แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 749


    ครั้งที่ ๗๔๙


    ข้อความใน กัณฏกีสูตรที่ ๒ ก็โดยนัยเดียวกันกับกัณฏกีสูตรที่ ๑ แต่ว่าเป็นข้อความที่กล่าวถึงธรรมเครื่องอยู่ของผู้ที่เป็นพระอเสกขบุคคล คือ พระอรหันต์ ซึ่งมีข้อความว่า

    ... ครั้นแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้ถามท่านพระอนุรุทธะว่า

    ดูกร ท่านอนุรุทธะ ธรรมเหล่าไหน อันภิกษุผู้เป็นอเสขะพึงเข้าถึงอยู่

    ท่านพระอนุรุทธะตอบว่า

    ดูกร ท่านพระสารีบุตร สติปัฏฐาน ๔ อันภิกษุผู้เป็นอเสขะพึงเข้าถึงอยู่ สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย ... ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา ... ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิต ... ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ดูกร ท่านพระสารีบุตร สติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ อันภิกษุผู้เป็นอเสขะพึงเข้าถึงอยู่

    จบ สูตรที่ ๕

    ท่านผู้ฟังคงทราบว่า ท่านพระอนุรุทธะท่านเป็นพระอรหันต์ที่ได้คุณวิเศษ ท่านเป็นผู้ถึงความเป็นเอตทัคคะในจักษุทิพย์ แต่ถึงกระนั้นท่านพระอนุรุทธะก็ยังตอบท่านพระสารีบุตรว่า สติปัฏฐาน ๔ อันภิกษุผู้เป็นอเสขะพึงเข้าถึงอยู่

    ท่านคงได้ศึกษาเรื่องของจิตปรมัตถ์แล้วว่า สำหรับพระอรหันต์นั้น ท่านไม่มีทั้งกุศลจิตและอกุศลจิต ท่านไม่ใช่เพียงแต่ดับอกุศลจิตเท่านั้น แม้กุศลจิตก็ไม่มี เพราะถ้าท่านยังมีกุศลจิตอยู่ก็ยังเป็นเหตุที่จะต้องให้มีการปฏิสนธิ โดยกุศลจิตนั้นเองจะเป็นปัจจัยให้วิบากจิตทำกิจปฏิสนธิหลังจากจุติ เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นพระอรหันต์แล้ว เมื่อดับกิเลสทั้งหมดเป็นสมุจเฉท ย่อมดับทั้งอกุศลจิตและกุศลจิตด้วย แต่ว่าขณะที่ท่านยังไม่ปรินิพพาน ท่านก็มีจิตที่เป็นวิบากจิตซึ่งเป็นผลของอดีตกุศลกรรมและอกุศลกรรม เป็นปัจจัยทำให้มีการเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ถ้าเป็นผลของกุศลก็เป็นการได้รับอารมณ์ต่างๆ ที่ดี ถ้าเป็นผลของอกุศลก็เป็นการได้รับอารมณ์ต่างๆ ที่ไม่ดี

    สำหรับผู้ที่เป็นพระอรหันต์ ท่านจะมีเพียงวิบากจิตและกิริยาจิต ไม่มีกุศลจิตและอกุศลจิต มีจิตเพียง ๒ ชาติ คือ จิตที่เป็นผลของอดีตกรรม เป็นวิบากจิตประเภทหนึ่ง และแทนที่จะเป็นกุศล ก็เป็นกิริยาจิต เป็นจิตที่ปราศจากกิเลส ด้วยเหตุนี้จึงไม่เป็นกุศลที่จะเป็นเหตุให้มีวิบากจิตทำกิจปฏิสนธิหลังจากที่ปรินิพพานแล้ว

    ถ้าท่านเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญในเรื่องของฌานสมาบัติ เช่น ท่านพระอนุรุทธะ ก่อนที่ท่านจะเป็นพระอรหันต์ ท่านก็ย่อมมีรูปาวจรกุศลจิต อรูปาวจรกุศลจิต ซึ่งท่านได้เจริญมาก่อนที่จะได้เป็นพระอรหันต์ และเวลาที่บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็ไม่ใช่ว่าจิตเหล่านั้นจะปราศจากเหตุปัจจัยที่จะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ความเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญชำนาญมากในฌานสมาบัติทั้งรูปฌานและอรูปฌาน ท่านเป็นเอตทัคคะในทางจักขุทิพย์ ความชำนาญของท่านในฌานจิตทั้งหลายซึ่งมีเป็นปัจจัยอยู่ ก็เป็นปัจจัยทำให้รูปาวจรจิตเกิดขึ้น แต่ไม่เป็นกุศล เป็นรูปาวจรกิริยาจิตตามปัจจัยที่ท่านได้สะสมมาที่จะเกิดขึ้น

    แต่สติปัฏฐาน คือ การพิจารณาเห็นกายในกาย เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรม เป็นธรรมเครื่องอยู่ของพระอเสขะ ไม่ใช่มีความต้องการปรารถนาว่า เมื่อเป็นพระอรหันต์แล้วก็จะไปทำฌาน อยากจะได้ฌานอีก แต่ท่านต้องเป็นผู้ที่สะสมเหตุปัจจัยที่จะให้ฌานสมาบัติต่างๆ เกิดขึ้น ซึ่งเมื่อเป็นพระอรหันต์แล้ว ไม่ใช่รูปาวจรกุศลจิตอีกต่อไป ไม่ใช่อรูปาวจรกุศลจิตอีกต่อไป แต่เป็นรูปาวจรกิริยาจิตและอรูปาวจรกิริยาจิต โดยที่สติของท่านระลึกรู้ในลักษณะสภาพของกิริยาจิตที่เป็นฌานจิตทั้งรูปาวจรและอรูปาวจร เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไม่ใช่ว่าท่านจะต้องมีความปรารถนาที่เมื่อยังไม่ได้ฌาน ก็จะไปทำฌาน

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นพระโสดาบันบุคคลที่ท่านเคยสะสมอุปนิสัยในการที่จะเป็นผู้ที่ชำนาญในฌานมาแล้ว ก็เช่นเดียวกันกับผู้ที่เป็นพระอรหันต์ ไม่ใช่ว่าท่านจะต้องเมื่อไม่ได้ฌานก็อยากที่จะให้ฌานจิตเกิด แต่ท่านเป็นผู้ที่พิจารณา ย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรม และถ้าท่านเป็นผู้ที่ชำนาญ มีปัจจัยที่จะให้รูปาวจรกุศลจิตเกิด รูปาวจรกุศลจิตก็เกิดเป็นอารมณ์ของ สติปัฏฐานของท่านได้

    เพราะฉะนั้น อย่าเข้าใจผิดคิดว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมให้ผู้ที่เป็น พระอริยเจ้าทั้งหลายไปเจริญฌาน

    ถ. ได้ยินว่า พระสารีบุตรหรือพระอานนท์ท่านสนทนากัน ท่านพูดถึงการเจริญสมถะกับวิปัสสนาว่า บางองค์ก็เจริญวิปัสสนา ต่อมาก็เจริญสมถะ บางองค์ก็เจริญสมถะก่อน เจริญวิปัสสนาตามทีหลัง และบางองค์ก็เจริญทั้งสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป คำว่า สมถะ จุดหมายอยู่ถึงที่ฌานจิตหรือเปล่า

    สุ. สมถะเกิดก่อน วิปัสสนาเกิดทีหลัง หรือว่าวิปัสสนาเกิดก่อน สมถะเกิดทีหลัง หรือว่าต้องไปเจริญเพราะความต้องการ นี่ต่างกัน

    ต้องพิจารณาธรรมโดยละเอียด หลายท่านกล่าวว่า ก่อนที่ท่านจะเจริญสติปัฏฐาน ท่านไม่รู้ลักษณะของความสงบ แต่เวลาที่เจริญสติปัฏฐานแล้ว เวลาที่เมตตาเกิดขึ้นสงบ ก็รู้ในลักษณะของเมตตาว่าต่างกับลักษณะของโทสะ พร้อมกันนั้นปัญญาก็เห็นคุณของกุศลทั้งหลาย และเป็นปัจจัยให้กุศลจิตเจริญ ทั้งความสงบที่ประกอบด้วยเมตตาก็เจริญขึ้นด้วย นี่เป็นผู้ที่วิปัสสนาเกิดก่อน สมถะเกิดทีหลัง

    หรือว่าท่านจะต้องไปนั่งเพ่งอยู่ในห้อง ปิดประตูเจริญเมตตา ซึ่งขณะนั้นไม่ได้รู้ลักษณะของเมตตาว่า เมตตาเกิดขณะใด มีลักษณะอย่างไร

    เพราะฉะนั้น พระอริยสาวกทั้งหลาย ท่านรู้ตามความเป็นจริงว่า ผู้ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมนี้ บางครั้งสมถะเกิดก่อน วิปัสสนาเกิดภายหลัง หรือว่าบางครั้งวิปัสสนาเกิดก่อน สมถะเกิดภายหลัง นี่คือ สภาพธรรมตามความเป็นจริงตามปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งทุกท่านที่เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐานแล้ว ท่านสามารถที่จะทราบได้ว่า สงบไหมในขณะนี้ ถ้าสงบ ท่านก็รู้ว่า สติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของความสงบนั้นหรือเปล่า ถ้าสติปัฏฐานเกิดต่อจากความสงบ ท่านก็รู้ว่าสมถะเกิดก่อน วิปัสสนาเกิดทีหลัง หรือว่าบางทีสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมก่อน และความสงบเกิด คือ ในขณะที่กำลังระลึก ลักษณะของความสงบปรากฏเป็นความสงบ ท่านก็รู้ตามความเป็นจริงว่า วิปัสสนาเกิดก่อนและสมถะเกิดทีหลัง

    นี่คือปกติ ไม่ใช่ว่าจะต้องไปทำอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้น หรือว่ามีกฎเกณฑ์ขึ้นมาว่า คนนี้จะเลือกทำอย่างนี้ คนนั้นจะเลือกทำอย่างนั้น

    เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน และรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะสมถะก็เป็นชีวิตจริงๆ วิปัสสนาก็เป็นชีวิตจริงๆ

    ถ. พระอรหันต์ที่ได้ฌานขั้นต่างๆ ก่อนแล้ว เมื่อสำเร็จเป็นพระอรหันต์ก็มีการเข้าฌานขั้นต่างๆ ตามอัธยาศัย ส่วนผู้ที่เป็นพระอรหันต์แต่ไม่ได้ฌานนั้น ไม่มีความต้องการหรือขวนขวายในการที่จะเจริญฌานเหมือนอย่างปุถุชน หรือเสขบุคคล ใช่ไหม

    สุ. แม้แต่ผู้ที่เป็นพระโสดาบัน ท่านเห็นคุณประโยชน์ของการอบรมเจริญสติปัฏฐานยิ่งกว่าสิ่งอื่น เพราะสามารถทำให้ประจักษ์ในความไม่เที่ยง ความเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล และท่านยังเป็นผู้ที่ต้องศึกษาต่อ คือ รู้ในความไม่เที่ยงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏมากขึ้นอีก เจริญขึ้นอีก จนกว่าจะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท เพราะฉะนั้น ท่านย่อมไม่มีความปรารถนาที่จะไปเจริญสมถะจนกระทั่งถึงฌานจิต

    และถึงแม้ว่าจะยังไม่ใช่พระโสดาบันบุคคล แม้แต่ท่านที่กำลังศึกษา คือ กำลังเจริญสติปัฏฐาน เห็นคุณของสติปัฏฐานว่ามีมาก ขณะใดที่สติเกิดขึ้น มีการศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ปัญญาเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ผิดกับขณะที่หลงลืมสติแล้วไม่ศึกษา ไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏโดยสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น แม้แต่ผู้ที่ยังไม่ใช่พระโสดาบัน เห็นคุณของสติว่า ขณะใดที่ไม่หลงลืม สติเกิดขึ้น จะมีการศึกษาเพิ่มความรู้ลักษณะของสภาพธรรมยิ่งขึ้น ผู้นั้นจะไปทำฌานสมาบัติอะไรไหม

    ถ. ไม่

    สุ. เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นความสงบที่ถูกต้อง ที่แท้จริง ซึ่งเป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง และสติปัฏฐานที่อบรมเจริญแล้วไม่ติดในลักษณะของความสงบนั้น เป็นปัจจัยให้สงบยิ่งขึ้นได้ พร้อมกับขณะนั้นก็เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานด้วย แต่ปัญญาจะต้องเพิ่มความคมกล้าที่จะเห็นว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง และถ้ามีความยินดีความพอใจ ปัญญาต้องรู้ตรงในลักษณะซึ่งเป็นอกุศลในขณะนั้นว่า ขณะนั้นเป็นอกุศล นี่เป็นการรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท โดยการเห็นว่า อกุศลเป็นอกุศล และกุศลเป็นกุศล

    ผู้ฟัง สภาพอาการที่เบาของจิต ความสงบของจิต เป็นสิ่งที่ปรารถนามากกว่าที่จะได้ลาภ

    สุ. ระวังความปรารถนา เป็นที่ปรารถนา ให้เป็นสติปัฏฐานจึงจะกำจัดอภิชฌาและโทมนัส เพราะขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงลักษณะของสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ถ้าเป็นอย่างนี้จะเกื้อกูลแก่ปัญญา และปัญญานั้นจะเกื้อกูลแก่ความสงบ

    ผู้ฟัง ที่ทำงาน ผมต้องช่วยขนย้ายของ ทั้งๆ ที่ผมไม่พอใจในการขนย้ายก็ช่วยเขา แม้ว่าจะมีความไม่พอใจตลอดเวลา ในใจก็รู้ว่าการช่วยเหลือบุคคลอื่นเป็นความดี แต่โทสะเกิดตลอด ไม่มีความอ่อนของจิต แต่ไปเกิดความสงบของจิตตอนกลางคืน เมื่อคิดว่าเราได้ทำประโยชน์เป็นความสุขแก่คนอื่น แต่ขณะกำลังทำนั้น กุศลไม่มี

    สุ. เพราะความน้อยของกุศล จึงเห็นอกุศลมากกว่ากุศล และก็เข้าใจว่าขณะนั้นไม่มีกุศล เพราะฉะนั้น ตามความเป็นจริง ในขณะนั้นกุศลเกิดน้อย จึงปรากฏลักษณะของอกุศลมากกว่า เลยไม่เห็นลักษณะของกุศลจิต

    อย่างในการกระทำบุญแต่ละครั้ง มีเจตนาในการให้ ในการกระทำบุญ แต่หลังจากเจตนานั้นแล้ว ก็มีแต่ความวุ่นวายใช่ไหม ซื้อหาตระเตรียมกิจงานน้อยใหญ่ ประสบกับสิ่งที่พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง ถ้าสิ่งที่ตระเตรียมถวายน่าพอใจ ก็เกิดโลภะ ความยินดี หรือถ้าขัดข้องมีอุปสรรค ก็เกิดโทสะ กุศลน้อยเหลือเกิน

    เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เป็นผู้ที่รู้ลักษณะสภาพของความสงบจริงๆ ในการกระทำบุญแต่ละครั้ง อกุศลย่อมมากกว่ากุศล แต่ก็เป็นเพราะกุศลจึงกระทำได้ และถ้าเป็นผู้ที่สังเกตรู้ลักษณะของความสงบ ในกาลต่อไปที่จะทำบุญกุศล กุศลจิตจะเกิดมากกว่า

    ถ. ผมบริจาคเงินค่าออกอากาศรายการของอาจารย์ เงินน้อย แต่ด้วยแรงศรัทธา ด้วยความนอบน้อม ถวายทานไปด้วยจิตเมตตาว่า เพื่อผู้ฟังคนอื่นๆ จะได้ฟัง จะได้รู้ธรรมด้วย นี่เป็นลักษณะของสมถะใช่ไหม

    สุ. ใช่หรือไม่ใช่อยู่ที่สภาพความสงบของจิต เช่นเดียวกับทานเกิดได้ฉันใด ศีลเกิดได้ฉันใด เมตตาซึ่งเป็นความสงบของจิตก็เกิดได้ แต่ไม่เจริญจนกว่าปัญญาจะรู้ลักษณะของความสงบ และเพิ่มความสงบขึ้น จึงชื่อว่า เจริญสมถะ

    ถ. จิตไม่ได้คิดหวังผลอะไร แต่เป็นความเมตตาเพื่อให้คนอื่นได้ฟังการบรรยายธรรมโดยทั่วๆ กัน

    สุ. ขณะนั้นเป็นกุศลขั้นสมถะ แต่จะเจริญยิ่งขึ้นเวลาที่รู้ในสภาพความสงบของจิต

    ถ. วิปัสสนาหมายความว่า เมื่อเราเกิดเมตตา เราก็รู้ว่าเกิดเมตตา

    สุ. เมตตาเป็นลักษณะสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา หมดไปแล้ว ดับไปแล้ว มิฉะนั้นแล้วอาจจะเกิดมานะ หรือว่าเป็นอกุศลขึ้นได้ในการที่คิดว่าเป็นเมตตาของเรา เพราะอกุศลธรรมและกุศลธรรมละเอียดมากทีเดียว ต้องเป็นสติปัฏฐานจริงๆ ปัญญาจริงๆ ที่จะสามารถรู้ตรงลักษณะของธรรม และปัญญาจะไม่หลอกลวงเลย ไม่ใช่ลักษณะของตัณหาหรือโลภะ

    ถ้าเป็นลักษณะของตัณหาหรือโลภะ เป็นลักษณะที่คด ไม่ตรง เมื่อมีความต้องการอย่างหนึ่งอย่างใด สามารถที่จะหลอกลวงได้โดยที่ว่า ไม่ใช่ของจริงเลยแต่ยังยึดถือพอใจ พยายามที่จะให้เป็นของจริงทั้งๆ ที่มีความรู้สึกว่า ไม่จริง ไม่ใช่ของจริง แต่เพราะความพอใจก็ยังต้องการที่จะให้เป็นอย่างนั้น

    ถ. แต่ถ้าบริจาคแล้ว ขอให้ได้ขึ้นสวรรค์ชั้นโน้น ชั้นนี้ หรือไปนิพพาน เป็นอกุศลใช่ไหม

    สุ. ถ้าจะอบรมเจริญปัญญาจริงๆ ปัญญาตรงที่สุด ไม่เห็นผิดเลย เห็นสภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง ไม่มีของเรา หรือของเขา หรือของคนอื่นซึ่งต่างกัน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละลักษณะ ขณะนี้ทุกอย่างเป็นธรรมทั้งหมด ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล สัพเพ ธัมมา อนัตตา

    อนัตตา หมายความถึง ธรรมซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    สำหรับท่านพระอนุรุทธะ ท่านเป็นอรหันต์ผู้ทรงคุณวิเศษ และในสมัยโน้นก็มีพระอรหันต์ผู้ทรงคุณวิเศษมากทีเดียว ซึ่งข้อความใน กัณฏกีสูตร ที่ ๓ มีว่า

    ครั้นแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้ถามท่านพระอนุรุทธะว่า

    ท่านอนุรุทธะบรรลุภาวะแห่งมหาอภิญญา เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งธรรมเหล่าไหน

    ท่านพระอนุรุทธะตอบว่า

    ดูกร ท่านผู้มีอายุ ผมบรรลุภาวะแห่งมหาอภิญญา เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน ผมย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ดูกร ท่านผู้มีอายุ ผมบรรลุภาวะแห่งมหาอภิญญา เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้แล

    อนึ่ง เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ ผมจึงรู้โลก พันหนึ่ง

    จบ สูตรที่ ๖

    ถ. ที่ท่านพระอนุรุทธะพูดว่า บรรลุมหาอภิญญาเพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน ๔ หมายความว่า ไม่ใช่จากการเจริญสมถะ คือ ฌานจิต ใช่ไหม

    สุ. ผู้ที่อบรมเจริญสมถภาวนา จะเห็นได้ว่า กว่าจิตจะสงบมั่นคงขึ้น แสนยากสักแค่ไหน เมตตาเกิดขึ้นนิดหน่อยพอให้รู้ลักษณะสภาพที่ต่างกันกับโทสะว่า สภาพของเมตตานั้นมีลักษณะที่อ่อนโยน และมีความหวังดีต่อบุคคลอื่น ต้องการที่จะให้บุคคลอื่นได้รับความสุข นั่นเป็นลักษณะของเมตตา แต่ถ้าไม่เป็นผู้ที่อบรมเจริญเมตตาบ่อยๆ เนืองๆ ก็ย่อมจะเป็นผู้ที่เบียดเบียนบุคคลอื่น หวังร้ายต่อบุคคลอื่น คิดร้ายต่อบุคคลอื่น



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๗๕ ตอนที่ ๗๔๑ – ๗๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 45
    28 ธ.ค. 2564