แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 761


    ครั้งที่ ๗๖๑


    ถ. มรรคมีองค์ ๘ ท่านกล่าวไว้ว่า สัมมาทิฏฐิ มีลักษณะเห็น สัมมาสังกัปปะ มีลักษณะยกขึ้นในอารมณ์ สัมมาวาจา มีลักษณะถือเอา สัมมากัมมันตะ มีลักษณะเป็นสมุฏฐาน สัมมาอาชีวะ มีลักษณะผ่องแผ้ว สัมมาวายามะ มีลักษณะประคอง สัมมาสติ มีลักษณะปรากฏ สัมมาสมาธิ มีลักษณะไม่ฟุ้งซ่าน

    ขอให้อาจารย์อธิบาย สัมมาทิฏฐิ มีลักษณะเห็น คือ เห็นอะไรบ้าง

    สุ. เห็นตามความเป็นจริง เห็นด้วยปัญญา เวลานี้เสียงปรากฏ ไม่ใช่เห็นด้วยตา แต่เห็น คือ รู้ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เมื่อเป็นสิ่งที่กำลังปรากฏและรู้ จึงเป็นเห็น ซึ่งไม่ใช่เห็นอย่างจักขุวิญญาณ แต่เห็นสัททารมณ์เป็นสัททารมณ์ เห็นเสียงเป็นสียง เห็นโสตวิญญาณ คือ สภาพที่ได้ยินเสียง เป็นสภาพที่ได้ยิน ไม่ใช่เสียง

    ถ. เห็นอกุศลเป็นอกุศล เห็นกุศลเป็นกุศล

    สุ. เห็นสภาพธรรมทุกอย่างตรงตามความเป็นจริง ไม่เห็นผิด

    ถ. สัมมาสังกัปปะ มีลักษณะยกขึ้นในอารมณ์

    สุ. สัมมาสังกัปปะมีมือสำหรับจะยกไหม

    ถ. ไม่เข้าใจว่า ยกขึ้นในอารมณ์นี้ จะยกอย่างไร

    สุ. การศึกษาปรมัตถธรรมจะแจ่มแจ้งชัดเจนขึ้น พร้อมการเจริญสติปัฏฐาน จะเข้าใจอรรถของพยัญชนะ ซึ่งอาจจะใช้พยัญชนะหลายอย่างเพื่อที่จะช่วยให้ผู้ฟัง หรือผู้อ่าน หรือผู้ศึกษามีความเข้าใจขึ้น แต่ถ้าเจริญสติปัฏฐานด้วย จะทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างชัดเจนขึ้น

    จิตเป็นสภาพรู้ เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ เป็นนามธรรม เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่สี ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่กลิ่น ไม่ใช่รส ไม่ใช่แข็งหรืออ่อน ไม่มีอาการของรูปธรรมใดๆ ปรากฏเลย เพราะรูปธรรมนั้นไม่ใช่สภาพรู้

    จิตเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นธาตุชนิดหนึ่ง เป็นธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะรู้อารมณ์ จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ แต่ว่าสภาพธรรมแต่ละชนิดซึ่งเกิดขึ้นนั้นไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นโดยปราศจากปัจจัยทั้งหลายได้ ในขณะที่จิตแต่ละประเภท แต่ ละดวง หรือแต่ละขณะที่เกิดนั้นจะมีปัจจัย คือ นามธรรมอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งได้แก่เจตสิก เป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิต ดับพร้อมจิต แต่ไม่ใช่เป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์อย่างจิต ซึ่งเจตสิกนี้มีต่างประเภทออกไปแต่ละชนิด แต่ประเภท รวมทั้งสิ้นมี ๕๒ ประเภท หรือที่ทางธรรมใช้คำว่า ๕๒ ดวง

    วิตกเจตสิกเป็นเจตสิกประเภทหนึ่ง ซึ่งไม่มีมือที่จะไปยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ แต่ว่าเป็นปัจจัยที่เกิดพร้อมกับจิต จิตแต่ละดวงมีขณะย่อย คือ อนุขณะ ๓ อนุขณะ ได้แก่ ขณะที่เกิดขึ้นเป็นอุปาทขณะ ขณะที่ยังไม่ดับไปเป็นฐิติขณะ และขณะที่ดับเป็นภังคขณะ เจตสิกจะเป็นกี่ดวงก็ตามที่เป็นปัจจัยให้เกิดจิต จะเกิดพร้อมกับจิตใน อุปาทขณะ และดับไปพร้อมกับจิตในภังคขณะ เพราะฉะนั้น วิตกเจตสิกที่เกิดกับจิต มีลักษณะหรือมีกิจ คือ จรดในอารมณ์ที่จิตกำลังรู้ เพราะว่าจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้

    ถ. ยกขึ้นในอารมณ์ หมายความว่า วิตกเจตสิกยกจิตขึ้นใช่ไหม

    สุ. ไม่ใช่ จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ แต่วิตกเจตสิกเป็นสภาพธรรมที่จรดในอารมณ์ที่จิตกำลังรู้ เวทนาเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็เป็นสภาพธรรมที่รู้สึกในอารมณ์ เป็นสุข หรือเป็นทุกข์ในอารมณ์ สัญญาเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็กระทำกิจจำอารมณ์ หมายรู้ จดจำลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏ เจตนาเจตสิกก็เป็นสภาพธรรมที่ตั้งใจ หรือว่าขวนขวายในการกระทำกิจ

    ถ. มรรคองค์ต่อไป คือ สัมมาวาจา มีลักษณะถือเอา การถือก็ต้องใช้มือ วาจาคือปาก ถือกันอย่างไร

    สุ. ถือเอาฝ่ายกุศล ถือเอาธรรมที่เป็นกุศล และวิรัติธรรมที่เป็นอกุศล

    ถ. นั่นเป็นสัมมาวาจา ลักษณะของสัมมาวาจา ต่อไปสัมมากัมมันตะ มีลักษณะเป็นสมุฏฐาน สัมมากัมมันตะ มีลักษณะเป็นสมุฏฐานของกุศล หรือของอกุศล

    สุ. สัมมาต้องเป็นกุศลทั้งหมด

    ถ. หมายความว่า สัมมากัมมันตะ เป็นสมุฏฐานของฝ่ายกุศลเหมือนกัน

    สุ. การงานชอบ การกระทำทางกายชอบ วิรัติอกุศลทั้งหลายที่เกิดจากการกระทำทางกาย

    ถ. สัมมาอาชีวะ มีลักษณะผ่องแผ้ว ผ่องแผ้วในที่นี้หมายถึงจิตใช่ไหม

    สุ. บริสุทธิ์จากมิจฉาอาชีวะ มีอาชีพที่บริสุทธิ์

    ถ. มีอาชีพที่บริสุทธิ์ ไม่ใช่จิตหรือ มรรคต่อไปอีก ๓ องค์ ก็เหมือนกับโพชฌงค์

    สุ. โดยปรมัตถ์ สัมมาอาชีวะได้แก่เจตสิกปรมัตถ์ สัมมาวาจาได้แก่เจตสิกปรมัตถ์ สัมมากัมมันตะก็ได้แก่เจตสิกปรมัตถ์

    เพราะฉะนั้น ไม่มีเราเลย ขณะใดที่มีการวิรัติทุจริตทางกาย ในขณะที่ไม่เกี่ยวกับการอาชีพ ขณะนั้นก็คือ สัมมากัมมันตเจตสิกเกิดขึ้นกระทำกิจในขณะนั้น หรือขณะที่กำลังวิรัติมิจฉาวาจาก็ไม่ใช่เรา แต่ว่าเพราะสัมมาวาจาเกิดขึ้นจึงกระทำกิจวิรัติทุจริตที่เป็นวจีทุจริต

    ถ. สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ตามสติปัฏฐานบอกว่า เห็นอริยสัจ ๔ ใช่ไหม หลักมีเท่านี้ สัมมาสังกัปโป ความดำริชอบ ดำริที่จะออกจากกาม นี่ในใน สติปัฏฐาน

    สุ. เพราะฉะนั้น เวลาที่ศึกษาแล้ว ขอให้พิจารณาถึงอรรถ ความหมายของพยัญชนะนั้นๆ ด้วย เช่น สัมมาสังกัปปะที่ว่า ดำริชอบ โดยศัพท์ และอธิบายว่า คือการดำริออกจากกาม แต่อย่าลืม สัมมาสติจะต้องเกิดพร้อมกับมรรคองค์อื่นๆ เพราะการตรึก การนึก การคิด ซึ่งเป็นกิจของวิตกเจตสิก ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ถ้าไม่เจริญสติปัฏฐาน ก็อาจจะเข้าใจวิตกเจตสิกว่า เป็นแต่เพียงขณะใดที่มีการนึกคิด ถ้าเป็นกุศล ก็เป็นกุศลวิตก หรือถ้าเป็นฝ่ายอกุศล ก็เป็นอกุศลวิตก คือ นึกไปด้วยโลภะ ด้วยโทสะ ด้วยโมหะ แต่ถ้าเจริญสติปัฏฐานแล้ว จะเข้าใจลักษณะของ วิตกเจตสิกละเอียดขึ้น เช่น ในขณะนี้ยังไม่มีการคิดเป็นคำหรือเป็นเรื่องเลย แต่ว่าวิตกเจตสิกเกิดร่วมกับจิต หลังจากที่จักขุวิญญาณดับไปแล้ว

    เวลาที่จักขุวิญญาณเกิดขึ้นทำกิจเพียงเห็น จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ ดวง ไม่มีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ว่าเวลาที่จักขุวิญญาณ หรือโสตวิญญาณ จิตที่ได้ยินดับไป ฆานวิญญาณ จิตที่ได้กลิ่นดับไป ชิวหาวิญญาณ จิตที่ลิ้มรสดับไป กายวิญญาณ จิตที่รู้อารมณ์ที่กระทบทางกายดับไป วิตกเจตสิกเกิดกับสัมปฏิจฉันนจิตที่เกิดต่อจากปัญจวิญญาณทันที เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า การจรดในอารมณ์ หรือการตรึกในอารมณ์นี้ แม้ว่าจะไม่คิดเป็นเรื่อง ไม่คิดเป็นคำ วิตกเจตสิกก็กระทำกิจจรดในอารมณ์นั้นแล้ว เช่น ในขณะที่เห็นดอกกล้วยไม้ จักขุวิญญาณเห็น ดับไป สัมปฏิจฉันนะต้องมีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วยทันทีเพราะไม่ใช่จิตเห็น คือ เมื่อเห็นดับไปแล้ว จิตที่จะรับหรือรู้อารมณ์นั้นต่อจากจักขุวิญญาณย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าปราศจากวิตกเจตสิกซึ่งจรดในอารมณ์นั้น เพราะอารมณ์นั้นยังไม่ดับไป

    เพราะฉะนั้น ถ้าเพียงศึกษาว่า สัมมาสังกัปปะได้แก่ความดำริชอบ คือ ดำริออกจากกาม ดำริออกจากพยาปาท ดำริออกจากความเบียดเบียน ย่อมเป็นกุศลธรรมซึ่งเกิดกับมหากุศลจิต แต่ไม่ใช่มรรคมีองค์ ๘ ได้ เพราะไม่ได้เกิดร่วมกับสัมมาสติที่ระลึกได้ในอารมณ์ที่กำลังปรากฏ

    และในขณะที่สติระลึกลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏ ขณะนั้นจะดำริออกจากกามอย่างไร จะดำริออกจากพยาปาทอย่างไร จะดำริออกจากการเบียดเบียนอย่างไรถ้าเป็นมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งตามปกติมรรค ๕ องค์จะเกิดร่วมกัน ไม่ครบทั้ง ๘ องค์ คือ ขาดวิรตีเจตสิก ๓ ดวง ซึ่งได้แก่ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะเพราะฉะนั้น ในขณะที่สัมมาสติระลึกได้ สัมมาสังกัปปะที่จรดในอารมณ์นั้น กระทำกิจจรดในอารมณ์นั้นในขณะที่เป็นกุศล ในขณะที่เป็นสัมมาสติ ในขณะที่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ในขณะนั้นเอง คือ ออกจากกาม ออกจากพยาปาท ออกจากวิหิงสา คือ ความเบียดเบียน เพราะระลึกและจรดในอารมณ์ของสติปัฏฐาน

    แต่ถ้าไม่ใช่มรรคมีองค์ ๘ การดำริที่เป็นกุศล เช่น การให้ทาน การรักษาศีล ก็มีสัมมาสังกัปปะเกิดร่วมด้วย เพราะขณะนั้นวิตกตรึก ดำริออกจากกาม จึงมีการสละวัตถุให้เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ดำริออกจากพยาปาท จึงมีการรักษาศีล วิรัติทุจริต ดำริออกจากความเบียดเบียน แม้ความคิดทางใจที่จะเบียดเบียนก็ไม่มีในขณะที่กุศลจิตเกิด แต่เวลาที่เป็นมรรคมีองค์ ๘ สัมมาสังกัปปะ หรือวิตกเจตสิกนั้นจรดในอารมณ์ที่สติกำลังระลึกรู้ ในขณะนั้นก็คือออกจากกาม การออกจากพยาปาท และออกจากวิหิงสา แต่ไม่ใช่เป็นการนึกเป็นคำหรือเป็นเรื่อง

    ถ. สัมมาสังกัปปะ คือ การดำริออกจากกาม ฟังอย่างนี้คล้ายๆ กับว่าจะต้องคิด คิดเป็นเวลานาน

    สุ. เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานจะทำให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น แม้แต่สภาพของวิตกเจตสิกที่จรดในอารมณ์นั้นก็รู้ได้ ว่าไม่ใช่การคิดเป็นคำ หรือไม่ใช่เป็นการคิดว่า กำลังเห็นเป็นนามธรรม สีที่ปรากฏเป็นรูปธรรม ขณะนั้นก็เป็นวิตกเจตสิก แต่ไม่ใช่สัมมาสังกัปปะในมรรคมีองค์ ๘ เวลาที่กำลังระลึกรู้ลักษณะของเห็น และรูปารมณ์ สิ่งที่เพียงปรากฏทางตา ก่อนจะมีการตรึกถึงรูปร่างสัณฐาน

    เพราะฉะนั้น เวลาที่มีการตรึก หรือรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นอะไร นั่นก็แสดงว่า มีวิตกเจตสิกกระทำกิจตรึกในสัณฐานนั้นแล้ว เพราะฉะนั้น จึงมีการรู้ความต่างกันว่า รูปารมณ์จริงๆ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะยังไม่มีการตรึกถึงรูปร่างสัณฐาน จึงรู้ในลักษณะที่เป็นรูปารมณ์

    เวลานี้ถึงแม้ว่ารูปารมณ์ คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา กำลังปรากฏจริง แต่เพราะว่าหลงลืมสติจึงไม่มีการระลึกศึกษาที่จะรู้ความต่างกันว่า ขณะที่เห็น ไม่ใช่ขณะที่รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นอะไร เพราะที่จะรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นอะไรต้องมีการตรึกถึงรูปร่างสัณฐาน แต่ว่าสติเกิดแทนโมหะโดยระลึกได้และรู้ว่า ขณะนั้นหรือขณะนี้ที่กำลังเห็น เป็นเพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาเท่านั้น เอาความเป็นวัตถุ เอาความเป็นสิ่งของ เอาความเป็นตัวตนออกได้ เพราะรู้ว่า ถ้าไม่ตรึกถึงรูปร่างสัณฐานจะไม่มีอะไรเลยนอกจากสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่เพราะมีการตรึก คือ นึกถึงรูปร่างสัณฐาน จึงมีวัตถุมากมายหลายอย่าง เพราะความคิดนึก

    ถ. ขณะที่จักขุวิญญาณเกิดมีเจตสิกเกิดร่วม ๗ ดวง แต่ขณะที่มีสติระลึกรู้ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยต้องมีเพิ่มใช่ไหม

    สุ. ใช่ เพราะว่าคนละดวงกับจักขุวิญญาณ ต้องเป็นมหากุศลจิตที่ระลึก ไม่ใช่จักขุวิญญาณ

    ถ. ระลึกสภาพเห็น ขณะนั้นวิตกเจตสิกจรดลงสู่อารมณ์นั้น

    สุ. เกิดกับมหากุศลด้วย แต่เป็นวิตกที่ไม่ได้ตรึกถึงรูปร่างสัณฐานเพราะฉะนั้น ลักษณะของวิตกเจตสิก คือ การจรดในอารมณ์ มีตั้งแต่อย่างละเอียด จนถึงอย่างหยาบ

    ถ. ถ้าหากว่าไม่ได้จรดถึงรูปร่างสัณฐาน วิตกเจตสิกดวงที่ต่อจากจักขุวิญญาณ ก็เป็นการจรดลักษณะใช่หรือเปล่า

    สุ. แน่นอน ลักษณะของวิตกเจตสิกต้องจรดในอารมณ์ ผัสสะกระทบอารมณ์ไม่ใช่จรด จิตจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าปราศจากผัสสเจตสิก แต่ว่าผัสสเจตสิกเป็นนามธรรมที่กระทบอารมณ์ ไม่ใช่การจรดในอารมณ์

    เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงสภาพของจิตแต่ละดวงตามความเป็นจริงว่าประกอบด้วยเจตสิกอะไรบ้าง ตามที่เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดจิตประเภทนั้นๆ เช่น จักขุวิญญาณ มีผัสสเจตสิกแต่ไม่มีวิตกเจตสิก ขณะที่กำลังเห็นเป็นจักขุวิญญาณ มีผัสสะที่กระทบอารมณ์ กระทบรูปารมณ์ ผัสสะรู้อารมณ์โดยกระทบ จิตเห็นโดยเป็นประธานในการรู้ คือ เห็น เวทนารู้อารมณ์โดยรู้สึกเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ แต่ถ้าเกิดกับจักขุวิญญาณก็ต้องเป็นอุเบกขา จะเป็นอื่นไม่ได้

    ถ. หมายความว่า ถ้ามีการเห็นเกิดขึ้น และมีสติระลึกรู้สภาพเห็นนั้น หรือว่ามีเสียงเกิดขึ้น และระลึกรู้สภาพรู้เสียงนั้น นื่เป็นการเจริญสติปัฏฐาน และมีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    สุ. เป็นสัมมาสังกัปปะ คือ จรดในอารมณ์ที่สติระลึก หน้าที่ของวิตกเจตสิกที่เป็นมรรคมีองค์ ๘ นี้ คือ จรดในอารมณ์ที่เป็นสติปัฏฐานที่สติกำลังระลึกรู้ จึงเป็นองค์หนึ่งในมรรคมีองค์ ๘ ขาดสัมมาสังกัปปะ คือ การจรดในอารมณ์นั้นไม่ได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๗๗ ตอนที่ ๗๖๑ – ๗๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 45
    28 ธ.ค. 2564