แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 769


    ครั้งที่ ๗๖๙


    สุ. สำหรับผลของพุทธานุสสติ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่พระอริยเจ้าที่จะระลึกถึงพระคุณจนกระทั่งถึงความสงบขั้นอุปจารสมาธิ แต่การเป็นผู้ที่ระลึกถึงพระคุณของ พระผู้มีพระภาค ย่อมเป็นผู้ที่มีความเคารพ ความยำเกรงในพระศาสดา ไม่ถูกราคะ โทสะ โมหะกลุ้มรุม เป็นผู้ที่มีศรัทธา สติ ปัญญา และมากด้วยปีติปราโมทย์ เป็นผู้ที่อดทนต่อภัยอันน่าหวาดเสียวได้ สามารถอดกลั้นทุกข์ได้ คือ เวลาที่มีความทุกข์ ระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคที่ได้ทรงแสดงธรรมให้ประพฤติปฏิบัติตาม ในขณะนั้น สามารถที่จะอดกลั้นทุกข์ได้

    มีหิริโอตตัปปะ ไม่ล่วงวัตถุซึ่งประจวบเฉพาะหน้า ดุจเห็นพระศาสดาอยู่เฉพาะหน้า ซึ่งถ้าผู้นั้นยังไม่แทงตลอดมรรคผลเบื้องสูง ก็ย่อมเป็นผู้ที่มีสุคติเป็นเบื้องหน้า

    และบุคคลที่ระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคเนืองๆ สรีระของบุคคลนั้นก็ควรบูชาดุจเรือนเจดีย์ เพราะเป็นผู้ที่มีศีล ไม่ล่วงทุจริตกรรม เนื่องจากมีการะลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคดุจพระองค์ประทับอยู่เฉพาะหน้า จึงไม่สามารถที่จะล่วงอกุศลกรรมได้

    ถ. จรณะ ๑๕ มีรูปฌาน ๔ เป็นจรณะ ทำไมอรูปฌานไม่เป็นจรณะ

    สุ. อรูปฌาน คือ ปัญจมฌานโดยปัญจกนัย หรือจตุตถฌานโดยจตุกกนัยนั่นเอง เพราะฉะนั้น เมื่อกล่าวถึงฌาน ๔ ซึ่งเป็นจรณะ ที่พระผู้มีพระภาคทรงถึงพร้อม ต้องหมายความถึงทั้งรูปปัญจมฌาน และอรูปฌาน เพราะว่ารูปฌานนั้นโดย จตุกกนัยมี ๔ และอรูปฌาน คือ จตุตถฌาน ที่เปลี่ยนอารมณ์จากรูปเป็นอรูป

    ถ. ผมยังไม่เข้าใจว่า ปัญจมฌานเป็นอรูปฌาน

    สุ. ปัญจมฌานมีทั้งรูปและอรูป ถ้าจะกล่าวโดยขั้นของฌาน อรูปฌานก็คือ ปัญจมฌาน ที่มีอรูปเป็นอารมณ์

    ถ. คือ อุเบกขา เอกัคคตาเป็นอรูป

    สุ. มิได้ อุเบกขากับเอกัคคตาเป็นองค์ของปัญจมฌาน และเป็นองค์ของอรูปฌานทั้ง ๔ ด้วย

    ถ. อรูปฌานมี วิญญานัญญายตนะ ...

    สุ. นั่นอารมณ์ ไม่ใช่องค์

    ถ. ในปฐมฌานก็มีอรูป มีวิตก วิจาร ปีติ สุข

    สุ. ขอโทษ ในปฐมฌาน วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เป็นเจตสิก ๕ ดวงที่มีกำลัง ที่ปรากฏในปฐมฌาน ซึ่งมีอารมณ์เป็นกสิณหรืออสุภะ แล้วแต่ว่าจะเป็นอารมณ์อะไรที่จะสามารถบรรลุถึงปฐมฌานได้

    ถ. เจตสิกก็เป็นอรูปเหมือนกัน

    สุ. แต่ไม่ใช่อารมณ์ เป็นองค์ ซึ่งกระทำกิจละนิวรณ์ ทำให้จิตสงบขึ้น จนกระทั่งถึงอัปปนาสมาธิ

    ถ. อุเบกขากับเอกัคคตาเป็นองค์ หรือเป็นอารมณ์

    สุ. เป็นองค์ ถ้าอารมณ์ของสมถกัมมัฏฐาน มี ๔๐

    จาก สัลเลขสูตร ท่านผู้ฟังก็จะเห็นพระคุณของพระผู้มีพระภาคที่ได้ทรงแสดงธรรมให้ขัดเกลากิเลสทั้งหลายด้วยการเจริญสติปัฏฐาน เพราะทุกท่านย่อมทราบว่า ตัวท่านเองมีกิเลสอะไรบ้าง มากหรือน้อย มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งกล่าวว่า เมื่อก่อนนี้ท่านไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน แต่เข้าใจว่า ท่านทำวิปัสสนา โดยการที่พยายามให้จิตเป็นสมาธิ ท่านบอกว่า ท่านไม่เห็นกิเลสอะไรเลยในขณะนั้น จนกระทั่งทำให้ท่านเกิดความรู้สึกว่า ในชาตินี้ท่านจะต้องกำจัดกิเลสของท่านออกให้ได้หมด เพราะเมื่อไม่เห็นกิเลส ก็คงจะรู้สึกว่ามีน้อย สามารถกำจัดออกได้โดยเร็ว

    แต่เวลาที่ท่านเจริญสติปัฏฐานแล้ว ท่านเห็นว่า ท่านมีหน้าที่เพียงแต่เจริญเหตุ คือ อบรมเจริญปัญญาให้รู้ลักษณะของสภาพธรรม และแล้วแต่ผลจะมีในชาติไหน ที่สามารถจะดับกิเลสได้ถึงความเป็นพระอริยเจ้า

    ท่านบอกว่า ในตอนแรกที่ท่านเริ่มเจริญสติปัฏฐาน ยากมากสำหรับท่านที่จะไม่ทำสมาธิ เพราะเวลาที่ทำสมาธิกิเลสไม่ปรากฏ ทำให้รู้สึกเหมือนกับว่าได้ผล หรือได้ประโยชน์ แต่เวลาที่ท่านเจริญสติปัฏฐาน กิเลสปรากฏมากมายอย่างนี้จะทำอย่างไร นั่นเป็นตอนต้นที่เริ่มจะเจริญสติปัฏฐาน และเมื่อมีความเข้าใจในการเจริญ สติปัฏฐานมากขึ้นท่านก็รู้ว่า มีหน้าที่เพียงอบรมเจริญปัญญาที่จะให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งเป็นเหตุที่จะให้สามารถดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท

    ใน สัลเลขสูตร ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า กิเลสมีมาก มัจฉริยะ ความตระหนี่ หรือความโกรธ ความผูกโกรธ ความพยาบาท ความลบหลู่ ความถือตน เป็นต้นกิเลสมากมายที่ปรากฏใน สัลเลขสูตร ซึ่งหนทางที่จะดับกิเลส พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วใน สัลเลขสูตร ว่า ไม่ใช่ด้วยการเจริญฌาน เพราะฉะนั้น ก็มีหนทางเดียวเท่านั้น คือ เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน จึงสามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท

    เมื่อเห็นพระคุณของพระผู้มีพระภาค ท่านผู้ฟังที่อบรมเจริญสติปัฏฐานย่อมเห็นคุณของพระธรรม ซึ่งเป็นธัมมานุสสติ ที่ประกอบด้วยองค์ ๙ คือ

    สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม ได้แก่ พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว ซึ่งรวมทั้งปริยัติและปฏิบัติธรรม จนกระทั่งถึงปฏิเวธธรรม คือ โลกุตตรธรรมด้วย

    สันทิฏฐิโก อันผู้ตรัสรู้จะเห็นได้เอง

    อะกาลิโก ไม่มีกาลในการให้ผล

    เอหิปัสสิโก ควรเรียกให้มาดูได้ เพราะเป็นธรรมที่มีจริง นอกจากจะเป็นธรรมที่มีจริงแล้ว ยังเป็นธรรมที่บริสุทธิ์ควรแก่การดู ควรแก่การเห็นด้วย ไม่เหมือนกับกำมือเปล่า เมื่อแบออกก็ไม่มีอะไรในนั้น แต่ว่าสำหรับพระธรรมนั้นเป็นเอหิปัสสิโก ควรเรียกให้เข้ามาดูได้ เพราะเป็นของที่มีจริง และก็บริสุทธิ์ ควรดู

    ที่ว่าบริสุทธิ์ควรดูนี้ ข้อความใน วิสุทธิมรรค แสดงว่า ไม่ใช่เหมือนมูตรและคูถซึ่งเป็นของที่สกปรก แม้ว่ามีจริงก็ไม่ควรที่จะเรียกมาดู ของที่สกปรกเช่นนั้นควรแก่การที่จะปิดด้วยหญ้าหรือด้วยใบไม้ แต่สำหรับพระธรรมไม่ใช่อย่างนั้น เอหิปัสสิโก ควรเรียกมาดูได้

    โอปะนะยิโก ควรน้อมเข้าไป คือ ทำให้แจ้งด้วยจิตของตน

    ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ อันวิญญูชนจะพึงรู้เฉพาะตน

    ถ. พยัญชนะส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยเข้าใจความหมาย ขออาจารย์ช่วยอธิบาย พระธรรมเป็นพระไตรปิฎก หรือว่าเป็นธรรม หรือว่าเป็นชื่อ

    สุ. สำหรับพระธรรมที่เป็นธรรมรัตนะ ซึ่งเป็นพระธรรมคุณ เป็นธัมมานุสสติ โดยสูงสุดได้แก่โลกุตตรธรรม คือ มรรค ผล นิพพาน แต่ถ้าไม่มีการศึกษา ปริยัติธรรม ไม่มีการปฏิบัติธรรม มรรคจิต ผลจิต ก็ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นประจักษ์แจ้งในสภาพของนิพพานได้ เพราะฉะนั้น พระธรรมซึ่งเป็นที่พึ่ง เป็นรัตนะ เป็นธัมมานุสสติที่เป็นสวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม ได้แก่ พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้วทั้งหมด ทั้งปริยัติธรรม ปฏิบัติธรรม และปฏิเวธธรรมด้วย

    ที่ท่านผู้ฟังสนใจฟังเรื่องการเจริญสติปัฏฐานซึ่งเป็นปริยัติธรรม ก็เพื่อที่จะให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมเป็นปฏิปัตติธรรม เพื่อให้บรรลุถึงมรรคจิต ผลจิตที่รู้แจ้งนิพพานเป็นปฏิเวธธรรม

    สันทิฏฐิโก อันผู้ตรัสรู้จะเห็นเอง นี่เป็นของแน่สำหรับผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ย่อมระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม จนกระทั่งปัญญาของบุคคลนั้นเองเกิดขึ้น มีความรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนมากขึ้น บุคคลใดที่สติปัฏฐานยังไม่เกิดขึ้น จะให้บุคคลนั้นรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น จึงเป็นสันทิฏฐิโก อันผู้ตรัสรู้จะเห็นได้เอง แม้แต่ลักษณะของนิพพานซึ่งมรรคจิต ผลจิตประจักษ์แจ้ง บุคคลใดที่มรรคจิต ผลจิตยังไม่เกิด ก็ไม่สามารถประจักษ์แจ้งในลักษณะของนิพพานนั้นได้

    สำหรับ อกาลิโก คงทราบแล้วว่า ไม่มีกาลในการให้ผล ซึ่งหมายความถึง โสตาปัตติมรรคจิตเมื่อดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้โสตาปัตติผลจิตเกิดทันที

    เอหิปัสสิโก ควรเรียกให้มาดู เพราะเป็นธรรมที่มีจริง และเป็นสภาพธรรมที่บริสุทธิ์ ควรดู ไม่ใช่ของที่น่าเกลียดไม่ควรดู เช่น มูตร คูถ เป็นต้น

    โอปะนะยิโก ควรน้อมเข้าไป คือ ทำให้แจ้งด้วยตนเอง

    ไม่ว่าพระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงเรื่องของสติปัฏฐาน หรือสติพละ หรือ สติสัมโพชฌงค์ รวมทั้งโพธิปักขิยธรรมอื่นๆ ด้วย ก็เป็นธรรมที่ควรที่จะน้อมเข้ามาในตน สติเป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาในตน ไม่ใช่ด้วยความพากเพียรด้วยความเป็นตัวตน

    ในขณะที่ฟังธรรมให้เกิดความรู้ ให้เกิดความเข้าใจ จะเป็นปัจจัยให้สติเกิดขึ้น คือ การน้อมเข้ามาในตน น้อมสติด้วยการที่ฟังธรรม เป็นปัจจัยให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ทั้งสติ ทั้งปัญญา และ โพธิปักขิยธรรมอื่นๆ เป็นสภาพธรรมที่ควรน้อมเข้ามาในตน รวมถึงโลกุตตรจิตด้วย

    ถ. ระลึกถึงพระธรรมของพระผู้มีพระภาคที่ทรงแสดงไว้ข้อใดข้อหนึ่ง อย่างนี้ชื่อว่าเจริญธัมมานุสสติ ได้ไหม

    สุ. จุดประสงค์ของการระลึกถึงพระธรรม เพื่อให้จิตสงบ และสำหรับผู้ที่จิตสามารถจะสงบจนกระทั่งถึงอุปจารสมาธิ ต้องเป็นพระอริยบุคคล เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะถึงอุปจารสมาธิ สงบเดี๋ยวนี้

    ธรรมทั้งหมดสำหรับประพฤติปฏิบัติ อย่าลืม ประพฤติปฏิบัติขณะไหน เดี๋ยวนี้ ทันที เมื่อสักครู่นี้มีการกล่าวถึง สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม สวดระลึกถึง พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ในขณะนั้นเป็นช่วงขณะที่ควรจะได้พิจารณาว่า จิตสงบไหม

    ตามธรรมดาที่จะให้สวดพระธรรมคุณ หรือว่าพระสังฆคุณก็ตาม และจิตสงบ จะเป็นไปได้โดยง่าย หรือว่าโดยยาก ในขณะที่กล่าวคำสวดนั้น แต่เวลาที่เข้าใจ พระธรรม และเกิดความซาบซึ้งในพระธรรม หรือในขณะที่สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้นจะมีความรู้สึกเหมือนกับพระธรรมคุณที่ได้กล่าวไหม เพราะฉะนั้น อย่าลืมว่า จิตสงบมีลักษณะอย่างไร นั่นเป็นปัญญาที่จะต้องรู้เพื่อที่จะสงบขึ้น

    แต่ถ้าความสงบแม้ชั่วขณะนี้ยังไม่มี ที่จะให้ถึงอุปจารสมาธิย่อมเป็นไปไม่ได้ หรือว่าท่านที่ปรารถนาจะเจริญความสงบจนกระทั่งถึงอัปปนาสมาธิที่เป็นฌานจิต ก็ขอให้ถึงอุปจารสมาธิเสียก่อน และถ้าอุปจารสมาธิยังไม่ถึง ก็ขอให้สงบในขณะนี้เสียก่อน

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะเจริญธัมมานุสสติ ไม่ใช่ผู้ที่ไม่เข้าใจคุณของพระธรรม และก็ท่อง เพียงอย่างนั้นจิตไม่สามารถสงบได้ แต่สำหรับผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน ขณะใดที่สติเกิด เห็นคุณของสติ ซึ่งวิรัติทุจริตในขณะนั้น ทั้งทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ทางใจบ้าง ในขณะนั้นย่อมเห็นคุณของพระธรรม ขณะนั้นก็เป็นธัมมานุสสติ ที่ทำให้จิตสงบได้ แม้ว่าไม่ถึงอุปจาระ

    ผู้ฟัง โดยมากสาธุชนทั่วๆ ไป อยากจะเจริญให้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์มาอยู่ในตัว อย่างในอดีตผมเคยทำทุจริต ไปชกตีกับคนอื่น ก็ยังอุตส่าห์ท่องพุทโธๆ นี่ไม่ใช่ลักษณะที่พระพุทธจะเข้ามาอยู่ในตัวเรา เป็นทางที่ผิด แต่โดยมากเข้าใจกันเป็นอย่างนั้น และสำหรับพระพุทธคุณที่ว่า ท่านรู้แจ้งโลก ผมพิสูจน์มานาน ก็ยังไม่เข้าใจ ตอนหลังเมื่อมีการส่งดาวเทียมไปดวงจันทร์ ก็นึกได้ว่า พระจันทร์เกิดมาตั้ง ๒ – ๓ ร้อยล้านปี แตกมาจากไหน เกิดอะไรขึ้น ทำไมพระพุทธองค์จึงทรงรู้ได้ เป็นต้นว่า โลกนี้ท่านบอกว่า ดินล้อมอยู่ในน้ำ โลกนี้ล้อมอยู่ด้วยอากาศอีก สรุปแล้วโลกเราเวลานี้อยู่กลางอากาศนั่นเอง นี่เป็นสิ่งที่ผมเชื่อว่า พระพุทธองค์ทรงรู้แจ้งเห็นจริง มีอีกตัวอย่างหนึ่งที่ผมเชื่อโดยไม่ต้องไปนั่งภาวนาพุทโธ ธัมโม สังโฆ คือ ท่านบอกว่า สิ่งทั้งหลายจะเกิดขึ้นก็เกิดเพราะเหตุ ไม่ว่าสังขารอะไรทั้งหลายที่เกิดขึ้น ต้องมีเหตุให้เกิด สิ่งที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิตในโลกนี้ที่เกิดขึ้น เช่น สัตว์ คน ต้นไม้ มีเหตุที่จะต้องให้เกิด โดยทางวิทยาศาสตร์ โลกเราแตกมาจากดวงอาทิตย์ ภายหลังเย็นลงๆ ปรับอุณหภูมิให้เย็นลงมาเหมาะสมจึงเกิดพืช เกิดสัตว์ อย่างตัวเรา ท่านบอกว่าไม่ใช่ตัวตน ถึงอะไรต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาเป็นรูปร่างใหญ่โต ท่านบอกว่าไม่ใช่เป็นก้อนใหญ่ ท่านบอกว่ามาจากจุดเล็กๆ ตรงกับวิทยาศาสตร์ที่บอกว่า มนุษย์หรือสัตว์ทั้งหลายเริ่มจากเซลล์เล็กๆ ที่เกิดขึ้น พยายามปรับปรุงตัวเองขึ้นมา ที่ต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องดู ทำไมท่านจึงรู้จริง นี่เป็นลักษณะของพระพุทธเจ้า ไม่ต้องไปนั่งพุทโธ ธัมโม สังโฆ เพราะเราซึ้งในคำสอนของท่าน รู้ว่าท่านรู้จริง เป็นเหตุให้เกิดศรัทธาเชื่อมั่น

    สุ. โลกที่เป็นโอกาสโลกที่กล่าวถึงนี้ แตกยาก เกิดมาก็นานแล้ว ก็ยังไม่แตกทำลายไป แต่ตามความเป็นจริง โลก คือ สภาวธรรม คือ สภาพธรรมที่เกิดขึ้นนี่แตกดับอย่างรวดเร็วมาก โลกทางตาที่กำลังเห็น ทางหูที่กำลังได้ยิน ทางจมูกที่กำลังได้กลิ่น ทางลิ้นที่กำลังรู้รส ทางกายที่กำลังกระทบสัมผัส ทางใจที่กำลังคิดนึก เป็นโลกแต่ละโลก แต่ละขณะ ซึ่งเกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเพื่อที่จะให้พุทธบริษัทสามารถที่จะอบรมเจริญปัญญา ประจักษ์ความจริงของโลกของสภาพธรรมได้

    สำหรับการระลึกถึงพระธรรมคุณ ก็เพื่อที่จะน้อมประพฤติปฏิบัติตาม การถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งนั้น เพื่อที่จะน้อมประพฤติปฏิบัติตาม จนกระทั่งบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้าเช่นเดียวกับพระอริยสงฆ์สาวกทั้งหลาย



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๗๗ ตอนที่ ๗๖๑ – ๗๗๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 45
    28 ธ.ค. 2564