จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 085


    ๓. อตีตภวังค์ ได้แก่ ภวังค์ที่อารมณ์ผ่านปสาทรูปไปกระทบ ถ้าใช้คำว่า อตีตภวังค์ หมายความว่า อารมณ์ คือ รูป กระทบกับปสาทรูปหนึ่งปสาทรูปใดใน ๕ ปสาทรูป และก็กระทบภวังค์ ซึ่งภวังค์ที่กระทบนั้น ชื่อว่าอตีตภวังค์

    ๔. ภวังคจลนะ คือ ภวังค์ที่ไหวตามอารมณ์อื่นที่กระทบ

    ๕. ภวังคุปัจเฉทะ คือ ภวังค์ดวงสุดท้ายของกระแสภวังค์ที่ดำรงภพชาติไว้ ให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้นทำกิจอื่นและมีอารมณ์อื่น

    เพราะฉะนั้น จิตที่เกิดต่อจากภวังคุปัจเฉทะ ต้องมีอารมณ์อื่น และเป็นจิตอื่นซึ่งไม่ใช่ภวังคจิต

    สำหรับทางมโนทวารวิถี ไม่มีอตีตภวังค์ เนื่องจากไม่ได้เกิดขึ้นเพราะอารมณ์กระทบกับปสาทรูป แต่เกิดขึ้นเพราะอารมณ์กระทบจิต จึงทำให้ภวังคจลนะเกิดขึ้นไหวตามอารมณ์ที่กระทบและดับไป ภวังคุปัจเฉทะก็เกิดต่อ เป็นกระแสภวังค์ดวงสุดท้าย และมโนทวาราวัชชนจิตจึงเกิดขึ้นเป็นวิถีจิตแรกทางมโนทวาร

    ผู้ฟัง อารมณ์กระทบกับอตีตภวังค์ กระทบอย่างไร ปกติถ้าอารมณ์กระทบกับจิต จิตต้องรู้อารมณ์นั้น ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เสียงกระทบกับโสตปสาท แต่ถ้าไม่กระทบกับอตีตภวังค์ จะไม่มีการ ได้ยินเลย

    ผู้ฟัง ที่ว่ากระทบกับอตีตภวังค์นั้น จริงๆ แล้วกระทบกับปสาทรูป

    ท่านอาจารย์ อตีตภวังค์ คือ ภวังค์ที่อารมณ์กระทบกับปสาทรูป ในขณะที่อารมณ์กระทบกับปสาทรูปนั่นเอง ก็กระทบกับภวังค์ด้วย ภวังค์ที่ถูกกระทบ ชื่อว่าอตีตภวังค์ เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นอตีตภวังค์ขณะไหน ที่ไหนในพระไตรปิฎก ก็รู้ว่าเป็นภวังค์ที่อารมณ์กระทบกับปสาทรูป และกระทบกับอตีตภวังค์ด้วย

    ผู้ฟัง ในเมื่ออตีตภวังค์ถูกอารมณ์กระทบ อตีตภวังค์จะรู้อารมณ์อะไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าเสียงไม่เกิดขึ้น ภวังค์ก็เกิดดับสืบต่อไปเรื่อยๆ ถ้าเสียงไม่เกิดขึ้นกระทบกับโสตปสาท ภวังคจิตก็เกิดดับสืบต่อเป็นภวังค์อยู่เรื่อยๆ แต่เพราะเสียงเกิดและกระทบกับโสตปสาท และกระทบกับภวังค์ ซึ่งภวังค์ที่ถูกกระทบนั้น เป็นเครื่องหมายให้รู้ว่า เป็นภวังค์ที่ถูกกระทบด้วยรูปที่กระทบกับปสาท

    ผู้ฟัง ตอนกระทบมีลักษณะไหม คือ ปกติเมื่อจิตกระทบกับอารมณ์ ผัสสะจะรู้อารมณ์นั้น ใช้คำว่ากระทบ จึงสงสัยว่า ปกติอตีตภวังค์มีอารมณ์เดียวกับ ปฏิสนธิจิต ถ้าอตีตภวังค์ถูกอารมณ์อื่นกระทบ แต่อตีตภวังค์ก็ไม่รู้อารมณ์นั้น เพราะต้องรู้อารมณ์เดิมนั้นอยู่

    ท่านอาจารย์ ยังไม่รู้ เพราะยังเป็นภวังค์ ภวังค์เปลี่ยนอารมณ์ไม่ได้เลย แต่ว่าเมื่อรูป คือ เสียง กระทบกับโสตปสาท ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยหรือ หรือว่ามีการกระทบกับภวังค์ จึงมีการได้ยินเกิดขึ้น เพราะถ้าไม่กระทบภวังค์ ก็ยังคงเป็นภวังค์อยู่เรื่อยๆ แต่การที่เสียงกระทบกับโสตปสาท เป็นปัจจัยที่จะทำให้มีการได้ยินเกิดขึ้น แต่ก่อนที่จะมีการ ได้ยิน จะต้องกระทบกับภวังค์ เพราะว่าจิตกำลังเป็นภวังค์อยู่

    ผู้ฟัง เป็นปัจจัยแก่อตีตภวังค์ด้วยหรือ

    ท่านอาจารย์ ไม่เป็นปัจจัยแก่อตีตภวังค์ เพราะอตีตภวังค์มีอารมณ์เดียวกับ ปฏิสนธิจิต แต่ต้องมีการกระทบ ถ้าไม่มีการกระทบ โสตปสาทรูปไม่มีความหมายเลย เพราะจิตได้ยินเกิดเองไม่ได้แน่นอน แต่จะเกิดได้ต่อเมื่อเสียงกระทบกับโสตปสาทรูป เพราะฉะนั้น การที่เสียงกระทบกับโสตปสาทรูปนั่นเองเป็นปัจจัยให้จิตได้ยินเกิดขึ้น โดยต้องกระทบกับภวังค์ก่อน และถ้ากระทบโดยที่ภวังคจลนะไม่เกิด ภวังคุปัจเฉทะ ไม่เกิด โสตทวารวิถีจิตก็เกิดไม่ได้

    ที่จะได้ยินแต่ละครั้ง ต้องอาศัยปัจจัย โดยอนันตรปัจจัยด้วย ตั้งแต่อตีตภวังค์ ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ ปัญจทวาราวัชชนะ นี่เป็นโดยอนันตรปัจจัยทั้งสิ้น

    ปฏิสนธิเกิดขึ้นขณะเดียวและดับไป สั้นที่สุด เล็กน้อยที่สุด ต่อจากนั้นภวังคจิตก็เกิดดับสืบต่อ จนกว่าวิถีจิตจะเกิดเป็นวิถีจิตแรกทางมโนทวาร โดยอารมณ์กระทบใจทำให้ภวังคจลนะไหวตามอารมณ์ที่กระทบนั้นและดับไป ภวังคุปัจเฉทะ เกิดต่อและก็ดับ เป็นมโนทวาร ต่อจากนั้นมโนทวาราวัชชนจิตก็เกิด และดับไป

    สำหรับชวนวิถีจิตที่เกิดต่อจากมโนทวาราวัชชนะ ชวนะแรกของทุกภพทุกชาติเป็นโลภมูลจิต โลภมูลจิตซึ่งทุกคนมีทุกวันเป็นประจำ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่สูญหายเลย เก็บสะสมเป็นปกตูปนิสสยปัจจัย ทำให้ ชวนวิถีแรกที่เกิดต่อจากมโนทวาราวัชชนจิตเป็นโลภมูลจิต

    พอรู้สึกตัว เพียงรู้สึกตัว ทางใจก็เป็นความยินดีพอใจแล้วในภพชาติที่เกิด น่ากลัวไหม เพียงรู้สึกตัวนิดเดียวหลังจากปฏิสนธิจิตดับไป ภวังคจิตดับไป และเริ่มรู้สึกตัวทางใจ ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยินอะไรทั้งสิ้น โลภชวนวิถีก็เกิดดับสืบต่อ ๗ ขณะ ฟังแล้วกลัว ใช่ไหม แต่อย่าลืม นี่เป็นระยะที่สั้นที่สุด คือ ๗ ขณะเท่านั้น หลังจากนั้นจะมีโลภชวนะเกิดอีกมากเท่าไรใครรู้บ้าง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จนกว่าจะตาย

    ถ้าเทียบแล้ว โลภชวนวิถี ๗ ขณะ ชวนะแรกของภพใหม่ หลังจากที่ปฏิสนธิจิต ภวังค์จิต และมโนทวาราวัชชนจิตดับไปแล้ว น้อยมาก เมื่อเทียบกับชีวิตประจำวัน ซึ่งเริ่มเจริญเติบโตขึ้น ยังไม่มีอะไรเลย ตาก็ยังไม่มี หูก็ยังไม่มี ถ้าเกิดในครรภ์ แต่ เมื่อตามีแล้ว ลองคิดดู โลภะเท่าไร

    ตั้งแต่เด็ก ก็มีความยินดีพอใจแบบเด็ก และวิจิตรขึ้นตามวันเวลา จนกว่าจะถึงเวลาที่จากโลกนี้ไป ความวิจิตรของโลภะทางตาจะมากเท่าไร และไม่ใช่แต่เฉพาะ ทางตาเท่านั้น ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจด้วย เพราะฉะนั้น ชวนวิถีที่เป็นโลภมูลจิต ๗ ขณะแรกยังไม่น่ากลัวเท่ากับเมื่อเจริญเติบโตขึ้น และมีโลภะที่วิจิตรต่างๆ เพิ่มขึ้นมากมาย ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ๆ เรื่อยๆ โลภะที่มีอยู่แล้วยังไม่พอ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ที่มีอยู่แล้วพอไหม ประดิษฐ์ใหม่อีก เพิ่มอีกเรื่อยๆ

    เพราะฉะนั้น จะเห็นพระมหากรุณาคุณของพระผู้มีพระภาค ซึ่งถ้าไม่ทรงแสดงพระธรรมโดยละเอียด จะไม่มีใครรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง ถ้าท่านผู้ฟังรู้จักตัวเองว่าไม่ดี ถูกหรือผิด

    โดยมากไม่ชอบเลยถ้ามีใครบอกว่าท่านไม่ดี แต่ตามความเป็นจริง ถ้า พระธรรมไม่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด จะมีใครรู้ตัวบ้างว่าไม่ดีเลย ไม่ดีอย่างมากมายด้วย คนอื่นที่กล่าวว่าท่านไม่ดี ยังไม่รู้ความจริงแท้ของใจของท่านซึ่งไม่ดียิ่งกว่าที่ คนอื่นเห็น หรือที่คนอื่นรู้ คนอื่นอาจจะเห็นเพียงบางครั้ง บางโอกาส บางเหตุการณ์ แต่ใจของท่านเองท่านสามารถรู้ได้จริงๆ ว่า สะสมความไม่ดีไว้มากกว่าที่คนอื่นเห็น และผู้ใดยอมรับความจริงว่าตนเองไม่ดี ผู้นั้นก็จะเริ่มอบรมเจริญกุศลเพื่อขัดเกลาอกุศลทั้งหลายให้เบาบาง

    แต่ตราบใดที่คิดว่าดีแล้ว อกุศลจะเพิ่มมากขึ้น เพราะไม่คิดที่จะละอกุศล เนื่องจากเข้าใจว่าดีแล้ว

    ผู้ฟัง โลภะเป็นกิเลสอย่างหนึ่งของมนุษย์ทุกคน และที่ว่าเกิดจากกรรม และเกิดจากกิเลสนั้น พอจะเข้าใจ แต่เราจะโทษสิ่งแวดล้อมได้ไหม เพราะตั้งแต่ เกิดมา จะทานข้าว หรือจะแต่งกาย จะไปไหน จะพูดจาอะไร ก็มีคนคอยทักท้วง หรือว่าสนับสนุนว่า อย่างนั้นดี อย่างนี้สวย จะกล่าวได้ไหมว่า ไม่ได้เกิดจากกรรมหรือกิเลสอย่างเดียว แต่เกิดจากสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะตลอดเวลาไม่เคยมีใครบอกเลยว่า ไม่ต้องสวย มีแต่บอกว่า ต้องสวย ต้องดี ต้องรวย ต้องเลิศ มีแต่คนคอยสนับสนุนอยู่ตลอดเวลา อย่างนี้จะใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น บุคคลอื่นจึงต่างกับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะไม่ว่าจะเป็นใครทั้งสิ้นก็สอนเพื่อให้มีโลภะ เว้นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์เดียวที่สอนให้ละโลภะ และให้เห็นโทษของโลภะตามความเป็นจริง นี่คือความต่างกันของผู้ที่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ากับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้ามีผู้วิเศษที่จะบันดาลทุกสิ่งทุกอย่างให้ทุกท่านตามความต้องการ และท่านก็ตื่นเต้นกับผู้วิเศษ ลืมแล้วว่า ผู้วิเศษนั้นไม่ได้แสดงหนทางที่จะทำให้ท่านหมดโลภะเลย ตรงกันข้ามผู้วิเศษนั้นกลับทำให้โลภะของท่านเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรจะตื่นเต้นกับผู้วิเศษอื่นซึ่งทำให้โลภะของท่านเพิ่ม

    แต่มีผู้ที่วิเศษด้วยพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณที่จะแสดงธรรมให้บุคคลอื่นได้เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง และสามารถจะประจักษ์แจ้งแทงตลอดในสภาพธรรมนั้นๆ ด้วย

    ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ตั้งแต่เด็กจนโตที่มีเมตตาช่วยสอนในสิ่งที่ดี แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถจะสอนให้ละโลภะ แต่สอนให้มีชีวิตในขอบเขตที่ดีตามสมควร เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นต้องศึกษาพระธรรม เพราะบุคคลอื่นไม่สามารถเป็นที่พึ่งได้ นอกจากพระรัตนตรัย

    ทุกท่านยังคงแสวงหาความสวยความงามอยู่ ไม่ใช่ว่าจะหมดไปได้ ในชีวิต ไม่มีใครที่จะอยู่ได้โดยไม่มีโลภะ แม้พระโสดาบันก็ยังมีโลภะ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ควรจะอบรมเจริญปัญญาเพื่อสามารถละโลภะด้วย ไม่ใช่เจริญโลภะอย่างเดียว โดยไม่แสวงหาทางดับโลภะเลย

    ผู้ฟัง ตอนไหนที่จะเห็นตัวโลภะได้ง่ายที่สุด ชัดเจนที่สุด โลภะนี่จะเห็นง่ายๆ ได้อย่างไร อย่างบางทีเรานึกว่า อยากทานอาหาร จะเห็นตอนนี้ได้ไหมว่า นี่คือโลภะ

    ท่านอาจารย์ ได้ แล้วแต่สติจะเกิดหรือไม่เกิด ถ้าสติไม่เกิด โลภะก็เกิดไปโดยไม่รู้ลักษณะของโลภะ แม้สิ่งนั้นจะเกิดอยู่เป็นประจำก็ยังไม่รู้ ต้องอาศัยพระปัญญาคุณ ที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงไว้ จึงจะพิจารณาได้

    ผู้ฟัง ถ้าปฏิสนธิในมนุษยภูมิ หรือเทวภูมิ หรือพรหมภูมิ ชวนวิถีแรกเป็นโลภะก็ไม่น่าสงสัย แต่ถ้าไปเกิดในอบายภูมิมีนรกเป็นต้น วิถีจิตแรกก็ยังเป็นโลภะ ไม่น่ามีอะไรที่ยินดี ทำไมยังเป็นโลภะ

    ท่านอาจารย์ ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเกิดที่ไหน เป็นใคร แต่เมื่อวิถีจิตเกิด วิถีแรกคือ มโนทวารวิถี เพราะอารมณ์กระทบจึงมีการเริ่มรู้สึกตัว เพียงแค่รู้สึกตัวเท่านั้น ยังไม่รู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย จึงยังไม่เห็นสิ่งที่ไม่ดี ยังไม่ได้ยินเสียงที่ไม่ดี ยังไม่ได้กลิ่นที่ไม่ดี ยังไม่ได้ลิ้มรสที่ไม่ดี ยังไม่ได้กระทบสัมผัสสิ่งที่ไม่ดี ในขณะนั้นยังไม่ได้รับผลของอกุศลกรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพียงแต่เริ่มรู้สึกตัวนิดเดียว โลภมูลจิตก็พอใจในภพที่เกิด ในสภาพ ในความที่มีชีวิตอยู่ในขณะนั้น ซึ่งแสดงว่าทุกคนไม่อยากจะสิ้นสุดภพชาติเลย

    บางคนบอกว่า ไม่ขอเกิดอีก จะไม่เกิดอีกไม่ได้ ไม่มีทางเป็นได้ที่จะไม่เกิด แต่ต้องมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้ไม่เกิด โดยการบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ จึงจะไม่เกิด

    เพราะฉะนั้น เมื่อเพียงเกิด ยังไม่ได้รับการทรมาน หรือยังไม่ได้รับผลของอกุศลกรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะว่ามโนทวารวิถีเกิดก่อน ในขณะนั้นจึงยินดีพอใจในชีวิต ในภพชาติที่มีอยู่ ที่เป็นอยู่ในขณะนั้น ไม่มีใครที่จะเว้นความพอใจในการมีชีวิตได้ ซึ่งในขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต

    ไม่มีใครสงสัยหรือว่า เป็นโลภมูลจิตดวงไหน โลภมูลจิตมี ๘ ดวง จะเป็นดวงไหน หรือผ่านไปแล้ว ไม่เป็นไร ดวงไหนก็ไม่เป็นไร เคยคิดสงสัยบ้างไหม

    สำหรับอกุศล จำแนกออกเป็นระดับขั้นต่างๆ ด้วย อกุศลที่เป็นอาสวะ เป็นอกุศลอย่างบางเบา ไหลอยู่เป็นประจำ เพราะหมักดองอยู่ในจิตสันดาน ไม่ว่าจะประสบกับรูป หรือเสียง หรือกลิ่น หรือรส หรือโผฏฐัพพะ ที่จะไม่ให้อาสวะเหล่านี้เกิดก็ยาก เพราะว่าสะสมมาเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์

    ธรรมสังคณีปกรณ์ อัตถุธารกัณฑ์ อาสวโคจฉกะ ข้อ ๙๑๓ แสดง อกุศลธรรมที่เป็นอาสวะ มีข้อความว่า

    อาสวะ ๔ คือ กามาสวะ ๑ ภวาสวะ ๑ ทิฏฐาสวะ ๑ อวิชชาสวะ ๑

    กามาสวะเกิดในโลภมูลจิต ๘ ดวง ภวาสวะเกิดในโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ๔ ดวง ทิฏฐาสวะเกิดในโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวง และอวิชชาสวะเกิดในอกุศลจิตทุกดวง

    นี่เป็นความต่างกัน

    กามาสวะ คือ ความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เกิดใน โลภมูลจิต ๘ ดวง

    ภวาสวะ คือ ความพอใจในภพ ในขันธ์ เกิดในโลภมูลจิต ๔ ดวง ที่ไม่ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ คือ เกิดในโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ๔ ดวง

    ทิฏฐาสวะ คือ ความพอใจในความเห็นผิด เกิดในโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวง

    สำหรับอวิชชาสวะ เกิดในอกุศลจิตทุกดวง

    เพราะฉะนั้น หลังจากที่ปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว ภวังคจิตดับไปแล้ว มโนทวาราวัชชนจิตดับไปแล้ว โลภมูลจิตที่เป็นโลภชวนะก็เกิด และก็มีอวิชชาสวะเกิดร่วมด้วยด้วย

    ผู้ฟัง อาจารย์ยังไม่ได้บอกเลยว่า โลภะดวงไหน

    ท่านอาจารย์ กามาสวะเกิดในโลภมูลจิต ๘ ดวง กามาสวะ คือ ความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ภวาสวะเกิดในโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ๔ ดวง ภวาสวะ คือ ความพอใจในภพ ในขันธ์ ทิฏฐาสวะ คือ ความเห็นผิด เกิดในโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ ดวง อวิชชาสวะเกิดในอกุศลจิตทุกดวง เพราะฉะนั้น โลภมูลจิตที่เกิดต่อจากมโนทวาราวัชชนจิต หลังจากที่ภวังคจิตและปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว เป็นดวงไหน

    ผู้ฟัง ขึ้นอยู่กับภูมิหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ลองคิดดู ตามความเป็นจริง ควรจะเป็นดวงไหนในโลภมูลจิต ๘ ดวง

    ผู้ฟัง ผมคิดว่า ถ้าในกามภูมิ คงจะเป็นโลภมูลจิตดวงใดดวงหนึ่งใน ๘ ดวง

    ท่านอาจารย์ เกิดมาก็มีทิฏฐิ ความเห็นผิดเลยหรือ เพียงแค่รู้สึกตัวขึ้นมานิดเดียว เท่านั้นเอง ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่ได้กลิ่น ยังไม่ได้ลิ้มรส ยังไม่ได้รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ยังไม่มีเรื่องราวใดๆ ทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ควรจะเป็นโลภมูลจิตดวงไหนใน ๘ ดวง

    ผู้ฟัง ทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ๔ ดวง

    ท่านอาจารย์ ทิฏฐิคตวิปปยุตต์ เพราะว่าเป็นภวาสวะ ความยินดีพอใจในภพ ในขันธ์ มีอยู่ทุกภูมิ ไม่ว่าจะเป็นในนรก หรือสัตว์ดิรัจฉาน เปรต อสุรกาย มนุษย์ เทวดา รูปพรหม หรืออรูปพรหม ก็มีความยินดีพอใจในภพ ในขันธ์ ในชีวิตที่มีอยู่ ในขณะนั้น

    ผู้ฟัง ไม่ยกเว้นแม้พระโพธิสัตว์ในชาติสุดท้ายหรือ

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้แสดงไว้ แต่อย่าลืมว่า ถ้าเป็นพระโพธิสัตว์ มีทางที่จะพิเศษจากบุคคลทั้งหลายได้ แต่ไม่ได้แสดงไว้ ในพระสูตรแสดงว่า พระโพธิสัตว์มีการรู้สึกตัวเมื่อปฏิสนธิ เพราะฉะนั้น ย่อมเป็นไปได้ที่ว่าวิถีจิตแรกอาจจะเป็นโลภมูลจิต เพราะว่า สั้นนิดเดียวเพียง ๗ ขณะ วิถีต่อไปก็เป็นมหากุศลได้สำหรับพระโพธิสัตว์ แต่ไม่ได้แสดงไว้ในพระสูตร นอกจากแสดงว่า พระโพธิสัตว์ทรงรู้สึกตัวในกาลไหนบ้าง เช่น ในขณะปฏิสนธิ ซึ่งบุคคลอื่นไม่สามารถจะเป็นอย่างนั้นได้

    ในคราวก่อนได้กล่าวถึงเรื่องโลภมูลจิตซึ่งเกิดอยู่เป็นประจำ และเป็นชวนวิถีแรกหลังจากที่ปฏิสนธิจิตและภวังคจิตที่เกิดสืบต่อดับไป วิถีจิตทางมโนทวารจะ เกิดก่อน โดยที่มโนทวาราวัชชนจิตดับไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ที่เกิดในภพภูมิไหนทั้งสิ้น โลภมูลจิตจะเกิดขึ้นกระทำกิจชวนะเกิดดับติดต่อกัน ๗ ขณะและดับไป ตามการสะสมของจิตซึ่งมีอยู่ในทุกภพทุกชาติเป็นประจำ เพราะฉะนั้น เมื่อโลภะสะสมไว้มากก็เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยทำให้เป็นชวนวิถีที่เกิดต่อจากมโนทวาราวัชชนะ เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้ศึกษาให้เข้าใจในเรื่องของโลภมูลจิต

    สำหรับโลภมูลจิต แม้จะเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะจิตหนึ่งเพราะ เหตุปัจจัยและดับไป แต่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงปัจจัยที่ทำให้เกิดโลภมูลจิตว่า ในขณะที่โลภมูลจิตเกิดขึ้นครั้งหนึ่งๆ นั้น มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไร ซึ่งขณะนี้ก็ไม่รู้เลยว่าโลภะหนึ่งขณะสั้นแค่ไหน แต่พระปัญญาคุณของพระผู้มีพระภาค ทรงสามารถที่จะทราบว่า ในขณะที่โลภมูลจิตเกิดนั้นมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไร และเป็นเจตสิกอะไรบ้าง ซึ่งใน อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ อธิบายเจตสิกโดยฐานะต่างๆ มีข้อความว่า

    แม้ถ้อยคำที่พระองค์ไม่ทรงทราบแล้วตรัส ก็ย่อมไม่มี

    แสดงว่าพระธรรมที่ทรงแสดงทั้งหมด เพราะทรงทราบ ไม่ใช่เพราะไม่ทรงทราบ

    พระองค์ทรงทราบทั้งหมดแล้วจึงตรัสทั้งนั้น แท้จริงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมทรงทราบหน้าที่แห่งธรรมนั้นๆ ครั้นทรงทราบหน้าที่นั้นแล้ว ทรงยกขึ้นจำแนกตามหน้าที่ อุปมาว่า น้ำหรือน้ำมันหลายชนิดที่ใส่ลงไปกวนในภาชนะเดียวกันตลอดวัน การมองดู ดมกลิ่น หรือลิ้มรส ก็อาจจะรู้ได้ว่าต่างกันเพราะสี กลิ่น และรสต่างกัน แม้จะเป็นได้ถึงอย่างนั้น การนั้นท่านก็พูดว่าทำได้ยาก แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อทรงจำแนกธรรม คือ จิตและเจตสิก ซึ่งไม่มีรูป อยู่ในอารมณ์เดียวกันเหล่านี้ออกเป็นแผนกๆ แล้วยกบัญญัติขึ้นตรัส ชื่อว่าทรงทำสิ่งที่ทำได้ยากยิ่งนัก

    ถ้าเอาน้ำมันต่างชนิดหลายๆ อย่าง น้ำผึ้ง น้ำอ้อย น้ำมัน หรือจะเป็นเครื่องปรุงหลายๆ อย่างใส่ลงไปกวนในภาชนะเดียวกันตลอดทั้งวัน ด้วยการดู หรือ ดมกลิ่น หรือลิ้มรส ก็อาจจะแยกได้ว่า รสอะไรแรง รสอะไรอ่อน เพราะฉะนั้น ในการปรุงอาหารแต่ละครั้ง ผู้ที่ชำนาญเพียงเห็นด้วยตาก็สามารถจะบอกได้ว่า สีที่ต่างกันนั้น ต่างกันเพราะอะไร หรือถ้าเป็นน้ำมันที่เข้ากันได้สนิทหลายชนิด ก็ยังสามารถที่จะบอกได้ด้วยความชำนาญ แม้ว่าจะใส่ลงไปกวนในภาชนะเดียวกันตลอดวัน ซึ่งนั่นเป็นเรื่องของความชำนาญในทางโลก แต่สำหรับสภาพธรรม คือ จิตและเจตสิกซึ่งไม่มีรูป และเป็นสภาพธรรมที่ใช้คำว่า อยู่ในอารมณ์เดียวกัน คือ รู้อารมณ์เดียวกัน แต่พระผู้มีพระภาคก็ยังแยกออกเป็นส่วนๆ และยกขึ้นตรัส เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ทรงทำสิ่งที่ทำได้ยากยิ่งนัก

    ถ้าเข้าใจเรื่องของปัจจัยต่างๆ จะเห็นได้ว่า ความละเอียดของธรรม นอกจากเรื่องของนามธรรม คือ จิตและเจตสิก ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงลักษณะของธรรมนั้นๆ โดยละเอียดแล้ว แม้แต่รูปของแต่ละบุคคลซึ่งความจริงแล้วละเอียดยิ่งเหมือนกัน ถ้าจะแตกย่อยออกไป ย่อมได้จนถึงขนาดที่เล็กที่สุด แม้ อย่างนั้นแต่ละรูปซึ่งเล็กที่สุด ซึ่งรวมเป็นกลุ่มที่แยกไม่ได้เป็นแต่ละกลุ่มนั้น ก็ยังเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน เกิดดับสืบต่อดำรงอยู่ตั้งแต่ปฏิสนธิในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ตราบจนกระทั่งถึงจุติ คือ ขณะที่เคลื่อนจากภูมินี้

    แสดงให้เห็นว่า แม้รูปธรรม อย่าคิดถึงตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าซึ่งเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ แต่ควรจะคิดถึงกลุ่มเล็กๆ เล็กที่สุดที่สามารถแยกย่อยออกไปโดยละเอียด และเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน รวมทั้งเป็นปัจจัยแก่นามธรรมด้วย จะเห็นได้ว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน และถ้าได้ศึกษาสภาพของธรรมโดยละเอียด ทั้งฝ่ายของรูปธรรมและนามธรรม ซึ่งแต่ละท่านอาจจะเข้าใจว่าโลภะเป็นตัวท่าน


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 19
    22 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ