แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 776


    ครั้งที่ ๗๗๖


    ผู้ฟัง บวชอุทิศพระผู้มีพระภาคนี้ ผมทั้งฟังและศึกษา และเห็นปัญญาของ พระผู้มีพระภาคว่าประเสริฐแค่ไหน ก็มีความต้องการอยากจะบวชประพฤติธรรมเช่นนั้น อยากจะประพฤติธรรมเช่นพระพุทธองค์นี้หลายครั้ง แต่โอกาสที่จะบวชยากเหลือเกิน เพราะถูกเครื่องจองจำ จองจำเสียแล้ว

    สุ. ถ้าสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เสมอกับการบวชไหม

    เวลาที่สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ อบรมเจริญปัญญายิ่งขึ้น จะเสมอกับการบวช เพราะผู้บวชก็คือผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม คือ ข้อปฏิบัติที่ทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม เป็นข้อปฏิบัติอันเดียวกัน

    เพราะฉะนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับศรัทธาของผู้ที่จะประพฤติปฏิบัติตามว่า จะประพฤติปฏิบัติตามในเพศของฆราวาส หรือว่าในเพศของบรรพชิต ดังนั้น ท่านจึงยังคงเป็นฆราวาสอยู่ตามกำลังของศรัทธา ไม่มีผู้ใดสามารถบังคับได้ใช่ไหม ถึงแม้ว่าบางครั้งเกิดศรัทธาแรงกล้าที่จะบวช แต่ก็ยังไม่บวช ยังไม่ถึงศรัทธานั้น แต่ว่ามีศรัทธาที่จะเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏได้ และถ้าบรรลุคุณธรรมเป็น พระอริยเจ้า ก็เสมอกันในความเป็นพระโสดาบันบุคคล แต่ต่างกันโดยเพศของบรรพชิตกับฆราวาส ซึ่งเพศบรรพชิตต้องสูงกว่า เพราะว่ามีข้อประพฤติปฏิบัติที่ขัดเกลายิ่งขึ้น

    ผู้ฟัง การบวชของผมมีจุดประสงค์อย่างนี้ ผมเคยศึกษาและพบข้อความว่า แม้เนื้อจะเหือดเลือดจะแห้งเหลือแต่เอ็นและกระดูกอย่างไรก็ตาม เมื่อไม่สิ้นเรี่ยวแรง จะต้องประพฤติธรรม พูดเป็นภาษาชาวบ้าน คือ ประพฤติธรรมเหมือนคนที่มีความเพียร ถึงจะตายก็จะทำให้สำเร็จ

    สุ. เคยบวชไหม

    ผู้ฟัง ไม่เคย

    สุ. ชาติก่อนนี้เคยไหม

    ผู้ฟัง ไม่ทราบ

    สุ. ไม่มีผู้ใดสามารถย้อนระลึกถึงอดีตชาติได้ แม้แต่พระชาติต่างๆ ของพระผู้มีพระภาคเอง บางพระชาติก็เป็นบรรพชิต บางพระชาติก็เป็นฆราวาส เพราะฉะนั้น ในปัจจุบันชาตินี้กำลังเป็นฆราวาส ก็ไม่แน่ว่าจะเป็นบรรพชิตเมื่อไร และบรรพชิตกับฆราวาสก็สลับกันไปเรื่อย แล้วแต่ว่าการรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้านั้นจะบรรลุในเพศของฆราวาส หรือว่าในเพศของบรรพชิต ไม่ใช่ว่าไม่เคย คิดว่า คงจะเคยแน่

    ถ. ผมยังข้องใจเรื่องการปรับอินทรีย์ให้เสมอ คือ ไม่ใช่ปรับเฉพาะอินทรีย์ บางครั้งจะต้องปรับเรื่องจิตด้วย กายด้วย เพราะมีพระสูตรกล่าวไว้ว่า ขณะใดต้องข่มจิตในสมัยที่ควรข่ม และบางทีก็ให้ยกจิตในสมัยที่ควรยก ทำจิตให้ร่าเริงในสมัยที่ควรทำให้ร่าเริง อย่างนี้เป็นต้น

    บางทีง่วง หรือซึม เช่น ตื่นนอนใหม่ๆ ขณะนั้นยังซึมๆ อยู่ ขณะที่ซึมๆ นี้ ถ้าไม่ปรับจิต หรือปรับร่างกายให้กระปรี้กระเปร่าขึ้น จะเจริญภาวนาไม่ดี อย่างเช่นขณะที่ท่านพระโมคคัลลานะเกิดความความง่วง พระผู้มีพระภาคก็ยังตรัสสอนวิธีให้ต่อสู้กับความง่วง ให้แหงนดูฟ้าบ้าง เอาน้ำลูบหน้าบ้าง ให้ดูดาวบ้าง แต่การดูดาวของเรากับท่านพระโมคคัลลานะไม่เหมือนกัน ท่านดูแล้วหายง่วง เราดูแล้วไม่หายง่วง เพราะท่านจบไตรเภทมา ท่านรู้เรื่องดาราศาสตร์ รู้ว่าดาวดวงไหนโคจรไปทางไหน ดาวดวงนี้ชื่ออะไร ทำให้ท่านคิด ความง่วงก็จะหายไปได้

    เพราะฉะนั้น เรื่องการปรับอินทรีย์ หรือปรับจิต ปรับกายนี้ ผมเห็นว่า มีความจำเป็นมากสำหรับผู้เจริญภาวนาทั้งหลาย ถ้าไม่ปรับ บางโอกาสก็เจริญไม่ได้ ความเห็นของผมมีอย่างนี้ ใช่หรือไม่ใช่

    สุ. การปรับอินทรีย์ ต้องก่อนสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏใช่ไหม ถ้าตื่นขึ้น สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้น เป็นไตรสิกขา คือ การศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรม เป็นการอบรมเจริญปัญญา ถ้าอบรมบ่อยๆ เนืองๆ ก็เป็นได้

    แต่ว่าในวันหนึ่งๆ ในชีวิตของแต่ละคน ท่านผู้ฟังก็จะเห็นว่า มักจะคล้อยตามไปในเรื่องของความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ บางครั้งก็มากจนหลงลืม และบางครั้งก็ท้อถอยเบื่อหน่ายในธรรม แทนที่จะเบื่อหน่ายในอกุศล

    บางท่านมีอกุศลกลุ้มรุม จนกระทั่งทำให้ท่านเป็นผู้ที่เบื่อหน่ายในธรรม ไม่ฟังธรรมแม้ที่เคยฟัง ซึ่งในขณะนั้น เป็นการดีที่จะรู้วิธีว่า ทำอย่างไรจิตจึงจะร่าเริงและเบิกบานในธรรม โดยการที่ไม่เสื่อม หรือว่าไม่ท้อถอยจากธรรม

    ผู้ที่ได้อบรมเจริญปัญญาในเรื่องของการพิจารณาสภาพธรรมโดยความแยบคาย สภาพธรรมเหล่านั้นเกิดขึ้น ปรับ ทำให้ท่านมีการระลึกได้ และสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะจุดประสงค์ คือ การอบรมเจริญสติ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ขณะนี้ถ้าสติไม่เกิด มีการฟัง มีการเข้าใจ มีการรู้ว่า ไม่ควรที่จะง่วงเหงา ในขณะนั้นเป็นปัจจัยปรับให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ปรับอื่น แต่ปรับธรรมเหล่านั้น ปรับจากที่เคยได้ยินได้ฟัง เคยเห็นประโยชน์ เคยรู้ว่าการกระทำอย่างไรเป็นคุณ อย่างไรเป็นโทษ และสามารถที่จะเป็นปัจจัยให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ในขณะนั้นก็เป็นการปรับ แต่ไม่ใช่เพื่อจุดประสงค์อย่างอื่น

    ถ. การปรับจิตก็ดี กายก็ดี อินทรีย์ก็ดี จุดประสงค์ก็เพื่อจะเจริญ สติปัฏฐานนั่นเอง เพราะในขณะที่ง่วง หรือตื่นนอนใหม่ๆ ขณะที่ซึม ขณะนั้นสติเกิดได้ แต่พิจารณาไม่ได้ หรือว่าสติตั้งอยู่ไม่นาน อย่างนี้เป็นต้น เมื่อสติเกิดขึ้นเล็กน้อย และก็ไม่ได้พิจารณา ก็หลงลืมกันต่อไป หรือบางทีจะพิจารณา ก็พิจารณาไม่ขึ้น ขณะที่ง่วงก็ดี ซึมก็ดี หรือว่าร่างกายอ่อนเพลียก็ดี สติเกิดขึ้นได้ แต่ว่าพิจารณาไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผมเห็นว่า การปรับอินทรีย์เป็นสิ่งจำเป็นกับผู้ที่เจริญภาวนาทั้งหลาย

    ซึ่งวิธีปรับใน วิสุทธิมรรค ท่านกล่าวว่า อิริยาบถทั้ง ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน อิริยาบถที่นอนใกล้กับความง่วง อิริยาบถที่ยืนกับที่เดินจะเป็นปฏิปักษ์ต่อความง่วง จะหายง่วง แต่ว่าจะฟุ้งซ่าน อิริยาบถที่นั่งจะไม่ใกล้กับความง่วง และไม่ใกล้กับความฟุ้งซ่าน เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดความง่วงขึ้น เราก็ใช้อิริยาบถยืนบ้าง เดินบ้าง ถ้าเดินมากๆ หรือยืนมากๆ เกิดตึงขึ้นมา หรือปวดขึ้นมา เราก็นั่ง พยายามอย่านอน ขณะนั้นผมเรียกว่า ปรับจิต หรือปรับร่างกายให้กระปรี้กระเปร่า กระชุ่มกระชวย ให้มีกำลัง เพื่อจะได้พิจารณาค้นคว้าทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย นี่คือการปรับอินทรีย์ เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างนี้

    สุ. การเจริญสติปัฏฐาน แม้ในขณะนั้นๆ สติจะต้องเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรม เพราะว่าการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เมื่อเจริญยิ่งขึ้น การที่จะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้ จะต้องไม่คิดถึงสิ่งที่จะทำซึ่งยังไม่เกิดขึ้น แต่ว่าเป็นสิ่งที่เกิดเป็นปกติในชีวิตประจำวันนั่นเอง

    ท่านผู้ฟังบางท่านก็มีกิจวัตร คือ การสวดมนต์ไหว้พระ บางขณะท่านอาจจะคิดว่า ท่านจะสวดมนต์ จะไหว้พระ และก็เจริญสติปัฏฐาน แต่เวลาที่สติปัฏฐานเกิดขึ้นจริงๆ ในขณะนั้นจะระลึกได้ รู้ว่าแม้การสวดมนต์ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยที่ได้สะสมมา

    ลองพิจารณาดู ปกติในชีวิตประจำวันที่ท่านสวดมนต์ไหว้พระ เป็นนามธรรมและรูปธรรม ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ เพราะรู้ว่า แม้การคิดที่จะสวดมนต์ ที่จะไหว้พระ ที่จะเดินไป ที่จะนั่งลง ที่จะก้มลง ที่จะกราบ ทั้งหมดนั้นเป็นไปตามการสะสมทั้งสิ้น ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา นี่เป็นชีวิตประจำวัน

    เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ใดเห็นว่า ควรที่จะนั่ง หรือควรที่จะเดิน แม้ในขณะนั้นสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อละการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล นี่คือความละเอียดซึ่งทุกท่านจะต้องสังเกตรู้ว่า ในชีวิตปกติประจำวันนี่เอง สติจะต้องระลึกและรู้ตามความเป็นจริงในแต่ละขณะ แม้ในขณะนี้ ท่านกำลังคิดอะไร แม้การฟังก็เป็นลักษณะที่ต่างกับการคิด การฟัง การได้ยินเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย คือ เสียงกระทบหู ก็มีการได้ยิน ไม่ใช่การคิด

    เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ลักษณะของวิปากวิญญาณ คือ สภาพธรรมซึ่งเป็นสภาพที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสบ้าง เป็นสิ่งที่ช่วยไม่ได้เลย เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เป็นผลของกรรม แต่เวลาที่เกิดการคิดนึก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหนึ่งเรื่องใด แม้ขณะที่สวดมนต์ ก็เป็นจิตที่นึกตรึกไป ทำไมจึงคิดอย่างนั้น ทำไมจึงตรึกเป็นคำสวดมนต์ ถ้าท่านไม่เคยสะสมมาที่จะกระทำกิจวัตรอย่างนี้ นามธรรมและรูปธรรมอย่างนี้ก็ไม่เกิด เพราะฉะนั้น ปัญญาจะต้องรู้แม้ในขณะ นั้นๆ ซึ่งเป็นความคิดนึกเกิดขึ้นที่จะน้อมระลึกถึงพระพุทธคุณ หรือว่าความสงบที่เกิดขึ้น ก็รู้ว่าเป็นนามธรรมแต่ละชนิดซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยตามการสะสม

    เรื่องของการที่จะปรับอินทรีย์ สำหรับผู้ที่อบรมเจริญสมถะที่จะให้จิตสงบยิ่งขึ้น ที่จะให้ตั้งมั่น และสำหรับผู้ที่อบรมเจริญปัญญา ที่จะให้มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมโดยไม่โงก โดยไม่ง่วง ท่านก็มีวิธีโดยนัยต่างๆ ที่ว่าทำอย่างไรจึงจะไม่หลับ แต่แม้ในขณะนั้น ที่จะนึกอย่างนั้น ที่จะกระทำอย่างนั้น สติก็จะต้องระลึกรู้ตามความเป็นจริงในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมว่า เกิดขึ้นเพราะสะสมมาที่จะคิดอย่างนั้น ที่จะทำอย่างนั้น มิฉะนั้นก็ไม่สามารถที่จะเอาตัวตนออกจากนามธรรมและรูปธรรมซึ่งกำลังคิดและกำลังทำอย่างนั้นได้

    ถ. ผมได้อ่าน วิสุทธิมรรค เกี่ยวกับอารมณ์กัมมัฏฐาน ๔๐ อ่านไปแต่ละกัมมัฏฐานก็สังเกตไป ปฏิบัติไป รู้สึกว่ากุศลจิตเกิดขึ้นมากกว่าเก่าเป็นเท่าๆ ตัว แต่กุศลจิตที่เกิดจากอารมณ์กัมมัฏฐานเหล่านั้น มีตัวตนอยู่ทั้งนั้น เพราะฉะนั้น มีตัวตน แต่ว่าจิตเป็นกุศล ผมก็คิดว่า ยังดีกว่ามีตัวตนที่จิตเป็นอกุศล และเมื่อพิจารณาอารมณ์ทั้งหลายก็ทำให้ปัญญาเพิ่มขึ้น รู้ปัญญาต่างขั้น รู้ว่าปัญญาของสมถภาวนากับปัญญาของวิปัสสนานั้นต่างกัน เมื่อก่อนนี้ไม่เคยเจริญกัมมัฏฐาน เช่น กสิณ ๑๐ รู้ไม่เคยรู้มาก่อนว่าปัญญาของสมถะเป็นอย่างไร รู้แต่ปัญญาของวิปัสสนาภาวนา เมื่อรู้อารมณ์ของสมถะต่างๆ นี้ ทำให้กุศลจิตเกิดขึ้นมากกว่าเก่า เช่น ในชีวิตประจำวัน หันไปทางประตูก็ดี ทางหน้าต่างก็ดี เมื่อก่อนยังไม่รู้เรื่องของกสิณ ไม่รู้ว่ามีแสงสว่าง ไม่ได้รู้ว่าเป็นช่องว่าง แต่หลังจากที่ศึกษากสิณแล้ว มองไปทางประตูก็ดี ทางหน้าต่างก็ดี บางครั้งเราก็กำหนดรู้อากาศ เป็นอากาสกสิณไป บางครั้งก็กำหนดแสงสว่างรู้ว่านี่เป็นแสงสว่าง ขณะใดที่รู้ว่าเป็นแสงสว่าง หรือขณะใดที่รู้ว่าเป็นอากาศ ขณะนั้นเป็นตัวตนทั้งหมด แต่ว่าโลภะไม่มี โทสะไม่มี และก็รู้ว่าเป็นแสงสว่าง ขณะนั้นโมหะก็ไม่มี เพราะฉะนั้น การเจริญสมถภาวนาในชีวิตประจำวันก็ทำให้กุศลจิตเกิดขึ้นเป็นเท่าตัว

    ผมเห็นว่า การศึกษากสิณก็ดี การศึกษาอารมณ์กัมมัฏฐานทั้งหลายและปฏิบัติ เป็นประโยชน์มากมาย

    สุ. เรื่องของความสงบ เป็นเรื่องธรรม เป็นเรื่องจริง แต่ต้องเข้าใจลักษณะของจิตที่สงบ อย่างอากาศที่เป็นกสิณ ไม่ใช่รู้เพียงที่ช่องว่างหรือที่ประตูเท่านั้น ผู้ที่จะอบรมเจริญสมถภาวนาให้จิตสงบโดยที่มีอากาศเป็นอารมณ์ จะต้องน้อมนึกถึงอากาศอย่างเดียวจนกระทั่งอย่างอื่นไม่ปรากฏเลยจึงจะเห็นว่า แท้ที่จริงแล้วก็มีแต่เพียงความว่างเปล่าเท่านั้นเอง ซึ่งไม่ควรที่จะยึดถือว่าเป็นอารมณ์ที่จะทำให้เกิดความยินดียินร้าย

    ต้องรู้ว่าไม่ใช่อารมณ์ที่จะทำให้เกิดความยินดียินร้าย เห็นเป็นดินเท่านั้นจริงๆ ทุกคนมีดินของตัวเอง คือ ร่างกาย วัตถุทั้งหลายภายนอกซึ่งเคยเป็นที่รักที่ชอบใจก็เป็นแต่เพียงดิน และเวลาที่มีจิตแน่วแน่ตั้งมั่นคงอยู่ที่ปฐวีกสิณ จะไม่มีอย่างอื่นปรากฏเลย นอกจากจิตที่น้อมระลึกถึงธาตุที่เป็นดินเท่านั้นเอง นั่นจึงจะเป็นความสงบ เพราะเมื่อเป็นเพียงดิน และจิตรู้ว่าเป็นสภาพธรรมที่เป็นเพียงดินเท่านั้น จิตย่อมสงบ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๗๘ ตอนที่ ๗๗๑ – ๗๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 45
    28 ธ.ค. 2564