น ก็หรือย่อมเกิดนามธรรมที่อิงอาศัยเกิดขึ้นแม้อื่นใด ในสมัยนั้น สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธรรมเป็นอกุศล

    จะเห็นว่า ไม่ได้กล่าวถึงเจตสิก ๔ ดวง นี่เป็นเรื่องที่จะพิจารณาสิ่งที่มีปรากฏในอรรถกถาถึงเหตุผลว่า เพราะเหตุใด

    จะเห็นได้ว่า โลภมูลจิตดวงที่ ๑ โสมนัสสสหคตัง ทิฏฐิคตสัมปยุตตัง อสังขาริกัง ที่กล่าวว่ามีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๙ ดวง แต่ในอัฏฐสาลินีได้กล่าวถึงทั้งผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา จิต วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตาแห่งจิต วิริยินทรีย์ สมาธินทรีย์ มนินทรีย์ โสมนัสสินทรีย์ ชีวิตินทรีย์ มิจฉาทิฏฐิ มิจฉาสังกัปปะ มิจฉาวายามะ มิจฉาสมาธิ วิริยพละ สมาธิพละ อหิริกพละ อโนตตัปปพละ สมถะ ปัคคาหะ อวิกเขปะ มากมายใช่ไหม แสดงให้เห็นว่า โลภมูลจิตจะมีกำลังเพิ่มขึ้นๆ เพราะขณะที่มีรูปเป็นอารมณ์ มีความเห็นผิดได้ไหม ลองคิดดู

    บางคนบอกว่า เห็นเทวดา ผิดหรือถูก เห็นหรือเปล่า เข้าใจว่าสิ่งที่เห็นเป็นเทวดา หรือบางทีก็สนทนากับเทวดา แต่ผู้ที่จะเห็นเทพ ธรรมดาจะเห็นได้อย่างไร ถ้าไม่ใช่จักขุทิพย์ หรือถ้าไม่ใช่เป็นเพราะเทพนั้นเนรมิตรูปหยาบให้เห็นเพียงบางกาล แต่ไม่ใช่ว่าจะเห็นได้บ่อยๆ ตามใจที่ต้องการจะเห็น หรือไม่ใช่ว่าจะสนทนากับเทพเป็นเรื่องเป็นราวทุกวันไป ไม่ใช่อย่างนั้น

    เพราะฉะนั้น ถ้ามีความรู้สึกว่ากำลังสนทนากับเทพ ถูกหรือผิด ขณะนั้นก็เป็นมิจฉาทิฏฐิได้ เป็นความเห็นผิดได้ หรือว่ามีกลิ่นเป็นอารมณ์ ก็เข้าใจว่าอาจจะเป็นกลิ่นเทพก็ได้ จริงหรือเปล่า ก็เป็นเรื่องซึ่งตามเหตุตามปัจจัย มีรสเป็นอารมณ์ บางท่านไปที่บางสำนัก ทุกคนต้องนั่งหลับตา เพราะประเดี๋ยวเทพจะมาหยอดยาให้ ทุกคนต้องนั่งอ้าปาก ขณะนั้นจะมีรสปรากฏ และก็เข้าใจว่าเป็นยาวิเศษ เป็นความเห็นถูก หรือเป็นความเห็นผิด ทำไมต้องหลับตา

    นี่เป็นสิ่งซึ่งความเห็นผิดย่อมมีได้ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางกายกระทบสัมผัสแล้ว มีความเห็นผิดได้ไหม เช่น แตะสิ่งนี้แล้วจะ หายโรค อาจจะมีวัตถุซึ่งเข้าใจว่าเป็นวัตถุศักดิ์สิทธิ์บางอย่างซึ่งเพียงแตะก็สามารถจะหายโรคได้ แต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยทั้งสิ้น ถ้าจะหายโรค ก็เพราะโรคบางอย่างไม่รักษาก็หาย โรคบางอย่างต้องรักษาจึงหาย โรคบางอย่างไม่รักษา ไม่หาย เพราะฉะนั้น ความเห็นผิดย่อมเกิดได้โดยง่าย ถ้ามีการสะสมมาที่จะเห็นผิด

    ผู้ฟัง บางสำนัก หรือบางวัดที่เคยไปศึกษา สมัยก่อนงมงายมาก สร้างเหรียญบ้าง สร้างรูปเหมือนบ้าง ยังเคยถามว่า ทำไมอาจารย์ไม่บอกเขาไปตรงๆ ว่า ต้องการเงินสร้างโบสถ์จำนวนเท่าไร ท่านบอกว่า ปกติถ้าบอกขอเงินมาทำบุญ เขาไม่ทำหรอก แต่ถ้ามีเหรียญหลวงพ่อดังๆ เท่าไรเท่ากัน แบบนี้เท่ากับพระรูปนั้นหรือสำนักนั้น ยุยงส่งเสริมให้คนหลงผิดงมงาย ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าให้เห็นถูก คือ ให้เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง นั่นคือให้เข้าใจถูก เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ใช่เพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็ต้องผิด

    ผู้ฟัง ยังไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ถ้าสำนักใดทำให้เข้าใจสภาพธรรมถูกต้องตามความเป็นจริง ทำให้บุคคลที่ได้รับฟังธรรมมีปัญญา มีความเห็นถูก นั่นคือถูก แต่ถ้าไม่ทำให้เข้าใจ สภาพธรรมตามความเป็นจริง นั่นคือผิด

    ผู้ฟัง ท่านบอกว่า ไม่ทำวิธีนี้ก็ไม่ได้เงิน

    ท่านอาจารย์ ความเข้าใจธรรมอยู่ที่ไหน ถ้าทำให้เข้าใจธรรมได้ นั่นคือถูก แต่ถ้าไม่ทำให้เข้าใจธรรม ก็ไม่เป็นประโยชน์อะไร เพราะทุกท่านที่เป็นพุทธบริษัท ศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจธรรม และประพฤติปฏิบัติธรรมด้วย ไม่ใช่เพียงเพื่อเข้าใจอย่างเดียว

    ผู้ฟัง จะกล่าวได้ไหมว่า คนที่ถูกหลอกลวงก็เพราะตนเองทำอกุศลกรรมมา จึงต้องได้รับผลเช่นนั้น

    ท่านอาจารย์ ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ไม่มีใครสามารถจะไปบอกคนที่กำลังเห็นผิดว่า อย่างนี้ผิดและเขาจะเชื่อ เพราะเขากำลังเห็นผิด คนที่กำลังเห็นผิด และมีความโน้มเอียงที่จะเห็นผิดต่อไป ยากเหลือเกินที่จะให้เขาเข้าใจว่า เขากำลังเห็นผิด แม้ว่าจะอาศัยพระธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้มากโดยประการทั้งปวง แต่เขาก็ยังพอใจที่จะคิดอย่างนั้น เข้าใจอย่างนั้น ประพฤติปฏิบัติอย่างนั้น รู้ผิดๆ อย่างนั้น เพราะธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เมื่อสะสมความเห็นผิดมามาก ย่อมไวต่อการที่จะเห็นผิด และย่อมพอใจที่จะยึดถือความเห็นผิดนั้นต่อไปอีก

    เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลจริงๆ ซึ่งจะต้องพิจารณา เพื่อตัวท่านเองที่จะไม่เป็นอย่างนั้น

    ขอกล่าวถึงมิจฉาสมาธิว่า ได้แก่ โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์นั่นเอง

    สำหรับความเห็นผิดก็มีมาก และก็มีโทษต่างๆ แม้แต่ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ก็ยังไม่สามารถที่จะแก้ความเห็นผิดของบุคคลซึ่งเป็นครูทั้ง ๖ และสาวกของครูทั้ง ๖ ได้ สำหรับครูทั้ง ๖ นี้ เคยกล่าวถึงบ้างแล้ว เพราะฉะนั้น จะไม่ขอกล่าวอีก

    ขอกล่าวถึงเรื่องของมิจฉาสมาธิ ซึ่งใน อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ พรรณนาอกุศลบทภาชนียะ อธิบายสมถะ ปัคคาหะ อวิกเขปะ กล่าวถึงอกุศลจิตดวงที่ ๑ มีข้อความว่า ธรรมเป็นอกุศล เป็นไฉน เริ่มตั้งแต่ อกุศลจิตสหรคตด้วยโสมนัส ตลอดไปจนถึง อหิริกพละ อโนตตัปปพละ สมถะ ปัคคาหะ อวิกเขปะ รวมเป็นธรรมที่เกิดกับอกุศลจิตดวงที่ ๑ และได้อธิบายคำว่า สมถะ ปัคคาหะ และ อวิกเขปะที่เกิดกับโลภมูลจิตซึ่งเป็นอกุศล มีข้อความว่า

    ชื่อว่าสมถะ เพราะระงับความฟุ้งซ่านในจิตอื่นๆ

    หมายความว่า ในขณะนั้นจิตไม่ส่ายไปสู่อารมณ์อื่น ก็เข้าใจว่าในขณะนั้นสงบ ที่ใช้คำว่า สมถะ

    ชื่อว่าปัคคาหะ ด้วยอรรถว่า ประคองจิตในการประพฤติอกุศล

    ถ้าเป็นความเห็นผิด การปฏิบัติผิด ผู้นั้นก็ประคองจิตให้อยู่ในอารมณ์ซึ่งไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อารมณ์ที่จะทำให้ปัญญาเจริญ เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นคิดว่าเป็นสมถะ ชื่อว่าสมถะ ชื่อว่าปัคคาหะ ด้วยอรรถว่า ประคองจิตในการประพฤติอกุศล

    ชื่อว่าอวิกเขปะ ด้วยอรรถว่า ไม่ฟุ้งซ่าน

    ที่จริงแล้ว อุทธัจจะเกิดขึ้นในขณะนั้น แต่เพราะไม่ส่ายไปสู่อารมณ์อื่นจึงมีลักษณะที่ว่า ไม่ฟุ้งซ่าน

    ในจิตดวงนี้ไม่ได้ทรงถือเอาธรรมที่เป็นโสภณธรรมเหล่านี้ คือ ศรัทธา สติ ปัญญา และธรรม ๖ คู่ ได้แก่ โสภณเจตสิก ๖ คู่ คือ ปัสสัทธิ ลหุตา มุทุตา กัมมัญญตา ปาคุญญตา อุชุกตา

    แสดงให้เห็นว่า ที่เข้าใจว่าสงบ ที่เข้าใจว่าเป็นปัคคาหะและอวิกเขปะนั้น แท้จริงไม่มีศรัทธา สติ ปัญญา และโสภณธรรมเกิดร่วมด้วยเลย

    ถามว่า เพราะเหตุใดเล่า

    ตอบว่า


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 19
    23 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ