แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 762


    ครั้งที่ ๗๖๒


    สุ. เห็นเปล่าๆ ยังไม่ตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานในวันหนึ่งๆ มีไหม ตามความเป็นจริง แม้ว่าสติจะไม่เกิด แต่ในวันหนึ่งๆ ไม่ใช่ว่าเห็นแล้วตรึกถึงทุกอย่าง ขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ บางอย่างอาจจะไม่ได้นึกถึงเลยแม้ว่าจะเห็น

    กลอนประตูนี้มีใครนึกถึงบ้างไหม เห็น แต่บางทีก็เห็นไปเฉยๆ โดยไม่ได้ตรึกหรือนึกถึง เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ เดินไปที่ไหนบ้าง หรือว่ากำลังนั่ง มีเห็น แต่ไม่ใช่ว่ามีตรึกนึกถึงทุกสิ่งทุกอย่าง มีการตรึกนึกถึงเพียงบางสิ่งบางอย่างเท่านั้น เห็น มี เห็นทุกสิ่งทุกอย่างเพราะว่าเป็นรูปารมณ์ แต่ว่ามีการตรึกนึกถึงเพียงบางสิ่งบางอย่างเท่านั้น

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า วิตกเจตสิก เวลาที่เห็น และหลังจากจักขุวิญญาณดับไปแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า แม้สัมปฏิจฉันนจิตซึ่งรับ คือ รู้อารมณ์ต่อจากจักขุวิญญาณ ก็มีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ยังไม่ได้ตรึกถึงสัณฐาน เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่งๆ เห็นแล้วไม่ได้คิดถึงสิ่งที่เห็นก็มี หรือว่าหลังจากเห็นแล้วยังคิดถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่เห็นจึงรู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไรก็มี หรือว่าเวลาเห็นแล้วเกิดสติระลึกได้ และนึกขึ้นมาว่า ขณะที่เห็นนี้เป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ ขณะนั้นก็เป็นวิตกเจตสิก แต่ว่านึกถึงคำ นึกถึงเรื่อง เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นลักษณะของวิตกเจตสิกนี้ต่างกันไป เพราะไม่ว่าจะเห็นอะไร จะได้ยินอะไรก็ตาม สัญญาเจตสิกนี้ทำกิจจำทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ว่าแล้วแต่วิตกเจตสิกจะตรึกนึกถึงอะไร ขณะนี้ถ้าใครจะนึกคิดอะไร นั่นคือวิตกเจตสิกทำกิจตรึกนึกคิดถึงเรื่องนั้น

    และเรื่องนั้นตามความเป็นจริงก็ไม่ใช่ปรมัตถธรรม เพราะเรื่องนั้นมีเพราะจิตนึก ถ้าจิตไม่นึก เรื่องนั้นก็ไม่มี

    แต่ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตา เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถึงไม่นึก มีปัจจัยให้เห็น การเห็นก็เกิดขึ้น ถึงไม่นึก มีปัจจัยให้ได้ยิน การได้ยินเสียงก็เกิดปรากฏ เสียงเป็นสภาพปรมัตถธรรมที่มีจริง ได้ยินเป็นสภาพปรมัตถธรรมที่มีจริง แต่ขณะที่ตรึกนึกคิดถึงเรื่องราวต่างๆ เรื่องต่างๆ ไม่ใช่ปรมัตถธรรม ไม่มีจริง แต่จิตที่ตรึกหรือนึกคิดนั้นมีจริง เพราะวิตกเจตสิกตรึกนึกถึงสิ่งที่เคยเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง และก็จดจำไว้ ทุกคนจำไว้มากมายหลายเรื่อง แต่ว่าแล้วแต่วิตกเจตสิกจะตรึกถึงเรื่องอะไร

    สำหรับสมถภาวนาในชีวิตประจำวัน สำหรับผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ใน อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต มหานามสูตร มีข้อความว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ ได้เสด็จเข้าไปเฝ้าได้ทูลถามว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อริยสาวกผู้ได้บรรลุผลทราบชัดพระศาสนาแล้ว ย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรมชนิดไหนเป็นส่วนมาก พระเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร มหานามะ อริยสาวกผู้ได้บรรลุผลทราบชัดพระศาสนาแล้ว ย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้เป็นส่วนมาก คือ อริยสาวกในพระศาสนานี้ ย่อมระลึกถึงพระตถาคตเนืองๆ ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ (อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง) ตรัสรู้เองโดยชอบ (สัมมาสัมพุทโธ) ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ (วิชชาจะระณะสัมปันโน) เสด็จไปดีแล้ว (สุคะโต) ทรงรู้แจ้งโลก (โลกะวิทู) เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า (อะนุตตะโร ปุริสสะทัมมะสาระถิ) เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย (สัตถา เทวะมนุสสานัง) เป็นผู้เบิกบานแล้ว (พุทโธ) เป็นผู้จำแนกธรรม (ภะคะวา)

    ท่านผู้ฟังระลึกอย่างนี้หรือเปล่า หรือสวดเท่านั้น

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร มหานามะ สมัยใด อริยสาวกย่อมระลึกถึงพระตถาคตเนืองๆ สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม ย่อมเป็นจิตดำเนินไปตรงทีเดียว ก็อริยสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรงเพราะปรารภ พระตถาคต ย่อมได้ความซาบซึ้งอรรถ ย่อมได้ความซาบซึ้งธรรม ย่อมได้ความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม เมื่อปราโมทย์แล้วย่อมเกิดปีติ เมื่อมีใจประกอบด้วยปีติ กายย่อมสงบ ผู้มีกายสงบแล้วย่อมเสวยสุข เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น

    ดูกร มหานามะ นี้อาตมภาพกล่าวว่า อริยสาวกเป็นผู้ถึงความสงบเรียบร้อยอยู่ ในเมื่อหมู่สัตว์ยังไม่สงบเรียบร้อย เป็นผู้ไม่มีความพยาบาทอยู่ ในเมื่อหมู่สัตว์ยังมีความพยาบาท เป็นผู้ถึงพร้อมกระแสธรรม ย่อมเจริญพุทธานุสสติ ฯ

    ต่อไปเป็นการระลึกถึงพระธรรม เป็นธัมมานุสสติ พระสงฆ์ เป็นสังฆานุสสติ ศีล เป็นสีลานุสสติ จาคะ เป็นจาคานุสสติ และเทวดา คือ เทวตานุสสติ

    ตอนท้ายของพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร มหานามะ อริยสาวกผู้ได้บรรลุผลทราบชัดพระศาสนาแล้ว ย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้เป็นส่วนมาก ฯ

    จบ สูตรที่ ๑๐

    นี่เป็นปกติในชีวิตประจำวันของผู้ที่เป็นพระอริยสาวก

    สมถภาวนา คือ การอบรมเจริญความสงบ เป็นเรื่องที่ควรเจริญ แต่ว่าต้องถูกต้องด้วย มิฉะนั้นแล้วก็ไม่ใช่ความสงบ แต่อาจจะคิดว่าสงบ

    เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่เป็น พระอริยสาวก ผู้ที่ทราบชัดพระศาสนาแล้ว ย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้เป็นส่วนมาก ฯ สำหรับท่านผู้ฟังที่ต้องการจะสงบ หรือต้องการที่จะเจริญสมถภาวนา จะปฏิบัติอย่างไร เพราะแม้แต่พระอริยสาวกท่านก็เป็นผู้ที่เจริญความสงบโดยการระลึกถึงพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ เทวตานุสสติ

    ถ. มีบางท่านที่ไม่เข้าใจความหมายของคำว่า อิติปิ โส ภะคะวา เป็นต้น และก็สวดมนต์โดยที่ไม่ได้ระลึกว่า พระผู้มีพระภาคเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ อะไรต่างๆ เหล่านี้ จะถือว่าเป็นผู้ที่อยู่ในวิหารธรรมข้อนี้ไหม

    สุ. เพียงสวดใช่ไหม มีใครสามารถจะรู้ถึงจิตในขณะที่กำลังสวดของผู้อื่นได้ไหม เมื่อไม่ได้ จึงควรศึกษาวาระจิตของตน เพราะไม่สามารถที่จะรู้วาระจิตของบุคคลอื่น เพราะฉะนั้น แต่ละท่านควรที่จะเกิดสติ คือ การระลึกได้ว่า ในขณะที่ท่องหรือในขณะที่สวดเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล แต่ว่าจิตเป็นสภาพธรรมที่ละเอียดมากและเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น ในการอบรมเจริญแม้สมถะ คือ ความสงบ ก็จะต้องประกอบด้วยสติสัมปชัญญะและปัญญาที่รู้ลักษณะของจิตในขณะนั้นว่า เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

    ลองพูด อิติปิ โส ภควา พอที่จะรู้ลักษณะของจิตในขณะนั้นไหมว่า เป็นกุศลหรือเปล่า แต่ว่าเวลาที่ศึกษาพระธรรมและเกิดความรู้ความเข้าใจในสภาพธรรม มีความซาบซึ้งในพระพุทธคุณที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงธรรม ในขณะนั้นลักษณะของจิตผ่องใส เพราะระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาค ในขณะนั้นไม่ได้เอ่ยคำว่า อิติปิ โส ภะคะวา แต่ว่าความรู้สึกนี้เป็น อิติปิ โส ภะคะวา

    ถ. ถ้าเป็นในลักษณะนี้ ก็เท่ากับว่าอยู่ในวิหารธรรม

    สุ. ขณะใดที่เข้าใจธรรม ศึกษาโดยการอ่าน โดยการฟัง เกิดความซาบซึ้ง ปีติ ผ่องใส ระลึกพระพุทธคุณ ในขณะนั้นเป็นพุทธานุสสติ เป็นความสงบ แต่ว่าไม่ใช่ต้องท่อง เป็นความเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจธรรมจะเห็นพระคุณของพระผู้มีพระภาคได้ไหม อาจจะเกิดความเลื่อมใสเล็กๆ น้อยๆ ได้ว่า เป็นผู้ที่ปราศจากกิเลส หรือเป็นผู้ที่ควรเคารพ

    ผู้ฟัง มีการเจริญสมาธิ หายใจเข้า พุท หายใจออก โธ อะไรต่างๆ เหล่านี้ ไม่ได้อยู่ในวิหารธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ตามที่อาจารย์ได้บรรยายเลย เพียงแต่เป็นสมาธิแต่ละขณะๆ ที่คิดคำว่า พุท คำหนึ่ง คำว่า โธ คำหนึ่ง

    สุ. ใช่ เพราะฉะนั้น การที่เจริญความสงบ อย่าลืมว่า ถ้าปราศจากสติสัมปชัญญะ คือ รู้สภาพของจิตในขณะนั้นว่า เป็นกุศลหรือเป็นอกุศลแล้ว ไม่สามารถสงบได้

    ธรรมดาของบุคคลที่มีความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน ไม่มีใครที่ไม่ปรารถนาในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น เมื่อมีความต้องการในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งยังไม่ได้ลดลงไปด้วยปัญญาที่รู้สภาพธรรมยิ่งขึ้นตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น เวลาที่มีความปรารถนา แทนที่จะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อาจจะปรารถนาการจดจ้องที่ลมหายใจ ซึ่งลักษณะที่แท้จริง คือ ปรมัตถธรรมของลมหายใจนั้น ก็คือ โผฏฐัพพะธรรมดาๆ นั่นเอง เวลาที่กระทบสัมผัสสิ่งหนึ่งสิ่งใดรู้สึกว่า อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏให้รู้ได้ทางกาย ฉันใด ลมหายใจ คือ โผฏฐัพพะ ลักษณะที่อ่อน ที่เบา ที่แรง ที่อุ่น ที่ร้อน หรือที่เย็น ที่ปรากฏให้รู้ได้ทางกาย ก็ฉันนั้น

    เพราะฉะนั้น ความปรารถนาธรรมดาซึ่งทุกคนมีอยู่ในเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ที่ปรากฏทางกาย กับความต้องการที่จะให้จิตจดจ้อง คือ ปรารถนาโผฏฐัพพะที่กระทบปรากฏที่จมูกนั้น ก็ไม่ต่างกันสำหรับผู้ที่ปราศจากสติสัมปชัญญะ ซึ่งปัญญาไม่เกิดรู้ความต่างกันของจิต เพราะขณะที่กำลังนั่งอยู่อย่างนี้ เวลาที่อกุศลจิตเกิดขึ้น มีโลภะ ความต้องการอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด และก็เปลี่ยนเป็นลมหายใจ ลักษณะของจิตไม่ต่างกันเลย เป็นความต้องการนั่นเอง แต่เปลี่ยนจากที่นั่งธรรมดาไปหาโผฏฐัพพะที่กระทบที่จมูก ที่เป็นลมหายใจ ไม่มีลักษณะของปัญญาที่รู้เหตุผลว่า เพราะอะไรจึงสงบเมื่อระลึกที่ลมหายใจ เมื่อปัญญาไม่เกิด ก็คือโลภมูลจิตนั่นเอง

    ผู้ฟัง สาเหตุที่แท้จริงของผู้ที่ปฏิบัติอย่างนั้น เกิดจากความไม่เข้าใจเป็นอันดับแรก

    สุ. พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า สำหรับการอบรมเจริญภาวนา ไม่ว่าจะเป็นสมถะหรือวิปัสสนาก็ตาม ย่อมไม่สามารถจะกระทำได้ถ้าปราศจากปัญญา

    ผู้ฟัง ปัญญาคือความเข้าใจ ได้ยินเขาว่า หายใจเข้า พุท หายใจออก โธ และจะเป็นกุศล ก็เข้าใจตามเขา โดยที่อาจจะเป็นความเข้าใจผิด

    สุ. เขาบอกว่า การฟังธรรมเป็นกุศล แต่เวลาที่ฟังแล้วไม่รู้เรื่องเลย จิตคิดนึกไปต่างๆ นานา เรื่องนั้น เรื่องนี้ เป็นกุศลได้ไหม ในเมื่อจิตของคนฟังต่างกัน

    ถ. จะเป็นกุศลหรือไม่ใช่กุศล มีตัวอย่าง ค้างคาวที่ฟังพระสวดมนต์ หลังจากค้างคาวนั้นก็ตาย ได้ไปเกิดในสวรรค์ ก็หมายความว่า จิตจะต้องเป็นกุศล ฟังพระสวดมนต์ไม่รู้เรื่องอะไรเลย แต่จิตก็เป็นกุศลได้ใช่ไหม

    สุ. ใครจะรู้วาระจิตของค้างคาวทุกตัว คนทุกคนที่ฟังธรรม ลักษณะของกุศลจิตของใครคนนั้นก็รู้ ไม่ใช่คนอื่นรู้ เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้เห็นค้างคาวอยู่ในวัด ก็เข้าใจว่าเป็นกุศลทั้งหมดหรือ

    ผู้ฟัง ผมจำบาลีได้ ค้างคาวนี้ไม่ได้รู้อะไร แต่ว่าสัททสัญญา ในบาลีว่าอย่างนั้น สำคัญในเสียง คล้ายๆ กับเราฟังดนตรีเพราะ จิตอื่นไม่ได้พูดถึง ถ้าอยากจะรู้ ไปดูในธรรมบท

    สุ. ยาก ที่จะรู้ว่าเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

    ถ. ขอเรียนถามเรื่องความเพียร พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า บุคคลพึงล่วงพ้นความทุกข์ได้ด้วยความเพียร ความเพียรในที่นี้ หมายถึงความเพียรที่น้อมสติมาระลึกรู้ที่นามธรรมหรือรูปธรรม หรือเป็นความเพียรที่ต้องไปเพ่ง ไปเดินจงกรม ไปนั่งกัมมัฏฐาน

    สุ. ความเพียรเกิดพร้อมกับสติ ไม่ต้องห่วงเรื่องความเพียร ในขณะใดที่สติเกิด ขณะนั้นมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ถ. แสดงว่าแค่นี้ก็เป็นลักษณะของความเพียรแล้ว แต่ในพระสุตตันตปิฎก ลักษณะของความเพียรมีความมุ่งหมายในด้านที่ว่า ต้องมีความเพียรอย่างแรงกล้า เช่น เดินจงกรม นั่งกัมมัฏฐาน อย่างท่านพระโสณเถระ เป็นต้น ท่านเดินจนส้นเท้าแตก ทำให้เห็นว่า ที่จะเพียรไปสู่พระนิพพานได้นั้น ต้องทำอย่างพระโสณเถระหรือ

    สุ. และผลเป็นอย่างไร จะทำอย่างท่านพระโสณะ นั่นเป็นความปรารถนาความต้องการที่จะทำ ผลคืออย่างไร

    ถ. ถ้าไม่ก่อให้เกิดปัญญา ผมเข้าใจว่าคงไม่เป็นประโยชน์แต่อย่างใดเลย

    สุ. เพราะฉะนั้น สำคัญที่สุด คือ ปัญญา ใครจะทำอย่างไรนั้นเป็นเรื่องการสะสมของแต่ละบุคคล พระอริยเจ้าทั้งหลายที่เป็นบรรพชิตก็มี ที่เป็นคฤหัสถ์ก็มี ท่านก็บรรลุมรรคผลตามโอกาสอันควรของท่าน แต่ว่าผู้ที่ยังไม่ได้อบรมเจริญปัญญาพอที่จะมีกำลังที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม และไปพยายามทำอย่างท่านพระโสณะบ้าง ผลย่อมไม่เกิด

    ถ. ผมเคยประสบมากับตัวเอง เคยเข้าห้องกัมมัฏฐานประมาณ ๓ เดือน ปฏิบัติไปๆ เข้าใจว่าตัวเองสำเร็จเป็นพระโสดาบันบุคคลแล้ว คือ หลอกตัวเองว่าสำเร็จแล้ว ผมไปสอบอารมณ์กับอาจารย์ อาจารย์บอกว่า ยัง ให้ปฏิบัติต่อ ผมก็ปฏิบัติ ขณะที่ทำความเพียร เดินจงกรม นั่งกัมมัฏฐาน ๒ วัน กับ ๑ คืน ไม่ได้นอน เดินแล้วก็ล้มลงหัวแตก ไม่ก่อให้เกิดปัญญา ไม่สามารถตัดกิเลสให้เป็นสมุจเฉทได้ ที่เล่าให้ฟังนี้ ก็เพียงให้เป็นข้อคิดสำหรับคนหมู่มากที่ได้ฟังอยู่ในที่นี้ เพื่อจะได้นำไปพิจารณาว่า ก่อให้เกิดประโยชน์ไหม หรือว่าเป็นประโยชน์ต่อตัวเองอย่างไร และขอถามว่า เรารู้สึกตื่นเต้นมากๆ เราไม่ต้องการให้ตื่นเต้น เราสามารถจะบังคับได้ไหม

    สุ. จะบังคับ หรือว่าจะระลึกรู้ลักษณะของความตื่นเต้นซึ่งมีจริง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    โดยมากทุกท่านไม่ชอบอกุศล แน่นอนที่สุด แต่พอระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ยากนักที่จะไม่ระลึกรู้ลักษณะของอกุศลตามความเป็นจริงที่กำลังปรากฏ

    โลภมูลจิตมีอยู่เป็นประจำจนไม่รู้สึก ถ้าสติไม่เกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมจะบอกได้ไหมว่า เมื่อก่อนที่สติจะเกิดนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ถ้าสติไม่เกิดและอกุศลที่มีมากจนกระทั่งครอบงำ อกุศลนั้นก็ย่อมไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมใดๆ ได้เลย

    เพราะฉะนั้น ขออนุโมทนาท่านผู้ฟังที่ท่านทราบว่า ไม่ใช่พระโสดาบัน และเมื่อปฏิบัติต่อไปก็ยังมีการเผลอตัวหกล้มจนศีรษะกระแทก ศีรษะแตก ซึ่งนั่นไม่ใช่ลักษณะของปัญญา ถ้าท่านมีความสงสัยว่า ลักษณะนั้นเป็นลักษณะของอะไร สภาพธรรมอะไร เวลาที่เผลอตัวย่อมจะมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นได้ ถ้านั่งอยู่ไม่เผลอ ก็คงจะไม่ล้มลงไป แต่เมื่อเผลอจะมีอาการที่ผิดปกติ ซึ่งไม่ใช่สติสัมปชัญญะ เพราะฉะนั้น ในขณะนั้น เกิดขึ้นเพราะการปฏิบัติที่ทำให้เกิดการเผลอขึ้นทีละเล็กทีละน้อยจนกระทั่งสามารถที่จะทำให้ล้มและมีอันตรายเกิดขึ้นได้ ซึ่งนั่นไม่ใช่สติสัมปชัญญะ

    ขณะนี้กำลังเห็น กำลังได้ยิน ถ้าจะเกิดความตื่นเต้นตกใจ ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นของจริง ไม่ใช่ตัวตน แต่ความที่ยึดติดในเรา ก็ไม่ชอบที่จะให้เราตื่นเต้นตกใจอย่างนั้น ไม่มีใครชอบให้ตัวเองรู้สึกอับอาย รู้สึกขายหน้า รู้สึกตื่นเต้น รู้สึกตกใจ แต่ว่าสภาพธรรมเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น ถ้าไม่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ก็มีความคิดที่อยากจะบังคับไม่ให้สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้น แต่ว่าไม่สามารถจะบังคับได้ เพราะว่าตราบใดที่อกุศลธรรมยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท ต้องมีปัจจัยให้เกิด



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๗๗ ตอนที่ ๗๖๑ – ๗๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 45
    28 ธ.ค. 2564