จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 087


    ถามว่า เพราะเหตุไรเล่า

    ตอบว่า ชื่อว่าความเลื่อมใส คือ ความผ่องแผ้ว ความสงบจากอกุศล ย่อมไม่มีในจิตอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธา

    หมายความถึงอกุศลจิตทั้งหลายนั่นเอง ย่อมไม่มีธรรมที่เป็นโสภณะ

    ถามว่า ก็คนมีทิฏฐิทั้งหลายไม่เชื่อศาสดาของตนๆ หรอกหรือ

    ตอบว่า เชื่อ แต่ความเชื่อนั้นไม่ชื่อว่าเป็นศรัทธา นี่เป็นแต่เพียงการรับคำเท่านั้น

    เพราะไม่มีสภาพธรรมที่เป็นสัจธรรมให้พิสูจน์ เพราะฉะนั้น ก็เพียงแต่รับคำมาว่า ศาสดานั้นสอนอะไร แต่ไม่มีสัจธรรมที่จะให้พิสูจน์ได้

    โดยเนื้อความ ก็เป็นการไม่เข้าไปพิจารณาเห็นอย่างรอบคอบบ้าง เป็นทิฏฐิบ้าง อนึ่ง สติย่อมไม่มีในจิตอันไม่เป็นที่ตั้งแห่งสติ

    คือ ในอกุศลจิต ไม่มีสติเจตสิกซึ่งเป็นโสภณธรรมเกิดร่วมด้วยเลย

    ฉะนั้น จึงไม่ทรงถือเอา

    หมายความว่า จึงไม่ใช่โสภณเจตสิก

    ถามว่า คนมีทิฏฐิทั้งหลายย่อมไม่ระลึกถึงกรรมที่ตนกระทำแล้วหรือ

    ตอบว่า ระลึก แต่ความระลึกนั้นหาชื่อว่าเป็นสติไม่ เป็นแต่ความเป็นไปแห่งอกุศลจิตโดยอาการนั้นอย่างเดียว ฉะนั้น จึงไม่ทรงถือเอาสติ

    หมายความว่า จึงไม่ใช่สติที่ระลึก

    วันหนึ่งๆ ทุกคนคิดถึงเรื่องต่างๆ มากมาย สิ่งนั้นทำแล้วหรือยัง สิ่งนี้ยังไม่ได้ทำ แต่ในขณะนั้นถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด ไม่ระลึก จะไม่รู้เลยว่าขณะนั้นเป็น อกุศลจิต ซึ่งต่างกับขณะที่เป็นกุศลจิต ที่เป็นสติปัฏฐาน ที่ระลึกลักษณะของ สภาพธรรมที่ปรากฏ หรือระลึกถึงสิ่งที่ได้กระทำแล้วด้วยกุศลจิต เพราะการระลึกถึง ระลึกถึงสิ่งที่ได้กระทำแล้วด้วยกุศลจิตก็ได้ ด้วยอกุศลจิตก็ได้

    ระลึกด้วยกุศลจิต เคยตั้งใจไว้ว่าจะกระทำกุศล และหลงลืมไป ไม่ได้ทำ ขณะที่ระลึกได้ว่าไม่ได้ทำกุศลซึ่งตั้งใจจะกระทำ และกระทำ ขณะนั้นเป็นการระลึกด้วยกุศลจิต แต่การระลึกเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมาเป็นเรื่องราวต่างๆ ซึ่งไม่ใช่เป็นไป ในกุศล ขณะนั้นเป็นการระลึกด้วยอกุศลจิต

    ถามว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น เหตุใดจึงตรัสในพระสูตรว่า มิจฉาสติ

    ตอบว่า ก็มิจฉาสตินั้น ทรงกระทำให้เป็นเทศนาโดยปริยายในพระสูตรนั้น เพื่อจะยังมิจฉามรรคและมิจฉัตตะให้บริบูรณ์ เพราะอกุศลขันธ์ทั้งหลายเป็นธรรมเว้นจากสติ และเพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อสติ

    อกุศลนอกจากจะไม่มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วยแล้ว ยังเป็นปฏิปักษ์ต่อสติด้วย เพราะว่ากำลังยึด กำลังติด กำลังประพฤติในข้อปฏิบัติที่ผิด เพราะฉะนั้น จึงไม่สามารถละทิ้งในขณะนั้นเพื่อที่จะให้สติปัฏฐานเกิดได้

    แต่มิจฉาสตินี้ว่าโดยนิปริยาย คือ โดยตรง ย่อมไม่มี ฉะนั้น จึงไม่ทรงถือเอา

    คือ จึงไม่ใช่สติ ในขณะที่ระลึกที่ไม่ใช่กุศล

    อนึ่ง ปัญญาย่อมไม่มีในจิตของคนอันธพาล ฉะนั้น จึงไม่ทรงถือเอา

    คือ ความรู้ผิดทั้งหมดไม่ใช่ปัญญา

    ถามว่า ปรีชาหลอกลวงไม่มีแก่คนมีทิฏฐิทั้งหลายหรือ

    คือ คนมีทิฏฐิไม่ใช่จะหลอกลวงไม่เป็น แต่มีความสามารถในการที่จะหลอกลวงด้วย เพราะฉะนั้น ก็มีคำถามว่า ปรีชาหลอกลวงไม่มีแก่คนมีทิฏฐิทั้งหลายหรือ

    ตอบว่า มี แต่นั่นไม่ใช่ปัญญา นั่นชื่อว่ามายา

    คือ ความไม่จริง มายานั้นโดยอรรถ ได้แก่ ตัณหานั่นเอง

    ใครจะมีมายาหรือว่ามีมายาอยู่ หรือว่าเป็นผู้ที่ไม่ตรง ในขณะนั้นให้ทราบว่าเป็นเพราะโลภมูลจิต

    ก็จิตนี้มีความกระวนกระวาย หนัก หยาบ กระด้าง ไม่ควรแก่การงาน ล้า คดโกง เหตุนั้นจึงไม่ทรงถือเอาธรรมทั้ง ๖ คู่ มีปัสสัทธิเป็นต้น

    หมายความว่า ในอกุศลจิตไม่มีโสภณสาธารณเจตสิก ๖ คู่ ดังที่ได้กล่าวถึง เพราะอกุศลจิตทุกดวงมีความกระวนกระวาย หนัก หยาบ กระด้าง ไม่ควรแก่ การงาน ล้า คดโกง

    เพราะถ้าเป็นฝ่ายโสภณธรรม คือ ปัสสัทธิ ได้แก่ กายปัสสัทธิเจตสิก และจิตตปัสสัทธิเจตสิก กายปัสสัทธิเจตสิก เป็นเจตสิกที่ทำให้เจตสิกอื่นทั้งหลายที่เกิดร่วมด้วยสงบ ไม่กระวนกระวาย จิตตปัสสัทธิเจตสิก เป็นเจตสิกที่ทำให้จิตสงบ ไม่ กระวนกระวาย เพราะฉะนั้น อกุศลธรรมกระวนกระวาย เวลาที่จิตเป็นโลภะ ขณะนั้นจะไม่มีกายปัสสัทธิและจิตตปัสสัทธิเจตสิก

    อกุศลจิตหนัก เพราะฉะนั้น จึงไม่มีกายลหุตาเจตสิก และจิตตลหุตาเจตสิก เพราะกายลหุตาเจตสิกและจิตตลหุตาเจตสิกเป็นเจตสิกที่ทำให้กุศลเป็นสภาพที่เบา เวลาที่รู้สึกหนักอกหนักใจ ขณะนั้นให้ทราบว่า เป็นอกุศลแน่นอน

    แต่ถ้ามีสติปัญญาที่พิจารณาธรรมถูกต้อง โดยเห็นว่าเป็นสิ่งซึ่งไม่ควรจะจริงจัง หรือถือเป็นสาระ เพราะเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและดับไป ถ้ามีปัญญาเข้าใจสภาพธรรมได้ถูกต้องในสภาพที่เป็นธรรม ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ในขณะนั้นก็มีกายลหุตาเจตสิกและจิตตลหุตาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ซึ่งเป็นสภาพที่เบา ตรงกันข้ามกับลักษณะของอกุศลธรรมซึ่งหนัก

    อกุศลจิตเป็นสภาพที่หยาบกระด้าง ตรงกันข้ามกับกุศลจิต ซึ่งเป็นสภาพที่อ่อน คือ ประกอบด้วยกายมุทุตาเจตสิก และจิตตมุทุตาเจตสิก

    อกุศลจิตเป็นสภาพที่ไม่ควรแก่การงาน จึงไม่ประกอบด้วยกัมมัญญตา คือ กายกัมมัญญตาเจตสิก และจิตตกัมมัญญตาเจตสิก แสดงให้เห็นว่า เป็นสภาพที่ตรงกันข้ามกัน ทางฝ่ายอกุศลกระด้าง ไม่ควรแก่การงานที่ถูก ที่ดี

    อกุศลจิตนั้นเป็นสภาพที่ล้า ตรงกันข้ามกับกุศลจิตที่ประกอบด้วยปาคุญญตา ได้แก่ กายปาคุญญตาเจตสิก และจิตตปาคุญญตาเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพที่คล่อง ไวต่อการที่จะเป็นกุศล

    คนที่กุศลจิตเกิดบ่อยๆ คงจะสังเกตความคล่อง ความไวของกุศล คือ ไม่รีรอ ไม่รู้สึกลำบากในการที่จะทำกุศล แต่คนที่ไม่คล่องเพราะมีอกุศลจิตเกิดมากและ กุศลจิตเกิดน้อย เวลาที่กุศลจิตจะเกิดรู้สึกว่าหนักๆ ยาก ถ่วงๆ ไม่ค่อยจะเกิด ไม่ค่อยจะเป็นไปโดยรวดเร็วหรือว่าโดยสะดวก เพราะเหตุว่า ขณะใดที่เป็นกุศล ขณะนั้นจะประกอบด้วยกายปาคุญญตาเจตสิกและจิตตปาคุญญตาเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพที่คล่อง สะดวกแก่การกุศล

    นอกจากนั้นแล้ว อกุศลจิตคดโกง แต่กุศลจิตไม่คดโกง เพราะประกอบด้วย กายุชุกตา และจิตตุชุกตา กายุชุกตาทำให้เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยตรง จิตตุชุกตาทำให้จิตในขณะนั้นเป็นสภาพที่ตรง คือ เป็นกุศล

    ข้อความใน พระอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา แสดงลักษณะความสงบของจิตว่า

    ภาวะ คือ ความสงบเป็นต้นของจิตนั่นเอง จะมีได้เพราะโสภณสาธารณเจตสิก ๖ คู่ เป็นต้น

    คือ ขณะใดที่กายปัสสัทธิเจตสิกและจิตตปัสสัทธิเจตสิกไม่เกิด ไม่มี สภาพธรรมอื่นที่จะทำให้จิตสงบได้

    เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคหาได้ตรัสไว้ในสมาธิเป็นต้นไม่

    คือ ไม่ได้ทรงแสดงไว้ว่า สมาธิมีลักษณะที่สงบ แต่ทรงแสดงไว้ว่า ภาวะ คือ ความสงบเป็นต้นของจิตนั่นเอง จะมีได้เพราะจิตตปัสสัทธิเป็นต้น

    เพราะฉะนั้น ที่บางคนคิดว่าจะต้องเป็นสมาธิก่อนจึงสงบ ในขณะนั้นลืมพิจารณาว่า ขณะที่จิตไม่ซัดส่ายไปสู่อารมณ์ต่างๆ และใช้คำว่าสงบ แต่ในขณะที่เป็นอกุศลนั้น ไม่มีโสภณธรรมเจตสิกซึ่งทำให้จิตสงบ

    ในคราวก่อนได้กล่าวถึงอกุศลจิต ซึ่งเป็นโลภมูลจิตดวงที่ ๑ ที่เป็นมิจฉาสมาธิ เพราะอกุศลจิต คือ โลภมูลจิตนั้น มีตั้งแต่โดยทั่วไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย จนถึงแม้ในข้อปฏิบัติ ก็ย่อมมีการยึดถือข้อปฏิบัติที่ผิดได้เมื่อเกิดร่วมกับความเห็นผิด เพราะฉะนั้น ทุกคนควรพิจารณาและเป็นผู้ที่ตรงต่อการมีพระรัตนตรัยเป็นสรณะว่า แต่ละครั้ง แต่ละขณะ มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะมั่นคงแค่ไหน

    บางท่านอาจจะนับถือบูชาบุคคลอื่นยิ่งกว่าพระรัตนตรัย เช่น เมื่อมีข่าวเล่าลือว่า บุคคลนั้นบุคคลนี้สามารถหยิบยื่นแก้วแหวนเงินทองให้ได้ ก็คิดว่าเป็นผู้ที่ควรเคารพบูชามาก แต่ในขณะนั้นเป็นผู้ตรงหรือเปล่าที่จะพิจารณาในเหตุในผล หรือแม้แต่การที่จะขอสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม ไม่ว่าจะขอจากใคร เป็นผู้ที่ตรงหรือเปล่า ในขณะนั้นว่า ผู้อื่นสามารถจะบันดาลให้เป็นไปตามที่ขอได้ไหม และถ้าเกิดเป็นไปได้ จะเข้าใจว่าอย่างไร ก็ต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อไปอีกที่จะพิจารณาเหตุผลว่า เพราะอะไร

    ทุกท่านต้องมีขณะซึ่งเป็นทุกข์ หรือว่ายามคับขันในชีวิต ในขณะนั้นลองพิจารณาดูว่า ปกติท่านทำอย่างไรเวลาที่เป็นทุกข์หรือว่าในยามคับขัน ผู้ที่มี พระรัตนตรัยเป็นสรณะ ในขณะนั้นจะทำอย่างไร

    เคยขอไหม คุณพระช่วย เวลาตกใจขอให้คุณพระช่วย เรื่องของการขอนี่ เป็นเรื่องที่ง่ายมากต่อการที่จะนึกขอ แต่ถ้ารู้จริงๆ ว่า สิ่งใดๆ ที่ต้องการย่อม ไม่สามารถจะสำเร็จได้เพราะการขอ แต่ต้องทำกุศลของตนเอง เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นก็คงจะทำกระทำกุศลมากกว่าที่จะขอ

    ถ้าเป็นสิ่งที่ขอได้ง่ายๆ ทุกคนคงขอกันมาก แต่เมื่อบอกว่า สิ่งที่ขอทั้งหมดนั้นจะสำเร็จได้ด้วยตนเอง คือ ด้วยการทำกุศล จะมีใครคิดที่จะทำกุศลให้พอเพียงกับการขอสิ่งต่างๆ เหล่านั้นบ้างไหม

    เวลาขอ ของ่าย แต่เวลาที่จะทำกุศลเพื่อที่จะให้ได้สิ่งนั้นมาด้วยตนเอง ต้องหยุดยั้งแล้วใช่ไหมว่า กุศลนี้พอแก่การที่จะขอให้ได้สิ่งที่ปรารถนามากๆ นั้นหรือเปล่า แต่ถ้าไม่ชี้ให้เห็นว่า ผลนั้นย่อมมาจากกุศลของตนเอง ก็ยังคงจะขอกันอย่างง่ายๆ และขอมากๆ อยู่ตลอด

    ขอกล่าวถึงชาดกเรื่องหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ในครั้งที่บุคคลในอดีตท่านมีความทุกข์ ท่านทำอย่างไร คือ ในครั้งที่พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลนักขับร้อง ใน คุตติลชาดก

    ที่กล่าวถึงชาดก ก็เพราะไม่อยากจะให้ขาดส่วนหนึ่งส่วนใดในพระไตรปิฎก ซึ่งย่อมเป็นประโยชน์เกื้อกูลให้เห็นสภาพการสะสมของจิตของแต่ละชาติๆ ว่า เหตุที่ได้สะสมไว้ในจิตในแต่ละชาติทำให้จิตในชาตินี้เกิดขึ้นเป็นไปอย่างนี้ ซึ่งแต่ละบุคคลไม่สามารถรู้อดีตชาติว่า ทำไมจิตของท่านวันนี้คิดอย่างนี้ ทำอย่างนี้ ทางกาย ทางวาจา แต่ให้ทราบว่า ในชาติก่อนๆ ต้องเคยคิดอย่างนี้ เคยทำอย่างนี้มาแล้ว สะสมเป็นปัจจัยทำให้จิตในชาตินี้เกิดขึ้นเป็นไปอย่างนี้ แต่ในเมื่อแต่ละท่านไม่สามารถทราบอดีตชาติของแต่ละท่านได้ พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงเหตุที่เกิดในอดีตว่า ในอดีตชาติของท่านเหล่านั้นได้เคยมีชีวิตอย่างไร และมีการกระทำทางกาย ทางวาจาอย่างไร

    ข้อความใน คุตติลชาดก มีว่า

    ข้าพระองค์ได้สอนให้ศิษย์ชื่อมุสิละเรียนวิชาดีดพิณ ๗ สาย มีเสียงไพเราะ จับใจคนฟัง เขากลับมาขันดีดพิณสู้ข้าพระองค์ ณ ท่ามกลางสนาม ข้าแต่ท้าวโกสีย์ ขอพระองค์จงเป็นที่พึ่งของข้าพระองค์เถิด

    ขอไหม ขอให้บุคคลอื่นเป็นที่พึ่ง แต่ก็เหมือนกับการขอให้เพื่อนฝูงช่วยเหลือ ยามมีทุกข์ ถ้าท่านสามารถรู้ว่าใครจะช่วยได้ ท่านก็คงขอให้บุคคลนั้นช่วย เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นเทพก็ย่อมมีความสามารถเก่งกว่ามนุษย์ แต่พระโพธิสัตว์ไม่ได้ติดสินบนว่า จะถวายอะไรถ้าพระอินทร์ได้ช่วยท่าน

    จะเห็นได้ว่า การที่จะเข้าใจเหตุและผลตรง จะต้องเริ่มสะสมมา เพราะถ้าเพียงแต่ขอโดยให้สินบน เช่น ถ้าสำเร็จแล้วจะให้สิ่งนั้นสิ่งนี้ จะถูกต้องไหมในการที่จะให้บุคคลอื่นเกิดกุศลจิตและช่วยเหลือ และทำไมเทวดายังจะต้องการสิ่งที่ท่านให้ เช่น บางคนกล่าวว่าจะถวายไข่ ไม่ทราบว่าเพราะอะไรเทวดาสนใจที่จะได้ไข่ ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณา แม้เมื่อครั้งที่พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลนักขับร้อง และในยามทุกข์ก็ได้ขอให้พระอินทร์ช่วย แต่ไม่ได้มีความเห็นผิดว่า เมื่อช่วยแล้วจะถวายสิ่งหนึ่งสิ่งใดแก่พระอินทร์เป็นการตอบแทน เพราะพระอินทร์เองก็เป็นผู้ที่เจริญกุศล เมื่อมีสิ่งซึ่งสามารถจะช่วยได้เพราะกรรมของบุคคลนั้น ก็ช่วย

    เรื่องของสภาพธรรม เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ถ้าได้เข้าใจถึงขณะจิตที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยว่า ต่างเป็นปัจจัยซึ่งกันและกันอย่างไร จะทำให้ค่อยๆ คลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เพราะแม้โลภมูลจิตดวงที่ ๑ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและดับไป ก็ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยถึง ๑๙ ดวง ซึ่งเจตสิกแต่ละอย่างก็เป็นสภาพธรรมที่ต่างอาศัยกันและกันเกิดขึ้นทำกิจของตนและดับไป แต่ถ้าไม่รู้ ขณะใดที่โลภมูลจิตเกิดขึ้น ขณะนั้นก็เป็นเราด้วยความไม่รู้

    เพราะฉะนั้น เพียงชั่วขณะจิตเดียว แสดงให้เห็นว่า โลภมูลจิตนั้นมีปัจจัยอะไรบ้าง โดยสภาพธรรมที่เกิดร่วมกันนั่นเองต่างเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน อาศัยกันและกันจึงเกิดขึ้น ถ้าปราศจากกันแล้วก็เกิดไม่ได้เลย

    สำหรับโลภมูลจิตดวงที่ ๑ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๑๙ ดวง จะขอทบทวนไปเรื่อยๆ สำหรับท่านที่ยังไม่คุ้นเคยกับเรื่องของเจตสิก

    เจตสิก ๑๙ ดวงที่เกิดร่วมกับโลภมูลจิตดวงที่ ๑ คือ อัญญสมานาเจตสิก ๑๓ ดวง และอกุศลเจตสิก ๖ ดวง

    อัญญสมานาเจตสิก ได้แก่ สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ คือ ผัสสเจตสิก ๑ เวทนาเจตสิก ๑ สัญญาเจตสิก ๑ เจตนาเจตสิก ๑ เอกัคคตาเจตสิก ๑ ชีวิตินทริยเจตสิก ๑ มนสิการเจตสิก ๑ เจตสิก ๗ ดวงนี้ต้องเกิดกับจิตทุกดวง ไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทใดทั้งสิ้น

    นอกจากนั้น มีปกิณณกเจตสิก ๖ ดวง ซึ่งเกิดกับจิตได้บางดวง และเว้น ไม่เกิดกับจิตบางดวง แต่สำหรับโลภมูลจิตดวงที่ ๑ ปกิณณกเจตสิกเกิดร่วมด้วยทั้ง ๖ ดวง คือ วิตกเจตสิก ๑ วิจารเจตสิก ๑ อธิโมกขเจตสิก ๑ วิริยเจตสิก ๑ ปีติเจตสิก ๑ ฉันทเจตสิก ๑

    ขณะนี้เอง เพียงแต่ไม่รู้ว่าขณะใดสภาพธรรมใดเกิดขึ้นเป็นลักษณะของเจตสิกประเภทไหน ถ้าเป็นอกุศลจิต เช่น โลภมูลจิตดวงที่ ๑ ก็จะต้องประกอบด้วย อกุศลเจตสิก คือ โมจตุกะ ๔ ได้แก่ โมหเจตสิก ๑ อหิริกเจตสิก ๑ อโนตตัปปเจตสิก ๑ อุทธัจจเจตสิก ๑ ซึ่งโมจตุกะ ๔ นี้ต้องเกิดกับอกุศลจิตทุกดวง แต่เมื่ออกุศลจิตดวงนี้เป็นประเภทโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ จึงมีอกุศลเจตสิกอีก ๒ ดวงเกิดร่วมด้วย คือ โลภเจตสิก ๑ และทิฏฐิเจตสิก ๑

    โลภมูลจิตดวงที่ ๒ คือ โสมนัสสสหคตัง ทิฏฐิคตสัมปยุตตัง สสังขาริกัง ต่างกับโลภมูลจิตดวงที่ ๑ โดยเป็นสสังขาริกัง แต่โลภมูลจิตดวงที่ ๑ เป็นอสังขาริกัง สำหรับเวทนาเหมือนกัน คือ เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา และเกิดพร้อมกับความเห็นผิด แต่โลภมูลจิตดวงที่ ๑ มีกำลังกล้า โลภมูลจิตดวงที่ ๒ มีกำลังอ่อน เกิดโดยอาศัยการชักจูงได้ ซึ่งใน อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ พรรณนาอกุศลบทภาชนียะ มีข้อความที่อธิบายสสังขาระ คือ จิตที่เกิดโดยมีการชักจูง ว่า

    ในอกุศลจิตดวงที่ ๒ ต่างกันแต่บทว่า สสังขาเรนะ ก็อกุศลจิตดวงนี้ ย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ประกอบด้วยโสมนัสในอารมณ์ทั้ง ๖ ยังโลภะให้เกิดขึ้น ถือผิด โดยนัยว่า สัตว์ๆ ดังนี้เป็นต้น ก็จริงอยู่

    หมายความว่า ปกติธรรมดาผู้ที่ไม่ใช่พระอริยบุคคลยังมีสักกายทิฏฐิ คือ ยังมีความเห็นผิดในสภาพธรรมที่ปรากฏว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคลจริงๆ ที่จะให้เห็นเป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละอย่างเท่านั้นที่กำลังปรากฏ ต้องอาศัยการอบรมเจริญปัญญาอย่างมากที่จะน้อมพิจารณาสภาพธรรมทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จึงจะสามารถแยกลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดสืบต่อกันตามทวารต่างๆ จนเสมือนปรากฏว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ ได้

    เช่น ในขณะที่กำลังเห็นในขณะนี้ ถ้าปัญญายังไม่อบรมเจริญถึงขั้นที่จะประจักษ์แจ้งว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาไม่ใช่สัตว์ บุคคลใดๆ ทั้งสิ้น เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่มีจริง และกระทบกับจักขุปสาทจึงปรากฏเท่านั้น ก็ขอให้คิดถึงความจริงอันนี้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่สิ่งใดๆ เลย เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งมีจริง และปรากฏให้เห็นได้เมื่อกระทบกับจักขุปสาทเท่านั้น

    สำหรับโลภมูลจิตที่เป็นสสังขาริก ข้อความอุปมาใน อัฏฐสาลินี มีว่า

    กุลบุตรที่ปรารถนาธิดาตระกูลของมิจฉาทิฏฐิ แต่เขาเหล่านั้น คือ พวกมิจฉาทิฏฐิ ไม่ยอมยกธิดาให้ ด้วยอ้างว่า พวกท่านเป็นคนถือทิฏฐิอื่น ต่อมาพวกญาติเหล่าอื่นบอกให้ยกให้ด้วยตกลงว่า ท่านผู้นี้จะยอมกระทำพิธีที่พวกท่านกระทำ กุลบุตรผู้นั้นก็เข้าไปหาเดียรถีย์ทีเดียวร่วมกับพวกเขาเหล่านั้น ทีแรกก็ยังมีความลังเลอยู่ ครั้นล่วงกาลนานไปก็ชอบใจลัทธิว่า กิริยาของเดียรถีย์เหล่านั้นน่าชอบใจ แล้วก็ยึดถือเป็นทิฏฐิ

    คือ มีความเห็นเหมือนกัน จากการที่ไม่เห็นด้วย แต่เมื่อเข้าใกล้คบหาสมาคม ทีแรกก็ยังลังเล แต่แล้วนานเข้าๆ ก็ชอบใจลัทธิความเห็นนั้นว่า กิริยาของเดียรถีย์เหล่านั้นน่าชอบใจ แล้วก็ยึดถือเป็นทิฏฐิ

    อกุศลดวงนี้พึงทราบว่า ย่อมได้ในกาลเห็นปานนี้ เพราะเกิดขึ้นด้วยหมู่แห่งปัจจัย พร้อมทั้งปโยคะ คือ การชักจูง พร้อมทั้งอุบาย เหตุที่เป็นสสังขาริกจิต

    แสดงถึงความสำคัญของการคบหาสมาคม หรือการโฆษณาต่างๆ ซึ่งมีอิทธิพล หรือการที่ค่อยๆ คุ้นกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้น ก็ย่อมจะมีความโน้มเอียง เพราะถูกชักจูงไป โดยที่ตอนแรกก็ยังไม่มีความเห็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น จิตที่เกิดขึ้นโดยอาศัยการ ชักจูงจึงเป็นจิตที่ไม่มีกำลัง เป็นประเภทสสังขาริก แม้ความเห็นก็ย่อมจะค่อยๆ เปลี่ยนได้ หรือว่าความชอบความพอใจทุกอย่าง จะเห็นได้ว่า ถ้าค่อยๆ คุ้นขึ้นทีละน้อย ก็ย่อมมีความพอใจที่จะเปลี่ยนแปลงไปได้ จากการที่ไม่เคยชอบหรือไม่เคยพอใจ เช่น การบริโภคอาหาร ตอนแรกไม่ชอบรสนั้น แต่เมื่อรับประทานบ่อยๆ ค่อยๆ คุ้น ทีละนิดทีละน้อยกับกลิ่นกับรสต่างๆ ภายหลังก็มีความพอใจในรสนั้นได้

    สำหรับโลภมูลจิตดวงที่ ๒ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่ากับโลภมูลจิตดวงที่ ๑ คือ มีอัญญสมานาเจตสิกทั้ง ๑๓ ดวง ได้แก่ ผัสสเจตสิก เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก เจตนาเจตสิก เอกัคคตาเจตสิก ชีวิตินทริยเจตสิก มนสิการเจตสิก ซึ่งเป็น สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ และปกิณณกเจตสิก ๖ คือ วิตกเจตสิก วิจารเจตสิก อธิโมกขเจตสิก วิริยเจตสิก ฉันทเจตสิก ปีติเจตสิก และอกุศลสาธารณเจตสิก ๔ คือ โมหเจตสิก ๑ อหิริกเจตสิก ๑ อโนตตัปปเจตสิก ๑ อุทธัจจเจตสิก ๑ อกุศลเจตสิกอีก ๒ ดวง คือ โลภเจตสิก ๑ ทิฏฐิเจตสิก ๑ รวมเป็นเจตสิก ๑๙ ดวง

    นอกจากนั้น สำหรับโลภมูลจิตซึ่งเป็นสสังขาริกที่มีกำลังอ่อน จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยได้อีก ๒ ดวง แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง

    สำหรับเจตสิกที่จะเกิดกับโลภมูลจิตสสังขาริก ๒ ดวงนี้ ต้องเป็นอกุศลเจตสิก เพราะว่าโสภณเจตสิกจะเกิดกับอกุศลจิตไม่ได้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 19
    23 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ