จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 080


    ในทางแข่งดี ในทางลบหลู่ ในทางตีเสมอก็ตาม ขณะนั้นเป็นอกุศล

    สภาพของจิตเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วและละเอียดมาก ต้องอาศัยสติที่ระลึกจริงๆ จึงสามารถที่จะแยกอกุศลออกจากกุศลได้ และจึงจะละอกุศล เพราะถ้ายังไม่รู้ว่าขณะใดเป็นอกุศล ละอกุศลไม่ได้

    เพราะฉะนั้น การศึกษาเรื่องของปรมัตถธรรม คือ จิต เจตสิก รูป และปัจจัย คือ จิต เจตสิก รูป ซึ่งต่างเป็นปัจจัยซึ่งกันและกันทำให้สภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นไป แต่ละขณะๆ ในวันหนึ่งๆ ก็เป็นเครื่องประกอบที่จะทำให้ปัญญาสามารถละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เมื่อสติเกิดและระลึกลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    แต่ต้องเข้าใจจุดประสงค์ว่า เพื่อเป็นเครื่องประกอบ เป็นสังขารขันธ์ที่จะให้ปัญญาสามารถคลายการติด การยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้

    สุ. สำหรับเรื่องของอเหตุกจิต หรือวิถีจิตก็ตาม ที่มีการเห็นครั้งหนึ่ง มีการได้ยินครั้งหนึ่ง จะต้องทราบว่า ขณะใดที่เป็นวิบาก ขณะใดที่ไม่ใช่วิบาก ต้องไม่ปนกัน มิฉะนั้นแล้ว บางท่านอาจจะคิดว่าเป็นวิบากทั้งหมด

    ปฏิสนธิจิตทั้งหมดมี ๑๙ ที่ได้กล่าวถึงแล้ว คือ กามาวจรจิต เป็นกามปฏิสนธิ ๑๐ ได้แก่ อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก ๑ ทำกิจปฏิสนธิในอบายภูมิ และ อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก ๑ ทำกิจปฏิสนธิในกามสุคติภูมิ เป็นมนุษย์หรือเทวดา ในสวรรค์ชั้นต้น คือ จาตุมหาราชิกา และมหาวิบากจิต ๘ ทำกิจปฏิสนธิในภูมิมนุษย์และในสวรรค์ ๖ ชั้น แล้วแต่ว่าจะเป็นมหาวิบากที่ประกอบด้วยปัญญาหรือ ไม่ประกอบด้วยปัญญา

    สำหรับปฏิสนธิจิตอีก ๙ คือ มหัคคตจิต เป็นรูปาวจรวิบากจิต ๕ ทำกิจปฏิสนธิในรูปภูมิ และอรูปาวจรวิบากจิต ๔ ทำกิจปฏิสนธิในอรูปพรหมภูมิ

    ในพรหมภูมิ เป็นการยากเหลือเกินที่จะเกิด เพราะกุศลขั้นทานไม่สามารถทำให้เกิดในพรหมภูมิได้ กุศลขั้นศีลหรือขั้นเจริญสติปัฏฐานก็ไม่สามารถทำให้เกิดในพรหมภูมิได้ การอบรมเจริญสมถภาวนาจนกระทั่งจิตสงบถึงขั้นอัปปนาสมาธิเท่านั้น โดยที่ฌานไม่เสื่อม คือ ฌานจิตต้องเกิดก่อนจุติจิต จึงเป็นปัจจัยให้รูปาวจรวิบากจิตปฏิสนธิในรูปพรหมภูมิตามควรแก่กำลังของฌานนั้นๆ ซึ่งโดยปัญจกนัย รูปฌานมี ๕ คือ ปฐมฌาน ๑ ทุติยฌาน ๑ ตติยฌาน ๑ จตุตถฌาน ๑ ปัญจมฌาน ๑

    โดยจตุกกนัย ได้แก่ ผู้ที่สามารถละวิตกและวิจารได้พร้อมกัน หมายความว่า ปฐมฌานประกอบด้วยองค์ ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เมื่อเป็นทุติยฌานก็เว้นทั้งวิตกและวิจาร เพราะฉะนั้น องค์ฌานก็ลดลงพร้อมกัน ๒ องค์ ซึ่งนี่คือความต่างกันของทุติยฌาน

    สำหรับรูปาวจรจิต ๕ กระทำกิจปฏิสนธิในรูปพรหม ๑๕ ภูมิ เว้น อสัญญสัตตาพรหม ๑ ภูมิ ซึ่งมีแต่เพียงรูปปฏิสนธิเท่านั้น ไม่มีนามปฏิสนธิเลย

    สำหรับรูปพรหมภูมิแบ่งออกเป็นระดับขั้นต่างๆ ด้วย ซึ่งจะขอกล่าวถึงเพียงเล็กน้อย คือ สำหรับปฐมฌานภูมิ รูปาวจรวิบากจิตที่เป็นปฐมฌาน จะเกิดใน รูปพรหมภูมิชั้นปาริสัชชา ๑ ถ้าเป็นผู้ที่มีความชำนาญเพียงเล็กน้อย ไม่มาก หรือเป็นผู้ที่สามารถสงบได้โดยเล็กน้อย ถ้าเป็นผู้ที่มีกำลังขึ้น ความตั้งมั่นคงของฌานมีกำลังรวดเร็วขึ้น ก็จะเกิดในรูปพรหมภูมิชั้นปุโรหิตา และสำหรับผู้ที่มีฌานที่มีกำลัง มีความประณีต ก็จะเกิดในพรหมภูมิชั้นมหาพรหม นี่สำหรับผู้ที่ปฏิสนธิด้วย รูปาวจรปฐมฌานวิบากจิต เป็นระดับขั้นที่ต่างกันแม้ของปฐมฌานภูมิ ซึ่งทำให้อายุของพรหม ๓ ประเภทนี้ต่างกัน คือ พรหมปาริสัชชามีอายุ ๑ ใน ๓ กัป พรหม ปุโรหิตามีอายุครึ่งกัป และมหาพรหมามีอายุ ๑ กัป ซึ่งเป็นผลของการอบรม เจริญสมถะ แต่ไม่ใช่ทำให้พ้นจากสังสารวัฏฏ์ เพียงแต่จะทำให้ได้รับความสุขสบาย ไม่เดือดร้อนทางกายอย่างในมนุษยภูมิเป็นต้น แต่เป็นการมีชีวิตที่ยืนยาวมาก

    แต่ถ้าผู้ใดเป็นผู้ที่มีสติปัญญา ได้อบรมเจริญสติปัฏฐานพร้อมทั้งเป็นผู้ที่อบรมความสงบของสมาธิถึงขั้นฌานจิต ถึงแม้ว่าจะเกิดในรูปพรหมภูมิ แต่ด้วยเหตุว่า เป็นผู้มีความเข้าใจถูกในการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็สามารถจะเจริญสติปัฏฐาน ในรูปพรหมภูมิและรู้แจ้งอริยสัจธรรม

    สำหรับทุติยฌานและตติยฌาน ซึ่งละได้ทั้งวิตกและวิจาร จะเกิดในพรหมภูมิชั้นปริตรตาภา ๑ ชั้นอัปปมาณาภา ๑ ชั้นอาภัสรา ๑

    ก็เป็นเรื่องชื่อของภูมิชั้นต่างๆ ซึ่งต้องแล้วแต่เหตุนั่นเอง คือ แล้วแต่ว่าเป็นผู้ที่มีความชำนาญในระดับเพียงเล็กน้อย หรือในระดับกลาง หรือในระดับที่ประณีต

    สำหรับจตุตถฌานภูมิ ก็เกิดในรูปพรหมชั้นปริตตสุภา ๑ ชั้นอัปปมาณสุภา ๑ ชั้นสุภกิณหา ๑ ความต่างกันก็ตามกำลัง ซึ่งรัศมีที่เปล่งออกมาจากสภาพของจิตที่สงบก็ประณีตขึ้นๆ

    สำหรับผู้ที่ได้ปัญจมฌานโดยปัญจกนัย จะเกิดในพรหมภูมิชั้นเวหัปผลา สำหรับผู้ที่มีขันธ์ ๕

    แต่สำหรับผู้ที่เห็นโทษของนามธรรม จะละความพอใจในนาม เพราะคิดว่า เมื่อยังมีนามธรรมเกิดอยู่จะทำให้มีความสุข ความทุกข์ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีนามธรรมเลย มีแต่เพียงรูปปฏิสนธิ ย่อมไม่มีความเดือดร้อน ถ้าเป็นผลของ ปัญจมฌาน ผู้นั้นก็จะเกิดในพรหมภูมิชั้นอสัญญสัตตา ซึ่งมีแต่รูปปฏิสนธิ ไม่มีนามปฏิสนธิ และอายุของชั้นปัญจมฌานพรหมภูมิมีอายุถึง ๕๐๐ กัป ทั้งอสัญญสัตตาพรหมภูมิและเวหัปผลาภูมิ ซึ่งก็คงไม่มีใครสนใจที่จะไปเกิดในชั้นพรหมเหล่านั้น แต่ถึงแม้ว่าจะสนใจ เหตุที่จะให้เกิดได้ในพรหมภูมิเหล่านั้นก็ยากมาก

    นอกจากนั้น ยังมีพรหมภูมิพิเศษอีก ๕ ภูมิ สำหรับพระอนาคามีซึ่งถึง ปัญจมฌานเท่านั้น ถ้าเป็นพระอนาคามีที่ได้เพียงปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน หรือจตุตถฌาน จะไม่เกิดในพรหมภูมิชั้นสุทธาวาส ๕ ภูมินี้ เพราะพรหมภูมิชั้นสุทธาวาส สำหรับพระอนาคามีที่ได้ถึงปัญจมฌานเท่านั้น ซึ่งได้แก่ อวิหาภูมิ ๑ อตัปปาภูมิ ๑ สุทัสสาภูมิ ๑ สุทัสสีภูมิ ๑ อกนิฏฐาภูมิ ๑

    เวลาที่ได้ยินคำว่า อกนิฏฐาภูมิ ให้ทราบว่าเป็นพรหมภูมิชั้นสูงที่สุด สำหรับพระอริยบุคคลขั้นพระอนาคามี พระโสดาบันถึงแม้จะได้ถึงปัญจมฌานก็ไม่เกิดในนั้นเลย

    เพราะฉะนั้น กรรมที่ได้กระทำแล้วในชาติก่อนๆ และกรรมที่ได้กระทำในชาตินี้ ซึ่งไม่ใช่การเจริญความสงบถึงขั้นฌานจิต ย่อมไม่ทำให้เกิดในพรหมภูมิต่างๆ แต่ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม จะเป็นปัจจัยทำให้เกิดในกามสุคติภูมิได้ คือ นอกจากจะเกิดในภูมิมนุษย์แล้ว ยังเกิดในสวรรค์ชั้นต่างๆ ๖ ชั้นได้

    ผู้ฟัง เข้าใจว่า พระอนาคามีทุกประเภทเมื่อท่านตายแล้ว ต้องไปเกิดในสุทธาวาส ๕

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ได้ถึงปัญจมฌาน จะเกิดในรูปพรหมภูมิ ไม่ใช่สุทธาวาสภูมิ

    ผู้ฟัง หมายความว่า เกิดในรูปพรหมภูมิภูมิหนึ่งภูมิใดก็ได้

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่กำลังของสมาธิ ถ้าเป็นพระอนาคามีซึ่งไม่ได้ทุติยฌาน ก็ย่อมเกิดในพรหมภูมิของชั้นปฐมฌาน

    ผู้ฟัง ที่จะเกิดในสุทธาวาส ๕ เฉพาะพระอนาคามีที่ได้ปัญจมฌานเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ เท่านั้น ตติยฌานก็ไม่ได้ ต้องเกิดในภูมิของตติยฌาน

    ผู้ฟัง ในพระไตรปิฎกกล่าวถึงเรื่องของโลกธาตุอย่างเล็ก ผมสงสัยว่า ดาวฤกษ์ทุกดวงจะมีมนุษย์อาศัยอยู่ทั้งนั้น ใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่มีโลกนี้โลกเดียว และสวรรค์ก็ไม่ใช่มีแห่งเดียวด้วย จักรวาลก็ไม่ใช่จักรวาลนี้จักรวาลเดียว ไม่ว่าใครจะมีอายุยืนยาวท่องเที่ยวไปในโลกนี้ยาวนานสักเท่าไร ก็ไม่สามารถที่จะไปถึงที่สิ้นสุดของจักรวาลได้ แม้แต่เพียงจะมองด้วยตาเปล่า ก็ยังเห็นท้องฟ้าที่กว้างใหญ่ และมีดาวมากมายที่มองเห็น เพราะฉะนั้น ที่มองไม่เห็น ก็ต้องมีอีกมากมาย

    ก่อนที่จะเกิดในโลกนี้ เคยคิดไหมว่า จะเกิดในจักรวาลหนึ่งในจักรวาลทั้งหลายซึ่งมีมากมายสุดที่จะนับได้ แต่เมื่อมีจักรวาลอย่างนี้ จักรวาลอื่น โลกอื่นก็ย่อมจะมีได้ บางคนก็ยังสงสัยอีกว่า สวรรค์อื่นก็ชื่อดาวดึงส์อย่างนี้หรือ เหมือนอย่างที่ทรงแสดงไว้ว่า กามสุคติภูมิมี ๗ คือ มนุษย์ ๑ สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ๑ ชั้นดาวดึงส์ ๑ ยามา ๑ ดุสิตา ๑ นิมมานรดี ๑ ปรนิมมิตวสวัตตี ๑ และยังทรงแสดงถึงประวัติของท้าวสักกะหรือพระอินทร์ซึ่งเป็นจอมเทพของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ว่า ในอดีตเป็นใคร และกุศลกรรมใดทำให้เกิดเป็นพระอินทร์

    และจักรวาลอื่นล่ะ พระอินทร์ชื่ออะไร ทำกุศลกรรมอะไร จะเหมือนกันกับกรรมของมฆมาณพซึ่งในปัจจุบันนี้ก็เกิดเป็นจอมเทพของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ คือ พระอินทร์หรือเปล่า

    แต่ให้ทราบว่า เป็นเพียงชื่อ ซึ่งแสดงว่าสวรรค์มี ๖ ชั้น เพราะฉะนั้น ที่ทรงแสดงว่า ชั้นแรกคือจาตุมหาราชิกา โดยชื่อของผู้ที่เป็นหัวหน้าหรือเป็นใหญ่ของสวรรค์ชั้นนั้นซึ่งมี ๔ ท่าน และสำหรับสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ก็เป็นเพียงชื่อเท่านั้น อย่าติดว่าจะต้องชื่ออื่นหรือชื่อนี้ เปลี่ยนไม่ได้ ชื่อนี่ไม่ยากที่จะเปลี่ยน จะเรียกพระอินทร์กี่ชื่อ ก็ได้ ท้าวสหัสสนัยก็คือพระอินทร์ และยังมีชื่ออื่นอีกสำหรับพระอินทร์ จะชื่อหนึ่ง ชื่อใดก็ได้ ก็หมายความถึงผู้ที่เป็นจอมเทพของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในจักรวาลนี้

    แต่ถ้าเป็นจักรวาลอื่น เปลี่ยนชื่อได้ แต่ก็แสดงว่าสวรรค์มี ๖ ชั้น ใครไม่ชอบที่จะเรียกว่าดาวดึงส์ จะเรียกชื่ออื่นก็ได้ ตามกรรมหรือตามเหตุหรือตามปัจจัยที่จะทำให้ได้ชื่อนั้นๆ สำหรับภูมินั้นๆ แต่ให้ทราบว่า ลักษณะความเป็นไปของเทพในสวรรค์ ชั้นต่างๆ ก็เป็นไปตามกรรมของแต่ละท่านที่ทำให้การเกิดในภพภูมิต่างๆ ซึ่งประณีตขึ้นตามควรแก่กรรมนั้นๆ

    ผู้ฟัง ที่กล่าวมานี้ เป็นเรื่องโลกวิสัย เป็นอจินไตยที่ ๔ ใช่ไหม รู้ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าคิดมาก ไม่มีทางที่จะแจ่มแจ้ง ถ้าเพียงแต่รู้ว่า ยังมีโลกอื่นอีกไม่ใช่มีแต่โลกนี้โลกเดียว ก็เป็นความจริง เพราะก่อนที่จะเกิดในโลกนี้ จักรวาลมีมากมาย ใครจะรู้ว่าจะเกิดในจักรวาลนี้ ในโลกนี้ แต่เมื่อเกิดแล้วจึงรู้ว่า จักรวาลนี้มี โลกอย่างนี้มี เมื่อเกิดในสวรรค์ชั้นหนึ่งชั้นใดก็จะรู้ว่า สภาพที่เป็นสวรรค์อย่างนั้นมี ต่อเมื่อใดเกิดขึ้นเพราะกรรม เมื่อนั้นก็จะรู้ แต่ให้ทราบว่า จิตซึ่งเป็นวิบาก เป็นผลของกรรมหนึ่งในบรรดากรรมทั้งหลายที่ได้กระทำแล้วนำไปสู่ภพนั้นๆ แล้วแต่ว่าจะเป็นทุคติหรือสุคติ แต่ไม่ใช่จะไปถึงด้วยความปรารถนา แต่ต้องไปถึงด้วยมรรค คือ ทางที่ได้กระทำแล้ว ประกอบด้วยเจตนาซึ่งเป็นกรรม ที่ได้กระทำสำเร็จแล้ว

    เรื่องกิจของจิต ๑๔ กิจ จิตที่ทำกิจปฏิสนธิทั้งหมดมี ๑๙ ถ้าเกิดในกามภูมิ ปฏิสนธิจิตก็ต่างกันเป็น ๑๐ ประเภท ถ้าเกิดในรูปพรหมภูมิก็ต่างกันเป็น รูปาวจรฌานจิต ๕ ถ้าในอรูปพรหมภูมิก็ต่างกันเป็นอรูปาวจรวิบากจิต ๔ แต่ในขณะที่ทำกิจปฏิสนธิ ทั้ง ๑๙ ดวง เหมือนกันหมด ไม่มีความต่างกันเลย โดยชาติเป็นวิบาก โดยกิจ ทำกิจเกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน เพราะฉะนั้น สำหรับปฏิสนธิจิตซึ่งทำกิจปฏิสนธิ ๑๙ ดวง ไม่ต่างกันโดยการงานหรือโดยกิจ แต่ต่างกันโดยเจตสิกที่เกิด ร่วมด้วย ซึ่งเป็นผลของกรรมที่ต่างกัน

    ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยไม่ต้องมีมาก เพราะอกุศลกรรมนั้นเป็นปัจจัยทำให้ปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นอกุศลวิบากปฏิสนธิ แต่ถ้าเป็นทางฝ่ายสุคติ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยจะประกอบกับปฏิสนธิจิตมากกว่าทางฝ่ายอกุศล ตามลำดับขั้น เพราะพื้นฐานของจิตที่ทำกิจปฏิสนธิต่างกัน โดยจะประกอบด้วยปัญญาหรือไม่ประกอบด้วยปัญญา ทำให้เมื่อมีการรับผลของกรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายแล้ว กุศลจิตจะเกิดมาก หรือว่าอกุศลจิตจะเกิดมาก

    เพราะฉะนั้น ความต่าง ต่างที่พื้นฐานของจิต แต่โดยกิจแล้วไม่ต่าง นี่คือกิจที่ ๑ คือ ปฏิสนธิกิจ ทำกิจสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน

    ผู้ฟัง อารมณ์ของปฏิสนธิจิตกับจุติจิต ปฏิสนธิจิตของภพนี้มีอารมณ์เดียวกับจุติจิตของภพที่แล้ว ถูกไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ ปฏิสนธิจิตของภพนี้ จิตดวงแรกของชาตินี้ มีอารมณ์เดียวกับจิตใกล้จะจุติของภพก่อน

    ผู้ฟัง ไม่ใช่จุติจิต

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ ปฏิสนธิจิตของภพนี้ จิตดวงแรกของชาตินี้ มีอารมณ์เดียวกับจิตใกล้จะจุติ ไม่ใช่มีอารมณ์เดียวกับจุติจิตของภพก่อน แต่มีอารมณ์เดียวกับจิตที่ใกล้จะจุติหรือชวนจิตซึ่งเกิดก่อนจุติจิตในมรณาสันนวิถีของภพก่อน

    ผู้ฟัง จุติจิตของภพนี้ มีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิตของภพนี้หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ภวังคจิตของภพนี้ก็มีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิตของภพนี้ปฏิสนธิจิตเป็นประเภทใด ภวังคจิตก็สืบต่อ รักษาความเป็นบุคคลนั้นในภพนั้นไว้โดยตลอด ยังไม่เปลี่ยนสภาพ ถ้าปฏิสนธิจิตเป็นมหาวิบากญาณวิปปยุตต์ คือ เป็นผลของมหากุศลซึ่งไม่ประกอบด้วยปัญญา ภวังคจิตของบุคคลนั้นก็มีสภาพเช่นเดียวกับปฏิสนธิจิต ไม่ได้ทำปฏิสนธิกิจ แต่กระทำกิจเกิดดับสืบต่อความเป็นบุคคลนั้นไว้ตลอด ยังไม่เปลี่ยนสภาพ ยังเป็นมหาวิบากญาณวิปปยุตต์จนกว่าจะถึงจุติจิต กรรมหนึ่งกรรมใดจึงจะให้ผลทำให้เปลี่ยนสภาพจากการเป็นบุคคลที่เป็นญาณวิปปยุตต์

    ผู้ฟัง ถ้าจุติจิตของภพนี้มีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิต อารมณ์จะไม่เที่ยงหรือ

    ท่านอาจารย์ ทำไมจะต้องเที่ยง ในเมื่อจิตก็ไม่เที่ยง

    ผู้ฟัง กรรมอารมณ์ กรรมนิมิตอารมณ์ คตินิมิตอารมณ์ ไม่ได้เกิดในจุติจิตหรือปฏิสนธิจิต เกิดเฉพาะในมรณาสันนวิถีเท่านั้นหรือ

    ท่านอาจารย์ ปฏิสนธิจิตต้องมีอารมณ์ ขณะนี้ปฏิสนธิจิตของชาติหน้ายังไม่เกิด เพราะฉะนั้น ยังรู้ไม่ได้ว่า เวลาที่จุติจิตเกิดจะมีอารมณ์อะไร แต่ต้องมีอารมณ์แน่ ลองคิด ลองพิจารณาว่า กำลังจะสิ้นชีวิต และปฏิสนธิจิตจะเกิดต่อจากจุติจิต ปฏิสนธินั้นจะมีอารมณ์อะไร เพราะจิตทุกดวงต้องมีอารมณ์ ลองหาเหตุผล

    ถ้าใกล้จะจุติ มีอารมณ์อะไร ซึ่งอารมณ์นั้นต้องปรากฏเพราะกรรมเป็นปัจจัย ไม่ใช่อย่างอื่นเลย กรรมที่ได้กระทำแล้วกรรมหนึ่ง จะเป็นชนกกรรมทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด ซึ่งกรรมนั้นนั่นเองที่จะทำให้อารมณ์อย่างนั้นๆ ปรากฏ โดยมีอยู่ ๓ ประเภท คือ การนึกถึงกรรมที่ได้กระทำแล้ว ๑ ชื่อว่ากรรมอารมณ์

    ปกติธรรมดาก่อนจะตาย ขณะที่ทุกคนยังมีชีวิตอยู่ ทุกคนก็คิดถึงเรื่องราวในอดีต กรรมอะไรที่ได้ทำตอนเป็นเด็ก บางครั้งก็นึกขึ้นมาได้ว่า เคยทำกรรมอย่างนั้นๆ เพราะฉะนั้น ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ว่า วันหนึ่งวันใด ขณะหนึ่งขณะใด จะนึกถึงกรรมหนึ่งกรรมใดที่ได้กระทำแล้ว และถ้าจุติจิตเกิดต่อจากการนึกถึงกรรมที่ได้ทำแล้ว ปฏิสนธิจิตก็จะมีกรรมที่ได้ทำแล้วที่ได้นึกถึงก่อนจุตินั้นเองเป็นอารมณ์ มิฉะนั้นแล้วปฏิสนธิจิตจะมีอารมณ์มาจากไหน

    ปฏิสนธิจิตเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ ก็ย่อมมีอารมณ์เดียวกับจิตก่อนจะจุติ ใกล้จะจุติ ซึ่งเป็นชวนจิต อุปมาเหมือนกับเสียงสะท้อน ต้องมีเสียงจึงมีเสียงสะท้อนได้ และเสียงสะท้อนนั้น ก็เหมือนกับเสียงนั่นเอง แต่เสียงสะท้อนก็ไม่ใช่เสียง ฉันใด เสียงก็เป็นเสียง เสียงสะท้อนก็เป็นเสียงสะท้อน แต่เสียงสะท้อนก็ไม่ต่างจากเสียงที่สะท้อนนั้น เพราะฉะนั้น ปฏิสนธิจิตก็มีอารมณ์เดียวกับจิตที่ใกล้จะจุติ ซึ่งเป็นชวนจิตสุดท้ายก่อนจุติ นี่อุปมาหนึ่ง

    อีกอุปมาหนึ่ง เหมือนกับตรา เวลาที่ประทับตราลงไป ตราที่ปรากฏอยู่บนกระดาษก็เหมือนกับตราที่ประทับลงไป ฉันใด เวลาที่ชวนะสุดท้ายก่อนจุติจิตมีอารมณ์อะไร เมื่อจุติจิตดับไปแล้ว ปฏิสนธิจิตก็มีอารมณ์เดียวกับชวนจิตสุดท้ายก่อนจุตินั่นเอง ซึ่งอารมณ์นั้นไม่ได้เกิดขึ้นตามความพอใจ แต่ต้องปรากฏเพราะกรรมหนึ่งกรรมใดที่เป็นชนกกรรมที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด

    ผู้ฟัง จุติจิตของชาตินี้ ซึ่งปฏิสนธิได้ผ่านมาแล้ว จุติจิตในชาตินี้ก็ต้องอาศัยชนกกรรมที่เกี่ยวกับจิตดวงนั้นที่ใกล้จะจุติอีกที ไม่น่าจะเป็นอารมณ์เดียวกับจุติจิต

    ท่านอาจารย์ จุติจิตเป็นวิบากจิต ไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่อกุศลจิต ต้องแยกประเภท ปฏิสนธิจิตเป็นวิบากจิต คือ เป็นผลของกรรม ฉันใด ภวังคจิตก็เป็นวิบากจิต ฉันนั้น คือ เกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติระหว่างที่กรรมนั้นยังให้ผลอยู่ ระหว่างที่กรรมที่ทำให้ปฏิสนธิเป็นบุคคลนี้ยังให้ผลอยู่ จะยังไม่สิ้นสภาพของความเป็นบุคคลนี้

    ในระหว่างที่กรรมที่ทำให้ปฏิสนธิเป็นบุคคลนี้ยังไม่สิ้นสภาพ ก็ยังเป็นโอกาสของกรรมอื่นๆ จะให้ผลทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย จนกว่ากรรมที่ทำให้ปฏิสนธิในภพนี้จะทำให้จุติจิตซึ่งเป็นวิบากจิตเกิดขึ้น ทำกิจเคลื่อนพ้นจากสภาพของความเป็นบุคคลนี้ นี่อย่างหนึ่ง คือ การตายโดยสิ้นกรรม

    ซึ่งการตายมี ๔ อย่าง คือ การตายโดยสิ้นอายุ ๑ การตายโดยสิ้นกรรม ๑ การตายโดยการสิ้นทั้งอายุและกรรม ๑ และการตายโดยถูกกรรมอื่นตัดรอน ๑

    จุติจิตเป็นวิบากจิต เป็นจิตดวงสุดท้ายของกรรมที่ได้ทำให้ปฏิสนธิและภวังค์เกิดดับสืบต่อ เมื่อสิ้นกรรมจะไม่ให้จุติจิตเกิดขึ้นได้อย่างไร ไม่มีปัจจัยที่จะทำให้เป็นบุคคลนี้อีกต่อไป เพราะฉะนั้น จุติจิตจึงเกิดขึ้นทำกิจเคลื่อนจากภพนี้ ทำให้สิ้นสุดสภาพความเป็นบุคคลนี้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 19
    22 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ