แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 765


    ครั้งที่ ๗๖๕


    ถ. ปฐวีกสิณไม่ใช่พระพุทธคุณ เอาดินเฉยๆ มาทำ ขอข้อแนะจากอาจารย์ว่า ปฐวีกสิณไม่มีคุณ จะพิจารณาอย่างไรให้จิตสงบ

    สุ. ปฐวีคือดิน ดินเท่านั้น สงบไหม ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีวัตถุสิ่งต่างๆ ซึ่งถ้าปราศจากธาตุดินแล้ว จะไม่มีรูปร่างกาย วัตถุต่างๆ เลย แต่ว่าที่พอใจ เกิดโลภะบ้าง โทสะบ้าง เพราะเห็นรูปต่างๆ สัณฐานต่างๆ ของธาตุดิน โดยลืมคิดถึงธาตุที่แท้จริงว่า เป็นแต่เพียงธาตุดินเท่านั้น

    ในวันหนึ่งๆ นี้ อกุศลจิตมีปัจจัยที่จะเกิดมากมายเหลือเกิน แต่ถ้าเกิดระลึกได้ถึงธาตุดิน ดินทั้งนั้นเลย ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่น่าพอใจ ดอกไม้สวยๆ หรือวัตถุต่างๆ สวยๆ งามๆ ก็ไม่พ้นจากธาตุดิน เป็นแต่เพียงดินเท่านั้นเอง จะสงบขึ้นบ้างไหม ถ้าระลึกอย่างนี้

    ถ. คิดเองเท่านั้น

    สุ. คิดถึงสิ่งที่จริงหรือเปล่า ถ้าเอาสีสันออกให้หมด กระทบสัมผัสดู อ่อนหรือแข็ง นั่นคือความหมายของดิน มีแต่ดิน ดินเต็มไปหมด ดินทั้งนั้น แค่ดินเท่านั้นเอง ยังจะเกิดความยินดียินร้ายอะไรไหมในดินนั้น

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่มีกัมมัฏฐานเดียวสำหรับทุกคน อัธยาศัยสะสมมามากมายเหลือเกิน แม้ว่าพระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงการเจริญสติปัฏฐาน แต่ว่าทำอย่างไรสติจึงจะเกิด จึงจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้บ่อยๆ เนืองๆ เพราะว่าเดี๋ยวก็โลภะ เดี๋ยวก็โทสะ และบางคนเดี๋ยวสงบก็มีเหมือนกัน แล้วแต่จิตที่สะสมมาที่จะระลึกรู้ลักษณะของสมถะ อารมณ์ที่ทำให้จิตสงบ หรือว่าลักษณะของสภาพธรรม

    โดยนัยของสติปัฏฐานก็มีดิน โดยนัยของสมถภาวนา เป็นการระลึกถึงดินเพื่อให้จิตสงบ แต่ว่าโดยนัยของสติปัฏฐาน ระลึกรู้อารมณ์ที่ปรากฏเฉพาะหน้า อย่าลืม อะไรกำลังปรากฏ ไม่ใช่นึกถึงดินอย่างสมถะโดยที่ว่าไม่ได้กระทบสัมผัส นั่นนึกและสงบเป็นสมถะ แต่วิปัสสนา อารมณ์ที่ปรากฏเฉพาะหน้า ดินต้องกระทบ อ่อนหรือแข็งปรากฏเฉพาะหน้าในขณะที่กระทบ เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญสติปัฏฐานไม่เว้นว่า ขณะนี้ไม่ได้ อารมณ์นี้ไม่ได้ หรือสถานที่นี้ไม่ได้ แต่ขณะนี้อารมณ์อะไรกำลังปรากฏเฉพาะหน้า ทางตากำลังเห็น ทางหูกำลังได้ยิน ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ล้วนเป็นสติปัฏฐานทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นดินโดยนัยของวิปัสสนา ต้องกระทบสัมผัส

    ผู้ฟัง อาจารย์เคยพูดถึงพิจารณาอสุภกัมมัฏฐาน แต่อสุภะบางครั้งไม่มี มีแต่เห็นสิ่งที่สวยๆ งามๆ ซึ่งก็เคยพิจารณาแล้วทำให้คลายกำหนัด ทำให้จิตนี้สงบ แต่สิ่งที่สกปรกน่าเกลียด บางทีกลัว กลับทำให้ไม่สงบ แต่ถ้าเห็นของที่สวยๆ งามๆ พิจารณาแล้วว่าอย่างนี้ใช้ไม่ได้ ไม่เอา จิตของเราก็สงบได้ แต่ไม่ได้เห็นเป็นนามรูป ปัญญาไม่เกิดเห็นเป็นนามรูป เห็นแต่ความเปลี่ยนแปลงและความน่ารังเกียจที่แท้จริง ทำให้ความยินดียินร้ายในขณะนั้นหายไป เกิดความสงบ

    สุ. เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า อารมณ์ที่จะทำให้สงบสำหรับแต่ละคน ไม่ใช่มีเฉพาะอย่างเดียว ทางตากำลังเห็น ลืมไปแล้ว สติไม่เกิด แต่ว่าทำอย่างไรจึงจะสงบได้ ไม่ว่าจะเป็นในขณะใดทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้จึงมีทั้งสมถกัมมัฏฐานสำหรับสมถภาวนาให้จิตสงบ และวิปัสสนากัมมัฏฐานเพื่อให้เกิดปัญญา ตอนนี้ยังสงสัยเรื่องระลึกถึงดิน และสงบได้ไหม

    ถ. พอมีความเข้าใจบ้าง แต่ยังไม่เต็มร้อย

    สุ. สำหรับการพูดถึงเรื่องสมถภาวนา จะพูดโดยนัยของการเจริญ สติปัฏฐานเท่านั้น สำหรับรายละเอียดของการเจริญสมถภาวนา ท่านที่สนใจ จะศึกษาได้ใน วิสุทธิมรรค แต่การอบรมเจริญสมถภาวนานั้น เป็นธรรมที่ควรประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ถ้าเข้าใจเหตุผลและเข้าใจจุดประสงค์ เช่น ดินนี้มีจริงๆ ไหม ดินเป็นสิ่งที่มีจริง ถ้าเป็นดินเปล่าๆ ยังไม่เกิดเป็นตึกรามบ้านช่อง หรือว่าวัตถุสิ่งต่างๆ เพียงแต่เห็นความเป็นดินเท่านั้น ย่อมไม่เกิดความยินดีพอใจแสวงหาขวนขวายในดินนั้น แต่เวลาที่ดินนั้นมีการกระทำให้เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ความยินดีต้องการในวัตถุนั้นก็เกิดขึ้น โดยลืมสภาพที่แท้จริงของสิ่งนั้นว่า ก็เป็นแต่เพียงดิน เพราะฉะนั้น ไม่มีอะไรเลยซึ่งเป็นรูปและจะปราศจากดิน แต่เมื่อลืมนึกถึงสภาพความเป็นดิน ก็เกิดความยินดียินร้ายขึ้นได้ในวัตถุที่ปรากฏ แต่แม้ร่างกายที่กำลังมีอยู่ในขณะนี้ ก็ไม่พ้นจากสภาพของความเป็นดินเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น การน้อมระลึกถึงดินด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง จะทำให้จิตสงบได้ แต่ก็ยาก

    ธรรมทั้งหลายเป็นจริงในชีวิตประจำวัน ในขณะนี้หรือในขณะไหนก็ตามที่จิตจะระลึกถึงดิน เป็นไปได้ไหม อาจจะเป็นได้บ้างชั่วครั้งชั่วคราว แต่ไม่ใช่ว่าบ่อยๆ เนืองๆ เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า การที่จะให้จิตสงบยากไหม เมื่อเทียบกับการที่จะอบรมระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ซึ่งเป็นสติปัฏฐานตามปกติตามความเป็นจริง

    สำหรับการระลึกถึงสมถภาวนากัมมัฏฐานอื่นๆ นอกจากฉอนุสสติ คือ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ และเทวตานุสสติ ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ถึงแม้ว่าจะระลึกถึงอารมณ์ของสมถภาวนาอื่นๆ และจิตสงบ แต่ไม่ได้ขัดเกลาจิตใจ และไม่เป็นปัจจัยให้ประกอบกรรมดีเพิ่มขึ้นเหมือนอย่างการที่จะระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ เป็นต้น

    ตามที่ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งเล่าว่า ท่านเจริญเตโชกสิณ ซึ่งทั้งๆ ที่พอจะเห็นนิมิต แต่ก็ไม่ได้ทำให้จิตใจของท่านละความทะนงตน หรือว่าลบหลู่บุคคลอื่นได้ และไม่สามารถขัดเกลาอกุศลอื่นๆ ด้วย แต่การระลึกถึงพุทธานุสสติ พระคุณของพระผู้มีพระภาค จะทำให้ผู้ที่ระลึกประพฤติปฏิบัติตามยิ่งขึ้น

    ข้อความใน มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ สัลเลขสูตร มีข้อความว่า

    ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น เวลาเย็น ท่านพระมหาจุนทะออกจากที่พักผ่อน แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ท่านพระมหาจุนทะนั่งเรียบร้อยแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทิฏฐิเหล่านี้มีประการต่างๆ ประกอบด้วยการกล่าวปรารภอัตตาบ้าง ประกอบด้วยการกล่าวปรารภโลกบ้าง ย่อมเกิดขึ้นในโลก เมื่อภิกษุมนสิการธรรมเบื้องต้นเท่านั้นหรือ การละทิฏฐิเหล่านั้น การสละคืนทิฏฐิเหล่านั้น ย่อมจะมีได้ด้วยอุบายอย่างนี้หรือ พระเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร จุนทะ ทิฏฐิเหล่านี้มีหลายประการ ประกอบด้วยการกล่าวปรารภอัตตาบ้าง ประกอบด้วยการกล่าวปรารภโลกบ้าง ย่อมเกิดขึ้นในโลก ก็ทิฏฐิเหล่านั้นย่อมเกิดขึ้นในอารมณ์ใด ตามนอนอยู่ในอารมณ์ใด และขึ้นเที่ยวอยู่ทั่วในอารมณ์ใด เมื่อภิกษุพิจารณาเห็นอารมณ์นั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นมิใช่ของเรา เรามิใช่นั่น นั่นมิใช่ตัวตนของเรา ดังนี้ การละทิฏฐิเหล่านั้น การสละคืนทิฏฐิเหล่านั้น ย่อมมีได้ด้วยอุบายอย่างนี้

    ข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ก็ทิฏฐิเหล่านั้นย่อมเกิดขึ้นในอารมณ์ใด ตามนอนอยู่ในอารมณ์ใด และขึ้นเที่ยวอยู่ทั่วในอารมณ์ใด ขณะนี้หรือเปล่า ความเห็นผิดซึ่งมีอยู่ในนามและรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ก็ทิฏฐิเหล่านั้นย่อมเกิดขึ้นในอารมณ์ใด ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ระลึกได้ทันทีใช่ไหมว่า ขณะนี้ทิฏฐิเกิดขึ้นในอารมณ์ใดที่กำลังปรากฏ ทางตา กำลังเห็นถูกหรือเห็นผิด ทางหู กำลังเห็นถูกหรือกลเห็นผิด

    นอกจากนั้น ทิฏฐิ ตามนอนอยู่ในอารมณ์ใด บางทีในขณะนั้นไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยกับจิตซึ่งเป็นโลภมูลจิต แต่ว่าความเห็นผิดซึ่งยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท ตามนอนอยู่ในอารมณ์ใด

    ที่จะรู้ว่าขณะนี้ ทิฏฐิซึ่งเป็นความเห็นผิดตามนอนอยู่ในอารมณ์ใด ต้องเป็นผู้ที่เจริญสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม เพราะว่าในตอนต้นๆ คงจะไม่มีท่านผู้ใดสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ตลอดทั่วทั้ง ๖ ทวาร ทั้ง ๖ อารมณ์ เพราะฉะนั้น บางท่านที่เริ่มเจริญสติปัฏฐาน อย่างที่ชาวเมืองกุรุถามกันว่า วันนี้มี สติปัฏฐานใดเป็นอารมณ์

    เพราะฉะนั้น แต่ละคนนี้จะทราบได้ว่า บางท่านอาจจะไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของรูปารมณ์ คือ สิ่งที่ปรากฏทางตา แต่กำลังเริ่มระลึกรู้ลักษณะของโผฏฐัพพะ คือ รูปธรรมที่กำลังปรากฏทางกาย ซึ่งบุคคลนั้นย่อมรู้ว่า ในขณะที่กำลังระลึกและก็เพิ่มความรู้ขึ้น ทิฏฐิที่ตามนอนอยู่ในอารมณ์นั้นย่อมน้อยกว่าทิฏฐิที่ตามนอนอยู่ในอารมณ์อื่น

    ท่านอาจจะระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรมทางหู คือ เสียง แต่ว่าทางตายังไม่ค่อยจะได้ระลึก หรือว่าบางท่านอาจจะยังไม่ได้ระลึกเลย เพราะฉะนั้น ทิฏฐิที่ตามนอนอยู่ในอารมณ์คือเสียงที่ปรากฏทางหู ย่อมน้อยกว่าทิฏฐิที่ตามนอนอยู่ในรูปารมณ์ที่ปรากฏทางตา หรือว่าเวทนา ความรู้สึก ถ้าสติยังไม่ระลึกรู้ลักษณะของความรู้สึกเลย เวลาที่มีความรู้สึกยินดีหรือยินร้าย ทิฏฐิย่อมตามนอนอยู่ในเวทนาคือความรู้สึกนั้น มากกว่าในอารมณ์ซึ่งสติเริ่มระลึกรู้บ้าง

    ข้อความต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร จุนทะ ก็ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้แล ที่ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติ และสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ภิกษุนั้นจะพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า เราย่อมอยู่ด้วยธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส ดูกร จุนทะ แต่ธรรมคือปฐมฌานนี้ เราไม่กล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องขัดเกลาในวินัยของพระอริยะ เรากล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในอัตภาพนี้ในวินัยของ พระอริยะ

    เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า แม้แต่ปฐมฌานซึ่งยากเหลือเกินที่จะถึงได้ กว่าจิตจะสงบ เวลาที่ระลึกถึงอารมณ์ที่เป็นสมถกัมมัฏฐานจนกระทั่งนิวรณ์สงบ และเวลาที่อุคคหนิมิตเกิดขึ้นแล้วสำหรับผู้ที่เจริญกสิณ ขณะนั้นก็ยังไม่ถึงอุปจารสมาธิ แม้ว่าอุคคหนิมิต คือ นิมิตที่ติดตา จะปรากฏแล้ว จะต้องพยายามให้จิตสงบที่ อุคคหนิมิตนั้นไม่ว่าจะอยู่ในสถานที่ใด จนกระทั่งนิมิตนั้นปรากฏเป็นความผ่องใสร้อยเท่าพันทวีเป็นปฏิภาคนิมิต ขณะนั้นจิตจึงจะเป็นอุปจารสมาธิ และเวลาที่เป็นอุปจารสมาธิแล้ว ก็ยังจะต้องพยายามระลึกถึงปฏิภาคนิมิตนั้นจนกระทั่งองค์ของฌาน คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตาปรากฏ ขณะนั้นจึงจะเป็นปฐมฌาน

    ซึ่งก่อนนั้นก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา แม้ในอุปจารสมาธิ ก็มี แต่ว่าไม่มีกำลัง เมื่อไม่มีกำลังจึงไม่ปรากฏเป็นองค์ของฌาน เพราะฉะนั้น เวลาที่ปรากฏเป็นองค์ของฌานเมื่อใด เมื่อนั้นจึงเป็นปฐมฌาน เพราะผู้ที่ได้ปฐมฌานแล้ว ประกอบด้วยปัญญาที่สามารถที่จะรู้ความต่างกันของวิตกและวิจาร

    ในขณะนี้ วิตกเจตสิก วิจารเจตสิก ก็กำลังเกิดอยู่ วิตกเจตสิก วิจารเจตสิก จะไม่เกิดกับทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวงเท่านั้น คือ ไม่เกิดกับจิตที่กำลังทำกิจเห็น ทำกิจได้ยิน ทำกิจได้กลิ่น ทำกิจลิ้มรส ทำกิจรู้โผฏฐัพพะที่ปรากฏ นอกจากนั้นแล้ววิตกเจตสิกและวิจารเจตสิกเกิดร่วมกับจิตแม้ในขณะนี้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมจนกระทั่งองค์ของฌาน คือ วิตกเจตสิก วิจารเจตสิก ปีติเจตสิก สุข คือ โสมนัสเวทนาซึ่งประกอบด้วยปีติ และเอกัคคตาเจตสิกปรากฏ ผู้นั้นจึงจะเห็นโทษของ วิตกเจตสิกว่า ยังหยาบ ยังใกล้ชิดต่อจิตซึ่งเป็นไปในกาม คือ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ

    และเมื่อบุคคลนั้นมีความชำนาญมากขึ้นในการที่จะระลึกถึงกสิณซึ่งเป็นอารมณ์ของฌาน จนกระทั่งขณะใดที่จิตมีปฏิภาคนิมิตเป็นอารมณ์ และปราศจากวิตก ขณะนั้นจึงจะเป็นทุติยฌาน เพราะว่ามีแต่วิจาร แม้ไม่มีวิตกก็สามารถจะมีปฏิภาคนิมิตเป็นอารมณ์ได้

    นี่เป็นการอบรมเจริญความสงบที่ถูกต้อง เป็นความสงบจริงๆ ประกอบด้วยปัญญาคู่กันไปกับความสงบ และสมาธิที่มั่นคงมาก



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๗๗ ตอนที่ ๗๖๑ – ๗๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 45
    28 ธ.ค. 2564