จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 099


    ถ้าบุคคลที่ไม่ชอบท่านมีส่วนดีที่เป็นกุศลธรรมก็อนุโมทนาได้ เพราะเป็นการอนุโมทนาในกุศล ไม่จำเป็นต้องคิดถึงสมมติบัญญัติว่าเป็นบุคคลนั้นบุคคลนี้

    ควรจะเป็นผู้ที่ตรงต่อสภาพธรรมตามความเป็นจริง และพิจารณาจิตใจว่า ขณะใดที่ดีใจหรือพอใจที่คนอื่นทำไม่ดีกับคนที่ท่านไม่ชอบ ขณะนั้นแสดงว่าอกุศลร้ายมากทีเดียว

    ดูเป็นชีวิตประจำวันใช่ไหมที่ถ้าใครทำไม่ดี คนทั้งหลายต้องไม่ชอบ และไม่ใช่เพียงไม่ชอบเท่านั้น ยังหวังร้ายที่จะให้คนนั้นได้รับทุกข์โทษภัยต่างๆ บางคนถึงกับบอกว่า สมควรจะได้รับโทษมากๆ ก็เป็นปกติของชาวโลก ใช่ไหม แต่สำหรับผู้ที่ปฏิบัติธรรมควรจะพิจารณาว่า ถ้าคิดอย่างนี้ ในขณะนั้นกุศลจิตหรืออกุศลจิต ควรจะเมตตาสงสารเวลาที่คนนั้นจะประสบกับความทุกข์ยากลำบากหรือได้รับโทษภัยต่างๆ หรือควรจะดีใจที่เขาจะได้รับทุกข์โทษภัยต่างๆ

    นี่เป็นการที่จะพิจารณาลักษณะของจิต โดยความเป็นผู้ตรงต่อลักษณะของสภาพธรรม โดยเพิกถอนสมมติบัญญัติว่าเป็นบุคคลต่างๆ ออก

    โทสะย่อมเกิดเพราะโทสะ คือ เมื่อไม่ชอบใคร คนอื่นทำดีต่อคนที่ตนไม่ชอบ ก็โกรธ

    น่าสงสารคนที่ทำไม่ดีบ้างไหม แม้คนอื่นจะมาทำดีด้วยก็โกรธคนนั้น ไม่อยากให้คนอื่นมาทำดีกับคนที่ตนไม่ชอบ เพราะเมื่อไม่ชอบแล้วคนอื่นมาทำดีกับคนนั้น ก็พลอยไม่ชอบคนที่ทำดีกับคนที่ตนไม่ชอบด้วย

    เคยเป็นอย่างนี้บ้างไหม ยังเป็นอย่างนี้อยู่หรือเปล่า ต่อไปจะเป็นอย่างนี้อีกไหม

    เป็นเรื่องที่แต่ละท่านจะพิจารณาสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า สิ่งใดที่เป็นอกุศลควรละ เพราะถ้าไม่รู้ก็อาจจะหลง เป็นเหมือนเดิม แต่ถ้าพิจารณาและเห็น อกุศลเป็นอกุศล ก็ควรที่จะละอกุศลทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ท่านชอบ หรือผู้ที่ท่านไม่ชอบ ก็ควรที่จะพิจารณาในทางที่จะทำให้กุศลจิตเกิด ไม่ใช่พิจารณาในทางที่จะทำให้อกุศลจิตเกิด

    ยังคงจะมีทัศนะเหมือนเดิมหรือเปล่า ไม่ชอบใคร เวลาที่คนอื่นทำไม่ดีกับ คนนั้นก็ดีใจ ซึ่งผิด หรือไม่ชอบใคร ถ้าคนอื่นทำดีกับคนที่ท่านไม่ชอบก็โกรธ อย่างนั้นก็เป็นอกุศลอีก

    อย่าลืมข้าศึกภายใน ศัตรูภายใน อยู่ใกล้ที่สุด เกิดได้ทุกโอกาส ไม่มีเครื่องกั้น

    ผู้ฟัง อกุศลที่สะสมมามาก ค่อยๆ ปหานไปเรื่อยๆ จะมีทางหมดไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าสติเกิดจะรู้ว่า ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล และเพราะ สติเกิดปัญญาพิจารณารู้ลักษณะสภาพธรรมในขณะนั้นตามความเป็นจริง จึงจะ คลายอกุศลลง

    ผู้ฟัง จะลดลงเรื่อยๆ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ จนกว่าสามารถจะดับได้เป็นสมุจเฉท ซึ่งการที่จะดับโทสมูลจิตได้หมดเป็นสมุจเฉทนั้น ต้องเป็นพระอนาคามีบุคคล ไม่มีใครชอบโทสะ แต่โทสะก็เกิดได้ ทั้งๆ ที่ไม่ชอบ

    ผู้ฟัง ที่เกิดของโทสะทั้ง ๔ ประการ อาจารย์ถามว่า ยังเป็นอย่างนี้อยู่ไหม ก็ยังเป็นอยู่

    ท่านอาจารย์ ขออนุโมทนาที่เป็นผู้ตรง ข้อสำคัญที่สุด ก่อนอื่นอย่าคิดว่า อกุศลทั้งหมดจะหมดได้เพียงด้วยขั้นฟัง แต่ต้องเป็นผู้ที่ตรงจริงๆ โดยเห็นว่า อกุศลนั้นไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเพราะ เหตุปัจจัย เพราะอกุศลทั้งหมดจะดับได้ต่อเมื่อดับความเห็นผิดที่ยึดถือธรรมทั้งหลายว่าเป็นตัวตนก่อน

    มีท่านผู้หนึ่งท่านเข้าใจว่า ต้องละโลภะก่อน และตัวตนจึงจะหมดเมื่อเป็น พระอรหันต์ แต่นั่นคงเป็นผู้ที่ไม่ได้ศึกษาความละเอียดของพระธรรม จึงพากเพียรที่จะละโลภะด้วยประการต่างๆ ก่อน งดเว้นไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง โดยที่ปัญญาไม่เกิดเลย ไม่เข้าใจลักษณะของสติ และไม่รู้ว่าปัญญาที่จะดับกิเลสได้นั้นต้องเกิดพร้อมสติที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ถ้ายังมีการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนอยู่ ไม่มีทางที่จะดับอกุศลใดๆ ได้เลย

    ผู้ฟัง ถ้าจะไม่ให้มี ต้องเป็นพระอนาคามี ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ อย่าเพิ่งหวังอย่างนั้น ค่อยๆ อบรมไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมีน้อยลงๆ ถึงแม้ว่าจะไม่ดับหมดเป็นสมุจเฉท แต่โอกาสที่จะเกิดน้อยกว่าเดิมก็ยังดี เพราะ โทสมูลจิตประทุษร้ายจิตใจจริงๆ ทำให้เกิดความเสื่อมได้ทุกอย่าง

    ผู้ฟัง ขณะที่เกิดโทสะ และเราเปลี่ยนเป็นเมตตา ก็ยังถือว่าละไม่ได้ คือ ยังไม่หมดเด็ดขาด

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ดับเป็นสมุจเฉท

    ผู้ฟัง อาจจะเกิดขึ้นได้อีก

    ท่านอาจารย์ เกิดได้

    ผู้ฟัง หมายความว่า ขณะที่โทสะเกิดก็เปลี่ยนเป็นว่าไม่มีตัวตน ก็จะดับได้ ใช่ไหม แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นเมตตาจะเป็นสมถภาวนา ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ สภาพของเมตตาตรงกันข้ามกับสภาพของโทสะ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่เกิดโกรธและสติระลึกได้ รู้ว่าขณะนั้นเป็นโทสะ ผู้ที่อบรมเจริญเมตตาก็จะมีเมตตาต่อคนนั้นแทนโทสะ ถ้าขณะนั้นเมตตามีกำลังพอ ข้อสำคัญต้องขึ้นอยู่กับกำลังของเมตตาด้วย ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีเมตตาเป็นปกติ ก็ไม่มีกำลัง ก็ยังคงโกรธบุคคลนั้น

    ผู้ฟัง แต่ไม่หมดทีเดียว ยังมีปัจจัยเกิดอยู่

    ท่านอาจารย์ จนกว่าจะเป็นพระอนาคามีบุคคล แม้ความไม่สบายใจเล็กน้อย หรือความขุ่นเคืองใจก็ไม่มี หมดศัตรูไปทีละประเภทๆ ตามขั้นของความเป็นพระอริยบุคคล

    การที่จะสังเกตลักษณะของโทสมูลจิต ถ้าไม่พิจารณาหรือสังเกตอาจจะไม่รู้ว่า ขณะนั้นเป็นลักษณะของอกุศลจิตประเภทโทสะ ซึ่งใน อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ พรรณนาอกุศลบทภาชนียะ อธิบายนิทเทสโทสะ ข้อ ๔๑๘ มีข้อความว่า

    ในนิทเทสแห่งโทสะ มีอธิบายดังต่อไปนี้

    ที่ชื่อว่า โทโส ด้วยอรรถว่า คิดประทุษร้าย

    เวลาที่โกรธอาจจะไม่รู้สึกตัวว่า มีการคิดประทุษร้าย นิดหนึ่งได้ไหม ทางวาจา หรือทางกายก็อาจจะเป็นไปแล้วโดยไม่รู้ตัว เพราะบางท่านก็มือไว เท้าไว ก็อาจจะเป็นไปได้

    อาการคิดประทุษร้าย ชื่อว่าทุสสนา กิริยาที่คิดประทุษร้าย

    ภาวะที่คิดประทุษร้าย ชื่อว่าทุสสิตัตตัง ความคิดประทุษร้าย

    ความปองร้าย ด้วยอรรถว่า ละภาวะปกติ ชื่อว่าพยาปัตติ ปองร้าย

    อาการปองร้าย ชื่อว่าพยาปัชชนา กิริยาที่ปองร้าย

    ที่ชื่อว่า วิโรโธ โกรธ ด้วยอรรถว่า พิโรธ

    ที่ชื่อว่า ปฏิวิโรโธ แค้น ด้วยอรรถว่า พิโรธเนืองๆ

    คนดุ คือ บุคคลที่หยาบคาย เรียกว่า จัณฑิกะ ภาวะของจันฑิกะคือคนดุนั้น ชื่อว่าจัณฑิกกัง ความดุร้าย

    ถ้าไม่โกรธจะดุร้ายไหม เพราะฉะนั้น ใครที่ดุให้ทราบว่า เพราะความโกรธจึงเป็นคนดุ ลักษณะของโทสะต้องเป็นลักษณะที่ดุร้าย

    ถ้อยคำที่คนชนิดนี้ยกขึ้นพูดเป็นอย่างดีย่อมไม่มี ย่อมมีแต่พูดชั่ว คือ ไม่บริบูรณ์เอาเลยทีเดียว เหตุนั้นจึงชื่อว่าอสุรูโป ความไม่สุภาพ

    ที่ชื่อว่า อนัตตมนตา ความไม่แช่มชื่น ด้วยอรรถว่า ไม่ใช่ความแช่มชื่น เพราะตรงกันข้ามกับความแช่มชื่น ก็ความไม่แช่มชื่นนั้น เพราะเป็นของจิตอย่างเดียว ไม่ใช่ของสัตว์ ฉะนั้น จึงตรัสว่า จิตตัสสะ (ของจิต)

    ขณะใดที่โทสะเกิดขึ้น ขณะนั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็น โทสเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกับจิต เพราะฉะนั้น จึงเป็นจิตตัสสะ โทสเจตสิกนั้นเป็นของจิต ไม่ใช่ของสัตว์ บุคคลหนึ่งบุคคลใด

    ถ้ายังไม่เคยรู้สึกตัวว่ากำลังโกรธ หรือว่ากำลังถูกข้าศึกประทุษร้ายแล้ว ข้อความใน ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส ปุณณกมาณวกปัญหานิทเทส ข้อ ๑๔๕ แสดงขั้นต่างๆ ของความโกรธ ซึ่งทำให้ระลึกได้ว่า ขณะนั้นเป็นอาการของความโกรธ มีข้อความว่า

    ... อนึ่ง ความโกรธท่านกล่าวว่า เป็นดังควัน

    ดูกร พราหมณ์ ท่านมีมานะเปรียบเหมือนดังเครื่องหาบ มีความโกรธเปรียบเหมือนควัน มีการพูดเท็จเปรียบเหมือนขี้เถ้า มีลิ้นเปรียบเหมือนทัพพี หฤทัยของสัตว์ทั้งหลายเปรียบเหมือนสถานที่บูชายัญของท่าน ตนที่ฝึกดีแล้ว เป็นกำเนิดของบุรุษ

    ข้อความอื่นๆ เป็นเรื่องของอาฆาตวัตถุ ๑๐ และต่อไปเป็นอาการต่างๆ ของความโกรธ คือ

    ความปองร้าย ความมุ่งร้าย ความขัดเคือง ความโกรธตอบ ความขุ่นเคือง ความเคือง ความเคืองทั่ว ความเคืองเสมอ ความชัง ความชังทั่ว ความชังเสมอ ความพยาบาทแห่งจิต ความประทุษร้ายในใจ ความโกรธ กิริยาที่โกรธ ความเป็น ผู้โกรธ กิริยาที่ชัง ความเป็นผู้ชัง กิริยาที่พยาบาท ความเป็นผู้พยาบาท ความเป็น ผู้ดุร้าย ความเพาะวาจาชั่ว ความไม่แช่มชื่นของจิต นี้เรียกว่า ความโกรธ

    อนึ่ง พึงทราบความโกรธมาก ความโกรธน้อย บางครั้งความโกรธเป็นแต่เพียงทำจิตให้ขุ่นมัว แต่ยังไม่ถึงให้มีหน้าเง้าหน้างอก็มี

    พอที่จะสังเกตได้ ถ้ายังไม่ถึงหน้าเง้าหน้างอ คนอื่นอาจจะยังไม่ทราบ แต่ขณะที่ขุ่นมัวในจิตใจเป็นดังควัน คือ ไม่แจ่มใส ความรู้สึกในขณะนั้นเกิดขึ้นแสดงลักษณะของความโกรธน้อย เพราะยังไม่ถึงกับให้มีหน้าเง้าหน้างอ

    การแสดงของความโกรธซึ่งระงับยับยั้งไม่ได้ เมื่อสภาพธรรมนี้เกิดขึ้น ก็เป็นปัจจัยให้มีกายวาจาต่างกับขณะที่ไม่โกรธ แม้แต่หน้าก็เปลี่ยนไป ปกติไม่มี หน้าเง้าหน้างอ แต่ถ้าใครหน้าเง้าหน้างอ รู้ได้เลยว่า ขณะนั้นโทสมูลจิตเป็นปัจจัยทำให้หน้าเง้างอขึ้น

    บางครั้งความโกรธเป็นแต่เพียงทำให้หน้าเง้าหน้างอ แต่ยังไม่ถึงให้คางสั่น

    เคยเห็นคนที่โกรธจนตัวสั่นคางสั่นบ้างไหม สั่นไปหมดเลย ขณะนั้นให้ทราบว่า เกินหน้าเง้าหน้างอแล้ว

    บางครั้งความโกรธเป็นแต่เพียงทำให้คางสั่น แต่ยังไม่ถึงเปล่งผรุสวาจา

    ยังมีความโกรธที่มากขึ้นเรื่อยๆ

    บางครั้งความโกรธเป็นแต่เพียงทำให้เปล่งผรุสวาจา แต่ยังไม่ถึงทำให้เหลียวดูทิศทางต่างๆ

    บางครั้งความโกรธเป็นแต่เพียงทำให้เหลียวดูทิศทางต่างๆ แต่ยังไม่ถึงการจับท่อนไม้และศาสตราก็มี

    บางครั้งความโกรธเป็นแต่เพียงทำให้จับท่อนไม้และศาสตรา แต่ยังไม่ถึงเงื้อ ท่อนไม้และศาสตรา

    บางครั้งความโกรธเป็นแต่เพียงทำให้เงื้อท่อนไม้และศาสตรา แต่ยังไม่ถึงตีฟัน

    บางครั้งความโกรธเป็นแต่เพียงทำให้ตีฟัน แต่ยังไม่ทำให้หักให้แหลก

    ตีทีสองทีก็มี ใช่ไหม ผิดกับขณะอื่นๆ ซึ่งถ้าความโกรธมีกำลังไม่ใช่แค่ทีสองทีแน่ๆ แต่ถึงกับให้หักให้แหลกละเอียดทีเดียว

    บางครั้งความโกรธทำให้เป็นแต่เพียงทำให้หักให้แหลก แต่ยังไม่ถึงให้อวัยวะน้อยใหญ่หลุดไป

    ถ้าถึงหลุด คือ แขนขาด ขาขาด

    บางครั้งความโกรธเป็นแต่เพียงทำให้อวัยวะน้อยใหญ่เคลื่อนที่หลุดไป แต่ยังไม่ถึงทำให้ชีวิตดับ

    บางครั้งความโกรธเป็นแต่เพียงทำให้ชีวิตดับ แต่ว่ายังไม่ถึงทำให้เสียสละชีวิตของตนให้หมดไป ก็มี

    เพราะฉะนั้น ปาณาติบาตเกิดขึ้นทำให้สัตว์อื่นตาย แต่นั่นก็เป็นเพราะความโกรธที่ไม่ถึงขั้นที่จะทำให้ตัวเองตาย ถ้าเป็นความโกรธที่มีกำลังมาก แม้ทำให้บุคคลอื่นตายแล้ว ความโกรธนั้นยังไม่หมด ยังทำให้ชีวิตของตนหมดด้วย คือ ตายด้วย ซึ่งนั่นต้องนับว่าเป็นความโกรธที่มีกำลังมาก

    เมื่อใดความโกรธให้ฆ่าบุคคลอื่นแล้วจึงให้ฆ่าตน เมื่อนั้นความโกรธถึงความเป็นความโกรธอย่างแรงยิ่ง ถึงความเป็นความโกรธมากยิ่ง ความโกรธนั้นอันบุคคลใดละ ตัดขาด สงบแล้ว ทำไม่ให้อาจเกิดขึ้นได้อีก เผาเสียแล้วด้วยไฟคือญาณ บุคคลนั้นชื่อว่ากำจัดกิเลสเพียงดังควัน ชื่อว่าวิธูมะ เพราะเป็นผู้ละความโกรธ เพราะเป็นผู้กำหนดรู้วัตถุแห่งความโกรธ เพราะเป็นผู้ตัดขาดซึ่งเหตุแห่งความโกรธ จึงชื่อว่าผู้ไม่โกรธ

    เมื่อไรจะเป็นอย่างนี้ได้ ต้องค่อยๆ อบรมไป เจริญไป โดยเห็นโทษของความโกรธจริงๆ แต่ก่อนนี้ถ้าหน้างอแล้วไม่เคยรู้สึกตัว เดี๋ยวนี้สติอาจจะเกิดระลึกได้ ในขณะที่เกิดความเปลี่ยนแปลงของหน้าแม้เพียงเล็กน้อยก็พอที่จะรู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง

    ก่อนอื่น ไม่ใช่ละความโกรธ แต่รู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะความโกรธต้องเกิดเมื่อมีปัจจัย และความโกรธต้องดับด้วย ไม่ใช่ไม่ดับ และเมื่อความโกรธดับ เนื่องจากการเห็นก็มีในขณะที่กำลังโกรธ การได้ยินก็มีในขณะที่กำลังโกรธ การกระทบสัมผัสทางกายก็มีในขณะที่กำลังโกรธ เย็นร้อนอ่อนแข็งปรากฏ ในขณะที่กำลังโกรธ เพราะฉะนั้น ความโกรธจริงๆ ก็เป็นเพียงชั่วขณะที่เกิดขึ้นและ ดับไป จึงต้องรู้ในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลของสภาพธรรม แม้ความโกรธ

    เพราะฉะนั้น จิตซึ่งประกอบด้วยความโกรธ จึงเป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นสิ่งซึ่งสติระลึกรู้ในสภาพที่เป็นเพียงจิตที่ประกอบด้วยโทสะ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่ถ้าสติไม่เกิดก็แล้วแต่เหตุปัจจัยว่าจะตามความโกรธไปรุนแรงแค่ไหน ตามกำลังของอวิชชาและโทสะ

    ผู้ฟัง บิดามารดาตีลูก ทำให้ลูกกลัวไม่กล้าทำความผิด สามารถกล่าว ได้ไหมว่า ลูกไม่กล้าทำความผิดเพราะกลัวมารดาหรือบิดาจะโกรธและจะถูกลงโทษ กับบิดามารดาซึ่งไม่ตีลูก คิดว่าไม่อยากจะโกรธ และบุตรนั้นก็กลายเป็นคนเสียนิสัย ไม่ทราบว่าต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ตีโดยไม่โกรธ กับตีเพราะกำลังโกรธ ต่างกันไหม

    ผู้ฟัง ต่างกัน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้ามารดาเป็นผู้ที่มีสติ รู้ว่ากระทำในสิ่งที่ควรทำ เพราะต้องมีการอบรมบุตรตามวัย โตแล้วต้องไม่ตีแน่ ถ้าจะตีก็ตีตอนเป็นเด็ก เพราะเด็กบางคนจำเป็นต้องตี แต่ในขณะที่ตี ไม่ใช่ตีด้วยความโกรธ ตีด้วยความโกรธผิดกับตีเพราะรู้ว่าจำเป็นต้องตี

    ผู้ฟัง ส่วนมากเวลาจะตี อะไรใกล้มือก็คว้าฟาดไปเลย ไม่ทันคิดว่า โกรธหรือไม่โกรธ

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นจะเห็นได้ว่า เป็นโทษ ไม่ใช่เป็นประโยชน์เลย เพราะเป็นความโกรธของตัวเอง การที่จะสั่งจะสอนก็พลอยหายไปด้วยเพราะความโกรธ

    ผู้ฟัง ตีเสร็จแล้ว สั่งสอนทีหลัง

    ท่านอาจารย์ ทีหลัง ไม่ใช่ในขณะนั้น ก็เป็นคนละขณะ

    ผู้ฟัง จะทำอย่างไร น้องตัวเองซน พูดดีๆ ว่า อย่านะ อย่านะ ก็ยังทำอีก ก็ต้องตี ต้องโกรธแล้ว

    ท่านอาจารย์ ตีก็ตี แต่ตีด้วยความรู้ในเหตุผลว่าจำเป็นต้องตี ต่างกันไหม

    ผู้ฟัง ต่างกัน และกับบิดามารดาซึ่งกลัวตนเองจะมีอกุศลจิต คือ ความโกรธ ลูกจะซนอย่างไรก็ช่างปล่อยตามยถากรรม คิดว่าเอาตัวเองรอดก็แล้วกัน จะไม่สะสม อกุศลจิต ผลออกมา คือ ลูกมีความประพฤติไม่ดี อย่างนี้จะขัดกันไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้ายังไม่เป็นพระอนาคามีบุคคล ก็ต้องทำสิ่งที่เกี่ยวข้องกับโลกในทางที่เป็นประโยชน์ ในทางที่เหมาะที่ควร แต่ไม่ใช่ด้วยกำลังของความโกรธ มารดาบิดาหลายท่านไม่ตีบุตรเพราะความโกรธ ตี แต่ไม่ได้ตีในขณะที่กำลังโกรธ

    ผู้ฟัง แต่เท่าที่เคยประสบมาเห็นว่า โกรธแล้วก็ถูกตีทุกคน

    ท่านอาจารย์ เด็กบางคนถามว่า ทำไมไม่ตีเขาบ้าง เพราะเขาเข้าใจว่า ถ้าไม่ตีคือ ไม่รัก นี่เป็นอีกอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า เมื่อพ่อแม่รักและตีลูก ลูกเข้าใจในความรักของพ่อแม่ที่ตี รู้ว่าตีเพราะรัก เพราะสั่งสอน เพราะต้องการให้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น เวลาที่อยู่กับคนอื่นและคนอื่นไม่ตี เขาถามว่า ทำไมไม่ตี เหมือนกับว่า ไม่รักเขาจึงไม่ตี เพราะฉะนั้น การตีก็มีหลายอย่าง ถ้าตีด้วยความรัก ด้วยความหวังดี เป็นการสั่งสอน เด็กรู้ได้เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าไม่ตีเลย

    ผู้ฟัง ถ้าหากมีสติก่อนที่จะตี น้ำหนักการตีระหว่างที่มีสติและไม่มีสติก็ต่างกันใช่ไหม คือ ค่อยๆ ตี หรือตีเบาๆ

    ท่านอาจารย์ จะตีให้ตาย หรือตีเพราะควรตีเท่านั้นเอง ให้รู้ ให้จำ ไม่ลืมที่จะไม่ทำอย่างนั้นอีก เท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง เมื่อสักครู่อาจารย์กล่าวว่า สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของโทสะในขณะนั้น คือ สติมีโทสมูลจิตในขณะนั้นเป็นอารมณ์ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่ เพราะในขณะที่กำลังเกิดโทสะ ทางตาก็เห็น ทางกายก็กระทบ ทางหูก็ได้ยินเสียงได้ เพราะฉะนั้น แล้วแต่ว่าสติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมใดสภาพธรรมหนึ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ต้องเลือกให้สติอีกเหมือนกัน

    ผู้ฟัง ไม่ต้องเลือก แต่ถ้าสติจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของโทสะได้ อะไรจะเป็นปัจจัยให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของโทสะในขณะนั้น

    ท่านอาจารย์ ปัญญาที่รู้ว่า การที่จะละความเป็นตัวตนได้ ก็ต่อเมื่อระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏและประจักษ์ชัดว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน โดยไม่เว้น เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าท่านผู้ใดจะเจริญปัญญาโดยต้องไม่ให้โทสะเกิด เพราะส่วนใหญ่จะเข้าใจว่า จิตไม่สงบ วุ่นวาย ปัญญาเกิดไม่ได้ คิดว่าอย่างนั้น คิดว่าจะต้องละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างไม่ให้มีโลภะโทสะใดๆ และไปเจริญปัญญา แต่ ตามความเป็นจริงไม่ใช่อย่างนั้น ตราบใดที่ปัญญายังไม่สามารถรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏโดยสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ก็ไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา

    ผู้ฟัง ปกติ ลักษณะของโทสะก็ปรากฏอยู่ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เกิดขึ้น แล้วแต่สติจะระลึกหรือไม่ระลึก

    ผู้ฟัง ถ้าไม่ระลึก ชื่อว่าไม่ปรากฏ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ปรากฏ แต่เป็นเรา

    ผู้ฟัง ถ้าสติเกิดขึ้น คือ ขณะนั้นไม่ใช่เรา

    ท่านอาจารย์ พิจารณารู้ในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ในสภาพที่เป็นนามธรรม ประเภทหนึ่ง เหมือนกับแข็ง ก่อนที่สติจะเกิดก็รู้ว่าแข็ง ไม่ใช่ว่าแข็งไม่ได้ปรากฏ เพราะฉะนั้น ลักษณะอาการของโทสะก็ปรากฏ แต่เป็นเราที่โกรธ ยึดถือสภาพความโกรธนั้นว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้น เมื่อสติเกิดระลึกได้ จึงพิจารณาในอาการที่ไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับที่เห็นขณะนี้ ก็เป็นแต่เพียงสภาพรู้อย่างหนึ่ง ขณะที่กำลังได้ยินก็เป็นสภาพที่กำลังรู้อย่างหนึ่ง คือ รู้เสียง ขณะที่กระทบสัมผัสก็เป็นสภาพรู้อย่างหนึ่ง คือ กำลังรู้แข็ง

    ผู้ฟัง คนที่ไม่เคยรู้อย่างนี้เลย เขาจะรู้ได้อย่างไรว่า ไม่ใช่เรา

    ท่านอาจารย์ ไม่มีทาง ต้องเป็นสาวก คือ ผู้ฟัง ต้องเป็นพหุสูต ฟังมากๆ พิจารณาโดยแยบคายที่จะอบรมเจริญปัญญาสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริง ข้อสำคัญ คือ ตามปกติ ตามความเป็นจริง

    ถ้าใครพยายามฝืนปกติ กั้นทุกสิ่งทุกอย่างทั้งโลภะ ทั้งโทสะ ไม่มีทางที่จะ รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะไม่ใช่ตัวจริง ไม่ใช่การรู้ถึงเหตุปัจจัยจริงๆ ที่สะสมมา คือทั้งอวิชชา โลภะ โทสะ ที่มากมายในสังสารวัฏฏ์ แต่ขณะหนึ่งๆ ที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นโลภะ หรือโทสะ หรือเป็นกุศล

    การกระทำทางกาย ทางวาจา ตั้งแต่ลืมตาตื่นจนหลับ ถ้าสติระลึกจะรู้ชัด จริงๆ ว่า ขณะที่สภาพธรรมนั้นปรากฏ เป็นลักษณะของนามธรรมใด หรือ รูปธรรมใด เพราะฉะนั้น จึงเป็นผู้ที่มีปกติอบรมสติปัฏฐาน ไม่ใช่เป็นผู้ที่ผิดปกติ เจริญสติปัฏฐาน

    ผู้ฟัง ขณะที่กำลังพิจารณานั้น จะมีลักษณะของโทสะจริงๆ ปรากฏได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ได้ เป็นสติปัฏฐาน ขึ้นชื่อว่าสติปัฏฐานแล้ว ต้องเป็นสิ่งที่สติระลึกได้

    ผู้ฟัง ในขณะนั้น โทสะปรากฏจริงๆ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เหมือนแข็ง เหมือนเสียง เหมือนเห็น เหมือนได้ยิน

    ผู้ฟัง ชั่วขณะนั้นไม่ได้ยึดถือว่าเป็นตัวตน แต่ขณะอื่นยึดถือ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่จำเป็นต้องใช้ชื่อใดๆ แต่มีลักษณะอาการที่ปรากฏให้รู้ว่า ไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง แต่ขณะอื่นก็ยึดถือไป

    ท่านอาจารย์ ขณะอื่นก็เป็นเราเวลาที่สติไม่เกิด ความต่างกันอยู่ที่พิจารณาลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ในอาการ ในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน

    ที่ใช้คำว่า อนัตตา ต้องค่อยๆ เป็น สัพเพ ธัมมา อนัตตา จริงๆ คือ ไม่ว่าจะเป็น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก เป็นสุข เป็นทุกข์ ดีใจ เสียใจ เรื่องราวต่างๆ ที่เคยทำให้เกิดความไม่สบายใจ หรือความเสียใจ ความเศร้าโศก ถ้าสติระลึกได้จะรู้ว่า สั้นนิดเดียว เพียงชั่วขณะที่จิตคิดเท่านั้น เพราะขณะที่เห็นไม่ใช่ขณะที่คิด ขณะที่ได้ยินก็ไม่ใช่ขณะที่คิด ขณะที่กำลังรู้แข็งก็ไม่มี เรื่องนั้นอีกแล้ว เพราะฉะนั้น จึงรู้ได้ว่า เรื่องทั้งหมดไม่ใช่สาระอะไรเลย เป็นแต่เพียงสิ่งที่สัญญาทรงจำไว้ เมื่อระลึกขณะใดก็ทำให้จิตพลอยเกิดเวทนาต่างๆ บางครั้งอาจจะเป็นสุขเวทนา บางครั้งอาจจะเป็นโทมนัสเวทนา บางครั้งเป็นอุเบกขาเวทนา แต่ก็เพียงชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้น และถ้าเป็นการนึกคิดเรื่องราวต่างๆ ขณะนั้นก็ไม่ใช่ขณะที่เห็น ไม่ใช่ขณะที่ได้ยิน ไม่ใช่ขณะที่ได้กลิ่น ไม่ใช่ขณะที่ลิ้มรส ไม่ใช่ขณะที่กำลังกระทบสัมผัส

    ในวันหนึ่งๆ ให้รู้ว่า เห็นอยู่เรื่อยๆ กระทบสัมผัสอยู่เรื่อยๆ ได้ยินเสียง อยู่เรื่อยๆ เพราะฉะนั้น เรื่องต่างๆ จะสั้นแค่ไหน เพราะมีเห็นสลับ มีได้ยินสลับ มีการกระทบสัมผัส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง สลับอยู่เรื่อยๆ จึงไม่ควรที่จะเป็นทุกข์เดือดร้อน เศร้าโศก หรือว่าเกิดโทสมูลจิต

    อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต โกธนาสูตร ข้อ ๖๑ มีข้อความที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงความหวังร้ายของคนที่เป็นข้าศึกศัตรูกัน ๗ ประการ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 19
    24 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ