แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 747


    ครั้งที่ ๗๔๗


    ถ. ผู้ที่ได้ปฐมฌานแล้วเขาก็รู้ว่า ปฐมฌาน องค์ฌานประกอบด้วยวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา

    สุ. องค์ของฌานประกอบด้วยวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ทั้งหมด ที่สงบ

    ถ. หมายความว่า ผู้ที่เจริญฌานอย่างเดียว โดยไม่ได้เจริญวิปัสสนา เขาก็ต้องรู้ปรมัตถ์ด้วย

    สุ. เวลานี้ถ้าท่านผู้ฟังโกรธ รู้ตามความเป็นจริงหรือเปล่าว่า กำลังโกรธ ถ้าท่านเสียใจ กำลังเสียใจ ท่านรู้ไหมว่า เสียใจ รู้ในอาการที่เสียใจ รู้ในอาการที่โกรธ รู้ในอาการที่ดีใจ รู้ในอาการที่กำลังสนุกร่าเริง รู้ในลักษณะอาการที่ปรากฏของสภาพธรรมทั้งหลาย แต่ยึดถือสภาพธรรมทั้งหมดนั้นว่าเป็นเรา

    เพราะฉะนั้น คนที่เจริญสมถภาวนาจริงๆ ลักษณะของวิตกเจตสิกปรากฏ วิจารเจตสิก ปีติเจตสิก สุขเวทนาปรากฏ เอกัคคตา สภาพที่ตั้งมั่นคงที่อารมณ์นั้น ก็ปรากฏ แต่เป็นเราทั้งหมด ไม่ได้รู้เลยว่าเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล กำลังโกรธเดี๋ยวนี้ และรู้ว่าโกรธ เราโกรธฉันใด เวลาที่สงบอย่างนั้น ก็รู้ในขณะนั้นว่าสงบ แต่ว่าเป็นเราที่สงบฉันนั้น เพราะว่าเป็นเพียงสมถภาวนา

    ถ. ลักษณะของวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ผู้ที่เจริญฌานก็ต้องรู้จักลักษณะของเขา

    สุ. ก็เช่นเดียวกับเวลานี้ ท่านผู้ฟังก็รู้ เวลาโกรธก็รู้ เวลาดีใจก็รู้ เสียใจก็รู้ แต่ว่าเป็นเราทั้งหมด ฉันใด เวลาที่วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตาปรากฏแก่ผู้ที่เจริญฌาน ท่านเหล่านั้นก็รู้ในลักษณะของสภาพธรรมแต่ละองค์ แต่ละลักษณะ แต่ว่าเป็นเรา ไม่ใช่ว่าเป็นสภาพธรรมแต่ละชนิดซึ่งไม่ใช่ตัวตน

    ถ. ผู้ที่เจริญฌาน เขาต้องเจริญแบบเดียวกันกับที่อาจารย์กล่าวไว้ในครั้งก่อนว่า เขาต้องเจริญแบบเดียวกัน เหมือนกันกับเจริญวิปัสสนา

    สุ. เหมือนอย่างไร

    ถ. หมายความว่า จะต้องรู้ปรมัตถธรรมด้วย

    สุ. มิได้ สภาพธรรมเวลานี้ก็กำลังปรากฏตามปกติ แต่ถ้าไม่ใช่สติปัฏฐานไม่สามารถที่จะละการยึดถือสภาพนั้นๆ ว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้ เวลาที่เป็นกุศล จิตใจผ่องใส มีเมตตาเกิดขึ้น มีความกรุณาเวลาที่เห็นคนที่กำลังเดือดร้อนทุกข์ยาก ขณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมซึ่งบุคคลนั้นก็รู้ว่า กำลังมีกรุณา ไม่ใช่มีจิตที่เบียดเบียนประทุษร้าย แต่ว่าเป็นเรา เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ตราบใดที่ไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน

    ถ. ขณะที่มีกรุณาก็ดี มีเมตตาก็ดี ผู้ที่ไม่ได้เจริญสติปัฏฐานมักจะไม่ได้สังเกตว่า เป็นลักษณะของเมตตา ลักษณะของกรุณา แต่ผู้เจริญฌาน เขาจะต้องสังเกตด้วย

    สุ. ต้องรู้ทีเดียวว่า เป็นความสงบขณะนั้นเพราะอะไร เกิดขึ้นมีลักษณะอย่างไร เป็นเมตตา หรือว่าเป็นกรุณา หรือว่าเป็นมุทิตา หรือว่าเป็นอุเบกขา

    ถ. ที่ผมกล่าวว่า ผู้ที่เจริญฌานนี้จะต้องรู้ปรมัตถธรรม เพราะผมคิดว่า …

    สุ. รู้สภาพธรรม แต่ไม่เห็นความเป็นปรมัตถธรรม ไม่เห็นว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

    ถ. หมายความว่า รู้สภาพธรรม ไม่ใช่รู้ปรมัตถธรรม ใช้คำผิดไป

    ถ. ผู้ที่ปรารถนาจะได้ฌาน หรือผู้ที่ปรารถนาจะเจริญสมถะ ถ้าปกติเขาไม่เห็นโทษของอกุศล ไม่เป็นผู้ที่ปกติสะสมกุศลไว้อย่างมากอย่างมีกำลัง ผู้นั้นจะสำเร็จสมถะได้หรือเปล่า ถ้าผู้นั้นไม่เห็นโทษของอกุศล ไปนั่งเพ่งลมหายใจ หรือท่องพุทโธนี้ ผู้นั้นจะสำเร็จได้หรือไม่ กับผู้ที่เห็นสภาพของอกุศล และเจริญกุศล เพียรละอกุศล รู้สภาพของความสงบของจิต เส้นทางนี้ใช่หรือไม่ที่จะก้าวขึ้นสู่สมถะ สำเร็จเป็นฌาน

    สุ. ผู้ที่จะอบรมเจริญสมถภาวนาจนกระทั่งบรรลุถึงอุปจารสมาธิ หรือ อัปปนาสมาธิซึ่งเป็นฌานจิต ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญารู้ลักษณะของความสงบ ถ้าความสงบไม่เกิด จะรู้ลักษณะของความสงบได้ไหม

    ถ. ผมรู้แล้วว่า ลักษณะความสงบเป็นอย่างไร

    สุ. ธรรมต้องละเอียด รู้เมื่อไหร่ ต้องซักถามกันจริงๆ เป็นขั้นๆ เพื่อข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง

    ถ. ตอนที่ว่าจิตนั้นเป็นเมตตา หรือว่าเป็นกุศลขณะใดขณะหนึ่ง

    สุ. ท่านกล่าวว่า รู้ในขณะที่จิตเป็นเมตตา ถูก และอย่างไรต่อ

    ถ. ผมก็รู้ว่า ผู้ที่จะสำเร็จสมถะนี้จะต้องอาศัยจุดนี้ สะสมอบรมไว้มาก และจิตนี้สงบมากขึ้น สมถะนี้ค่อยๆ ปรากฏ ค่อยๆ สำเร็จไป ถ้าขาดจุดนี้ในชีวิตปกติประจำวัน ผู้นั้นไม่มีหนทางเลย

    สุ. เหตุต้องตรงกันผล ท่านผู้ฟังเข้าใจลักษณะของความสงบขณะที่เป็นกุศลประกอบด้วยเมตตา ไม่ใช่ในขณะอื่น เพราะฉะนั้น ที่ท่านจะเจริญความสงบยิ่งขึ้นได้ ก็เมื่อระลึกด้วยกุศลจิตที่ประกอบด้วยเมตตาพร้อมปัญญาเนืองๆ เพราะฉะนั้น สมถกัมมัฏฐานนี้ถึงได้มี ๔๐ ประการ

    ถ. ระยะหลังจึงจะเข้าใจว่า เพราะเหตุนี้เอง ที่ว่าปกติจะต้องเจริญกุศลทางกาย วาจา ใจให้มากที่สุด สมถะนั้นเป็นบาทเป็นฐานให้เกิดฌานขั้นสูง ไต่ขึ้นมาอย่างนี้ แต่ปกติเจริญกุศลทางกาย วาจา ใจ เช่นนี้จึงจะถูกมากกว่า ทุกสถานที่ ทุกโอกาสเท่าที่ผมจะทำได้ จุดนี้จะสำเร็จสมถะขั้นต่อไป ถ้าผู้ใดไม่ทำอย่างนี้แล้ว หนทางเป็นไปไม่ได้ เหตุผลไม่ตรงกัน

    สุ. การเจริญสมถภาวนา เป็นการเจริญความสงบของจิต อย่าลืม ความสงบทางกาย คือ กายสุจริต ความสงบทางวาจา คือ วจีสุจริต หลายท่านรักษาได้ เป็นผู้ที่มีกายสุจริต มีวจีสุจริต แต่ใจละเอียดยิ่งกว่ากายและวาจา

    ท่านยังไม่ได้กระทำทุจริตทางกาย ท่านยังไม่ได้ทำทุจริตทางวาจา แต่ใจเป็นอย่างไร เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล สงบหรือไม่สงบ

    การเจริญสมถภาวนา คือ การอบรมจิตให้สงบ ไม่ใช่เพียงการวิรัติทุจริตทางกาย ทางวาจาเท่านั้น เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะอบรมเจริญความสงบของจิต ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด ปัญญาจะต้องรู้ลักษณะสภาพของจิต แม้ในขณะที่ไม่ได้ประกอบทุจริตทางกาย ทางวาจาว่า ในขณะนั้นจิตนั้นสงบหรือไม่สงบ ต้องรู้ความต่างกันของจิตที่ไม่สงบที่ประกอบด้วยโลภะ หรือโทสะ หรือแม้ไม่ประกอบด้วยโลภะ โทสะ ก็เป็นโมหะ จะต้องรู้ด้วย มิฉะนั้นแล้ว ไม่สามารถที่จะอบรมเจริญความสงบของจิต เพราะว่าความสงบของจิตจะมีได้ ต้องปราศจากทั้งโลภะ โทสะ และโมหะ

    เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่มีโมหะ คือ เป็นผู้ที่ไม่เข้าใจในเรื่องการเจริญสมถกัมมัฏฐาน เพียงแต่ได้รับคำบอกเล่าว่า ให้มานั่งจดจ้องที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด หรือว่า ให้นั่งสบายๆ ทำใจให้ว่างๆ ปล่อยวางให้หมด และจะสงบ นั่นไม่ใช่ปัญญาที่รู้ลักษณะที่ต่างกันของจิตที่ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ เพราะแม้ขณะนั้นจิตจะปราศจากโลภะ โทสะ แต่ไม่ปราศจากโมหะ เพราะไม่รู้ว่าจิตที่เป็นโมหะคือขณะไหน อย่างไร ลักษณะของจิตที่จะปราศจากโมหะซึ่งเป็นกุศล ที่จะเป็นผู้ที่สามารถอบรมเจริญความสงบได้นั้น ต้องประกอบด้วยอโลภะ อโทสะ และอโมหะ

    ต้องมีปัญญาจริงๆ รู้ลักษณะของจิตจริงๆ โดยละเอียดว่า จิตที่ประกอบด้วยโลภะขณะไหน จิตประกอบด้วยโทสะขณะไหน จิตที่ไม่ประกอบด้วยโลภะ โทสะ แต่ประกอบด้วยโมหะขณะไหน เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่เข้าใจเรื่องการอบรมเจริญสมถภาวนาจริงๆ ไม่สามารถที่จะเจริญสมถภาวนาได้ แต่ไปยึดถือสภาพของจิตที่เป็นความต้องการอย่างละเอียดว่า เป็นความสงบ

    ผู้ฟัง แต่ก่อนนี้ผมก็ไม่รู้ เขาให้ท่องพุทโธ ผมก็ท่องพุทโธ เขาให้นับ ๑ ถึง ๑๐ ก็นับทั้งคืน เขาให้ทำอะไรก็ทำตาม เพิ่งมาได้ความรู้เมื่อฟังอาจารย์บรรยายช่วงหลังๆ นี้ว่า พุทโธ พุทโธ ท่องไปก็ไม่มีความหมาย ถ้าไม่ซาบซึ้งถึงพระพุทธคุณตามความเป็นจริง

    ถ. พระผู้มีพระภาคสอนผู้ที่เป็นพระโสดาบันแล้วให้ไปทำฌาน แต่สอนปุถุชนให้ไปทำฌานด้วยหรือเปล่า ผมยังไม่เคยเจอ

    สุ. ตอนไหนที่พระผู้มีพระภาคสอนให้พระโสดาบันไปทำฌาน ต้องมีที่อ้าง

    ถ. ผมได้ยินมา แต่ท่านกล่าวว่า มาจากพระไตรปิฎกเหมือนกัน

    สุ. กล่าวว่า แต่อยู่ที่ไหน ข้อความเป็นอย่างไร มีอรรถ คือ ความหมายอย่างไร

    ถ. ท่านมีเหตุผลกล่าวไว้บ้าง คือว่า พระโสดาบันนี้เมื่อได้นิพพานแล้ว ได้มรรคจิต ผลจิต ก็ไปทำฌาน เมื่อทำฌานแล้ว ถ้าทำไปถึงรูปฌาน อรูปฌาน ฌานจิตก็ตันอยู่แค่นั้น

    สุ. ทำไมไม่ทรงแสดงธรรมให้เจริญสติปัฏฐานจนกระทั่งดับกิเลสต่อไปเป็นพระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ มีหรือที่พระผู้มีพระภาคจะให้สาวกกระทำสิ่งอื่น หนทางอย่างอื่น ซึ่งไม่ใช่ข้อปฏิบัติที่จะดับกิเลสหมดเป็นสมุจเฉท

    เท่าที่ปรากฏในพระไตรปิฎก แม้พระอริยสาวกจะได้บรรลุคุณธรรมเป็น พระโสดาบันแล้ว พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงโทษของภพทั้งหลาย ถึงแม้ว่า พระโสดาบันจะมีการเกิดอีกอย่างมากที่สุดเพียง ๗ ชาติ พระผู้มีพระภาคก็ยังทรงแสดงโทษภัยให้พระโสดาบันนั้นได้เห็นภัยของภพ แม้ว่าจะเป็นสวรรค์ก็ตาม ให้เห็นว่าไม่ควรที่จะติดอยู่ หรือว่าไม่ควรที่จะทิ้งกิเลสไว้โดยไม่ดับให้ถึงความเป็นพระอรหันต์เสียโดยเร็ว ไม่ใช่หนทางอื่น ไม่ใช่ให้ไปทำอย่างอื่น เพื่อผลอย่างอื่น

    . ถ้าไปทำฌานแล้ว รู้ว่าฌานจิตยังสู้มรรคจิตไม่ได้ จึงกลับมาทำสกทาคามีต่อ

    สุ. ทำไมให้เสียเวลาอย่างนั้น เป็นพระโสดาบันแล้วยังไม่รู้อีกหรือว่า ไม่มีอะไรที่จะสู้มรรคจิตได้

    ถ. ก็ฌานจิตยังไม่ได้ จะไปรู้ได้อย่างไรว่า ฌานจิตจะสู้มรรคจิตไม่ได้

    สุ. ถ้ารู้ว่ามรรคจิตประเสริฐที่สุด จะใช้คำว่าประเสริฐที่สุดก็ต่อเมื่อเห็นคุณแล้วว่า สามารถที่จะดับกิเลสได้จริงๆ

    ถ. แต่ฌานจิตยังไม่ได้ เพราะฉะนั้น ต้องได้ฌานจิตมาเทียบกันเสียก่อน

    สุ. ไม่มีปรากฏในพระไตรปิฎก ที่พระผู้มีพระภาคจะให้ไปทดลองให้ฌานจิตเกิดเสียก่อน และกลับมาเจริญมรรคจิต

    ถ. ทีหลังผมจะไปถามท่านว่า หลักฐานอยู่ที่ไหน และจะเอามาอ้างอีกที

    สุ. เพราะฉะนั้น จะขอกล่าวถึงข้อความบางตอนในพระไตรปิฎก ซึ่งอาจจะเป็นเหตุให้บางท่านเข้าใจอย่างนั้นได้ แต่ก่อนอื่นท่านผู้ฟังจะต้องพิจารณาใคร่ครวญในเหตุผลว่า ประโยชน์สูงที่สุดในชีวิต คือ การได้รู้แจ้งสัจธรรม ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นในขณะนี้ นี่คือประโยชน์ที่สุด เพราะถ้าไม่ประจักษ์ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ ไม่มีหนทางที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท

    ถึงแม้ว่าจะเป็นกุศลขั้นทาน ขั้นศีล หรือขั้นความสงบของจิต ซึ่งจะสงบขึ้นๆ สักเท่าไรก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถที่จะดับความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล และไม่สามารถที่จะดับกิเลสทั้งหลายเป็นสมุจเฉทได้

    เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้พิจารณาว่า พระผู้มีพระภาคจะทรงโอวาทให้ พระสาวกทั้งหลายอบรมเจริญอะไร เพื่อที่จะได้พ้นจากความทุกข์โดยสิ้นเชิงถึงการบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ ซึ่งพระอริยสาวกทั้งหลาย ท่านย่อมประจักษ์ลักษณะที่ไม่เที่ยงของนามธรรมและรูปธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง

    และตามความเป็นจริงของแต่ละท่าน ท่านได้อบรมเจริญความสงบจนกระทั่งสงบแนบแน่นในอารมณ์ถึงขั้นอัปปนาสมาธิหรือเปล่า นี่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

    ขณะนี้ไม่ว่าสภาพธรรมใดจะปรากฏ ผู้ที่เป็นพระอริยสาวกสามารถประจักษ์ในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล โดยที่ยังไม่ถึงฌานจิต ไม่ต้องสงบถึงฌานจิตเลย ก็สามารถที่จะประจักษ์ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์เพราะไม่เที่ยง และสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนได้ เพราะฉะนั้น พระอริยสาวกทั้งหลาย ท่านยังจะหวังที่จะต้องไปอบรมเจริญฌานจิตไหม ในเมื่อท่านสามารถจะประจักษ์ได้ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมใดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกุศล หรืออกุศลก็ตาม

    ธรรมทั้งหมดที่ได้ยินได้ฟัง จะแจ่มแจ้งเมื่อมีการศึกษา เพิ่มความรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ พร้อมสติที่ระลึกได้ ไม่หลงลืม

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมว่า สิ่งทั้งหลายจะปรากฏได้ก็เพราะการเกิดขึ้นของจิต

    ขณะนี้อะไรก็ตามที่กำลังปรากฏ ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนั้น สิ่งนั้นจะปรากฏไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ความจริงอย่างนี้ต้องพร้อมสติที่ระลึกได้ว่า ขณะนี้อะไรกำลังปรากฏ ทางตามีสภาพธรรมใดปรากฏ แสดงว่าเพราะจิตเกิดขึ้น สภาพนั้นจึงเป็นอารมณ์ของจิตที่กำลังรู้ในอารมณ์นั้นได้ ไม่ว่าจะเป็นเสียง ก็ต้องปรากฏพร้อมการเกิดขึ้นของจิตที่รู้เสียงในขณะนั้น นี่เป็น สติปัฏฐาน เป็นสภาพธรรมที่กำลังมี กำลังเป็น กำลังเกิดดับ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า เสียงปรากฏพร้อมการเกิดของจิต ถ้าจิตไม่เกิดขึ้น ถึงแม้ว่าเสียงจะมีอยู่ทั่วไปในโลก ก็ไม่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น การปรากฏของโลก ใช้คำว่า โลก ก็คือรูปธรรมทั้งหลายที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และสภาพธรรมทั้งหลายก็ตามที่ปรากฏนั้น ซึ่งเป็นโลกทั้งสิ้นปรากฏได้ ก็เมื่อจิตเกิดขึ้น

    ถ้าปฏิสนธิจิตไม่มี การที่โลกจะปรากฏก็ย่อมไม่มี ไม่มีโลกใดๆ ปรากฏเลย เพราะฉะนั้น ไม่ว่าตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ สภาพธรรมใดปรากฏ ก็ต้องปรากฏพร้อมกับการเกิดของจิต นี่คือการที่จะไม่ยึดถือสภาพธรรมใดๆ ว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เพราะว่ามีการศึกษา พร้อมสติที่ระลึกได้ ในขณะแต่ละขณะ ที่มีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส มีการรู้ธรรมต่างๆ ทางใจ

    เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า สมถะนั้นเป็นขณะที่ระลึกได้ในสภาพที่ไม่สงบ และสงบ เพราะรู้ว่าระลึกอย่างไร ในอารมณ์ใด ด้วยความแยบคายอย่างไร จิตจึงสงบ ซึ่งต่างกับการศึกษาพร้อมการไม่หลงลืม คือ สติที่ระลึกรู้ในลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ผู้ใดที่ยังมีกิเลสอยู่ เช่น ความไม่รู้ ทางตาน่าจะเป็นอนุสสติอย่างหนึ่งที่ทำให้รู้ได้ว่า ยังมีความไม่รู้อยู่ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา และในสภาพเห็นที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา นี่เป็นปัญญาที่รู้ความจริงอย่างนี้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้เกิดการระลึก ไม่หลงลืมที่จะศึกษา คือ เพียรที่จะเข้าใจให้ถูกต้องว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา และปรากฏได้พร้อมกับจิตที่เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา นี่เป็นสติปัฏฐาน ซึ่งจะต้องอบรมเจริญไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ถ้าท่านผู้ฟังยังไม่เจริญปัญญาที่จะรู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏอย่างนี้ แต่จะมุ่งที่จะให้จิตสงบที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดถึงความเป็นฌานจิต ก็ย่อมจะขาดโอกาสที่จะศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และเพิ่มปัญญาที่จะเห็นความจริงของสภาพธรรมที่ปรากฏว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๗๕ ตอนที่ ๗๔๑ – ๗๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 45
    28 ธ.ค. 2564