แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 758


    ครั้งที่ ๗๕๘


    ถ. โดยการศึกษารู้ว่า รูปธรรมเป็นสภาพที่ไม่รู้ นามธรรมเป็นสภาพที่รู้ ขณะที่สติเกิดขึ้น รูปก็ดี นามก็ดี ก็เกิดพร้อมกัน เราจะพิจารณานามหรือพิจารณารูป

    ธัม. เกิดพร้อมกัน แต่ปรากฏไม่พร้อมกัน ปรากฏพร้อมกันไม่ได้

    ถ. รูปปรากฏก่อน หรือว่านามปรากฏก่อน

    ธัม. ในขณะที่รูปปรากฏ ไม่มีก่อน ไม่มีหลังแน่นอน และขณะที่นามปรากฏ ไม่มีก่อน ไม่มีหลังในขณะนั้น และจะนับตั้งแต่เมื่อไร ตั้งแต่ที่ไหนไม่ทราบ ถ้าขณะนี้มีเหตุปัจจัยให้รูปปรากฏ จะเรียกว่าก่อนนามที่ยังไม่ปรากฏ หรือว่าหลังนามที่ปรากฏแล้วเมื่อครู่นี้

    ถ. หมายความว่า รูปจะปรากฏก็ดี หรือนามจะปรากฏก็ดี ก็แล้วแต่สติน้อมระลึกไป

    ธัม. แล้วแต่สติของแต่ละบุคคลที่สะสมมา ที่จะระลึกรู้ในอารมณ์นี้ หรือ ในอารมณ์นั้น ที่สำคัญที่สุด คือ บังคับบัญชาไม่ได้ เนื่องจากเราบังคับบัญชาไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร อะไรจะเกิดก็ดี อะไรจะปรากฏก็ดี สติก็เกิดขึ้น ระลึกรู้ในสภาพธรรมที่ปรากฏ โดยไม่ต้องทำให้ปรากฏ ปรากฏเอง

    ถ. ในเมื่อสภาพธรรมปรากฏอยู่แล้ว เราจะพิจารณาอย่างไร จึงจะชื่อว่าการเจริญวิปัสสนา

    ธัม. ที่จะรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏในขณะนี้ไม่ใช่ตัวตน ก็จะต้องรู้ว่าเป็นอะไร ถ้าไม่ใช่ตัวตน ถ้าไม่ใช่ไมโครโฟน ไม่ใช่หนังสือ ไม่ใช่คน แล้วเป็นอะไร

    เข้าใจว่าเป็นรูปหรือเป็นนาม แต่ว่าลักษณะเป็นอย่างไร ที่เราเข้าใจกันว่าเป็นรูป หรือเข้าใจกันว่าเป็นนาม เพราะว่าลักษณะต่างกัน ลักษณะของนามเป็นสภาพรู้ ไม่เหมือนสีที่ปรากฏเดี๋ยวนี้ ที่ปรากฏทางตา เพราะว่ารูปารมณ์ที่ปรากฏทางตาในขณะนี้ไม่รู้อะไร ที่เราเข้าใจกันว่ามีคนกำลังนั่ง และเราเห็นได้ ความจริงที่กำลังปรากฏทางตาเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาอย่างเดียว ไม่ปรากฏทางอื่น ไม่มีลักษณะอย่างอื่นอยู่ในสีที่ปรากฏทางตา แม้รูปอื่นๆ ก็ไม่ปรากฏในสี เพราะสีที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ทางตา แข็งก็ไม่มีอยู่ในสีนั้น ต้องสังเกตว่า แข็งไม่มีอยู่ อ่อนก็ไม่มี และเสียงก็ไม่มีอยู่ในรูปารมณ์ที่ปรากฏขณะนี้ทางตา และนามธรรมที่รู้สิ่งต่างๆ ที่ปรากฏทางต่างๆ นามธรรมก็ไม่มีอยู่ในสีที่ปรากฏทางตา นี่จะทำให้รู้ลักษณะของสีดีขึ้น เพราะที่เราเข้าใจว่าเป็นหนังสือ เพราะเราเอาสีบ้าง เอาบัญญัติบ้าง เอาทุกอย่างมาผสมกัน เป็นหนังสือ

    ถ. เรื่องของการพิจารณา ในสติปัฏฐาน ๔ มีกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน และธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ พระผู้มีพระภาคทรงยกเอากายานุปัสสนาสติปัฏฐานขึ้นมากล่าวก่อน เพราะฉะนั้น จะต้องพิจารณากายานุปัสสนาสติปัฏฐานก่อนหรือไม่

    ธัม. จะเลือกอีกใช่ไหม โยม

    ถ. ใช่

    ธัม. ก็ไม่ใช่สติปัฏฐาน

    ถ. หมายความว่าอย่างไร

    ธัม. เลือกไม่ได้ ถ้ากายไม่ปรากฏในขณะนี้ ก็ต้องไปหากาย กว่าจะเจริญสติปัฏฐานได้

    ถ. ก็กายมีอยู่ในขณะนี้

    ธัม. แต่ถ้าไม่ปรากฏ ไม่ใช่ว่าปรากฏทุกขณะ ถ้ากายไม่ปรากฏในขณะนี้ แต่จงใจที่จะรู้เฉพาะกาย เพราะเข้าใจว่า พระผู้มีพระภาคให้รู้กายก่อน ถ้าจะเจริญก็ต้องไปหา อย่างนั้นไม่ใช่การเจริญสติ เพราะสติต้องเกิดในขณะที่มีสิ่งที่กำลังปรากฏอยู่ ไม่ใช่ว่าจะไปหาสิ่งอื่นที่ยังไม่ปรากฏ ถ้าจิตปรากฏก็ต้องศึกษาจิต เพราะอย่างอื่นไม่ปรากฏ ไม่มีทางที่จะศึกษาอย่างอื่นที่ยังไม่ปรากฏ

    ถ้าเวทนาปรากฏขณะนี้ แทนที่จะเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของเวทนาที่ปรากฏในขณะนี้ คิดว่าจะต้องทำอย่างอื่น ไม่ใช่สติปัฏฐาน เป็นความคิด และคิดไม่ถูกด้วย เป็นอกุศล

    ถ. หมายความว่า การเจริญสติปัฏฐานจะจดจ้องเลือกกายอย่างเดียวไม่ได้

    ธัม. เลือกอะไรสักอย่างหนึ่งไม่ได้ เพราะว่าธรรมเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เป็นอนัตตา

    ถ. เลือกกายไม่ได้ เลือกเวทนาก็ไม่ได้

    ธัม. ระลึกรู้ได้ แทนที่จะเลือก ขอให้ระลึก ระลึกดีกว่าเลือก

    สุ ขออนุโมทนาพระคุณเจ้าผู้ตอบ ท่านผู้ถาม และท่านผู้ฟัง ที่ท่านมีความสนใจในคณะศึกษาธรรมท่านหนึ่ง ซึ่งความจริงคณะศึกษาธรรมชาวต่างประเทศ นอกจากท่านธัมมธโรแล้ว ยังมีท่านผู้อื่นด้วย ซึ่งดำเนินงานในการโต้ตอบจดหมายและในการจัดพิมพ์หนังสือธรรมภาษาอังกฤษด้วย แต่วันนี้ไม่ได้นำมา เป็นหนังสือที่คุณนีน่า วัน กอร์คอม ได้เขียนไว้ และมีประโยชน์ เป็นที่สนใจของชาวต่างประเทศมาก

    สำหรับคนไทยเอง ก็พอจะทราบได้ใช่ไหมว่า ในจำนวนท่านที่เข้าใจ สนใจ และเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวันนั้นมีมากหรือมีน้อย สำหรับชาวต่างประเทศน่าสนใจไหมว่า ขณะนี้จะมีการศึกษา และเข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐานและเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานมากเท่าไร

    สำหรับชาวต่างประเทศที่เมืองไทย ขอเชิญคณะศึกษาธรรมชาวต่างประเทศท่านหนึ่ง คุณโจนาธาน

    ถ. การเจริญสติปัฏฐานของท่าน ท่านได้ศึกษามานานแล้วหรือยัง

    โจ. ตั้งแต่มาอยู่เมืองไทย ๔ ปีกว่ามาแล้ว

    ถ. ทางออสเตรเลีย มีผู้ที่สนใจพระพุทธศาสนามากไหม

    โจ. น้อย ไม่มาก

    ถ. ท่านเห็นชาวต่างประเทศชาติไหนที่อบรมเจริญสติปัฏฐานบ้าง

    โจ. ที่ศรีลังกา มาเลเซีย และออสเตรเลียมี อังกฤษมีแต่ไม่มาก

    ถ. ท่านรู้สึกปริมาณจะเพิ่มขึ้นมากไหมจากเดิม

    โจ. ถ้าคนที่อยู่ต่างประเทศมีโอกาสได้ฟังเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ก็คงมากขึ้น แต่ส่วนมากไม่ค่อยมีโอกาสที่จะได้ฟัง

    ถ. ถ้าไม่มีโอกาสที่จะได้ฟัง มีตำราอ่านไหม

    โจ. มีหนังสือภาษาอังกฤษที่พิมพ์ที่กรุงเทพ และส่งไปที่ต่างประเทศหลายเล่ม ตั้งแต่ ๓ ปีมาแล้ว ส่งไปประมาณ ๓,๐๐๐ – ๔,๐๐๐ เล่ม ส่งไปต่างประเทศ และคนที่ได้รับอ่าน บางคนอ่านแล้วก็เข้าใจดีขึ้น แต่ไม่ใช่ทุกคน

    มีหนังสือเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน และเรื่องพระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน นอกจากนั้นเป็นแบบ sheet ที่พิมพ์ดีด โรเนียว จัดเป็นเล่มด้วย เรื่องเจตสิก เรื่องอภิธรรม และอีกอย่างหนึ่ง เป็นแบบจดหมายตอบปัญหาที่คุณนีน่า วัน กอร์คอมเขียน นอกจากนั้นมีเทปคาสเซ็ทที่อัดทุกวันพุธที่มีสนทนาธรรมภาษาอังกฤษกับอาจารย์ สุจินต์ เราอัดเทปไป อัดแล้วก็ทำเป็นม้วนใหญ่ ต่อไปถ้ามีใครเขียนมาขอเทป เราจะอัดชุดหนึ่งส่งไปให้ด้วย

    ถ. นับว่าอาจารย์สุจินต์เป็นกำลังสำคัญที่ช่วยเผยแพร่ต่อๆ ไป

    โจ. สำคัญมาก

    ถ. คุณปฏิบัติธรรมมาได้กี่ปีแล้ว และเพราะด้วยความเข้าใจอย่างไรในเรื่องเกี่ยวกับศาสนาจึงได้หันมาสู่การปฏิบัติธรรม

    โจ. ผมปฏิบัติมาประมาณ ๔ ปี เพราะมาเมืองไทยได้ฟังเรื่องการเจริญ สติปัฏฐาน ฟังแล้วก็สนใจ เห็นว่ามีประโยชน์ ก็เลยฟังอีก และศึกษา สนทนา

    ถ. ก่อนที่จะศึกษาจนเข้าใจ และนำไปปฏิบัติได้นี้ ใช้เวลานานไหม

    โจ. ไม่ใช่ว่าได้แล้ว จบเลยอย่างนี้ แต่ยิ่งฟังยิ่งได้

    ถ. ใช้เวลานานเป็นปีไหม

    โจ. ต้องเป็นปีๆ

    ถ. ก่อนที่คุณจะเจริญสติปัฏฐาน เคยปฏิบัติอย่างอื่นมาก่อนไหม อย่างสมถะ

    โจ. ก่อนที่จะมาฟังเรื่องสติปัฏฐานที่เมืองไทย ไม่เคยปฏิบัติแบบสมาธิ เพราะไม่เคยได้ยิน ไม่เคยฟัง

    ถ. ที่เมืองไทย บางคนเคยฟังเรื่องสมาธิมามาก อย่างดิฉันก็เหมือนกัน เคยฟังเรื่องสมาธิ และไม่ค่อยเข้าใจเรื่องสติปัฏฐาน ทั้งๆ ที่อยู่ในเมืองไทย และทั้งๆ ที่อาจารย์ผู้บรรยายก็บรรยายเป็นภาษาไทย นับว่าเป็นความประเสริฐอย่างยิ่งทีเดียวสำหรับคุณที่ฟังภาษาไทยก็ลำบาก อาจารย์ก็ต้องพูดเป็นภาษาอังกฤษ ต้องใช้ความพยายามทั้งสองฝ่าย ดิฉันขออนุโมทนา

    สุ ขอบคุณ คุณโจนาธาน ที่ได้กรุณาให้ความเข้าใจในเรื่องของชาวต่างประเทศที่สนใจในการศึกษาธรรม และการเจริญสติปัฏฐาน

    ขอเล่าเรื่องชีวิตส่วนตัวของคุณโจนาธาน ที่เกี่ยวกับการมาเมืองไทย และการได้พบพระพุทธศาสนา เพื่อท่านผู้ฟังจะได้เห็นปัจจัยของแต่ละบุคคลที่ได้สะสมมา เพราะว่าพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงเมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปี ใครจะได้รับฟัง เกิดศรัทธา และประพฤติปฏิบัติธรรมมากน้อยอย่างไร จะรู้ได้ในชีวิตนี้ ซึ่งอาจจะเกิดมาเป็นบุคคลชาติต่างๆ อยู่ในประเทศต่างๆ แต่ก็มีปัจจัยที่จะได้มีโอกาสฟังพระธรรม ได้เข้าใจ และได้ศึกษาพระธรรม

    เข้าใจว่าคุณโจนาธานมาเมืองไทยโดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะทราบว่าตอนแรกออกจากออสเตรเลียและก็ไปอินโดนีเซีย ได้พบกับท่านธัมมธโร ซึ่งตอนนั้นท่านก็บวชแล้ว ท่านธัมมธโรเริ่มเผยแพร่พระธรรมตั้งแต่ที่ท่านบวช โดยมีหนังสือที่คณะศึกษาธรรมได้พิมพ์ภาษาอังกฤษและภาษาไทย ซึ่งคุณนีน่า วัน กอร์คอม เป็นคนเขียน หนังสือเล่มนั้นมีประโยชน์มากสำหรับทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่เข้าใจพระพุทธศาสนาว่าสอนอย่างไร และชีวิตประจำวันของฆราวาสและบรรพชิตที่เป็นชาวพุทธนั้น เป็นการประพฤติปฏิบัติตามคำสอนอย่างไร

    ท่านธัมมธโรมีหนังสือหลายเล่มที่จะให้คุณโจนาธานเลือกเอากลับไป ซึ่งคุณ โจนาธานก็เลือกหนังสือของคุณนีน่า วัน กอร์คอม เรื่องธรรมทัศนะในชีวิตประจำวัน เป็นภาษาอังกฤษ และเดินทางต่อจากประเทศอินโดนีเซียมาที่เมืองไทย แต่ว่าในครั้งนั้นคิดว่าจะพักอยู่ประมาณ ๑๕ วันเท่านั้น ไม่คิดว่าจะอยู่เมืองไทยถึง ๔ ปี เพราะระหว่างนั้นหนังสือเดินทางหาย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องติดต่อขอหนังสือเดินทางใหม่ ทำให้เกินกำหนดเวลาที่คิดว่าจะอยู่เมืองไทยเพียงชั่วเวลาเล็กน้อย คือ หนึ่งหรือสองอาทิตย์ และเมื่อได้รับหนังสือเดินทางฉบับใหม่แล้ว ก็เป็นที่น่าแปลกว่า พบหนังสือเดินทางเล่มเก่าที่เข้าใจว่าหายไปอยู่ในกระเป๋าเดินทาง โดยที่ไม่น่าจะหาไม่พบเลย และไม่น่าที่จะต้องลำบากถึงกับต้องไปติดต่อขอหนังสือเดินทางเล่มใหม่

    แต่ว่าใน ๒ อาทิตย์นั้น มีโอกาสได้ฟังธรรม และมีความสนใจถึงกับบวชเป็นสามเณร แต่ก็ต้องเดินทางกลับไปประเทศก่อน และจะกลับมาอีกครั้งหนึ่ง เพราะว่ามีความตั้งใจที่จะศึกษาพระธรรมอยู่ที่เมืองไทย และได้เป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    ถ. เรื่องการปฏิบัติธรรมรู้สึกว่าจะพูดว่าง่าย ฟังก็ง่าย แต่เวลาคิดถึงความยาก ก็ยากมากเหมือนกัน อย่างคำว่า สติ เจริญสติ เป็นผู้ที่มีปกติมีสติ บางครั้งคิดว่ามีสติอยู่บ่อยๆ เนืองๆ แล้ว คือ มีรู้สึกตัวอยู่ ทำไมปัญญาจึงไม่เกิด คือ ระลึกรู้ที่เสียง ที่สี กลิ่น เย็นร้อน อ่อนแข็งอยู่เหมือนกัน แต่ว่าปัญญาไม่เกิด มีบางคนพูดว่าอย่างนี้จริงๆ

    สุ ความรู้ทั้งหมดจะมีได้โดยไม่ต้องศึกษาหรือเปล่า ถ้าขาดการศึกษาจะมีความรู้ได้ไหม นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก แม้แต่ในทางโลก เพราะฉะนั้น ความรู้ทั้งหมดที่จะเกิดมีขึ้นได้นั้น ก็โดยมีการศึกษา

    ในพระพุทธศาสนาใช้คำว่า สิกขา เพราะฉะนั้น ที่จะให้รู้แน่ว่า สติเกิดหรือเปล่า มีสติหรือเปล่า คือ กำลังศึกษา พิจารณา เพื่อรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏหรือเปล่า นี่เป็นเครื่องวัดว่า ขณะนั้นสติที่เกิดเป็นสติปัฏฐานหรือเปล่า

    เพราะขณะใดก็ตามที่มีการศึกษา เริ่มรู้ น้อมไปที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นไม่ต้องห่วงหรือกังวลว่ามีสติหรือเปล่า เพราะขณะนั้นสติเกิดแล้ว จึงมีการศึกษาพิจารณาลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    อย่างในขณะนี้ สติเกิด คือ กำลังน้อมไปที่จะรู้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง การน้อมไปในขณะนี้ คือ ไม่หลงลืมแล้ว เมื่อครู่นี้ลืมไป ก็เห็นเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุ แต่ขณะที่น้อมไปที่จะรู้ว่าเป็นเพียงสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นสติเกิด

    หรือขณะที่กำลังได้ยิน เมื่อครู่นี้ก็ได้ยินมากมายหลายขณะ ผ่านไปแล้ว แต่ขณะใดที่กำลังน้อมไปที่จะรู้ว่า เสียงปรากฏ ขณะนั้นอย่างอื่นไม่ปรากฏในขณะที่เสียงปรากฏ ขณะนั้นสติกำลังระลึกที่เสียง แม้ว่ากำลังลืมตา ทั้งเห็น ทั้งได้ยิน แต่ว่าขณะใดที่น้อมไปที่เสียง รู้ว่ามีแต่เสียงเท่านั้นที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นเป็นสติที่ระลึกที่เสียง

    และสำหรับนามธรรมที่ได้ยิน ไม่ใช่ชื่อ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ปัญญาสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้ แต่ว่าโดยการที่จะต้องน้อมไปเพื่อที่จะสังเกต หรือเพื่อที่จะรู้ว่า ที่เสียงปรากฏขณะนั้นต้องมีสภาพรู้เสียง ลักษณะรู้เป็นลักษณะที่ไม่ขาดเลยในชีวิตตั้งแต่เกิดมา ลืมตาขึ้นมาก็รู้สิ่งที่ปรากฏ คือ เห็น เวลาที่เสียงปรากฏ สภาพรู้นั้นก็รู้เสียง ถ้าไม่มีสภาพที่กำลังรู้เสียง เสียงนั้นจะปรากฏไม่ได้

    แต่สภาพรู้นี้เกิดดับสืบต่อจนกระทั่งไม่ประจักษ์ว่า เป็นสภาพรู้แต่ละชนิด แต่ละลักษณะ ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว สภาพรู้สี คือ รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้เอง เป็นสภาพรู้ชนิดหนึ่ง ต่างกับขณะที่เสียงปรากฏ เวลาที่เสียงปรากฏ ต้องมีสภาพที่กำลังรู้เฉพาะเสียงที่กำลังปรากฏเท่านั้น

    เพราะฉะนั้น ลักษณะของสภาพรู้ที่ปรากฏในวันหนึ่งๆ เปลี่ยนไปตามอารมณ์ที่ปรากฏ เวลาที่สิ่งที่ปรากฏทางตาปรากฏ ก็มีสภาพรู้สิ่งนั้น เวลาที่เสียงปรากฏทางหู ก็มีสภาพรู้เสียงนั้น



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๗๖ ตอนที่ ๗๕๑ – ๗๖๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 45
    28 ธ.ค. 2564