จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 079


    สำหรับจักขุวิญญาณอกุศลวิบาก ไม่มีปัญหา คือ ขณะใดก็ตามที่จิตเห็นเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นสภาพของจิตซึ่งเป็น อกุศลวิบาก เห็นสิ่งที่ไม่ดี ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ๕ ดวงนี้ไม่มีปัญหา กระทำกิจได้เฉพาะของๆ ตน คือ จักขุวิญญาณทำกิจเห็นได้อย่างเดียว ทำกิจอื่นไม่ได้ โสตวิญญาณทำกิจได้ยินอย่างเดียว ทำกิจอื่นไม่ได้ สำหรับสัมปฏิจฉันนจิต ซึ่งเป็นอกุศลวิบากเกิดต่อจากปัญจวิญญาณที่เป็นอกุศลวิบาก ก็เกิดขึ้นกระทำกิจเดียว คือ รับอารมณ์ต่อจากจักขุวิญญาณ หรือโสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ทำกิจอื่นไม่ได้เลย

    แต่สันตีรณจิต ทำปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ สันตีรณกิจ ตทาลัมพนกิจ และจุติกิจ ขณะปฏิสนธิไม่ใช่ขณะเห็น คนละขณะ แม้ว่าจักขุวิญญาณก็เป็นวิบากจิต ปฏิสนธิจิตก็เป็นวิบากจิต แต่ทำกิจต่างกัน สำหรับผลของอกุศลกรรมมีเพียง ๗ เท่านั้น ไม่มีมากกว่านั้นเลย และสำหรับจักขุวิญญาณก็ทำกิจเดียวคือทัสสนกิจ ตลอดไปจนกระทั่งไปถึงสัมปฏิจฉันนะ ก็ทำกิจเดียว แต่สันตีรณะเท่านั้นที่สามารถกระทำกิจได้ถึง ๕ กิจ

    ถ้าจะพิจารณาถึงเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตนั้นๆ จะเห็นได้ว่า เพราะเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตนั้นเพิ่มขึ้น ทำให้จิตนั้นสามารถกระทำกิจเพิ่มขึ้นได้ เช่น จักขุวิญญาณที่กำลังเห็นในขณะนี้ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ ประเภทเท่านั้น ซึ่งเจตสิกมีถึง ๕๒ ประเภท แต่เจตสิกที่เกิดกับจักขุวิญญาณ คือ จิตเห็น มีเพียง ๗ สำหรับ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ก็โดยนัยเดียวกัน จิต ๑๐ ดวงทางปัญจทวาร หรือที่ภาษาบาลีเรียกว่า ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวงนี้มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยน้อยที่สุด คือ เพียง ๗ เท่านั้น

    สำหรับสัมปฏิจฉันนะและสันตีรณะ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยมากกว่า ๗ เพิ่ม กำลังขึ้น โดยมีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย ซึ่งเมื่อได้กล่าวถึงเรื่องของปัจจัยต่างๆ มาตลอดจนกระทั่งถึงอินทริยปัจจัย เป็นปัจจัยที่ ๑๖ ก็ได้กล่าวถึงเรื่องของจิต เพราะถ้าไม่กล่าวถึงเรื่องของจิต ก็ไม่สามารถเข้าใจเรื่องของปัจจัยต่อไปได้ คือ ฌานปัจจัย ปัจจัยที่ ๑๗ และมรรคปัจจัย ปัจจัยที่ ๑๘

    เพราะฉะนั้น สำหรับสภาพธรรมที่เป็นฌานปัจจัย โดยองค์ธรรมได้แก่ วิตกเจตสิก ๑ วิจารเจตสิก ๑ ปีติเจตสิก ๑ โสมนัสเวทนา ๑ โทมนัสเวทนา ๑ อุเบกขาเวทนา ๑ และเอกัคคตาเจตสิก ๑ ซึ่งถ้ากล่าวโดยองค์ธรรม ได้แก่ เจตสิก ๕ ดวง แต่ถ้าแยกเป็นประเภทแล้วเป็น ๗ ที่เป็นฌานปัจจัย สำหรับเจตสิกซึ่งเป็น ฌานปัจจัย ได้แก่ วิตกเจตสิก เป็นสำคัญ

    เรื่องของสภาพธรรมเป็นเรื่องที่ยากแก่การที่จะประจักษ์แจ้งหรือเข้าใจโดยละเอียด แต่เป็นเรื่องซึ่งสามารถที่จะฟัง และพิจารณาในเหตุผล และพยายามที่จะเข้าใจในสภาพธรรมซึ่งเป็นที่อาศัยของผลที่เกิดขึ้น เพราะปัจจัยหมายความถึง สภาพธรรมซึ่งเป็นที่อาศัยของผลที่เกิดขึ้น ถ้าไม่มีสภาพธรรมนี้ ผลที่จะอาศัยเกิด ก็ไม่มีที่อาศัยเกิด แต่เพราะมีปัจจัยซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เป็นที่อาศัยของผล ผลนั้นจึงเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น จิตใดมีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตนั้นก็มีกำลังเพิ่มขึ้นจากการที่จะมีเพียงเจตสิก ๗ ด้วยเหตุนี้อุเบกขาสันตีรณะเมื่อประกอบด้วยวิตกเจตสิก จึงสามารถทำกิจปฏิสนธิได้ เพราะอกุศลวิบากมีเพียง ๗ ดวงเท่านั้น และเพิ่มกำลังขึ้นตามกิจหน้าที่ของจิตนั้นๆ ด้วย

    เมื่อได้ยินคำว่า ฌาน ไม่ควรเข้าใจว่า หมายถึงแต่เฉพาะรูปาวจรจิต และ อรูปาวจรจิต แต่ต้องหมายความถึงเจตสิกซึ่งเป็นฌานปัจจัยที่ตรึก จรด เพ่ง เผาอารมณ์

    ลักษณะของวิตกเจตสิกใครจะรู้ได้ เวลานี้ก็กำลังเกิดอยู่ เมื่อจักขุวิญญาณที่ประกอบด้วยเจตสิก ๗ ดวงดับไปแล้ว สัมปฏิจฉันนจิตเกิดต่อ สันตีรณจิตเกิดต่อ มีวิตกเจตสิกเกิดกับสัมปฏิจฉันนจิตและสันตีรณจิต แต่ลักษณะของวิตกเจตสิกไม่ได้ปรากฏเลย แต่เพราะเป็นสภาพที่จรดในอารมณ์ จึงมีกำลังที่จะเป็นปัจจัยในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ถ้าเป็นอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก ขณะนั้นก็ประกอบด้วย วิตกเจตสิกซึ่งจรดในอารมณ์ที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นในขณะนั้น มิฉะนั้นแล้วจะให้จิต ดวงไหนทำกิจปฏิสนธิที่เป็นอกุศลวิบาก เพราะไม่ต้องประกอบด้วยเหตุใดๆ ทั้งสิ้น

    โลภะเป็นอกุศลเหตุ โทสะเป็นอกุศลเหตุ โมหะเป็นอกุศลเหตุ จิตใดที่ประกอบด้วยโลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก เป็นเหตุ ไม่ใช่เป็นผล ไม่เป็นวิบาก เมื่อชื่อว่าอกุศลเหตุ ต้องเกิดกับอกุศลจิตเท่านั้น จะไม่เกิดกับอกุศลวิบากจิต เพราะฉะนั้น ปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นอกุศลวิบาก เป็นผล จึงไม่ประกอบด้วยโลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก จึงเป็นอเหตุกปฏิสนธิ

    ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงธรรมเหล่านี้ได้เลย เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็เป็นอย่างนี้ เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เพียงแต่จะรู้หรือไม่รู้เท่านั้นเองว่า ปฏิสนธิจิตของสัตว์ทั้งหลายที่เกิดในอบายภูมิ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ในนรก หรือเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์ดิรัจฉาน ปฏิสนธินั้นไม่ประกอบด้วยเหตุใดๆ เลย

    สำหรับผู้ที่ปฏิสนธิในมนุษย์และในสวรรค์ ที่เป็นสุคติปฏิสนธิ แต่เป็นอเหตุกะ คือ ปฏิสนธิด้วยสันตีรณกุศลวิบาก เป็นผู้ที่พิการตั้งแต่กำเนิด ปฏิสนธินั้นก็ไม่มีเหตุ ใดๆ ประกอบทั้งสิ้น แต่ก็เกิดแล้วเพราะกรรม

    สำหรับฌานปัจจัย ไม่มีปัญหาอะไรมาก ได้แก่ สภาพธรรมที่เป็นองค์ฌาน ๗ คือ วิตกเจตสิก ๑ วิจารเจตสิก ๑ ปีติเจตสิก ๑ โสมนัสเวทนา ๑ โทมนัสเวทนา ๑ อุเบกขาเวทนา ๑ และเอกัคคตาเจตสิก ๑ นี่คือฌานปัจจัย

    เพราะฉะนั้น เวลาที่ต้องการอบรมเจริญความสงบ จะขาดสภาพธรรมที่เป็นองค์ฌานเหล่านี้ไม่ได้ คือ ต้องมีวิตก วิจาร ปีติ และเมื่อเป็นการเจริญความสงบ เวทนาต้องประกอบด้วยโสมนัสเวทนาสำหรับฌานที่ ๑ จนถึงฌานที่ ๔ โดยปัญจกนัย และสำหรับฌานที่ ๕ ก็เป็นอุเบกขาเวทนา และต้องประกอบด้วยเอกัคคตาเจตสิก เพราะสภาพธรรม ๕ นี้ เป็นปฏิปักษ์กับนิวรณธรรม ๕

    แต่ถึงแม้ไม่ได้เจริญฌาน วิตกเจตสิกเกิดขึ้นขณะใด ก็เป็นฌานปัจจัย ในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ปฏิสนธิจิตในอบายภูมิ คือ อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก มีฌานปัจจัย เพราะวิตกเจตสิกเป็นฌานปัจจัยแก่ปฏิสนธิจิตและกัมมชรูปที่เกิดพร้อมกันในขณะนั้น ขณะปฏิสนธิต้องมีฌานปัจจัย เพราะว่าทำกิจปฏิสนธิ

    ผู้ฟัง อกุศล ๑๒ ให้ผลเป็นวิบากเพียง ๗ ส่วนฝ่ายมหากุศล ๘ ให้ผลเป็นกุศลวิบาก ๑๖ เพราะเหตุอะไรจึงให้ผลไม่เท่ากัน

    ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องที่น่าคิด เพราะทางฝ่ายอกุศลมีถึง ๑๒ คือ โลภมูลจิต ๘ โทสมูลจิต ๒ โมหมูลจิต ๒ แต่เวลาที่ให้ผล เป็นอกุศลวิบาก ๗ เท่านั้น ส่วนทางฝ่ายมหากุศลมี ๘ แต่ให้ผลเป็นกุศลวิบาก ๑๖ คือ ให้ผลเป็นอเหตุกกุศลวิบาก เป็น กุศลวิบากที่ไม่ประกอบด้วยโสภณเหตุ ๓ คือ ไม่ประกอบด้วยอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก เป็นอเหตุกกุศลวิบาก ๘ และเป็นมหาวิบากซึ่งประกอบด้วยโสภณเหตุอีก ๘ รวมเป็น ๑๖

    มหากุศลจิตมี ๘ แต่ให้ผลถึง ๑๖ อกุศลจิตมี ๑๒ แต่ให้ผลเพียง ๗

    ทั้งหมดนี้ย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัยทั้งสิ้น แสดงให้เห็นถึงเรื่องของกัมมปัจจัย ได้แก่ เจตนา ที่จะกระทำกรรมนั้นๆ ว่า เมื่อเจตนาเกิดขึ้น เป็นอกุศลกรรมที่จะกระทำทุจริตกรรมทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง หรือทางใจบ้าง ซึ่งในชีวิตประจำวันพอที่จะสังเกตได้ถ้าสติจะระลึกบ้าง โลภะในวันหนึ่งๆ ที่เป็นธรรมดา ไม่ได้ก่อให้เกิดเจตนาที่จะทำทุจริตเลย และโทสะธรรมดาที่เป็นความไม่สบายใจ ขุ่นใจ รำคาญใจ แต่ไม่ถึงกับกระทำทุจริตกรรม นั่นก็ประเภทหนึ่ง แต่สำหรับโลภะและโทสะ เวลาที่มีกำลังขึ้น ถ้าสติเกิดย่อมจะสังเกตได้ว่า มีเจตนาเล็กๆ น้อยๆ บ้างไหมที่เป็นทุจริต เป็นต้นว่า มะม่วงข้างบ้าน ไม่ต้องเป็นของที่ใหญ่โต มีความพอใจเกิดขึ้นบ้างหรือเปล่า ลูกมะม่วงโตขึ้นทุกวันๆ ความพอใจเพิ่มขึ้นทุกวันๆ หรือเปล่า มีกำลังถึงกับเอื้อมมือไปเก็บหรือเปล่า ถ้าเป็นผู้ที่มีสติจะรู้ว่า โลภะนั้นมีกำลังขึ้นแล้ว ถึงกับกระทำกายกรรมที่เป็นทุจริต

    เมื่อเจตนาที่เป็นกายกรรมที่เป็นทุจริตเกิดขึ้นแล้ว อกุศลเจตนานั้นเอง เป็นปัจจัยที่จะให้อกุศลวิบากจิตเกิดขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยเหตุ คือ ไม่ต้องมีโลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก หรืออโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก และไม่ต้องอาศัยเจตสิกอื่นๆ อีกมาก แต่อาศัยเจตสิกเพียงไม่กี่ดวง ก็สามารถเป็นปัจจัยให้ อกุศลวิบากเกิดได้ เพราะมีกรรมเป็นปัจจัยแล้ว เพราะฉะนั้น อกุศลวิบาก ๗ ไม่ต้องอาศัยเจตสิกมากก็สามารถที่จะเกิดขึ้นเป็นผลของกรรม

    เป็นความจำเป็นที่จะต้องขอกล่าวถึงเจตสิกบ้าง เพื่อให้เข้าใจว่า เพราะเหตุใดจึงเป็นปัจจัยให้อกุศลวิบากจิตเกิด

    สำหรับเจตสิก ทั้งหมดมี ๕๒ ประเภท แยกเป็นอัญญสมานาเจตสิก คือ เจตสิกซึ่งสามารถเกิดกับจิตได้ทุกประเภท คือ เกิดกับกุศลจิตก็ได้ อกุศลจิตก็ได้ วิบากจิตก็ได้ กิริยาจิตก็ได้ เกิดกับจิตที่เป็นกามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ หรือโลกุตตรภูมิก็ได้

    อัญญสมานาเจตสิก มีทั้งหมด ๑๓ ประเภท หรือ ๑๓ ดวง ซึ่งใน ๑๓ ประเภท ยังแยกออกเป็น ๒ ประเภท คือ เป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ หมายความว่า เจตสิก ๗ ดวงนี้ ต้องเกิดกับจิตทุกดวง เพราะฉะนั้น อกุศลวิบากจิตต้องมีเจตสิก ๗ นี้เกิดร่วมด้วย

    ไม่มีจิตที่มีเจตสิกเกิดน้อยกว่า ๗ ดวงนี้ เพราะสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ได้แก่ ผัสสเจตสิก ๑ เวทนาเจตสิก ๑ สัญญาเจตสิก ๑ เจตนาเจตสิก ๑ เอกัคคตาเจตสิก ๑ ชีวิตินทริยเจตสิก ๑ และมนสิการเจตสิก๑ เป็นสหชาตปัจจัย เป็นสัมปยุตตปัจจัย ที่กรรมเป็นปัจจัยทำให้อกุศลวิบากจิตเกิดพร้อมกับเจตสิก ๗ ดวงนี้ซึ่งเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก เกิดพร้อมกับจักขุวิญญาณ เห็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่ต้องอาศัยเจตสิกอื่นมากมาย เพียง ๗ เท่านั้นก็เกิดขึ้นได้ เพราะอกุศลกรรมเป็นปัจจัย ขณะที่ได้ยินเสียงที่ไม่ดี ก็เป็นโสตวิญญาณเกิดพร้อมกับเจตสิก ๗ ดวงนี้ ได้ยินเสียง ที่ไม่ดี ขณะที่ได้กลิ่นไม่ดี ขณะที่ลิ้มรสไม่ดี ขณะที่รู้โผฏฐัพพะที่ไม่ดี ทั้งหมดนี้เป็น ผลของอกุศลกรรม

    ท่านอาจารย์ แต่ทางฝ่ายอกุศล ขอให้คิดดูว่า ตาก็เห็นสิ่งที่ไม่ดี หูก็ได้ยินเสียงที่ไม่ดี จมูกก็ได้กลิ่นที่ไม่ดี ลิ้นก็ลิ้มรสที่ไม่ดี กายก็กระทบกับโผฏฐัพพะที่ไม่ดี บ่อยๆ เนืองๆ มากๆ ตลอดทุกวันๆ จะเป็นอย่างไร ในเมื่อการเกิดในสุคติภูมิ เช่น ในมนุษยภูมิ เป็นผลของกุศล แต่อกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วก็ยังมีปัจจัยให้เห็นสิ่งที่ไม่ดีบ้าง บ้างเท่านั้นนะ ได้ยินเสียงที่ไม่ดีบ้าง ได้กลิ่นที่ไม่ดีบ้าง ขณะนี้ไม่ใช่กลิ่นที่ไม่ดี ใช่ไหม เพราะฉะนั้น กลิ่นที่ไม่ดีบ้างจะเล็กน้อยสักเท่าไรเมื่อเทียบกับอกุศลวิบาก ซึ่งจะ ต้องเห็น ต้องได้ยิน ต้องได้กลิ่น ต้องลิ้มรส ต้องกระทบโผฏฐัพพะสิ่งที่ไม่ดี ตลอดเวลามากๆ นานๆ แม้ว่ามีจำนวนน้อย คือ ทางตาที่ทำกิจเห็น ๑ ดวง ทางหูทำกิจได้ยิน ๑ ดวง ทางจมูกทำกิจได้กลิ่น ๑ ดวง ทางลิ้นทำกิจลิ้มรส ๑ ดวง ทางกายทำกิจรู้โผฏฐัพพะ ๑ ดวง เป็นอกุศลวิบาก ๕ ดวง และมีสัมปฏิจฉันนจิตซึ่งเกิดต่อจากจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ อีก ๑ ดวง และมีสันตีรณจิตอกุศลวิบากเกิดต่อจากสัมปฏิจฉันนจิต อีก ๑ ดวง ทำกิจพิจารณาอารมณ์ที่ตา หู จมูก ลิ้น กายรู้และดับไปก่อน เท่านั้นเอง เพียง ๗ เพราะมีกรรมเป็นปัจจัย ก็ทำให้อกุศลวิบากจิต ๗ ดวงนี้เกิดขึ้น

    ซึ่งความจริงแล้ว ขอให้พิจารณาดูถึงความต้องการวิบากจิต ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ถ้าทุกคนเกิดมาไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส พอใจหรือไม่พอใจที่จะไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส

    หรือว่าเกิดมาแล้ว ต้องการเห็น แต่ต้องการเห็นสิ่งที่ดีๆ ต้องการได้ยิน แต่ต้องการได้ยินสิ่งที่ดีๆ ต้องการได้กลิ่นที่ดีๆ ต้องการลิ้มรสที่ดีๆ ต้องการรู้โผฏฐัพพะที่ดีๆ ก็ยังต้องการอยู่

    เพราะฉะนั้น ความสำคัญของจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ก็คือ เมื่อเกิดมาแล้วต้องเห็น ต้องได้ยิน ต้องได้กลิ่น ต้องลิ้มรส ต้องรู้โผฏฐัพพะ ซึ่งสำหรับทางฝ่ายกุศล ต้องอาศัยปัจจัยอีก คือ เจตสิก อื่นๆ ที่จะทำให้เป็นพื้นฐานของจิตว่า เมื่อวิบากจิตเกิดขึ้น ทางตาเห็น ทางหูได้ยิน ทางจมูกได้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส ทางกายรู้โผฏฐัพพะแล้ว พื้นฐานของจิตที่เมื่อได้อารมณ์ต่างๆ เหล่านั้นแล้ว จะเกิดเป็นกุศล นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ทางฝ่ายกุศลมีวิบากมากกว่าทางฝ่ายอกุศล

    กล่าวคือ ถ้าเทียบโดยทางตา หู จมูก ลิ้น กาย สำหรับกุศลวิบากและ อกุศลวิบากแล้ว ทางฝ่ายกุศลวิบากมีจำนวนมากกว่าทางฝ่ายอกุศลวิบากเพียง ดวงเดียว เพราะว่าสำหรับทางตา มีจักขุวิญญาณอกุศลวิบาก ๑ กุศลวิบาก ๑ เท่ากัน ทางหูมีโสตวิญญาณอกุศลวิบาก ๑ กุศลวิบาก ๑ เท่ากัน ทางจมูกมี ฆานวิญญาณอกุศลวิบาก ๑ กุศลวิบาก ๑ เท่ากัน ทางลิ้นมีชิวหาวิญญาณอกุศลวิบาก ๑ กุศลวิบาก ๑ เท่ากัน ทางกายมีกายวิญญาณอกุศลวิบาก ๑ กุศลวิบาก ๑ เท่ากัน รวมตา หู จมูก ลิ้น กาย อกุศลวิบาก ๕ กุศลวิบาก ๕ เท่ากัน

    สำหรับสัมปฏิจฉันนะซึ่งเป็นวิบาก ทางฝ่ายอกุศลวิบาก มีสัมปฏิจฉันนะ ๑ ทางฝ่ายกุศลวิบาก ก็มีสัมปฏิจฉันนะ ๑ เท่ากันอีก

    แต่สำหรับสันตีรณจิตเท่านั้น ที่ทางฝ่ายกุศลมี ๒ และทางฝ่ายอกุศลมี ๑ คือ ทางฝ่ายอกุศลมีอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก ๑ ทางฝ่ายกุศลมีอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก ๑ ขณะที่พิจารณาอารมณ์ที่ดีปานกลาง และมีโสมนัสสันตีรณกุศลวิบาก อีก ๑ ขณะที่พิจารณาอารมณ์ที่ดีเลิศหรือประณีต เพราะอารมณ์ทางฝ่ายกุศลจะประณีตจากชั้นมนุษย์ถึงชั้นสวรรค์ที่สูงขึ้น จนถึงสวรรค์ชั้นที่ ๖

    แสดงให้เห็นว่า เรื่องของวิบาก ไม่ต้องอาศัยเหตุหนึ่งเหตุใดเกิดขึ้น เพราะกรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นปัจจัยพอที่จะให้อเหตุกวิบากที่เป็นทั้งอกุศลวิบาก ๗ และกุศลวิบาก ๘ เกิดขึ้นได้

    แต่ความต่างกัน ไม่ใช่ต่างกันที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่ต่างกันที่พื้นฐานของจิตซึ่งปฏิสนธิว่า พื้นฐานของจิตที่ปฏิสนธินั้น มีเหตุที่เป็นโสภณเหตุเกิดร่วมด้วยหรือเปล่า เพราะว่าโสภณเหตุมี ๓ คือ อโลภเหตุ อโทสเหตุ และอโมหเหตุคือปัญญา ถ้าจิตใดที่เป็นปฏิสนธิจิตเกิดพร้อมกับอโลภเหตุ อโทสเหตุ ก็จัดเป็นบุคคลซึ่งไม่ประกอบด้วยปัญญา ซึ่งผลของกรรมที่ประณีตก็จะทำให้มีความสุขสมบูรณ์ตามระดับขั้นของกรรมนั้นๆ แต่ถ้าเป็นผลของกรรมที่ประกอบด้วยปัญญา ความต่างอยู่ที่ว่า เห็นสิ่งที่ดีด้วยกัน ได้ยินเสียงที่ดีด้วยกัน เป็นต้น แต่ กุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญาเกิดหลังจากที่เห็นสิ่งที่ดี และได้ยินเสียงที่ดี หรืออาจจะเห็นสิ่งที่ไม่ดี ได้ยินเสียงที่ไม่ดีก็ตาม แต่ผู้ที่ปฏิสนธิจิตเกิดพร้อมด้วยปัญญา ก็จะเป็นพื้นฐานทำให้มหากุศลจิตที่เกิดพร้อมด้วยปัญญาเกิดต่อจากการเห็นสิ่งที่ดีหรือสิ่งที่ไม่ดีได้

    เพราะฉะนั้น ทางฝ่ายกุศล นอกจากจะให้ผลเป็นอเหตุกกุศลวิบาก คือ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ยังทำให้ปฏิสนธิต่างกัน เพื่อที่จะเป็นพื้นฐานของจิตที่ต่างกันว่า เมื่อเห็นแล้ว ได้ยินแล้ว กุศลจิตประเภทใดจะเกิด

    สำหรับผลทางฝ่ายกุศลที่เพิ่มขึ้นนั้น คือ เพิ่มมหาวิบาก ๘ ดวง ซึ่งทำ กิจปฏิสนธิ ทำกิจภวังค์ ทำกิจตทาลัมพนะ และทำกิจจุติ แต่ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เท่าๆ กันกับทางฝ่ายอกุศลวิบาก ไม่ต่างกันเลย

    ผู้ที่เป็นมนุษย์เกิดพร้อมด้วยปัญญา เวลาลิ้มรสอาหารที่อร่อย และให้สัตว์เลี้ยงในบ้านได้ลิ้มรสอาหารนั้นด้วย กุศลวิบากของสัตว์กับกุศลวิบากของผู้ที่ปฏิสนธิประกอบด้วยปัญญาก็เหมือนกัน เป็นผลของกรรมที่ทำให้ได้ลิ้มรสที่อร่อย แต่เมื่อ ลิ้มรสที่อร่อยแล้ว ผู้ที่เกิดพร้อมด้วยปัญญาอาจจะมีกุศลขั้นต่างๆ เกิดขึ้น ถึงขั้นที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับก็ได้ แต่สำหรับผู้ที่ปฏิสนธิด้วยอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก เป็นสัตว์ดิรัจฉาน ลิ้มรสอาหารที่อร่อยได้ แต่ไม่มีพื้นฐานของจิตที่จะทำให้ปัญญาเกิดขึ้นรู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ผลของกุศลที่มากกว่าอกุศล คือ เพิ่มโสมนัสสันตีรณะ เพราะอารมณ์ของกุศลนั้นมีถึงขั้นประณีต และเพิ่มมหาวิบากอีก ๘ ที่ทำกิจปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ และตทาลัมพนะ

    ผู้ฟัง อกุศลวิบาก ๗ ดวง ดวงสุดท้าย คือ อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากจิต ทำกิจปฏิสนธิได้ดวงเดียว ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง อกุศลวิบากมี ๗ อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากดวงเดียวทำ กิจปฏิสนธิ เพราะฉะนั้น อุเบกขาสันตีรณะมีถึง ๕ กิจ คือ เมื่อทำปฏิสนธิกิจแล้ว ก็ทำภวังคกิจด้วย ทำจุติกิจด้วย ทำสันตีรณกิจด้วย ทำตทาลัมพนกิจด้วย นี่ทาง ฝ่ายอกุศลวิบาก ทางฝ่ายกุศลวิบาก อุเบกขาสันตีรณะก็สามารถทำกิจปฏิสนธิได้

    ผู้ฟัง ได้ครบทั้ง ๕ กิจไหม

    ท่านอาจารย์ เหมือนกัน ส่วนโสมนัสสันตีรณะทำได้เพียง ๒ กิจ เพราะว่า โสมนัสสันตีรณะทำกิจปฏิสนธิไม่ได้ ทำกิจภวังค์ไม่ได้ ทำกิจจุติไม่ได้ สำหรับ มหาวิบากทำได้ ๔ กิจ ไม่ถึง ๕ กิจ คือ ทำปฏิสนธิกิจได้ ภวังคกิจได้ จุติกิจได้ และ ตทาลัมพนกิจได้

    ผู้ฟัง ส่วนรูปาวจรกุศล หรืออรูปาวจรกุศลในมหาวิบากก็ทำกิจได้ ๔ กิจ เช่นเดียวกัน ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ รูปาวจรวิบาก อรูปาวจรวิบาก ทำได้ ๓ กิจ คือ ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ เพราะรูปพรหมภูมิไม่มีตทาลัมพนกิจ หรือเวลาที่เป็นมหัคคตชวนะก็ไม่มีตทาลัมพนกิจ ต้องสำหรับกามชวนะเท่านั้น ที่จะมีตทาลัมพนกิจ

    ผู้ฟัง คำว่า พิจารณาจิตในจิต จิตภายใน จิตภายนอก มีความหมายต่างกันอย่างไร และเกี่ยวกับจิต ๑๒๑ อย่างไร

    ท่านอาจารย์ เป็นชีวิตประจำวัน เคยคิดถึงจิตของคนอื่นบ้างไหมว่า เวลานี้เขากำลังโกรธ เขากำลังเสียใจ เขากำลังน้อยใจ ขณะนั้นถ้าสติปัฏฐานเกิด ก็กำลังมีจิตของ คนอื่นเป็นอารมณ์ ซึ่งไม่ควรจะหลงลืม

    ผู้ฟัง เรียกว่าจิตภายนอก ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ใช่ เมื่อเป็นจิตของคนอื่น

    ผู้ฟัง ถ้าจิตของตนเอง เป็นจิตภายใน ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง การพิจารณาจิตในจิตเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ คือ รู้ว่าจิตเป็นจิต ไม่ใช่เรา เห็นว่าจิตเป็นจิต ไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง การพิจารณากายในกาย

    ท่านอาจารย์ เห็นว่ากายเป็นกาย ไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง เห็นธรรมในธรรม

    ท่านอาจารย์ เหมือนกัน ธรรมอื่นนอกจากส่วนที่จำแนกเป็นกาย เวทนา จิต ก็เป็นเห็นธรรมในธรรม

    ถ.กายในกาย หมายความว่า เห็นกายไม่ใช่ตัวตน

    ท่านอาจารย์ เห็นกายว่าเป็นกาย และการเห็นกาย ก็คือ ระลึกที่ส่วนหนึ่งส่วนใด ที่กาย ที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง ทำไมในพระไตรปิฎกต้องมีคำว่า กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม ทำให้เกิดความสงสัย

    ท่านอาจารย์ กายะ หมายความถึงสภาพที่ประชุมรวมกัน เพราะฉะนั้น ที่กายนี้ก็มีรูปมากมายหลายรูปที่ประชุมรวมกัน เวลาระลึกที่กาย ตรงส่วนที่ปรากฏ หมายความถึงส่วนของกายที่ปรากฏ ไม่สามารถจะระลึกทั่วทั้งตัวพร้อมกันทีเดียว

    ผู้ฟัง เวทนาในเวทนา

    ท่านอาจารย์ เวทนาก็มี ที่กำลังปรากฏก็ระลึกได้ ที่ไม่ปรากฏก็ระลึกไม่ได้

    ผู้ฟัง ธรรมในธรรม

    ท่านอาจารย์ ก็เหมือนกัน ข้อสำคัญ คือ ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจด้วย

    เวลาอ่านหนังสือพิมพ์ เรื่องของใครในหนังสือพิมพ์ มีอะไรเป็นอารมณ์ มีเรื่องของคนอื่น ใช่ไหม เป็นสติปัฏฐานได้ไหม ถ้าระลึกลักษณะสภาพของจิตที่กำลังมีเรื่องนั้นเป็นอารมณ์ว่า แท้ที่จริงแล้วก็เป็นจิตที่กำลังนึกหรือคิด มิฉะนั้นแล้วเรื่องนั้นไม่มี

    เพราะฉะนั้น เรื่องจริงๆ นี่ เป็นแต่เพียงเรื่อง ไม่ใช่ลักษณะสภาพของ ปรมัตถ์ธรรมอย่างแข็ง อย่างอ่อน อย่างเสียง อย่างกลิ่น ดังนั้น อารมณ์จึงมี ๖ ทาง

    ทางตา เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏและยังไม่ดับ ที่กำลังปรากฏในขณะนี้เพราะยัง ไม่ดับ แต่ก็ดับอย่างรวดเร็วเหลือเกิน และก็เกิดปรากฏอีกสืบต่อกันอย่างรวดเร็วจน ไม่ปรากฏว่าเกิดและดับไป ปรากฏเสมือนว่าไม่ได้ดับไปเลย นี่คือ การรู้อารมณ์ ทางตา ต้องมีสิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ

    ทางหู ถ้าใช้คำว่าทางหู หมายความถึงเสียงกระทบกับโสตทวาร คือ โสตปสาท เสียงจริงๆ เกิดขึ้นและยังไม่ดับ กระทบกับโสตปสาทที่ยังไม่ดับ ทำให้มีการได้ยินเสียงจริงๆ นี่คือการรู้อารมณ์ทางหู คือ รู้รูปที่ยังไม่ดับที่กระทบทางหู

    ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็จะต้องรู้รูปที่ยังไม่ดับ

    แต่ทางใจ สามารถรู้อารมณ์ได้มากมาย กว้างขวาง หลายเรื่อง เป็นเรื่อง เป็นราวต่างๆ ก็ได้ ในวันหนึ่งๆ คิดถึงเรื่องของตัวเองบ้าง คิดถึงเรื่องของคนอื่นบ้าง ไม่ว่าจะเป็นทางตาเห็น ก็ไม่ได้มีแต่เฉพาะสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ยังมีเห็นคนกำลังทำสิ่งต่างๆ และก็นึกถึงคนนั้นต่างๆ ด้วย

    แสดงให้เห็นว่า ทางใจเกิดสืบต่อจากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย จึงควรที่จะระลึกรู้ด้วยว่า แท้ที่จริงแล้วในขณะนั้น สภาพธรรมที่เป็น ปรมัตถธรรม คือ จิต ที่เกิดขึ้นนึกถึงเรื่องต่างๆ หลังจากที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพื่อที่จะไม่มีตัวเรา ไม่มีตัวตน ไม่มีทั้งผู้ที่กำลังคิด และบุคคลซึ่งกำลังคิดถึง

    ทุกท่านดูโทรทัศน์ มีข่าว มีละคร มีเรื่องอะไรมากมาย ขณะนั้นสติระลึกจะรู้ว่า แท้ที่จริงแล้วเป็นสภาพที่กำลังนึก แล้วแต่ว่าจะนึกถึงอะไร นึกถึงบุคคลไหน ตามเรื่องที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ หรือว่าในโทรทัศน์

    ผู้ฟัง จิตที่กำลังพิจารณา กำลังเรียนรู้ เพื่อศึกษาให้รู้เรื่องจิต ๑๒๑ ดวง จิตที่กำลังเรียนรู้อย่างนี้ เป็นจิตดวงไหน

    ท่านอาจารย์ มหากุศลจิต เพราะถ้าเป็นอกุศลจิตจะไม่ศึกษาธรรม จะไม่ศึกษาเรื่องจิต ถ้าเป็นอกุศลจิต จะพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แต่ต้องระวัง เพราะโลภมูลจิตสามารถที่จะพอใจในทุกสิ่งทุกอย่างได้ เว้นนิพพาน และ โลกุตตรธรรมเท่านั้น

    ถ้ากุศลจิตเกิด ติดและพอใจในกุศลนั้นว่า เราได้ทำกุศลอย่างนั้นๆ เพราะฉะนั้น ในขณะที่ศึกษาธรรม ต้องพิจารณาถึงความละเอียดด้วยว่า มีความสำคัญตนว่าได้เข้าใจธรรมเพิ่มขึ้นมากกว่าคนอื่นหรือเปล่า ถ้ามีการเปรียบเทียบ หรือมีการนึกถึงบุคคลอื่นในทางแข่งดี


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 19
    22 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ