จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 075


    ผู้ฟัง ที่อาจารย์กล่าวว่า โสมนัสสันตีรณกุศลวิบากไม่ทำกิจปฏิสนธิ

    ท่านอาจารย์ ไม่ทำกิจปฏิสนธิ เพราะปฏิสนธินั้นเป็นผลของกุศลอย่างอ่อน เมื่อเป็นกุศลอย่างอ่อน ในขณะนั้นต้องเป็นอุเบกขาทำกิจปฏิสนธิ

    สำหรับการกระทำกุศลแต่ละครั้ง ที่จะรู้ว่าเป็นกุศลที่มีกำลัง หรือไม่มีกำลัง ก็โดยเวทนาที่เกิดร่วมกับกุศลในขณะนั้นๆ ถ้าเป็นกุศลที่มีกำลัง ขณะนั้นเวทนาเป็นโสมนัส เวลาทำกุศลใดและเกิดโสมนัส ปลาบปลื้มยินดี ขณะนั้นเป็นกุศลที่มีกำลัง แต่ขณะใดที่ทำกุศลและรู้สึกเฉยๆ ไม่ปลาบปลื้มโสมนัส ขณะนั้นก็ยังเป็นกุศล แต่ว่าเป็นอุเบกขาเวทนา เพราะฉะนั้น ผลของมหากุศลที่เป็นโสมนัสกับมหากุศลที่เป็นอุเบกขาจึงต่างกัน

    สำหรับมหากุศลที่เป็นโสมนัส แม้ว่าไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็ยังทำให้เกิดเป็นกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล คหบดีมหาศาลได้ แต่ไม่ประกอบด้วยปัญญา

    สำหรับมหากุศลที่เกิดร่วมกับโสมนัส และประกอบด้วยปัญญา นอกจากจะทำให้เกิดเป็นกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล คหบดีมหาศาล ยังเป็นผู้ประกอบด้วยปัญญาด้วย นี่เป็นความต่างกัน

    เพราะฉะนั้น จะเห็นผลของกุศลที่ประกอบด้วยโสมนัสเวทนา ที่ให้ผลอย่างสูง ทำให้เกิดเป็นกษัตริย์ชาติต่างๆ ประเทศต่างๆ ได้ แต่กษัตริย์ใดจะมีโอกาสได้ฟัง พระธรรม ต้องเป็นผู้ปฏิสนธิด้วยมหาวิบากญาณสัมปยุตต์

    ข้อที่น่าคิด คือ มหาวิบากที่เป็นโสมนัส ใครจะรู้ได้ มหากุศลที่เป็นโสมนัสรู้ได้ในขณะที่กุศลจิตเกิดและโสมนัส ผู้ที่กระทำกุศลและโสมนัส สามารถที่จะรู้สภาพของจิตที่เป็นโสมนัสในกุศลขณะนั้นได้ แต่ปฏิสนธิที่เป็นโสมนัส ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้

    เพราะฉะนั้น โสมนัสเวทนาชาติวิบากทั้งหมด ใช้คำว่าทั้งหมด รู้ไม่ได้ จะกี่ดวงก็ตาม โสมนัสเวทนาที่เป็นชาติวิบากทั้งหมดรู้ไม่ได้ เพราะอะไร เพราะทำกิจปฏิสนธิ ก็ไม่รู้ ทำกิจภวังค์ ก็ไม่รู้อีก จะเป็นโสมนัสหรือจะเป็นอุเบกขาก็คือภวังค์นั่นเอง ไม่รู้อารมณ์ใดๆ ที่ปรากฏทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ก็เกือบจะกล่าวได้ว่า ไม่มีความหมายอะไร เพราะไม่ใช่วิถีจิต ไม่ใช่จิตเห็น ไม่ใช่จิตได้ยิน ไม่ใช่จิตได้กลิ่น นี่กล่าวถึงเฉพาะมหาวิบากกับสันตีรณวิบากที่ทำกิจปฏิสนธิ แต่ถ้าเป็นวิบากอื่นซึ่งเป็นวิถีจิต ก็ยังสามารถที่จะเห็นอารมณ์ที่ดี แต่แม้กระนั้นใครรู้ เวลาที่เป็นวิบาก

    ผู้ฟัง ปัญหาที่ว่า กินเหล้าเจริญสติปัฏฐานได้ไหม คือ ทางการแพทย์ยอมรับว่า ถ้าดื่มสักก๊งสองก๊ง แก้วสองแก้ว ทำให้กระปรี้กระเปร่าขึ้น แหลมคมขึ้น แต่หลังจากนั้นทำให้จิตวิปริตไปได้ แต่แก้วแรกสองแก้วแรกผมคิดว่า เจริญสติปัฏฐานได้ ถ้าทำถูกต้อง หรือรู้วิธีทำ

    อีกเรื่องหนึ่ง ที่อาจารย์เล่าว่า มีเจ้าชายองค์หนึ่งในสมัยพุทธองค์ ชอบเสวยน้ำจัณฑ์เป็นอาจิณ เมื่อสิ้นชีวิตได้รับศีล พระพุทธองค์พยากรณ์ว่า ได้เป็น พระโสดาบัน ผมก็จำไม่ค่อยได้ อาจารย์ช่วยขยายความด้วย

    ท่านอาจารย์ เรื่องของการดื่ม เป็นเรื่องของความยินดีในรส ซึ่งแต่ละท่านก็มีอัธยาศัยต่างๆ กัน ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน กำลังเจริญปัญญา จึงไม่ใช่ พระอริยบุคคล ถ้าเป็นพระอริยบุคคล คือ เป็นผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมแล้ว เป็น พระโสดาบัน สมบูรณ์ในศีล ๕ จะไม่มีการล่วงศีล ๕ จะไม่มีการดื่มน้ำเมา สำหรับ ผู้ที่เป็นพระอริยะ แต่ก่อนที่จะเป็นพระอริยะ ใครจะกั้นหรือจะบังคับสิ่งที่เคยพอใจของแต่ละบุคคลที่เคยสะสมมาได้

    ในขณะที่กำลังรับประทานอาหาร หลายคนบอกว่าสติไม่ค่อยเกิด แต่บางท่านก็บอกว่า สติค่อยๆ เริ่มเกิดบ้างแล้ว เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องบังคับว่าต้องการให้สติเกิดในขณะไหน เช่น อยากจะให้สติเกิดเวลารับประทานอาหาร แต่ต้องแล้วแต่สติ ถ้าคนที่กำลังดื่มสุรา ยังไม่ถึงขั้นที่จะเมามาย สติเกิดได้ไหม เป็นสิ่งที่ควรพิจารณา ตามความเป็นจริง กำลังหัวเราะสนุกสนาน ดูหนังดูละคร สติเกิดได้ไหม

    ชีวิตของคฤหัสถ์ เป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานในเพศของคฤหัสถ์ ซึ่งคฤหัสถ์ควรจะมีนิจศีล คือ ศีล ๕ เป็นเรื่องที่ทุกคนบอกว่าควร แต่ใครจะทำได้โดยสมบูรณ์ ผู้ที่มีศรัทธาย่อมสามารถที่จะกระทำได้ แต่ไม่ใช่เป็นสมุจเฉทวิรัติ อาจจะเป็นเฉพาะ ในช่วงเวลาหนึ่งเวลาใด หรือว่าชาติหนึ่งชาติใด แต่ไม่ได้หมายความว่า บุคคลนั้นจะถึงพร้อมด้วยคุณธรรมเช่นพระโสดาบัน คือ สมบูรณ์ด้วยศีล ๕ โดยตลอด เพราะฉะนั้น ย่อมจะมีการล่วงศีลตามกำลังของการสะสม หรือตามอัธยาศัย ตามความพอใจของแต่ละบุคคล ไม่ว่าจะเป็นในศีลข้อที่ ๑ ในศีลข้อที่ ๒ ในศีลข้อที่ ๓ ในศีลข้อที่ ๔ และในศีลข้อที่ ๕

    แต่การที่ผู้ใดจะมีศรัทธารักษาศีลข้อใดได้มาก มั่นคง ก็ต้องแล้วแต่การสะสม บางท่านไม่ฆ่าสัตว์ แต่ไม่ได้หมายความว่า ท่านผู้นั้นจะไม่พูดปด หรือว่าจะไม่กระทำทุจริตกรรมในศีลข้ออื่น

    เพราะฉะนั้น เรื่องของการดื่มสุรา ถ้าขณะที่กำลังยกแก้วขึ้น สติจะเกิดได้ไหม กำลังเอาช้อนตักอาหาร สติจะเกิดได้ไหม ตามปกติตามความเป็นจริง ไม่มีการจำกัดหรือยับยั้งว่า ถ้าผู้นั้นเป็นผู้ที่ดื่มสุรา สติปัฏฐานจะไม่เกิดเลย แต่สติปัฏฐานย่อม ไม่เกิดแน่ในขณะที่เมา

    แต่ก่อนที่จะเมา ก็เหมือนกับการบริโภคอาหารอย่างหนึ่งอย่างใด สติย่อมจะเกิดได้ตามสมควร แล้วแต่แต่ละบุคคล ซึ่งเป็นปัจจัตตังจริงๆ จะมีใครสักคนหนึ่งบอกได้ไหมว่า ขณะที่กำลังหยิบสุรา กำลังผสม สติจะไม่เกิดเลย จะไม่ให้สติเกิดเลย ได้ไหม ไม่ได้ สติเกิด และสติก็ดับ เหมือนกับผู้ที่กำลังอบรมเจริญสติปัฏฐานโดย ทั่วๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคชนิดหนึ่งชนิดใด อาหารประเภทหนึ่งประเภทใด การกระทำทางกายทางวาจาอย่างหนึ่งอย่างใด

    แต่ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลแล้วไม่ดื่มสุรา ถ้าก่อนที่จะเป็นพระอริยบุคคล ไม่มีใครสามารถห้ามได้ และไม่มีใครสามารถห้ามบุคคลนั้นไม่ให้เจริญสติปัฏฐานด้วย เพราะว่าสติปัฏฐานย่อมเกิดโดยความเป็นอนัตตา

    สุ. การทำสมาธิแบบอื่นนอกพระพุทธศาสนา เป็นมิจฉาสมาธิ ถ้าเป็นสมาธิที่เป็นไปในทางพระพุทธศาสนา ต้องเป็นสัมมาสมาธิอย่างเดียว ไม่ใช่ มิจฉาสมาธิ เพราะพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมในเรื่องของการเจริญกุศล ทุกประการ แม้แต่ในเรื่องของความสงบ และที่ใช้คำว่า สมาธิ เนื่องจากพุทธบริษัทย่อมเข้าใจแล้วว่า สมาธิในพระพุทธศาสนานั้นหมายถึงความสงบที่เป็นกุศล ไม่ใช่สมาธิอะไรๆ ก็ได้ ซึ่งนั่นไม่ใช่สมาธิในพระพุทธศาสนา

    ผู้ที่จะทำสมาธิควรเข้าใจก่อนว่า เพราะเหตุใดจึงจะทำสมาธิ ซึ่งส่วนมากจะตอบว่า เพราะไม่อยากให้จิตกระสับกระส่าย กระวนกระวาย เร่าร้อน เดือดร้อน เป็นอกุศลด้วยโลภะหรือด้วยโทสะ แต่ผู้นั้นมีความเข้าใจหรือไม่ว่า ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นอกุศลจิตไม่เกิด ไม่ใช่ว่าเพียงความอยาก หรือความต้องการที่จะให้จิตจดจ้องอยู่ที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดโดยไม่รู้ความต่างกันของกุศลจิตและอกุศลจิตว่า ตามปกติธรรมดานั้น ขณะใดที่ไม่ใช่จิตที่เป็นไปในทาน ไม่ใช่จิตที่เป็นไปในศีล ไม่ใช่จิตที่เป็นไปในความสงบ หรือว่าไม่ใช่จิตที่เป็นไปในการเจริญสติปัฏฐานแล้ว ขณะนั้นทั้งหมดเป็นอกุศล

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะทำสมาธิต้องรู้ว่า ในขณะนั้นจิตเป็นไปในทานหรือเปล่า เป็นไปในศีลหรือเปล่า เป็นไปในความสงบหรือเปล่า เป็นไปในการเจริญสติปัฏฐานหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ ก็ไม่ใช่สมาธิหรือสมถภาวนาในพระพุทธศาสนา แต่เป็น มิจฉาสมาธิ

    จากการที่ได้พูดถึงมิจฉาสมาธิ เช่น เรื่อง TM และอาจจะเป็นสมาธิอื่นๆ ซึ่งทำให้ผู้ปฏิบัติอาจจะงดเว้นการดื่มสุราชั่วคราว ไม่ใช่ตลอดไป ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ หลังจากที่สูบบุหรี่มาหลายสิบปี ต้องทำ TM ก่อนหรือเปล่า หรือสามารถไม่สูบบุหรี่ ก็ได้ แม้จะเคยสูบบุหรี่มาหลายปี โดยไม่จำเป็นต้องทำสมาธิอะไรเลย

    มีตัวอย่างชีวิตของท่านผู้หนึ่ง ซึ่งครั้งหนึ่งในชีวิตของท่าน ท่านเป็นผู้ที่ใช้ชีวิตด้วยการดื่มสุรามากจนเป็นที่เลื่องลือ แต่แล้ววันหนึ่งก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้ท่านไม่ดื่มสุราตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นไป โดยที่ท่านก็ไม่ได้ทำสมาธิTM หรือสมาธิอย่างหนึ่งอย่างใด เพราะฉะนั้น จะเชื่อถือได้ไหมว่า การทำมิจฉาสมาธิอย่างหนึ่งอย่างใดทำให้ผู้นั้นไม่ดื่มสุราหรือไม่สูบบุหรี่ ซึ่งความจริงเป็นแต่เพียงความตั้งใจก็ได้ที่เกิดขึ้น มีเจตนาที่จะ งดเว้น เพราะมีเหตุการณ์หรือสิ่งที่จะทำให้งดเว้นอย่างนั้น อย่างบางท่านไม่ยอมงด จนหมอสั่งว่า ถ้าไม่งดจะเป็นโรคร้าย ก็ปรากฏว่างดได้ แต่ถ้าไม่ถึงขั้นนั้น ก็ไม่งด

    เพราะฉะนั้น การที่ใครจะดูเสมือนว่ารักษาศีลข้อหนึ่งข้อใดเพิ่มขึ้น ก็อย่าเพิ่งพิจารณาว่าเป็นผลของมิจฉาสมาธิ หรือการไม่ได้อบรมเจริญปัญญาถึงการดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท เพราะเป็นการละเว้นเพียงชั่วครั้งชั่วคราว หรืออาจจะตลอดชาตินี้ แต่ชาติอื่นก็ไม่แน่อีก ตราบใดที่ยังมีโลภะ โทสะ โมหะ มีมิจฉาทิฏฐิ มีอกุศลที่จะทำให้วนเวียนไปในสังสารวัฏฏ์ เพราะยังไม่ใช่พระอริยบุคคล ก็ต้องมีความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แม้แต่ผู้ที่อบรมเจริญฌานกุศลจนกระทั่งสามารถเกิดในพรหมโลกเป็นพรหมบุคคล เมื่อสิ้นอายุของการเกิดในพรหมโลกเป็นพรหมบุคคลแล้ว ก็ยังต้องกลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก คือ ความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จึงไม่สามารถเป็น พระโสดาบันได้ในอรูปพรหมภูมิ เพราะต้องมีปัญญาที่สามารถพิจารณารู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจจริงๆ ไม่ใช่จะเว้นทวารหนึ่งทวารใด เช่น จะเว้นทวารตา ไม่พิจารณา และจะเป็นพระอริยบุคคล ดังนั้น ผู้ที่พิการตั้งแต่กำเนิดจึงไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ หรือแม้ผู้ที่ไม่พิการ แต่ไม่อบรมเจริญปัญญาให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางทวารทั้ง ๖ โดยทั่วถึงจริงๆ ก็ไม่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

    ผู้ฟัง ผมได้ฟังคำบรรยายของผู้ปฏิบัติธรรมที่อื่นๆ เขาบรรยายว่า การเจริญสมาธิทำได้ง่าย ผู้บรรยายเองบอกว่า เขาเจริญเพียง ๓ เดือนก็บรรลุสำเร็จปฐมฌานและมีมโนมยิทธิด้วย สามารถรู้ใจคนอื่น ผมถามเขาว่า ในขณะที่จิตอยู่ในฌาน หรือที่เรียกว่าฌานจิตนั้น รู้อารมณ์ทางตา ทางหูได้ไหม เขาบอกว่า ได้ ผมก็ค้านว่า ตามหลักแล้วจิตเป็นอัปปนามีอารมณ์หนึ่งอารมณ์เดียว และเป็นอารมณ์ทางมโนทวาร ถ้ายังรับอารมณ์ทางทวารอื่นได้ด้วย คงจะไม่ใช่ฌานแน่ เขาบอกว่า ที่คุณรู้มานั้นผิด ตามหลักแล้วรู้อารมณ์ทางอื่นได้

    ท่านอาจารย์ ท่านผู้ฟังว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง ผมก็ยังเห็นว่า ผู้ที่อยู่ในฌาน จิตที่เป็นฌาน ต้องมีอารมณ์เดียวเท่านั้น เป็นอัปปนา

    ท่านอาจารย์ ท่านผู้ฟังว่าอย่างไรต่อไป ในการสนทนานั้น

    ผู้ฟัง เขาบอกว่า อย่าถามมากเลย ปฏิบัติไปก็รู้เอง ผมก็บอกว่า อย่างนี้ขึ้นต้นก็ผิด ๑๐๐ เปอร์เซ็นแล้ว เพราะไม่ให้รู้อะไร จะให้ปฏิบัติรู้ขึ้นมาเอง ผมว่าไม่ใช่หนทางของพระพุทธศาสนาแน่ คงเป็นหนทางนอกศาสนา เพราะการที่จะรู้อะไร ถ้าไม่ศึกษาให้เข้าใจถ่องแท้และประพฤติปฏิบัติไป โอกาสที่จะผิดก็มีมาก ผมก็ยังสงสัยที่เขาพูดว่า เมื่อจิตเป็นฌานแล้วรับอารมณ์ทางอื่นได้ด้วย

    ท่านอาจารย์ ฌานจิตเป็นอัปปนาสมาธิ คือ สมาธิที่แนบแน่นในอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบทางมโนทวารทวารเดียว ขณะใดที่มีการเห็น ขณะนั้นไม่ใช่ฌานจิต ต้องเป็น จักขุวิญญาณ และเป็นจักขุทวารวิถีจิต ขณะใดที่มีการได้ยิน ขณะนั้นต้องเป็น โสตวิญญาณ เป็นโสตทวารวิถีจิต จะเป็นฌานจิตไม่ได้

    ผู้ฟัง ถ้าเขาได้ปฐมฌานจริง จะต้องไปถามใครไหม

    ท่านอาจารย์ ข้อปฏิบัติอย่างไรที่ทำให้ได้ปฐมฌาน สำคัญที่สุด คือ ข้อปฏิบัติ ถ้าท่านผู้ฟังไม่ได้สอบถาม ไม่ได้ศึกษาเรื่องข้อปฏิบัติ ท่านผู้ฟังย่อมจะลังเลสงสัยว่า ผลที่ท่านผู้อื่นกล่าวนั้นเป็นผลที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะไม่ได้ศึกษาในเหตุที่จะให้ฌานจิตเกิด แต่ถ้าเป็นผู้ที่ศึกษา เข้าใจในเหตุที่จะให้ฌานจิตเกิด ใครบอกว่าฌานจิตเกิด ท่านผู้ฟังย่อมทราบจากข้อปฏิบัติของบุคคลนั้นว่า เป็นเหตุที่จะทำให้ฌานจิตเกิดได้จริง หรือไม่จริง

    ผู้ฟัง ตัวเขาเองก็คงไม่ต้องให้ใครมารับรองถ้าเป็นปฐมฌานจริง ที่เขาปฏิบัติอยู่ ๓ เดือน รายละเอียดในการปฏิบัติ เขาคงไม่ได้บรรยายให้ฟัง

    ท่านอาจารย์ การปฏิบัติธรรมเพื่ออะไร ไม่ว่าจะเป็นสมถภาวนา หรือวิปัสสนาภาวนา หรือแม้แต่การศึกษาธรรม ยังไม่ถึงการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่งอย่างใด เพียงการศึกษาธรรม ในขณะที่กำลังฟังอยู่เดี๋ยวนี้ เพื่ออะไร นี่เป็นเหตุที่จะให้ฌานจิตเกิดหรือไม่เกิด วิปัสสนาเกิดหรือไม่เกิด คือ ต้องรู้จุดประสงค์ของการฟังว่าเพื่ออะไร การเจริญ สมถภาวนาที่จะให้ฌานจิตเกิด เพื่อจะให้คนอื่นรับรองอย่างนั้นหรือ นั่นไม่ใช่เหตุผล

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องคิดถึงการรับรอง ไม่ว่าจะเป็นการอบรมเจริญสมถะ หรือวิปัสสนาก็ตาม ถ้าเข้าใจว่า การอบรมเจริญปัญญาเพื่อดับกิเลส หรือระงับกิเลส เท่านั้น

    แม้แต่การฟังธรรม เพื่ออะไร ก็ต้องเพื่อเข้าใจพระธรรม และปัญญาที่เข้าใจนั้นเองจะทำกิจของปัญญา คือ ละคลายกิเลส ซึ่งสภาพธรรมอื่นที่ไม่ใช่ปัญญา ไม่สามารถจะทำกิจนี้ได้เลย ถ้าการฟังธรรมเพื่อต้องการที่จะรู้มากๆ นั่นไม่ใช่จุดประสงค์ หรือการเจริญฌานเพื่อให้คนอื่นรับรอง ก็ไม่ใช่จุดประสงค์อีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ก็ผิดตั้งแต่เริ่มต้น

    ผู้ฟัง กุศลเกิดได้กี่ทวาร

    ท่านอาจารย์ ๖ ทวาร

    ผู้ฟัง หมายถึงกุศลขั้นสติปัฏฐานด้วยหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ด้วย

    ผู้ฟัง แต่วิปัสสนาญาณ ทางปัญจทวารเกิดไม่ได้ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า ขณะนั้นไม่มีกุศลญาณสัมปยุตต์ทางปัญจทวาร นี่เป็นความละเอียด

    ทุกท่านที่ศึกษาธรรม จะทราบได้ว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงนั้น ไม่เป็นสอง คือ จะไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น เช่น มหากุศลจิต หรือกามาวจรจิตเกิดได้ทั้ง ๖ ทวาร ก็ต้องเกิดได้ทั้ง ๖ ทวาร

    ผู้ฟัง วิปัสสนาญาณเกิดทางปัญจทวารไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    ผู้ฟัง และทางปัญจทวารจะมีสติปัฏฐานได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ควรจะได้ แต่ไม่ใช่วิปัสสนา ถ้าเป็นวิปัสสนา ต้องเป็นมโนทวารวิถี เพราะว่าขณะนั้นสภาพของมโนทวารวิถีเท่านั้นที่กำลังปรากฏโดยความชัดเจน แต่ไม่ได้หมายความว่าขณะนั้นจะปราศจากซึ่งปัญจทวารวิถี เพราะวิปัสสนาญาณก็รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายด้วย ไม่ใช่ว่า ในขณะนั้นไม่มีตา ไม่มีหู ไม่มีจมูก ไม่มีลิ้น ไม่มีกายที่วิปัสสนาญาณจะรู้ จะมีแต่เฉพาะอารมณ์ทางมโนทวารทวารเดียวเท่านั้นที่วิปัสสนาญาณจะรู้ ไม่ใช่

    วิปัสสนาญาณเป็นปัญญาที่รู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมทุกอย่าง ทั้ง ๖ ทวาร แต่วิปัสสนาญาณคือปัญญาที่ถึงความสมบูรณ์ที่รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมนั้น เกิดทางมโนทวารวิถี

    แต่ไม่ได้หมายความว่า ในขณะนั้นไม่มีปัญจทวารวิถี และไม่ได้หมายความว่า ในขณะนั้นไม่มีมหากุศลทางปัญจทวารวิถี แต่เพราะทางปัญจทวารวิถีสามารถรู้เพียงรูปซึ่งยังไม่ดับ ไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมด้วย เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่วิปัสสนาญาณ

    ผู้ฟัง ที่ทางปัญจทวาร จะถือว่ามีปัญญาไหม

    ท่านอาจารย์ มหากุศลญาณสัมปยุตต์เกิดได้กี่ทวาร ท่านที่ศึกษาแล้วจะปฏิเสธไหมว่า มหากุศลญาณสัมปยุตต์เกิดได้ทั้ง ๖ ทวาร

    ถ้าไม่เข้าใจความละเอียด หรือไม่พิจารณาโดยละเอียด จะเกิดความสับสน แต่ถ้าพิจารณาโดยความละเอียดจริงๆ พร้อมทั้งพิสูจน์ธรรมด้วยการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เมื่อประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม ก็ตรงกัน

    ผู้ฟัง ในหนังสือบอกว่า อุเบกขาในโลภมูลจิตมีความยินดีนิดหน่อย ปกติ อุเบกขาเป็นความเฉยๆ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ อย่าปนกันระหว่างสภาพของโลภเจตสิกกับเวทนาเจตสิก โลภเจตสิกเป็นสภาพที่ต้องการ ติดข้อง ยึดมั่น ไม่สละ ไม่ปล่อย เป็นลักษณะของความพอใจ นั่นเป็นวิเสสลักษณะ หรือปัจจัตตลักษณะของโลภเจตสิก แต่โสมนัสเวทนาไม่ใช่ โลภเจตสิก

    โสมนัสเวทนาเป็นความรู้สึก ทุกคนมีความรู้สึก และสามารถจะบอกได้ว่า เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ นั่นคืออาการที่ปรากฏของความรู้สึก หรือว่าเฉยๆ ขณะนี้บอกได้ตรงกับสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่าเฉยๆ หรือว่าโสมนัส หรือว่าโทมนัส หรือว่าเป็นสุข หรือว่าเป็นทุกข์ นั่นคือลักษณะของเวทนา

    เพราะฉะนั้น เวลาที่โลภมูลจิตเกิด เพราะมีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นสภาพที่ต้องการอารมณ์ แต่ในขณะที่กำลังต้องการนั้น แล้วแต่ว่าเวทนาที่เกิดร่วมด้วยจะเป็นความรู้สึกที่ไม่สุขไม่ทุกข์ เฉยๆ หรือว่าเป็นความรู้สึกโสมนัส

    ท่านผู้ฟังคงจะมีความต้องการอะไรหลายอย่างในวันนี้ สามารถจะสังเกตความต่างกันของเวทนาได้ไหมว่า สิ่งที่ต้องการนั้นบางครั้งก็ไม่ประกอบด้วยโสมนัสเวทนาเลย แต่ว่าต้องการ ไม่ใช่ไม่ต้องการ อย่างต้องการดินสอเพื่อเขียนหนังสือ เป็นโสมนัสไหม ก็เฉยๆ แต่ต้องการ ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ก็เป็นโลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับ อุเบกขาเวทนา

    ผู้ฟัง โสมนัสจะมีอุเบกขา ที่มีความรู้สึกเฉยๆ บ้างไหม

    ท่านอาจารย์ โสมนัส คือ โสมนัส อุเบกขา คือ อุเบกขา ทำไมอยากจะปนโสมนัสกับอุเบกขา ในเมื่อความต้องการมีทั้งที่เกิดร่วมกับอุเบกขาและที่เกิดร่วมกับโสมนัส ก็ต้องแยกกัน

    ขณะไหนได้สิ่งใดซึ่งพอใจยินดีมาก รับประทานอาหารที่อร่อยถูกปาก ขณะนั้นเป็นโสมนัสไม่ใช่อุเบกขา แต่ขณะที่รับประทานอาหารธรรมดาๆ ไม่มีความอร่อยเป็นพิเศษ ขณะนั้นทุกคนก็บอกได้ถึงความรู้สึกของตัวเองว่า ขณะนั้นเป็นอะไร อุเบกขาหรือโสมนัส และขณะใดที่ไม่ใช่ความรู้สึกไม่แช่มชื่น ไม่สบายใจ ก็ไม่พ้นจาก โลภมูลจิต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุเบกขา เพราะนานๆ ครั้งจึงจะมีโลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา

    ผู้ฟัง ทุกสิ่งเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย โลกนี้ไม่มีอะไรนอกจากรูปกับนาม รูปกับนามเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น ยังมีเหตุปัจจัยอีกอย่างหนึ่ง เป็นอย่างที่ ๓ คือ ต้องมีรูป มีนาม และมีเหตุปัจจัย แต่เหตุปัจจัยอยู่ตรงไหน

    ท่านอาจารย์ ธรรมต้องตรง ไม่มีอะไรนอกจากนามธรรมและรูปธรรม คำนี้ถูกไหม

    ผู้ฟัง ถูก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น นามธรรมและรูปธรรมนั่นเอง ต่างเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน

    ผู้ฟัง หมายความว่า เหตุปัจจัย คือ รูปกับนาม ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ใช่ แต่สภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมมี ๔ และบัญญัติธรรมอีกหนึ่ง ทั้งปรมัตถธรรมและบัญญัติธรรมเป็นปัจจัยได้

    ถ้ากล่าวถึงปรมัตถธรรม นามธรรมและรูปธรรมนั่นเองเป็นปัจจัย ไม่ใช่สิ่งอื่น รูปเป็นปัจจัยแก่รูปได้ รูปเป็นปัจจัยแก่จิตและเจตสิกได้ จิตเป็นปัจจัยแก่เจตสิกได้ จิตเป็นปัจจัยแก่เจตสิกและรูปได้ เจตสิกเป็นปัจจัยแก่จิตได้ เจตสิกเป็นปัจจัยแก่จิตและรูปได้ ก็ไม่พ้นจากนามธรรมและรูปธรรม

    ผู้ฟัง เหตุปัจจัยกับกรรมต่างกันหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ กรรมเป็นปัจจัยหนึ่งในหลายปัจจัย

    ผู้ฟัง การเจริญสติปัฏฐานนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงสติปัฏฐานไว้ ๔ สติปัฏฐานหนึ่ง คือ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งพระองค์ทรงแสดงว่า จิตมีราคะ ก็ให้รู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะ ก็ให้รู้ว่าจิตปราศจากราคะ หรือจิตมีโทสะ มีโมหะ ก็ให้รู้ว่าจิตมีโทสะ มีโมหะ แต่ผู้เจริญสติปัฏฐานใหม่ๆ บางครั้งสติปัฏฐานเกิดขึ้นแล้ว แต่ไม่สามารถที่จะรู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะ ไม่ทราบว่าอาจารย์มีเคล็ดลับอะไรที่จะให้รู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะ ยังแยกไม่ออก

    ท่านอาจารย์ เรื่องของเคล็ดลับไม่มีในพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนามีแต่ปัญญา คือ ความเข้าใจถูก ตั้งแต่ขั้นของการฟัง เพราะผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่พระปัจเจกพุทธเจ้า เป็นพุทธบริษัท ตั้งแต่อัครสาวก คือ ท่านพระสารีบุตร เป็นต้นไป เป็นสาวก คือ ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น พุทธศาสนาไม่ใช่เรื่องเคล็ดลับ แต่ เป็นเรื่องการอบรมเจริญปัญญาด้วยการฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ถึง ๔๕ พรรษา จึงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก อย่าคิดว่าพระธรรมที่ทรงแสดงนั้น ไม่มีประโยชน์

    บางท่านเล่าให้ฟังว่า มีผู้กล่าวว่า ไม่ต้องศึกษาธรรม ไม่ต้องฟัง ปฏิบัติเลยทันที ถ้าท่านผู้นั้นมีชีวิตอยู่ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน คงจะไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ขออย่าทรงแสดงธรรมเลย เพราะไม่ต้องมีใครฟังพระธรรม ก็สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้

    แต่ที่ทรงแสดงพระธรรมตลอด ๔๕ พรรษา เป็นพระมหากรุณา โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ไม่สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้โดยเร็ว คือ ไม่ใช่ผู้ที่เป็นอุคฆฎิตัญญูบุคคล หรือวิปัญจิตัญญูบุคคล แต่เป็นผู้ที่จะต้องฟังพระธรรม และพิจารณาไตร่ตรองเหตุผลโดยละเอียดถี่ถ้วนจริงๆ ที่จะรู้ว่า ธรรมใดเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง และธรรมใดเป็นธรรมที่บุคคลอื่นเข้าใจและคิดว่า เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก

    เพราะฉะนั้น การที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของจิต ไม่ใช่เคล็ดลับ แต่เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจว่า จิตเป็นปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เพียงสั้นๆ อย่างนี้ สติ ก็ไม่ระลึก หรือระลึก ก็อาจจะระลึกไม่ถูก เพราะโดยมากชินกับการพิจารณาสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เป็นรูปธรรม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 19
    20 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ