บทสนทนาธรรม ตอนที่ 09


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ครั้งที่ ๙

    เจตสิกปรมัตถ์


    คุณวันทนา สวัสดีค่ะ วันนี้เราก็ได้พบกันอีกเช่นเคยนะคะ ท่านผู้ฟังคะ การศึกษาธรรมก็คือการศึกษาความจริงที่ตัวเราเอง และทุกสิ่งทุกอย่างในโลก ซึ่งเราจะไม่มีวันรู้จัก และจะไม่มีวันเข้าใจได้ถูกต้องตามความเป็นจริงเลยทีเดียวค่ะ ถ้าไม่ศึกษาพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในการสนทนาครั้งที่แล้วนะคะ อาจารย์สุจินต์ก็ได้พูดถึงเรื่องจิตปรมัตถ์ และเจตสิกปรมัตถ์ ซึ่งเป็นธรรมชาติที่เกิดดับร่วมกัน จิตมี ๘๙ ดวง หรือ ๑๒๑ ดวง ต่างกันไปตามประเภทของจิต อาจารย์คะ แล้วก็เจตสิกล่ะคะมีกี่ดวง

    ท่านอาจารย์ เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ประเภท หรือที่เรียกว่า ๕๒ ดวงค่ะ

    คุณวันทนา แล้วเราล่ะคะมีเจตสิกครบทั้ง ๕๒ ประเภทไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ก็ควรจะครบค่ะ ที่ว่าควรก็เพราะเหตุว่า ในโลกนี้ก็มีบุคคลต่างๆ มากมายหลายประเภท เพราะฉะนั้นก็ไม่ควรจะกล่าวตายตัวเสียทีเดียวว่า ทุกคนมีเจตสิกครบหรือว่าขาดเจตสิกประเภทอะไรบ้าง นอกจากนั้นบางชีวิตก็สั้นมากเหลือเกินค่ะ อาจจะเกิดมาได้ไม่กี่วันก็ตาย ซึ่งเจตสิกบางประเภทก็อาจจะไม่เกิดกับบุคคลเหล่านั้นก็ได้ค่ะ

    คุณวันทนา อาจารย์คะ เจตสิกนี่ก็คงจะเป็นเช่นเดียวกับจิตนะคะ คือมีทั้งเจตสิกดี และเจตสิกไม่ดี

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เจตสิกบางประเภทก็เป็นเจตสิกที่ดีเป็นโสภณเจตสิก เจตสิกบางประเภทก็เป็นเจตสิกที่ไม่ดี เป็นอกุศลเจตสิก และเจตสิกบางประเภทก็ไม่ใช่ทั้งโสภณเจตสิกหรืออกุศลเจตสิกเลยค่ะ

    คุณวันทนา ถ้าหากว่าเจตสิกเกิดดับพร้อมกับจิต ตามที่อาจารย์เคยกล่าวว่าวันหนึ่งๆ นี่ค่ะ อกุศลจิตย่อมจะเกิดมากกว่ากุศลจิตนั้น ดิฉันคิดว่าเจตสิกก็คงจะเป็นเช่นเดียวกันนะคะ คือเจตสิกที่ไม่ดีก็คงเกิดมากกว่าเจตสิกที่ดี ถูกไหมคะอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ตามธรรมดาของปุถุชนก็เป็นอย่างนั้นละค่ะ ถ้าคุณวันทนารู้ลักษณะของจิต และเจตสิกแต่ละประเภทแล้ว แยกตัวเราออกเป็นจิตเจตสิกที่เกิดดับแต่ละนาทีแต่ละขณะ ในวันหนึ่งๆ ก็จะรู้ความจริงของจิตใจของเราเองดีค่ะว่า บางครั้งก็น่ารังเกียจ น่าเกลียด หรือบางครั้งก็น่าชื่นชมมากน้อยแค่ไหน เพราะถึงแม้ว่าจะไม่ได้ทำทุจริตทางกาย ทางวาจา แต่ว่าจิตใจที่เกิดดับสืบต่อกันอยู่นั้น บางขณะก็เป็นจิตใจที่น่ารังเกียจ น่าละอาย ควรจะขจัดขัดเกลาให้เบาบางลง และบางขณะก็เป็นจิตใจที่ดีงามที่ควรจะเจริญให้มีมากๆ ขึ้นค่ะ

    คุณวันทนา แหม เรื่องของใจนี่ช่างรู้ยากจริงๆ นะคะ เพราะมองไม่เห็น

    ท่านอาจารย์ ค่ะ สำหรับรูปร่างกายนั้นก็เป็นสิ่งที่เรามองเห็น ถ้าร่างกายสกปรกเมื่อไรก็เช็ดหรือล้างออก อาบน้ำประดับตกแต่งให้สะอาดน่าดูได้ แต่ว่าจิตใจซึ่งเป็นนามธรรมนั้นไม่มีใครมองเห็นค่ะ ถึงแม้ว่าแปดเปื้อนหนาแน่นด้วยกิเลสเขรอะขระสักเท่าไหร่ ถ้าไม่รู้ก็ย่อมจะไม่ได้ขัดเกลาสิ่งที่ไม่ดีงามนั้นออกไปเลย ในพระสูตรมีคำอุปมาที่ไพเราะมากค่ะ ที่เตือนให้ขัดเกลากิเลส อย่างในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค วนสังยุตต์ วิเวกสูตรที่ ๑ ข้อ ๗๖๑ - ๗๖๒ กล่าวถึงภิกษุรูปหนึ่งที่อยู่ในป่าแคว้นโกศล เวลาพักผ่อนตอนกลางวันท่านก็คิดอาลัยในเรื่องของการครองเรือน เทวดาที่สิงอยู่ในป่ามีความเอ็นดูหวังที่จะอนุเคราะห์ท่านให้เกิดความสลดใจก็เข้าไปหาท่าน แล้วกล่าวเตือนว่า เมื่อท่านปรารถนาความสงบ ความวิเวก ท่านจึงได้เข้าป่า แต่ว่าจิตใจของท่านก็กลับไปคิดถึงรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ท่านเป็นคน ฉะนั้นจงกำจัดความพอใจในคนเสีย จึงจะมีความสุขได้ อันนี้ถ้าคิดถึงเรื่องของการแสวงหาที่ไม่ประเสริฐ และการแสวงหาที่ประเสริฐที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ในปาสราสิกสูตรที่เราได้กล่าวถึงแล้วนะคะ ก็คงจะเข้าใจชัดขึ้นอีกว่าคนซึ่งมีชาติมีชรา มีพยาธิ มีมรณะ โสกะ กิเลส แล้วก็ยังพอใจที่จะแสวงหาคนซึ่งมีชาติ มีชรา มีพยาธิ มีมรณะ โสกะ กิเลสนั้นเช่นเดียวกัน นี่เป็นการแสวงหาที่ไม่ประเสริฐเลยค่ะ แล้วเทวดาองค์นั้นก็ยังกล่าวเตือนท่านให้คิดถึงธรรมของสัตบุรุษคือนิพพาน และบอกว่าความยินดีพอใจในกามคือในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นั้นเปรียบเหมือนกับฝุ่นละอองที่ละยาก นกที่เปื้อนฝุ่นละอองย่อมสลัดฝุ่นที่แปดเปื้อนร่างกายให้ตกไปฉันใด ภิกษุผู้มีความเพียรมีสติก็ย่อมสลัดฝุ่นคือกิเลสที่แปดเปื้อนให้ตกไปฉันนั้น เวลาที่ภิกษุท่านนั้นได้ฟังคำอุปมาที่ไพเราะเหมาะแก่กาลเวลา และสถานที่ที่จะทำให้เห็นจิรงได้อย่างนั้น ท่านก็เกิดความสลดใจค่ะ

    คุณวันทนา สำหรับคนอื่นล่ะคะ เขาไม่ได้อยู่ในสภาพที่สงบอย่างนั้น แต่กลับอยู่ในสภาพที่แวดล้อมด้วยความเย้ายวนแห่งรูปดีๆ เสียงก็เพราะๆ กลิ่นหอมๆ รสอร่อยๆ ความสลดใจก็คงจะไม่มีทางเกิดนะคะ แต่ตรงกันข้ามจิตของเขาก็ย่อมจะเพลิดเพลินมัวเมาอยากได้อยู่ร่ำไปในอารมณ์ที่น่าใคร่เหล่านั้น

    ท่านอาจารย์ คนที่จะถึงสลดใจจริงๆ อย่างภิกษุรูปนั้นคงจะมีน้อยค่ะ แต่ถึงอย่างนั้นดิฉันก็คิดว่าเป็นคาถาเป็นถ้อยคำที่ไพเราะ และก็น่าคิดมากนะคะ เพราะว่านกนั้นเวลาที่ไม่ชอบฝุ่นละอองที่แปดเปื้อนตัว ก็ย่อมมีความสามารถมีความเพียรได้เพียงแค่สลัดฝุ่นที่แปดเปื้อนออกเท่านั้น แต่มนุษย์นั้นย่อมรู้ดีรู้ชั่วมากกว่านก และมีความสามารถ มีความเพียร มีสติปัญญาในการขัดเกลากิเลสซึ่งเป็นฝุ่นละอองที่แปดเปื้อนจิตใจทำให้จิตใจเศร้าหมองได้มากกว่าวิสัยของนกตัวเล็กๆ ใช่ไหมคะ

    คุณวันทนา คำอุปมาอุปมัยที่ไพเราะต่างๆ ที่จะช่วยให้เกิดความเพียรในการอบรมเจริญกุศลจิต และกุศลเจตสิกคงจะมีมากนะคะ อาจารย์ ตามที่ท่านกล่าวไว้ในพระสูตรน่ะคะ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ ความหมาย และอรรถรสที่ไพเราะของพระสูตรนี่นะคะ ถ้าจะกล่าวถึงให้ละเอียดแล้วก็จะเตือนใจ และทำให้เข้าใจความหมายของคำหลายคำขึ้นอีกมาก แต่ว่าเราคงจะไม่มีเวลาที่กล่าวแต่ละสูตรให้ละเอียดได้ ถ้าคุณวันทนาสนใจก็อ่านเองนะคะ

    คุณวันทนา ค่ะ อย่างเวลาที่จิตประเภทหนึ่งๆ เกิดขึ้นนี่คะ จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยสักกี่ดวงคะ

    ท่านอาจารย์ เวลาที่จิตประเภทหนึ่งๆ หรือดวงหนึ่งเกิดขึ้นก็มีเจตสิกเกิดขึ้นร่วมด้วยหลายประเภทหรือว่าหลายดวงค่ะ จิตเกิดขึ้นขณะหนึ่งก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๗ ดวงค่ะ

    คุณวันทนา เอ้อ อย่างนั้นหรือคะ แล้วอย่างมากล่ะคะมีเท่าไหร่

    ท่านอาจารย์ อย่างมากก็ ๓๐ กว่าดวงค่ะ

    คุณวันทนา ก็เพราะเจตสิกที่เกิดกับจิตมีมากน้อยต่างกันนี่เองละนะคะ จึงได้ทำให้จิตต่างกันเป็นประเภทต่างๆ ใช่ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ จำนวนเจตสิกที่เกิดกับจิตมากน้อยไม่เท่ากันนั้นก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้จิตต่างกันค่ะ แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกที่ทำให้จิตต่างกันด้วย ไม่ใช่ไม่ต่างกันเพราะจำนวนเจตสิกที่เกิดกับจิตเท่านั้นค่ะ

    คุณวันทนา เรื่องของจิตเจตสิกที่พระองค์ทรงตรัสรู้แล้วทรงนำมาเทศนาคงจะละเอียดมากนะคะ

    ท่านอาจารย์ ละเอียดมากค่ะ ข้อสำคัญก็คือว่า ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมแล้ว เราก็จะไม่มีโอกาสรู้จักสิ่งที่อยู่ใกล้ที่สุดคือตัวของเรา ใจของเราเองทุกๆ ขณะได้เลยค่ะ เพราะว่าวันหนึ่งๆ เราก็รู้แต่เรื่องของคนอื่น เรื่องสิ่งอื่นภายนอกทั้งสิ้น แต่ส่วนร่างกาย และจิตใจเราเองซึ่งเกิดปรากฏให้รู้ได้ใกล้กว่า ง่ายกว่า และก็ตรงตามความเป็นจริงยิ่งกว่าร่างกาย และจิตใจของคนอื่นๆ นั้นเราก็กลับไม่สนใจ เพราะฉะนั้นตราบใดที่ใครยังไม่อบรมเจริญสติระลึกรู้ พิจารณาลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏที่กาย และสภาพจิตใจที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง คนนั้นก็ยังคงไม่รู้ความจริงของกาย และจิตใจ ไม่รู้ความจริงของรูปธรรม และนามธรรมอยู่นั่นเอง คุณวันทนารู้ใจคนอื่นไหมคะ

    คุณวันทนา พอจะรู้ค่ะ

    ท่านอาจารย์ รู้ได้ยังไงคะ

    คุณวันทนา ก็สังเกตจากคำพูด และกิริยาท่าทางที่เขาแสดงออกซิคะ

    ท่านอาจารย์ ถ้าสมมติว่าเขาไม่พอใจ แต่ความรู้สึกไม่พอใจนั้นไม่ปรากฏ เพราะเป็นความรู้สึกไม่พอใจเพียงเล็กๆ น้อยๆ หรือว่าเป็นคนที่มีความอดกลั้นมีมรรยาทที่ได้อบรมสำรวมระวังไว้อย่างดีแล้ว คุณวันทนาจะรู้ได้ไหมคะ

    คุณวันทนา อันนี้คงไม่รู้หรอกค่ะ

    ท่านอาจารย์ ถ้าคุณวันทนารู้ไม่ได้ ใครจะรู้ได้ล่ะคะ

    คุณวันทนา ตัวเขาซิคะ เขาก็รู้ของเขาเองว่า เขาโกรธหรือไม่พอใจมากน้อยแค่ไหน

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะฉะนั้น ความโกรธ ความไม่พอใจ แต่ละขณะที่เกิดขึ้นนั้น ถึงแม้ว่าจะเล็กน้อยสักเท่าไหร่ แต่ว่าลักษณะของปรมัตถธรรมแต่ละชนิดนั้นก็ต้องปรากฏตามสภาพองปรมัตถธรรมนั้นๆ ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะของปรมัตถธรรมแต่ละประเภทนั้นได้เลยค่ะ ถึงคนอื่นจะไม่รู้แต่ตัวผู้โกรธเองก็ต้องรู้ เพราะว่าลักษณะ และสภาพของความโกรธ ความไม่แช่มชื่นนั้นปรากฏแก่คนนั้นในขณะนั้นแล้ว

    คุณวันทนา ความโกรธเป็นจิตหรือเจตสิกคะ

    ท่านอาจารย์ เป็นเจตสิกค่ะ

    คุณวันทนา เพราะอะไรคะ

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าความโกรธเกิดกับจิตในขณะที่จิตเห็นสิ่งที่ไม่พอใจ หรือว่าได้ยินเสียงที่ไม่พอใจหรือคิดนึกถึงเรื่องที่ไม่พอใจ เป็นต้นค่ะ จิตเป็นธรรมชาติที่เห็น ได้ยิน คิดนึกเรื่องต่างๆ แต่ว่าลักษณะที่หยาบกระด้างดุร้ายที่ทำให้จิตใจไม่แช่มชื่นนั้นเป็นเจตสิกประเภทหนึ่งที่เกิดกับจิตในขณะที่จิตเห็นหรือได้ยินหรือคิดนึกเรื่องราวต่างๆ ลักษณะที่หยาบกระด้างดุร้ายนั้นเป็นเจตสิกที่ทางธรรมเรียกว่า โทสเจตสิกค่ะ

    คุณวันทนา ท่านผู้ฟังคะ วันนี้เราก็ได้พูดกันถึงเรื่องเจตสิกปรมัตถ์ ซึ่งเป็นนามธรรมชนิดหนึ่งที่มีจริง ทำหน้าที่ประกอบจิต เกิดดับพร้อมกับจิต มีอารมณ์เดียวกับจิต พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงประเภทของเจตสิกไว้ว่ามี ๕๒ ประเภท ตามลักษณะของเจตสิกนั้นๆ เช่น เจตสิกฝ่ายดี ก็ได้แก่ความไม่โลภ ความไม่โกรธ ความไม่หลง เป็นต้น ส่วนเจตสิกที่ไม่ดีนั้นก็ได้แก่ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความตระหนี่ ความริษยา เป็นต้น ลักษณะของการเห็น การได้ยิน การรู้อารมณ์เป็นจิต ส่วนลักษณะที่ทำให้จิตแจ่มใสหรือไม่แจ่มใสนั้นเป็นเจตสิก ท่านผู้ฟังก็คงจะได้รู้จักตัวของท่านเองขึ้นอีกเล็กน้อยแล้วนะคะ ว่า แต่ละขณะที่เกิดกับท่านนั้นเป็นจิตประเภทไหน และเป็นเจตสิกประเภทไหน ซึ่งก็เชื่อแน่ว่าทุกท่านก็ย่อมจะปรารถนาให้มีจิตเจตสิกฝ่ายดีมากกว่าฝ่ายที่ไม่ดีเป็นแน่ แต่การที่จะมีจิตเจตสิกประเภทดีเกิดขึ้นมากหรือน้อยก็ย่อมจะขึ้นอยู่กับการสนใจ และการศึกษาปรมัตถธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าศึกษาเป็นอันมาก เพราะเป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และได้ทรงแสดงไว้อย่างละเอียด ซึ่งพระองค์ก็ได้ทรงประทานไว้แก่เราเพื่อเป็นศาสดาแทนพระองค์เมื่อทรงปรินิพพานแล้ว

    ท่านผู้ฟังคะ วันนี้เวลาแห่งการสนทนาธรรมของเราก็ได้สิ้นสุดลงแล้ว พบกันใหม่ในโอกาสหน้า สวัสดีค่ะ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 1
    9 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ