แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 767


    ครั้งที่ ๗๖๗


    สุ. โดยการศึกษาทราบว่า มีโลภะมาก มีโลภะเป็นประจำ อะไรๆ ก็โลภะ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็เป็นโลภะ คือ ถ้าขณะนั้นลักษณะของโทสะหรือความไม่แช่มชื่นไม่มี ก็เป็นธรรมดาที่ว่าจะต้องเป็นสภาพของโลภะซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำ

    แต่จะรู้จริงๆ ในลักษณะของโลภะที่กำลังมีได้ไหม ไม่ได้ เพราะชินมาก ชินจนไม่รู้สึกเลยว่าขณะไหนเป็นโลภะ เพราะฉะนั้น ไม่สามารถที่จะประจักษ์แจ้งหรือว่าระลึกลักษณะของโลภะที่กำลังมีจนกว่าสติจะเกิดขึ้น ถ้าสติไม่เกิด โลภะจะรู้โลภะไม่ได้ อวิชชาจะรู้สภาพธรรมใดๆ ไม่ได้เลย

    และสติที่เกิดจะสามารถระลึกรู้ลักษณะของโลภะทันทีได้ไหม ยากใช่ไหม เพราะเป็นโลภะอย่างบาง อย่างเบา เวลาที่สติเกิดระลึกศึกษารู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใด เช่น ทางตาในขณะนี้ เมื่อระลึก ขณะนั้นไม่ใช่โลภะที่กำลังระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่งเมื่อระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมจนชิน จนทั่ว จึงสามารถที่จะรู้ลักษณะของแม้โลภะอย่างบาง อย่างเบาที่กำลังมีตามปกติได้ โดยไม่ใช่การเดา หรือไม่ใช่อนุมานว่ามีโลภะ

    เวลานี้มีโลภะ แต่ยังบอกไม่ได้ว่า โลภะนั้นมีลักษณะอย่างไร และอะไรกำลังเป็นอารมณ์ของโลภะ จนกว่าสติจะมั่นคงขึ้น และรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั่วขึ้น

    สำหรับพุทธานุสสติ ถึงแม้ว่าจะเป็นพระอริยเจ้าจำพวกเดียวเท่านั้นที่สามารถจะสงบจนกระทั่งถึงอุปจารสมาธิได้ แต่ก็ไม่มีนิมิต ยิ่งยากไหม เพราะในสมถภาวนาทั้งหมด ๔๐ อารมณ์นั้น ไม่ใช่ว่าทุกอารมณ์จะมีนิมิตเป็นเครื่องหมายของสมาธิ

    สำหรับอุปจารสมาธิ จากตัวอย่างของการอบรมเจริญปฐวีกสิณ จะเห็นได้ว่า จะมีการเพ่งมองดูกสิณ หลับตา ลืมตา ด้วยความแน่วแน่จนกว่าจะเกิดอุคคหนิมิต ซึ่งเป็นนิมิตที่ปรากฏติดตาแม้ว่าไม่มองดูก็ยังเห็น แม้ขณะนั้นก็ยังไม่ใช่อุปจาระ เพราะฉะนั้น การที่จะระลึกถึงพระพุทธคุณจนกระทั่งจิตสงบโดยไม่มีนิมิตและถึง อุปจาระจะยากสักแค่ไหน ซึ่งสำหรับผู้ที่เป็นปุถุชน ยังไม่ใช่พระอริยะ ก็ไม่มีวันที่จะถึงอุปจารสมาธิ เพราะไม่สามารถที่จะประจักษ์ดื่มด่ำลึกซึ้งในพระพุทธคุณเช่นพระอริยเจ้าทั้งหลายได้ แต่แม้กระนั้นก็ควรเจริญ เพราะจิตสงบ เมื่อระลึกถึงพระพุทธคุณ

    แต่ต้องมีปัญญาที่จะรู้ลักษณะของความสงบจริงๆ ไม่ใช่ว่าเพียงแต่กราบไหว้ ยิ่งถ้าเป็นผู้ที่ยังมีกิเลสอย่างมาก ก็อาจจะหวังผล มุ่งผลต่างๆ ซึ่งเกิดจากกุศลที่มีการกราบไหว้พระพุทธรูปนอบน้อมระลึกถึงพระพุทธคุณ เป็นต้น แต่ว่าผู้ที่อบรมเจริญปัญญาที่เป็นความสงบจริงๆ ไม่ใช่อย่างนั้น จะต้องเป็นผู้ที่สามารถมีสติสัมปชัญญะสงบพร้อมด้วยปัญญา โดยรู้ลักษณะของจิตที่สงบขึ้น

    สำหรับการอบรมเจริญสมถภาวนาโดยนัยของพุทธานุสสติ ไม่มีนิมิต เพราะฉะนั้น ถ้าใครจะทำสมาธิ และเห็นพระพุทธรูป ขณะนั้นรู้ได้ว่า จิตไม่สงบ เพราะเวลาเห็นแล้วเป็นอย่างไร รู้สภาพของจิตในขณะที่เห็นไหมว่าเป็นอย่างไร

    เวลานี้ไม่ใช่นิมิต เห็นจริงๆ จิตเป็นอย่างไร ปัญญาต้องรู้ได้ สงบหรือไม่สงบ ดีใจเป็นอะไร โลภะ ไม่ใช่ลักษณะของความสงบ

    ท่านผู้ฟังคงเคยได้ทราบว่า ถ้ามีเหตุการณ์ หรือว่ามีอันตราย มีความกลัว มีความขนพองสยองเกล้า มีความตกใจเกิดขึ้น ให้ระลึกถึงพระรัตนตรัย แต่สงบจริงหรือเปล่า หรือว่าระลึกถึงเพียงเพื่อที่จะให้อันตรายนั้นหมดสิ้นไปเท่านั้นเอง โดยที่ว่าในขณะนั้นสงบหรือเปล่า

    การอบรมเจริญสมถภาวนา โดยนัยของการระลึกถึงพระพุทธคุณ จุดประสงค์คือ บรรเทาไม่ให้อกุศลธรรมเกิดขึ้น เพราะสงบเมื่อระลึกถึงพระพุทธคุณ เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังลองคิดดูถึงเวลาที่กิเลสมีกำลัง และก็เป็นไปในทางโลก แม้แต่การที่จะกราบไหว้พระพุทธรูป ก็เป็นการกระทำเพื่อผลอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ให้พ้นจากอันตราย เป็นต้น แต่ขณะนั้นไม่ใช่การให้จิตสงบเป็นกุศล ซึ่งต่างกัน

    ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ธชัคคสูตรที่ ๓ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกมหาเศรษฐี

    ข้อ ๘๖๕ มีข้อความว่า

    พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ส่วนเราแลกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย หากความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี พึงบังเกิดแก่พวกเธอ ผู้ไปในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนที่ว่างเปล่าก็ดี ทีนั้นพวกเธอพึงตามระลึกถึงเรานี้แหละว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว เป็นผู้รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นจะยิ่งไปกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ดังนี้

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะว่าเมื่อพวกเธอตามระลึกถึงเราอยู่ ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดีที่จักมีขึ้น ก็จักหายไป

    ต้องเข้าใจการระลึกถึงพระพุทธคุณจนสามารถที่จะสงบทันทีที่ระลึกด้วย เวลาที่มีอันตรายเกิดขึ้น มีความกลัว มีความตกใจ มีความขนพองสยองเกล้า ถ้าเคยคิดถึงพระรัตนตรัยด้วยความต้องการที่จะให้พ้นอันตรายนั้นไป ขณะนั้นจิตสงบไหม ลองคิดดู ขณะนั้นไม่ใช่สมถภาวนา

    แต่ถ้าเป็นผู้ที่ระลึกถึงพระพุทธคุณจริงๆ สงบจริงๆ จิตที่สงบกับจิตที่ไม่สงบ จิตไหนจะดีกว่ากัน แม้ในขณะที่กำลังมีอันตราย หรือมีความกลัว มีเหตุการณ์ที่ทำให้ขนพองสยองเกล้า และสงบในขณะนั้น ย่อมดีกว่าจิตที่ไม่สงบ

    เพราะฉะนั้น การระลึกถึงพระรัตนตรัยเวลาที่เผชิญกับอันตรายต่างๆ อย่าลืมว่า เพื่อให้กุศลจิตเกิดและสงบ เมื่อสงบแล้ว ไม่หวั่นไหว ไม่ว่าภัยอันตรายนั้นๆ จะเกิดขึ้นเฉพาะหน้า ก็เป็นผู้ที่ไม่หวั่นไหว เพราะระลึกถึงกรรม ระลึกถึงกุศล ระลึกถึงพระคุณที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดง และได้ประพฤติปฏิบัติตาม เมื่อระลึกอย่างนี้ ไม่ว่าอันตรายนั้นจะน่ากลัว น่าขนพองสยองเกล้าสักเท่าไร จิตก็สงบได้ แต่ไม่ใช่ให้ระลึกเพียงเพื่อที่จะให้อันตรายนั้นผ่านไป ซึ่งจิตในขณะนั้นไม่สงบเลย เคยเป็นอย่างนี้ไหม บ่อย ก็ไม่ใช่สมถภาวนา เพราะฉะนั้น เปลี่ยนได้ สำหรับการระลึกถึง พระรัตนตรัย หรือพระพุทธคุณ อย่าลืมว่า เพื่อให้กุศลจิตเกิดและสงบ

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    หากพวกเธอไม่ตามระลึกถึงเรา ทีนั้นพวกเธอพึงตามระลึกถึงพระธรรมว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว บุคคลพึงเห็นได้เอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดูได้ ควรน้อมเข้าไปในตน อันวิญญูชนพึงรู้แจ้งได้เฉพาะตน ดังนี้

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะว่าเมื่อพวกเธอตามระลึกถึงพระธรรมอยู่ ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดีที่จักมีขึ้น ก็จักหายไป

    แล้วแต่อัธยาศัย พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า ไม่ใช่ว่าทุกคนจะระลึกถึง พระพุทธคุณทุกครั้ง บางครั้งก็ระลึกถึงพระธรรมคุณ แล้วแต่โอกาสว่า เมื่อไม่ระลึกถึงพระพุทธคุณ ก็ระลึกถึงพระธรรมคุณ

    แต่พระธรรมคุณนี้ไม่ใช่ธรรมดา เป็นโลกุตตรธรรม ซึ่งยากสำหรับผู้ที่ไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมที่จะระลึกถึง และที่จะมีโลกุตตรจิต โลกุตตรธรรม ก็ต้องเป็นผู้ที่มีปริยัติธรรม คือ การศึกษา การฟังพระธรรมจนกระทั่งมีความเข้าใจและประพฤติปฏิบัติตาม อบรมเจริญสติปัฏฐาน เจริญปัญญา จนกระทั่งเข้าใกล้การที่จะบรรลุอริยสัจธรรม จะทำให้ระลึกถึงคุณของพระธรรมได้มั่นคงขึ้น และสงบขึ้น

    ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า เวลาที่ไม่ได้ฟังธรรมบ่อยๆ หรือว่าขาดการฟัง หรือว่าขาดการเจริญกุศลธรรม หรือว่าขาดการเจริญธรรมซึ่งเป็นการปฏิบัติธรรม ได้แก่ การเจริญสติปัฏฐาน จะไม่ค่อยได้ระลึกถึงพระธรรมคุณใช่ไหม แต่ถ้าได้ฟังบ่อยๆ และ ไม่ลืม และประพฤติปฏิบัติตามด้วย ก็ยิ่งเห็นคุณของพระธรรม ซึ่งเป็นการอุปการะแก่สติที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม เป็นการอุปการะแก่การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม เป็นโลกุตตรธรรม

    ถ. อาจารย์ช่วยอธิบายที่ว่า พระธรรมอันผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นเอง เรียกให้มาดูได้ ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนจะพึงรู้เฉพาะตน

    สุ. พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ เช่น โพธิปักขิยธรรม คือ ธรรมที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ได้แก่ สติปัฏฐาน ซึ่งเป็นการเจริญมรรคมีองค์ ๘ ไม่ใช่อยู่ที่อื่นเลย น้อมเข้ามาในตน น้อมสติ น้อมศรัทธา น้อมวิริยะ น้อมธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศล ที่จะทำให้รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ถ. เรียกให้มาดู คืออะไร

    สุ. ดูสิ่งที่มีจริง คือ อริยสัจธรรม ทุกข์เป็นสิ่งที่มีจริง ถ้าของที่ไม่มีจริง กำมือไว้ก็เป็นกำมือเปล่า เรียกคนอื่นให้มาดู ก็ย่อมไม่เห็นอะไร เพราะเป็นกำมือเปล่า แต่ว่าอริยสัจธรรมไม่ใช่กำมือเปล่า เป็นสิ่งที่มีจริง หมายความว่าใครก็สามารถที่จะประพฤติปฏิบัติพิสูจน์ธรรมที่มีจริงนั้นได้ เข้ามาดูได้ คือ ดูธรรมที่กำลังเป็นจริงอย่างนั้น และก็น้อมเข้ามาในตน ไม่ว่าจะเป็นสติ จะเป็นวิริยะ จะเป็นปัญญา จะเป็นมรรคมีองค์ ๘ จะเป็นสติปัฏฐาน ไม่ใช่มอบให้บุคคลอื่น แต่ว่าน้อมเข้ามาในตน ให้เจริญขึ้น ให้เกิดมีขึ้นกับตน

    ถ. ไม่ประกอบด้วยกาล

    สุ. ไม่ประกอบด้วยกาล หมายความถึงโลกุตตรมรรคจิต ซึ่งให้ผลทันทีที่ดับไป ทำให้โลกุตตรผลจิตเกิดขึ้น

    ถ. ผมคิดว่าไม่ประกอบด้วยกาล คือ พิจารณาได้ทุกเมื่อ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็มีอยู่ทุกๆ ขณะอย่างนี้

    สุ. แต่ความหมายโดยตรง หมายความถึงโสตาปัตติมรรคจิต ที่ให้ผลโดยไม่ต้องรอกาลเวลา เพราะคำว่า อกาลิโก ในที่นี้หมายถึงการให้ผลโดยไม่มีระหว่างคั่น โดยไม่ต้องรอคอย ไม่ต้องคอยภพหน้า ชาติหน้า หรือชาติต่อไป

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    หากพวกเธอไม่ตามระลึกถึงพระธรรม ทีนั้นพวกเธอพึงตามระลึกถึงพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติตรง เป็นผู้ปฏิบัติเป็นธรรม เป็นผู้ปฏิบัติชอบยิ่ง พระสงฆ์นั้นคือใคร ได้แก่คู่แห่งบุรุษ ๔ รวมเป็นบุรุษบุคคล ๘ นี่คือพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา เป็นผู้ควรแก่ของต้อนรับ เป็นผู้ควรแก่ทักขิณา เป็นผู้ควรแก่การทำอัญชลี เป็นบุญเขตของโลก ไม่มีบุญเขตอื่นยิ่งไปกว่า เพราะว่าเมื่อพวกเธอตามระลึกถึงพระสงฆ์อยู่ ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดีที่จักมีขึ้น ก็จักหายไป ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุแห่งอะไร เพราะว่าพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ปราศจากราคะ ปราศจากโทสะ ปราศจากโมหะ ไม่เป็นผู้กลัว ไม่หวาด ไม่สะดุ้ง ไม่หนีไป ฯ

    พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี พึงระลึกถึงพระสัมพุทธเจ้าเถิด ความกลัวไม่พึงมีแก่เธอทั้งหลาย ถ้าว่าเธอทั้งหลายไม่พึงระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้เจริญที่สุดในโลก ผู้องอาจกว่านรชน ทีนั้นเธอทั้งหลายพึงระลึกถึงพระธรรมอันนำออกจากทุกข์ อันพระพุทธเจ้าทรงแสดงดีแล้ว ถ้าเธอทั้งหลายไม่พึงระลึกถึงพระธรรมอันนำออกจากทุกข์ อันพระพุทธเจ้าทรงแสดงดีแล้ว ทีนั้นเธอทั้งหลายพึงระลึกถึงพระสงฆ์ผู้เป็นบุญเขต ไม่มีบุญเขตอื่นยิ่งไปกว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอทั้งหลายระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์อยู่ ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี จักไม่มีเลย ฯ

    เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้แทนที่จะระลึกถึงพระรัตนตรัยเพื่อที่จะให้พ้นภัย ก็ขอให้ระลึกและจิตสงบเป็นกุศล เพราะว่าในขณะที่ต้องการให้พ้นภัย ขณะนั้นจิตไม่สงบ ไม่เป็นกุศล ไม่มีประโยชน์ ระลึกแล้วไม่เป็นกุศลก็ไม่มีประโยชน์อะไร มีไหมการระลึกถึงแล้วไม่เป็นกุศล ถ้ามี ก็ต้องเปลี่ยน

    ปัญญาที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง คือ รู้ว่าระลึกอย่างไรเป็นสมถะ เป็นความสงบ เป็นการอบรมเจริญกุศลยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะระลึกให้เป็นกุศล ไม่ใช่ให้เป็นอกุศล

    การที่จะให้จิตสงบจนกระทั่งถึงอุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธินั้น ยาก ไม่ใช่ของง่าย ไม่ใช่ว่าใครก็ตามที่จะทำสมาธิให้จิตสงบ จะต้องถึงอุปจาระ หรืออัปปนา

    ข้อความใน อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ภัพพสูตร ได้แสดงลักษณะของบุคคล ทั้งผู้ที่สามารถจะบรรลุธรรมได้ และไม่สามารถที่จะบรรลุธรรมได้ว่า มีอุปสรรค มีเครื่องขัดขวางหลายประการ

    ข้อความใน ภัพพสูตร ข้อ ๓๕๗ มีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ แม้ฟังสัทธรรมอยู่ ก็เป็นผู้ไม่ควรเพื่อก้าวลงสู่ความแน่นอน ความเป็นชอบในกุศลธรรมทั้งหลาย ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน คือ เป็นผู้ประกอบด้วยความเป็นผู้มีกรรมเป็นเครื่องกั้น ๑ ประกอบด้วยความเป็นผู้มีกิเลสเป็นเครื่องกั้น ๑ ประกอบด้วยความเป็นผู้มีวิบากเป็นเครื่องกั้น ๑ เป็นผู้ไม่มีศรัทธา ๑ ไม่มีฉันทะ ๑ และมีปัญญาทราม ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล แม้ฟังสัทธรรมอยู่ ก็เป็นผู้ไม่ควรเพื่อก้าวลงสู่ความแน่นอน ความเป็นชอบในกุศลธรรมทั้งหลาย ฯ

    บางท่านฟังธรรมแล้ว แต่ก็ไม่เข้าใจ ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ ในขณะที่บุคคลอื่นนอกจากจะเข้าใจแล้ว ยังเกิดปัญญาจนกระทั่งสามารถที่จะก้าวลงสู่ความแน่นอน คือ การรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ นี่เป็นความต่างกันของการสะสมของกุศลธรรมและอกุศลธรรม

    สำหรับผู้ที่มีกรรมเป็นเครื่องกั้น ข้อความใน อาวรณตาสูตร มีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ ประการ แม้ฟังสัทธรรมอยู่ ก็เป็นผู้ไม่ควรเพื่อก้าวลงสู่ความแน่นอน ความเป็นชอบในกุศลธรรมทั้งหลาย ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน คือ เป็นผู้ฆ่ามารดา ๑ ฆ่าบิดา ๑ ฆ่าพระอรหันต์ ๑ ยังพระโลหิตของพระตถาคตให้ห้อขึ้นด้วยจิตประทุษร้าย ๑ เป็นผู้ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน ๑ และเป็นผู้มีปัญญาทราม ใบ้ บ้าน้ำลาย ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๖ ประการนี้แล แม้ฟังสัทธรรมอยู่ ก็เป็นผู้ไม่ควรเพื่อก้าวลงสู่ความแน่นอน ความเป็นชอบในกุศลธรรมทั้งหลาย ฯ

    คงจะมีน้อยท่านซึ่งได้กระทำกรรมซึ่งเป็นเครื่องกั้น ได้แก่ เป็นผู้ฆ่ามารดา ๑ ฆ่าบิดา ๑ ฆ่าพระอรหันต์ ๑ ยังพระโลหิตของพระตถาคตให้ห้อขึ้นด้วยจิตประทุษร้าย ๑ เป็นผู้ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน ๑ แต่อาจจะเป็นผู้ที่ประกอบด้วยกิเลสอย่างแรง หรือว่าประกอบด้วยวิบาก คือ กระทำกรรมซึ่งไม่ประกอบด้วยปัญญา และกรรมนั้นเป็นเหตุให้ปฏิสนธิในสุคติภูมิ คือ เป็นมนุษย์ก็จริงแต่ปฏิสนธิจิตนั้นไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม หรือเจริญสมถภาวนาจนกระทั่งถึงอัปปนาสมาธิที่เป็นฌานจิตได้

    เพราะฉะนั้น การบรรลุมรรคผลก็ดี หรือว่าการเจริญความสงบจนกระทั่งถึงฌานจิต ก็เป็นสิ่งซึ่งไม่ใช่ว่าทุกคนสามารถจะกระทำได้ แล้วแต่ว่าแต่ละบุคคลมีเหตุปัจจัยสะสมมาอย่างไร



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๗๗ ตอนที่ ๗๖๑ – ๗๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 45
    28 ธ.ค. 2564