แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 743


    ครั้งที่ ๗๔๓


    สุ. เพราะฉะนั้น กว่าจะหมดการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน จะแสนนานสักเท่าไร เพราะว่าสภาพธรรมแต่ละขณะเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเหลือเกิน

    กำลังเห็น ได้ยินแล้ว เร็วแค่ไหนจากเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏไปสู่การรู้เสียงที่กำลังปรากฏ และยังมีการคิดนึก มีเจตสิกธรรมทั้งที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง เกิดสลับกันอย่างรวดเร็วเหลือเกิน และสติปัฏฐานจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพียงบางนามบางรูป และเพียงบางครั้งเท่านั้น ซึ่งนามรูปก็แสนจะวิจิตรตามเหตุตามปัจจัย แต่ละวัน แต่ละขณะ และปัญญาก็ต้องคมกล้าที่จะระลึก ศึกษา รู้ทันทีตรงตามลักษณะของสภาพธรรม ไม่ว่าสภาพธรรมนั้นจะเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยอย่างไร เป็นทุกข์แสนสาหัส หรือว่าเป็นสุขเสียเหลือเกิน มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การรู้เรื่องราวแสนวิจิตรสักเท่าไร ปัญญาก็จะต้องสามารถรู้ในลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้ตรงตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเลยสักอย่างเดียว

    ผู้ฟัง ขณะที่เกิดความโกรธ ไม่อยากจะโกรธ แต่โกรธก็ยังไม่หาย ก็มีสติระลึกรู้โกรธ แต่บางครั้งก็ระลึกถึงความสงบที่อยากจะให้จิตใจนั้นสงบ แต่ก็ยังไม่สงบเพราะความโกรธยังมีอยู่ ก็เจริญสติไป รู้สึกว่าเป็นการต่อสู้อย่างยิ่งในชีวิต คือ เพียรสู้กับกิเลสด้วยการเจริญสติระลึกรู้สภาพจิตที่ปรากฏ ซึ่งจะแก้ไขให้เป็นไปตามที่ต้องการไม่ได้เลย

    สุ. เพราะฉะนั้น กว่าจะสงบจริงพร้อมปัญญา เพราะรู้ทั่ว อย่าลืม ต้อง รู้ทั่ว รอบรู้ในลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างจนชิน นั่นจึงจะเป็นความสงบจริง

    ถ. ที่อาจารย์กล่าวว่า สมถะก็ดี วิปัสสนาก็ดี ไม่ใช่การปฏิบัติที่แยกกันเลย เหมือนกับว่าควบคู่กันไปอย่างนี้

    สุ. สำหรับผู้ที่เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐานแล้ว

    ผู้ฟัง แต่ยังมีคนที่เข้าใจไขว้เขวเป็นจำนวนมากเพราะฟังมาว่า สมาธิเป็นบาทของวิปัสสนา ก็มีความเข้าใจว่า การเริ่มต้นเจริญปัญญาจะต้องเจริญสมาธิถึงขั้นจิตสงบก่อน ก็หาโอกาสที่จะเจริญสมถะจนกระทั่งจิตสงบ จากนั้นจึงเริ่มลงมือเจริญปัญญาต่อไป

    สุ. ข้อสำคัญ อย่าข้ามการพิจารณาธรรม ที่ฟังมาว่า จะต้องทำจิตให้เป็นสมาธิเสียก่อนเพื่อให้เป็นบาทของวิปัสสนา ก็จะต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ เหตุกับผลจึงจะตรงกัน เพราะฉะนั้น ถ้ามีท่านผู้ใดกล่าวว่า จะต้องให้จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิเสียก่อนเพื่อที่จะให้เป็นบาทของวิปัสสนา ก็ใคร่ที่จะได้ความเข้าใจเพิ่มเติมว่า ทำอย่างไรที่จะให้สมาธิเป็นบาทของวิปัสสนา สมาธิอะไร และทำอย่างไร

    ต้องพิจารณาให้ละเอียด ถ้าใครกล่าวอย่างนั้น ก็ต้องถามว่า สมาธิอะไร สมาธินั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร เพื่อที่จะได้พิจารณาว่า เป็นอกุศลสมาธิ หรือเป็นมิจฉาสมาธิ เพราะถ้าเป็นอกุศลสมาธิก็เป็นมิจฉาสมาธิ จะเป็นบาทของวิปัสสนาได้อย่างไร การปฏิบัติธรรมไม่ผิดไปจากชีวิตประจำวันเลย แล้วแต่แต่ละท่านว่า จะมีเหตุปัจจัยให้ธรรมประเภทใดเกิดขึ้น

    ใน อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต มหานามสูตรที่ ๒ ข้อ ๒๑๙ เป็นเรื่องของอนุสสติ ๖ ซึ่งจะเห็นได้ว่า การอบรมเจริญความสงบซึ่งเป็นสมถภาวนาในชีวิตประจำวันสำหรับคฤหัสถ์ทั่วๆ ไปนั้นคืออย่างไร

    ข้อความมีว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธารามใกล้พระนครกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ก็สมัยนั้นแล เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ ทรงหายจากประชวร คือ หายจากภาวะที่ประชวรไม่นาน ก็สมัยนั้น ภิกษุเป็นอันมากกระทำจีวรกรรมเพื่อพระผู้มีพระภาค ด้วยหวังว่า พระผู้มีพระภาคผู้มีจีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จจาริกโดยกาลล่วงไป ๓ เดือน

    เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ ได้ทรงสดับข่าวว่า ภิกษุเป็นอันมากกระทำจีวรกรรมเพื่อพระผู้มีพระภาค ด้วยหวังว่า พระผู้มีพระภาคผู้มีจีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จจาริกโดยกาลล่วงไป ๓ เดือน ครั้งนั้นแล เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันได้ทราบข่าวมาดังนี้ว่า ภิกษุเป็นอันมากกระทำจีวรกรรมเพื่อพระผู้มีพระภาค ด้วยหวังว่า พระผู้มีพระภาคผู้มีจีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จจาริกโดยกาลล่วงไป ๓ เดือน ดังนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันผู้อยู่ด้วยธรรมเครื่องอยู่ต่างๆ พึงอยู่ด้วยธรรมเครื่องอยู่อะไร พระเจ้าข้า ฯ

    พระผู้มีพระภาคยังไม่ได้ปรินิพพาน เพราะฉะนั้น บรรดาผู้ที่มีความสงสัยก็มีโอกาสที่จะได้ไปเฝ้า และกราบทูลถามถึงข้อสงสัยด้วยตนเองว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จไปแล้ว ตนซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ด้วยธรรมเครื่องอยู่ต่างๆ นั้น พึงอยู่ด้วยธรรมเครื่องอยู่อะไร ซึ่งทุกท่านก็น่าจะคิดใช่ไหมว่า ทุกท่านจะอยู่ด้วยธรรมอะไรในชีวิตประจำวัน

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดีละๆ มหาบพิตร การที่มหาบพิตรเสด็จเข้ามาหาตถาคตแล้วตรัสถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันผู้อยู่ด้วยธรรมเครื่องอยู่ต่างๆ พึงอยู่ด้วยธรรมเครื่องอยู่อะไร ดังนี้ เป็นการสมควรแก่มหาบพิตรผู้เป็นกุลบุตร

    ดูกร มหาบพิตร กุลบุตรผู้มีศรัทธาย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้ไม่มีศรัทธาย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์ ผู้ปรารภความเพียรย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้เกียจคร้านย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มีสติตั้งมั่นย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มีสติหลงลืมย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มีจิตตั้งมั่นย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้ไม่มีจิตตั้งมั่นย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มีปัญญาย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มีปัญญาทรามย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์

    ดูกร มหาบพิตร มหาบพิตรทรงตั้งอยู่ในธรรม ๕ ประการนี้แล้ว พึงเจริญธรรม ๖ ประการให้ยิ่งขึ้นไป

    ดูกร มหาบพิตร ในธรรม ๖ ประการนี้ พึงทรงระลึกถึงพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม และพระคุณธรรมข้ออื่นๆ ต่อไป

    ดูกร มหาบพิตร สมัยใดอริยสาวกระลึกถึงพระตถาคต สมัยนั้นจิตของ อริยสาวกนั้นย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม สมัยนั้นจิตของอริยสาวกนั้นย่อมดำเนินไปตรง ดูกร มหาบพิตร อริยสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรงเพราะปรารภพระตถาคต ย่อมได้ความรู้อรรถ คือ ผลหรือวิบาก ย่อมได้ความรู้ธรรม คือ เหตุหรือกรรม ย่อมได้ความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม ปีติย่อมเกิดแก่อริยสาวกผู้มีความปราโมทย์ กายของอริยสาวกผู้มีใจประกอบด้วยปีติย่อมสงบ อริยสาวกผู้มีกายสงบแล้วย่อมเสวยสุข จิตของอริยสาวกผู้มีสุขย่อมตั้งมั่น

    ดูกร มหาบพิตร มหาบพิตรพึงเสด็จดำเนินเจริญก็ได้ พึงประทับยืนเจริญก็ได้ พึงประทับนั่งเจริญก็ได้ พึงบรรทมเจริญก็ได้ พึงทรงประกอบการงานเจริญก็ได้ พึงประทับบนที่นอนอันเบียดเสียดด้วยพระโอรสและพระธิดาเจริญก็ได้ ซึ่งพุทธานุสสตินี้แล ฯ

    เป็นธรรมทุกขณะ อย่าลืม ไม่มีขณะไหนเลยที่ไม่ใช่ธรรม หลายท่านอยากจะพบธรรม อยากจะเห็นธรรม แสวงหาธรรม แต่ว่าธรรมกำลังมีอยู่ในขณะนี้ กำลังปรากฏทุกหนทุกแห่ง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ที่บ้าน ที่นั่น ที่นี่ ที่โน้น ทุกหนทุกแห่ง เป็นสภาพธรรมทั้งหมด เพราะฉะนั้น ไม่ต้องแสวงหาธรรม เพราะธรรมกำลังปรากฏอยู่แล้ว จะรู้ธรรม ก็รู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริง จะเห็นธรรม จะเข้าใจธรรม ก็ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าที่ไหน ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสกับเจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะว่า มหาบพิตรพึงเสด็จดำเนินเจริญก็ได้ พึงประทับยืนเจริญก็ได้ พึงประทับนั่งเจริญก็ได้ พึงบรรทมเจริญก็ได้ พึงทรงประกอบการงานเจริญก็ได้ พึงประทับบนที่นอนอันเบียดเสียดด้วยพระโอรสและพระธิดาเจริญก็ได้ ซึ่งพุทธานุสสตินี้แล ฯ

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพรภาคทรงแสดงธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ ศีลานุสสติ จาคานุสสติ เทวตานุสสติ โดยนัยเดียวกัน

    และข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสกับเจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะว่า ดูกร มหาบพิตร สมัยใดอริยสาวกระลึกถึงตถาคต สมัยนั้นจิตของพระอริยสาวกย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม สมัยนั้นจิตของอริยสาวกนั้นย่อมดำเนินไปตรง ไม่ได้หมายความว่า โลภะไม่เกิดเลยในชีวิตประจำวันของ พระอริยสาวก หรือผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่ได้หมายความว่า โทสะไม่เกิดเลย โมหะไม่เกิดเลย มีเหตุปัจจัยของโลภะ โลภะก็เกิด แต่ว่าไม่กลุ้มรุม เพราะสติสามารถที่จะทำให้เป็นผู้ที่มีจิตดำเนินไปตรง เพราะปรารภพระตถาคต

    ในวันหนึ่งๆ ท่านผู้ฟังมีการระลึกนึกถึงพระผู้มีพระภาคบ้างไหม ซึ่งในขณะนั้น ไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม เป็นผู้ที่มีจิตดำเนินไปตรงเพราะปรารภพระตถาคต

    ผู้ฟัง ธรรมเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ที่สุด แต่ก่อนนี้ถ้าหากบอกให้ระลึกถึง พระตถาคต ก็คงนึกถึงพระที่ปั้นไว้ ระลึกถึงรูปร่างสัณฐาน

    สุ. ขอให้ท่านผู้ฟังทุกท่านพิจารณาชีวิตในวันหนึ่งๆ ว่า ท่านระลึกถึง พระตถาคตบ้างหรือเปล่า ในขณะไหน อย่างไร เวลาที่อกุศลจิตเกิดขึ้น รู้ในสภาพที่เป็นอกุศล และรู้ว่าสภาพที่เป็นกุศลตรงกันข้ามและเป็นสิ่งที่ควรเจริญ

    ที่จะเข้าใจธรรมในขณะนั้นได้ ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง จะระลึกถึงพระตถาคตได้ไหม เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวัน ใครที่ไม่เคยคิดถึงความกตัญญูกตเวที แต่ว่าเมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว มีปัจจัยที่จะให้เป็นบุคคลผู้มีความกตัญญูกตเวทีเพิ่มขึ้นก็จะทราบได้ว่า มีอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้กุศลนั้นๆ เกิดเพิ่มขึ้น ถ้าไม่ได้มีการฟังพระธรรมเลย กุศลทั้งหลายก็ไม่เจริญขึ้น เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ได้ฟังย่อมเกื้อกูลกับกุศลทุกประการ ทั้งเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ความกตัญญูกตเวที ความไม่พยาบาท ความเห็นโทษของกิเลสอกุศลธรรมทั้งหลาย

    เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นๆ ที่กุศลจิตกำลังเกิดแทนอกุศล ผู้นั้นระลึกถึง พระตถาคตได้ เป็นพุทธานุสสติ

    สำหรับที่ว่า สมาธิจะเป็นบาทของวิปัสสนา ข้อความที่ท่านผู้ฟังควรจะพิจารณาที่พระผู้มีพระภาคตรัสกับเจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ ก็คือ อริยสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรงเพราะปรารภพระตถาคต ย่อมได้ความรู้อรรถ ย่อมได้ความรู้ธรรม

    โดยทั่วไป อรรถ หมายความถึงผล ธรรม หมายความถึงเหตุ

    ในชีวิตประจำวัน มีผลเกิดขึ้นปรากฏอยู่เสมอ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ถ้าไม่มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม จะรู้ได้ไหมว่า ขณะนี้เป็นผลหรือเป็นเหตุ แต่ว่าเมื่อได้ศึกษาพระธรรมแล้วย่อมรู้ว่า ขณะใดเป็นผลของเหตุที่ได้กระทำไว้แล้วในอดีต การเห็นก็ดี การได้ยินก็ดี การได้กลิ่นก็ดี การลิ้มรสก็ดี เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่ระลึกถึงพระผู้มีพระภาค มีจิตดำเนินไปตรงเพราะปรารภ พระตถาคต ย่อมได้ความรู้อรรถ คือ รู้ผลของกรรมของตนเองที่ได้กระทำไว้อันเป็นเหตุให้วิบาก คือ ผล กำลังปรากฏในชีวิตประจำวัน ในเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น

    การรู้ว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลของกรรม คือ การรู้อรรถ

    ย่อมได้ความรู้ธรรม คือ รู้กุศลและอกุศลที่กำลังเป็นไปในวันหนึ่งๆ ว่า เป็นเหตุที่จะให้เกิดกุศลวิบากหรืออกุศลวิบากข้างหน้าในอนาคต

    เมื่อระลึกรู้อย่างนี้ อกุศลก็ย่อมบรรเทาเบาบาง ย่อมได้ความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม ขณะใดที่ปัญญาเกิดขึ้นรู้สัจจะ หรือสภาพธรรมตามความเป็นจริง รู้เหตุว่าเป็นเหตุ รู้ผลว่าเป็นผล ย่อมเบาบางจากอกุศล ย่อมได้ความปราโมทย์ อันประกอบด้วยธรรม ปีติย่อมเกิดแก่อริยสาวกผู้มีความปราโมทย์ กายของอริยสาวกผู้มีใจประกอบด้วยปีติย่อมสงบ นี่มาถึงความสงบแล้ว เวลาที่สามารถจะรู้อรรถและธรรมในชีวิตประจำวัน อริยสาวกผู้มีกายสงบแล้วย่อมเสวยสุข

    เป็นอย่างนี้บ้างไหมในชีวิตประจำวัน เมื่อได้เห็นผลของกรรมและสภาพของจิตซึ่งเป็นกรรมที่จะให้เกิดผลข้างหน้า ย่อมสงบ ย่อมเสวยสุข

    จากนั้น จิตของอริยสาวกผู้มีสุขย่อมตั้งมั่น ซึ่งนี่แหละที่จะเป็นบาทของวิปัสสนา ไม่ใช่สมาธิอื่นเลย แต่ต้องเป็นความสงบพร้อมปีติ พร้อมสุข ที่ได้เข้าใจในธรรม จึงจะเป็นบาทของวิปัสสนาได้

    ไม่ใช่ไปทำสมาธิอะไรก็ไม่ทราบ ไม่ได้เกิดปัญญา ไม่ได้รู้อรรถ ไม่ได้รู้ธรรม ไม่ได้มีความสงบ และก็เข้าใจผิดคิดว่า เมื่อมีความจดจ้องตั้งมั่นอยู่ที่อารมณ์นั้นแล้ว ปัญญาก็จะเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง ที่ว่าทำสมาธิ โดยมากเข้าใจผิด เมื่อก่อนผมก็เคยปฏิบัติเป็นสิบๆ ปี คือ หลับตาทำสมาธิ เมื่อไรหนอธรรมจะเกิดขึ้น จะได้มรรค ได้ผล โดยมากนึกไปอย่างนั้น เพราะไม่มีปัญญาที่จะคิด เมื่อได้มาฟังอาจารย์ สำคัญที่สติเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะไปที่ไหน ความโกรธนี้ จมูกนี้ก็ทำให้โกรธได้ เป็นต้นว่า ขึ้นรถเมล์คนเบียดกันได้กลิ่นเหม็นขึ้นก็โกรธ แต่พอสติเกิดขึ้นระลึก ตัวเราก็เหม็นเหมือนกัน ความโกรธก็หายไป อย่างตาคนอื่น ทำให้เราโกรธได้เหมือนกันถ้าเราไม่มีสติ เขามองแบบดูถูกเหยียดหยาม ความโกรธก็มีเหมือนกัน เคยสังเกตมาโดยมากเป็นอย่างนี้

    สุ. เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ระลึกถึงพระตถาคต ขณะนั้นจะเห็นอรรถ เห็นธรรม

    ผู้ฟัง คำว่า สติ คุ้มครองหมด พอมีสติ ศีลก็มี สมาธิก็มี ปัญญาก็มี ไม่ใช่ว่ามีเฉพาะไปนั่งในห้อง ในรถเมล์ บางทีคนมากระแทก ก็โมโหขึ้นมา ถ้าไม่มีสติโกรธทันที แต่ถ้าเรามีสติ ก็เฉยๆ

    สุ. จะเห็นได้ว่า ผู้ที่ระลึกถึงพระคุณของพระตถาคตบ่อยๆ นั้น คือ ผู้ที่ฟังธรรม เข้าใจธรรม และประพฤติปฏิบัติธรรมด้วย ถ้าไม่ประพฤติปฏิบัติธรรมจะเห็นคุณในพระธรรม ในพระคุณของพระผู้มีพระภาคไหม

    เพียงแต่ฟังเฉยๆ แต่ยังไม่ได้ปฏิบัติตาม ย่อมไม่สามารถที่จะเห็นพระคุณของพระผู้มีพระภาคได้จริงๆ เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะได้ยินได้ฟังประวัติของพระผู้มีพระภาค แต่ที่จะเป็นการระลึกถึงพระคุณของพระองค์ได้นั้น ย่อมจะต้องเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรมด้วย และยิ่งประพฤติปฏิบัติธรรม ก็จะยิ่งเห็นพระคุณและระลึกถึงพระคุณ ซึ่งเป็นพุทธานุสสติได้บ่อยๆ เนืองๆ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๗๕ ตอนที่ ๗๔๑ – ๗๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 45
    28 ธ.ค. 2564