แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 748


    ครั้งที่ ๗๔๘


    ขอกล่าวถึงข้อความใน อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอกธัมมาทิบาลี อีกนัยหนึ่ง ซึ่งท่านผู้ฟังจะพิจารณาได้ว่า พระผู้มีพระภาคย่อมทรงโอวาทและ พร่ำสอนสาวกให้เป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท

    ข้อ ๒๐๓ มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนคูถแม้เพียงเล็กน้อย ก็มีกลิ่นเหม็น ฉันใด ภพแม้เพียงเล็กน้อยก็ฉันนั้นเหมือนกัน เราไม่สรรเสริญโดยที่สุดแม้ชั่วกาลเพียงลัดนิ้วมือเดียวเลย ฯ

    ข้อ ๒๐๔

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนมูตร ... น้ำลาย ... หนอง ... เลือดแม้เพียงเล็กน้อย ก็มีกลิ่นเหม็น แม้ฉันใด ภพแม้เพียงเล็กน้อยก็ฉันนั้นเหมือนกัน เราไม่สรรเสริญโดยที่สุดแม้ชั่วกาลเพียงลัดนิ้วมือเดียวเลย ฯ

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่จะให้สาวกไปอบรมเจริญฌานและเกิดในพรหมโลก และยังมีภพมีชาติเหลืออยู่อีกมากมาย ซึ่งแม้แต่พระโสดาบันบุคคลที่จะต้องเกิดอีก ๗ ชาติ พระผู้มีพระภาคยังตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนคูถแม้เพียงเล็กน้อย ก็มีกลิ่นเหม็น ฉันใด ภพแม้เพียงเล็กน้อยก็ฉันนั้นเหมือนกัน

    ภพชาติ ก็คือแต่ละขณะในขณะนี้ การเห็นในขณะนี้เป็น คูถแม้เพียงเล็กน้อยก็มีกลิ่นเหม็น หรือว่าจะเปรียบกับมูตร น้ำลาย หนอง เลือดก็ได้ หมายความถึงเป็นสิ่งที่ไม่สะอาดทั้งหมด เป็นสิ่งที่ควรรังเกียจ ไม่ควรจะมีความยินดีในการเห็น ในการได้ยิน ในการได้กลิ่น ในการลิ้มรส ในการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ในภพ คือ ในนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏในแต่ละขณะ

    ข้อความต่อไปมีตอนหนึ่งที่กล่าวถึงข้อปฏิบัติผิดว่า ถ้าเป็นข้อปฏิบัติผิดแล้ว ไม่ปฏิบัติดีกว่า เพราะไม่ใช่การขัดเกลากิเลส และไม่ใช่การเจริญปัญญาด้วย ซึ่งบางท่านอาจจะกล่าวว่า ไม่เป็นไร ถึงข้อปฏิบัตินั้นจะไม่ใช่สติปัฏฐาน จะไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญาที่ถูกต้อง แต่ก็ยังดีกว่าการกระทำทุจริต ยังคิดว่าดี ถ้าตราบใดยังเห็นว่า ข้อปฏิบัติผิดนั้นดี ผู้นั้นแทนที่จะขัดเกลากิเลสและเจริญปัญญา กลับเห็นผิด และสะสมกิเลส สะสมความยึดมั่นในข้อปฏิบัตินั้นยิ่งขึ้น เพราะถ้าตราบใดยังเห็นว่า ข้อปฏิบัตินั้นดี ก็ไม่ทิ้งในข้อปฏิบัตินั้นไปสู่ข้อปฏิบัติที่ถูก ที่สามารถอบรมเจริญปัญญาและขัดเกลากิเลสได้จริงๆ

    ใน อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอกธัมมาทิบาลี อีกนัยหนึ่ง ข้อ ๑๙๙ มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ปรารภความเพียรในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ชั่ว ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะธรรมท่านกล่าวไว้ชั่ว ฯ

    ถ้าเพียรผิดย่อมอยู่เป็นทุกข์ เพราะไม่สามารถที่จะดับกิเลสอะไรได้ และก็เป็นการสะสมกิเลสและความเห็นผิดในข้อปฏิบัติธรรมด้วย แทนที่จะใช้เวลานั้นให้เป็นประโยชน์โดยการอบรมเจริญปัญญาจริงๆ

    ข้อความต่อไป

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ผู้เกียจคร้านในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ดี ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะธรรมท่านกล่าวไว้ดีแล้ว ฯ

    ถ้าเป็นข้อปฏิบัติที่ถูก แต่ท่านก็ยังรีรอ ยังไม่เป็นผู้ที่ขยันในการศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ท่านย่อมเป็นทุกข์ได้เวลาที่สติไม่เกิด ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น เพราะพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ผู้เกียจคร้านในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ดี ย่อมอยู่เป็นทุกข์

    ข้อความต่อไป

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่เกียจคร้านในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ชั่ว ย่อมอยู่เป็นสุข ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะธรรมท่านกล่าวไว้ชั่ว ฯ

    พระผู้มีพระภาคไม่ทรงโอวาทส่งเสริมให้มีความเพียรปฏิบัติในข้อปฏิบัติที่ผิด เพราะพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ผู้ที่เกียจคร้านในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ชั่ว ย่อมอยู่เป็นสุข ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะธรรมท่านกล่าวไว้ชั่ว ฯ

    ถ้าไม่ปฏิบัติผิดก็เป็นสุขจริงๆ คือ ไม่ต้องปวดหัว บางท่านปฏิบัติเคร่งเครียดจนกระทั่งสั่นไปหมดทั้งตัว และก็กล่าวว่า ขณะนั้นจำเป็นที่จะต้องเลิกปฏิบัติชั่วคราว เพราะมีความทุกข์อย่างมากเกิดขึ้น รู้สึกเหมือนกับว่าใจจะขาดหรือตัวขาด เพราะมีอาการผิดปกติต่างๆ เกิดขึ้น ซึ่งนั่นคือ ข้อปฏิบัติที่ทำให้เป็นทุกข์ ไม่ใช่เป็นการอบรมเจริญปัญญา

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ผู้ปรารภความเพียรในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ดี ย่อมอยู่เป็นสุข ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะธรรมท่านกล่าวไว้ดีแล้ว ฯ

    ผู้ฟัง ตามพระไตรปิฎกที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้อย่างนี้ ก็ไม่มีใครเถียง คือ ข้อปฏิบัติผิดๆ ไม่มีใครชอบแน่ และก็เชื่อเหลือเกินว่า ถ้าปฏิบัติผิดแล้วย่อมอยู่เป็นทุกข์ แต่ผู้ที่ปฏิบัติผิดแล้ว ไม่รู้ว่าข้อปฏิบัติที่ท่านปฏิบัตินั้นผิด ไปยึดข้อปฏิบัติที่ผิด เข้าใจว่าข้อปฏิบัตินั้นถูก ท่านเหล่านั้นจึงปฏิบัติไปเรื่อยๆ ความทุกข์จึงเกิดขึ้น

    มีหลายท่านปฏิบัติผิด ผมก็พยายามแนะนำ ท่านก็ถือว่าข้อปฏิบัติของท่านถูกที่สุดแล้ว และยังมีหลักฐานอ้างอิงว่า อาจารย์นั้นกล่าวอย่างนั้น อาจารย์นี้กล่าวอย่างนี้ คนทั่วๆ ไปก็ปฏิบัติตามนี้

    สุ. ถ้าไม่ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยละเอียด โดยรอบคอบ ก็ไม่มีทางที่จะเกื้อกูลบุคคลใดได้เลย เพราะแต่ละคนก็สะสมมาที่จะมีความเห็นและมีความเข้าใจต่างๆ กัน นานาทิฏฐิ มีทิฏฐิต่างกันจริงๆ

    ผู้ฟัง ที่ท่านผู้นั้น ท่านผู้นี้อ้างตัวเป็นอาจารย์ใหญ่ว่า อย่างนั้นถูก อย่างนี้ไม่ถูก อะไรอย่างนี้ สำคัญอยู่ที่ตัวของเรา เราควรพิจารณาดูว่า ตรงตามคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคหรือเปล่า ผมเคยฟังเทศน์ท่านบอกว่า ทำวิปัสสนา ทำสมถะต้อง ๔ ชั่วโมง ๕ ชั่วโมง ๑๐ ชั่วโมง ๒๐ ชั่วโมง นี่เหตุผลไม่ถูกต้อง ขัดกันไปหมด คือ พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนไว้ไม่มีอะไรขัดกัน แต่อาจารย์ต่างๆ ท่านบอกว่าทำ ๒๐ ชั่วโมง ตั้งแต่ ๖ โมงเช้า ไปจนถึงตี ๓ ตี ๔ พักหลับนอน ๔ ชั่วโมง ใครจะทำได้บ้าง การงานก็เสีย บิณฑบาตก็ไม่ได้ กินก็ไม่ได้กิน ไปถึง ๒๐ ชั่วโมง ใครจะนั่งอยู่ได้ เป็นคำสอนที่ผิดที่สุดเลย

    สุ. ได้สนทนาธรรมกับบางท่านที่เริ่มสนใจในพระธรรม ท่านผู้นั้นก็กล่าวว่า ทำอย่างไรจึงจะทราบว่า ใครเป็นพระอรหันต์ ขอให้บอกได้ไหม เพราะในครั้งที่ พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพานก็ได้มีการพยากรณ์ว่า ท่านผู้นั้นท่านผู้นี้เป็น พระอรหันต์ เป็นพระอนาคามี เป็นพระสกทาคามี เป็นพระโสดาบัน เมื่อพระผู้มีพระภาคยังทรงพยากรณ์ให้บุคคลทั้งหลายได้ทราบว่า ใครบ้างที่เป็นพระอริยบุคคล เพราะฉะนั้น ในสมัยนี้ ถ้ามีการบอกกล่าวให้ได้ทราบว่า ใครบ้างเป็นพระอรหันต์ ก็จะยิ่งเพิ่มศรัทธาของผู้ที่เพิ่งศึกษาที่จะได้ศึกษากับท่านผู้นั้น และประพฤติปฏิบัติตาม

    แต่พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงพยากรณ์ว่าบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นพระอรหันต์ โดยมิได้ทรงแสดงธรรมของพระอรหันต์ หรือธรรมของพระอนาคามี ธรรมของ พระสกทาคามี ธรรมของพระโสดาบันให้เข้าใจ ให้พิจารณา ให้รู้ได้ว่า บุคคลใดจะเป็นพระอรหันต์ หรือพระอนาคามี หรือสกทาคามี หรือพระโสดาบัน เพราะไม่ใช่เพียงให้เชื่อ แต่ต้องมีความรู้พอที่จะทราบถึงคุณธรรมของท่านเหล่านั้นว่า เพราะเหตุใดท่านเหล่านั้นจึงเป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี เป็นพระอนาคามี เป็น พระอรหันต์

    ถ้าไม่มีคุณธรรมของท่านเหล่านั้น ใครจะรู้ว่าบุคคลใดเป็นหรือไม่เป็นพระอริยะ นอกจากจะมีความเชื่อโดยที่ไม่รู้อะไรเลย และพระอริยสาวกที่ได้กล่าวถึงในพระไตรปิฎกทั้งหลายนี้ ท่านก็ได้ปรินิพพานไปหมดแล้ว แต่พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ เป็นสิ่งที่จะทำให้บุคคลทั้งหลายที่ได้ศึกษาแล้ว สามารถที่จะเข้าใจได้ถึงธรรมของผู้ที่เป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์จริงๆ ซึ่งไม่ใช่โดยการฟังคำบอกเล่าจากบุคคลหนึ่งบุคคลใดแล้วเชื่อ แต่จะต้องศึกษาให้เข้าใจถึงคุณธรรมของท่านเหล่านั้นว่า คุณธรรมของท่านเหล่านั้นเป็นอย่างไร เกิดมีขึ้นได้เพราะประพฤติปฏิบัติอย่างไร ข้อปฏิบัตินั้นคืออย่างไรที่จะทำให้ปัญญาเจริญขึ้น คมกล้าจนกระทั่งสามารถที่จะเป็นพระอริยเจ้าได้

    และถ้าขาดธรรมข้อปฏิบัติที่จะทำให้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้า จะมี พระอริยเจ้าได้ไหม ก็มีไม่ได้ เพราะฉะนั้น จะไม่มีบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่เป็นพระอริยะและประกาศตนว่าเป็นพระอริยเจ้า โดยที่ไม่ได้แสดงหนทางข้อประพฤติปฏิบัติที่จะให้ถึงความเป็นพระอริยเจ้า

    ไม่ใช่ว่าเรียกร้องให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดมาเกิดความศรัทธา แต่จะต้องเห็นประโยชน์ของผู้ที่ฟังธรรมว่า ธรรมใดจะช่วยให้บุคคลนั้นมีความเข้าใจที่ถูกต้องในคุณธรรมของผู้ที่เป็นพระอริยเจ้า และในข้อปฏิบัติที่จะอบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งสามารถที่จะเข้าใจได้และรู้ได้ด้วยตนเองว่า บุคคลใดสามารถหรือเป็นพระอริยเจ้าเพราะเหตุใด แต่ไม่ใช่โดยการประกาศ โดยการบอก ซึ่งถ้าใครกระทำอย่างนั้นก็น่าที่จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า กระทำเพื่อประโยชน์อะไร

    ใครก็ตามที่ประกาศอุตริมนุษยธรรมทั้งหลาย ถ้าจะพิจารณาจริงๆ คงจะรู้ได้ไม่ยากถึงเหตุที่ทำให้บุคคลนั้นกระทำการประกาศอุตริมนุษยธรรมอย่างนั้น ว่าเพราะเหตุใด หรือว่าเพื่ออะไร โดยที่ไม่กล่าวถึงหนทางข้อปฏิบัติที่จะทำให้บุคคลทั้งหลายสามารถอบรมเจริญปัญญาให้เข้าใจได้ ให้รู้ได้ในคุณธรรมของผู้ที่เป็นพระอริยเจ้า และในข้อปฏิบัติที่จะอบรมเจริญปัญญาให้เกิดขึ้น

    ใน อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอกธัมมาทิบาลี ข้อ ๑๓๑ แสดงโทษของการแสดงธรรมผิดๆ มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพวกที่แสดงอธรรมว่าธรรม ภิกษุเหล่านั้นชื่อว่า เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล ไม่เป็นความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อ อนัตถะมิใช่ประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทั้งย่อมประสบบาปไม่มิใช่บุญเป็นอันมาก และย่อมจะยังสัทธรรมให้อันตรธาน ฯ

    ข้อสำคัญที่สุดที่จะต้องคิดถึง คือ ย่อมจะยังสัทธรรมให้อันตรธาน คือ ข้อปฏิบัติผิดยิ่งมีมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งทำให้พระสัทธรรม การที่จะเจริญหนทางข้อปฏิบัติให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้าอันตรธานเร็วเท่านั้น เพราะย่อมมีความเห็นผิด มีความเข้าใจผิดในข้อปฏิบัติ จนกระทั่งทำให้พระสัทธรรม คือ ข้อปฏิบัติที่ถูกต้องนั้นลบเลือน

    นี่คือโทษของการแสดงธรรมที่ผิด และโทษของบุคคลที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลคนเดียวเมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล ไม่เป็นความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความพินาศ มิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย บุคคลคนเดียวคือใคร คือ บุคคลผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นวิปริต เขาทำให้คนเป็นอันมากออกจากสัทธรรมแล้วให้ตั้งอยู่ในอสัทธรรม

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลคนเดียวนี้แลเมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล ไม่เป็นความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความพินาศ ไม่ใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์แก่เทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย ฯ

    สำหรับบุคคลที่เป็นสัมมาทิฏฐิ ก็โดยนัยตรงกันข้าม คือ เป็นผู้ที่เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก ซึ่งย่อมจะทำให้ คนเป็นอันมากออกจากอสัทธรรมแล้วให้ตั้งอยู่ในสัทธรรม

    สำหรับการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าผู้นั้นจะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยสาวกแล้ว ท่านก็ยังเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน

    ใน สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค กัณฏกีสูตรที่ ๑ มีข้อความที่แสดงว่า พระอริยสาวกทั้งหลาย ท่านอยู่ด้วยธรรมใดเป็นส่วนมาก

    ข้อความมีว่า

    สมัยหนึ่ง ท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระสารีบุตร และท่านพระมหาโมคคัลลานะ อยู่ ณ กันฏกีวัน (ป่าไม้มีหนาม) ใกล้เมืองสาเกต ครั้งนั้น เป็นเวลาเย็น ท่านพระ สารีบุตรและท่านพระมหาโมคคัลลานะออกจากที่พักผ่อน เข้าไปหาท่านพระอนุรุทธะ ถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระอนุรุทธะ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้ถามท่าน พระอนุรุทธะว่า

    ดูกร ท่านอนุรุทธะ ธรรมเหล่าไหน อันภิกษุผู้เป็นเสขะพึงเข้าถึงอยู่

    ท่านพระอนุรุทธะตอบว่า

    ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร สติปัฏฐาน ๔ อันภิกษุผู้เป็นเสขะพึงเข้าถึงอยู่ สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย ... ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา ... ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิต ... ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ดูกร ท่านพระสารีบุตร สติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ อันภิกษุผู้เป็นเสขะพึงเข้าถึงอยู่.

    จบ สูตรที่ ๔

    ให้เจริญฌานหรือเปล่า

    พระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านหยั่งรู้ถึงสภาพที่แท้จริงของธรรมที่กำลังปรากฏด้วยปัญญาอันยิ่งของท่านเอง เพราะฉะนั้น ท่านจะเห็นอย่างอื่นประเสริฐกว่าสติปัฏฐานได้ไหม เพราะการระลึกศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏที่ละเอียดขึ้นๆ ย่อมทำให้ปัญญาสามารถที่จะดับกิเลสได้ละเอียดขึ้นด้วย

    สำหรับผู้ที่เป็นพระโสดาบันบุคคลแล้ว ไม่มีความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ไม่มีความสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม แต่ยังมีปัจจัยให้กิเลสทั้งหลายเกิดได้ เช่น โลภะ ความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ โทสะ โมหะ และอกุศลธรรมทั้งหลายที่ยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท ก็เกิดได้ตามเหตุตามปัจจัย ซึ่งวิจิตรมากในแต่ละวัน

    ความพอใจแต่ละขณะนี้ย่อมต่างๆ กันไป ในบางครั้งบางวันอาจจะไม่ชอบในสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ว่าในวันอื่นหรือว่าในกาลอื่น อาจจะมีปัจจัยที่ทำให้เกิดความพอใจในวัตถุสิ่งที่เคยเห็นก็ได้ ซึ่งแต่ก่อนนี้อาจจะไม่เคยชอบ ไม่เคยพอใจ เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวันจริงๆ ถ้าศึกษาลักษณะของสภาพธรรมโดยละเอียด เป็นผู้ที่ละเอียด ย่อมเห็นความวิจิตรของการสะสมของจิต ซึ่งทำให้เกิดสภาพธรรมแต่ละขณะตามความเป็นจริง และปัญญาจะต้องรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมแต่ละขณะที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยนั้นๆ ตามความเป็นจริงยิ่งขึ้น จึงจะดับกิเลสได้ยิ่งขึ้น ไม่ใช่ว่าผู้ที่เป็นพระโสดาบันบุคคลแล้ว ไม่ต้องระลึกศึกษารู้ลักษณะของกาย เวทนา จิต ธรรม อีกต่อไป

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าท่านผู้นั้นจะมีความสงบหรือไม่สงบ หรือว่าท่านสะสมความวิจิตรของจิตที่ความสงบขั้นหนึ่งขั้นใดจะเกิดขึ้น ปัญญาของท่านก็จะต้องคมกล้า จนกระทั่งสามารถที่จะดับความยึดถือสภาพธรรมนั้นๆ และก็ดับกิเลสได้ยิ่งขึ้นตามลำดับ

    และสำหรับผู้ที่เป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านผู้ฟังคิดว่าท่านจะอยู่ด้วยธรรมอะไร สำหรับพระอริยสาวกที่เป็นพระเสกขบุคคล คือ ผู้ที่ยังจะต้องศึกษาอยู่ ซึ่งได้แก่ พระโสดาบันบุคคล พระสกทาคามีบุคคล พระอนาคามีบุคคล ยังมีกิจที่ยังต้องกระทำ คือ จะต้องศึกษาลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมละเอียดขึ้น จึงจะดับกิเลสได้ละเอียดขึ้น และเมื่อท่านดับกิเลสหมดสิ้นเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านจะอยู่ด้วยธรรมอะไร



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๗๕ ตอนที่ ๗๔๑ – ๗๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 45
    28 ธ.ค. 2564