จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 057


    แต่วิบากที่เป็นกุศลวิบากทั้งหมด เป็นผลของกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว ไม่ใช่เป็นผลของโลภมูลจิตที่ปรารถนา ที่ต้องการ ที่อยากได้ในขณะที่กระทำนั้น เพราะฉะนั้น ต้องแยกเหตุกับผลให้ตรงจริงๆ จึงจะเป็นผู้ที่มั่นคงในเหตุ คือ การอบรมเจริญกุศล ซึ่งไม่ใช่โลภะที่จะนำมาซึ่งกุศลวิบาก

    เวลาที่ท่านผู้ฟังซื้อลอตเตอรี่และก็ถูกลอตเตอรี่ เวลาถูกเป็นผลของอะไร เวลาซื้อเป็นอกุศลจิต ปรารถนาอยากจะถูก แต่ขณะที่ได้รับรางวัลต้องเป็นผลของกุศล ไม่ใช่เป็นผลของอกุศลจิตที่ปรารถนา มิฉะนั้นทุกคนที่ซื้อต้องถูกหมด ใช่ไหม เพราะทุกคนก็อยากถูกลอตเตอรี่ แต่ทั้งๆ ที่มีโลภมูลจิตกันทุกคน ซื้อลอตเตอรี่กันทุกคน ก็ไม่ใช่ว่าการถูกลอตเตอรี่นั้นจะเป็นผลของโลภมูลจิตที่ต้องการถูก แต่การถูกนั้นต้องเป็นผลของกุศลวิบาก และคนที่ถูกลอตเตอรี่โดยไม่ได้ไปหาหลวงพ่อมีมากไหม หรือว่าต้องไปหาหลวงพ่อทุกคนจึงจะถูก

    เพราะฉะนั้น คนที่ไม่ได้ไปหาหลวงพ่อแต่ถูกลอตเตอรี่ ก็ทราบได้ว่า เป็นผลของกรรมของตนที่ได้กระทำกุศลไว้ในอดีต แต่คนที่ไปหาหลวงพ่อ แทนที่จะเชื่อเรื่องกรรมของตน กลับกลายเป็นว่าเพราะหลวงพ่อ ไม่ใช่เพราะกรรมของตน

    ควรที่จะพิจารณาให้ละเอียดว่า ผลทั้งหลายมาจากเหตุอะไร เพื่อจะได้มั่นคงขึ้นในการประพฤติปฏิบัติธรรมตามที่ได้ยึดถือธรรมเป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง

    เรื่องของการติด หรือยึดถือมงคลตื่นข่าว เป็นเรื่องง่าย และมีมากในชีวิตประจำวัน ซึ่งควรที่จะพิจารณาว่า ถ้าจิตใจอ่อนแอ หวั่นไหว ไม่ว่าจะด้วยเรื่องความทุกข์ยากลำบาก ความเดือดร้อน ปัญหานานาประการ ประกอบกับเป็นผู้ที่ ไม่มั่นคง ก็จะทำให้ง่ายต่อการเป็นผู้ที่ยึดถือมงคลตื่นข่าว โดยไม่คิดว่าเป็นโทษ และจะเพิ่มความยึดถือมงคลตื่นข่าวทีละเล็กทีละน้อยๆ จนในที่สุดก็ไม่สนใจในเหตุผล หรือในพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ ซึ่งแทนที่จะศึกษาพระธรรมและยึดมั่นในเหตุผล ก็จะเป็นผู้ที่ขวนขวายในการที่จะยึดถือมงคลตื่นข่าว เพราะเมื่อยึดถือมงคลตื่นข่าวแล้ว ต้องมีการขวนขวายที่จะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยความยึดถือนั้น จะไม่อยู่เฉยๆ แน่ ใช่ไหม และจะไม่ศึกษาธรรมด้วย เพราะเมื่อยึดถือในมงคลตื่นข่าวแล้ว ก็ย่อมจะขวนขวายกระทำตามมงคลตื่นข่าว

    อย่างการไปหาเจ้า ก็ต้องเดินทางไป และต้องเสียเวลานานพอสมควร และเวลาที่เจ้าให้เลขลอตเตอรี่ ที่ไม่ถูกมีไหม ก็มี ถ้าเช่นนั้นทำไมเชื่อว่าถูกเพราะเจ้าให้ เวลาที่ไม่ถูกลอตเตอรี่ไม่พูดถึง แต่เวลาที่ถูกกลับคิดว่าเป็นเพราะเจ้าให้ ก็ไม่มีเหตุผล เพราะว่าคนถูกลอตเตอรี่โดยที่ไม่ได้ขอจากเจ้าก็มี

    ยังมีอะไรที่เป็นมงคลตื่นข่าวอีกไหมที่จะต้องทิ้งจริงๆ เพราะถ้าจิตใจยังอ่อนไหวที่จะยึดถือมงคลตื่นข่าว จะไม่เป็นผู้ที่มั่นคงในการเชื่อกรรมของตน

    เรื่องของความคิดเป็นเรื่องที่ละเอียด และเป็นเรื่องที่วิจิตรมาก เพราะว่าความคิดแต่ละขณะจิตเป็นสังขารขันธ์ที่ปรุงแต่งทำให้เป็นผู้ที่มีเหตุผลยิ่งขึ้น มั่นคงขึ้น หรือว่าเป็นผู้ที่ลดน้อยลงในเรื่องเหตุผลทีละเล็กทีละน้อยๆ จนกระทั่งนอกจากจะเป็น ผู้ที่ยึดถือมงคลตื่นข่าวแล้ว ในที่สุดจะกลายเป็นผู้ที่มีความเห็นผิดจากเหตุผล จนกระทั่งไม่สามารถที่จะพิจารณาได้ว่า เหตุผลเป็นอย่างไร

    ด้วยเหตุนี้ โลภมูลจิต ๘ ดวง ดวงที่ ๑ คือ โสมนสฺสสหคตํ เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ เกิดร่วมกับความเห็นผิด อสงฺขาริกํ เกิดเองโดยไม่อาศัยการชักจูง จึงต่างกับโลภมูลจิตดวงที่ ๒ ซึ่งเป็นโสมนสฺสสหคตํ เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตฺตํ เกิดร่วมกับความเห็นผิด แต่เป็น สสงฺขาริกํ คือ เกิดโดยอาศัยการชักจูง

    แสดงให้เห็นถึงความละเอียดของจิตแต่ละขณะซึ่งวิจิตรมาก เวลาที่เกิดความเห็นผิดขึ้น ยังจำแนกออกเป็น ๒ ประเภท สำหรับโลภมูลจิตซึ่งเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนาและเกิดร่วมกับความเห็นผิด คือ เป็นประเภทที่มีกำลังกล้า เกิดขึ้นเองโดยไม่อาศัยการชักจูงประเภทหนึ่ง และต้องอาศัยการชักจูงจึงจะเกิดขึ้นอีก ประเภทหนึ่ง

    เป็นความละเอียดจริงๆ ของจิต ซึ่งสามารถจำแนกออกได้จากชีวิตประจำวันในทุกๆ ขณะที่คิดเรื่องนั้นบ้าง เรื่องนี้บ้าง ค่อยๆ ปรุงแต่งจนถึงขณะที่เป็นโลภมูลจิตดวงที่ ๑ ที่เป็นอสังขาริก หรือว่าเป็นโลภมูลจิตดวงที่ ๒ ซึ่งเป็นสสังขาริก แม้ว่าจะเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนาและเกิดพร้อมกับความเห็นผิดเหมือนกันด้วย

    สำหรับเหตุให้เกิดอสังขาริก ข้อความใน อภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา พรรณนาความปริจเฉทที่ ๑ แสดงเหตุแห่งความเป็นอสังขาริกว่า

    ส่วนปัจจัย มีฤดู คือ อุตุ ได้แก่ อากาศ และโภชนะ คือ อาหารที่สบาย มีกำลัง เป็นต้น เป็นเหตุแห่งความเป็นอสังขาริก

    ต้องพิจารณาว่า เวลาที่อากาศสบาย ไม่ร้อนจัด ไม่หนาวจัด หรือเวลาที่ร่างกายแข็งแรง เพราะได้บริโภคอาหารที่มีประโยชน์ มีกำลัง ย่อมทำให้จิตใจกล้าแข็ง เข้มแข็ง ไม่หวั่นไหว ไม่เกรงกลัว ไม่อ่อนตามสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นเป็นปัจจัยให้เกิดจิตประเภทที่เป็นอสังขาริก คือ มีกำลังกล้า ไม่ต้องอาศัยการชักจูง

    นี่เป็นจิตในชีวิตประจำวันของทุกคน บางขณะก็เป็นอสังขาริก บางขณะก็เป็นสสังขาริก บางขณะก็เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา บางขณะก็เกิดร่วมกับความเห็นผิด บางขณะก็ไม่เกิดร่วมกับความเห็นผิด ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน สามารถรู้ลักษณะสภาพของจิตที่ละเอียดอย่างนี้ได้ แต่ก่อนที่จะถึงอย่างนี้ ในขั้นต้นที่สติเริ่มระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ต้องเริ่มจากการที่จะพิจารณารู้ว่า ลักษณะนั้นเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม ก่อนที่จะรู้ลักษณะสภาพของจิตโดยละเอียดว่า เป็นโลภมูลจิตประเภทใดใน ๘ ประเภท

    มีท่านผู้ใดพอที่จะสังเกตรู้ลักษณะของโลภมูลจิตดวงที่ ๑ บ้างหรือยัง หรือว่าเมื่อได้ศึกษาพระธรรมแล้ว โลภมูลจิตดวงนี้ไม่ค่อยเกิด หรือว่าอาจจะหายไปชั่วคราว โดยเฉพาะในขณะที่มหากุศลจิตเกิด กำลังศึกษา กำลังพิจารณาธรรม ในขณะนั้น ไม่มีเหตุปัจจัยที่จะให้โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์เกิดได้ แต่อย่าลืม ขณะใดที่สนใจขวนขวายในมงคลตื่นข่าว ขณะนั้นถ้าไม่พิจารณาลักษณะสภาพของจิตจะไม่ทราบว่า เริ่มที่จะมีความเห็นผิดเกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย

    . ความหมายของคำว่า อสังขาริก กับสสังขาริก ในฎีกาพูดคล้ายๆ เป็นความหมายคนละอย่าง คือ อสังขาริก หมายความว่า จิตมีกำลัง และสสังขาริก หมายความว่า จิตไม่มีกำลัง อย่างนั้นหรือ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    . ความหมายที่ผมเข้าใจ อสังขาริก หมายความว่า มีกำลังโดยการเกิดขึ้นเอง โดยไม่มีการชักชวน เช่น เวลาเราเจ็บไข้จะไปหาเจ้า ถ้าเป็นอสังขาริกก็หมายความว่า รู้ว่าเจ้าที่ไหนเฮี้ยนก็ไปเองไม่ต้องมีใครมาชักชวน แต่ถ้าเป็นสสังขาริก ต้องมีคนอื่นมาชักชวนว่า เจ้าที่นั่นที่นี่เฮี้ยน ให้ไปรักษาที่นั่น เพราะฉะนั้น ความหมายคงจะไม่ค่อยตรงกันกระมัง

    ท่านอาจารย์ เชื่อเองมีกำลังกว่าถูกชักชวนหรือเปล่า

    . เชื่อเองมีกำลังกว่า ใช่

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นอสังขาริก โดยไม่อาศัยการชักจูง

    . มีกำลังมาก กับการที่ไม่ต้องมีการชักจูง ความหมายอันเดียวกันหรือ

    ท่านอาจารย์ เพราะไม่ต้องอาศัยการชักจูง จึงมีกำลัง สามารถเกิดขึ้นเอง เชื่อมั่นด้วยตนเอง ใครจะชวนอย่างไรก็ไม่ละทิ้งความเห็นผิดอันนั้นถ้าเชื่อแล้ว แต่บางทีก็ไม่เชื่อทันที ใช่ไหม ต้องอาศัยการฟัง และมีการชักชวน มีการชักจูงต่างๆ นานา และในที่สุดค่อยๆ เห็นคล้อยตาม ขณะนั้นเป็นสสังขาริก

    สำหรับลักษณะของโลภมูลจิตที่เป็นสสังขาริก ข้อความใน อัฏฐสาลินี อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์ พรรณนาอกุศลภาชนียะ อธิบายอกุศลจิตดวงที่ ๒ คือ โลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนาและความเห็นผิด และเป็นสสังขาริก โดยอุปมาว่า

    ในกาลใดกุลบุตรปรารถนาธิดาของตระกูลมิจฉาทิฏฐิ แต่เขาเหล่านั้นไม่ยอมยกธิดาให้ด้วยอ้างว่า พวกท่านเป็นคนทิฏฐิอื่น ต่อมาพวกญาติเหล่าอื่นบอกให้ ยกให้ด้วยตกลงว่า ท่านผู้นี้จักยอมกระทำตามพิธีที่พวกท่านกระทำ กุลบุตรผู้นั้นก็เข้าไปหาพวกเดียรถีย์ทีเดียว ร่วมกับพวกเขาเหล่านั้น ทีแรกก็ยังมีความลังเลอยู่ ครั้นล่วงกาลนานไปก็ชอบใจลัทธิว่า กิริยาของเดียรถีย์เหล่านี้น่าชอบใจ ยึดถือเป็นทิฏฐิ

    เริ่มเห็นด้วยทีละเล็กทีละน้อยตามการคบหาสมาคม เพราะฉะนั้น ก็เป็น สสังขาริก เป็นความจริงไหม สำหรับความเห็นต่างๆ จะสังเกตได้ว่า ถ้าคบหาสมาคมคุ้นเคยกับผู้ที่มีความคิดเห็นอย่างไร ก็ย่อมจะคล้อยตามไปได้ แต่สำหรับบางท่านที่มีการสะสมมาดี ย่อมจะพิจารณาในเหตุผลและไม่คล้อยตาม ซึ่งน่าพิจารณาว่า ในโลกนี้มีคนมากมาย และมีทิฏฐิ ความเห็นต่างๆ กัน ซึ่งก่อนที่จะเกิดเป็นความเห็นต่างๆ กัน ก็ย่อมจะมีจิตที่ค่อยๆ คิด ค่อยๆ พิจารณาไปโดยแยบคายบ้าง ไม่แยบคายบ้าง จนในที่สุดการพิจารณาโดยไม่แยบคายย่อมจะเป็นเหตุให้เกิดความยึดถือในความเห็นที่ผิดจากเหตุและผลตามความเป็นจริง

    ขอกล่าวถึงการสนทนากับท่านผู้ฟังบางท่าน หรือว่าสิ่งที่ได้รับฟังมา เช่น ท่านผู้หนึ่งเป็นจิตรกรที่ฉลาด ท่านกล่าวว่า ทุกคนไม่ได้เห็นสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริงที่รูปซึ่งจิตรกรนั้นเขียน ถูกไหม เพราะความจริงแท้ๆ เป็นเพียงแผ่นผ้าใบ หรือว่าเป็นกระดาษ เป็นกระดาน เป็นวัสดุสำหรับใช้วาด หรือเขียนรูป แต่เวลาที่ใช้สีป้าย หรือทา วาด เขียน เป็นรูปต่างๆ ก็ทำให้บุคคลอื่นเห็นไปตามที่เขียนขึ้น โดยที่ไม่ได้เห็นรูปนั้นตามความเป็นจริงว่า แท้ที่จริงแล้วไม่มีอะไรเลย เป็นแต่เพียงสีซึ่งทำให้ คนอื่นเข้าใจผิดว่า เป็นสิ่งต่างๆ

    นี่ก็เป็นลักษณะของการคิด หรือการพิจารณาธรรม ซึ่งจะเห็นได้ว่า ความคิดในโลกนี้มีมากมายตามความวิจิตรของการสะสมของแต่ละคนที่จะคิดในลักษณะต่างๆ ผู้ที่เป็นจิตรกรก็คิดอย่างหนึ่ง ผู้ที่มีการสะสมมาในเรื่องของวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ ก็มีความคิดในเรื่องนั้นๆ ผู้ที่สะสมมาในเรื่องของประวัติศาสตร์ โบราณคดีต่างๆ ก็มีการสะสมที่จะคิดในเรื่องต่างๆ แม้แต่ผู้ที่สะสมมาในการที่จะเป็นผู้ที่สนใจในสุขภาพ ก็มีความคิดต่างๆ เช่น ผู้ที่สนใจสุขภาพท่านหนึ่ง ท่านบอกว่า ทำไมคนเราช่างติดในวัตถุภายนอกที่มองเห็น ทำไมไม่คิดถึงคุณค่าของสายตาซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด เพราะว่าสามารถทำให้มองเห็นสิ่งต่างๆ ในโลกนี้ได้ เพราะฉะนั้น แทนที่จะยึดถือหรือติดในวัตถุสิ่งที่เห็นภายนอก ก็ควรที่จะถนอมรักษาสายตาซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เห็นสิ่งต่างๆ เช่นเดียวกับหู ท่านกล่าวว่า เป็นธรรมชาติที่ซื่อสัตย์จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นเสียงอะไรที่มากระทบหู ถ้าเป็นเสียงนินทาว่าร้าย หูก็ซื่อตรงจริงๆ คือ ไม่เปลี่ยนเสียงนั้นให้เป็นคำสรรเสริญไปได้ หรือเวลาที่มีคำสรรเสริญกระทบหู หูก็ซื่อตรงอีก คือ ไม่เปลี่ยนคำสรรเสริญนั้นให้เป็นคำนินทาว่าร้ายต่างๆ เพราะฉะนั้น ไม่ควรจะไยดีนักกับเสียงที่กระทบหูซึ่งเป็นวัตถุภายนอก แต่ควรที่จะสนใจรักษาหูของตนเพื่อให้สามารถได้ยินเสียง หรือว่ากระทบกับเสียงได้ โดยที่ไม่พิกลพิการไป

    นี่ก็เป็นความคิดของแต่ละบุคคล เพียงท่านหนึ่งหรือ ๒ ท่าน ก็แสดงให้เห็นถึงความวิจิตรของความคิด แต่อย่าลืมว่า ความคิดที่ไม่ได้ปรากฏออกมาด้วยการกระทำทางกายหรือทางวาจา ก็ยังมีมาก ใช่ไหม ไม่ใช่ว่าทุกคนจะพูดสิ่งที่ตนคิดทั้งหมด ซึ่งในขณะที่ไม่ได้พูด ก็คิดวิจิตรต่างๆ

    เพราะฉะนั้น เรื่องราวต่างๆ ที่พูดกันในวันหนึ่งๆ ก็เป็นแต่เพียงบางส่วนของความคิดที่แสนจะวิจิตรจริงๆ ซึ่งการที่ความคิดแต่ละขณะจะสะสมในจิตดวงต่อๆ ไป เป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้จิตเกิดขึ้นเป็นกุศลขั้นต่างๆ เป็นสติขั้นต่างๆ ตั้งแต่ ขั้นที่พิจารณาธรรมและมีความตั้งใจที่จะละชั่วประพฤติดี จนกระทั่งถึงขั้นสติปัฏฐานที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็จะต้องใช้เวลาไม่น้อยเลยในการที่จะฟังและพิจารณาโดยละเอียด เพื่อปรุงแต่งให้สติพร้อมกับปัญญาพิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริงได้

    และยังมีอีกท่านหนึ่ง ท่านบอกว่า ท่านไม่มีเพื่อนธรรม เพราะว่าท่านอยู่ไกล ยากที่จะหาผู้ที่สนใจธรรมเช่นเดียวกับท่านได้ แต่ตามความจริง ถ้าจะพิจารณาว่า อะไรควรเป็นเพื่อนที่แท้จริง เพราะว่าทุกท่านมีเพื่อน และผูกพันในเพื่อนด้วยความปรารถนาเพื่อน ด้วยความต้องการเพื่อน ลืมพิจารณาว่า เพื่อนที่ท่านต้องการ ท่านต้องการเพื่อความผูกพัน หรือว่าเพื่อกุศลจิต ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว กุศลจิตเกิดขณะใด เป็นเพื่อนแท้ขณะนั้น เป็นกัลยาณมิตร เพราะไม่เป็นโทษ ไม่เป็นภัยเลย

    เพราะฉะนั้น แทนที่จะคิดถึงเพื่อนที่เป็นคนสักคนหนึ่ง ๒ คน ๓ คน ก็คิดถึงขณะจิตที่เป็นกุศล เมตตาเกิดขึ้นกับบุคคลใดในขณะใด ขณะนั้นเป็นเพื่อนแท้กับบุคคลนั้น กุศลจิตนั้นเองเป็นเพื่อนที่แท้จริง เพราะไม่ทำให้เกิดโทษภัยใดๆ ทั้งสิ้น แต่ถ้าเพียงคิดถึงเพื่อนที่เป็นคน ก็อาจจะมีอกุศลจิตที่ผูกพันในเพื่อน ในบุคคลนั้น ซึ่งขณะนั้นไม่ใช่กุศลจิต จึงไม่ใช่เพื่อนที่แท้จริง

    การศึกษาธรรม และเข้าใจธรรมโดยละเอียดถึงลักษณะสภาพของปรมัตถธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียงจิต เจตสิก ซึ่งเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน จะทำให้สามารถเข้าใจในสภาพธรรมได้ถูกต้องว่า ขณะใดเป็นกุศล และขณะใดเป็นอกุศล เพื่อที่จะได้ละอกุศลให้น้อยลง

    เรื่องของธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะเลื่อมใสในบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยง่าย หรือเมื่อได้อ่านธรรมบ้าง ก็เข้าใจว่าตนเองมีความเห็นถูก หรือว่ามีการปฏิบัติถูก นั่นเป็นสิ่งที่ประมาทมากจริงๆ เพราะว่าอาจจะทำให้เป็นนักคิด ซึ่งทำให้มีความเห็นผิด คือ มิจฉาทิฏฐิต่างๆ ได้

    สำหรับโลภมูลจิตดวงที่ ๑ ซึ่งกำลังกล่าวถึงในขณะนี้ คือ โลภมูลจิตที่เกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนา ประกอบด้วยความเห็นผิด และเกิดขึ้นโดยไม่อาศัยการชักจูง เพียง ๑ ดวงในพระอภิธรรม แต่ก็ปรากฏมากมายเป็นข้อความต่างๆ ในพระสูตร แสดงให้เห็นถึงความคิดเห็นของผู้ที่มีความเห็นผิดตามทิฏฐิ ๖๒ ในพรหมชาลสูตร และไม่ใช่เพียงสูตรเดียว แม้สมณพราหมณ์อื่นๆ ที่มีความเห็นต่างๆ ในครั้งที่ พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ก็เป็นลักษณะประเภทของจิตที่เกิดพร้อมกับ โสมนัสเวทนา ประกอบด้วยความเห็นผิด และเกิดขึ้นเองโดยไม่อาศัยการชักจูงได้ และไม่ใช่แต่เฉพาะในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน หลังจากที่พระผู้มี- พระภาคปรินิพพานแล้ว ตลอดมาจนถึงยุคนี้สมัยนี้ ก็ยังมีจิตประเภทที่เป็นโลภมูลจิต เกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนา ประกอบกับความเห็นผิด และเกิดขึ้นเองโดยไม่อาศัยการชักจูง

    ถึงแม้ว่าจะได้ศึกษาพระธรรมวินัยบ้าง แต่ถ้าไม่พิจารณาโดยรอบคอบ ก็อาจเข้าใจผิดและประพฤติปฏิบัติผิดได้ ซึ่งใน สุมังคลวิลาสินี (หน้า ๓๓) ได้แสดงความลึกซึ้งของพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง มีข้อความว่า

    ในปิฎก ๓ นี้ พึงทราบว่า แต่ละปิฎกมีคัมภีรภาพทั้ง ๔ คือ

    ธรรมคัมภีรภาพ ความลึกซึ้งโดยเหตุ

    อรรถคัมภีรภาพ ความลึกซึ้งโดยผล

    เทศนาคัมภีรภาพ ความลึกซึ้งโดยเทศนา

    ปฏิเวธคัมภีรภาพ ความลึกซึ้งโดยปฏิเวธ

    สำหรับธรรมคัมภีรภาพและอรรถคัมภีรภาพเป็นต้นนั้น ได้แก่ พระธรรมที่เป็นพระบาลีที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ คือ ธรรม ได้แก่พระบาลี อรรถ ได้แก่ เนื้อความของพระบาลี

    เวลาที่ท่านผู้ฟังเริ่มศึกษาธรรมโดยละเอียดจริงๆ จะเห็นได้ว่า คำที่แสดงไว้ซึ่งเป็นภาษาบาลีนั้น เวลาที่จะถ่ายทอดเป็นภาษาอื่นที่จะให้เข้าใจ ต้องอธิบาย และบางคำก็ไม่มีความหมายกระชับเท่ากับความหมายของพระบาลี เช่น คำว่า จิต ถ้าไม่เข้าใจในอรรถจริงๆ ใช้แต่เพียงคำว่า จิต คำเดียว หรือว่า จิตตะ ในภาษาบาลี ก็ย่อมไม่สามารถเข้าใจในลักษณะของธาตุ ซึ่งเป็นธาตุรู้ เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น ความสุขุม ความลึกซึ้ง แม้แต่ในพระบาลีซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงเทศนาด้วยพระองค์เอง และในอรรถ ได้แก่ เนื้อความของพระบาลีนั้น ก็เป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง เป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาจนกระทั่งเข้าใจจริงๆ

    หรือแม้แต่ในเรื่องของพยัญชนะที่เป็นพระบาลีว่า สติ ท่านผู้ฟังก็จะต้องเข้าใจในอรรถ หรือแม้แต่พยัญชนะพระบาลีที่ว่า สมาธิ ถ้าเป็นเรื่องของกุศลที่ต้องเจริญ ก็ต้องเป็นเรื่องของสัมมาสมาธิเท่านั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องของการเพียงจดจ้องที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดและเข้าใจว่า นั่นเป็นกุศล นั่นเป็นสิ่งที่จะต้องเจริญ นี่แสดงให้เห็นถึงความลึกซึ้งของพระธรรมและอรรถ ได้แก่ พระบาลีและเนื้อความของพระบาลี

    สำหรับเทศนาคัมภีรภาพ ความลึกซึ้งโดยเทศนา ถ้าท่านผู้ฟังอ่านพระไตรปิฎก ไม่ว่าจะเป็นส่วนของพระวินัยปิฎก หรือพระสุตตันตปิฎก หรือพระอภิธรรมปิฎก ที่จะไม่พิจารณาและเข้าใจทั้งหมดโดยตลอด เป็นไปไม่ได้ และถึงแม้ว่าจะได้พิจารณาแล้ว บางตอนบางส่วนก็ยังไม่สามารถจะเข้าใจได้ชัดเจน ซึ่งสำหรับเทศนาคัมภีรภาพ ความลึกซึ้งโดยเทศนานั้น ได้แก่ การแสดงซึ่งพระบาลีนั้น อันตนพิจารณาแล้วด้วยใจ

    เทศนาหมายถึงการแสดงธรรม ซึ่งต้องแสดงตามพระบาลีที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ แต่ว่าต้องเป็นผู้ที่พิจารณาแล้ว จึงแสดง หรือว่าจึงกล่าวถึงพระธรรมส่วน นั้นๆ ได้

    สำหรับปฏิเวธคัมภีรภาพ ความลึกซึ้งโดยปฏิเวธ ได้แก่ ความหยั่งรู้ตามความเป็นจริงซึ่งพระบาลีและเนื้อความของพระบาลี


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 19
    15 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ