จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 093


    ทุกท่านอ่านหนังสือพิมพ์ มีเรื่องราวต่างๆ มีรูปภาพด้วย บัญญัติทั้งนั้น เพราะฉะนั้น เกือบจะไม่รู้ลักษณะของปรมัตถธรรมเลย เพราะไม่ว่าจะเห็นทางตา ขณะใด จากหนังสือที่อ่าน หรือไม่ว่าจะเดินทางไปที่ไหน จะฝันอย่างไร ก็บัญญัติทั้งนั้น นี่เรื่องของทางตา

    ในฝัน ถ้าฝันถึงญาติผู้ใหญ่ที่สิ้นชีวิตไปแล้ว บางครั้งไม่ได้พูดอะไรเลย เพราะฉะนั้น บัญญัติไม่จำเป็นต้องเป็นนามบัญญัติ หรือสัททบัญญัติ เป็นสิ่งที่ปรากฏและบัญญัติว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้โดยที่ในขณะนั้นมีความคิดว่าเป็นตัวตน เป็นวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด จึงเป็นบัญญัติ เพราะไม่ใช่เป็นแต่เพียงสภาพปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏ

    สำหรับทางหู ตั้งแต่เกิดก็ได้ยินเสียงบ่อยๆ เป็นปกติ โดยที่ยังไม่รู้คำ ไม่มีภาษาหนึ่งภาษาใดเลยตอนที่เป็นเด็ก แต่ว่าสัญญา ความจำในเสียง สามารถที่จะบัญญัติเสียงที่จำไว้ให้มีความหมายต่างๆ เพราะฉะนั้น เวลาที่เป็นเด็กเล็กๆ และก็เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส หกล้มเจ็บ เป็นไข้ โกรธเคือง ชอบ พอใจ ร้องไห้อยู่ตลอดเวลา แต่ไม่รู้คำที่จะอธิบาย ที่จะพูด หรือที่จะบอก

    มีท่านผู้ใดจำตอนที่เกิดได้บ้างไหม ทั้งๆ ที่ขณะนั้นก็เห็น ได้ยิน แต่เมื่อยังไม่มีคำที่จะอธิบาย หรือยังไม่สามารถที่จะรู้ความหมาย ความทรงจำในเรื่องของสิ่งที่ปรากฏทางตาก็ผ่านไป แต่เมื่อโตขึ้นแล้ว มีคำมีภาษาที่ใช้ให้รู้ความหมายต่างๆ นอกจากจะจำสิ่งที่เห็นทางตาแล้ว ยังจำเรื่องที่ได้ยินทางหูเพิ่มเติมไปอีก ประกอบกัน ทั้งสิ่งที่ปรากฏทางตาและเสียงที่ได้ยินทางหู ให้เป็นทั้งรูปและเรื่องที่ประกอบกัน

    ถ้าอ่านหนังสือเรื่องหนึ่งเรื่องใด ยังไม่พอใช่ไหม ต้องทำเป็นหนังให้เห็น และมีเสียงด้วย หรือในโทรทัศน์ก็ตาม จะเห็นได้ว่า ในขณะที่กำลังดูโทรทัศน์ มีบัญญัติอะไรบ้าง ทางตา ใครกำลังเล่นละคร เรื่องอะไร ชื่ออะไร ดูเสมือนว่าเป็นคนจริงๆ แต่ความจริงเป็นบัญญัติทั้งหมดจากสิ่งที่ปรากฏและจำได้ว่า นี่คือบุคคลนั้นในเรื่องนั้น

    เพราะฉะนั้น ชีวิตประจำวันล้อมรอบไปด้วยบัญญัติ ซึ่งปิดบังลักษณะของปรมัตถธรรมจนกระทั่งไม่สามารถแยกรู้ได้จริงๆ ว่า ทางตาที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนนั้นเป็นอย่างไร

    ด้วยเหตุนี้การศึกษาเรื่องของจิต กิจของจิต หรือวิถีจิตทางทวารต่างๆ จะช่วยให้ปัญญาค่อยๆ เจริญขึ้นในขั้นของการฟัง เพื่อเกื้อกูลเป็นสังขารขันธ์ให้สติน้อมไประลึกลักษณะของปรมัตถธรรมโดยไม่ที่ติดในนิมิตอนุพยัญชนะซึ่งเป็นการปรากฏของบัญญัติ

    ผู้ฟัง บัญญัติเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้

    ผู้ฟัง ฟังแล้วคล้ายๆ กับว่า บัญญัติเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้

    ท่านอาจารย์ ปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน ขณะใดที่รสเกิดและกระทบกับชิวหาปสาทเป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้นรู้รสทางชิวหาทวาร เริ่มตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนจิต ชิวหาวิญญาณ สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต ชวนจิต ตทาลัมพนจิต และรสดับ จึงไม่มีองุ่น นั่นคือปรมัตถธรรม แต่เมื่อรวมกันแล้วเป็นผลองุ่น ขณะนั้นเป็นบัญญัติ

    เพราะฉะนั้น สติระลึกที่ลักษณะสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมจึงจะรู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ถ้าตราบใดที่สติปัฏฐานยังไม่เกิด จะไม่มีการแยกลักษณะของปรมัตถธรรมออกจากบัญญัติ จึงยังมีความเห็นว่า เห็นคนอยู่ตลอดเวลา ทางตา ซึ่งความจริงไม่ใช่คน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่กระทบจักขุปสาทแล้วปรากฏแต่ถ้าสติระลึกที่ลักษณะของปรมัตถธรรม จะเอาคนออกไปได้ เอาวัตถุสิ่งต่างๆ ออกไปได้จากเพียงสีสันวัณณะ หรือสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้

    ถ้าเจริญสติปัฏฐาน จะมีความรู้สึกว่าอยู่คนเดียว คือ ไม่มีใครเลยนอกจากสภาพธรรมที่เป็นเพียงรูปารมณ์ปรากฏกับจักขุวิญญาณ เป็นอย่างนั้นบ้างไหม

    ผู้ฟัง ไม่เป็น

    ท่านอาจารย์ ไม่เป็น และต้องรู้ด้วยว่าที่ไม่เป็นเพราะอะไร เพราะจักขุทวารวิถีกับ มโนทวารวิถีเกิดติดต่อกันอย่างรวดเร็ว เหมือนนกที่บินไปเกาะกิ่งไม้ ทันทีที่นกเกาะ กิ่งไม้ เงาของนกก็ปรากฏที่พื้นดินฉันใด เมื่ออารมณ์ปรากฏทางจักขุทวารก็ปรากฏต่อทางมโนทวารทันทีหลังจากที่ภวังคจิตเกิดคั่นแล้วอย่างรวดเร็วที่สุด จึงทำให้ไม่รู้ว่า รูปารมณ์ที่ปรากฏทางตาเป็นแต่เพียงสิ่งซึ่งสามารถกระทบกับจักขุปสาทแล้วปรากฏ

    ผู้ฟัง อาจารย์กล่าวว่า บัญญัติรู้ได้ทางมโนทวาร ถ้าจะเจริญสติปัฏฐาน ทางมโนทวาร ฟังแล้วคล้ายกับว่าจะเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้นเริ่มในขณะนี้เลย กำลังได้ยินเสียง มีบัญญัติไหม เสียงเป็นปรมัตถธรรม ความหมายที่รู้เมื่อเสียงปรากฏเป็นบัญญัติ การที่จะรู้ความหมายของเสียงที่ปรากฏ ต้องรู้ทางมโนทวาร

    จิตเกิดขึ้นรู้บัญญัติทางมโนทวาร เพราะฉะนั้น เวลาที่นึกเป็นคำ สติจะต้องรู้ว่า ขณะนั้นเป็นจิตที่กำลังรู้คำว่า คำ เป็นเสียงที่บัญญัติให้รู้ว่าหมายความว่าอะไร

    ผู้ฟัง สติรู้สภาพที่คิดนึกได้ แต่รู้บัญญัติไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ถูกต้อง แค่ทางตา ทางหู บัญญัติก็ปิดบังไว้ตลอด และยังทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

    ผู้ฟัง แสดงว่าสภาพที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย จะข้ามทางมโนทวารไม่ได้เลย คือ ทางตา สภาพเห็นปรากฏ มีภวังคจิตเกิดคั่น และต่อทางมโนทวาร

    ท่านอาจารย์ ทางมโนทวารจะต้องรู้รูปเดียวกับที่ทางปัญจทวารรู้ ถ้าชวนจิตทาง ปัญจทวารเป็นโลภมูลจิต ชวนจิตทางมโนทวารก็เป็นโลภมูลจิตประเภทเดียวกัน

    ผู้ฟัง อย่างทางตา ขณะที่เห็นเป็นปากกา แสดงว่า คำว่าปากกาเป็นทางมโนทวารแล้ว

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ได้พูดว่า ปากกา ก็มีบัญญัติแล้ว เพราะฉะนั้น บัญญัติไม่ได้หมายความแต่เฉพาะสัททบัญญัติหรือนามบัญญัติ ซึ่งเป็นเสียงหรือเป็นคำ เพียงแต่สิ่งที่ปรากฏนี่

    ผู้ฟัง เข้าใจแล้ว เห็นแล้วจำได้ก็เป็นบัญญัติแล้ว ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ รู้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยประการใดๆ นั่นคือบัญญัติ

    ผู้ฟัง หมายความว่า ทุกทวาร คือ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ต้องต่อด้วยมโนทวารวิถีทุกครั้ง ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ใช่ เพราะฉะนั้น อารมณ์ที่ปรากฏ คือ รูปารมณ์ จะปรากฏ ๒ ทวาร คือ ทางจักขุทวารและทางมโนทวาร เสียงก็ปรากฏ ๒ ทวาร คือ ทางโสตทวารและทางมโนทวาร ทางกายก็เหมือนกัน ทวารทั้ง ๕ เมื่อปรากฏทางทวารหนึ่งทวารใด แล้วภวังค์คั่น และก็ต้องปรากฏต่อทางมโนทวาร

    ผู้ฟัง สมมติว่าเราลิ้มรสเปรี้ยว ขณะที่เปรี้ยวก็เป็นบัญญัติแล้ว ถูกไหม

    ท่านอาจารย์ อะไรเปรี้ยว

    ผู้ฟัง สมมติว่าทานส้มเปรี้ยว

    ท่านอาจารย์ ใช่ ส้มเปรี้ยวเป็นบัญญัติ

    ผู้ฟัง แต่ที่ถูกต้อง คำว่า ส้มเปรี้ยว ต้องมาทางมโนทวาร ไม่ใช่ตอนลิ้มรส

    ท่านอาจารย์ ใช่ นั่นเป็นสัททบัญญัติ แต่ถ้าเห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคลอย่างนี้ ก็เป็นสัตวบัญญัติ บัญญัติสิ่งที่ปรากฏว่าเป็นบุคคลนั้นบุคคลนี้ ยังไม่พอ ยังชื่อนั้นชื่อนี้อีก ก็มีบัญญัติหลายอย่าง

    สำหรับทางหู ถ้าไม่มีคำ ไม่มีความหมาย เรื่องราวต่างๆ คงจะไม่มากมายอย่างนี้ แต่เพราะเสียงทุกเสียงปรากฏแก่จิต เมื่อปรากฏทางมโนทวารก็ทำให้สัญญา ความจำสามารถที่จะรู้ความหมายของเสียงต่างๆ เป็นชื่อต่างๆ เป็นคำต่างๆ ซึ่งใน อัฏฐสาลินี นิกเขปกัณฑ์ พระบาลีแสดงนิทเทสอธิวจนทุกะ ข้อ ๑๓๑๓ และ ข้อ ๘๔๑ มีข้อความว่า

    อธิวจนธรรม คือ ธรรมเป็นชื่อ เป็นไฉน

    ทุกอย่างในห้องนี้มีชื่อ ใช่ไหม มีดินสอ เป็นชื่อไหม ปากกา โต๊ะ เก้าอี้ ทุกอย่าง เพราะฉะนั้น อธิวจนธรรม คือ ธรรมเป็นชื่อ เป็นไฉน

    คือ การกล่าวขาน สมัญญา บัญญัติ โวหาร นาม การขนานนาม การตั้งชื่อ การออกชื่อ การระบุชื่อ การเรียกชื่อของธรรมนั้นๆ อันใด สภาวธรรมเหล่านี้ ชื่อว่าอธิวจนธรรม คือ ธรรมเป็นชื่อ

    ธรรมทั้งหมดแล ชื่อว่าอธิวจนปถธรรม คือ ธรรมเป็นเหตุของชื่อ

    ถ้าไม่มีสภาพธรรม ชื่อก็ไม่มี แต่เมื่อมีสภาพธรรม จะไม่มีชื่อมีไหม เพราะข้อความในอรรถกถามีว่า ธรรมทั้งหมดแล ชื่อว่าอธิวจนปถธรรม คือ ธรรมเป็นเหตุของชื่อ

    ถ้าเข้าไปในป่า มีต้นไม้หลายอย่าง ก็จะถามว่า นี่ต้นอะไร บางคนรู้จักชื่อก็บอกว่า ต้นกระถิน ต้นมะม่วง ต้นตะเคียน แม้ต้นไม้ไม่มีชื่อก็ยังบอกว่า ต้นไม่มีชื่อ ต้นนี้ไม่รู้จักชื่อ เพราะฉะนั้น ทุกอย่างมีชื่อที่จะให้รู้ ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีธรรมใดๆ ที่จะ ไม่เป็นเหตุของชื่อ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ธรรมทั้งหมดแล ชื่อว่าอธิวจนปถธรรม คือ ธรรมเป็นเหตุของชื่อ อธิบายว่า ขึ้นชื่อว่าธรรมที่ไม่เป็นเหตุของชื่อหามีไม่ ธรรมเอกย่อมประมวลเข้าในธรรมทั้งหมด ธรรมทั้งหมดก็ประมวลเข้าในธรรมเอก

    ประมวลอย่างไร อธิบายว่า นามบัญญัตินี้ชื่อว่าเป็นธรรมเอก ธรรมเอกนั้นย่อมประมวลเข้าในธรรมทั้ง ๔ ภูมิทั้งสิ้น ทั้งสัตว์ ทั้งสังขาร ชื่อว่าพ้นไปจากนาม หามีไม่

    ถ้าไม่มีชื่อ ไม่ทราบจะเข้าใจกันได้อย่างไร จะใช้ จะเรียก จะขาน จะเอามาเป็นประโยชน์ได้อย่างไร ถ้าไม่ชื่อช้อน ไม่ชื่อส้อม ไม่ชื่อสบู่ ไม่ชื่อขัน ไม่ชื่อขวด

    เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะเป็นปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรม ก็ยังไม่พ้นจากชื่อ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติตามลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ คือ

    เป็นขันธบัญญัติ ๕ เป็นอายตนบัญญัติ ๑๒ เป็นธาตุบัญญัติ ๑๘ เป็น สัจจบัญญัติ ๔ เป็นอินทริยบัญญัติ ๒๒ เป็นบุคคลบัญญัติหลายจำพวก

    แสดงให้เห็นว่า แม้พระธรรมที่ทรงแสดงก็ไม่พ้นไปจากชื่อ นามบัญญัติต่างๆ

    เรื่องของโลภมูลจิต ซึ่งเกิดเป็นประจำทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แม้ว่าเป็นโลภมูลจิตที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เป็นโลภมูลจิต ทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ก็ต้องรู้ด้วยว่า อารมณ์ของโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ไม่ใช่พอใจเฉพาะแต่ในปรมัตถธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ยังพอใจไปจนกระทั่งถึงชื่อต่างๆ เรื่องต่างๆ บัญญัติต่างๆ ทั้งนิมิตและ อนุพยัญชนะด้วย

    เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ ตอบกันได้แล้วว่ามีอะไรเป็นอารมณ์ ก็มีบัญญัติ เป็นอารมณ์ จนกระทั่งปิดบังไม่ให้รู้ลักษณะของปรมัตถธรรมตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง ไม่ว่าภาพองุ่น หรือองุ่น เวลาเราไปแตะต้อง อ่อนแข็งก็เป็นปรมัตถ์ รสขององุ่นก็เป็นปรมัตถ์ ปรมัตถ์หลายๆ อย่างรวมกันก็เป็นองุ่นจริงๆ ที่เราบัญญัติ เพราะฉะนั้น บัญญัติก็เป็นของจริง

    ท่านอาจารย์ รูป รส เกิดและดับไป เพราะมีอายุเพียงแค่ ๑๗ ขณะ รูปสีที่เห็นว่าเป็นองุ่นก็เกิดขึ้นและดับไปเพียงแค่ ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้น มีองุ่นได้ไหม

    ผู้ฟัง มีในความจำ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เป็นบัญญัติว่าสิ่งนั้นเป็นองุ่น แต่ความจริงสิ่งนั้นคือรส ที่เกิดและดับ สิ่งนั้นคือแข็งที่เกิดแล้วดับ

    ผู้ฟัง แต่บัญญัติมาจากปรมัตถ์หลายๆ อย่างที่มารวมกันเป็นกลุ่มก้อน

    ท่านอาจารย์ จึงไม่ประจักษ์ความเกิดดับ เมื่อไม่ประจักษ์ความเกิดดับก็ยึดถือ สภาพที่ปรากฏนั้นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

    ผู้ฟัง บัญญัติไม่ใช่ของจริงหรือ

    ท่านอาจารย์ สัตวบัญญัติ สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่สามารถจะปรากฏทางหู เวลากระทบสัมผัสทางกาย ทุกสิ่งแข็งหรืออ่อน เย็นหรือร้อน เหมือนกันหมด จึงเป็นธาตุ ไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง บัญญัติมาจากปรมัตถ์หลายๆ อย่าง อ่อนแข็ง เย็นร้อน สี เสียง มารวมกันเป็นกลุ่มเรียกว่าคน มีสีอย่างนั้น มีสัณฐานอย่างนั้น มีเสียงอย่างนั้น ก็เป็นคนนั้น บัญญัติก็มาจากปรมัตถ์

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จึงต้องแยกเป็นแต่ละทวาร และทวารหนึ่งต้องดับจริงๆ อย่างทางตา รูปที่ปรากฏในขณะนี้มีอายุเพียง ๑๗ ขณะและดับ เพราะฉะนั้น ๑๗ ขณะนี่ยังไม่ทันเดิน หรือยืน หรือก้าว หรืออะไรทั้งนั้น ที่จะยกมือขึ้นนี่ก็เกิน ๑๗ ขณะแล้ว เพราะฉะนั้น ที่เห็นเป็นคนเดิน หรือว่าเห็นเป็นคนยกมือ แสดงให้เห็นว่า รูปดับ และเกิดสืบต่อทั้งทางจักขุทวารวิถี ภวังค์คั่น มโนทวารวิถีเกิดมากมายจนกระทั่งปรากฏเป็นกำลังเดิน หรือกำลังยกมือ

    ตามความเป็นจริง ๑๗ ขณะนี้เร็วมาก เพราะทางตา ๑๗ ขณะนี้ต้องดับก่อน ที่จะได้ยินเสียง เพราะฉะนั้น ที่ปรากฏเหมือนทั้งได้ยินด้วยและทั้งเห็นด้วย ในช่วงนี้ ระหว่างได้ยินกับเห็น รูป ๑๗ ขณะทางตาดับไปแล้ว และเสียงก็ดับไปด้วย เพราะฉะนั้น การยกมือที่เห็นเป็นคนยกมือ เห็นเป็นคนเดินแต่ละครั้ง นามธรรมและรูปธรรมเกิดดับมากมาย แต่เมื่อไม่ประจักษ์ก็ยึดถือโดยบัญญัติสิ่งที่ปรากฏนั้นว่า เป็นคนบ้าง เป็นหญิงบ้าง เป็นชายบ้าง เป็นวัตถุสิ่งนั้นสิ่งนี้บ้าง

    แต่อย่าลืม แม้เมื่อเริ่มศึกษาปรมัตถธรรมว่า ปรมัตถธรรมเป็นสภาพธรรมที่ มีจริง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่หญิง ไม่ใช่ชาย ไม่ใช่วัตถุสิ่งใดๆ สิ่งที่ได้ศึกษาแล้วก็ต้องเป็นความจริงตั้งแต่ต้นไปจนตลอด และแล้วแต่ว่าสติปัญญา จะอบรมเจริญขึ้นจนกระทั่งประจักษ์แจ้งในสิ่งซึ่งอาจจะชินหูและพูดตามได้ว่า ปรมัตถธรรมเป็นสิ่งซึ่งมีจริง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ได้หรือเปล่า

    รสมีจริง แข็งมีจริง บัญญัติรสและแข็งนั้นว่าองุ่น แต่สิ่งที่มีจริงคือรส เกิดขึ้นและดับไป ๑๗ ขณะ แข็งเกิดขึ้นและดับไป ๑๗ ขณะ จึงไม่มีองุ่น ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล มีแต่เพียงรูปธรรมและนามธรรมซึ่งเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว

    ปรมัตถธรรมต้องเป็นปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมต้องย้อนกลับไปให้ตรงกับแม้ตอนต้นที่ศึกษา แม้แต่คำว่า อนัตตา ก็ต้องเข้าถึงอรรถของ ปรมัตถธรรม ทั้งขั้นของการฟัง การพิจารณา การอบรมเจริญปัญญาจนประจักษ์แจ้ง เพราะฉะนั้น อย่าลืม ขณะใดที่ไม่มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ ขณะนั้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์

    ผู้ฟัง ของจริงที่ท่านแยกเป็นปรมัตถสัจจะกับสมมติสัจจะ บัญญัติจะเป็นสมมติสัจจะได้ไหม

    ท่านอาจารย์ แต่บัญญัติไม่ใช่ปรมัตถ์

    ผู้ฟัง แต่เป็นของมีจริง เรียกว่า สมมติสัจจะ ได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ได้ แต่ไม่มีลักษณะที่เป็นปรมัตถ์ อย่างองุ่น ชื่อเท่านั้น ชื่อองุ่นนั้นไม่มีรสอะไรทั้งสิ้น แต่รสที่มี บัญญัติรสนั้นว่าเป็นองุ่น

    สำหรับโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ นอกจากจะพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ยังพอใจในบัญญัติ ธรรมดาๆ ซึ่งเป็นไปในชีวิตประจำวัน ก็ยังพอใจในมิจฉาสมาธิได้ เช่น ผู้ที่พอใจในการบริหารร่างกาย รู้ว่าถ้าฝึกแบบโยคะ ให้จิตตั้งมั่นจดจ้องที่ลมหายใจเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงได้ ในขณะนั้นเป็นการอบรมหรือการทำสมาธิประเภทหนึ่ง ซึ่งเมื่อไม่ใช่กุศลจิตที่เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ ก็ต้องเป็นโลภมูลจิตซึ่งเป็นมิจฉาสมาธิ แต่ผู้นั้นไม่ได้เห็นผิดว่านี่เป็นหนทางที่จะทำให้รู้ สัจจบัญญัติ เพราะฉะนั้น ก็เป็นแต่เพียงความพอใจที่จะทำสมาธิ และรู้ว่าในขณะนั้นมีความต้องการสมาธิเพื่อประโยชน์แก่สุขภาพร่างกาย ไม่ใช่เห็นผิดโดยยึดถือว่า ต้องทำอย่างนี้ก่อน และมาพิจารณานามธรรมและรูปธรรมจะได้เร็วขึ้น ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็ไม่เข้าใจลักษณะของสัมมาสติว่าเป็นอนัตตา ไม่ใช่ว่าไปทำมิจฉาสมาธิก่อน จะได้มาเกื้อกูลให้ปัญญาสามารถรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้

    การที่สติจะเป็นสัมมาสติ เป็นมรรคหนึ่งในมรรคมีองค์ ๘ ได้ ก็เมื่อมีสัมมาทิฏฐิ ความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏซึ่งเป็นอารมณ์ที่สติจะต้องระลึกโดยถูกต้องและละเอียดขึ้น เป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้สติระลึกลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ถูกต้อง เช่น ทางตาที่กำลังเห็นจะได้รู้ว่า ขณะใดเป็นบัญญัติ และขณะใดเป็นปรมัตถ์ ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เช่นเดียวกัน

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะดูโทรทัศน์ ดูกีฬา หรืออะไรๆ ก็ตามแต่ จะอ่านหนังสือ จะดูภาพเขียน ก็จะรู้ว่า ขณะใดเป็นบัญญัติ ขณะใดเป็นปรมัตถ์ มิฉะนั้นแล้วอาจจะคิดว่า เรื่องในโทรทัศน์เป็นบัญญัติ แต่ว่าที่กำลังปรากฏในขณะนี้ไม่ใช่บัญญัติ แต่ความจริงเป็นบัญญัติทั้งนั้น แม้แต่ชื่อของทุกท่านก็เป็นนามบัญญัติ เป็นคำที่ตั้งขึ้นเพื่อให้รู้ว่า หมายความถึงสภาพธรรมที่เป็นจิต เจตสิก รูป ที่สะสมมาของแต่ละบุคคลที่สมมติขึ้นว่าเป็นบุคคลนั้น บุคคลนี้

    เรื่องของมิจฉาสมาธิที่เป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ต่างกับขณะที่เข้าใจว่า มิจฉาสมาธิเป็นทางที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะฉะนั้น มิจฉาสมาธิ มี และไม่ใช่แต่เฉพาะในประเทศไทย แต่ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนก็ตาม ขณะใดที่ไม่ใช่ มหากุศลญาณสัมปยุตต์ ขณะนั้นต้องเป็นมิจฉาสมาธิ ถ้าเข้าใจว่าเป็นหนทางที่จะ ทำให้ชำนาญขึ้นในการที่สติจะระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ถ้าเข้าใจ อย่างนี้ ผิดทันที เพราะสัมมาสติที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมโดยถูกต้อง ไม่ได้อาศัยการทำมิจฉาสมาธิก่อน

    ผู้ฟัง ในลักขณาทิจตุกะกล่าวว่า สมาธิเป็นเหตุใกล้ของวิปัสสนา

    ท่านอาจารย์ หมายถึงสมาธิอะไร

    ผู้ฟัง คงเป็นสัมมาสมาธิ จึงจะเป็นเหตุใกล้

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ในคราวก่อนเป็นเรื่องของบัญญัติอารมณ์ ซึ่งเป็นอารมณ์ที่มีอยู่เป็นประจำวัน ขณะใดที่ไม่มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ ขณะนั้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้น ลองคิดดูว่า วันหนึ่งๆ มีบัญญัติเป็นอารมณ์มากไหม ทางตาที่กำลังเห็น ทางหูที่ ได้ยิน ทางจมูกที่ได้กลิ่น ทางลิ้นที่ลิ้มรส ทางกายที่กระทบสัมผัส ทางใจที่คิดนึก จะมีอารมณ์อื่นอีกได้ไหม นอกจากปรมัตถอารมณ์กับบัญญัติอารมณ์

    ในวันหนึ่งๆ ตลอดชาตินี้ ชาติก่อน ชาติหน้า ทุกภูมิ ทุกโลก จะมีอารมณ์อื่นนอกจากปรมัตถอารมณ์กับบัญญัติอารมณ์ได้ไหม ลองคิดดู มีได้ไหมอารมณ์อื่น นอกจาก ๒ อารมณ์นี้

    ตอบว่า ไม่ได้ เพราะอารมณ์มี ๖ เท่านั้น และในอารมณ์ ๖ นี้ นอกจากปรมัตถธรรมก็เป็นบัญญัติ เพราะฉะนั้น ไม่มีอารมณ์อื่นอีก

    พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีบัญญัติเป็นอารมณ์หรือเปล่า ถ้าพูดถึงคนธรรมดา ชีวิตประจำวันของทุกคน เห็น จักขุทวารวิถีจิตดับหมดแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่น มโนทวารวิถีจิตมีปรมัตถอารมณ์เดียวกับจักขุทวารวิถีจิตที่เพิ่งดับไปวาระหนึ่ง ภวังค์คั่น มโนทวารวิถีจิตที่เกิดต่อมีการนึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ เพราะสิ่งที่ปรากฏทางตา แท้ที่จริงแล้วเป็นรูปๆ หนึ่ง ซึ่งเกิดกับมหาภูตรูป ๔ คือ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 19
    24 ต.ค. 2566

    ซีดีแนะนำ