จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 091


    ทุกคนหวั่นไหวไปตามกิเลส แล้วแต่ว่าจะเป็นกิเลสประเภทใด มากบ้าง น้อยบ้าง ทำให้เป็นผู้ที่ไม่สม่ำเสมอ

    ความหมายของสะดุด คือ

    ก็เพราะสัตว์ทั้งหลายย่อมสะดุดในกิเลสทั้งหลาย มีราคะ เป็นต้น และ ในทุจริตทั้งหลาย มีกายทุจริต เป็นต้น ก็แลสัตว์ทั้งหลายสะดุดพลาดไปแล้ว ย่อมตกไปจากพระพุทธศาสนาบ้าง จากสุคติบ้าง

    พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ความไม่สม่ำเสมอ คือ ราคะ เป็นต้น เพราะการสะดุดและตกไปเป็นเหตุ

    ถ้าจะเปรียบชีวิตในแต่ละวัน ก็คือการเดินไปตามทางต่างๆ จะเป็นมิจฉามรรคหรือสัมมามรรคก็แล้วแต่ และวันหนึ่งๆ สะดุดอะไรบ้างหรือเปล่าในขณะที่เดิน พวกเท้าไม่ดีอาจจะบอกว่าสะดุดมากทางกาย แต่ความจริงทางใจสะดุดในกิเลสทั้งหลาย มีราคะ เป็นต้น และในทุจริตทั้งหลาย ขณะใดที่มีกายทุจริต หรือวจีทุจริต ให้ทราบว่า ในขณะนั้นสะดุดในกิเลส

    สะดุด คือ ทำให้ตกหรือทำให้พลาดจากพระพุทธศาสนาบ้าง จากสุคติบ้าง

    เพราะฉะนั้น น่าที่จะพิจารณาชีวิตของแต่ละท่านจริงๆ ให้เป็นผู้ที่สะอาด ให้เป็นผู้ที่มีกายสุจริต พร้อมกันนั้นเป็นผู้ตรงที่จะรู้สภาพธรรมที่สะสมมาในสังสารวัฏฏ์ที่ทำให้เป็นบุคคลต่างๆ กัน นอกจากจะเห็นว่าเป็นโทษเป็นภัยแล้ว ควรที่จะมีความประสงค์ มีหิริ มีความละอายเกิดขึ้นที่จะขัดเกลาละคลายอกุศลแต่ละอย่างนั้นให้ เบาบาง อย่าเห็นว่าไม่เป็นโทษไม่เป็นภัย เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น ไม่มีวันที่จะตั้งต้น ละคลายอกุศลทั้งหลายได้

    ควรที่จะเข้าใจอกุศลว่าเป็นอกุศลตามความเป็นจริง และถ้าเป็นอกุศลที่มีกำลังถึงกับสะดุด คือ ทำให้เกิดกายทุจริต หรือวจีทุจริต จะต้องพิจารณาว่า ควรเกิดหิริ นอกจากนั้นต้องเป็นผู้ที่มีกุศลจิตที่ใคร่จะขัดเกลาอกุศลนั้นๆ ซึ่งเป็นการยาก ถ้าได้สะสมมาในสังสารวัฏฏ์แสนนาน และจะให้หมดสิ้นไปในวันเดียว สองวัน เดือนหนึ่ง ชาติหนึ่ง เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าเกิดหิริ ความละอายขึ้น เห็นว่าเป็นอกุศล และรู้ว่าอกุศลที่ได้สะสมมาไม่ได้หมดไปโดยเร็วแน่ แต่ย่อมหมดได้ถ้ามีความเพียร และมีกุศลเจตนาจริงๆ ที่จะขัดเกลา แต่ต้องเกิดหิริโอตตัปปะก่อน มิฉะนั้นจะไม่เห็นว่า อกุศลต่างๆ เหล่านั้นเป็นโทษเป็นภัย

    เรื่องของการเป็นผิด หรือการประพฤติปฏิบัติผิด เป็นสิ่งที่มีโทษ ข้อความใน อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต มิจฉัตตสูตร ได้แสดงถึงผู้ที่เป็นมิจฉัตตะ ๑๐ ซึ่งพลาดจากสวรรค์และมรรคผลว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยมิจฉัตตะ จึงมีการพลาดจากสวรรค์และ มรรคผล ไม่มีการบรรลุสวรรค์และมรรคผล เพราะอาศัยมิจฉัตตะอย่างไรจึงมีการพลาดจากสวรรค์และมรรคผล ไม่มีการบรรลุสวรรค์และมรรคผล

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีความเห็นผิดย่อมมีความดำริผิด ผู้มีความดำริผิดย่อมมีวาจาผิด ผู้มีวาจาผิดย่อมมีการงานผิด ผู้มีการงานผิดย่อมมีการเลี้ยงชีพผิด ผู้มีการเลี้ยงชีพผิดย่อมมีความพยายามผิด ผู้มีความพยายามผิดย่อมมีความระลึกผิด ผู้มีความระลึกผิดย่อมมีความตั้งมั่นผิด ผู้มีความตั้งมั่นผิดย่อมมีความรู้ผิด ผู้มีความรู้ผิดย่อมมีความหลุดพ้นผิด

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัยมิจฉัตตะอย่างนี้แล จึงมีการพลาดจากสวรรค์และมรรคผล ไม่มีการบรรลุสวรรค์และมรรคผล ฯ

    เป็นชีวิตประจำวันที่จะพิจารณาตั้งแต่มิจฉาทิฏฐิ มิจฉาสังกัปปะ มิจฉาวาจา มิจฉากัมมันตะ มิจฉาอาชีวะ มิจฉาวายามะ มิจฉาสติ มิจฉาสมาธิ

    น่ากลัวไหม อกุศล เริ่มจากทีละเล็กทีละน้อย ดูไม่น่าเป็นโทษเป็นภัยเลย เพียงความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ซึ่งทุกคนก็มี เหมือนๆ กัน แต่ใครจะมีมากจนกระทั่งสามารถมีวาจาที่ผิด หรือมีกายกรรมที่ผิด มีความประพฤติที่ผิด ซึ่งแสดงให้เห็นว่า วันหนึ่งวันใดถ้ากิเลสเหล่านั้นยังไม่ดับ แต่ละบุคคลก็อาจทำกายกรรมและวจีกรรมที่ผิดอย่างนั้นได้

    พยสนสูตร ว่าด้วยความพินาศ ๑๑ อย่าง

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดด่าบริภาษเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ติเตียน พระอริยเจ้า ข้อนี้มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส ที่ภิกษุนั้นจะไม่พึงถึงความพินาศ ๑๑ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง ความพินาศ ๑๑ อย่างเป็นไฉน คือ

    ไม่บรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ ๑

    เสื่อมจากธรรมที่บรรลุแล้ว ๑

    สัทธรรมของภิกษุนั้นย่อมไม่ผ่องแผ้ว ๑

    เป็นผู้เข้าใจว่าได้บรรลุในสัทธรรม ๑

    เป็นผู้ไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ ๑

    ต้องอาบัติเศร้าหมองอย่างใดอย่างหนึ่ง ๑

    บอกลาสิกขาเวียนมาเพื่อความเป็นคนเลว ๑

    ถูกต้องโรคอย่างหนัก ๑

    ย่อมถึงความเป็นบ้า คือ ความฟุ้งซ่านแห่งจิต ๑

    เป็นผู้หลงใหลทำกาละ ๑

    เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดด่าบริภาษเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ติเตียน พระอริยเจ้า ข้อนี้มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส ที่ภิกษุนั้นจะไม่พึงถึงความพินาศ ๑๑ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง

    ผู้ฟัง โทษของโมหมูลจิตรู้สึกว่าจะไม่ค่อยเห็น หรือเห็นยาก แต่เห็นโดยเหตุผลจากการศึกษาว่า เป็นมูลเหตุให้เกิดโลภะและโทสะ โทษของโลภะนั้นเห็นง่ายกว่าโมหะหน่อย แต่ก็ยังนับว่ายาก นอกจากจะไม่เห็นแล้วยังรู้สึกนิยมในโลภะด้วย ประเภทที่เพลิดเพลินไปในอารมณ์ต่างๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย รู้สึกว่า น่าจะเป็นสุขด้วยซ้ำไป รู้สึกว่าจะละยาก แต่โทสะเห็นง่ายและเป็นที่รังเกียจของ ตัวเราเองด้วย นี่เป็นการสังเกตจากการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน

    ท่านอาจารย์ สัญญา ความจำ ที่ควรเจริญแต่ละข้อๆ เป็นไปเพื่อที่จะกั้นหรือกัน โลภะแต่ละอย่าง เพราะแม้แต่ผู้ที่เริ่มมีสัญญาต่างๆ เช่น อสุภสัญญา มรณสัญญา อาหาเรปฏิกูลสัญญา สัพพโลเกอนภิรตสัญญา อนิจจสัญญา อนิจเจทุกขสัญญา ทุกเขอนัตตสัญญา เหล่านี้ ก็ยังปรากฏว่า ถ้ายังไม่คุ้น ยังภาวนาไม่ถึงขั้น ก็ต้องมีการหวนกลับไปสู่การสะสมของโลภะซึ่งมีกำลังมากกว่า

    ที่กล่าวว่าเป็นสุข เพราะยังไม่ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไป เพียงแต่คิดว่า ไม่เที่ยง แต่ที่คิดว่าไม่เที่ยง ก็เที่ยงอยู่นาน ใช่ไหม อย่างที่กำลังนั่งอยู่เดี๋ยวนี้ เที่ยงหรือเปล่า หรือว่าไม่เที่ยงทุกขณะจิต นี่คือสภาพที่ต่างกัน ที่กล่าวว่าไม่เที่ยง ในความรู้สึกก็ยังเหมือนเที่ยงอยู่ชั่วระยะหนึ่งซึ่งนาน เช่น ความรู้สึกเป็นสุข แต่ที่จริงแล้วถ้าประจักษ์ว่า แม้แต่สุขเวทนาที่เกิดขึ้นก็ดับทันที จึงจะสามารถดับกิเลสได้ เมื่อประจักษ์แจ้งอริยสัจธรรมตามความเป็นจริง

    เล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ เพียงแต่คิดบ้าง พิจารณาบ้าง เข้าใจบ้าง ไม่มีทางที่จะดับกิเลสได้ ก็ยังคงเป็นผู้ที่พอใจในความสุข และเห็นว่าเป็นความสุข เพราะยังไม่ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของความสุข

    ที่กล่าวว่าไม่เที่ยง แต่ในความรู้สึกของทุกท่านก็มีความรู้สึกว่าเที่ยงพอสมควร จึงยังคงเป็นสุขอยู่ ปฏิเสธไม่ได้เลย เพราะคำว่า ไม่เที่ยง เพียงตามตำรา แต่เมื่อยังไม่ประจักษ์การเกิดดับ ก็ยังคงเที่ยงอยู่ชั่วขณะที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง แต่ไม่ว่าใครจะ เห็นว่าเที่ยงอยู่ชั่วคราว ระยะยาวนานพอสมควร ลักษณะที่แท้จริงนั้น ก็คือ เกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว โดยที่ใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม สิ่งซึ่งยึดถือว่าเที่ยงชั่วคราวที่พอใจก็เกิดขึ้นและดับไปเร็วมาก แต่เมื่อไม่ประจักษ์ ก็ยังพอใจในความเที่ยงอยู่ชั่วคราว จนกว่าจะไม่เที่ยงจริงๆ คือ พลัดพรากจากไป ซึ่งต้องมีแน่ๆ เป็นแน่ๆ จะช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง

    มีใครซึ่งยังไม่เคยจากอะไรไปเลยสักอย่างบ้างไหม ก็ไม่มี แต่ถ้ามีสิ่งอื่นมาทดแทนก็ไม่รู้สึกเดือดร้อน ยังคงพอใจในสิ่งใหม่ต่อไป และหาความเพลิดเพลินพอใจในสิ่งใหม่ โดยที่ไม่พอ ไม่พออยู่เรื่อยๆ

    ผู้ฟัง เมื่อสักครู่ผมได้เรียนอาจารย์ถึงการสังเกต หรือการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะโทสะ เป็นธรรมที่เกิดขึ้นและเป็นที่รังเกียจ ถึงแม้ว่าจะเป็นโทสะที่เบาบาง เช่น ความฟุ้งซ่านหรือความหงุดหงิด ความวิตกกังวลต่างๆ ก็ตาม หรือที่เป็นโทสะแรงๆ เมื่อเกิดขึ้นล่วงมาเป็นทุจริตทางวาจา ก็รังเกียจตัวเอง รังเกียจในอกุศลนั้นด้วยว่าไม่ควรเกิดขึ้น และรู้สึกเสียใจ ไม่อยากให้มีเลย

    เมื่อเกิดโทสะขึ้นนั้น ถ้าสติเกิด แทนที่ผมจะพิจารณาธรรมชาติของโทสะ ผมกลับไปพิจารณาทางกายแทน คือ จากการศึกษาทราบว่า เมื่อจิตเป็นโทสะ เป็นอกุศลนั้น ไม่ควรให้อกุศลเจริญ และสิ่งเดียวที่จะยับยั้งไม่ให้อกุศลเจริญ คือ เจริญสติปัฏฐานทันที ซึ่งขณะนั้นถ้าเอาโทสะมาเป็นอารมณ์ รู้สึกจะยากกว่าที่จะเอาทางกาย หรือทางหู มาเป็นอารมณ์ และเห็นผลนิดหน่อย คือ ทำให้สภาพของโทสะหยุดชะงักไปนิดหน่อย

    ท่านอาจารย์ ขออนุโมทนาที่มีหิริเกิดขึ้น แม้ว่าหลังจากที่วจีทุจริตได้กล่าวไปแล้ว ก็ยังดีที่รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิด และยังพยายามที่จะไม่ให้เกิดขึ้น แต่อย่าเลือกอารมณ์ อย่าพยายามที่จะเอาโทสะนั้นมาเป็นอารมณ์ ถ้าสติจะระลึกทางกาย ก็ให้ทราบว่าเป็นปกติที่สติจะเกิดระลึกที่กาย จนกว่าสติจะระลึกที่ลักษณะของรูปธรรมอื่นหรือนามธรรมอื่น

    แต่อย่ามีความตั้งใจว่า ควรจะระลึกที่โทสะ อย่าคิดอย่างนั้น เพราะนั่นคือลักษณะของตัวตนที่ยังคงจะเลือกอยู่ตลอดเวลา แสดงให้เห็นว่า สติยังไม่ชำนาญที่จะระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมใดๆ เพราะยังไม่ได้ระลึกจนทั่ว

    ถ้าระลึกจนทั่วจริงๆ แม้มีความจงใจเกิดขึ้นในขณะนั้น สติก็ยังรู้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพจงใจ ไม่ใช่ตัวตน แต่ในขณะที่ระลึกยังไม่ทั่ว เวลาที่จงใจ ก็คือ เราทั้งตัวที่กำลังจงใจ นี่คือความต่างกัน เพราะลักษณะที่ตั้งใจ จงใจ ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นเจตนาเจตสิก

    ขณะที่สติระลึกไม่ทั่วและจงใจ ยังมีความเป็นตัวตนเต็มที่ แต่ถ้าสติระลึกไปเรื่อยๆ จะระลึกทางกายบ่อยๆ ไม่ระลึกทางตาเลย ก็บังคับสติไม่ได้ ต้องค่อยๆ อบรมไปจนกว่าจะมีปัจจัยที่สติจะระลึกทางตา หรือระลึกลักษณะของโทสะ หรือระลึกลักษณะของโลภะก็ตามแต่ เมื่อใดเป็นผู้ที่ระลึกรู้จนทั่ว จะไม่เดือดร้อนเลย แม้แต่ลักษณะที่กำลังจงใจ ก็ไม่ใช่ตัวตน

    แต่ก่อนที่จะระลึกจนทั่ว อย่าจงใจ ปล่อยให้สติเกิด ระลึกลักษณะของ สภาพธรรมตามที่สติจะระลึกในขณะนั้นและดับไป สั่งสติไม่ได้ว่าให้ระลึกที่โทสะ แล้วแต่สติที่เกิด เพราะถ้าสติไม่เกิด จะไม่มีการระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมใดเลย เพราะฉะนั้น เมื่อสติเกิดเท่านั้นจึงมีการระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมเพียงอย่างเดียวโดยสติเอง ไม่ใช่โดยมีใครไปเจาะจงให้สติระลึกที่นั่น

    ถ้ายังมีการคิดว่า เพราะเราเจาะจง ก็ยังเป็นอัตตา ยังเป็นตัวเรา ยังเป็นตัวตนอยู่ ยังไม่สามารถที่จะดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้ ซึ่งเรื่องของตัวตน เป็นเรื่องที่ลึกและละเอียด แต่ให้ทราบว่าเป็นเรื่องที่จะต้องดับก่อน

    บางคนก็กลัวโลภะเหลือเกิน กลัวจริงๆ ทำอย่างนั้นก็จะเป็นโลภะ จะเปิด พัดลมก็เป็นโลภะ จะฟังเพลงก็เป็นโลภะ มีมิจฉาทิฏฐิหรือความเห็นผิดที่ยึดถือ สภาพธรรมว่าเป็นตัวตนอยู่หรือเปล่า ถ้ามี ต้องดับความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนก่อน เพราะโลภะมีปัจจัยก็เกิด แต่ในขณะเดียวกัน การฟังเรื่องของโลภะมากๆ ก็เป็นปัจจัยที่จะให้เห็นโทษของโลภะ และโลภะจะค่อยๆ น้อยลง

    ที่ใช้คำว่า น้อยลง อย่าคิดว่า มากมายทันที แต่ต้องเป็นไปอย่างค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ละเอียดจริงๆ และถ้าไม่ถึงขั้นดับเป็นสมุจเฉท ก็ยังหวนกลับมาอีกได้ เพราะมีการสะสมไว้มาก

    ผู้ฟัง ธรรมไม่ใช่ตัวตน แต่บางคนกล่าวว่า ขณะที่สติเกิด ไม่ใช่เรา และเขาก็ไม่เดือดร้อน เขาทำผิดไปแล้วก็ไม่เดือดร้อน เพราะสติระลึกรู้ในขณะนั้นว่า ไม่ใช่เขา หรือไม่ใช่เรา ซึ่งบางครั้งเหมือนกับว่าไม่รับผิดชอบ ในเรื่องนี้อาจารย์มีความเห็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เมื่อไม่ใช่เรา แล้วเป็นอะไร สภาพธรรมมีจริงๆ เกิดขึ้น ถ้ารู้ว่า เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม ไม่เดือดร้อนในขณะนั้นได้ กิเลสมีมาก ใครก็บังคับไม่ได้ ไม่มีชื่อด้วย เมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะมีการกระทำทางกายวาจาอย่างไร ก็เป็นไปด้วยกำลังของกิเลสนั้นๆ ที่ยังไม่ดับ เพราะฉะนั้น เมื่อยังไม่ได้ดับ ต้องมีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นอีก แต่เมื่อมีหิริ ความละอาย ความรังเกียจ มีความเห็นว่าเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ก็จะทำให้มีความเพียรที่จะขัดเกลา

    ข้อสำคัญที่สุด ประการแรก ต้องเห็นว่าเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ เท่านั้นยังไม่พอ ยังต้องมีความเพียรที่จะขัดเกลา มีความตั้งใจจริงๆ ที่เป็นกุศลที่จะขัดเกลา ไม่ใช่ว่า เมื่อไม่ใช่เรา ก็ไม่เป็นไร

    ผู้ฟัง ทำอย่างไรจึงจะให้สติระลึกบ่อยๆ อะไรเป็นปัจจัยของสติ

    ท่านอาจารย์ การฟังเรื่องของนามธรรมและรูปธรรมมากๆ จนกระทั่งเป็นสัญญา ความจำที่มั่นคง ไม่ว่าจะกำลังหมกมุ่นครุ่นคิดเรื่องอะไร สติจะระลึกลักษณะนั้นได้ว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งต้องเป็นผู้ที่สังเกตเอง เพราะวันหนึ่งๆ ทุกคนก็คิด ลองวิเคราะห์ความคิดของท่านดูว่า ท่านคิดเรื่องอะไรมาก เรื่องโลภะมาก หรือเรื่องโทสะมาก หรือเรื่องกุศลมาก

    ถ้าคิดเรื่องปรมัตถธรรมมาก และพิจารณาโดยละเอียด โดยแยบคายเข้าใจขึ้น นั่นจะเป็นสัญญา ความจำที่มั่นคง ที่จะเป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้ที่จะให้สติเกิดระลึกได้ เพราะกำลังคิดเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ไม่ได้หมายความว่า ให้ท่อง

    สำหรับในวันนี้ขอทบทวนเรื่องโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ โดยกิจ

    จิตทั้งหมดมี ๘๙ ประเภท แต่ว่ากิจทั้งหมดมีเพียง ๑๔ กิจ สำหรับโลภมูลจิตจะทำกิจใดได้ใน ๑๔ กิจ

    กิจที่ ๑ คือ ปฏิสนธิกิจ โลภมูลจิตทำปฏิสนธิกิจไม่ได้ เพราะจิตที่จะทำปฏิสนธิกิจได้ต้องเป็นจิตประเภทวิบากเท่านั้น แต่ไม่ได้หมายความว่า วิบากทุกดวงจะทำปฏิสนธิกิจได้ ต้องเป็นวิบากจิตเพียง ๑๙ ดวงเท่านั้น ตามที่ได้กล่าวถึงแล้ว

    กิจที่ ๒ คือ ภวังคกิจ ต้องเป็นวิบากจิต เพราะฉะนั้น โลภมูลจิตทำกิจนี้ไม่ได้

    กิจที่ ๓ คือ อาวัชชนกิจ มีจิต ๒ ดวงเท่านั้น ที่ทำกิจนี้ คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ และมโนทวาราวัชชนจิต ๑ ซึ่งเป็นชาติกิริยาและเป็นกามภูมิ ไม่ว่าวิถีจิตจะเกิดในภูมิไหน จะต้องมีอาวัชชนจิตเป็นวิถีแรก ถ้าเป็นทางปัญจทวาร ต้องเป็นปัญจทวาราวัชชนะ ถึงแม้ว่าจะเกิดเป็นรูปพรหมภูมิ ก็ยังเป็นชั้นกามภูมิ คือ เป็นกามาวจรจิต หรือจะเกิดในอรูปพรหมภูมิ คือ มโนทวาราวัชชนจิตเกิดใน อรูปพรหมภูมิ โดยภูมิก็ยังต้องเป็นกามาวจรจิต เปลี่ยนแปลงภูมิหรือระดับขั้นของจิตไม่ได้ เช่นเดียวกับเปลี่ยนแปลงชาติของจิตไม่ได้

    เพราะฉะนั้น โลภมูลจิตไม่ได้ทำอาวัชชนกิจ

    กิจที่ ๔ คือ ทัสสนกิจ มีจิต ๒ ดวงเท่านั้น ที่ทำกิจเห็น ได้แก่ จักขุวิญญาณกุศลวิบาก ๑ และอกุศลวิบาก ๑ เพราะฉะนั้น โลภมูลจิตไม่ได้ทำทัสสนกิจ

    ขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ต้องรู้ว่า ชั่วขณะที่เห็นไม่ใช่โลภมูลจิต เพราะว่าเป็นจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ยังไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ หรืออโลภะ อโทสะ อโมหะ เกิดร่วมด้วยกับจักขุวิญญาณที่ทำทัสสนกิจ

    กิจที่ ๕ คือ สวนกิจ จิตได้ยิน ได้แก่ จิต ๒ ดวง คือ โสตวิญญาณ เป็นวิบากจิต ซึ่งเป็นกุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ เพราะฉะนั้น โลภมูลจิตทำสวนกิจไม่ได้

    กิจที่ ๖ คือ ฆายนกิจ จิตได้กลิ่น โลภมูลจิตก็ทำกิจนี้ไม่ได้

    กิจที่ ๗ คือ สายนกิจ โลภมูลจิตทำกิจนี้ไม่ได้

    กิจที่ ๘ คือ ผุสสนกิจ โลภมูลจิตทำกิจนี้ไม่ได้

    กิจที่ ๙ คือ สัมปฏิจฉันนกิจ โลภมูลจิตทำกิจนี้ไม่ได้

    กิจที่ ๑๐ คือ สันตีรณกิจ โลภมูลจิตทำกิจนี้ไม่ได้

    กิจที่ ๑๑ คือ โวฏฐัพพนกิจ โลภมูลจิตทำกิจนี้ไม่ได้

    กิจที่ ๑๒ คือ ชวนกิจ เป็นกิจที่แล่นไปในอารมณ์ เพราะเห็นแล้ว รับแล้ว พิจารณาแล้ว กระทำทางแล้ว เพราะฉะนั้น สำหรับชวนกิจ ได้แก่ จิตที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง และสำหรับผู้ที่เป็นพระอรหันต์ ไม่มีกุศล อกุศล ชวนกิจก็เป็นกิริยาจิต นอกจากนั้นโลกุตตรกุศลเป็นชวนกิจ พร้อมทั้งโลกุตตรวิบาก คือ ผลจิต ก็เป็นชวนจิตด้วย

    กิจที่ ๑๓ คือ ตทาลัมพนกิจ โลภมูลจิตไม่ได้ทำตทาลัมพนกิจ เพราะ ตทาลัมพนกิจเป็นวิบากจิต

    กิจที่ ๑๔ คือ จุติกิจ โลภมูลจิตไม่ได้ทำกิจจุติ เกิดก่อนจุติ แต่ไม่ได้ทำจุติกิจ

    กิ

    จทั้ง ๑๔ กิจนี้ โลภมูลจิตทำชวนกิจ เช่นเดียวกับอกุศลอื่นๆ และกุศลอื่นๆ หรือกิริยาจิตของพระอรหันต์

    สำหรับโลกุตตรจิตทั้ง ๘ ดวง คือ โสดาปัตติมรรคจิต สกทาคามิมรรคจิต อนาคามิมรรคจิต อรหัตตมรรคจิต ซึ่งเป็นโลกุตตรกุศล ๔ และโลกุตตรวิบาก ๔ คือ โสดาปัตติผลจิต สกทาคามิผลจิต อนาคามิผลจิต อรหัตตผลจิต ก็กระทำชวนกิจ

    เพราะฉะนั้น วิบากจิตที่จะทำชวนกิจได้ มีภูมิเดียว คือ โลกุตตรวิบาก เพราะโลกุตตรวิบากไม่ได้ทำกิจปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ และกิจอื่นๆ เช่นวิบากอื่นๆ โลกุตตรวิบากมีนิพพานเป็นอารมณ์ เป็นธรรมที่ดับกิเลสแล้ว เป็นสภาพของจิตที่เกิดขึ้นมีนิพพานเป็นอารมณ์โดยฐานะที่ดับกิเลสแล้ว เพราะฉะนั้น โลกุตตรวิบากจิตจึงทำชวนกิจเช่นเดียวกับโลกุตตรกุศลจิต

    ในขณะที่เป็นฌานสมาบัติ ผู้ที่อบรมเจริญความสงบจนกระทั่งฌานจิตเกิด ในขณะที่เป็นฌานจิตนั้น ก็ทำชวนกิจ แต่ก่อนที่ชวนจิตจะเกิดได้ต้องมีอาวัชชนจิตเกิดก่อน อย่าลืม อาวัชชนจิตต้องเป็นชาติกิริยา แต่ชวนจิตเป็นกุศลก็ได้ เป็นอกุศลก็ได้ เป็นโลกุตตรวิบากได้ และเป็นกิริยาได้ ถ้าไม่ใช่ปัญจทวาราวัชชนจิตและ มโนทวาราวัชชนจิต

    และควรจะได้ทราบเรื่องอารมณ์ของโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ในวันหนึ่งๆ ว่า เป็นไปในอารมณ์ ๖ และทวาร ๖ อย่างไร

    ชีวิตขณะนี้ เป็นชีวิตประจำวันของทุกท่าน ซึ่งมีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ เป็นทางที่จะรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ ทุกท่านเข้าใจเรื่องของอารมณ์ที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ละเอียดและถูกต้องพอที่จะละกิเลสทั้งหลายได้แล้วหรือยัง ซึ่งถ้า ยังไม่ได้ศึกษาพระธรรมโดยละเอียด ไม่มีทางเลยที่จะรู้ว่า อารมณ์ของโลภมูลจิต ทิฏฐิคตวิปปยุตต์ คือ ความต้องการอารมณ์ซึ่งไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด ที่มีอยู่เป็นประจำในวันหนึ่งๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ต่างกันอย่างไร

    ถ้าพูดง่ายๆ ว่า ทางตา สิ่งที่ปรากฏต่างกับทางหู จะไม่พอเลย เพราะนั่น ยังไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

    ขณะนี้ การศึกษาธรรมเพื่อพิสูจน์สิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟัง

    อารมณ์ ๖ คือ

    อารมณ์ที่ ๑ รูปารมณ์ ได้แก่ วัณณะ คือ สิ่งที่ปรากฏได้ทางตา ไม่ใช้คำว่า วัณณะก็ได้ ในขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตามีจริง เป็นรูปารมณ์ เป็นอารมณ์ของจิตทุกดวงที่อาศัยจักขุปสาทเป็นทวาร ซึ่งได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต จักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฐัพพนจิต และชวนจิตซึ่งปกติก็เป็นโลภมูลจิตที่เป็น ทิฏฐิคตวิปปยุตต์

    แสดงให้เห็นว่า จักขุปสาทเป็นปัจจัยให้แต่เฉพาะจิตที่อาศัยจักขุปสาทเป็นทวารเท่านั้น จักขุปสาทจะไม่เป็นปัจจัยให้จิตที่อาศัยโสตปสาทเลย ซึ่งข้อความใน อัฏฐสาลินี อุปมาว่า เหมือนเม็ดมะม่วงที่เป็นปัจจัยแก่การเกิดขึ้นของผลมะม่วง แต่ว่าไม่เป็นปัจจัยแก่การเกิดขึ้นของตาล เพราะฉะนั้น จักขุปสาทในขณะนี้ เป็นปัจจัยให้เกิดขึ้นเฉพาะจิตที่อาศัยจักขุปสาท

    ขณะนี้ท่านผู้ฟังกำลังเห็นรูปารมณ์ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา หรือกำลังเห็นคน เห็นวัตถุ เห็นสิ่งต่างๆ นี่คือสิ่งที่จะต้องพิสูจน์เพื่อจะได้พิจารณาว่า เข้าใจลักษณะของรูปารมณ์แค่ไหน และเข้าใจโดยเพียงขั้นการฟัง โดยชื่อ หรือว่าเข้าใจเพราะขณะนี้กำลังพิจารณาจริงๆ ว่า เห็นอะไร

    ถ้าเห็นคน ก็ล่วงเลยปัญจทวารวิถีไปสู่มโนทวารวิถีแล้วอย่างรวดเร็ว

    เพราะฉะนั้น ขอกล่าวถึงเรื่องของอารมณ์ทั้ง ๖ อีกครั้งหนึ่ง เพื่อจะได้เห็นความต่างกันจริงๆ ของทางปัญจทวารและทางมโนทวาร ซึ่งทันทีที่ทางจักขุทวารวิถีจิตเห็นและดับไป ภวังคจิตเกิดคั่น มโนทวารวิถีจิตจะเกิดสืบต่ออย่างรวดเร็ว ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะกั้น ไม่ให้มโนทวารวิถีจิตเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็วได้

    ข้อความใน อัฏฐสาลินี อรรถกถา ธรรมสังคณีปกรณ์ อุปมาว่า

    เปรียบเสมือนนกที่บินมาทางอากาศ แล้วซ่อนตัวอยู่ที่ยอดไม้ ย่อมกระทบ กิ่งไม้ด้วย และเงาของนกนั้นย่อมกระทบที่แผ่นดินด้วย การกระทบกิ่งไม้กับการแผ่ไปของเงาย่อมมีในขณะเดียวกัน ไม่ก่อน ไม่หลังกันเลย ฉะนั้น

    ข้อความนี้ไม่ได้หมายความว่า ทั้งปัญจทวารวิถีจิตและมโนทวารวิถีจิต เกิดพร้อมกัน แต่หมายความถึงความรวดเร็วของขณะที่อารมณ์หนึ่งปรากฏกระทบ จักขุปสาท วิถีจิตทางจักขุทวารดับไปหมดแล้ว ภวังค์เกิดคั่น มโนทวารวิถีจะเกิดสืบต่ออย่างรวดเร็ว เหมือนนกที่บินมาทางอากาศ แล้วซ่อนตัวอยู่ที่ยอดไม้ ทันทีที่กระทบกิ่งไม้ เงาของนกก็ย่อมกระทบที่แผ่นดินด้วย

    แสดงให้เห็นถึงการสืบต่ออย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น ทุกท่านก็สงสัยว่า ไม่เคยเห็นรูปารมณ์อย่างเดียวสักครั้งหนึ่ง เห็นแต่คน สัตว์ วัตถุ สิ่งของอยู่เรื่อยๆ ถ้าไม่ได้ฟัง ไม่ได้พิจารณาโดยละเอียด ย่อมไม่มีการที่จะแยกพิจารณาถ่ายถอนความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนออกจากสิ่งที่ปรากฏทางตาได้เลย แต่ถ้าได้ฟังบ่อยๆ และพยายามที่จะรู้จักสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่กำลังปรากฏ ถึงแม้ว่าจะเคยเห็นเป็นคน เป็นวัตถุ เป็นสิ่งต่างๆ โดยขั้นการศึกษาก็ทราบว่า นั่นคือจิตทางมโนทวาร ไม่ใช่ทางจักขุทวาร

    เพราะฉะนั้น วันหนึ่งวันใดที่สติระลึกบ่อยๆ เนืองๆ แยกอารมณ์ที่ปรากฏทางจักขุทวารออกจากทางมโนทวารได้ เมื่อนั้นก็จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความ เป็นจริง

    ทางตา ซึ่งเห็นอยู่เรื่อยๆ แต่ไม่ได้เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง จนกว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาจะเป็นเพียงสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเท่านั้น

    อารมณ์ที่ ๒ สัททารมณ์ ได้แก่ เสียง คือ สภาพธรรมที่ปรากฏได้ทางหู เป็นอารมณ์ของจิตทุกดวงที่อาศัยโสตปสาทเป็นทวาร และปรากฏต่อทางมโนทวารหลังจากที่ภวังคจิตเกิดคั่น คือ แต่ละวิถีจะต้องมีภวังคจิตเกิดคั่น ทางหูก็เช่นเดียวกัน ได้ยินเสียง แต่กำลังรู้คำ ที่กำลังรู้คำ ก็เตือนตัวเองให้รู้ว่า ขณะนั้นเป็นมโนทวารวิถี ที่กำลังคิดถึงคำ ไม่ใช่โสตทวารวิถีที่เพียงได้ยินแต่เสียง

    อารมณ์ที่ ๓ คันธารมณ์ ได้แก่ กลิ่น คือ สภาพธรรมที่ปรากฏทางจมูก เป็นอารมณ์ของจิตทุกดวงที่อาศัยฆานปสาทเป็นทวาร ต่อจากนั้นก็ปรากฏทางมโนทวารหลังจากที่ภวังคจิตเกิดคั่น

    อารมณ์ที่ ๔ รสารมณ์ ได้แก่ รส คือ สภาพธรรมที่ปรากฏที่ลิ้น เป็นอารมณ์ของจิตทุกดวงที่อาศัยชิวหาปสาทเป็นทวาร เมื่อจิตที่อาศัยชิวหาปสาทดับไปแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่น มโนทวารวิถีก็รู้รสารมณ์นั้นต่อ

    อารมณ์ที่ ๕ โผฏฐัพพารมณ์ ได้แก่ สภาพที่เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏทางกาย เป็นอารมณ์ของจิตทุกดวงที่อาศัยกายปสาทเป็นทวาร และปรากฏทางมโนทวารต่อ หลังจากที่ภวังคจิตเกิดคั่น

    สำหรับอารมณ์ทั้ง ๕ นี้ เรียกว่า ปัญจารัมมณะ หรือปัญจารมณ์ แม้ว่าจะเป็นอารมณ์ทั้ง ๕ ก็จริง แต่ปรากฏได้ ๖ ทวาร คือ ปรากฏทางจักขุทวาร และปรากฏต่อทางมโนทวาร ปรากฏทางโสตทวาร และปรากฏต่อทางมโนทวาร เป็นต้น

    อีกอารมณ์หนึ่งซึ่งปรากฏได้เฉพาะทางใจ ชื่อว่าธัมมารัมมณะ หรือธัมมารมณ์

    หลายท่านสนใจในคำว่า ธัมมารมณ์ เพราะเป็นอารมณ์ที่ไม่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย อย่างสี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น ธัมมารมณ์ที่ปรากฏทางใจ ได้แก่สภาพธรรมอะไร

    สำหรับอารมณ์ที่ปรากฏทางใจ คือ ธัมมารมณ์ มี ๖ อย่าง ได้แก่ ปสาทรูป ๕ สุขุมรูป ๑๖ จิตทั้งหมด เจตสิกทั้งหมด นิพพาน และบัญญัติ

    ขณะที่เห็นคน เห็นอะไร ทางปัญจทวารเห็นสี ทางมโนทวารมีอะไรเป็นอารมณ์ ทางมโนทวารก็มีสีเช่นเดียวกับที่ทางตาเห็นและดับไปวาระหนึ่ง ภวังคจิตคั่น และ วาระต่อไปจะมีบัญญัติเป็นอารมณ์

    ที่ว่าปรมัตถธรรมไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรมที่มีจริง จะต้องยืนคำนี้อยู่ตลอดเวลา แม้ยังไม่ประจักษ์ว่าปรมัตถธรรมเป็นอย่างไร แต่ได้ฟังแล้วว่า ปรมัตถธรรมหมายความถึงสภาพธรรมที่เป็นแต่เพียงธาตุต่างๆ เป็นธรรมประเภทต่างๆ จึงไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน นี่ต้องเป็นความจริงตามที่ พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ เพราะฉะนั้น เวลาที่เห็นคน ไม่ได้เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้ว ทั้งๆ ที่ทางตา ปัญจทวารวิถีเห็นสิ่งที่ปรากฏจริง แต่ทางใจเป็น บัญญัติแล้ว เพราะว่าเห็นคน เพราะฉะนั้น ต้องรู้ความต่างกันของทางปัญจทวาร และทางมโนทวาร

    มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งอยากจะประจักษ์ หรืออยากจะมีจักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท เป็นอารมณ์

    จักขุปสาทอยู่กลางตาที่กระทบกับรูปารมณ์ ในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่ รูปที่เป็นสีสันวัณณะที่จะปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น จักขุปสาทเป็นธัมมารมณ์ สามารถรู้ได้ทางใจ เป็นไปได้ไหม ลองคิดดูถึงเหตุผล เพราะปกติเมื่อปัญจทวารวิถีดับไป เช่น เสียงที่กำลังได้ยินในขณะนี้ โสตทวารวิถีจิตดับ ภวังคจิตเกิดคั่น มโนทวารวิถีจิตรู้อะไร ก็รู้เสียงนั้นต่อ ไม่เปิดโอกาสที่จะให้มีโสตปสาทเป็นอารมณ์เลย

    กลิ่นกระทบจมูก วิถีจิตเกิดขึ้นรู้กลิ่นทางฆานทวาร ดับไปแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่น มโนทวารวิถีจิตรู้กลิ่นนั้นที่เพิ่งดับต่อจากทางฆานทวาร

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่โอกาสที่จะมีปสาทรูปปรากฏเป็นอารมณ์ หรือแม้แต่ในขณะที่กำลังเห็นบ้าง กำลังได้ยินบ้าง กำลังได้กลิ่นบ้าง ทุกท่านทราบแล้วว่า รูปที่เป็นสภาวรูปทุกรูปมีอายุเท่ากับการเกิดดับของจิต ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้น ปสาทรูปแต่ละอย่าง เช่น จักขุปสาทรูปก็ดี โสตปสาทรูปก็ดี ฆานปสาทรูปก็ดี ชิวหาปสาทรูปก็ดี กายปสาทรูปก็ดี ก็ต้องมีอายุ ๑๗ ขณะเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ในขณะที่รูปทางตาปรากฏ กระทบกับปสาทรูป มีอายุเท่ากับปสาทรูป ๑๗ ขณะ และดับพร้อมกัน ในขณะที่รูปกำลังปรากฏทางตา จักขุปสาทย่อมปรากฏไม่ได้ เพราะว่าเกิดพร้อมกันและดับพร้อมกัน ในขณะที่กำลังได้ยินเสียง เสียงก็เป็นสภาวรูปซึ่งมีอายุ ๑๗ ขณะ โสตปสาทรูปก็มีอายุ ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้น ในขณะนี้เสียงปรากฏ ไม่ใช่โสตปสาทรูปปรากฏ เมื่อเสียงดับ โสตปสาทรูปก็ดับ และจะให้โสตปสาทรูปเป็นอารมณ์ของ มโนทวารวิถีจิตในวันหนึ่งๆ ได้ไหม มีโอกาสที่ปสาทรูปจะเป็นอารมณ์ของจิตที่รู้อารมณ์ทางมโนทวารได้ไหม

    อัฏฐสาลินี รูปกัณฑ์ พรรณนาฉักกนิทเทสเป็นต้น ในรูปวิภัต ข้อ ๖๗๒ มีข้อความว่า

    จิตที่รู้อารมณ์ทางมโนทวาร รู้รูปทั้งหมด

    ไม่เว้นเลย ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เพราะเหตุว่าทรงตรัสรู้

    ซึ่งใน อัฏฐสาลินี อธิบายว่า


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 19
    24 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ