แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 731


    ครั้งที่ ๗๓๑


    สุ. เพราะฉะนั้น ปัญญามีหลายขั้น ปัญญาที่รู้เหตุกับผล คือ กรรมและวิบาก ก็เป็นปัญญา ปัญญารู้ว่ากุศลธรรมเป็นสิ่งที่ควรเจริญ ควรจะซื่อสัตย์ ควรจะกตัญญูกตเวที นั่นก็เป็นปัญญาที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่คำว่า ตามความเป็นจริงโดยที่ยังไม่ใช่ขั้นวิปัสสนาหรือสติปัฏฐานนั้น ยังไม่สามารถที่จะดับความเห็นผิดว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้ แต่เห็นตามความเป็นจริงว่า อกุศลกรรมให้ผลเป็นทุกข์ หรือกุศลกรรมให้ผลเป็นสุข เพราะฉะนั้น ปัญญาจึงมีต่างกันหลายขั้น หรือสัมมาทิฏฐิก็มีความต่างกันหลายขั้น ปัญญาที่รู้ในกรรมและในผลของกรรม และปัญญาที่รู้ในการที่จะกระทำจิตให้สงบซึ่งเป็นฌานสัมมาทิฏฐิ ก็เป็นสัมมาทิฏฐิขั้นหนึ่ง แต่ไม่ใช่สติปัฏฐาน

    เพราะฉะนั้น เวลาพูดถึงการรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ต้องแยกว่าขั้นไหน

    การรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงขั้นสมถะ คือ ปัญญารู้ว่าขณะนี้เป็นกุศลหรืออกุศล เมื่อรู้ว่าเป็นอกุศลแล้ว กุศลจิตจะเกิดได้อย่างไร นั่นคือปัญญาของผู้ที่สามารถจะอบรมเจริญสมถภาวนาได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาย่อมไม่สามารถอบรมเจริญความสงบของจิตซึ่งเป็นกุศลขั้นที่สูงกว่าทานและศีลได้

    เพราะฉะนั้น เวลาใช้คำธรรมดาว่า การเจริญสมถภาวนา ต้องรู้สภาพธรรมตามความจริง คือ ต้องรู้ว่ากุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล แต่ไม่ใช่ตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    แม้แต่สมาธิ ความตั้งมั่นคงของจิต ก็อย่าคิดว่าเป็นเรื่องของสมถภาวนาเท่านั้น เพราะในสติปัฏฐานก็มีสัมมาสมาธิ ความตั้งมั่นคงของจิต รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนทีละเล็กทีละน้อย เพราะฉะนั้น เวลาที่มีคำกลางๆ ในพระไตรปิฎก เช่น คำว่าสมาธิ หรือแม้คำว่าปัญญา ก็จะต้องศึกษาให้ทราบความต่างกันโดยละเอียดว่า เป็นสมาธิขั้นสมถะ หรือว่าเป็นสมาธิของสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นวิปัสสนาภาวนา

    เวลาที่กล่าวถึงปัญญา ถึงแม้จะใช้คำว่า รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็ต้องแยกโดยทราบว่า โดยนัยของสมถะ หรือว่าโดยนัยของวิปัสสนา หรือแม้แต่สมถะ ความสงบ ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่ว่าจะไม่สงบ ขณะใดก็ตามที่เป็นกุศล ขณะนั้นสงบจากโลภะ โทสะ โมหะ ถ้าไม่สงบ กุศลจิตเกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น ขณะที่ให้ทาน จิตก็สงบ แต่น้อย ไม่มากพอที่จะปรากฏให้เห็นลักษณะของความสงบได้ ด้วยเหตุนี้ผู้ที่จะสงบยิ่งขึ้นจึงมีปัญญาที่รู้ว่า ขณะที่ให้ทานความสงบของจิตเป็นอย่างไร จึงอบรมความสงบให้ยิ่งขึ้นโดยระลึกถึงจาคานุสสติ การให้ทานที่ได้กระทำแล้ว

    เพราะฉะนั้น ก็ให้ทราบว่า แม้คำว่า สมถะ ความสงบ ก็มีขั้นของสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา แม้คำว่า สมาธิ ก็มีขั้นของสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา แม้คำว่า ปัญญา เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็โดยขั้นของสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนาด้วย

    ถ. การเจริญเมตตาจำเป็นไหมที่ต้องไปภาวนาในห้อง

    สุ. ขณะนี้ยังไม่ถึงกาลข้างหน้า และอดีตก็ผ่านไปแล้ว เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญภาวนา ไม่ใช่คอยวันเวลา ทั้งสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา

    ถ. ผมเคยเจริญเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาในห้องมาเป็นสิบๆ ปี ก็ไม่เห็นมีเมตตา เพราะยังมีการฆ่าอยู่ เช่น ฆ่าปลา เวลาเจริญในห้องไม่ฆ่าหรอก แต่พอออกมาก็ฆ่า มีคราวหนึ่งผมรื้อหลังคาบ้าน เห็นนก แม่บ้านเจ้าของบ้านจะเอา พ่อบ้านก็บอกว่า จะไปเอาทำไม ก็สัตว์โลกด้วยกัน ผมสะดุดใจตั้งแต่นั้นมา เมื่อเห็นสัตว์ ก็คิดว่าเป็นเพื่อนร่วมโลกด้วยกัน ความเมตตาก็เกิดอยู่เรื่อยไป ผมเคยไปเฝ้า สมเด็จพระสังฆราชวัดสระเกศองค์ที่ล่วงไปแล้ว ท่านมีสุนัขที่ขึ้นมาอยู่บนกุฏิมากมาย พอมีแขกมา เด็กวัดก็ไล่ตีสุนัข ท่านก็บอกว่า ไปตีทำไม รู้หรือเปล่าชาติก่อนอาจเคยเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นคู่อาฆาต เป็นเมียก็ได้ ผมได้ยินอย่างนั้น ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาไม่ต้องไปภาวนา เจอที่ไหนรู้สึกเมตตาเกิดขึ้น เข้าไปในห้องภาวนาเมตตาสัก ๑๐๐ ปี ถ้าใจไม่มีเมตตา ปัญญาไม่มี ผมคิดว่าคงไม่เกิดผลอะไร

    สุ. ท่านคงจะเห็นด้วยตัวของท่านเองแล้วว่า เมตตานั้นอยู่ที่จิต ไม่ใช่อยู่ที่คำท่องบ่น หรือคำกล่าว เพราะขณะที่ท่านจะกล่าวคำที่แสดงถึงเมตตา เช่น ขอให้สัตว์ทั้งหลายจงอย่ามีเวรมีภัยต่อกันเลย แต่ว่าจิตในขณะนั้นเป็นอย่างไร ปากพูดอย่างหนึ่ง แต่จิตในขณะนั้นที่กล่าวอย่างนั้นไม่ประกอบด้วยเมตตาตรงกับคำที่กล่าว

    เวลาที่เห็นสัตว์เล็กสัตว์น้อย หรือว่าเห็นบุคคลหนึ่งบุคคลใดและเกิดเมตตาจิต ขณะนั้นเป็นการอบรมเจริญภาวนาเมตตาแล้ว เพราะถ้าท่านไปท่องบ่น แต่ไม่รู้สภาพของจิตในขณะนั้นว่า ไม่ได้ตรงกับคำที่กล่าวเลย ก็เป็นแต่เพียงคำพูดเท่านั้น ซึ่งใครๆ ก็พูดได้ กล่าวได้ ไม่ว่าเด็กเล็กๆ ก็กล่าวตามๆ กันได้ แต่ว่าจิตขณะที่กล่าวนั้น ประกอบด้วยเมตตาหรือไม่ ใครจะทราบ บุคคลอื่นก็ไม่สามารถจะทราบได้เลย นอกจากจิตใจของท่านเอง คำพูดประโยคเดียวกันนี้ ถามไถ่ทุกข์สุขเจ็บไข้ได้ป่วย ความเป็นอยู่ของบุคคลอื่น ตัวท่านเองสามารถที่จะสังเกตพิจารณาจิตของท่านเองแต่ละครั้งได้ว่าประกอบด้วยเมตตาหรือว่าไม่ประกอบด้วยเมตตา ไม่ว่าจะเป็นการกระทำทางกาย หรือทางวาจาก็ตาม สามารถที่จะพิจารณารู้สภาพของจิตในขณะนั้นได้จริงๆ ว่าประกอบด้วยเมตตาหรือไม่

    เพราะฉะนั้น เรื่องความเข้าใจผิด ที่ว่าจะต้องไปสู่ที่หนึ่งที่ใด หรือจะต้องกล่าวคำเป็นภาษาบาลีในการที่จะเจริญสมถะ โดยที่ไม่ได้ศึกษา ไม่รู้ลักษณะสภาพของจิตที่สงบ ย่อมไม่สามารถเจริญสมถภาวนา หรือความสงบของจิตได้เลย

    จุดสำคัญที่ท่านผู้ฟังจะต้องทราบ คือ ความต่างกันของสมาธิและสมถะ อย่าเอาการจดจ้องตั้งมั่นอยู่ที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดโดยอาศัยการท่องบ่นและคิดว่าจะทำให้จิตสงบได้ เพราะว่าขณะนั้นเป็นแต่เพียงสมาธิ ที่ให้จิตจดจ้องอยู่ที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดโดยปราศจากปัญญา

    แต่ลักษณะความสงบของจิตที่ค่อยๆ สงบขึ้น จนปรากฏว่า ความสงบนั้นมั่นคงประกอบด้วยสมาธิ พร้อมด้วยสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ จึงจะเป็นการอบรมเจริญความสงบที่แท้จริง ไม่ใช่เป็นการเพ่งจ้องด้วยความต้องการ โดยที่จิตไม่สงบเลย ซึ่งในขณะนั้นจะขาดสัมปชัญญะ โดยการเพิ่มความไม่รู้สึกตัวขึ้นทีละน้อยๆ จนปรากฏสิ่งที่ผิดปกติ เช่น การเห็นภาพ ที่ไม่ใช่ขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ตามความเป็นจริง โดยที่บุคคลนั้นไม่เข้าใจ

    ถ้าไม่ฟังธรรมให้เกิดความเข้าใจ และมีความปรารถนา มีความต้องการที่จะให้เห็นภาพนิมิตต่างๆ และก็เข้าใจว่า ขณะนั้นเป็นผลของการอบรมเจริญภาวนา แต่ว่าตามความเป็นจริง ผู้ที่อบรมเจริญสมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนานั้น จะต้องพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ การเห็นสิ่งอื่นกับการเห็นในขณะนี้ อะไรจริงกว่ากันที่ปัญญาจะต้องรู้ ขณะนี้ที่กำลังเห็นจริงกว่าใช่ไหม อย่าคิดว่าไม่จริง ไม่ต้องไปทำเห็นอื่นขึ้นมาเพื่อคิดว่าขณะนั้นเป็นปัญญาที่คมกล้ารู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏ โดยที่ขณะนี้กำลังเห็นอยู่ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ควรที่ปัญญาจะรู้แจ้งในการเห็นเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่การเห็นภาพนิมิต หรือการเห็นสิ่งต่างๆ ซึ่งไม่ใช่การเห็นจริงๆ แต่เกิดขึ้นเพราะการที่ให้จิตจดจ้องอยู่ที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดจนปราศจากสัมปชัญญะที่สมบูรณ์

    เพราะฉะนั้น อย่าปน อย่าถือว่า สมาธิ การจดจ้องที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดโดยปราศจากสัมปชัญญะที่สมบูรณ์นั้น คือ ความสงบ

    ความสงบ ต้องพร้อมด้วยสัมปชัญญะที่สมบูรณ์ เวลาที่เห็นสัตว์ เห็นบุคคล ใดๆ ตามปกติ สัมปชัญญะสมบูรณ์ มีความเมตตาเพิ่มขึ้น กว้างขึ้น ไม่ใช่แต่คนที่รู้จัก หรือว่าผู้ที่เป็นที่รัก แต่ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นศัตรูหรือบุคคลที่ไม่รู้จักเลย จิตใจของท่านในขณะที่พบบุคคลนั้น ก็เป็นจิตที่อ่อนโยน มีความหวังดี มีความปรารถนาที่จะให้บุคคลนั้นเป็นสุข ขณะนั้นสภาพของจิตที่ประกอบด้วยเมตตาจะปรากฏลักษณะของความสงบ ซึ่งต่างกับขณะที่เป็นโลภะ โทสะ โมหะ

    บางคนบอกว่า อดไม่ได้เลยที่จะไม่พอใจในบุคคลอื่น เพียงเห็น ก็หาที่ติแล้ว ไม่พอใจอย่างนั้น ไม่พอใจอย่างนี้ ตามอัธยาศัยที่ได้สะสมมา เพราะฉะนั้น บุคคลนั้นก็ทราบความไม่สงบของตนเองว่า ขณะนั้นเป็นอกุศล ถ้าไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็นอกุศล ก็ไม่สามารถรู้ว่า สภาพธรรมที่ต่างกับอกุศลธรรมนั้นสามารถเกิดได้ เป็นความเมตตาได้ ทำไมจึงเป็นความรู้สึกไม่พอใจในบุคคลอื่น ไม่มีความจำเป็นอะไรเลยที่จะต้องรู้สึกอย่างนั้น แต่เพราะสะสมมาที่จะรู้สึกอย่างนั้น ความรู้สึกอย่างนั้นก็เกิดขึ้น และบางท่านก็ใช้คำว่า หมั่นไส้ ไม่ว่าจะเห็นใครก็หมั่นไส้ ก็เป็นอัธยาศัยที่สะสมมาที่จะเป็นอกุศลจิต แต่เมื่อรู้ว่าสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับความรู้สึกอย่างนั้นเป็นอย่างไร ก็อบรมเจริญความเมตตาให้เพิ่มขึ้น มากขึ้น กว้างขึ้น ทั่วขึ้น นั่นคือ การอบรมภาวนา ไม่ใช่สมาธิ แต่ว่าเป็นความสงบของจิต และความสงบของจิตซึ่งเป็นกุศลนี้ สามารถที่จะเจริญมั่นคงพร้อมกับสมาธิเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ จนกระทั่งถึงอุปจารสมาธิและ อัปปนาสมาธิตามควรแก่เหตุ คือ อารมณ์นั้นๆ

    ถ. เรื่องของเมตตา ปกติวันหนึ่งๆ จะเกิดได้หลายสิบเที่ยวทีเดียว แต่ก่อนไม่รู้ว่าเมตตาเป็นอย่างไร ภายหลังฟังอาจารย์บรรยายแล้ว ก็ตรึกนึกคิดและไตร่ตรองถึงเหตุผล วันหนึ่งๆ ก็เจริญเมตตาได้ตั้งหลายๆ เที่ยว เพราะมีเหตุที่จะทำให้เกิด ไม่ใช่นิดหน่อย วันหนึ่งๆ มีเหตุการณ์มากมาย ถ้าเมตตาไม่เกิดจะเป็นโลภะ โทสะ ถ้าตัดโลภะโทสะแล้วก็จะเป็นเมตตา เรื่องการเจริญเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาในเป็นชีวิตประจำวันที่ควรเจริญ ผมได้ฟังธรรมของอาจารย์ประโยคหนึ่งที่ว่า แม้แต่สิ่งของเล็กน้อย ก็ยังมีประโยชน์แก่ผู้รับ นี่เป็นจุดแรกที่ให้ผมเกิดปัญญา เจริญเมตตา หรือกรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นปกติชีวิตประจำวัน

    และการไหว้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็เข้าใจถูกว่า จะต้องน้อมจิตไปสู่พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ ซึ่งแต่ก่อนไหว้พระก็สักแต่ท่องว่า พุทโธ แต่ตอนหลังก็รู้ว่า ไม่ใช่ท่อง พระคุณเหล่านี้ถ้าไม่รู้ลึกซึ้ง ก็หมดโอกาสที่จะน้อมไปถึงพระคุณเหล่านี้ได้ ผมเข้าใจอย่างนั้น

    ส่วนอสุภกัมมัฏฐาน อสุภะดับโลภะได้สนิทจริงๆ อสุภะเป็นอารมณ์ของสมถะ เมื่อก่อนไม่ได้เจริญอสุภะ เพราะไม่ค่อยรู้เรื่อง มาฟังอาจารย์บรรยายหลายครั้งจึงเกิดปัญญาขึ้นมาก ปกติสัตว์โลกเราผู้มีกิเลส ปรารถนาในการเสพเมถุนธรรมเป็นธรรมดา ภายหลังผมก็พิจารณาอสุภะ ดับโลภะได้สนิท ได้รวดเร็ว สติก็มีเกิดบ้าง แต่พักเดียวจิตก็เกิดโลภะอีกแล้ว ลักษณะเช่นเก่า ก็พิจารณาอสุภกัมมัฏฐาน ความสงบของจิตก็เกิดขึ้นทันตา ละเว้นได้จำนวนมาก

    สุ. นี่เป็นการประพฤติปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน ทั้งทาน ทั้งศีล ทั้งสมถะ คือ ความสงบ และการอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เพราะชีวิตดำรงอยู่ชั่วขณะหนึ่งๆ ของจิตเท่านั้น ขณะที่แล้วดับไปแล้ว หมดไปแล้ว ชีวิตก็หมดไปแล้ว เพราะฉะนั้น ขณะนี้ที่จิตเกิดขึ้นเป็นชีวิตขณะหนึ่งที่ควรที่จะอบรมเจริญกุศล แทนที่จะให้เป็นโลภะ โทสะ โมหะ แล้วแต่ว่าจะเป็นปัจจัยของกุศลขั้นใด ขณะนี้คงจะไม่เป็นปัจจัยของทานกุศล และไม่เป็นปัจจัยของศีลด้วย ไม่มีวัตถุที่จะให้วิรัติทุจริต แต่ขณะนี้เป็นปัจจัยที่จะให้เกิดความสงบของจิตหรือสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นกุศลขั้นภาวนาได้

    เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้ทราบถึงการอบรมเจริญความสงบหรือสมถภาวนาในชีวิตประจำวัน เพราะว่าท่านได้ทราบเรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐานซึ่งได้กล่าวถึงมามากแล้ว

    ในวันนี้ขอกล่าวถึงการอบรมเจริญสมถภาวนาในชีวิตประจำวัน แต่ไม่ได้หมายความว่า ให้หยุดการเจริญสติปัฏฐาน เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงกุศลที่ต่างกันของสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา

    สมถภาวนา เป็นกุศลขั้นสงบ เป็นการอบรมเจริญความสงบของจิตด้วยปัญญาที่รู้ว่า ถ้าจิตไม่น้อมระลึกถึงอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบ ย่อมมีปัจจัยที่จะให้เป็นโลภมูลจิตบ้าง โทสมูลจิตบ้าง โมหมูลจิตบ้าง ตามปัจจัยที่ได้สะสมมา เพราะฉะนั้น จึงต้องเป็นปัญญาที่รู้ว่า จิตน้อมระลึกอย่างไรจึงสงบ

    ขอกล่าวถึงสมถกัมมัฏฐาน ๔๐ สำหรับผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐานจะพิจารณาว่า จิตของท่านจะสงบโดยอารมณ์ของสมถกัมมัฏฐานอะไรบ้าง

    สำหรับสมถกัมมัฏฐาน ๔๐ ได้แก่

    กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อนุสสติ ๑๐ พรหมวิหาร ๔ อรูปกัมมัฏฐาน ๔ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัฏฐาน ๑ ซึ่งจะขอกล่าวถึงเป็นลำดับ

    สำหรับกสิณ ๑๐ ได้แก่ ภูตกสิณ ๔ คือ ปฐวีกสิณ ๑ อาโปกสิณ ๑ เตโชกสิณ ๑ วาโยกสิณ ๑ เพื่อให้จิตระลึกที่สภาพของธาตุของรูปทั้งหลายตามความเป็นจริง เพื่อที่จะละคลายการติดการยึดถือในรูปธรรมทั้งหลาย เพราะว่ารูปธรรมทั้งหลายซึ่งปรากฏให้เป็นที่ตั้งของความยินดีความพอใจแล้ว ที่จะปราศจากปฐวีคือธาตุดินไม่มี ลักษณะที่อ่อนที่แข็งย่อมเป็นใหญ่เป็นประธานของรูปทั้งหลายที่ปรากฏเป็นที่ตั้งที่พอใจที่ยินดี เสื้อผ้าอาภรณ์เครื่องใช้ต่างๆ วัตถุต่างๆ ที่ท่านพอใจยินดี จะปราศจากธาตุดินไม่ได้ เมื่อกระทบสัมผัสก็เป็นลักษณะอาการของธาตุดิน คือ ธาตุที่อ่อน ที่แข็ง แต่โดยนัยของสมถภาวนานั้น ต่างกับโดยนัยของวิปัสสนาภาวนา

    สำหรับวิปัสสนาภาวนานั้น ระลึกรู้ลักษณะของเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ซึ่งเป็นมหาภูตรูป ๓ ที่สามารถกระทบสัมผัสทางกายได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๗๔ ตอนที่ ๗๓๑ – ๗๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 45
    28 ธ.ค. 2564