แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 737


    ครั้งที่ ๗๓๗


    ความอดทนนี้มีมากมายหลายประการ ร้อนไป หนาวไป ไม่สะอาด หรืออะไรอย่างนี้ก็แล้วแต่ ที่จะไม่อดทน ในอาหารที่ไม่อร่อย ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส หรืออดทนต่อความนับถือและความดูหมิ่นของคนทุกประเภท ต้องมีความอดทน และท่านที่มีความอดทนแล้ว จะเห็นคุณของความอดทนจริงๆ ว่า ขณะใดที่มีความอดทน ขณะนั้นจิตไม่หวั่นไหว เป็นจิตที่คงที่ ไม่เดือดร้อนไปด้วยอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์

    ในพระไตรปิฎก ท่านผู้ฟังจะได้ยินคำว่า อภิภายตนะ แต่โดยมากท่านจะได้ยินคำว่า อายตนะ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งเป็นทางที่จะรู้อารมณ์ที่เป็น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และอารมณ์ต่างๆ ทางใจ แต่ว่าอายตนะที่เป็น อภิภายตนะ คือ ขณะที่ไม่หวั่นไหวในขณะที่กระทบกับอารมณ์ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ สามารถที่จะมีกำลัง ครอบงำอายตนะได้ด้วยความไม่ยินดียินร้าย ซึ่งจะเป็นไปได้ก็ด้วยการเจริญภาวนากุศล เพราะว่าจิตย่อมหวั่นไหวไปได้ทุกขณะ ที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง รู้โผฏฐัพพะบ้าง รู้เรื่องราวต่างๆ บ้าง จิตหวั่นไหวอยู่เสมอ บางครั้งเป็นโลภะ บางครั้งเป็นโทสะ ถ้าจิตไม่สงบ ไม่มั่นคง ก็ย่อมจะหวั่นไหว

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ที่จิตจะไม่หวั่นไหวในความยินดียินร้ายทั้งหลายนั้น ก็ต้องเป็นไปในขั้นของภาวนากุศล ซึ่งเป็นสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา

    คำว่า ภาวนา ไม่ใช่ท่องบ่น แต่ว่าเป็นการอบรมทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าจะเป็นความมั่นคงขึ้น

    ถ. คิดว่า บางครั้งสามารถทำจิตใจให้สงบได้

    สุ. ที่ว่าสงบ ความหมายว่าอย่างไร สงบหรือไม่สงบขณะนั้น ต้องตรง และต้องจริง ถ้าไม่สงบ ก็อย่าว่าสงบ

    ถ. มีครั้งหนึ่งรู้สึกว่า ตนเองหลุดพ้น คือ ไม่มีตัวตน ไม่มีอะไรเป็นของเรา รู้สึกจิตใจเข้มแข็ง แต่พอได้ยินคำพูดหรืออะไรที่ทำให้เราไม่พอใจ โดยเฉพาะจากคนที่เรารักมากที่สุดก็รู้สึกว่า ความเศร้าใจกลับมาครอบงำเราอีก และที่ท่านอาจารย์บอกว่า จะสำเร็จได้ด้วยการภาวนา การอบรมทีละขั้นด้วยปัญญา จะทำอย่างไร

    สุ. ด้วยปัญญา เพราะถ้าไม่ใช่ปัญญา ไม่สามารถจะรู้ว่า ที่เข้าใจว่าสงบนั้นความจริงไม่สงบ ถ้าสงบ ต้องเป็นกุศล ต้องมีปัญญารู้ลักษณะสภาพของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนั้นว่า เป็นความสงบหรือไม่ใช่ความสงบ ซึ่งเป็นขั้นสมถภาวนา แต่ถ้ารู้ว่าไม่ใช่ตัวตน นั่นเป็นสติปัฏฐาน เป็นวิปัสสนาภาวนา

    เพราะฉะนั้น ในตอนแรกที่บอกว่าไม่ยึดถือเป็นตัวตน อาจจะยึดถืออยู่ก็ได้ คิดเท่านั้นว่าไม่ยึดถือ แท้ที่จริงแล้ว ตราบใดที่ปัญญายังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ กล่าวไม่ได้เลยว่า ไม่มีความยึดถือ

    ถ. ทำอย่างไรจึงจะสร้างปัญญาให้เกิด

    สุ. อบรมเจริญปัญญา รู้ว่าปัญญาคืออะไร ปัญญารู้อะไร ปัญญาเกิดได้อย่างไร ถ้าไม่มีเหตุ ปัญญาเกิดไม่ได้ และถ้าปัญญาไม่เกิด ก็ไม่รู้ลักษณะของปัญญา

    ปัญญา เป็นการเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ

    เวลาที่ชอบสิ่งหนึ่งสิ่งใด รู้ไหมว่ากำลังพอใจในสิ่งนั้น ขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล ความพอใจเป็นกุศลหรืออกุศล ดีหรือไม่ดี ปัญญาต้องรู้ตามความเป็นจริง ส่วนมากที่ทุกคนไม่ชอบ คือ ไม่ชอบโทสะ เพราะว่ากระสับกระส่าย เร่าร้อน เดือดร้อน แต่โลภะ ความยินดี ความพอใจ ชอบมาก เท่าไรไม่พอ อย่าคิดว่าเห็นโทษของโลภะ เพราะว่ากำลังมัวเมาหมกมุ่นอยู่ในสิ่งนั้น จะโทษสิ่งนั้นได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ส่วนมากที่ไม่ชอบนี้ ไม่ชอบธรรมที่เป็นโทสะ แต่ว่าชอบเหลือเกินในธรรมที่เป็นโลภะ แสวงหาอยู่เรื่อยๆ จนกระทั่งไม่เห็นว่าเป็นโทษ ไม่เห็นว่าเป็นภัย เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นต้องเป็นปัญญาที่รู้ตรงตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่โทสะก็จริง แต่เป็นโลภะ ซึ่งเป็นโทษด้วย เป็นอกุศลด้วย ต้องเห็นโทษทั้งโทสะและโลภะ ไม่ใช่เห็นแต่โทษของโทสะเท่านั้น

    และที่ว่าเป็นทุกข์ ก็เพราะว่าไม่ประสบกับสิ่งที่พอใจ พอประสบกับสิ่งที่พอใจ เป็นทุกข์ไหม ไม่เป็นแล้ว เป็นสุขแล้ว

    ถ. พอโทสะเกิดขึ้น คือ มีจิตแค่หมอง ก็รู้ในความหมองนั้น และก็จะมีเมตตาเกิด แต่ที่โทสะเกิดอย่างนี้ ทำอย่างไรจะไม่เกิด

    สุ. ปัญญาต้องรู้ขึ้นอีก ปัญญาแค่นั้นไม่พอที่จะไปดับโทสะ ปัญญาต้องรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง และเห็นโทษในสิ่งที่เป็นโทษ อยากจะให้อกุศลหมดโดยเร็วใช่ไหม เร็วไม่ได้ ปัญญาต้องรู้มากกว่านั้นมากเหลือเกิน กว่าจะดับกิเสได้

    ถ. ต้องพิจารณาอารมณ์ให้ละเอียดหรืออย่างไร คือ เจริญสติปัฏฐานอย่างเดียว

    สุ. เจริญสติปัฏฐานได้ แต่ว่าสติปัฏฐานไม่ได้เกิดบ่อยตามที่ปรารถนา ตามที่ต้องการ

    ถ. ส่วนมากจะเป็นอารมณ์สมถะมากกว่า คือ ขณะที่รู้ เป็นสติที่รู้ แต่ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย รู้สึกว่าจะมีมาก

    สุ. เพราะฉะนั้น อบรมเจริญปัญญา

    ถ. ให้มีปัญญามากขึ้น อย่างนั้นใช่ไหม

    สุ. แน่นอน ปัญญาเท่านั้นที่ละกิเลสได้ สติไม่สามารถดับกิเลสได้

    ถ. ถ้ามีสติเป็นส่วนใหญ่ แต่มีปัญญาน้อย อกุศลยังเกิด

    สุ. ก็ต้องอบรมเจริญปัญญาขึ้นอีก

    ถ. จนกว่าปัญญาจะเกิดบ่อยอย่างนั้นหรือ

    สุ. ต้องเจริญขึ้นอีกมากทีเดียว

    ถ. ผมมีวิธีแก้ความโกรธ เผื่อจะเป็นประโยชน์บ้าง คือ เคยฟังอาจารย์บรรยายอะไรหลายๆ เรื่อง สมมติเราโดนด่า ก็เพราะแต่ก่อนเราเคยไปด่าเขาไว้ หรือโดนเขาตี หรือโดนเขาโกง อะไรพวกนี้ โดยมากมีเหตุมาจากว่า เคยไปทำเขาไว้ก่อน คิดอย่างนี้ความโกรธก็หายไป สองสามวันนี้ผมถูกล่อลวงเอาเงินไป ก็กลับนึกสงสารว่า เขาจะต้องได้รับทุกข์ทรมานจากการคดโกงของเขา นี่เป็นวิธีการของผมที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน

    สุ. และถ้าท่านผู้ฟังสังเกตจะเห็นได้ว่า สภาพของจิตที่เมตตากรุณา ตรงกันข้ามกับขณะที่โกรธ ความสุขต่างกัน ความผ่องใสของจิตต่างกัน ไม่มีความเศร้าหมองในขณะนั้น แต่ถ้าโกรธ ในขณะนั้นเป็นความเศร้าหมองของจิต ไม่ใช่สภาพของกุศลธรรม

    ข้อความต่อไปใน อรรถสาลินี มีว่า

    อันพุทธการกธรรมนั้นจะมีแต่เพียงเท่านี้ก็หามิได้ เราจักเลือกเฟ้นธรรมอันเป็นเครื่องบ่มโพธิญาณอื่นอีก เมื่อเราเลือกเฟ้นในกาลนั้น ได้พบสัจจบารมี ซึ่งพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาซึ่งคุณอันยิ่งใหญ่ครั้งก่อนๆ บำเพ็ญอบรมกันมา จักเป็น พุทธการกธรรมข้อที่ ๗ สอนตนว่าดังนี้

    เธอจงสมาทานสัจจบารมี อันเป็นพุทธการกธรรมข้อที่ ๗ นี้ให้มั่นต่อไป เธอมีถ้อยคำไม่เป็นสองในบารมีนั้น จักได้บรรลุสัมโพธิญาณ อันดาวประจำรุ่งย่อมเป็นดาราประจำวิถีในโลกนี้ทั้งเทวโลก ไม่โคจรละลงจากวิถีทุกสมัย ทุกฤดู หรือทุกปี ฉันใด แม้เธอก็เหมือนกัน อย่าเดินละลงจากวิถีในความสัตย์ บำเพ็ญสัจจบารมีแล้วจักได้บรรลุสัมโพธิญาณแล

    สัจจะมีความสำคัญมาก เป็นเรื่องจริง ไม่ควรจะยาก หรือคำจริง คำสัตย์ ก็ไม่ควรจะยากที่จะกล่าว ความตรงไปตรงมา ความจริงใจ ไม่ควรที่จะยาก แต่อะไรทำให้หลายคนไม่จริงใจ ไม่ตรง

    อกุศลธรรม คือ โลภะ ความยึดมั่นในความเป็นตัวตนมีมาก ความใคร่ ความปรารถนาทุกสิ่งทุกประการเพื่อตัว สามารถที่จะหลอกได้แม้ตัวเอง ไม่ตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ทั้งๆ ที่ไม่ใช่เป็นปัญญาก็อยากจะให้เป็นปัญญา เพราะความเป็นตัวตนที่ยึดมั่น ที่ต้องการสิ่งที่ดีเสมอสำหรับตนเอง แม้ว่าขณะนั้นรู้ว่าไม่ถูก แต่เพราะความต้องการในหนทางข้อปฏิบัติอย่างนั้น ก็ทำให้ยึดมั่นไม่ยอมที่จะละคลาย ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ใช่ความตรง เพราะฉะนั้น สัจจบารมีจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมากที่จะทำให้สามารถที่จะรู้แจ้งในสัจธรรมของนามธรรมและรูปธรรมได้

    เวลาที่เจริญสติปัฏฐาน จะทำให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงยิ่งขึ้น บางคนกล่าวว่า รู้ตัวเองว่าขณะใดมีมายาหรือมารยาในขณะที่พูดคำที่ไม่จริง และรู้ด้วยว่าเกิดอาการอย่างนั้นเพราะอะไรเป็นปัจจัย

    นี่เป็นสภาพธรรมที่จะต้องละ อกุศลธรรมทั้งหลายต้องละ ต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อสภาพธรรมจริงๆ มิฉะนั้นแล้วไม่สามารถที่จะเห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ เพราะยังมีอกุศลธรรมที่ทำให้คลาดเคลื่อนไป เป็นผู้ที่ไม่ตรงต่อสภาพธรรม

    ถ. หลังจากพระพุทธเจ้าทีปังกรได้พยากรณ์ว่า สุเมธดาบสจะได้เป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในกาลข้างหน้า สุเมธดาบสก็พยายามคิดค้นบารมีทั้ง ๑๐ เพื่อจะได้ถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และท่านก็คิดถูก การคิดถูกของท่านอาศัยความคิดธรรมดา หรือว่าอาศัยอภิญญาจิต

    สุ. ไม่ได้มีกล่าวไว้ว่า เป็นปัญญาในขั้นของอภิญญาหรือขั้นใด แต่ให้ทราบความวิจิตรของสภาพธรรมแต่ละขณะซึ่งเกิดขึ้นว่า เมื่อมีปัจจัยพร้อมที่จะคิดอย่างไร มีปัญญาคมกล้าลึกซึ้งกว้างขวางแค่ไหน ปัญญาขณะนั้นก็เกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น ในชีวิตประจำวันทุกคนเห็นได้ชัดทีเดียวว่า จิตทุกขณะ ความคิดแต่ละอย่างที่เกิดขึ้นเป็นไปนั้นแสนวิจิตรเพราะการสะสมมาเรื่อยๆ แต่ละขณะ ในแต่ละภพ ในแต่ละชาติ เป็นปัจจัยสลับซับซ้อนมาก จนกระทั่งทำให้เกิดความคิดต่างๆ นานา ที่ไม่เหมือนกันเลย

    ถ. การระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้านั้น เราจะใช้คำว่า พุทโธ พุทโธ ท่องในใจเพียงเท่านี้ จะชื่อว่าระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าหรือยัง

    สุ. ถ้าไม่พูดพุทโธ ระลึกถึงพระคุณได้ไหม ก็ได้ แต่เวลาที่กำลังพูดพุทโธ มีเวลาที่จะระลึกถึงพระคุณหรือเปล่า

    ถ. ขณะที่ท่องคำว่า พุทโธ พุทโธ ก็ระลึกในตัวเสร็จ

    สุ. เร็วอย่างนั้นเชียวหรือ

    ถ. คำว่า พุทโธ พุทโธ หมายถึงชื่อของพระพุทธเจ้าอยู่แล้ว เราพูดถึงพระพุทธเจ้า เราเรียกพระพุทธเจ้า หรือเรียกพุทโธ ก็อย่างเดียวกัน

    สุ. เพราะฉะนั้น แต่ละคนต่างกัน อย่างสุเมธดาบสก็ระลึกถึง กล่าวถึง พุทโธ แต่ปีติของท่านในขณะนั้นที่ท่านรู้คุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้ท่านเกิดปีติได้ถึงขั้นนั้น เพราะฉะนั้น แต่ละคนจะนึกถึงคำว่า พุทโธ หรือความเป็นพระพุทธเจ้า ก็แล้วแต่ว่าจิตขณะนั้นของแต่ละท่านเป็นกุศลมากน้อยแค่ไหน ต่างกัน ไม่เหมือนกัน บางคนพูดไปเฉยๆ บางคนพยายามสักเท่าไรที่จะให้ระลึกถึงพระคุณ ก็นึกไม่ออก เพราะว่าไม่เคยฟังธรรม ไม่เคยเข้าใจธรรม ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติธรรม จะระลึกถึงคุณได้อย่างไร

    ถ. ในพระสูตรหลายเรื่อง เช่น ท่านพระพาหิยะ ได้ยินคำว่า พุทโธ ก็เกิดปีติยินดี โดยยังไม่ได้นึก เพียงได้ยินเท่านั้น ปีติของท่านก็เกิดได้ ซึ่งหมายความว่า ถ้าได้ยินคำว่า พุทโธ ต้องได้ชื่อว่า ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าแล้ว

    สุ. ท่านพระพาหิยะจะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น คำว่า พุทโธที่ท่านเคยได้ยินมา เคยระลึกมา เคยเข้าใจมา เคยปีติมา มากมายนับไม่ถ้วนในครั้งก่อนเป็นปัจจัยที่จะให้หยั่งถึงคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทันทีที่ได้ยินคำว่าพุทโธ เพราะว่าท่านจะได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ในชาตินี้ แต่คนอื่นได้ยินว่าพุทโธ จะเหมือนความรู้สึกของท่านพระพาหิยะได้ไหม ถ้าไม่ได้อบรม

    ถ. ก็ไม่เหมือนกัน ปีติอาจจะไม่เกิด แต่ผมอยากรู้ว่า ขณะนั้นชื่อว่า ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าหรือยัง

    สุ. ใครจะตอบได้ นอกจากตัวท่านเอง ถ้าไม่รู้เรื่องของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย ถึงแม้ว่าจะได้ยินคำว่า พุทโธ ก็ผ่านไปโดยที่ไม่ทราบว่าจะระลึกอย่างไร เพราะฉะนั้น ยิ่งฟังมาก ยิ่งศึกษามาก ยิ่งรู้ประวัติโดยละเอียดของ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ยิ่งทำให้เห็นพระคุณของพระองค์ และเวลาที่ระลึกถึงพุทโธ ก็จะมีความปลาบปลื้มผ่องใสในจิตใจ ด้วยการน้อมระลึกถึงพระคุณทันที

    เพราะฉะนั้น แล้วแต่แต่ละขณะของแต่ละบุคคล ขณะหนึ่งๆ ก็ไม่เหมือนกัน ในขณะที่ระลึกถึงคำว่า พุทโธ ในวันหนึ่งๆ แต่ละขณะก็ยังต่างกันไปตามเหตุตามปัจจัย เพราะฉะนั้น แต่ละคนก็ยิ่งต่างกันไป

    ข้อความต่อไปใน อรรถสาลินี มีว่า

    อันพุทธการกธรรมนั้นจักมีเพียงเท่านี้ก็หามิได้ เราจักเลือกเฟ้นธรรมอันเป็นเครื่องบ่มโพธิญาณอื่นอีก เมื่อเราเลือกเฟ้นในกาลนั้น ได้พบอธิษฐานบารมี ซึ่งพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาซึ่งคุณอันยิ่งใหญ่ครั้งก่อนๆ ได้บำเพ็ญอบรมกันมา จักเป็นพุทธการกธรรมข้อที่ ๘ สอนตนว่าดังนี้

    เธอจงสมาทานอธิษฐานบารมี อันเป็นพุทธการกธรรมข้อที่ ๘ นี้ ทำให้มั่นต่อไป เธอเป็นผู้คงที่ในบารมีนั้น จักได้บรรลุสัมโพธิญาณ ภูเขาศิลาล้วนย่อมตั้งดำรงคงที่ไม่หวั่นไหวเพราะลมที่แรงกล้า ดำรงอยู่ในที่เดิมเทียว ฉันใด เธอก็เหมือนกัน จงเป็นผู้คงที่ในอธิษฐานบารมีทุกเมื่อ บำเพ็ญอธิษฐานบารมีแล้วจักบรรลุได้สัมโพธิญาณแล

    ในขณะที่สุเมธดาบสได้เลือกเฟ้นธรรมอันเป็นเครื่องบ่มโพธิญาณนี้ ท่านผู้ฟังเคยคิดไหมว่า ท่านผู้ฟังจะบำเพ็ญกุศล หรือว่าเจริญกุศลประการใดบ้าง เพราะรู้ว่าการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมนี้แสนยาก เมื่อเป็นธรรมที่ต้องใช้ความอดทนในการที่จะบำเพ็ญกุศล วันหนึ่งๆ ก็น่าคิดว่า เราจะทำกุศลอะไรบ้าง เพื่อที่จะให้เป็นบารมีเกื้อกูลในการรู้แจ้งอริยสัจธรรม

    สำหรับบารมีข้อหนึ่ง คือ อธิษฐานบารมี การตั้งใจมั่นในกุศล ไม่เปลี่ยนใจไปตามกิเลส ซึ่งถ้าจะสังเกตดูในวันหนึ่งๆ บางทีคิดเรื่องกุศล แต่อกุศลก็ทำให้เปลี่ยนใจได้ บางครั้งก็บ่อยๆ หรือเรื่อยๆ เคยมีไหมที่ตั้งใจว่าจะทำกุศล อาจจะเป็นการฟังธรรม หรือการเกื้อกูลสงเคราะห์อนุเคราะห์บุคคลอื่น แต่พอมีอกุศลเกิดขึ้นแทรกแซง ก็เปลี่ยนใจไปตามอกุศลนั้นอย่างรวดเร็ว ลืมเรื่องกุศลที่คิดไว้หรือว่าตั้งใจไว้แล้ว

    อธิษฐานบารมี คือ การตั้งใจมั่นในกุศล ถ้าไม่มีความมั่นคงจริงๆ ปัญญายังไม่คมกล้า ก็ไม่สามารถที่จะสู้กับกิเลสอกุศลได้ และในวันหนึ่งๆ ลองสังเกตดูว่า อกุศลชนะบ่อยไหม หรือว่ากุศลชนะมากกว่า ถ้าเป็นผู้ที่กุศลชนะมากกว่า ก็แสดงถึงความตั้งใจมั่นในกุศลที่จะไม่ยอมเปลี่ยนไปตามกิเลส

    เพราะฉะนั้น อธิษฐานบารมีจึงเป็นกุศลประการหนึ่ง ซึ่งเมื่อตั้งใจมั่นคงในกุศล ทำให้มีกำลังขึ้น ก็จะประกอบการกุศลนั้นได้สำเร็จตามความตั้งใจอย่างมั่นคง และย่อมเป็นเหตุหนึ่งที่จะเป็นบารมีที่สามารถจะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๗๔ ตอนที่ ๗๓๑ – ๗๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 45
    28 ธ.ค. 2564