จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 072


    ถ้าเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาอย่างอ่อน หรือกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาอย่างสูงหรืออย่างประณีต หลังจากปฏิสนธิแล้ว สามารถทำให้มีวิบากเกิดได้ ๑๒ ดวง

    และถ้าเป็นกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาอย่างอ่อนที่สุด ทำให้เกิดในภูมิมนุษย์ได้จริง แต่ว่าเป็นผู้ที่พิการตั้งแต่กำเนิด คือ เป็นบ้า ใบ้ บอด หนวก ตั้งแต่กำเนิด

    นี่คือผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว ซึ่งจำแนกให้ปฏิสนธิต่างกันไป และหลังจากที่ปฏิสนธิดับไปแล้ว ยังเป็นปัจจัยทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นมากน้อยต่างกันด้วย

    ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตได้ เพราะต้องแล้วแต่ปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นผลของกรรมหนึ่งซึ่งได้กระทำแล้ว เป็นเหตุทำให้ชีวิตนั้นจะมีวิบากจิตได้กี่ประเภทเกิดขึ้นหลังจากที่ปฏิสนธิจิตดับแล้ว

    ผู้ฟัง วิบากจิต ๑๖ ดวง จะเกิดตอนไหน

    ท่านอาจารย์ หลังจากที่ปฏิสนธิจิตดับแล้ว ก่อนอื่นควรกล่าวถึงวิบากจิต ๑๖ ดวง ว่าได้แก่อะไรบ้าง เพื่อท่านผู้ฟังท่านอื่นจะได้ทราบด้วย

    ผู้ฟัง ได้แก่ อเหตุกกุศลวิบาก ๘ ดวง กับมหาวิบาก ๘ ดวง

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ที่ได้กล่าวถึงแล้วนั่นเอง

    กามาวจรจิต ๕๔ แบ่งโดยประเภท ๓ คือ เป็นอกุศลจิต ๑๒ เป็นอเหตุกจิต ๑๘ และเป็นกามโสภณจิต ๒๔

    ถ้าแบ่งกามาวจรจิตอีกนัยหนึ่งก็แบ่งได้ คือ แบ่งโดยสภาพที่เป็นเหตุและสภาพที่เป็นผล และโดยสภาพที่ไม่ใช่เหตุไม่ใช่ผล ซึ่งจำนวนต้องตายตัวอีก

    อกุศลจิต ๑๒ กับมหากุศลจิต ๘ ต้องเป็นเหตุ เพราะฉะนั้น จิตที่เป็นเหตุที่จะให้เกิดวิบากมี ๒๐ และจิตที่ไม่เป็นเหตุให้เกิดวิบาก ได้แก่ วิบากจิต และกิริยาจิต

    สำหรับอเหตุกจิต ๑๘ แยกออกเป็น ๒ ประเภท คือ เป็นวิบาก ๑๕ เป็นกิริยา ๓ และสำหรับวิบาก ๑๕ เป็นอกุศลวิบากเพียง ๗ เป็นกุศลวิบาก ๘

    เพราะฉะนั้น เวลาคิดถึงเหตุและผลว่า ผลของกุศลอย่างเลิศ ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนา เกิดพร้อมกับปัญญา และเป็นอสังขาริก ดับไปแล้ว ผลอะไรจะติดตามมาจากมหาวิบากดวงที่เลิศดวงนั้น ก็คือ ทำให้กุศลวิบากจิตเกิดได้ถึง ๑๖ ดวง ซึ่งได้แก่ กุศลวิบากที่เป็นอเหตุกะ ๘ ดวง คือ จักขุวิญญาณกุศลวิบาก เห็นสิ่งที่ดี ๑ โสตวิญญาณกุศลวิบาก ได้ยินเสียงที่ดี ๑ ฆานวิญญาณกุศลวิบาก ได้กลิ่นที่ดี ๑ ชิวหาวิญญาณกุศลวิบาก ลิ้มรสที่ดี ๑ กายวิญญาณกุศลวิบาก สัมผัสสิ่งที่กระทบทางกายที่ดี ๑ สัมปฏิจฉันนกุศลวิบาก ๑ เกิดขึ้นรับอารมณ์ต่อจากทาง จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ และ สันตีรณกุศลวิบากจิต ๒ คือ ดวงหนึ่งเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา อีกดวงหนึ่งเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา

    นี่คือสิ่งที่ทุกคนแสวงหา ตั้งแต่เกิดมาแสวงหารูปที่ดีทางตา เสียงที่ดีทางหู กลิ่นที่ดีทางจมูก รสที่ดีทางลิ้น สิ่งที่กระทบสัมผัสที่ดีทางกาย โดยไม่ทราบเลยว่า ท่านไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะเสาะแสวงหาวิบากจิตเหล่านั้นให้เกิดขึ้นได้เลย กรรมเท่านั้นเป็นปัจจัยทำให้วิบากจิตเหล่านี้เกิดขึ้น ทุกคนมีโลภะ มีความติด มีความต้องการวิบากเหล่านี้ทั้งนั้น คือ ต้องการแต่วิบากที่จะเห็น ที่จะได้ยิน ที่จะได้กลิ่น ที่จะลิ้มรส ที่จะกระทบสัมผัสสิ่งที่ดี การขวนขวายของแต่ละท่านก็พยายามขวนขวายไป แต่ วิบากจิตเป็นผลของกุศลกรรม เพราะฉะนั้น วิบากจิตที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เกิดขึ้นด้วยการแสวงหาของบุคคลหนึ่งบุคคลใด แต่เป็นเพราะกรรมที่เป็นกุศลเป็นปัจจัยให้กุศลวิบากนั้นๆ เกิดขึ้น

    ถ้าจะแบ่งชีวิตในภพหนึ่งชาติหนึ่งออกเป็นอย่างใหญ่ๆ จะเห็นได้ว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลของกรรม อีกส่วนหนึ่งเป็นเหตุ คือ เป็นกรรมที่จะให้เกิดผลข้างหน้า แต่ควรที่จะทราบชัดว่า ส่วนที่เป็นผลของกรรมนั้น เริ่มตั้งแต่ปฏิสนธิขณะ ซึ่งเมื่อดับไปแล้ว ปฏิสนธิที่เป็นมหาวิบากชั้นหนึ่งชั้นใดที่จะเป็นชั้นเลิศ หรือชั้นปานกลาง หรือชั้นอ่อน ก็ตาม จะเป็นปัจจัยทำให้จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต ที่เป็นกุศลวิบากเกิดขึ้น รู้อารมณ์ต่างๆ รวม ๘ ดวง

    สำหรับอีก ๘ ดวง ได้แก่ มหาวิบาก ๘ ผู้ที่ปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นผลของกุศล อย่างเลิศ จะมีมหาวิบาก ๘ ดวงเกิดขึ้นหลังจากปฏิสนธิ ซึ่งน่ารู้จริงๆ ว่าเมื่อไร และ มีประโยชน์อะไรสำหรับมหาวิบากจิต ๘ ดวง ที่จะเกิดภายหลังจากที่ปฏิสนธิ

    ทุกท่านเพียงต้องการเห็นสิ่งที่ดี เพราะฉะนั้น ก็ต้องการจักขุวิญญาณกุศลวิบาก ต้องการได้ยินเสียงที่ดี เพราะฉะนั้น ก็ต้องการโสตวิญญาณกุศลวิบาก ต้องการกลิ่นหอมๆ สำหรับฆานวิญญาณกุศลวิบาก ต้องการรสอร่อยสำหรับ ชิวหาวิญญาณกุศลวิบาก ต้องการโผฏฐัพพะที่สบายสำหรับกายวิญญาณกุศลวิบาก น่าจะพอแล้วใช่ไหม

    ถ้าท่านบอกว่า พอแล้ว หมายความว่าท่านพอใจเพียงกุศลกรรมที่ ไม่ประกอบด้วยปัญญา เพราะกุศลสามารถจะกระทำได้โดยไม่ประกอบด้วยปัญญาอย่างเลิศ เช่น ทาน อาจจะเป็นทานที่ประณีต และประกอบด้วยเจตนาที่ผ่องใส เป็นกุศลทั้งก่อนที่จะกระทำ ในขณะที่กระทำ และหลังจากที่กระทำแล้วก็ยัง เสพคุ้นอีก คือ ระลึกถึงกุศลนั้นบ่อยๆ ด้วยความปีติโสมนัส แต่ในขณะนั้นไม่ใช่กุศล ที่ประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น ถ้าท่านบอกว่า พอแล้ว เกิดมาและมีการเห็น สิ่งที่ดีๆ มีการได้ยินเสียงที่เพราะๆ มีการได้กลิ่นที่หอมๆ มีการได้ลิ้มรสที่ดี มีการกระทบสัมผัสที่ดี ถ้าพอแล้วก็ไม่มีโอกาสได้มหาวิบากที่เป็นญาณสัมปยุตต์เกิดหลังจากที่ปฏิสนธิ เพราะท่านพอใจเพียงอเหตุกกุศลวิบาก ๘ ดวง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

    เพราะฉะนั้น ต้องทราบว่า มหาวิบาก ๘ ดวง จะเกิดขึ้นในขณะไหน

    ปฏิสนธิของทุกท่าน จะเป็นมหาวิบากทั้ง ๘ ดวงไม่ได้ แต่ละบุคคลจะมี ปฏิสนธิจิตเพียงขณะเดียว และต้องเป็นมหาวิบากดวงหนึ่งดวงใดใน ๘ ดวง สำหรับ ผู้ที่ไม่พิการตั้งแต่กำเนิด เพราะฉะนั้น ต้องรู้กิจของจิตแต่ละประเภท

    มหาวิบาก ไม่ได้ทำกิจเห็น ไม่ได้ทำกิจได้ยิน ไม่ได้ทำกิจได้กลิ่น ไม่ได้ทำ กิจลิ้มรส ไม่ได้ทำกิจรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ไม่ได้ทำสัมปฏิจฉันนกิจ ไม่ได้ทำ สันตีรณกิจ

    กิจแรกของมหาวิบาก คือ ปฏิสนธิกิจ ทุกท่านมีปฏิสนธิจิตซึ่งเป็น มหาวิบาก ดับไปแล้ว แต่ยังมีมหาวิบากเกิดอีกหลังจากปฏิสนธิ เมื่อรู้อารมณ์ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยไม่ได้ทำกิจเห็น ไม่ได้ทำกิจได้ยิน ไม่ได้ทำกิจได้กลิ่น ไม่ได้ทำกิจลิ้มรส ไม่ได้ทำกิจรู้กระทบสัมผัส แต่เมื่อเกิดใน กามภูมิ เป็นกามบุคคล ก็ยังเป็นผู้ที่ข้องอยู่ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ดังนั้น เมื่อมหาวิบากดวงหนึ่งดวงใดใน ๘ ดวงเกิดขึ้นทำปฏิสนธิกิจ และดับไป มหาวิบากประเภทเดียวกันนั้นจะเกิดสืบต่อ ทำภวังคกิจ

    ผู้ที่ปฏิสนธิด้วยมหาวิบากดวงที่ ๑ ดับไปแล้ว มหาวิบากดวงที่ ๑ นั่นเอง เกิดขึ้นต่อทำภวังคกิจ โดยเกิดดับสืบต่อทำภวังคกิจไปเรื่อยๆ รักษาความเป็นบุคคลนั้นจนกว่าจะมีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส หรือการคิดนึก และถ้าเป็นทางปัญจทวาร คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เมื่ออารมณ์นั้นยังไม่ดับไป ยังมีอารมณ์เหลืออยู่ ๒ ขณะ จะมีจิตซึ่งเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นต่อจากชวนะ ชื่อว่าตทาลัมพนจิต ได้แก่ มหาวิบาก ๘ ดวง และ สันตีรณจิต ๓ ดวง รวมจิตที่จะทำตทาลัมพนกิจได้ ๑๑ ดวง แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีทั้ง ๑๑ ดวง แล้วแต่ปฏิสนธิจิต ถ้าปฏิสนธิจิตเป็นจิตชั้นเลิศ ก็มีมหาวิบากครบทั้ง ๘ และมีอเหตุกกุศลวิบากครบทั้ง ๘ รวมเป็น ๑๖ ดวง ซึ่งบางดวงก็ทำทัสสนกิจ บางดวงก็ทำสวนกิจ แล้วแต่ว่าจะเป็นกิจเห็นหรือกิจได้ยิน แต่สำหรับมหาวิบากจิต ไม่มีกิจอื่นนอกจากปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ จุติกิจ และตทาลัมพนกิจ

    เพราะฉะนั้น ดูเหมือนไม่น่าจะต้องการมหาวิบาก ๘ ดวงนี้เลย ใช่ไหม ถ้าเป็นผู้ที่สามารถจะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสที่ดีได้

    ผู้ฟัง อารมณ์ที่ดี เรียกว่า อิฏฐารมณ์ แต่จะถือเอาอารมณ์ของบุคคลหนึ่งบุคคลใดไม่ได้ หมายถึงเราชอบในอารมณ์นี้ แต่คนอื่นอาจจะไม่ชอบ จะมี ๒ ลักษณะ เป็นอิฏฐารมณ์โดยสภาวะ และโดยปริกัปปะ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ อย่าลืมว่า ความชอบหรือไม่ชอบเกิดขึ้นหลังจากที่วิบากจิตนั้น ดับไปแล้ว เพราะฉะนั้น ไม่มีทางที่จะรู้สภาวลักษณะของอารมณ์นั้น จะรู้ว่าอารมณ์นั้นเป็นอารมณ์ที่ดีหรือไม่ดี โดยถือความพอใจของแต่ละบุคคลไม่ได้

    ผู้ฟัง ขอให้อธิบายอารมณ์ที่เป็นอิฏฐารมณ์โดยสภาวะ และโดยปริกัปปะ

    ท่านอาจารย์ ทุกท่านต้องพิจารณาธรรมด้วยตนเอง เพราะพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ ทรงแสดงไว้อย่างกว้าง กลิ่นหอม บางท่านบอกว่าเหม็น ก็เป็นเรื่องของบางท่านซึ่งอาจจะสะสมความไม่พอใจในกลิ่นหอมอย่างนั้น หรือกลิ่นไม่ดีเลย แต่บางท่านอาจจะชอบกลิ่นอย่างนั้นก็ได้ นานาจิตตังจริงๆ

    นอกจากมนุษย์ในโลก ก็ยังมีสัตว์มากมาย ดิรัจฉานหลายชนิดหลายประเภทซึ่งสะสมความพอใจในกลิ่นต่างๆ ในรสต่างๆ ในสิ่งที่ปรากฏต่างๆ เพราะฉะนั้น เพียงแต่ให้ทราบว่า อารมณ์ที่ดีซึ่งวิญญาณที่เป็นวิบากกำลังรู้ ขณะนั้นวิบากจิตต้องเป็นกุศลวิบาก และอารมณ์ที่ดีเกิดจากกุศล เป็นผลของกุศลจึงทำให้อารมณ์นั้นเป็นอารมณ์ที่ดี แต่ที่จะให้ชี้ว่า อารมณ์นี้ อารมณ์นั้น เป็นเรื่องที่ไม่มีใครสามารถที่จะกระทำได้ แต่ส่วนใหญ่สิ่งใดก็ดีซึ่งเป็นที่น่าพอใจ น่ายินดี อารมณ์นั้นๆ ก็เป็นอิฏฐารมณ์ สำหรับคนส่วนมาก

    ถ้าได้ยินชื่อจิต อาจจะได้ยินโดยกิจ เช่น ปฏิสนธิจิต หมายความถึงจิตที่ทำปฏิสนธิกิจ แต่ต้องทราบว่า จิตไหน ชาติไหน ที่ทำปฏิสนธิกิจ ไม่ใช่ว่าจิตมีเกิน ๘๙ แต่จิต ๘๙ นั้นเอง จิตใดเกิดขึ้นทำกิจใด ก็เรียกจิตนั้นตามชื่อของกิจที่จิตนั้นทำได้

    เพราะฉะนั้น ต้องรู้ความต่างกันของชาติของจิต เพราะจิตที่เป็นเหตุจะไม่ทำกิจของจิตที่เป็นวิบาก เช่น กุศลและอกุศลเป็นเหตุ กุศลและอกุศลจึงไม่ใช่จิตที่เป็นผล กุศลและอกุศลไม่ทำปฏิสนธิกิจ ไม่ทำภวังคกิจ ไม่ทำจุติกิจ ไม่ทำทัสสนกิจ คือ ไม่ใช่จิตที่ทำกิจเห็น ไม่ทำสวนกิจ คือ ไม่ใช่จิตที่ทำกิจได้ยิน

    เมื่อรู้ชาติของจิตแล้ว ก็รู้ว่าขณะใดเป็นจิตที่เป็นเหตุ และขณะใดเป็นจิตที่เป็นวิบาก คือ จิตที่เป็นผล ซึ่งจิตที่เป็นผลทำกิจต่างกับจิตที่เป็นเหตุ

    ผู้ฟัง จิตที่ทำกิจปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ มีได้กี่ดวง

    ท่านอาจารย์ สำหรับกามาวจรจิต ๕๔ ทำปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ จุติกิจได้ ๑๐ ดวง จำแนกออกไปตามภูมิที่ปฏิสนธิจิตนั้นๆ เกิดขึ้น คือ

    สันตีรณอกุศลวิบาก ทำกิจปฏิสนธิในอบายภูมิ

    อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก ทำกิจปฏิสนธิในกามสุคติภูมิ สำหรับผู้ที่พิการตั้งแต่กำเนิด

    มหาวิบากจิต ๘ ทำกิจปฏิสนธิในภูมิมนุษย์และสวรรค์ ๖ ชั้น สำหรับผู้ที่ไม่พิการตั้งแต่กำเนิด

    สำหรับในรูปพรหมภูมิ การเกิดในพรหมภูมิจะต้องเป็นผลของการอบรม เจริญสมถภาวนา เพราะฉะนั้น สำหรับจิตที่ไม่ใช่กามาวจรจิต เป็นจิตอีกระดับหนึ่ง ซึ่งพ้นจากความติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ด้วยการอบรมเจริญความสงบจนกระทั่งมั่นคงขึ้นถึงความเป็นสมาธิขั้นต่างๆ จนถึงอัปปนาสมาธิ ซึ่งจำแนกเป็นปฐมฌาน ๑ ทุติยฌาน ๑ ตติยฌาน ๑ จตุตถฌาน ๑ ปัญจมฌาน ๑ รวมเป็นกุศล ๕ ฌาน และเป็นผลของกุศล คือ เป็นรูปาวจรวิบาก อีก ๕ ฌาน และเป็นกิริยาสำหรับพระอรหันต์อีก ๕ ฌาน รวมรูปาวจรจิต คือ จิตที่เป็นไปในอารมณ์ที่ทำให้สงบมั่นคงถึงฌานจิต มี ๑๕ แบ่งเป็น ๓ ชาติ คือ เป็นกุศล ๕ เป็นวิบาก ๕ เป็นกิริยา ๕

    เพราะฉะนั้น ผลของการอบรมเจริญความสงบไม่หายไปไหน ถ้าความสงบนั้นไม่เสื่อม คือ ในขณะที่ใกล้จะจุติ ฌานจิตหนึ่งฌานจิตใดสามารถจะเกิดได้ ย่อมเป็นปัจจัยทำให้ฌานวิบากขั้นหนึ่งขั้นใดเกิดขึ้น แล้วแต่ว่าจะเป็นปฐมฌานวิบาก หรือ ทุติยฌานวิบาก หรือตติยฌานวิบาก หรือจตุตถฌานวิบาก หรือปัญจมฌานวิบาก ทำกิจปฏิสนธิในรูปพรหมภูมิ ๑๕ ภูมิ

    จากกามาวจรปฏิสนธิจิต ๑๐ ดวง เพิ่มรูปาวจรปฎิสนธิจิตอีก ๕ ดวง รวมเป็น ๑๕ ดวง

    สำหรับผู้ที่อบรมเจริญฌานถึงขั้นที่ไม่มีรูปเป็นอารมณ์ เพราะเห็นโทษของการมีรูปเป็นอารมณ์ จิตมั่นคงขึ้น อารมณ์ละเอียดขึ้น จากฌานที่ ๑ ที่เป็นอรูปฌาน คือ อากาสานัญจายตนฌาน ถึงอรูปฌานที่ ๒ คือ วิญญาณัญจายตยฌาน เป็น อรูปฌานที่ ๓ คือ อากิญจัญญายตนฌาน และอรูปฌานที่ ๔ คือ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน และถ้าฌานไม่เสื่อมจะเป็นปัจจัยให้อรูปฌานวิบากจิต ฌานหนึ่งฌานใดใน ๔ ฌานนี้เกิดขึ้น ทำกิจปฏิสนธิในอรูปพรหมภูมิ

    เพราะฉะนั้น จิต ๘๙ ดวง ทำกิจปฏิสนธิ ๑๙ ดวง เป็นกามาวจรปฏิสนธิจิต ๑๐ ดวง เป็นรูปาวจรปฏิสนธิจิต ๕ ดวง และเป็นอรูปาวจรปฏิสนธิจิต ๔ ดวง

    ผู้ฟัง จิต ๘๙ ทำชวนกิจได้กี่ดวง

    ท่านอาจารย์ ตอนนี้กำลังถึงปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ และจุติกิจ และยังมีกิจเล็กๆ อีกกิจหนึ่ง คือ ตทาลัมพนกิจ ซึ่งน่าสนใจ เพราะตทาลัมพนจิตทุกคนมีไม่เท่ากัน

    มีจักขุปสาทเป็นปัจจัยให้จักขุวิญญาณเกิดเหมือนกัน คือ ถ้าสิ่งที่ปรากฏ ทางตาเป็นสิ่งที่ไม่น่าดู ก็เป็นจักขุวิญญาณอกุศลวิบาก ตามเหตุตามปัจจัย ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่ถ้าอารมณ์ที่ปรากฏทางตาเป็นอารมณ์ที่ประณีต ไม่ว่าจะเป็นใครอีกเหมือนกัน จักขุวิญญาณกุศลวิบากก็เกิดขึ้นเห็นสิ่งนั้น เพราะฉะนั้น ทุกคนมีจักขุวิญญาณเหมือนกัน และเท่ากันด้วย คือ มีจักขุวิญญาณที่เป็น อกุศลวิบาก ๑ ดวง ที่เป็นกุศลวิบาก ๑ ดวง มีโสตวิญญาณเท่ากัน ๒ ดวง คือ เป็นกุศลวิบาก ๑ ดวง เป็นอกุศลวิบาก ๑ ดวง มีฆานวิญญาณเท่ากัน มีชิวหาวิญญาณเท่ากัน มีกายวิญญาณเท่ากัน แต่ตทาลัมพนะไม่เท่ากัน

    จึงได้เรียนถามว่า อยากจะได้ไหม ตทาลัมพนะมากๆ ทำไมเกิดเป็นคนเหมือนกัน จักขุวิญญาณเท่ากัน โสตวิญญาณเท่ากัน ฆานวิญญาณเท่ากัน ชิวหาวิญญาณเท่ากัน กายวิญญาณเท่ากัน แต่ตทาลัมพนะไม่เท่ากัน

    ผู้ฟัง มีประโยชน์อย่างไร

    ท่านอาจารย์ น่าคิดจริงๆ ว่า มีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ เวลาที่เห็น จักขุวิญญาณเสมอกัน สัมปฏิจฉันนะก็เท่ากัน เหมือนกัน เช่น ถ้าอารมณ์นั้นเป็นอิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่ดี ขณะนี้ทุกคนจักขุวิญญาณเป็นกุศลวิบาก ดับไป สัมปฏิจฉันนจิตเกิดต่อ เป็นกุศลวิบาก ดับไป ถ้าอารมณ์นั้นไม่ใช่อารมณ์ที่ประณีตมาก อุเบกขาสันตีรณะเกิดต่อและดับไป ชวนจิตของใครเป็นอย่างไร นี่เป็นสิ่งที่สำคัญ เห็นสิ่งเดียวกัน แต่ใจที่สะสมกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ในอดีต ทำให้อกุศลจิตเกิดหรือกุศลจิตเกิด สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์

    ในทันทีที่เห็น จักขุวิญญาณเหมือนกัน ประเภทเดียวกันดับไป สัมปฏิจฉันนะประเภทเดียวกันดับไป สันตีรณะประเภทเดียวกันดับไป แต่จิตที่ทำกิจชวนะซึ่งเกิดต่อจากโวฏฐัพพนจิต ไม่เหมือนกันแล้ว บางคนเป็นอกุศลที่เป็นโลภมูลจิต แล้วแต่ว่าจะเป็นดวงหนึ่งดวงใดใน ๘ ดวง บางคนเป็นโทสมูลจิต แล้วแต่ว่าจะเป็นดวงหนึ่งดวงใดใน ๒ ดวง บางคนเป็นโมหมูลจิต แล้วแต่ว่าจะเป็นดวงหนึ่งดวงใดใน ๒ ดวง บางคนเป็นมหากุศลจิต แล้วแต่ว่าจะเป็นดวงหนึ่งดวงใดใน ๘ ดวง และเมื่อชวนจิต ดับไป อารมณ์ยังไม่ดับ สำหรับผู้ที่เกิดในกามภูมิเป็นกามบุคคล กำลังรู้กามอารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ตทาลัมพนะดวงหนึ่ง ดวงใดจะเกิดขึ้นทำกิจตทาลัมพนะ แล้วแต่ว่าชวนจิตในขณะนั้นจะเป็นประเภทใด

    ผู้ฟัง ถ้าชวนะในขณะนั้นเป็นมหากุศลดวงแรก

    ท่านอาจารย์ สำหรับมหาวิบากทั้ง ๘ ทำตทาลัมพนกิจได้ทั้ง ๘ เพราะกิจของ มหาวิบากมี ๔ กิจ กิจประจำที่แน่นอน คือ ปฏิสนธิกิจ ๑ ภวังคกิจ ๑ จุติกิจ ๑

    ทุกคนเกิดมาแล้ว เพราะฉะนั้น มหาวิบากเกิดขึ้นกระทำกิจปฏิสนธิแล้ว และเมื่อปฏิสนธิจิตดับไป ภวังคจิตก็ทำกิจภวังค์ต่อไปเรื่อยๆ และจิตที่ทำปฏิสนธินั่นเอง ประเภทเดียวกัน ในขณะสุดท้ายของชาตินี้ จะเกิดขึ้นกระทำจุติกิจ เพราะฉะนั้น ๓ กิจนี้ แน่นอน

    แต่ตทาลัมพนกิจ ไม่แน่ เมื่อมหาวิบากมีถึง ๘ ดวง มหาวิบากดวงหนึ่งดวงใดจะเกิดขึ้นกระทำตทาลัมพนกิจ แล้วแต่ปฏิสนธิจิตของบุคคลนั้น บางคนมีมหาวิบากซึ่งไม่ประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น จึงขาดมหาวิบากญาณสัมปยุตต์ที่จะทำกิจ ตทาลัมพนะ

    ผู้ฟัง เกี่ยวอะไรกับความพอใจในการที่จะมีปัญญา คือถ้าเราพอใจแค่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    ท่านอาจารย์ ถ้าผู้นั้นสะสมอัธยาศัยที่ประกอบด้วยปัญญาจนถึงกับการเกิดของผู้นั้นเป็นมหาวิบากญาณสัมปยุตต์ ย่อมมีโอกาสที่มหาวิบากญาณสัมปยุตต์จะเกิดขึ้นกระทำตทาลัมพนกิจ มีโอกาสจะได้ยินได้ฟังสิ่งซึ่งชวนะเป็นกุศลญาณสัมปยุตต์ และเมื่อชวนะดับไปแล้ว มหาวิบากญาณสัมปยุตก็เกิดขึ้นกระทำตทาลัมพนกิจต่อ

    ผู้ฟัง เป็นการสะสมปัจจัยของปัญญาต่อไป ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เป็นการแสดงให้เห็นว่า ในชีวิตของบุคคลนั้น ซึ่งปฏิสนธิด้วยมหาวิบากชั้นเลิศ ย่อมมีโอกาสที่จะได้ยินได้ฟังสิ่งซึ่งจะทำให้มหากุศลญาณสัมปยุตต์เกิด และดับไป เป็นปัจจัยให้มหาวิบากญาณสัมปยุตต์เกิดขึ้นกระทำตทาลัมพนกิจต่อ ในขณะที่บุคคลอื่นอาจจะได้รับผลของทานอย่างประณีต เกิดเป็นกษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล หรือคหบดีมหาศาล ในประเทศที่ร่ำรวยมากก็ได้ แต่ถ้าปฏิสนธิจิตของบุคคลนั้นไม่ใช่ญาณสัมปยุตต์ บุคคลนั้นจะไม่มีมหาวิบากญาณสัมปยุตต์ที่จะ เกิดต่อจากมหากุศลญาณสัมปยุตต์

    เพราะฉะนั้น การเกิดด้วยจิตดวงหนึ่งดวงใด จึงเป็นการแสดงถึงอนาคตในชาตินั้นก่อนจะจุติว่า มีโอกาสจะได้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือว่ามหาวิบากสามารถที่จะเกิดเป็นมหาวิบากญาณสัมปยุตต์หลังจากที่ชวนญาณสัมปยุตต์ดับไปแล้ว


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 19
    20 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ