แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 723


    ครั้งที่ ๗๒๓


    ถ. สงสัยคำว่า กำลังปรากฏ จะเอาขณะไหนกันแน่ ปัจจุบัน อดีต หรืออนาคต

    สุ. ไม่น่าสงสัยเลย ก็กำลังปรากฏ คือ เดี๋ยวนี้

    ถ. ถ้าว่ากันตามสภาวะของปรมัตถ์ เป็นอดีตทั้งนั้น ถ้าเราไม่รู้ด้วยสติ ไม่รู้ด้วยปัญญา เป็นอดีตทั้งนั้น

    สุ. และเป็นปัจจุบันทั้งนั้นด้วย

    ถ. ใช่ ถ้ารู้ ปัจจุบันทั้งนั้น

    สุ. เพราะฉะนั้น ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ศึกษาให้รู้ความจริงว่า อดีตตอนไหน ปัจจุบันตอนไหน อนาคตตอนไหน ในขณะที่กำลังปรากฏอยู่เดี๋ยวนี้ เพราะว่าเกิดดับสืบต่อกันอย่างเร็วมาก

    ถ. ลักษณะของธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานและจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตามความเข้าใจของผม เป็นลักษณะของนามซ้อนนาม ซึ่งเป็นไปไม่ได้ จึงทำให้เกิดความสงสัยว่า ต้องเกี่ยวโยงเรื่องกาลด้วย

    สุ. อย่าใช้คำว่า ซ้อน แต่ให้เข้าใจว่า สภาพธรรมเกิดดับสืบต่ออย่างเร็วมาก และไม่มีปัญญาที่จะไปประจักษ์ขณะจิต แต่ปัญญาจะค่อยๆ เกิดขึ้น คมกล้าขึ้น สมบูรณ์ขึ้นที่จะรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมแต่ละอย่างเสียก่อน และภายหลังความรู้จะเพิ่มขึ้น จะใกล้ชิดการเกิดดับของนามธรรมยิ่งขึ้น

    เวลานี้ทั้งๆ ที่นามธรรมทางตา เฉพาะทางตา เกิดดับหลายขณะ ทางหู เฉพาะทางหูจริงๆ เกิดดับหลายขณะ ก็ยังไม่ประจักษ์ ยังเหมือนกับว่า ติดกันแน่นมาก ทางตาก็ไม่ดับ ทางหูก็ยังได้ยินอยู่ เพราะฉะนั้น ขณะที่เป็นปัจจุบัน คือ เมื่อมีลักษณะอาการของสภาพธรรมนั้นกำลังปรากฏให้ศึกษา ก็ศึกษาในลักษณะอาการของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ และจะรู้ในความเป็นอดีต ในความเป็นปัจจุบันของสภาพธรรมซึ่งเกิดดับ จึงเป็นอดีต จึงเป็นปัจจุบัน

    ถ. ขอบพระคุณ

    สุ. ก็เป็นเรื่องที่ดี คือ เป็นเรื่องที่คิดละเอียด และพยายามที่จะให้เข้าใจสภาพธรรม แต่ว่าความเข้าใจสภาพธรรมโดยขั้นการศึกษา เป็นการเข้าใจตามปัญญาของท่านที่ได้ประจักษ์แล้ว ซึ่งเมื่อปัญญาของท่านผู้ฟังเองยังไม่เกิดขึ้น ก็ยังคงมีความสงสัยอยู่ว่า การประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมนั้นจะเป็นในลักษณะใด แต่ที่จะหมดความสงสัยได้จริง ปัญญาต้องเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อยเป็นขั้นๆ ข้ามขั้นไม่ได้เลย ถ้ายังไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมโดยความไม่ใช่ตัวตนในขณะนี้ จะประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมอันใดอันหนึ่งไม่ได้เลยทั้งสิ้น เพียงแต่เข้าใจตามได้ว่า สภาพธรรมเกิดขึ้นและดับไปแต่ละลักษณะสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว

    ผู้ฟัง พระผู้มีพระภาคท่านสอนว่า ให้พิจารณาปัจจุบัน คำว่า ปัจจุบันนั้น มาจากภาษาบาลี แปลว่า สิ่งใดซึ่งเกิดขึ้นเฉพาะหน้า นั่นเป็นปัจจุบัน ที่ใกล้อดีต ใกล้อนาคต ไม่เอา เอาปัจจุบันแท้ๆ เพราะฉะนั้น ภาษาไทยเราไปเอาภาษาอะไรๆ มา บางทีก็ไม่เข้าใจความหมาย ก็ว่ากันเรื่อยๆ ไปอย่างนั้น รวมความว่า ภาษาไทยแท้ๆ ไม่ค่อยพอ เที่ยวขอยืมของใครๆ จีนบ้าง ฝรั่งบ้าง โดยมากภาษาบาลี ชื่อคนไทย ๙๙ % เอาภาษาบาลีมาใช้ทั้งนั้น

    สุ. ถ้าภาษาของเราไม่พอ ไม่กระชับ เราก็ใช้ภาษาบาลี ซึ่งอาจจะทำให้เข้าใจสภาพธรรมนั้นถูกต้อง ชัดเจนขึ้น แต่ว่าขอให้ศึกษาและเข้าใจความหมายให้ถูกต้อง อย่าใช้ให้คลาดเคลื่อน หรือถ้าท่านผู้หนึ่งผู้ใดเห็นว่าภาษาหนึ่งภาษาใดไม่พอ ก็อาจจำเป็นที่จะต้องขอยืมจากภาษาอื่นเพื่อให้เกิดประโยชน์ หรือว่าความชัดเจนขึ้น ซึ่งก็เป็นสิ่งที่กระทำกันอยู่ และเป็นไปตามความสมัครใจ หรือตามความพอใจของหลายท่านทีเดียว

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของบัญญัติ โวหาร สมมติที่ใช้กันอยู่ แต่ถ้าเป็นปรมัตถธรรมแล้ว เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่จะต้องใช้คำให้ตรงกับลักษณะของสภาพธรรมอย่างถูกต้องจริงๆ ส่วนเรื่องสำนวนโวหารทางโลก หรือศัพท์ทางโลกก็เป็นความพอใจของแต่ละท่านที่คิดว่า คำใดเหมาะ คำใดจะทำให้เกิดประโยชน์ คือ ความเข้าใจได้กว้างขวางขึ้น

    ถ. ถ้าอยู่ที่บ้าน และระลึกถึงคำพูดของอาจารย์ที่บรรยาย เก็บมานึกคิด

    สุ. อะไรเป็นปัจจุบัน จิตที่คิด หรือเรื่องที่คิด

    ถ. จิตเป็นปัจจุบัน

    สุ. จิตที่คิดเป็นปัจจุบัน เพราะจิตที่คิดเกิดขึ้นคิด และก็ดับไป ข้อสำคัญที่จะต้องเข้าใจ คือ ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่าจิตที่คิดเป็นปัจจุบัน เรื่องไม่ใช่ปัจจุบัน เรื่องไม่มีจริง แต่ปรากฏเสมือนจริงจังเหลือเกินในความคิดของแต่ละท่าน เป็นความสำคัญยิ่งใหญ่ ไม่ว่าท่านจะคิดเรื่องอะไร ท่านเป็นจริงเป็นจังกับเรื่องราวที่ท่านคิดโดยไม่รู้ว่า แท้ที่จริงแล้วไม่มีสาระ ปราศจากสาระ เพราะว่าไม่ใช่สภาพธรรมเลย เป็นแต่เพียงความทรงจำในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และก็คิดตรึกตรองถึงสิ่งที่เห็น สิ่งที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ที่ลิ้มรสนั้น เป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ แต่ลักษณะจริงๆ ที่เป็นปรมัตถธรรม ก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา แต่ว่าท่านคิดเสียมากมายในสิ่งที่ปรากฏทางตา

    เสียงที่ปรากฏทางหู สภาพปรมัตถธรรมที่มีจริง คือ เสียงกับได้ยิน ดับไปแล้ว สภาพปรมัตถธรรมติดตามคิดถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้ว เพราะฉะนั้น สภาพที่คิดมีจริง เป็นปรมัตถธรรม แต่ว่าเรื่องราวต่างๆ ของสิ่งที่ดับไปแล้ว ไม่ใช่เป็นสภาพธรรม เพราะว่าไม่ใช่ของจริง

    ถ. ปัญญามี ๓ ขั้น ใช่ไหม ขั้นที่หนึ่งคือขั้นการฟัง หมายความว่า ฟังจนเข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้วก็ไม่เว้นที่จะเอาไปนึกคิดไตร่ตรอง เป็นปัญญาขั้นการคิด และบางครั้งก็คิดเรื่องอื่นซึ่งไม่ใช่เรื่องธรรม นอกเรื่องนอกราว แต่พอสติเกิดระลึกรู้ เรื่องนั้นก็สงบไป แต่เรื่องไตร่ตรองธรรมนี้ บางทีระลึกแล้ว ก็คิดต่ออีก

    สุ. แน่นอน แต่ไม่มีตัวตนที่คิด ความคิดเกิดขึ้นเพราะสัญญาความจำ

    ถ. จะไม่ให้คิดก็ไม่ได้ เพราะจิตต้องการที่จะคิด

    ส. ถ้าจะไม่ให้คิด ก็ไม่ใช่สติปัฏฐาน เมื่อสภาพธรรมที่เป็นสภาพคิดเกิดขึ้นจะเปลี่ยนสภาพคิดให้เป็นสภาพอื่น เป็นไปไม่ได้ แต่สติระลึกศึกษารู้ว่า ขณะที่คิดนั้นเป็นแต่เพียงสภาพคิด เป็นธรรมชนิดหนึ่งที่มีจริงที่คิด คิดได้สารพัดเรื่อง แต่ว่าเรื่องทั้งหลายนั้นไม่จริงเลย ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นคิดในขณะนั้น เรื่องทั้งหลายก็จะไม่ปรากฏ และไม่ได้ปรากฏทางหูหรือทางตาด้วย ปรากฏกับจิตที่คิดเท่านั้น

    เวลาที่ปัญญายังไม่ได้อบรมจนถึงขั้นที่คมกล้า ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ทั้งๆ ที่ได้ยินได้ฟังอย่างนี้ แต่พอเกิดคิดขึ้นมา ความสงสัยจะเกิดขึ้นว่า จะทำอย่างไรดี จะคิดต่อไป หรือว่าจะหยุดคิด เพราะว่าลักษณะของความคิดมีต่างๆ กัน ไม่สามารถที่จะยับยั้งได้เลย ท่านผู้ฟังที่พิจารณาจิตจะรู้ได้ว่า ความคิดนั้นยากที่จะรู้ได้ว่า จะคิดเรื่องอะไร เมื่อไร คิดได้ต่างๆ นานา คือ ได้สารพัด แม้แต่จะคิดสงสัยว่า จะทำอย่างไรกับนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ จะทำอย่างนี้ดี หรือจะทำอย่างนั้นดี จะระลึกหรือจะคิด หรือจะหยุด หรือจะทำอะไร นั่นก็เป็นเรื่องของความคิดที่สามารถจะเกิดขึ้นได้ แล้วแต่เหตุปัจจัยทั้งสิ้น

    และตราบใดที่ยังไม่หมดความสงสัย ก็มีความสงสัยในข้อปฏิบัติที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น อาจจะมีความจงใจ ตั้งใจที่จะจดจ้องที่จะให้รู้นามนั้นมากขึ้น รู้รูปนี้ทวารนี้บ่อยขึ้น หรืออะไรอย่างนี้ ซึ่งก็ยังคงเป็นเรื่องของความคิดอยู่ ยังไม่ใช่เป็นเรื่องของการอบรมปัญญาที่จะรู้ในสภาพธรรมแต่ละลักษณะ ที่ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงนามธรรมหรือรูปธรรมเท่านั้น

    ถ. ผมคิดถึงประสบการณ์จากการเจริญสติปัฏฐานของผม คือ ตอนเช้าๆ ผมมักจะออกกำลังกายนอกบ้าน ฟังวิทยุของอาจารย์ไปด้วย ขณะที่ออกกำลัง ขณะนั้นสภาพธรรมปรากฏหลายอย่าง คือ ขณะที่สติเกิดขึ้น สภาพเย็นของม้านั่งตอนเช้าๆ เย็นมาก เย็นก็ปรากฏที่มือที่จับม้านั่ง และสภาพของเหลี่ยมที่จับก็ปรากฏขึ้นมาเป็นมโนภาพ หรือบางครั้งสภาพนิ้วที่งอๆ ก็ปรากฏขึ้น บางทีถ้าเราไปจับแรงหน่อยก็อาจจะรู้สึกเจ็บ เพราะฉะนั้น เห็นว่าสภาพธรรมเกิดขึ้นมาหลายอย่างเหลือเกิน สำหรับผมเองก็มักจะหวนกลับมาในสภาพเย็นใหม่ หรือสภาพที่แข็งใหม่ว่า ที่ระลึกไปนั้นไม่ใช่อารมณ์ปัจจุบัน หรือว่าไม่ใช่สภาพธรรมที่สติกำลังระลึก ผมมักจะหวนกลับไปมาที่เย็นใหม่ แต่ผมก็คิดว่า มโนภาพต่างๆ เหล่านั้นก็เป็นปรมัตถอารมณ์เหมือนกัน เราสามารถที่จะเอามโนภาพเหล่านั้นมาเป็นอารมณ์ของสติก็ได้ ใช่ไหม

    สุ. สภาพธรรมทั้งหมดโดยละเอียดที่ปรากฏ ปัญญาจะต้องรู้จริงๆ ตรงตามลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะนั้น จนกระทั่งหมดความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรมที่ละเอียดขึ้นๆ ด้วย

    ถ. สภาพธรรมที่ปรากฏอย่างนี้ หรือประสบการณ์ที่ผมประสบอย่างนี้ จะเรียกว่าโยนิโสมนสิการได้หรือไม่

    สุ. โยนิโสมนสิการ หมายความถึงการพิจารณาโดยถูกต้องแยบคาย คือ ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ

    ท่านผู้ฟังเคยมองออกไปข้างนอกแล้วก็มองเข้ามาข้างใน และก็หลับตาเห็นแสงเป็นดวงๆ อะไรบ้างไหม นั่นจริงหรือไม่จริง ต้องศึกษาจนกระทั่งละความสงสัยความเห็นผิดในขณะนั้นที่กำลังสงสัยว่า เป็นสภาพธรรมหรือเปล่า โดยที่จะต้องเกิดปัญญาและสติที่ระลึกและรู้ชัดจริงๆ ว่า ขณะนั้นเป็นอะไร ถ้าเป็นความไม่รู้ ก็ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้ เพราะยังเป็นความไม่รู้อยู่

    ลักษณะของสภาพธรรมใดจะปรากฏอย่างไรก็ตาม เมื่อไรก็ตาม เมื่อสติระลึกศึกษาจึงรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริงว่า ลักษณะนั้นคืออะไรแน่ ปัญญาสามารถที่จะบอกได้ชัดเจนว่า สภาพธรรมนั้นเป็นอะไร เพราะฉะนั้น ไม่ข้ามเลย ชีวิตปกติประจำวัน

    ถ้าท่านมองดูหน้าต่าง เห็นเป็นซี่กรงรูปร่างต่างๆ และเวลาที่หลับตาทันที ก็อาจจะมีรูปร่างของซี่กรงซึ่งไม่ครบถ้วนตามที่เคยปรากฏทางตาปรากฏขึ้นทางใจ ถ้ายังมีความสงสัยอยู่ในขณะนั้น ก็หมายความว่า ปัญญาไม่สามารถที่จะรู้ชัดในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นว่า อะไรเป็นธรรม เป็นความทรงจำในสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ

    ซึ่งความจริงแล้วเป็นสัญญา เป็นความทรงจำ เมื่อเป็นปรมัตถธรรม ในขณะนั้น ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นลักษณะของสัญญาเจตสิก เป็นเพียงลักษณะจำเท่านั้น แต่ว่าจำทางไหน เกิดต่อจากการกระทบรู้อารมณ์ทางทวารไหน ซึ่งจะต้องละความสงสัย และความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน

    เพราะฉะนั้น เรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นเรื่องที่กว้างขวางมาก เพราะเป็นเรื่องการรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง และปรากฏตามธรรมดา ถ้าไม่อบรมเจริญปัญญา มีความสงสัย ขณะนั้นเป็นอะไร ขณะนั้นเป็นนามธรรมหรือขณะนั้นเป็นรูปธรรม ขณะนั้นเป็นสัญญา ความจำ หรือขณะนั้นเป็นสีที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังจะหมดความสงสัยเมื่ออบรมเจริญปัญญาและรู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้น ต้องหมดความสงสัยในขณะที่สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดกำลังปรากฏ

    เวลาที่สติระลึกได้ ถ้าปัญญายังไม่คมกล้า ก็ไม่รู้ชัดว่าลักษณะนั้นเป็นอะไร แต่จะคมขึ้นได้เมื่อศึกษาเพิ่มขึ้น จนกระทั่งรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า ขณะนั้นเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม

    เพราะฉะนั้น สงสัยเกิดขึ้นขณะใด เป็นสภาพธรรมที่จริงอีกเหมือนกัน ไม่ใช่เราที่สงสัย เป็นนามธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเพราะไม่รู้จึงสงสัย เกิดร่วมกับความไม่รู้

    วิจิกิจฉาเป็นเจตสิกธรรมดวงหนึ่ง เป็นสภาพธรรมที่สงสัย ไม่รู้ชัด ไม่แน่ใจในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานด้วย และต้องเป็น จึงจะละความเห็นผิดที่ยึดถือขณะที่กำลังสงสัยนั้นว่า เป็นเราสงสัย

    เรื่องของสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง ปัญญาจะต้องเกิดขึ้นรู้ชัดพร้อมสติในขณะนั้น จึงจะเห็นว่า เป็นแต่เพียงลักษณะสภาพธรรมแต่ลักษณะซึ่งต่างกันไป และสภาพธรรมละเอียดมาก แม้แต่เพียงขณะนี้เป็นกุศลจิตหรือเป็นอกุศลจิตก็ยากที่จะรู้ได้ เพราะอะไร

    เพราะกุศลจิตก็ดับไปอย่างรวดเร็ว อกุศลจิตก็ดับไปอย่างรวดเร็ว จะรู้ได้อย่างไรว่า ขณะไหนเป็นกุศล ขณะไหนเป็นอกุศล ถ้าปัญญาไม่ศึกษาพร้อมสติที่ระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น บางท่านใคร่ที่จะสงบโดยไม่รู้ลักษณะของจิตว่า ขณะใดจิตสงบ ขณะใดจิตไม่สงบ ก็เป็นไปไม่ได้ใช่ไหมที่จะอบรมเจริญความสงบให้มากขึ้น บางท่านก็คิดว่า เมื่อไรจะได้ฟังเรื่องการเจริญสมถภาวนาสักที เพื่อที่จะได้สงบเสียเร็วๆ โดยที่ไม่รู้ว่า ขณะที่กำลังฟังนี้สงบหรือเปล่า ถ้าขณะที่กำลังฟังไม่รู้ลักษณะของจิตว่าสงบไหม จะอบรมเจริญความสงบให้ยิ่งขึ้นได้อย่างไร เพราะไม่รู้ว่าความสงบจะเกิดขึ้นได้เพราะเหตุปัจจัยอะไร

    การศึกษาธรรมทำให้สงบจากโลภะ โทสะ โมหะ ขณะที่กำลังเกิดความเข้าใจในสภาพธรรมที่ได้ยินได้ฟัง ขณะนั้นสงบ ถ้าไม่รู้ว่าขณะเหล่านี้เป็นความสงบ และใคร่ที่จะไปแสวงหาความสงบอื่นโดยที่ไม่รู้ว่าขณะใดจิตสงบ และไม่รู้ว่าควรที่จะอบรมเจริญความสงบโดยอาศัยเหตุปัจจัยที่กำลังทำให้จิตสงบอยู่ในขณะที่ฟังธรรมซึ่งเป็นธัมมานุสสติ ก็จะเห็นได้จริงๆ ว่า การมุ่งหน้าต้องการที่จะสงบโดยที่ไม่ศึกษา ไม่รู้ลักษณะของจิตที่สงบ ก็ไม่มีวันจะสงบ

    เพราะฉะนั้น ท่านที่ใจร้อน อยากจะสงบเสียเร็วๆ ขอให้ทราบว่า ขณะที่กำลังฟังสงบไหม ถ้าขณะที่กำลังฟังไม่สงบ ก็ไม่มีปัจจัยที่จะทำให้อบรมความสงบยิ่งขึ้น แต่ถ้ารู้ลักษณะความผ่องใสของจิตซึ่งปราศจากอกุศลในขณะที่กำลังฟังและเข้าใจ ขณะนั้นเป็นปัญญาซึ่งรู้ลักษณะของความสงบของจิตซึ่งเกิดจากการฟังธรรม ก็ย่อมจะเป็นปัจจัยทำให้เจริญความสงบ เพราะระลึกถึงธรรมที่ได้ยินได้ฟัง จนกระทั่งจิตสงบขึ้นได้

    เพราะฉะนั้น เรื่องของการภาวนาทั้งหลาย ไม่ใช่เรื่องรีบร้อนที่จะทำโดยไม่เกิดความเข้าใจให้ถูกต้อง แม้ในลักษณะความสงบของจิตใจ ที่จะไปเจริญความสงบด้วยการนั่งและให้จิตจดจ้องด้วยความพอใจ ด้วยความต้องการ โดยที่ไม่ได้รู้ความสงบของจิต จะไม่ทำให้จิตสงบ แต่ว่าจะทำให้เกิดสภาพของอกุศลที่เป็นสภาพของอวิชชา คือ การไม่รู้อะไร ว่าขณะนั้นอะไรเป็นสภาพธรรมที่กำลังเกิดขึ้นเป็นไปในขณะนั้น และบางครั้งจะเป็นปรากฏการณ์แปลกๆ ที่ผิดปกติ ซึ่งไม่ใช่ลักษณะของการอบรมเจริญปัญญา หรือไม่ใช่ลักษณะความสงบของจิต ซึ่งสามารถที่จะอบรมเจริญได้แม้ในชีวิตประจำวัน



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๗๓ ตอนที่ ๗๒๑ – ๗๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 45
    28 ธ.ค. 2564