แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 766


    ครั้งที่ ๗๖๖


    สุ. สำหรับพระภิกษุที่ได้อบรมจนปฐมฌานเกิดแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุนั้นจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า เราย่อมอยู่ด้วยธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส ดูกร จุนทะ แต่ธรรมคือปฐมฌานนี้ เราไม่กล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องขัดเกลาในวินัยของ พระอริยะ เรากล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในอัตภาพนี้ในวินัยของพระอริยะเพราะว่าปัญญาไม่ได้เกิดขึ้นรู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนที่เป็นวิปัสสนาญาณ เป็นแต่เพียงปัญญาขั้นที่รู้ลักษณะความสงบของจิต และมีปัญญาที่รู้จะว่าจิตจะสงบยิ่งขึ้นอย่างไรเท่านั้นเอง

    ข้อความต่อไป ก็เป็นโดยนัยเดียวกัน สำหรับภิกษุผู้บรรลุทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นความมั่นคงของสติที่เพิ่มขึ้นตามลำดับ และสมาธิก็มีกำลังมั่นคงขึ้นตามลำดับ สำหรับทุติยฌานนั้น เป็นสมาธิที่มั่นคงซึ่งวิตกไม่เกิดเลย สำหรับตติยฌานก็เป็นสมาธิที่มั่นคงขึ้น จนวิจารเจตสิกไม่เกิดขึ้น

    สำหรับตติยฌาน โดยจตุกกนัย คือ โดยนัยของฌาน ๔ ก็เป็นสมาธิที่มั่นคงขึ้นจนปีติไม่เกิด คิดดู ปีติเป็นความปลื้มใจ เป็นความปีติอย่างยิ่งในความสงบนั้น แต่เวลาที่สมาธิและสติมั่นคงมีกำลังขึ้นก็สามารถที่จะละปีติ เพราะเห็นว่า ถ้ายังมีปีติอยู่ก็ยังหวั่นไหวใกล้ต่อการที่จะพอใจในฌานขั้นต่ำๆ จนกระทั่งถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    อนึ่ง ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ ที่ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงบรรลุ จตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสในก่อนเสียได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ภิกษุนั้นจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า เราย่อมอยู่ด้วยธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส ดูกร จุนทะ แต่ธรรมคือจตุตถฌานนี้ เราไม่กล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องขัดเกลาในวินัยของพระอริยะ เรากล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในอัตภาพนี้ในวินัยของพระอริยะ

    ต่อจากนั้นพระผู้มีพระภาคก็ตรัสถึง การบรรลุอรูปฌานตามลำดับ คือ การบรรลุถึงอรูปฌานที่ ๑ อากาสานัญจายตนฌาน อรูปฌานที่ ๒ วิญญาณัญจายตนฌาน อรูปฌานที่ ๓ อากิญจัญญายตนฌาน อรูปฌานที่ ๔ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน

    ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร จุนทะ แต่ธรรมคือเนวสัญญานาสัญญายตนฌานนี้ เราไม่กล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องขัดเกลาในวินัยของพระอริยะ เรากล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องอยู่สงบระงับในวินัยของพระอริยะ

    ดูกร จุนทะ เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลากิเลสในข้อเหล่านี้แล คือ เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักเป็นผู้เบียดเบียนกัน ในข้อนี้เราทั้งหลายจักเป็นผู้ไม่เบียดเบียนกัน

    แม้เจริญฌานจนกระทั่งถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ แต่ก็ยังไม่ใช่ธรรมเครื่องขัดเกลา ซึ่งเวลาที่จะขัดเกลานี้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักเป็นผู้เบียดเบียนกัน ในข้อนี้เราทั้งหลายจักเป็นผู้ไม่เบียดเบียนกัน เพราะแม้เจริญสมถภาวนาบรรลุฌานแล้ว ก็ยังมีความคิดที่จะเบียดเบียนได้ เนื่องจากไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท

    แต่ผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน จะมีความซาบซึ้งในพระพุทธคุณ ใน พระธรรมคุณ ในพระสังฆคุณ และไม่ลืมที่จะขัดเกลาตนเองโดยเห็นว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดง เพื่ออนุเคราะห์กับผู้ที่ยังมีกิเลสให้เป็นผู้ที่กิเลสเบาบาง และผู้ที่เป็นพระสงฆ์ คือ พระอริยสงฆ์นั้น ก็สามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น ผู้ที่ระลึกถึงพระรัตนตรัย ย่อมประพฤติปฏิบัติตามแม้แต่ความคิดที่เบียดเบียน เช่น ในกาลก่อนอาจจะเป็นผู้ที่เบียดเบียนบุคคลอื่น ซึ่งการเบียดเบียนบุคคลอื่นนี้ไม่ใช่แต่เฉพาะทางกาย แม้ทางวาจา หรือใจ เวลาที่ระลึกถึงพระรัตนตรัยได้ ก็คงจะมีความอุตสาหะที่จะขัดเกลากิเลสยิ่งขึ้น โดยเป็นผู้ไม่เบียดเบียน เคยตั้งใจอย่างนี้ไหม หรือยังไม่เคย แต่ถ้าระลึกถึงการขัดเกลากิเลสจริงๆ ย่อมจะเห็นได้ว่า เวลาที่เบียดเบียนนั้น เป็นอกุศลอย่างแรงทีเดียว

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักเป็นผู้ฆ่าสัตว์ ในข้อนี้เราทั้งหลายจักงดเว้นจากปาณาติบาต

    เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักเป็นผู้ลักทรัพย์ ในข้อนี้เราทั้งหลายจักงดเว้นจากอทินนาทาน

    เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักเสพเมถุนธรรม ในข้อนี้เราทั้งหลายจักประพฤติพรหมจรรย์

    เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักกล่าวเท็จ ในข้อนี้เราทั้งหลายจักงดเว้นจากมุสาวาท

    เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักกล่าวส่อเสียด ในข้อนี้เราทั้งหลายจักงดเว้นจากปิสุณาวาจา

    เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักกล่าวคำหยาบ ในข้อนี้เราทั้งหลายจักงดเว้นจากผรุสวาท

    เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักกล่าวคำเพ้อเจ้อ ในข้อนี้เราทั้งหลายจักงดเว้นจากสัมผัปปลาปะ

    เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักมักเพ่งเล็งภัณฑะของผู้อื่น ในข้อนี้เราทั้งหลายจักไม่เพ่งเล็งภัณฑะของผู้อื่น

    เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักมีจิตพยาบาท ในข้อนี้เราทั้งหลายจักไม่มีจิตพยาบาท

    เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักมีความเห็นผิด ในข้อนี้เราทั้งหลายจักมีความเห็นชอบ

    ข้อความต่อไป เป็นเรื่องของความขัดเกลาโดย จักมีความดำริชอบ จักมีวาจาชอบ จักมีการงานชอบ จักมีอาชีพชอบ จักมีความเพียรชอบ จักมีสติชอบ จักมีสมาธิชอบ ซึ่งก็เป็นมรรคมีองค์ ๘

    นอกจากนั้น คือ จักมีญาณปรีชาชอบ จักมีวิมุตติชอบ คือ ไม่ปฏิบัติผิด ไม่รู้ผิด และไม่พ้นผิด

    และยังมีการขัดเกลาอีกมากมาย ซึ่งเป็นปกติในชีวิตประจำวัน คือ

    เราทั้งหลายจักปราศจากถีนมิทธะ

    เราทั้งหลายจักเป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน

    เราทั้งหลายจักห้ามพ้นจากวิจิกิจฉา

    เราทั้งหลายจักไม่มีความโกรธ

    เราทั้งหลายจักไม่ผูกโกรธไว้

    เราทั้งหลายจักไม่ลบหลู่คุณท่าน

    เราทั้งหลายจักไม่ยกตนเทียมท่าน

    เราทั้งหลายจักไม่มีความริษยา

    เราทั้งหลายจักไม่มีความตระหนี่

    เราทั้งหลายจักไม่โอ้อวด

    เราทั้งหลายจักไม่มีมารยา

    เราทั้งหลายจักไม่ดื้อด้าน

    เราทั้งหลายจักไม่ดูหมิ่นท่าน

    ท่านผู้ฟังควรจะพิจารณาว่า ยังมีอยู่หรือเปล่า ถ้ายังมีอยู่ ก็ควรที่จะไม่มีไหมซึ่งอกุศลธรรมเหล่านี้

    ข้อต่อไปคือ

    เราทั้งหลายจักเป็นผู้ว่าง่าย

    เราทั้งหลายจักมีกัลยาณมิตร

    เราทั้งหลายจักเป็นคนไม่ประมาท

    เราทั้งหลายจักเป็นคนมีศรัทธา

    เราทั้งหลายจักเป็นผู้มีหิริในใจ

    เราทั้งหลายจักเป็นผู้มีโอตตัปปะ

    เราทั้งหลายจักเป็นผู้มีสุตะมาก ในขณะที่กำลังฟังนี้ ก็คือการที่จะอบรมการเป็นผู้มีสุตะมาก

    เราทั้งหลายจักเป็นผู้ปรารภความเพียร

    เราทั้งหลายจักเป็นผู้มีสติดำรงมั่น

    เราทั้งหลายจักเป็นคนถึงพร้อมด้วยปัญญา

    เธอทั้งหลายพึงทำความขัดเกลาว่า ชนเหล่าอื่นจักเป็นคนลูบคลำทิฏฐิของตน ยึดถืออย่างมั่นคง และสละคืนได้โดยยาก ในข้อนี้เราทั้งหลายจักไม่เป็นผู้ลูบคลำทิฏฐิของตน ไม่ยึดถืออย่างมั่นคง และสละคืนได้โดยง่าย

    ดูกร จุนทะ เราย่อมกล่าวแม้จิตตุปบาทว่า มีอุปการะมากในกุศลธรรมทั้งหลาย ก็จะต้องกล่าวไปไยในการจัดทำให้สำเร็จด้วยกาย ด้วยวาจาเล่า เพราะเหตุนั้นแหละ จุนทะ ในข้อนี้เธอทั้งหลายพึงให้จิตเกิดขึ้นว่า ชนเหล่าอื่นจักเป็นผู้เบียดเบียนกัน ในข้อนี้เราทั้งหลายจักเป็นผู้ไม่เบียดเบียนกัน ... ฯลฯ

    ทรงแสดงให้เห็นว่า ไม่ควรประมาทกุศลธรรมเลย แม้เพียงชั่วขณะจิตเดียวก็มีอุปการะมาก เพราะฉะนั้น ถ้าขวนขวายจนกระทั่งให้สำเร็จด้วยกาย ด้วยวาจา ก็ยิ่งจะเป็นอุปการะมากยิ่งขึ้น

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    ว่าด้วยทางหลีกเลี่ยงคนชั่ว

    ดูกร จุนทะ เปรียบเหมือนทางที่ไม่เรียบ ก็พึงมีทางเส้นอื่นที่เรียบสำหรับหลีกทางที่ไม่ราบเรียบนั้น

    ทรงแสดงถึงมรรคซึ่งเป็นหนทางที่จะขัดเกลากิเลส

    อนึ่ง เปรียบเหมือนท่าที่ไม่ราบเรียบ ก็พึงมีท่าที่ราบเรียบสำหรับหลีกท่าที่ไม่ราบเรียบนั้น ความไม่เบียดเบียนก็ฉันนั้นแล เป็นทางสำหรับหลีกเลี่ยงบุคคลผู้เบียดเบียน

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาว่า

    ดูกร จุนทะ เปรียบเหมือนอกุศลธรรมทั้งมวล เป็นเหตุให้ถึงความเป็นเบื้องล่าง กุศลธรรมทั้งมวลเป็นเหตุให้ถึงความเป็นเบื้องบน ฉันใด ความไม่เบียดเบียนก็ฉันนั้นแล ย่อมเป็นธรรมสำหรับความเป็นเบื้องบนของบุคคลผู้เบียดเบียน ...

    ว่าด้วยอุบายบรรลุนิพพาน

    ดูกร จุนทะ ผู้ที่ตนเองจมอยู่ในเปือกตมอันลึกแล้ว จักยกขึ้นซึ่งบุคคลอื่นที่จมอยู่ในเปือกตมอันลึก ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีไม่ได้

    ผู้ที่ตนเองไม่จมอยู่ในเปือกตมอันลึก จักยกขึ้นซึ่งบุคคลอื่นที่จมอยู่ในเปลือกตมอันลึก ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้

    ผู้ที่ไม่ฝึกตน ไม่แนะนำตน ไม่ดับสนิทด้วยตนเอง จักฝึกสอน จักแนะนำผู้อื่น จักให้ผู้อื่นดับสนิท ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีไม่ได้

    ผู้ที่ฝึกตน แนะนำตน ดับสนิทด้วยตนเอง จักฝึกสอน จักแนะนำผู้อื่น จักให้ผู้อื่นดับสนิท ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ ฉันใด ดูกร จุนทะ ความไม่เบียดเบียนก็ฉันนั้นแล ย่อมเป็นทางสำหรับดับสนิทของบุคคลผู้เบียดเบียน ... ฯลฯ

    ตอนท้ายของพระสูตรนี้มีว่า

    ดูกร จุนทะ เหตุแห่งธรรมเครื่องขัดเกลา เราได้แสดงแล้ว เหตุแห่งจิตตุปปาท เราได้แสดงแล้ว เหตุแห่งการหลีกเลี่ยง เราได้แสดงแล้ว เหตุแห่งความเป็นเบื้องบน เราได้แสดงแล้ว เหตุแห่งความดับสนิท เราได้แสดงแล้ว ด้วยประการฉะนี้

    การหลีกเลี่ยง ควรหลีกเลี่ยงอกุศลธรรม เช่น การเบียดเบียน หรือการฆ่าสัตว์ หรือการถือเอาสิ่งของที่บุคคลอื่นไม่ได้ให้ เป็นต้น ซึ่งสามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร จุนทะ กิจอันใดที่ศาสดาผู้แสวงหาประโยชน์ เอ็นดู อนุเคราะห์แก่เหล่าสาวกจะพึงทำ กิจนั้นเราทำแก่เธอทั้งหลายแล้ว

    ดูกร จุนทะ นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง เธอทั้งหลายจงเพ่งพินิจเถิด อย่าประมาท อย่าได้เป็นผู้มีความเดือดร้อนในภายหลังเลย นี้เป็นคำสอนสำหรับเธอทั้งหลาย ฉะนี้แล

    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ท่านพระมหาจุนทะชื่นชมยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาค ฉะนี้แล

    พระผู้มีพระภาคตรัสบท ๔๔ ทรงแสดงสนธิ ๕ พระสูตรนี้ชื่อ สัลเลขสูตร ลุ่มลึกเปรียบด้วยสาคร ฉะนี้

    จบ สัลเลขสูตร ที่ ๘

    ถ. พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ผู้ที่จมอยู่ในเปือกตมอันลึก จะช่วยคนที่จมอยู่ในเปือกตมอันลึกนั้น ไม่ใช่ฐานะ หมายความว่าผู้ที่ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์จะช่วยคนอื่นให้เป็นพระอรหันต์ไม่ได้อย่างนั้นใช่ไหม

    สุ. ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงเป็นพระอรหันต์ก่อน จะทรงแสดงหนทางที่จะให้บุคคลอื่นได้ประพฤติปฏิบัติ จนกระทั่งดับกิเลสถึงความเป็นพระอรหันต์ตามได้ไหม

    ถ. ท่านพระโปฐิละที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า โมฆบุรุษ หรือว่าคัมภีร์เปล่า ท่านก็ยังไม่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ แต่ลูกศิษย์ของท่านตั้งมากมายที่บรรลุเป็นพระอรหันต์

    สุ. ท่านพระโปฐิละช่วยให้ลูกศิษย์พ้น หรือว่าพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วช่วยอุปการะ

    ถ. ก็ทั้งสองอย่าง ท่านพระโปฐิละเก่งปริยัติ ก็นำคำสอนของพระผู้มีพระภาคมาสอน

    สุ. แต่ไม่ใช่ของท่านพระโปฐิละ เพราะฉะนั้น พระธรรมอุปการะ ไม่ใช่ท่านพระโปฐิละอุปการะ

    ถ. เป็นอย่างนั้น และผู้ที่รู้ลักษณะของสติว่า เวลามีสติต่างกับหลงลืมสติ จะช่วยให้คนอื่นรู้จักลักษณะของสติ เป็นฐานะหรือเปล่า

    สุ. ทั้งหมดต้องอาศัยพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว

    ถ. ยังไม่เข้าใจ

    สุ. อาจารย์ผิด แต่พระธรรมถูก พระธรรมสามารถที่จะเกื้อกูลบุคคลนั้นได้ไหม ให้รู้ว่าอาจารย์ผิด เพราะฉะนั้น ไม่ใช่อาจารย์ แต่ว่าเป็นพระธรรมที่ทรงแสดงแล้ว ถ้าอาจารย์กล่าวธรรมที่ถูก ธรรมนั้นเกื้อกูล

    ถ. ก็หมายความว่า ผู้ที่มีปริยัติ รู้จักคำสอนของพระผู้มีพระภาคดี ก็ช่วยให้คนอื่นได้บรรลุผลได้เหมือนกัน

    สุ. ไม่ใช่บุคคลนั้น พระธรรมที่บุคคลนั้นรู้ และกล่าว และแสดง

    ถ. ก็ช่วยให้บุคคลอื่นบรรลุได้

    สุ. แน่นอน พระธรรมมีอุปการะมาก

    สำหรับผลของพุทธานุสสติ จะสามารถสงบได้เพียงขั้นอุปจารสมาธิ ไม่ถึง อัปปนาสมาธิ และผู้ที่จะบรรลุอุปจารสมาธิได้ ก็เป็นเพียงพระอริยสาวกพวกเดียวเท่านั้น ปุถุชนจะระลึกถึงพระพุทธคุณสักเท่าไร ก็ไม่สามารถให้จิตสงบจนกระทั่งถึงอุปจารสมาธิได้

    เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ที่จะให้จิตสงบนี้ยากจริงๆ การที่สติจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง ไม่ยากเท่ากับการที่จะให้ถึงอุปจารสมาธิ เพราะสติสามารถที่จะระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงแม้อกุศล โลภะเกิดขึ้น ถ้าเป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานย่อมสามารถที่จะรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริง

    การรู้โลภะนี้ ยากไหม

    อยู่กับโลภะตลอดเวลา ตั้งแต่ลืมตาจนกระทั่งหลับตา ถ้าขณะใดที่กุศลธรรมหรือกุศลจิตไม่เกิด จะมีโลภมูลจิตเกิดเป็นประจำ แต่ว่าเป็นโลภมูลจิตที่อ่อนมาก ที่เบา ที่บาง ที่ไม่รู้สึก

    มีใครรู้ลักษณะของโลภะบ้างไหม ที่อ่อน ที่เบา ที่บาง ที่จะให้โลภมูลจิตรู้สภาพธรรม คือ รู้ว่าเป็นโลภะขณะนั้น ขณะนี้ ย่อมไม่ได้ แม้ว่ามีโลภะอยู่อย่างธรรมดาๆ แต่ว่าโลภะนั้นไม่สามารถที่จะรู้โลภะว่าเป็นโลภะ เพราะอวิชชาเป็นสภาพที่ไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ วิชชาเท่านั้นที่จะรู้ว่า อะไรเป็นอกุศลธรรม และอะไรเป็นกุศลธรรม

    เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะมีโลภะอยู่ตลอดเวลาจนชิน แต่เพราะชินแสนชินนั่นเอง จึงไม่รู้ลักษณะของโลภะ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๗๗ ตอนที่ ๗๖๑ – ๗๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 45
    28 ธ.ค. 2564