จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 068


    ทุกท่านต้องมีความขยันในเรื่องหนึ่งเรื่องใดในสิ่งซึ่งยาก แต่กำลังพยายามที่จะทำ ในขณะนั้นถ้าสติจะระลึกลักษณะของวิริยะ ย่อมได้ เพราะปรากฏให้รู้ได้

    แต่ถ้าขณะใดที่วิริยะไม่ปรากฏ เช่น ขณะนี้นั่ง และหลงลืมสติ และเกิดมี การเห็น การได้ยิน เกิดโลภะขึ้น หรือเกิดกุศลขึ้นอย่างหนึ่งอย่างใด วิริยเจตสิกก็ เกิดกับจิตนั้นแล้ว แต่เมื่อไม่ปรากฏให้สติระลึก สติก็ระลึกไม่ได้ สติจะระลึกได้ต่อเมื่อสภาพธรรมนั้นปรากฏ

    ในการที่จะเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรม ไม่ว่าจะโดยนัยของปัจจัย หรือว่าโดยนัยของการเจริญสติปัฏฐานก็ตาม ควรจะเข้าใจลักษณะของจิตในขั้นกามภูมิ คือ กามาวจรจิตให้ละเอียดขึ้น เพื่อที่จะเป็นปัจจัยเกื้อกูลให้สติระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ถูกต้อง

    ขณะนี้ทุกท่านอยู่ในภูมิมนุษย์ ซึ่งเป็นภูมิหนึ่งในกามภูมิ ๑๑ เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้พิจารณาศึกษาลักษณะสภาพของกามาวจรจิตเพิ่มขึ้น

    สำหรับกามาวจรจิต ขอทบทวนจำนวนและประเภทของจิตอีกครั้งหนึ่ง คือ กามาวจรจิต ๕๔ มี ๓ ประเภท คือ อกุศลจิต ๑๒ อเหตุกจิต ๑๘ และกามโสภณจิต ๒๔

    สำหรับชื่อของอกุศลจิตได้กล่าวบ่อยๆ แล้ว สำหรับอเหตุกจิตก็ได้กล่าวถึงแล้ว สำหรับกามโสภณจิต ๒๔ มี ๓ ประเภท คือ เป็นกามาวจรกุศล หรือที่เรียกว่า มหากุศล ๘ เป็นผลของมหากุศล คือ มหาวิบาก ๘ และเป็นจิตของพระอรหันต์ เป็นมหากิริยา ๘

    จะใช้คำว่า กามาวจรกุศล หรือมหากุศลก็ได้ เพราะจิตประเภทนี้เป็นจิตที่ดี ที่เป็นไปทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นไปทั้งในการอบรมเจริญความสงบของจิต เป็นไปทั้งในขณะที่กำลังอบรมเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นการอบรมเจริญปัญญา ด้วยเหตุนี้กามาวจรจิตที่เป็นโสภณะ ที่เป็นกุศล แทนที่จะใช้คำว่า กามาวจรกุศล จะใช้คำว่า มหากุศล ก็ได้

    สำหรับกามาวจรโสภณจิต ๒๔ มี ๘ ประเภท ที่เป็นมหากุศล คือ

    ประเภทที่ ๑ ชื่อว่า โสมนัสสสหคตัง ญาณสัมปยุตตัง อสังขาริกัง คือ มหากุศลที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ประกอบด้วยปัญญา มีกำลังกล้า เป็นอสังขาริก

    ประเภทที่ ๒ ชื่อว่า โสมนัสสสหคตัง ญาณสัมปยุตตัง สสังขาริกัง คือ มหากุศลที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ประกอบด้วยปัญญา แต่เกิดเพราะอาศัยการ ชักจูง เป็นสสังขาริก

    ประเภทที่ ๓ ชื่อว่า โสมนัสสสหคตัง ญาณวิปปยุตตัง อสังขาริกัง คือ มหากุศลที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ไม่ประกอบด้วยปัญญา แต่มีกำลังกล้าด้วยตนเอง เป็นอสังขาริก

    ประเภทที่ ๔ ชื่อว่า โสมนัสสสหคตัง ญาณวิปปยุตตัง สสังขาริกัง คือ มหากุศลที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ไม่ประกอบด้วยปัญญา และอาศัยการชักจูง เป็นสสังขาริก

    รวมเป็นมหากุศล ๔ ซึ่งเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา เกิดร่วมกับปัญญา ๒ อีก ๒ ไม่เกิดร่วมกับปัญญา และเป็นอสังขาริก คือ เกิดโดยไม่อาศัยการชักจูง ๒ เป็นสสังขาริก ๒

    สำหรับมหากุศลอีก ๔ เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา โดยนัยเดียวกัน คือ

    อุเปกขาสหคตัง ญาณสัมปยุตตัง อสังขาริกัง

    อุเปกขาสหคตัง ญาณสัมปยุตตัง สสังขาริกัง

    อุเปกขาสหคตัง ญาณวิปปยุตตัง อสังขาริกัง

    อุเปกขาสหคตัง ญาณวิปปยุตตัง สสังขาริกัง

    สำหรับมหาวิบาก ๘ และมหากิริยา ๘ ก็โดยนัยเดียวกันกับมหากุศล ๘

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเป็นจิตดวงไหน ควรจะทราบว่า จิตประเภทนั้นเกิดกับเวทนาใด เช่น โลภมูลจิต เวลาที่เกิดร่วมกับโสมนัส ก็เป็นโสมนัสสสหคตัง เวลาที่เกิดร่วมกับอุเบกขา ก็เป็นอุเปกขาสหคตัง เวลาที่เป็นโทสมูลจิต จะเกิดร่วมกับโสมนัสหรืออุเบกขาไม่ได้ ต้องเกิดร่วมกับโทมนัส เพราะฉะนั้น สำหรับโทสมูลจิตก็เป็นโทมนัสสสหคตัง เท่านั้นเอง

    สำหรับเวทนาที่เกิดกับจิตทุกดวง ควรจะทราบว่า จิตดวงไหนเกิดร่วมกับเวทนาใดได้ และเกิดร่วมกับเวทนาใดไม่ได้ คือ ใช้ชื่อของเวทนานั้นนำหน้า และตามด้วยคำว่า สหคตัง ซึ่งโดยนัยของเวทนา ๕ มีโสมนัสสสหคตังบ้าง อุเปกขาสหคตังบ้าง โทมนัสสสหคตังบ้าง ทุกขสหตังบ้าง หรือสุขสหคตังบ้าง

    นอกจากนั้น ถ้าจิตดวงนั้นมีเจตสิกใดที่เกิดร่วมด้วยแน่นอน ก็ใช้คำว่า สัมปยุตตัง เช่น สำหรับโลภมูลจิตเกิดร่วมกับทิฏฐิขณะใด ขณะนั้นเป็น ทิฏฐิคตสัมปยุตตัง ทางฝ่ายมหากุศลไม่มีมิจฉาทิฏฐิเกิดร่วมด้วย แต่จะเป็น ญาณสัมปยุตต์ หรือญาณวิปปยุตต์ เพราะว่ากุศลมี ๒ พวก คือ กุศลที่เกิดร่วมกับปัญญาพวกหนึ่ง และกุศลที่ไม่เกิดร่วมกับปัญญาอีกพวกหนึ่ง

    เรื่องของกามาวจรจิต โดยประเภท โดยชื่อ ได้กล่าวถึงแล้วทั้งหมด แต่มีปัญหามากมายหลายประการในเรื่องของจิตที่ได้ศึกษาไปแล้ว โดยเฉพาะเรื่องของ อเหตุกจิต ซึ่งเป็นจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ และถ้าจะเพียงกล่าวถึงประเภทของจิตว่า มีกี่ดวง กี่ประเภท ก็ไม่ทำให้เข้าใจได้ชัดเจนเท่ากับในชีวิตประจำวัน ซึ่งไม่พ้นไปจากกามาวจรจิต ๕๔ ประเภท ที่ได้กล่าวถึงแล้วว่า สำหรับผู้ที่เป็นปุถุชนมีกามาวจรจิต ไม่ครบ ๕๔ หรือแม้แต่ผู้ที่เป็นพระอรหันต์ ก็มีกามาวจรจิตไม่ครบ ๕๔

    ผู้ฟัง ผู้มีรูปร่างพิการแต่กำเนิด เป็นวิบากหรือไม่

    ท่านอาจารย์ เป็นผลของกรรม แต่ไม่ใช่วิบาก ต้องแยกว่า กรรมที่ได้กระทำแล้ว เป็นนามธรรม คือ เป็นเจตนาเจตสิก เมื่อได้กระทำกรรมนั้นสำเร็จลงไปแล้วเป็นปัจจัยให้สภาพธรรมประเภทเดียวกันเกิดขึ้นเป็นวิบาก

    เมื่อผู้กระทำกรรมเป็นนามธรรม วิบากที่เกิดขึ้นเป็นผลของกรรมนั้น ต้องเป็นนามธรรมด้วย เพราะฉะนั้น จิตและเจตสิกเป็นวิบาก

    แต่กรรมไม่ได้ทำให้เฉพาะจิตและเจตสิกที่เป็นวิบากเกิดเท่านั้น กรรมยังทำให้รูปเกิดขึ้นด้วย และเนื่องจากรูปไม่ใช่สภาพรู้อารมณ์ รูปจึงไม่ใช่วิบาก แต่รูปเป็น ผลของกรรม

    ถ้าเป็นผู้ที่เกิดมามีร่างกายพิกลพิการ ใครเห็น เมื่อศึกษาปรมัตถธรรมแล้ว ใครเห็นรูปร่างที่พิกลพิการนั้น

    ผู้ฟัง คนทั่วไปเห็น

    ท่านอาจารย์ จักขุวิญญาณเห็น เป็นวิบากจิต แล้วแต่ว่าจะเป็นจักขุวิญญาณเกิดขึ้นเมื่อไร ขณะไหน จะเป็นของใครก็ตามแต่ จะเป็นของบุคคลนั้นเอง หรือว่าจะเป็นบุคคลอื่นที่เห็น ก็เป็นจักขุวิญญาณ ซึ่งเป็นอกุศลวิบากที่เห็นสิ่งที่ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ

    ตัวรูปเองไม่ใช่วิบาก แต่รูปเป็นผลของกรรม ถ้ารูปใดเกิดขึ้นเป็นผลของ กุศลกรรม รูปนั้นก็เป็นรูปที่น่ายินดีพอใจ ถ้ารูปใดเป็นผลของอกุศลกรรม รูปนั้นก็เป็นรูปที่ไม่น่ายินดีพอใจ แต่เพราะรูปไม่เห็น รูปไม่ได้ยิน รูปไม่รู้อะไรเลย เพราะฉะนั้น รูปจึงไม่ใช่วิบาก แต่วิบากจิตของใครก็ตาม ขณะใดก็ตาม ที่กำลังเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ขณะนั้นเป็นวิบาก เป็นผลของกรรม

    เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาโดยละเอียด เพราะบางท่านอาจจะรู้สึกโทมนัสถ้ามีรูปที่พิกลพิการ หรือมีรูปที่ไม่งาม แต่ให้ทราบว่า ไม่มีบุคคลอื่นกระทำให้

    แต่ละภพ แต่ละชาติ บางภพบางชาติก็มีรูปงาม บางภพบางชาติก็มีรูปที่ ไม่น่าดู แม้แต่พระผู้มีพระภาคเองก็เคยเกิดเป็นบุรุษไม่งาม และถึงแม้เป็นผู้ที่มีรูปงาม ก็เป็นเพียงผลของกุศลกรรม แต่รูปนั้นไม่สามารถที่จะรู้อะไรได้

    เพราะฉะนั้น การศึกษาเรื่องของจิตโดยละเอียด จะทำให้ทราบว่า ขณะใดเป็นผลของกรรม เพียงแค่เห็น แต่เวลาที่รู้สึกโทมนัสหรือโสมนัส ขณะนั้นไม่ใช่ผลของกรรม ไม่ใช่วิบากจิต ต้องเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต จึงจะเป็นเหตุให้เกิดผลต่อไปข้างหน้า

    ผู้ฟัง เรื่องอเหตุกจิต ผู้ปฏิบัติจะทราบได้อย่างไร ขณะที่เห็นเดี๋ยวนี้ เช่น เห็นเก้าอี้เดี๋ยวนี้ เป็นอกุศลวิบาก หรือเป็นกุศลวิบาก

    ท่านอาจารย์ เรื่องศึกษาจากตำราเป็นเรื่องหนึ่ง และเรื่องที่รู้ด้วยปัญญาของตนเอง ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะฉะนั้น คำถามของท่านผู้ฟังแสดงว่า คงไม่มีใครสามารถจะรู้ได้แน่ว่า ในขณะที่เห็นสิ่งต่างๆ ขณะใดเป็นกุศลวิบาก ขณะใดเป็นอกุศลวิบาก เพราะโดยมากจะยึดถือชวนจิต คือ กุศลจิตหรืออกุศลจิตที่เกิดต่อจากที่เห็น

    วิบากจิตทางตา ได้แก่ จักขุวิญญาณ ๑ สัมปฏิจฉันนจิต ๑ สันตีรณจิต ๑ ซึ่งเกิดก่อนโวฏฐัพพนจิตและชวนจิต แต่เวลาที่เกิดความไม่พอใจ เป็นโทมนัส เป็นโทสมูลจิต ในขณะนั้นเป็นอกุศลจิต ไม่ใช่เป็นวิบากจิต

    เพราะฉะนั้น จะรู้ได้อย่างไรว่า จิตที่เห็น ก่อนที่จะเกิดความไม่พอใจนั้น เป็นวิบากประเภทใด ก็เป็นการยากที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะรู้ได้ แต่สำหรับการอบรม เจริญสติปัฏฐาน ปัญญาจะต้องค่อยๆ เกิด และรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน โดยน้อมศึกษาลักษณะที่เป็นนามธรรมเพื่อที่จะรู้ว่า ลักษณะนั้นไม่ใช่เราก่อน ไม่ใช่ว่าทรงแสดงไว้อย่างไรโดยละเอียดในพระอภิธรรม เวลาที่สติระลึกก็จะรู้ได้ทันทีว่า ขณะที่เห็นในขณะนี้เป็นกุศลวิบาก หรืออกุศลวิบาก แต่ก็พอที่จะประมาณได้จากสิ่งที่ปรากฏ

    ถ้าเป็นสิ่งที่สวยงามประณีตเป็นที่พอใจ ซึ่งส่วนใหญ่ทุกท่านก็ยินดีพอใจในสิ่งที่น่าดูทางตา ไม่ว่าสิ่งที่น่าดูนั้นจะเป็นเพชรนิลจินดา เป็นดอกไม้ เป็นเครื่องประดับอะไรต่างๆ ก็แล้วแต่ ซึ่งส่วนใหญ่ทุกคนมีความโน้มเอียงสะสมมาที่จะพอใจในสิ่งที่น่าดู เพราะฉะนั้น ถ้าขณะใดเกิดโสมนัส หรือว่าเกิดติด หรือว่าเกิดเพลิดเพลินยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ในขณะนั้นก็ พอจะอนุมานได้ว่า เป็นกุศลวิบาก เพราะได้รู้อารมณ์ที่น่ายินดีทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

    ผู้ฟัง ในครั้งพุทธกาลที่พวกอัญญเดียรถีย์ทั้งหลายเมื่อเห็นพระผู้มีพระภาคและเกิดความโกรธ ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ อย่างนั้นจะเป็นกุศลวิบากหรืออกุศลวิบาก

    ท่านอาจารย์ ท่านผู้ฟังจะพิจารณาได้ว่า พระรูปกายของพระผู้มีพระภาคเป็นผลของกุศลแน่นอน ทรงอบรมพระบารมีมามาก เพราะฉะนั้น มหาปุริสลักษณะก็เป็น อติอิฏฐารมณ์ ซึ่งไม่ใช่สาธารณะทั่วไปกับบุคคลอื่นๆ

    ข้อความในพระไตรปิฎกที่ได้กล่าวถึงพระฉวี คือ ผิวพรรณของพระผู้มีพระภาค เป็นผิวที่ละเอียดแม้ฝุ่นละอองก็ไม่จับ สีของพระฉวี คือ ผิวของพระองค์ ก็เป็นสีทอง ในบางครั้ง เช่น เมื่อทรงตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ หรือเมื่อเสด็จ ดับขันธปรินิพพาน พระฉวีของพระผู้มีพระภาคก็ยิ่งงามเปล่งปลั่งเป็นพิเศษ เหมือนกับผลพุทราสุก เพราะฉะนั้น ต้องเป็นอติอิฏฐารมณ์แน่นอน

    แต่แม้กระนั้น ผู้ที่สะสมความเห็นผิด แทนที่จะเกิดโสมนัสยินดีในผลของ กุศลกรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีมา กลับเกิดโทสมูลจิต ไม่พอใจ มีความโกรธ มีความขุ่นเคืองใจ ถ้าเทียบกับกามาวจรจิต ๕๔ จะเห็นได้ว่าในขณะที่พวกอัญญเดียรถีย์ คือ ผู้ที่มีความเห็นอย่างอื่นนอกพระพุทธศาสนา เมื่อได้เห็น พระผู้มีพระภาคทางตา หลังจากที่จักขุปสาทกระทบกับรูปารมณ์แล้ว ภวังคจลนะไหวดับไป ภวังคุปัจเฉทะเกิดต่อและดับ ปัญจทวาราวัชชนจิตซึ่งเป็นอเหตุกกิริยาจิต เกิดต่อและดับ จักขุวิญญาณกุศลวิบากเกิดต่อและดับ สัมปฏิจฉันนกุศลวิบากจิต เกิดต่อและดับ สันตีรณกุศลวิบากจิตเกิดต่อและดับ โวฏฐัพพนจิตซึ่งเป็น อเหตุกกิริยาจิตเกิดและดับ เพราะว่ามโนทวาราวัชชนจิตหรือโวฏฐัพพนจิตซึ่งทำโวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวาร เป็นชวนปฏิปาทกมนสิการ คือ มนสิการหรือกระทำทางให้ชวนจิตเกิดต่อ ถ้าเป็นโยนิโสมนสิการ จิตที่เกิดต่อก็เป็นมหากุศล แต่สำหรับ พวกอัญญเดียรถีย์ซึ่งได้สะสมอกุศลไว้มากในชาติก่อนๆ เพราะฉะนั้น โวฏฐัพพนจิตของอัญญเดียรถีย์ก็เป็นอโยนิโสมนสิการ กระทำทางให้อกุศลชวนะเกิดต่อ คือ โทสมูลจิต ๗ ขณะ

    ผู้ฟัง ถ้าพวกสุนัขเห็นคูถ หรือพวกแร้งเห็นหมาเน่า เกิดความดีใจชอบใจ ขณะที่สุนัขเห็นคูถก็ดี แร้งเห็นหมาเน่าก็ดี เป็นกุศลวิบากหรืออกุศลวิบาก

    ท่านอาจารย์ อกุศลวิบาก แต่อโยนิโสมนสิการ ทำให้โลภมูลจิตเกิดต่อจาก โวฏฐัพพนจิต

    ผู้ฟัง ถ้าพวกอัญญเดียรถีย์ได้ยินเสียงสวดมนต์ เกิดไม่พอใจ เป็นกุศลวิบากหรืออกุศลวิบาก

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นสมัยนี้ ไม่พูดถึงพวกอัญญเดียรถีย์ในสมัยก่อน จิตของท่านผู้ฟังเกิดดับสลับกันเร็วมาก เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้พิจารณาว่า เวลาที่ได้ยินเสียงอย่างนั้น จิตของแต่ละท่านเป็นอย่างไร ฉันใด ในกาลสมัยนี้ ในกาลสมัยก่อนก็เช่นเดียวกัน บางคนอาจจะเกิดกุศลจิต บางคนอาจจะเกิดอกุศลจิต

    ผู้ฟัง โสตวิญญาณเป็นกุศลวิบากหรือเป็นอกุศลวิบาก ในขณะที่ได้ยิน

    ท่านอาจารย์ เสียงดีไหม

    ผู้ฟัง ดี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จิตอะไรเกิดขึ้น ถ้าเสียงดี

    ผู้ฟัง หมายความว่า วิบากจิตขึ้นอยู่กับอารมณ์ที่ดีหรือไม่ดี

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น ถ้าเราได้กลิ่นจีวรที่เหม็นสาบ ฆานวิญญาณเป็นกุศลวิบากหรืออกุศลวิบาก

    ท่านอาจารย์ กลิ่น ต้องใส่ชื่อจีวรหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ก็เป็นกลิ่นจีวรแท้ๆ

    ท่านอาจารย์ แต่ลักษณะของกลิ่น ต้องมีชื่อไหมว่าเป็นกลิ่นอะไร

    ผู้ฟัง ลักษณะของกลิ่น ก็ไม่มีชื่อ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เพียงกลิ่นกระทบกับฆานปสาท ถ้าเป็นกลิ่นที่ไม่น่าพอใจ จิตที่เกิดก็เป็นฆานวิญญาณอกุศลวิบาก

    ผู้ฟัง ทำไมอกุศลจิต ๑๒ ให้วิบากเพียง ๗ แต่มหากุศล ๘ ให้วิบากถึง ๑๖

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าอารมณ์ทางฝ่ายกุศลที่ประณีตมีมาก

    ผู้ฟัง อกุศลวิบาก ๗ พูดว่าอกุศลวิบาก แต่กุศลวิบาก ทำไมต้องเติมคำว่า อเหตุกกุศลวิบาก

    ท่านอาจารย์ เพราะเวลาที่กุศลกรรมให้ผล ให้ผลทั้งที่เป็นอเหตุกกุศลวิบาก และ สเหตุกกุศลวิบาก เช่น กามโสภณะ ๒๔ เป็นมหากุศลจิต ๘ เป็นมหาวิบาก ๘ เป็นมหากิริยา ๘ มหาวิบากเป็นผลของมหากุศล เกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนา เกิดร่วมกับปัญญา และเป็นอสังขาริกก็ได้ หรือจะเป็นมหาวิบากดวงอื่นๆ ซึ่งจำนวนก็ตรงเท่ากับของมหากุศลทั้ง ๘ แต่นอกจากจะให้ผลเป็นมหาวิบาก ๘ แล้ว มหากุศลยังให้ผลเป็นอเหตุกกุศลวิบาก คือ เห็นสิ่งที่ดีทางตา ๑ ได้ยินเสียงที่ดีทางหู ๑ ได้กลิ่นที่ดีทางจมูก ๑ ลิ้มรสที่ดีทางลิ้น ๑ กระทบสัมผัสสิ่งที่ดีทางกาย ๑ สัมปฏิจฉันนจิต ๑ สันตีรณจิต ๒ มิฉะนั้น ขณะที่เห็นสิ่งที่ดีจะเป็นผลของกรรมอะไร ก็ต้องเป็นผลของมหากุศลนั่นเอง

    ผู้ฟัง ฆานวิญญาณ ๒ ชิวหาวิญญาณ ๒ กายวิญญาณ ๒ ไม่เกิดใน รูปพรหมภูมิ อรูปพรหมภูมิ และโลกุตตรภูมิ เพราะเหตุใด

    ท่านอาจารย์ ที่อบรมเจริญความสงบ ก็เพราะละความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แต่ที่รูปพรหมยังมีจักขุวิญญาณและโสตวิญญาณ ก็เพราะจักขุวิญญาณและโสตวิญญาณนั้นสามารถเกื้อกูลในการเจริญกุศล

    ผู้ฟัง อเหตุกจิต ๑๘ มีมโนธาตุ คือ สัมปฏิจฉันนจิต ๒ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ซึ่งเรียกว่า มโนธาตุ ๓ แต่สันตีรณจิต ๓ มโนทวาราวัชชนจิต ๑ หสิตุปปาทจิต ๑ เป็นมโนวิญญาณธาตุ มโนธาตุกับมโนวิญญาณธาตุต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าจะกล่าวโดยนัยของวิญญาณธาตุ คือ ธาตุรู้ จะเห็นได้ว่า จิตต่างกันไปถึง ๘๙ ประเภท เพราะฉะนั้น ถ้าจำแนกความต่างของวิญญาณธาตุออกเป็นประเภทใหญ่ๆ ก็จำแนกวิญญาณธาตุ คือ จิตทั้งหมด เป็นวิญญาณธาตุ ๗ ซึ่งท่านผู้ฟังอย่าคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว แม้แต่ในขณะนี้เองก็กำลังเป็นวิญญาณธาตุ ๗

    วิญญาณธาตุ ๗ ได้แก่

    จักขุวิญญาณธาตุ ที่กำลังเห็นทางตา เป็นเพียงวิญญาณธาตุเท่านั้น เป็นวิญญาณธาตุประเภทที่เห็นเท่านั้นเอง ไม่สามารถได้ยิน ไม่สามารถคิดนึก ไม่สามารถทำกิจอื่นได้เลย นามธรรมประเภทนี้เมื่ออาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นแล้ว เป็นวิญญาณธาตุประเภทหนึ่ง ชนิดหนึ่ง ซึ่งทำกิจเห็นกิจเดียว ไม่ว่าจะเป็นในภพภูมิไหนทั้งสิ้น จะเป็นที่ภูมิมนุษย์ หรือในสวรรค์ หรือในรูปพรหมภูมิ หรืออบายภูมิก็ตาม เมื่อจักขุวิญญาณธาตุเกิดขึ้นแล้ว เป็นธาตุเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ๑ ประเภท

    โสตวิญญาณธาตุ ก็เป็นวิญญาณธาตุ คือ เป็นนามธาตุ เป็นจิตประเภทหนึ่ง เมื่ออาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นแล้ว ก็เกิดขึ้นทำกิจได้ยิน จะทำกิจอื่นไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ขณะนี้ที่กำลังมีเสียงปรากฏ ให้ทราบว่าเป็นเพราะวิญญาณธาตุชนิดหนึ่งเกิดขึ้นกระทำกิจได้ยิน จะไม่ทำกิจอื่นเลย

    ฆานวิญญาณธาตุ ก็เป็นวิญญาณธาตุที่เกิดขึ้นได้กลิ่น

    ชิวหาวิญญาณธาตุ เป็นวิญญาณธาตุที่เกิดขึ้นลิ้มรส แม้ว่าจักขุวิญญาณธาตุจะเห็น ไม่มีทางลิ้มรสสิ่งที่ปรากฏ ทั้งๆ ที่รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นอาหารชนิดใด มีรสอย่างไร เนื่องจากเคยบริโภค เคยรับประทานแล้วก็จริง แต่จักขุวิญญาณธาตุไม่มีโอกาสที่จะลิ้มรสนั้นได้เลย เพราะสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมซึ่งกระทำกิจลิ้มรส คือ ชิวหาวิญญาณธาตุ เมื่อมีเหตุปัจจัยเกิดขึ้น


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 19
    20 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ