จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 084


    ผู้ฟัง ประพฤติปฏิบัติอย่างไร และเพราะเหตุใดจึงได้ไปเกิดในชั้น อสัญญสัตตาพรหม

    ท่านอาจารย์ ต้องอบรมเจริญสมถภาวนาจนกระทั่งได้รูปปัญจมฌาน ไม่ใช่เพียงแต่ปฐมฌาน หรือทุติยฌาน หรือตติยฌาน หรือจตุตถฌาน แต่ต้องได้ถึงรูปปัญจมฌาน และต้องเห็นโทษของการมีนามธรรมว่า ทุกวันนี้ที่เดือดร้อนกันก็เพราะมีนามธรรม ซึ่งเป็นสภาพรู้ เห็นสิ่งต่างๆ และเกิดความยินดียินร้าย เป็นเหตุให้เกิดอกุศลกรรม ต่างๆ และยังมีวิบาก คือ การได้รับผลของกรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีนามธรรมเลย ก็น่าจะสบายมาก เพราะทุกท่านสุขทุกข์เกิดขึ้นเพราะนามธรรมที่เป็นสภาพรู้ ถ้าไม่มีสภาพรู้ สุขทุกข์ไม่มีเลย ไม่เดือดร้อนเลย ก็ย่อมจะดีกว่าที่จะมีนามธรรม

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่ได้ถึงปัญจมฌาน และไม่ปรารถนาที่จะให้มีนามธรรม ก็ละความพอใจในนามธรรมด้วยกำลังของปัญจมฌานนั่นเอง ทำให้เมื่อจุติจิตดับไปจึงมีแต่เพียงรูปปฏิสนธิในชั้นอสัญญสัตตาพรหม ไม่มีนามปฏิสนธิเลย

    ผู้ฟัง เมื่อได้เกิดในภพภูมินี้แล้ว มีอะไรเป็นข้อสังเกตหรือกำหนดได้ว่า ได้มาเกิดในภูมินี้แล้ว

    ท่านอาจารย์ ไม่มีการรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น ก็ไม่รู้สึกตัว

    ผู้ฟัง หมายความว่า ในอสัญญสัตตาพรหมนี้ ไม่มีทั้งรูป ไม่มีทั้งนาม

    ท่านอาจารย์ ในอสัญญสัตตาพรหม มีแต่รูปปฏิสนธิ ไม่มีนามปฏิสนธิ คือ ไม่มีจิต ไม่มีเจตสิกเกิด โดยขันธ์ ๕ มีแต่รูปขันธ์เกิด ไม่มีนามขันธ์ ๔ คือ ไม่มีทั้งเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์

    ผู้ฟัง เมื่อมีแต่รูป จะมีข้อปฏิบัติอะไรบ้าง ที่ถือว่าเป็นการเจริญกุศลได้

    ท่านอาจารย์ ไม่มีเลยในระหว่างที่เป็นอสัญญสัตตาพรหม เพราะฉะนั้น พระอริยบุคคลไม่มีในอสัญญสัตตาพรหม

    ผู้ฟัง แสดงว่า ผู้ที่เกิดในภพนี้ภูมินี้คล้ายๆ กับว่า ไม่มีประโยชน์ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ควรจะเป็นอย่างนั้น เพราะไม่สามารถเจริญกุศลได้ แต่ก็ไม่มีอกุศลด้วย เป็นการเกิดโดยมีแต่รูปปฏิสนธิเท่านั้น ตามกำลังของฌาน คือ จะมีอายุยั่งยืนถึง ๕๐๐ กัป และกรรมหนึ่งจึงจะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดหลังจากรูปจุติ เมื่อรูปปฏิสนธิก็เฉพาะรูปเท่านั้นที่จุติ ต่อจากนั้นก็เป็นปฏิสนธิจิตเกิด ด้วยกำลังของกรรมหนึ่งกรรมใดซึ่งเป็นชนกกรรม

    ผู้ฟัง อารมณ์ของปฏิสนธิ คือ ในมรณาสันนวิถี หรือชวนวิถีในมรณาสันนวิถี ๕ ขณะ ถ้าหากจุติจิตเกิดต่อจากชวนะ ก็ไม่น่าจะมีปัญหา แต่มีบางครั้งที่ก่อนจะถึงจุติจิต เป็นชวนะแล้ว ตทาลัมพนะต่อก็มี ภวังค์ต่อก็มี จึงจะจุติ ฉะนั้น อารมณ์ที่รับ จากชวนะดวงสุดท้ายนั้น จะไม่ขาดตอนหรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ ขอให้นึกถึงในขณะที่ยังไม่สิ้นชีวิต คือ ในขณะนี้ วิถีจิตทางจักขุทวารดับหมดแล้ว รวมทั้งตทาลัมพนะซึ่งก็มีอารมณ์คือรูปารมณ์ที่ยังไม่ดับด้วย เพราะ ตทาลัมพนะก็เป็นจักขุทวารวิถี และที่กล่าวว่าเป็นจักขุทวารวิถี ก็เพราะอาศัยจักขุ คือ ตา เป็นทางที่จะเกิดขึ้นรู้อารมณ์

    ก็เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจคำว่า ทวาร อีกครั้งหนึ่ง

    ทวาร หมายความถึงทางที่จิตอาศัยเกิดขึ้นรู้อารมณ์ เพราะฉะนั้น จิตใดก็ตามที่เป็นวิถีจิต คือ ไม่ใช่ภวังคจิต จะต้องอาศัยทวาร คือ ทางที่จะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ ถ้าตราบใดที่ยังเป็นภวังคจิตอยู่ ยังไม่ได้อาศัยจักขุปสาทเป็นทางรู้อารมณ์ จักขุปสาทก็ยังคงเกิดดับ แต่ไม่ใช่จักขุทวาร เพราะจิตไม่ได้อาศัยรูปนั้นเกิดขึ้นรู้อารมณ์ ต่อเมื่อใดจิตอาศัยรูปใดเกิดขึ้นรู้อารมณ์ รูปนั้นจึงเป็นทวาร และจิตที่อาศัยจักขุปสาทเกิดขึ้นรู้อารมณ์ เป็นจักขุทวารวิถีจิตทั้งนั้น ไม่ว่าปัญจทวาราวัชชนจิต จักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต ชวนจิต วิถีจิตที่เกิดดับสืบต่อกันมาทั้งหมดที่อาศัยจักขุปสาทที่ยังไม่ดับ จึงทำให้สามารถรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา โดยกระทำกิจต่างๆ กัน คือ ปัญจทวาราวัชชนจิตทำกิจอาวัชชนะ รู้ว่าอารมณ์กระทบทวาร ยังไม่เห็น เพียงแต่เป็นวิถีจิตแรกที่เกิดขึ้น เพราะรูปารมณ์ที่ยังไม่ดับกระทบกับ จักขุปสาทรูปที่ยังไม่ดับ ทำให้ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นเป็นวิถีจิต ไม่ใช่ภวังคจิต ทำกิจอาวัชชนะ คือ เพียงรู้ว่าอารมณ์กระทบทวาร เพราะฉะนั้น ปัญจทวาราวัชชนจิตที่อาศัยจักขุทวาร เป็นจักขุทวารวิถีจิต

    เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับไป จักขุวิญญาณก็เป็นจักขุทวารวิถีจิต เพราะ เหตุใด ก็เพราะเหตุว่าอาศัยจักขุปสาทที่ยังไม่ดับ จึงเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ที่ยังไม่ดับ แต่จักขุวิญญาณไม่ได้ทำอาวัชชนกิจ จักขุวิญญาณทำทัสสนกิจ คือ เป็นสภาพที่เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น จักขุวิญญาณเป็นจักขุทวารวิถีจิต เพราะอาศัยจักขุปสาทเป็นจักขุทวาร

    เมื่อจักขุวิญญาณดับไปแล้ว สัมปฏิจฉันนะเกิดขึ้นรับรูปารมณ์ รู้สีที่ปรากฏทางตาต่อจากจักขุวิญญาณ แต่ไม่ได้ทำทัสสนกิจ เพราะฉะนั้น สัมปฏิจฉันนะไม่เห็น แต่ทำกิจรับ คือ รู้สิ่งที่ปรากฏทางตาต่อจากจักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะก็เป็น จักขุทวารวิถีจิต เพราะขณะนั้นอาศัยจักขุปสาทรูปเป็นจักขุทวาร จึงเป็น จักขุทวารวิถีจิต เมื่อสัมปฏิจฉันนจิตดับไปแล้ว สันตีรณะเกิดต่อ สันตีรณจิตก็เป็น จักขุทวารวิถีจิต โวฏฐัพพนจิตที่เกิดต่อจากสันตีรณจิต ก็เป็นจักขุทวารวิถีจิต

    ชวนะ ๗ ขณะที่เกิดต่อ ก็เป็นจักขุทวารวิถีจิต ตทาลัมพนะที่เกิดต่อจากชวนะ ก็เป็นจักขุทวารวิถีจิต เพราะอาศัยจักขุปสาทรูปที่ยังไม่ดับ เนื่องจากจักขุปสาทรูปมีอายุ ๑๗ ขณะ

    เมื่อตทาลัมพนะดับ และจักขุปสาทรูปก็ดับ รูปารมณ์ก็ดับ ภวังคจิตเกิดต่อ ไม่ได้มีอารมณ์เดียวกับจักขุทวารวิถีจิต แต่มีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิต ภวังคจิตก็เกิดดับสืบต่อจนกว่ามโนทวาราวัชชนจิตจะเกิด เพื่อรู้อารมณ์ต่อจากจักขุทวารวิถีจิต

    แสดงให้เห็นว่า เวลาที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางปัญจทวารทวารหนึ่งทวารใดแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว มโนทวารวิถีจิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นต่อจากปัญจทวารนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นจักขุทวารวิถีจิตดับไปหมด ภวังค์คั่น มโนทวารวิถีจิตก็เกิดขึ้นรับรู้อารมณ์นั้นต่อจากทางจักขุทวารวิถี

    ถ้าเป็นโสตทวารวิถี คือ เสียงกระทบกับโสตปสาท จิตซึ่งอาศัยโสตปสาทรูปทั้งหมดที่เป็นวิถีจิตดับไปแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว มโนทวารวิถีจิตก็จะเกิดขึ้นรับรู้เสียงต่อจากโสตทวารวิถี เป็นเช่นนี้ทุกทวารไป ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เมื่อวิถีจิตทางทวารนั้นๆ ดับไปหมด ภวังค์คั่น มโนทวารวิถีจิตก็เกิดต่อ

    ทำไมมโนทวารวิถีจึงมีอารมณ์เดียวกับทางปัญจทวารวิถีได้ ถ้ามโนทวารวิถีซึ่งเกิดต่อจากทางปัญจทวารวิถีมีอารมณ์เดียวกับปัญจทวารวิถีได้ ปฏิสนธิจิตก็มีอารมณ์เดียวกับชวนจิตก่อนจุติจิตได้ เหมือนกันไหม ในเมื่ออารมณ์ทางปัญจทวารดับไปแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว มโนทวารวิถีจิตก็เกิดขึ้น มีอารมณ์เดียวกับปัญจทวารวิถีที่เพิ่งดับไปได้ฉันใด จุติจิตก็เกิด และปฏิสนธิจิตก็เกิดสืบต่อจากจุติ โดยมีอารมณ์เดียวกับ ชวนะสุดท้ายก่อนที่จุติจิตจะเกิดนั่นเอง ไม่ต่างกัน

    อุปมาเหมือนเสียงสะท้อน หรือเหมือนตราที่ประทับ ถ้ายังไม่จุติ มโนทวารวิถีก็รับต่อ แต่เมื่อจุติจิตเกิด ปฏิสนธิก็มีอารมณ์เดียวกับชวนะสุดท้ายแทนที่จะเป็น มโนทวารวิถี เพราะเหตุว่าสิ้นสุดสภาพความเป็นบุคคลนั้น มโนทวารวิถีก็ไม่ต้องรับต่อ

    โสตวิญญาณอาศัยทวารไหน

    โสตวิญญาณ ก็ต้องอาศัยโสตปสาทรูปเป็นโสตทวาร

    โสตวิญญาณ คือ จิตที่ได้ยินในขณะนี้ จะอาศัยรูปอื่นเป็นทวารไม่ได้เลย โสตวิญญาณต้องอาศัยโสตปสาทรูปเป็นโสตทวารได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้นเอง

    สัมปฏิจฉันนจิตอาศัยทวารไหน

    สัมปฏิจฉันนจิตอาศัยได้ทั้ง ๕ ทวาร เพราะไม่ว่าจะเป็นทางจักขุทวารวิถี คือ เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตดับไป จักขุวิญญาณเกิด สัมปฏิจฉันนจิตก็เกิดต่อ โดยอาศัยจักขุปสาทรูปเป็นจักขุทวาร

    และถ้าเป็นทางหู ปัญจทวาราวัชชนจิตดับไป โสตวิญญาณเกิด ดับไปแล้ว สัมปฏิจฉันนจิตก็เกิดต่อ โดยอาศัยโสตปสาทรูปเป็นโสตทวาร

    เพราะฉะนั้น สัมปฏิจฉันนจิตต้องเกิดต่อจากจักขุวิญญาณทางจักขุทวาร เกิดต่อจากโสตวิญญาณทางโสตทวาร เกิดต่อจากฆานวิญญาณทางฆานทวาร เกิดต่อจากชิวหาวิญญาณทางชิวหาทวาร เกิดต่อจากกายวิญญาณทางกายทวาร สัมปฏิจฉันนจิตจึงอาศัยทวารทั้ง ๕ เกิด

    สัมปฏิจฉันนจิตอาศัยมโนทวารได้ไหม ไม่ได้ นี่เป็นเหตุที่ต้องแยกกันระหว่างปัญจทวารกับมโนทวาร

    และมโนทวารคืออะไร ชื่อจำง่าย มโนทวาร แต่ลักษณะของมโนทวารแท้ๆ มโนทวารจริงๆ นั้น คืออะไร

    แม้ไม่มีตา ไม่มีหู ไม่มีจมูก ไม่มีลิ้น ไม่มีกาย แต่ตราบใดที่มีจิต จะไม่มีแต่เพียงปฏิสนธิและภวังค์ จะต้องมีวิถีจิต มีประโยชน์อะไรกับการที่ปฏิสนธิจิตเกิดและดับไป และภวังคจิตก็เกิดต่อไปเรื่อยๆ จะเหมือนโต๊ะ เหมือนเก้าอี้ไหม เพราะเหตุว่าไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการลิ้มรส ไม่มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่มีการคิดนึกใดๆ เลย ถ้าเป็นแต่เพียงปฏิสนธิจิตเกิดและดับไป และภวังคจิตเกิดต่อ

    แม้ว่าลักษณะของนามธรรมไม่ใช่ลักษณะของรูปธรรม เพราะนามธรรมเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ ส่วนรูปธรรมไม่ใช่สภาพรู้ มีลักษณะเฉพาะของรูปธรรมแต่ละอย่าง คือ ธาตุดินก็แข็ง มีปัจจัยเกิดขึ้นแข็งปรากฏ แต่ว่าไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ธาตุไฟก็เย็นหรือร้อน เกิดขึ้นโดยอาศัยเหตุปัจจัย มีลักษณะสภาพที่เย็นหรือร้อน แต่ไม่รู้อะไรเลย แต่นามธาตุเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ แม้ปฏิสนธิจิตก็เป็นสภาพที่รู้อารมณ์ แต่อารมณ์ของปฏิสนธิจิตไม่ปรากฏ เพราะเป็นอารมณ์ที่สืบต่อมาจากชาติก่อน คนละภพคนละชาติแล้ว ซึ่งชวนะสุดท้ายก่อนจุติจิตจะเกิด อารมณ์ปรากฏกับบุคคลก่อนที่จะสิ้นชีวิต แต่เมื่อจุติจิตดับ สูญสิ้นความเป็นบุคคลนั้น กรรมก็ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อ โดยมีอารมณ์เดียวกับชวนะสุดท้ายก่อนจุติ เพราะว่าอารมณ์ของชวนะสุดท้ายก่อนจุตินั้นเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย และต้องเป็นชนกกรรม คือ กรรมที่จะทำให้ปฏิสนธิด้วย

    ทุกคนมีกรรมมากมายหลายกรรมนับไม่ถ้วน แต่เพียงกรรมหนึ่งที่จะเป็น ชนกกรรม ทำให้ก่อนจุติจริงๆ อารมณ์ใดจะปรากฏ ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น สำหรับชวนะสุดท้ายของชาติก่อน อารมณ์ปรากฏ แต่ปฏิสนธิจิตในชาติใหม่สืบต่อจากจุติจิต อารมณ์ไม่ปรากฏ เพราะเป็นอารมณ์ที่เกิดสืบต่อจากชาติก่อน ไม่ใช่อารมณ์ของชาตินี้

    ชาตินี้ทุกคนเป็นคนใหม่ ไม่ใช่คนเดิมกับชาติก่อน เห็นสิ่งใหม่ๆ ซึ่งชาติก่อน ยังไม่เห็น

    ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส เป็นสุข เป็นทุกข์ในชาตินี้ ซึ่งชาติก่อนยังไม่รู้เลยว่า จะเห็นอะไร จะได้ยินอะไร จะเป็นสุขเป็นทุกข์อย่างไร เพราะฉะนั้น ตราบใดที่ยังเป็นปฏิสนธิและภวังค์ จะไม่รู้อารมณ์ของโลกซึ่งตนเองเกิดขึ้น จนกว่าวิถีจิตจะเกิด

    แต่สำหรับผู้ที่ตาก็ไม่มี หู จมูก ลิ้น กายก็ไม่มี เช่น อรูปพรหมภูมิ คนที่เกิดเป็นอรูปพรหมบุคคล ไม่มีรูปปฏิสนธิ มีแต่นามขันธ์ คือ จิตและเจตสิกปฏิสนธิ เพราะฉะนั้น ก็มีแต่นามขันธ์ ๔ คือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ปฏิสนธิ จึงชื่อว่า จตุโวการภูมิ

    โดยการปฏิสนธิ จะนับเป็นเอกโวการภูมิ ได้แก่ ขันธ์หนึ่งปฏิสนธิ คือ รูปขันธ์ ได้แก่ อสัญญสัตตาพรหมภูมิ จตุโวการภูมิ ได้แก่ นามขันธ์ ๔ ปฏิสนธิ คือ อรูปพรหมภูมิ ซึ่งไม่มีรูปปฏิสนธิเลย และปัญจโวการภูมิ ได้แก่ ภูมิที่มีขันธ์ ๕ ปฏิสนธิ คือ ภูมิที่มีทั้งนามและรูปปฏิสนธิ

    เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะเกิดในอรูปพรหมภูมิ ไม่มีรูปใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีตา ไม่มีหู ไม่มีจมูก ไม่มีลิ้น ไม่มีกาย แต่เมื่อปฏิสนธิแล้วจะต้องมีทวารที่จะรู้อารมณ์ของภูมินั้นด้วย ไม่ใช่มีแต่ปฏิสนธิและเป็นภวังค์ ถ้าอย่างนั้นการเป็นอรูปพรหมบุคคลก็ ไม่มีความหมายอะไรเลย อุตส่าห์เจริญอรูปฌาน จากความสงบเล็กๆ น้อยๆ จนกระทั่งมั่นคงขึ้นถึงอัปปนาสมาธิ จนกระทั่งเป็นรูปฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ เห็นโทษของรูปซึ่งยังเป็นอารมณ์อยู่ จึงเพิกรูป และมีอรูปเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้น สภาพของจิตก็ละเอียดขึ้น เพราะห่างไกลจากรูปซึ่งเป็นอารมณ์ โดยมีอากาศเป็นอารมณ์ เป็นอรูปฌานที่ ๑ มีวิญญาณที่มีอากาศนั่นเองเป็นอารมณ์ เป็นอรูปฌานที่ ๒ ไม่มีอะไรเลยเป็นอารมณ์ เป็นอรูปฌานที่ ๓ และมีสัญญาอย่างละเอียด ซึ่งจะเป็นสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่เป็นสัญญาก็ไม่ใช่ เป็นอารมณ์ ซึ่งเป็นอรูปฌานที่ ๔ นี่ก็เป็นความละเอียดที่ยากที่จะเป็นไปได้ เพราะฉะนั้น เมื่อปฏิสนธิจิต คือ อรูปฌานวิบากจิตปฏิสนธิในอรูปพรหมเกิดขึ้นและดับไป ภวังคจิตซึ่งเป็นอรูปฌานวิบากก็เกิดสืบต่อ ถ้าไม่มีวิถีจิตจะเป็นการเปล่าประโยชน์ไหม ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย ไม่มีการรู้อารมณ์ ใดๆ ทั้งสิ้นเลย แต่สบายที่ไม่มีรูปเป็นอารมณ์ ดีไหม ไม่ดีหรือ อยากเห็น อยาก ได้ยิน อยากได้กลิ่น อยากลิ้มรส อยากรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส จึงเป็นอรูปพรหมไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ทุกอย่างต้องตามเหตุตามปัจจัย แต่ว่ามโนทวารวิถี คือ ถึงแม้ว่าจะไม่มีจักขุปสาท ไม่มีโสตปสาท ไม่มีฆานปสาท ไม่มีชิวหาปสาท ไม่มีกายปสาท ไม่มีรูปใดๆ เลยก็ตาม อารมณ์กระทบ ทำให้ภวังคจลนะไหว ดับไป ภวังคุปัจเฉทะเกิดต่อ เป็นกระแสภวังค์ดวงสุดท้ายสำหรับดำรงภพชาติเพื่อที่จะให้จิตอื่นเกิดขึ้นกระทำกิจอื่น รู้อารมณ์อื่น ซึ่งไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์

    เมื่อภวังคุปัจเฉทะดับไปแล้ว วิถีจิตแรก คือ มโนทวาราวัชชนจิต เกิดขึ้น รู้อารมณ์ที่กระทบใจ ทุกคนมีอารมณ์กระทบใจ ถึงแม้ไม่เห็น นึก ขณะที่นึกหรือคิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหนึ่งเรื่องใด คือ อารมณ์กระทบใจ โดยมโนทวาราวัชชนะรู้อารมณ์ที่กระทบนั้นและดับไป ต่อจากนั้นชวนจิต ซึ่งได้แก่ กุศลจิต หรืออกุศลจิต หรือ กิริยาจิตสำหรับพระอรหันต์ ก็เกิดดับสืบต่อ ๗ ขณะ นั่นคือมโนทวารวิถีจิต ซึ่งอาศัยภวังคุปัจเฉทะเป็นมโนทวาร

    ถ้าภวังคุปัจเฉทะยังไม่เกิด วิถีจิตเกิดไม่ได้ เมื่อไม่ได้อาศัยตา ไม่ได้อาศัยหู ไม่ได้อาศัยจมูก ไม่ได้อาศัยลิ้น ไม่ได้อาศัยกาย แต่อารมณ์กระทบใจ เพราะฉะนั้น วิถีจิตที่เกิดขึ้นจึงเป็นมโนทวารวิถี โดยภวังคุปัจเฉทะเป็นมโนทวารของ มโนทวาราวัชชนจิต เพราะถ้าภวังคุปัจเฉทะไม่เกิด มโนทวาราวัชชนจิตเกิดไม่ได้ วิถีจิตเกิดไม่ได้ และก่อนที่กุศลจิตหรืออกุศลจิตจะเกิด มโนทวาราวัชชนจิตต้องเกิดก่อนทุกครั้ง เพราะเป็นวิถีจิตแรก

    ต้องเข้าใจว่า การที่วิถีจิตแต่ละวิถีจิตจะเกิดได้ ต้องสืบต่อเป็นลำดับกันทางปัญจทวารและทางมโนทวารอย่างไร

    เพราะฉะนั้น ภวังคุปัจเฉทะนั่นเองเป็นมโนทวาร และวิถีจิตแรก คือ มโนทวาราวัชชนจิต ซึ่งเมื่อมโนทวาราวัชชนจิตดับไปแล้ว เป็นอนันตรปัจจัยให้กุศลจิต หรืออกุศลจิต หรือกิริยาจิตเกิดต่อ แต่อยู่ดีๆ จะให้กุศลจิตเกิดโดยมโนทวาราวัชชนจิตไม่เกิดก่อนนั้น ไม่ได้ ไม่มีทางที่กุศลจิตหรืออกุศลจิตจะเกิดได้เอง เพราะกุศลจิตและอกุศลจิตไม่ใช่วิถีจิตแรก วิถีจิตแรกทางมโนทวารต้องเป็นมโนทวาราวัชชนจิต และ วิถีจิตแรกทางปัญจทวารต้องเป็นปัญจทวาราวัชชนจิต

    ผู้ฟัง ขณะที่รู้อารมณ์ทางใจ โดยไม่อาศัยทวารทั้ง ๕ ตัวอย่างเช่น เรื่องราว ที่รู้ เป็นรูปใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เป็นรูปไม่ได้ ถ้าเป็นเรื่องก็ไม่ใช่รูป

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นเรื่องราวไม่เป็นรูป ถ้าเป็นสิ่งที่รู้ทางใจในขณะที่เราคิดนึก โดยไม่ต้องอาศัยทวารทั้ง ๕ ขณะที่นึกคิด ถ้าไม่เป็นเรื่องราว เป็นอารมณ์ที่รับรู้ทางใจ เป็นรูปได้ไหม

    ท่านอาจารย์ เป็นรูปได้ สืบต่อจากทางปัญจทวารก็ได้ หรือนึกถึงรูปด้วยสัญญา ความทรงจำก็ได้ ถ้าไม่เป็นเรื่อง

    ผู้ฟัง ขณะที่จิตรู้ ก็เป็นนาม

    ท่านอาจารย์ สภาพรู้เป็นนามธรรม

    ผู้ฟัง สภาพรู้เป็นนามธรรม ทางใจก็มีทั้งรูปทั้งนามเหมือนกัน ถูกไหม

    ท่านอาจารย์ อย่าลืม จำรูป ขณะที่จำรูป มีอะไรเป็นอารมณ์ สัญญาความจำ นั่นจำรูปได้ไหม นึกถึงรูป นึกได้ไหม นึกให้ชัดเชียว นึกได้ไหม ได้ เพราะฉะนั้น ก็มีรูปเป็นอารมณ์ได้ แต่ถ้าเป็นรูปปรมัตถ์จริงๆ ไม่ใช่เพียงความทรงจำ จะต้องเป็นรูปที่สืบต่อจากทางปัญจทวาร

    เพราะฉะนั้น จะเห็นความต่างกันของในขณะที่เห็น จักขุทวารวิถีจิตดับไปหมดแล้ว ภวังค์เกิดคั่น มโนทวารวิถีจิตเกิดต่อ ดูเสมือนเป็นรูปเดียวกัน เพราะว่า มโนทวารวิถีจิตมีรูปที่สืบต่อจากปัญจทวารเป็นอารมณ์ นั่นตอนหนึ่ง และเมื่อไม่มีรูปที่สืบต่อจากปัญจทวารเป็นอารมณ์ ผ่านไปนาน และนึกถึงรูปนั้น สัญญา ความจำ นั่นล่ะจำรูป

    สำหรับคำว่า ภวังค์ มี ๕ อย่างที่ควรจะทราบ คือ

    ๑. ปฐมภวังค์ ได้แก่ ภวังค์ขณะแรกต่อจากปฏิสนธิเพียงขณะเดียว และที่กล่าวถึงปฐมภวังค์ เพราะมีรูปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน

    ปฏิสนธิจิตไม่มีรูปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน เพราะปฏิสนธิจิตมีกำลังอ่อน สภาพของปฏิสนธิจิตเป็นวิบากจิตซึ่งเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย เพิ่งเกิดขึ้นเป็น ครั้งแรกในชาตินั้น จึงไม่เป็นสมุฏฐานที่จะให้รูปเกิดขึ้น แต่เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว ปฐมภวังค์ คือ ภวังค์ซึ่งเกิดสืบต่อจากปฏิสนธิ มีจิตตชรูปเกิดพร้อมกับอุปาทขณะของปฐมภวังค์

    นี่เป็นเหตุที่ควรจะได้ทราบถึงภวังค์ต่างๆ เพราะมีความต่างกัน

    ๒. ต่อจากปฐมภวังค์ คือ ภวังค์ที่ ๒ ที่ ๓ เรื่อยไป ไม่มีการนับ เพราะถ้านับ ไม่รู้ว่าจะใช้เลขอะไร ต่อจากปฐมภวังค์มาจนกระทั่งถึงชีวิตวันนี้ ไม่ทราบว่าเป็นภวังค์ดวงที่เท่าไรแล้ว เพราะฉะนั้น ก็เป็นภวังค์ ซึ่งหมายความถึงไม่ใช่ภวังค์ดวงแรกที่เกิดต่อจากปฏิสนธิ ไม่ใช่ภวังค์ที่ถูกอารมณ์อื่นกระทบ ไม่ใช่ภวังค์ที่ไหวตามอารมณ์อื่นที่กระทบ และไม่ใช่ภวังค์ดวงสุดท้ายของกระแสภวังค์ที่ดำรงภพชาติไว้ให้จิตอื่นเกิดขึ้นรู้อารมณ์อื่นและทำกิจอื่น

    ๓. อตีตภวังค์ ได้แก่ ภวังค์ที่อารมณ์ผ่านปสาทรูปไปกระทบ ถ้าใช้คำว่า อตีตภวังค์ หมายความว่า อารมณ์


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 19
    22 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ