จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 065


    ท่านอาจารย์ นเหตุที่ไม่ใช่สังขารขันธ์ได้แก่อะไรบ้าง

    ผู้ฟัง ได้แก่จิตและเจตสิกที่ไม่ใช่เหตุ

    ท่านอาจารย์ ถ้าพูดถึงขันธ์ ๕ นเหตุที่ไม่ใช่สังขารขันธ์ รูปขันธ์เป็นนเหตุ ซึ่งไม่ใช่สังขารขันธ์ เวทนาขันธ์เป็นนเหตุ ซึ่งไม่ใช่สังขารขันธ์ สัญญาขันธ์เป็นนเหตุ ซึ่งไม่ใช่สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์เป็นนเหตุ ซึ่งไม่ใช่สังขารขันธ์

    สังขารขันธ์ที่เป็นนเหตุ คือ ไม่ใช่เหตุ มีกี่ดวง

    ผู้ฟัง ๔๖

    ท่านอาจารย์ สังขารขันธ์ ไม่ได้ถามถึงเจตสิกทั้งหมด เฉพาะสังขารขันธ์ที่เป็นนเหตุ มีกี่ดวง

    ผู้ฟัง ๔๔

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าเจตสิกที่เป็นสังขารขันธ์ มี ๕๐ ดวง เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ดวง เจตสิก ๑ ดวงเป็นเวทนาขันธ์ คือ เวทนาเจตสิก เจตสิก ๑ ดวงเป็นสัญญาขันธ์ คือ สัญญาเจตสิก เจตสิก ๕๐ ดวง แต่ละดวงเป็นสังขารขันธ์ เพราะฉะนั้น ในสังขารขันธ์ ๕๐ เป็นเหตุเพียง ๖ คือ โลภเจตสิก ๑ โทสเจตสิก ๑ โมหเจตสิก ๑ อโลภเจตสิก ๑ อโทสเจตสิก ๑ อโมหเจตสิก ๑ เจตสิกที่เป็นสังขารขันธ์ทั้งหมด มี ๕๐ และเป็นเหตุเพียง ๖ เพราะฉะนั้น เจตสิกอื่นซึ่งเป็นสังขารขันธ์ ๔๔ ดวง เป็นนเหตุ

    ปรมัตถธรรมที่เป็นนเหตุเป็นขันธ์อะไรบ้าง

    ผู้ฟัง เป็นรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ที่ไม่ใช่เหตุ ๔๔ และวิญญาณขันธ์

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง รูปทั้งหมดเป็นนเหตุ เป็นรูปขันธ์ เวทนาเจตสิกเป็นนเหตุ เป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิกเป็นนเหตุ เป็นสัญญาขันธ์ เจตสิก ๔๔ ดวง เป็นนเหตุ เป็นสังขารขันธ์ และจิตทั้งหมดเป็นนเหตุ เป็นวิญญาณขันธ์

    รูปขันธ์เป็นเหตุ หรือนเหตุ

    ผู้ฟัง นเหตุ

    ท่านอาจารย์ อเหตุกะ หรือสเหตุกะ

    ผู้ฟัง อเหตุกะ

    ท่านอาจารย์ อเหตุกะ หมายความว่า ไม่มีเจตสิกซึ่งเป็นเหตุเกิดร่วมด้วย เจตสิกจะเกิดร่วมกับรูปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น รูปทั้งหมดไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตเท่านั้นที่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น รูปเป็นนเหตุ และเป็นอเหตุกะ

    ศัพท์เหล่านี้ต้องเข้าใจให้ชัดเจน ไม่ลืม

    โทสเจตสิกเป็นขันธ์อะไร

    ผู้ฟัง เป็นสังขารขันธ์

    ท่านอาจารย์ ทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต เป็นชาติอะไร

    ผู้ฟัง อกุศลชาติ

    ท่านอาจารย์ ภูมิไหนไม่มีรูปขันธ์

    ผู้ฟัง อรูปภูมิ

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นอรูปพรหมภูมิ

    ภูมิไหนไม่มีนามขันธ์

    ผู้ฟัง อสัญญสัตตาภูมิ

    ท่านอาจารย์ ภูมิที่ไม่มีนามขันธ์ มีภูมิเดียวซึ่งเป็นรูปพรหมภูมิ คือ อสัญญสัตตาพรหม

    ขอกล่าวถึงกามาวจรจิต ๕๔ ดวง เพื่อให้ท่านผู้ฟังได้ทราบว่า ยากนักหนาที่จะพ้น เพราะการที่จะอบรมเจริญความสงบของจิตให้มั่นคงจนกระทั่งถึงอัปปนาสมาธิ ซึ่งเป็นฌานจิต ยากเหลือเกิน แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ก็มีผู้ที่ รู้แจ้งอริยสัจธรรมโดยที่ไม่ประกอบด้วยฌานจิตมากกว่าผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ที่ประกอบด้วยฌานจิต เพราะฉะนั้น ในยุคนี้ สมัยนี้ ท่านผู้ฟังจะเป็นถึงผู้ที่ได้ อัปปนาสมาธิด้วยและได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมด้วย ย่อมยากกว่าการที่จะอบรมเจริญปัญญาเพื่อที่ให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมเท่านั้น

    เพราะฉะนั้น คงจะไม่จำเป็นต้องพูดถึงรูปาวจรจิต คือ จิตของสมาธิขั้น อัปปนาที่ทำให้เกิดในรูปพรหมภูมิ หรือว่าอรูปาวจรจิตซึ่งทำให้เกิดในอรูปพรหมภูมิ แต่ที่ควรจะเข้าใจจริงๆ คือ จิตทั้งหมดมี ๘๙ ดวง หรือ ๘๙ ประเภท จำแนกตามภูมิ คือ ตามระดับขั้น มี ๔ ภูมิ ได้แก่ กามาวจรจิต ๕๔ ดวง รูปาวจรจิต ๑๕ ดวง อรูปาวจรจิต ๑๒ ดวง และโลกุตตรจิต ๘ ดวง สำหรับจิตที่เป็นรูปาวจรจิตและ อรูปาวจรจิต ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงมากนัก

    ในกามาวจรจิต ๕๔ ดวง แบ่งเป็นอกุศลจิต ๑๒ ดวง ซึ่งทุกท่านมีครบ มีใครขาดอกุศลจิตประเภทไหนบ้างไหม

    อกุศลจิต ๑๒ ดวง คือ โลภมูลจิต ๘ ดวง โทสมูลจิต ๒ ดวง โมหมูลจิต ๒ ดวง ครบไหม ครบ เพราะแม้แต่รูปพรหมภูมิก็ยังมีโลภมูลจิตและโมหมูลจิต แต่ ไม่มีโทสมูลจิต เพราะความสงบที่ถึงขั้นอัปปนาสมาธิไม่เป็นปัจจัยให้เกิดโทสะ

    สำหรับกามาวจรจิต ๕๔ ที่เป็นอเหตุกจิต คือ จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ มี ๑๘ ดวง ฟังชื่อดูจะยาก แต่ถ้าทราบจริงๆ โดยความสนใจเพียงเล็กน้อยจะรู้ได้ว่า เรื่องของจิต ๕๔ ดวง ไม่ใช่เรื่องเหลือวิสัยที่จะเข้าใจได้

    การที่จะศึกษาเรื่องจิต แม้เพียงดวงเดียวก็ต้องรู้ชัดว่า จิตนี้เป็นภูมิอะไร คือ เป็นกามาวจรจิต หรือเป็นรูปาวจรจิต หรือเป็นอรูปาวจรจิต หรือเป็นโลกุตตรจิต จะต้องรู้ว่าจิตนี้เป็นชาติอะไร คือ เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล หรือเป็นวิบาก หรือ เป็นกิริยา และจะต้องรู้ชัดว่า จิตนี้ประกอบด้วยเหตุ คือ เจตสิกที่เป็นเหตุ ๖ ดวง ได้แก่ โลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก ซึ่งเป็นอกุศลเจตสิก ๓ และเป็น โสภณเจตสิกอีก ๓ คือ อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก

    เหตุทั้งหมดมีเพียง ๖ เท่านั้น คือ อกุศลเจตสิก ๓ และโสภณเจตสิก ๓ ซึ่งคู่กัน คือ โลภะ – อโลภะ โทสะ – อโทสะ โมหะ – อโมหะ ไม่เป็นสิ่งที่ยากเกินไป เพราะฉะนั้น จิตใดที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ๖ นี้ จิตนั้นเป็นอเหตุกจิต

    จิตที่เป็นอเหตุกจิต หรือจิตที่ไม่ประกอบด้วยเจตสิกที่เป็นเหตุ มีเพียง ๑๘ ดวงเท่านั้น และ ๑๘ ดวงนี้ คุ้นหู ชินหูมาก เพราะว่าเกิดเป็นปกติทุกขณะ เพียงแต่ไม่ทราบเท่านั้นเองว่า จิตในขณะนี้ประกอบด้วยเหตุหรือว่าไม่ประกอบด้วยเหตุ แม้ขณะนี้ก็มีจิตที่เป็นอเหตุกะ ที่กำลังเกิดอยู่

    ที่เหลืออีก ๒๔ ดวง คือ กามาวจรโสภณจิต เป็นจิตที่เป็นกามาวจระ เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แต่เป็นฝ่ายดี

    สำหรับจิตแยกได้โดยหลายประเภท แยกโดยประเภทโสภณะ และอโสภณะ ก็ได้ เช่น อกุศลจิตเป็นอโสภณจิต ๑๒ ดวง อเหตุกจิตเป็นอโสภณจิต ๑๘ ดวง เพราะเมื่อไม่ประกอบด้วยอโลภะ อโทสะ อโมหะซึ่งเป็นเหตุที่ดี จะเป็นโสภณะไม่ได้เพราะฉะนั้น อกุศลจิต ๑๒ และอเหตุกจิต ๑๘ จึงเป็นอโสภณจิต ๓๐

    กามาวจรจิตทั้งหมดมี ๕๔ ดวง เป็นอโสภณจิต ๓๐ ดวง เป็นกามาวจรโสภณจิต ๒๔ ดวง

    สำหรับกามาวจรโสภณะ ๒๔ ดวง จำไม่ยาก คือ จำแนกเป็น ๓ ประเภท เป็นมหากุศล ๘ ดวง เป็นมหาวิบากซึ่งเป็นผลของมหากุศล ๘ ดวง และเป็นมหากิริยา ๘ ดวง

    มหากิริยา คือ จิตที่ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล และไม่ใช่วิบาก มหากิริยาจิต เป็นจิตของพระอรหันต์ พระโสดาบันบุคคลมีกุศลจิตและอกุศลจิต พระสกทาคามีบุคคล พระอนาคามีบุคคล ก็มีกุศลจิตและอกุศลจิต แต่พระอรหันต์ไม่มีทั้งกุศลจิต และอกุศลจิต เพราะฉะนั้น จิตฝ่ายดีของพระอรหันต์ซึ่งเป็นไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ จึงเป็นมหากิริยาจิต

    ในกามาวจรจิต ๕๔ ดวง ทุกท่านซึ่งยังไม่ใช่พระอรหันต์ มีไม่ครบ สำหรับอกุศลจิต ๑๒ ดวง ครบ อเหตุกจิต ๑๘ ดวง ไม่ครบ เพราะอเหตุกจิต ๑๘ ดวง มีเพียง ๒ ชาติเท่านั้น คือ เป็นวิบาก ๑๕ ดวง และเป็นกิริยา ๓ ดวง ฟังดูรู้สึกว่า เป็นเรื่องของตัวเลข แต่ความจริงเป็นเรื่องที่กำลังปรากฏอยู่ในขณะนี้ ถ้าได้รู้ว่า ๑๘ ดวงนั้นมีอะไรบ้าง ก็จะรู้ว่า คือขณะนี้นั่นเองที่กล่าวถึง

    สำหรับอเหตุกจิต ๑๘ ดวง เป็นวิบาก ๑๕ ดวง เป็นกิริยา ๓ ดวง สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ มีกิริยาจิตที่เป็นอเหตุกะเกิดได้เพียง ๒ ดวงเท่านั้น คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นจิตที่เกิดก่อนจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ คือ เป็นวิถีจิตแรก ที่เกิดขึ้นรำพึงถึงอารมณ์ที่กระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก่อนจิตเห็นจะเกิดขึ้น ก่อนจิตได้ยินจะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ก็คือขณะนี้ กำลังเห็น สติระลึกที่ลักษณะของสภาพรู้ หรืออาจจะระลึกที่ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ไม่สามารถรู้ได้เลยว่า ก่อน จักขุวิญญาณจะเกิด ต้องมีจิตเกิดก่อน ๑ ขณะ ซึ่งจิตนั้นไม่ได้กระทำกิจเห็น แต่เป็นกิจที่เป็นทางให้วิถีจิตต่อไปเกิดขึ้น จิตนั้นจึงชื่อว่าปัญจทวาราวัชชนจิต โดยศัพท์ คือรำพึงถึงอารมณ์ที่กระทบที่ทวารหนึ่งทวารใดในทวารทั้ง ๕ คือ จักขุทวาร ๑ โสตทวาร ๑ ฆานทวาร ๑ ชิวหาทวาร ๑ กายทวาร ๑

    สำหรับท่านที่ได้ศึกษาพระอภิธรรมมาบ้างแล้ว หรือว่าได้ฟังเรื่องของการจำแนกจิตโดยประเภทต่างๆ มาแล้ว คงพอจะจำได้ เพราะในคราวก่อนได้จำแนกจิตโดยชาติ โดยภูมิ โดยเหตุ โดยอารมณ์ โดยทวาร โดยวัตถุ

    จิตดวงเดียวเท่านั้น แต่ต้องรู้ชัดในสภาพที่เป็นอนัตตา โดยการรู้ว่า จิตนั้น เป็นจิตอะไร ชาติไหน อาศัยทวารใด มีอารมณ์ใด และอาศัยรูปใดเป็นวัตถุ คือ เป็น ที่เกิด

    สำหรับจิตที่วนเวียนรู้อารมณ์ที่เป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหมด มี ๕๔ ชื่อว่ากามาวจรจิต ๕๔ แบ่งเป็น ๓ ประเภทใหญ่ ได้แก่ อกุศลจิต ๑๒ คือ โลภมูลจิต ๘ โทสมูลจิต ๒ โมหมูลจิต ๒ อเหตุกจิต ๑๘ คือ อกุศลวิบากจิต ๗ กุศลวิบากจิต ๘ กิริยาจิต ๓ และกามาวจรโสภณจิต ๒๔ คือ มหากุศลจิต ๘ มหาวิบาก ๘ มหากิริยา ๘

    ทั้งๆ ที่กามาวจรจิตมีจำนวนไม่มาก คือ มีเพียง ๕๔ แต่ทุกคนมีไม่ครบ ทั้ง ๕๔ เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้ทราบว่า มีจิตประเภทไหนบ้าง และไม่มีจิตประเภทไหนบ้าง

    อกุศลจิต ๑๒ ได้แก่ โลภมูลจิต ๘ โทสมูลจิต ๒ โมหมูลจิต ๒

    สำหรับโลภมูลจิต ๘ นั้น โดยนัยของเวทนา เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ๔ เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา ๔ โดยนัยของสัมปยุตต์และวิปปยุตต์ เกิดร่วมกับทิฏฐิคือ ความเห็นผิดต่างๆ เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๔ เป็นทิฏฐิคตวิปปยุตต์คือไม่เกิดร่วมกับความเห็นผิดต่างๆ ๔ และโดยนัยของอสังขารและสสังขาร เป็นอสังขาริก ๔ เป็นสสังขาริก ๔ นี่ป็นประเภทของโลภมูลจิตซึ่งจำแนกออกไปในโลภมูลจิต ๘

    ซึ่งทุกคนควรจะได้พิจารณาตามความเป็นจริงว่า มีครบทั้ง ๘ หรือเปล่า ตามปกติในวันหนึ่งๆ ถ้าไม่ใช่เป็นคนที่เจ้าความคิด ก็คงจะไม่ได้คิดเรื่องของความเห็นต่างๆ ว่า โลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง เป็นต้น เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ จะมี โลภมูลจิตเพียง ๔ ประเภทที่ไม่เกิดร่วมกับความเห็นผิดเป็นส่วนมาก ซึ่งก็แล้วแต่ว่าท่านผู้ใดในวันหนึ่งๆ จะมีโลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ความรู้สึกดีใจบ่อยๆ หรือว่าโลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนาบ่อยๆ

    ถ้าทุกคนตรงต่อตามความเป็นจริงจะเห็นได้ว่า อารมณ์ซึ่งปรากฏให้เห็น ทางตาบ้าง ได้ยินทางหูบ้าง เป็นต้นนั้น เป็นปัจจัยให้โลภมูลจิตเกิดร่วมกับอุเบกขามากกว่าโลภมูลจิตซึ่งเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา พิสูจน์ดูโดยนึกย้อนหลัง วันนี้ก็ได้ ตั้งแต่เช้ามีโลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนาบ้างไหม ถ้าไม่มี ก็ไม่พ้นจาก โลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา เป็นประจำ

    ผู้ฟัง อุเบกขาเวทนาที่เกิดร่วมกับโลภมูลจิต บางตำราแสดงไว้ว่า ไม่เหมือนกับอุเบกขาในโมหมูลจิต ถ้าอุเบกขาในโมหมูลจิตหมายความถึงไม่มีความยินดียินร้าย เป็นอุเบกขาแท้ๆ แต่อุเบกขาในโลภมูลจิตหมายความถึงมีความโสมนัสนิดหน่อย ไม่เหมือนกับอุเบกขาในโมหมูลจิต

    ท่านอาจารย์ อย่าปนโสมนัสเวทนากับโลภเจตสิก เพราะโสมนัสเวทนาเป็นเจตสิกประเภทหนึ่ง โลภเจตสิกเป็นเจตสิกต่างหากอีกประเภทหนึ่ง

    โลภะเป็นสภาพที่ติด ที่ต้องการอารมณ์ จะสังเกตได้ว่า ไม่ขาดความต้องการอารมณ์ แต่ในขณะนั้นประกอบด้วยเวทนาอย่างไร ถ้าไม่ถึงกับโสมนัส ดีใจ เพราะเป็นอารมณ์ปานกลาง เวทนาขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงอุเบกขา ความรู้สึกที่ไม่สุขไม่ทุกข์ แต่ยังมีความต้องการอารมณ์นั้นอยู่ ไม่ใช่ว่าไม่ต้องการ

    ต้องการเห็น ต้องการได้ยิน ต้องการได้กลิ่น ต้องการลิ้มรส อาหารต้องรับประทาน คงไม่มีใครที่คิดจะไม่รับประทานอาหาร ต้องการบริโภคอาหารอร่อยด้วย แต่ไม่ใช่ว่าอาหารจะอร่อยทำให้เกิดโสมนัสเวทนาทุกครั้งที่รับประทาน เพราะฉะนั้น เรื่องของความต้องการ เรื่องของความติด เรื่องของความพอใจ เป็นสภาพธรรม อย่างหนึ่ง ส่วนความรู้สึกโสมนัสในขณะที่กำลังได้อารมณ์นั้นๆ ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งความต้องการนั้น มีเป็นประจำ แต่โสมนัสเวทนาไม่ได้เกิดเป็นประจำ แล้วแต่ว่าอารมณ์ที่ประสบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย จะเป็นอารมณ์ที่ประณีตมากหรือว่า เป็นแต่เพียงอารมณ์ที่ปานกลาง

    ถ้าอารมณ์นั้นเป็นอารมณ์ปานกลาง จะฝืนใจให้เป็นโสมนัสก็ไม่ได้ และถ้าอารมณ์นั้นเป็นอารมณ์ที่ประณีตพิเศษ จะฝืนใจไม่ให้เป็นโสมนัสก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น สังเกตได้จากลักษณะของโสมนัสเวทนาว่า ต่างจากลักษณะของความต้องการ หรือความติดในอารมณ์ที่ปรากฏ

    สำหรับอกุศลจิต ๑๒ คือ โลภมูลจิต ๘ ทุกท่านมีครบ แล้วแต่ว่ากาลไหนจะเป็นปัจจัยให้โลภมูลจิตเกิดร่วมกับความเห็นผิด หรือว่าไม่เกิดร่วมกับความเห็นผิด

    ความเห็นผิดมีหลายขั้น ความเห็นผิดที่เกิดจากการไม่ได้ศึกษาเลย อาจจะเข้าใจว่าพระธรรมไม่ต้องศึกษา เพียงอ่านก็คงจะเข้าใจได้ แต่เมื่อได้ศึกษาแล้วจะรู้ว่า ถ้าเพียงอ่าน จะเข้าใจผิด ไม่ใช่เข้าใจถูก เพราะฉะนั้น ความเห็นผิดก็มีหลายขั้น รวมทั้งความคิดที่ว่า การประพฤติปฏิบัติที่จะดับกิเลสนั้น ไม่ต้องศึกษาพระธรรม ปฏิบัติทันทีได้ นั่นเป็นความเห็นที่ผิดแล้ว เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่ศึกษาพระธรรมโดยละเอียด แต่ละท่านก็มีเหตุปัจจัยที่จะทำให้โลภมูลจิตเกิดร่วมกับความเห็นผิด ซึ่งแล้วแต่ว่าจะเป็นในขั้นใด ต่อเมื่อได้ศึกษาแล้วก็จะเห็นว่า ขณะใด ในวันหนึ่งๆ เป็นอกุศลประเภทใด

    สำหรับโทสมูลจิต ๒ คือ เป็นสสังขาริกประเภทหนึ่ง และอสังขาริกอีก ประเภทหนึ่ง อสังขาริก หมายความถึงจิตที่เกิดโดยไม่อาศัยการชักจูง ไม่ใช่สภาพจิตที่ลังเล ไม่ใช่สภาพจิตที่มีกำลังอ่อน ถ้าเกิดโกรธขึ้น ไม่ได้อาศัยใครมาชวนให้โกรธ หรือมาชวนให้ไม่พอใจในบุคคลนั้นบุคคลนี้ ขณะนั้นเกิดโกรธขึ้นตามเหตุปัจจัยของตนเอง เป็นอสังขาริก แต่บางครั้งจะสังเกตได้ว่า ไม่ได้คิดเรื่องของบุคคลอื่นในทางที่จะเป็นอกุศล หรือในทางที่จะไม่ชอบ แต่ก็มีคนอื่นมาชักจูงให้เกิดโทสะหรือความไม่พอใจในบุคคลอื่นนั้นได้ ซึ่งในขณะนั้นเป็นสภาพจิตที่เป็นสสังขาริก

    สำหรับโมหมูลจิต ๒ คือ ขณะที่ประกอบด้วยวิจิกิจฉา ความสงสัยใน สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในอดีต ในปัจจุบัน ในอนาคต เป็นต้น และอีกประเภทหนึ่งคือ ขณะที่ประกอบด้วยอุทธัจจะ ซึ่งเป็นเจตสิกที่ทำให้เผลอ หรือว่าไม่รู้ลักษณะของอารมณ์

    เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ สติปัฏฐานย่อมจะระลึกรู้ลักษณะสภาพของ อกุศลจิต ๑๒ ประเภทนี้ได้ เพราะทุกท่านชินกับคำว่าอกุศลจิต และก็ชินกับคำว่า กุศลจิต แต่ไม่ชินกับคำว่า อเหตุกจิต

    สำหรับกามาวจรจิต ๕๔ ถ้าจำแนกอีกนัยหนึ่ง คือ เป็นโสภณะ ๒๔ เป็น อโสภณะ ๓๐ นี่คือการศึกษาพระธรรม คือ ศึกษาได้โดยหลายหลากนัยจริงๆ ถึงแม้ว่าจะกล่าวถึงกามาวจรจิต ๕๔ จัดแบ่งประเภทเป็นอกุศลจิต ๑๒ อเหตุกจิต ๑๘ กามโสภณะ ๒๔ ก็จริง แต่แม้กระนั้นแทนที่จะแบ่งเป็น ๓ ก็แบ่งเป็น ๒ ได้ คือ แบ่งเป็นโสภณจิตกับอโสภณจิต โสภณจิตเป็นจิตที่ดีงาม อโสภณจิตเป็นจิตที่ ไม่ดีงาม

    ถ้าไม่ได้ศึกษา อาจจะได้ยินคำว่า อกุศลจิตกับกุศลจิต แต่ไม่ได้ยินคำว่า โสภณจิตกับอโสภณจิต และจะไม่ได้ยินคำว่า อเหตุกจิต

    เพราะฉะนั้น ควรจะได้ทราบว่า ในวันหนึ่งๆ นั้น ไม่ได้มีเฉพาะจิตที่เกิดพร้อมกับเหตุเท่านั้น แต่ในวันหนึ่งๆ ยังมีจิตซึ่งเป็นอเหตุกจิต คือ เป็นจิตที่ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ และอโลภะ อโทสะ อโมหะเกิดร่วมด้วย ซึ่งอเหตุกจิตทั้งหมดมีเพียง ๑๘ ประเภท แบ่งเป็นอกุศลวิบาก ๗ กุศลวิบาก ๘ และกิริยา ๓

    อกุศลจิต มีครบทั้ง ๑๒ แต่สำหรับอเหตุกะ ๑๘ ไม่ครบ สำหรับผู้ที่ไม่ใช่ พระอรหันต์จะมีอเหตุกจิตเพียง ๑๗ เว้นหสิตุปปาทจิต ซึ่งเป็นจิตที่ทำให้พระอรหันต์ท่านแย้มหรือยิ้มประกอบด้วยโสมนัสเวทนา เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ จึงมีอโสภณจิตเพียง ๒๙ ประเภท

    ตัวเลขไม่เปลี่ยน ไม่ว่าจะคิดแบบไหน อย่างไร ตัวเลขต้องตรงตัวว่า ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์มีอเหตุกจิต ๑๗ มีอกุศลจิต ๑๒ เพราะฉะนั้น ก็มีอโสภณจิต ๒๙ ซึ่ง อโสภณจิตทั้งหมดมี ๓๐ แต่ผู้ที่เป็นปุถุชนมีอโสภณจิต ๒๙ ไม่ถึง ๓๐

    สำหรับกามโสภณะ ๒๔ ชินหู คือ มีมหากุศล ๘ เป็นเหตุ มหาวิบาก ๘ เป็นผลของมหากุศล และมหากิริยา ๘ เป็นจิตที่เป็นโสภณะ แต่ไม่ใช่กุศล เพราะว่าเป็นจิตของพระอรหันต์ ผู้ที่เป็นพระอรหันต์แล้วไม่มีทั้งกุศลและอกุศล เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นพระอรหันต์ กามาวจรจิตมีน้อยกว่าผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 19
    20 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ