สติปัฏฐาน กับ การไปนั่งสมาธิ


    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นทิฏฐิ ความเห็นผิดของตนเองได้ในชีวิตประจำวันว่า ขณะใดเป็นความเห็นผิด ขณะใดเป็นความเห็นถูก เพราะเหตุว่าบางท่านกล่าวว่า ชีวิตของท่านมี ๒ อย่าง คือ การอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติอย่างหนึ่ง และการนั่งสมาธิอีกอย่างหนึ่ง ทำไมต้องสองอย่างล่ะคะ ทำไมไม่ใช่อย่างเดียว อะไรทำให้ต้องเป็นสอง แทนที่จะเป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นก็ยังมีทางที่จะติดอยู่ แล้วถ้าไม่รู้ว่า ขณะนั้นไม่เป็นประโยชน์เลย เพราะเหตุว่าถึงแม้ว่าจะไปนั่งสมาธิ ก็ไม่อาจที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริงได้ แต่จะมีความพอใจ เพราะเหตุว่ามีความรู้สึกว่า มีนามธรรมและรูปธรรมปรากฏให้รู้ชัด ไม่ว่าจะเย็นในขณะนั้น ก็รู้ หรือไม่ว่าจะคิดนึก หรือไม่ว่าจะมีกลิ่นปรากฏ มีเสียงปรากฏ ก็ดูเสมือนว่า เป็นความรู้ชัด แต่ถ้าไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ทำขึ้นด้วยความต้องการ แต่เป็นสภาพธรรมที่เกิดแล้วในขณะนี้ กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง ถ้าไม่รู้อย่างนี้ ก็ไม่มีทางที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้ แล้วก็ยังมีความพอใจที่จะทำสมาธิ เพราะคิดว่าในขณะนั้นสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมชัด แต่อย่าลืมว่า ไม่ใช่อารมณ์ชัด แต่ต้องเป็นปัญญาที่รู้ชัดในลักษณะของอารมณ์ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ จึงจะชื่อว่า รู้ชัด ไม่ใช่คอยไปเงียบๆ แล้วสิ่งใดเกิดปรากฏก็ว่าชัด แต่ในขณะนี้เอง ที่ชัด คือ ปัญญาสามารถรู้สิ่งที่กำลังปรากฏเพราะเกิดขึ้นแล้ว ตามเหตุ ตามปัจจัย ตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้นก็จะทราบได้ว่า หนทางไหนเป็นหนทางที่ถูก และหนทางไหนเป็นหนทางที่จะต้องอาจหาญร่าเริง เข้มแข็ง ที่จะไม่ติด เพราะการอบรมเจริญสติปัฏฐาน อย่าลืมนะคะ เพื่อละ เพราะฉะนั้นขณะใดที่รู้สึกว่าติด ขณะนั้นไม่ใช่การละ เมื่อไม่ใช่การละ จึงไม่ใช่หนทาง และการละต้องเป็นการละด้วยปัญญา ที่เกิดขึ้นพิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จึงจะละได้

     


    หมายเลข 7824
    22 ส.ค. 2558