บทสนทนาธรรม ตอนที่ 39


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ครั้งที่ ๓๙

    พระสิริโฉมของพระผู้มีพระภาค

    การเลื่อมใสในบุคคล และการเลื่อมใสในธรรม


    คุณวันทนา สวัสดีค่ะ ครั้งที่แล้วอาจารย์ได้นำหลักธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องความเลื่อมใสที่แตกต่างกันของบุคคล ๔ คือ ผู้ถือประมาณในรูป ๑ ผู้ถือประมาณในเสียง ๑ ผู้ถือประมาณในความเศร้าหมอง ๑ ผู้ถือประมาณในธรรม ๑

    สำหรับความเลื่อมใสในรูป ในเสียง ในความเศร้าหมอง หรือในธรรมนั้นก็ย่อมเป็นไปตามอัธยาศัยที่สะสมมา เช่นท่านพระวักกลิเป็นผู้เลื่อมใสในพระรูปโฉมอันงดงามของพระผู้มีพระภาค ในสมัยพุทธกาลก็มีคนมีความงามเป็นเลิศ ซึ่งมีเรื่องราวปรากฏอยู่หลายคนทีเดียว ที่เป็นคติเตือนใจก็เช่นนางสิริมาซึ่งเป็นหญิงแพศยาอยู่ในกรุงราชคฤห์ ข้อความในธัมมปทัฏฐกถา ชราวรรควรรณนามีว่า เมื่อนางสิริมาบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันแล้ว นางก็ได้ถวายภัตแก่สงฆ์เป็นประจำ ความงามของนางสิริมาทำให้ภิกษุรูปหนึ่งที่ได้รับภัตจากนาง ได้บอกกล่าวกับภิกษุรูปอื่นว่า “การได้เห็นนางสิริมานั้น ดีเสียยิ่งกว่าไทยธรรมที่แสนจะประณีตของนางเสียอีก เพราะนางสวยงามเช่นนี้ๆ ” ทำให้ภิกษุที่ได้ฟังเกิดความรักโดยไม่ได้เห็นตัวนางมาก่อนเลย และเมื่อถึงคราวภิกษุรูปนั้นไปรับภัตจากนาง ภิกษุรูปนั้นก็ไปยืนคอยอยู่ตั้งแต่เช้าทีเดียว แต่ในวันนั้นบังเอิญนางสิริมาไม่สบายเสีย จึงได้ให้ทาสีทำหน้าที่นิมนต์ต้อนรับภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นแทน แล้วให้นางทาสช่วยพยุงนางไปนมัสการภิกษุนั้น ภิกษุผู้ซึ่งเกิดความรักนางโดยไม่ได้เห็นตัวนางมาก่อน ก็คิดว่าความสวยงามของนางขณะเป็นไข้ยังงามถึงเพียงนี้ ถ้ายามปกติจะงามสักเพียงไหน จากการได้เห็นนางสิริมาทำให้ภิกษุรูปนั้นไม่สามารถจะฉันภัตตาหารที่ได้รับจากนางได้เลย แต่ในภายหลังภิกษุนั้นก็ละความรักในตัวนางได้ เมื่อนางถึงแก่กรรมลง และภิกษุนั้นได้เห็นสภาพสรีระของนางเสื่อมไป นอกจากนี้แล้วในสมัยพุทธกาล ยังมีคนอื่นอีกไหมคะ ที่ควรจะนำมากล่าวเป็นตัวอย่าง

    ท่านอาจารย์ ผู้ที่มีความงามเป็นเลิศแล้วละความติดยึดมั่นในความงามได้ ก็มีท่านพระนันทาภิกษุณีเป็นตัวอย่างค่ะ

    คุณวันทนา อาจารย์จะกรุณาเล่าเรื่องท่านพระนันทาภิกษุณีให้ท่านผู้ฟังได้ฟังสักหน่อยไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ในขุททกนิกาย เถรีปทาน กุณฑลเกสวรรคที่ ๓ นันทาเถริยาปทานที่ ๕ ได้กล่าวถึงอดีตชาติของท่านนันทาภิกษุณี ที่ท่านได้สั่งสมบุญมาตั้งแต่ครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ และในสมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระสมณโคดมพระองค์นี้ ท่านเป็นพระธิดาของพระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดา ท่านเป็นผู้ที่มีรูปสวยงามมาก ประชาชนพากันสรรเสริญ และในพระนครกบิลพัสดุ์นั้นนอกจากพระนางยโสธราพิมพาแล้ว ท่านเป็นผู้ที่งามเลิศกว่าหญิงใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อพระนางมหาโคตมีผู้เป็นพระมารดาทรงตักเตือนให้เห็นโทษของรูปร่างกายว่า ถึงแม้ว่าจะสวยงามเป็นที่ชื่นชมดังพระจันทร์เป็นชื่นชมของชาวโลก และยิ่งตกแต่งด้วยเครื่องประดับมากอย่างก็ยิ่งงดงามเปล่งปลั่งน่าดู ทำให้เป็นที่ชื่นชมสรรเสริญในบุญกุศลที่ได้บำเพ็ญไว้ แต่ว่าไม่ช้าไม่นานเท่าไรก็จะถึงความแก่ มีโรค และมีความตายเป็นที่สุด เพราะฉะนั้นจงละพระราชฐาน และความพอใจในรูปที่บัณฑิตติเตียน ประพฤติพรหมจรรย์เถิด

    ท่านพระนันทาภิกษุณีก็ออกบวช แต่ไม่ได้บวชด้วยความเต็มใจ ท่านคิดถึงตัวเอง และเจริญฌานเป็นอันมาก แต่ไม่ได้ประพฤติธรรมที่ละกิเลสเลย เมื่อพระผู้มีพระภาคทอดพระเนตรเห็น ก็ทรงพระมหากรุณาเนรมิตรูปหญิงที่สวยงามยิ่งกว่าท่านให้ท่านเห็น ท่านเป็นผู้มีความพอใจในความสวยงามของรูป ท่านจึงพอใจในความสวยงามของรูปหญิงเนรมิตนั้นมาก พระผู้มีพระภาคทรงเนรมิตรูปหญิงงามนั้นให้แปรเปลี่ยนไปเพราะโรคภัย และความเป็นปฏิกูลต่างๆ ท่านก็สลดใจ แล้วพระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดงธรรม ท่านตั้งอยู่ในธรรมนั้นได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ เป็นพระภิกษุณีผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายฝ่ายที่มีฌาน

    คุณวันทนา ความสวยงามก็มีมากน้อยแตกต่างกันไปตามกรรมนะคะ พระนางยโสธราพิมพาคงจะสวยงามมากนะคะ เพราะแม้พระนางนันทาจะสวยงามเลิศแล้ว ก็ยังกล่าวว่านอกจากพระนางยโสธราพิมพาแล้ว พระนางนันทางามเลิศกว่าหญิงใดๆ

    ท่านอาจารย์ ในยโสธราเถริยาปทานที่ ๘ มีข้อความว่า นอกจากพระผู้มีพระภาค พระนางยโสธราพิมพามีรูปที่สวยงามไม่มีผู้ใดเปรียบได้เลยค่ะ

    คุณวันทนา ที่พระผู้มีพระภาคทรงมีพระรูปงามเป็นเลิศไม่มีผู้ใดเปรียบนั้น ก็เป็นผลของบุญบารมีที่พระองค์ทรงสะสมมา เพื่อจะบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านะคะ

    ท่านอาจารย์ ในฑีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ลักขณสูตร ข้อ ๑๓๐ - ๑๗๑ แสดงมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการของพระผู้มีพระภาค พร้อมทั้งเหตุคือบุญกุศลต่างๆ ที่พระองค์ทรงบำเพ็ญมา ที่ทำให้พระองค์ทรงประกอบด้วยพระมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการนี้ ซึ่งคุณวันทนา และท่านผู้ฟังก็คงเคยฟัง และเคยทราบมาบ้างแล้ว เพราะฉะนั้นก็จะไม่กล่าวถึงในที่นี้ นอกจากพระรูปที่ถึงพร้อมด้วยความงาม ประกอบด้วยพระมหาปุริสลักษณะทุกประการแล้ว พระอิริยาบถทุกขณะก็เป็นที่ตั้งของความเลื่อมใสอย่างยิ่ง ทั้งเมื่อเสด็จดำเนินประทับยืน เสด็จเข้าละแวกบ้าน เสด็จเข้าประทับนั่งอาสนะ เสวยภัตตาหาร ทรงรับน้ำล้างบาตร เป็นต้น ซึ่งมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ พราหมณวรรค พรหมายุสูตร ข้อ ๕๘๔ - ๖๐๓ ก็ได้กล่าวถึงโดยละเอียดว่า พรหมายุพราหมณ์ได้ให้ศิษย์ชื่ออุตตรมานพไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเพื่อดูพระมหาปุริสลักษณะ ซึ่งแม้อุตตรมานพจะเห็นพระมหาปุริสลักษณะแล้ว ก็ยังได้ติดตามดูพระอิริยาบถของพระผู้มีพระภาคต่อๆ ไปอีกตลอด ๗ เดือน ดุจพระฉายาติดตามพระองค์ไปฉะนั้น

    คุณวันทนา อุตตรมานพคงจะเล่าให้พรหมายุพราหมณ์ฟังอย่างละเอียดนะคะ เพราะได้ติดตามพระองค์ไปอย่างใกล้ชิด อาจารย์จะกรุณายกตัวอย่างพระอิริยาบถบางประการให้ท่านผู้ฟังได้ทราบสักหน่อยไหมคะ อย่างเวลาเสด็จดำเนิน และเวลาทอดพระเนตรเป็นต้น

    ท่านอาจารย์ เมื่อพระผู้มีพระภาคจะเสด็จดำเนินนั้น ทรงก้าวพระบาทเบื้องขวาก่อน ไม่ทรงยกพระบาทไกลนัก ไม่ทรงวางพระบาทใกล้นัก ไม่เสด็จดำเนินเร็วนัก เสด็จดำเนินพระชาณุไม่กระทบพระชาณุ ข้อพระบาทไม่กระทบข้อพระบาท ไม่ทรงยกพระอุระสูง ไม่ทรงส่ายพระอุระ เมื่อเสด็จดำเนินพระกายส่วนบนไม่หวั่นไหว และไม่เสด็จดำเนินด้วยกำลังพระกาย คือไม่ทรงรีบ

    คุณวันทนา งามมากนะคะ แล้วเวลาทอดพระเนตรล่ะคะ

    ท่านอาจารย์ เมื่อทอดพระเนตร ทรงทอดพระเนตรด้วยพระกายทั้งหมด คือไม่ทรงเหลียวหน้าเหลียวหลัง ไม่ทอดพระเนตรขึ้นเบื้องบน ไม่ทรงทอดพระเนตรลงเบื้องต่ำ เมื่อเสด็จพระดำเนิน ไม่ทรงเหลียวแล และทอดพระเนตรประมาณชั่วแอก

    คุณวันทนา ก็แสดงให้เห็นชัดว่า ถ้าเป็นไปในทางตรงกันข้ามแล้วก็ไม่งามเลย อย่างการเหลียวหน้าเหลียวหลังล่อกแล่ก เป็นต้น แล้วพระสุรเสียงของพระองค์ล่ะคะ อุตตรมานพเล่าให้พรหมายุพราหมณ์ฟังว่าอย่างไรบ้าง เพราะอุตตรมานพคงมีโอกาสได้ฟังพระองค์ทรงแสดงธรรมด้วยนะคะ

    ท่านอาจารย์ อุตตรมานพเล่าให้พรหมายุพราหมณ์ฟังว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมในบริษัทนั้น พระองค์ไม่ทรงยอบริษัท ไม่ทรงรุกรานบริษัท ทรงชี้แจงให้บริษัทเห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถา ทรงมีพระสุรเสียงก้อง เปล่งออกจากพระโอษฐ์ อันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ สละสลวย ๑ รู้ได้ชัดเจน ๑ ไพเราะ ๑ ฟังง่าย ๑ กลมกล่อม ๑ ไม่พร่า ๑ พระสุรเสียงลึก ๑ พระสุรเสียงกังวาน ๑ และบริษัทจะใหญ่น้อยปานใด ก็ทรงให้เข้าใจด้วยพระสุรเสียงได้ และพระสุรเสียงไม่ได้ก้องออกไปนอกบริษัทเลยค่ะ

    คุณวันทนา ผู้ที่เลื่อมใสในรูป ในเสียง เมื่อได้เห็น และได้ฟังพระองค์ก็ย่อมมีความเลื่อมใสอย่างยิ่งนะคะ บุคคลเลื่อมใสต่างกัน ๔ อย่าง คือ เลื่อมใสในรูป เลื่อมใสในเสียง เลื่อมใสในความเศร้าหมอง และเลื่อมใสในธรรม สำหรับผู้ถือประมาณในความเศร้าหมอง เป็นอย่างไรบ้างคะ

    ท่านอาจารย์ ความเศร้าหมองในที่นี้หมายถึงความไม่ประณีตสวยงามของปัจจัย เช่น จีวร เครื่องนุ่งห่ม อย่างผ้าบังสุกุล ผ้าห่อศพ เป็นต้น บางคนเวลาเห็นท่านที่มีอัฏฐบริขาร เครื่องใช้ไม่ประณีต ไม่สวยงาม ก็เลื่อมใสว่าท่านผู้นั้นเป็นผู้มีธรรม

    คุณวันทนา ในประการสุดท้ายคือ ผู้ถือประมาณในธรรม และเลื่อมใสในธรรมเป็นยังไงคะ

    ท่านอาจารย์ ผู้ถือประมาณในธรรม ย่อมพิจารณาธรรม และเลื่อมใสธรรมเป็นใหญ่ ไม่เลื่อมใสเพราะบุคคลนั้นมีรูปน่าเลื่อมใสหรือมีเสียงน่าเลื่อมใส หรือดำรงชีพด้วยปัจจัยเศร้าหมองน่าเลื่อมใส แต่เลื่อมใสเพราะว่าผู้นั้นมีธรรม และประพฤติธรรมที่ถูกต้องมีเหตุผลสมควรแก่การเลื่อมใส

    คุณวันทนา ในเรื่องของการเลื่อมใสของบุคคลที่ต่างกัน ๔ ประการนี้ พระผู้มีพระภาคประทานโอวาทว่ายังไงบ้างคะ

    ท่านอาจารย์ พระองค์ตรัสว่า บุคคลที่ตกอยู่ในอำนาจความพอใจในรูป และในเสียงนั้น ย่อมจะขาดการพิจารณาคุณธรรมภายใจ และข้อประพฤติปฏิบัติภายนอกของผู้ที่ตนเลื่อมใส เพราะฉะนั้นควรจะรู้ทั่วถึงทั้งในคุณธรรมภายใจ และเห็นแจ้งในข้อปฏิบัติภายนอกของผู้ที่ตนเลื่อมใส บุคคลนั้นจึงจะเป็นผู้ที่เห็น และเข้าใจธรรมโดยไม่มีเครื่องกั้นหรือมีสิ่งใดปกปิด

    คุณวันทนา เป็นวิธีที่ดีที่สุดเลยนะคะ เพราะถ้าถือธรรมเป็นประมาณหรือเป็นสำคัญแล้ว นอกจากจะละการติดในรูปในเสียงแล้ว ก็ย่อมจะรู้ได้ชัดเจน และถูกต้องว่า บุคคลใดควรเลื่อมใสหรือไม่ควรเลื่อมใสประการใดบ้าง

    ท่านอาจารย์ ในครั้งพุทธกาล ก็มีตัวอย่างของการเลื่อมใสในบุคคลโดยไม่ถือธรรมเป็นประมาณค่ะ

    คุณวันทนา เป็นเรื่องของใครคะ

    ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องของภิกษุณีที่ฟังธรรมของท่านพระมหากัสสป

    คุณวันทนา เรื่องมีว่าอย่างไรคะ อาจารย์จะกรุณาเล่าให้ฟังด้วยได้ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ในสังยุตตนิกาย นิทานวรรค กัสสปสังยุตต์ ภิกขุนูปปัสสยสูตร ข้อ ๕๑๒ - ๕๑๗ มีข้อความว่า สมัยหนึ่งท่านพระมหากัสสปอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นเวลาเช้า ท่านพระอานนท์เข้าไปหาท่านพระมหากัสสปถึงที่อยู่ แล้วนิมนต์ท่านพระมหากัสสปไปยังที่พำนักของภิกษุณีด้วยกัน ท่านพระมหากัสสปปฏิเสธถึง ๒ ครั้ง แต่เมื่อท่านพระอานนท์นิมนต์เป็นครั้งที่ ๓ ท่านพระมหากัสสปก็ไป มีท่านพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ เมื่อท่านไปถึงแล้วนั่งบนอาสนะที่เขาจัดไว้ ภิกษุณีเป็นอันมากก็ไปหาท่าน และฟังธรรม ซึ่งท่านพระมหากัสสปก็ได้แสดงธรรมให้ภิกษุณีเหล่านั้นเห็นชัด ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ร่าเริง ในธรรม แต่ว่าภิกษุณีรูปหนึ่งชื่อถุลลติสสาไม่พอใจ ถึงกับเปล่งคำไม่พอใจว่า “เพราะเหตุไรเล่า พระผู้เป็นเจ้ามหากัสสปจึงสำคัญธรรมที่ตนกล่าวต่อหน้าพระผู้เป็นเจ้าอานนท์ผู้เป็นมุนีเปรื่องปราชญ์ เปรียบเหมือนพ่อค้าเข็มสำคัญว่าขายเข็มในสำนักของช่างเข็มผู้ชำนาญ …”

    ท่านพระมหากัสสปได้ยินเช่นนั้น จึงกล่าวกับท่านพระอานนท์ว่า “อาวุโสอานนท์ เราเป็นพ่อค้าเข็ม ท่านเป็นช่างเข็ม หรือเราเป็นช่างเข็ม ท่านเป็นพ่อค้าเข็ม” ท่านพระอานนท์กล่าวว่า “ข้าแต่ท่านพระมหากัสสปผู้เจริญ ขอท่านโปรดประทานโทษเถิด มาตุคามเป็นคนโง่”

    คุณวันทนา ทั้งท่านพระอานนท์ และท่านพระมหากัสสปก็ทรงคุณเลิศนี่คะ ถึงแม้ว่าตอนนั้นท่านพระอานนท์ยังเป็นพระโสดาบันบุคคล แต่ท่านก็เป็นพหูสูต เป็นพุทธอุปัฏฐาก ท่านพระมหากัสสปก็เป็นพระอรหันต์ผู้เลิศในธุดงคคุณที่น่าเลื่อมใสในความเศร้าหมองของปัจจัย เช่น จีวรบังสุกุล เป็นต้น ควรที่ถุลลติสสาภิกษุณีจะเลื่อมใสในธรรมของท่านทั้งสอง แต่เมื่อเลื่อมใสในบุคคล คือ ท่านพระอานนท์อย่างยิ่ง ก็เลยทำให้ไม่ถือธรรมเป็นประมาณ โทษของการเลื่อมใสในตัวบุคคล พระผู้มีพระภาคคงทรงแสดงไว้ด้วยนะคะ

    ท่านอาจารย์ โทษของการเลื่อมใสในตัวบุคคล คุณวันทนาก็เห็นได้แล้วจากที่ถุลลติสสาภิกษุณีเลื่อมใสในท่านพระอานนท์ ไม่ใช่ในธรรม จึงเป็นเหตุให้ไม่ถือธรรมที่ท่านพระมหากัสสปแสดงเป็นประมาณ ถ้าถุลลติสสาภิกษุณีถือธรรมเป็นประมาณก็ย่อมจะเบิกบานในธรรมที่ถูกต้อง มีเหตุผล เข้าใจชัดเจน และไม่คำนึงถึงว่าผุ้แสดงธรรมนั้นเป็นใคร จะเป็นครูบาอาจารย์ของตนหรือไม่ก็ตาม การเลื่อมใสบุคคลไม่ใช่เลื่อมใสในธรรมนั้น ย่อมจะนำความเศร้าหมองใจมาให้ และปิดกั้นไม่ให้เจริญกุศลต่อไปได้ ในอังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ปัญจมปัณณาสก์ ทุจริตวรรคที่ ๕ ปุคคลปสาทสูตรข้อ ๒๕๐ ก็ได้แสดงโทษของความเลื่อมในในบุคคลไว้ว่า

    ถ้าภิกษุที่เป็นที่รักที่ชอบใจนั้นต้องอาบัติ ถูกกล่าวโทษหรือลงโทษ ก็เป็นเหตุให้บุคคลที่เลื่อมใสในภิกษุนั้นไม่พอใจ ไม่เลื่อมใส ไม่คบหาภิกษุเหล่าอื่น และเมื่อไม่คบหาภิกษุเหล่าอื่นก็ย่อมไม่ฟังสัทธรรม เมื่อไม่ฟังสัทธรรมก็ย่อมเสื่อมจากสัทธรรม หรือถ้าภิกษุที่เป็นที่รักที่ชอบใจนั้นไปที่อื่น หรือลาสิกขา หรือมรณะ บุคลนั้นก็ไม่เลื่อมใส ไม่คบหาภิกษุเหล่าอื่น ซึ่งก็ย่อมไม่ได้ฟังสัทธรรม และย่อมจะเสื่อมจากสัทธรรม

    คุณวันทนา การเลื่อมใสในธรรมคงหมายถึงการเลื่อมใสในความประพฤติดีปฏิบัติดีด้วยนะคะ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใครถ้าประพฤติดีปฏิบัติดีก็เลื่อมใสในความประพฤติดีปฏิบัติดีของผุ้นั้น โดยไม่เลือกว่าผู้นั้นจะเป็นภิกษุหรือคฤหัสถ์ เป็นอาจารย์หรือเป็นศิษย์ เป็นผู้ใหญ่หรือเป็นเด็ก การยกย่องเลื่อมใสในคุณความดี ในความประพฤติปฏิบัติที่ดีของผู้นั้นก็เป็นการเลื่อมใสในธรรม ไม่ใช่เป็นการเลื่อมใสในบุคคล อย่างถุลลติสสาภิกษุณี ถ้าเลื่อมใสในธรรม คือการประพฤติดีปฏิบัติดี ไม่ว่าจะเป็นของบุคคลใด ก็ย่อมจะเลื่อมใสในท่านพระมหากัสสปด้วย เหมือนอย่างภิกษุณีรูปอื่นๆ แทนที่จะเลื่อมใสในเฉพาะท่านพระอานนท์เท่านั้น

    คุณวันทนา ส่วนการที่จะเลื่อมใสมากน้อยต่างกันอย่างไรนั้น ย่อมแล้วแต่คุณความดีมากน้อยต่างกัน และการสะสมอัธยาศัยความนิยมมาในด้านต่างๆ กันด้วย อย่างที่ผู้ที่มีอัธยาศัยทางสันโดษก็สรรเสริญท่านพระมหากัสสป ผู้ที่มีอัธยาศัยทางอุปัฏฐาก และพหูสูตก็สรรเสริญท่านพระอานนท์ แต่ไม่ได้หมายความว่า เมื่อสรรเสริญท่านผู้ใดในทางใดแล้ว ก็จะไม่เลื่อมใสในคุณความดีของท่านผู้นั้นเลย เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นก็เป็นการเลื่อมใสบุคคลไม่ใช่การเลื่อมใสในธรรม

    คุณวันทนา เท่าที่สังเกตดูในวงการศึกษาธรรม ผู้ศึกษาส่วนมากย่อมจะไม่เคยศึกษาธรรมมาก่อนด้วยตนเอง เพราะฉะนั้นเมื่อมาได้ยินได้ฟังได้ศึกษาธรรมจากบุคคลใด ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องยกย่องเคารพบุคคลที่ให้ความรู้ในทางธรรมนั้น แต่ว่าถ้าธรรมที่ได้ยินได้ฟังที่ได้ศึกษามานั้นต่างกัน ก็เป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งหรือทะเลาะวิวาทกัน อย่างนี้จะเป็นเพราะความเลื่อมใสในตัวบุคคลด้วยหรือเปล่าคะ

    ท่านอาจารย์ การเคารพ และระลึกถึงคุณของผู้ให้ความรู้ทางธรรมนั้นก็เป็นส่วนหนึ่ง และการเคารพธรรมนั้นก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง ต้องแยกกัน ความเคารพธรรมนั้นต้องใหญ่กว่าคามเคารพบุคคล เพราะพระธรรมเป็นศาสดาแทนองค์พระผู้มีพระภาค ซึ่งเป็นที่เคารพสูงสุดของพุทธศาสนิกชน ถ้าผู้กล่าวธรรมหรือแสดงธรรมเป็นผู้ที่เคารพในธรรม ก็ย่อมกล่าวธรรมแสดงธรรมตามพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว โดยไม่ยกชื่อของบุคคลที่นับถือเป็นครูอาจารย์นั้นมาอ้างว่าเป็นคำของอาจารย์ผู้นั้นผู้นี้ เพราะนอกจากเป็นการถือบุคคลที่กล่าวเป็นใหญ่ ไม่ถือพระธรรมเป็นใหญ่ ก็ยังทำให้เกิดการขัดแข้งบาดหมางกันได้

    คุณวันทนา ที่เป็นอย่างนี้ก็คงเป็นเพราะไม่เลือกเฟ้น ไม่พิจารณาธรรมให้ถูกต้องตามเหตุผลนะคะ เลยต่างคนต่างเข้าใจไปคนละอย่าง และเมื่อมีความเลื่อมใสในอาจารย์ท่านใด ก็ถือว่าท่านนั้นแหละกล่าวธรรมถูกต้องเสมอไป ซึ่งก็เป็นการเลื่อมใสในบุคคลไม่ใช่การเลื่อมใสในธรรม แต่ถ้าหากจะแยกการเคารพ และระลึกถึงคุณของผู้ให้ความรู้ทางธรรมนั้นเป็นส่วนหนึ่ง และความเคารพธรรมเป็นอีกส่วนหนึ่ง ก็คงจะไม่มีข้อขัดแย้งบาดหมางกัน เพราะทุกคนต่างก็ถือธรรมเป็นใหญ่ ไม่ได้ถือบุคคลหรืออาจารย์เป็นใหญ่

    ท่านอาจารย์ ในขุททกนิกาย สุตตนิบาต จูฬวรรคที่ ๒ นาวาสูตรที่ ๘ ข้อ ๓๒๕ กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้มากค่ะ ทั้งในเรื่องความเคารพบุคคลที่เป็นครูอาจารย์ และในเรื่องของการใคร่ครวญพิจารณาบุคคลที่ควรคบ และควรฟังธรรมจากผู้นั้นด้วย

    คุณวันทนา รู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากทีเดียว เพราะถ้าไม่ได้ใคร่ครวญบุคคลที่เป็นครูอาจารย์แล้ว ถ้าหากว่าครูอาจารย์นำทางผิดหรือชี้ทางผิด ก็ย่อมจะทำให้ลูกศิษย์หลงผิด และเข้าใจผิดตามไปด้วย ซึ่งก็จะทำให้ไม่ได้รับประโยชน์จากการฟังธรรม การศึกษาธรรม และปฏิบัติธรรมตามที่ต้องการ ซึ่งก็ต้องนับว่าเป็นพระมหากรุณาคุณของพระผู้มีพระภาคเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ประทานพระธรรมโอวาทให้เราได้ใคร่ครวญพิจารณาบุคคลอย่างรอบคอบ แล้วในสูตรนี้ท่านกล่าวเรื่องนี้ไว้อย่างไรบ้างคะ

    ท่านอาจารย์ สูตรนี้มีข้อความว่า เมื่อรู้แจ้งธรรมจากบุคคลใด พึงบูชาบุคคลนั้นเหมือนเทวดาบูชาพระอินทร์ฉะนั้น เพราะคนที่เป็นพหูสูตซึ่งศิษย์บูชาแล้ว ก็มีใจเลื่อมใสในศิษย์ด้วย และย่อมชี้แจงธรรมให้แจ่มแจ้ง ผู้ที่มีปัญญาไม่ประมาท ย่อมคบบุคคลผู้เป็นพหูสูตเช่นนั้น แล้วกระทำธรรมนั้นให้เป็นประโยชน์ ใคร่ครวญแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ย่อมเป็นผู้รู้แจ่มแจ้งแสดงธรรมแก่ผู้อื่น เป็นผู้ละเอียด

    คุณวันทนา ถึงแม้จะมีอาจารย์เป็นพหูสูตแล้ว ก็ยังต้องใคร่ครวญธรรมอีกด้วยนะคะ จะเพียงแต่เชื่อแล้วปฏิบัติตามไปเท่านั้นไม่ได้เลย

    ท่านอาจารย์ ในสูตรนี้กล่าวถึงอาจารย์ที่มีธรรมน้อย เป็นคนเขลาที่ยังไม่บรรลุประโยชน์ และริษยาไว้ด้วยว่า ผู้นั้นไม่ยังธรรมให้แจ่มแจ้งในศาสนานี้ ยังข้ามความสงสัยไม่ได้ ย่อมเข้าถึงความตาย และบุคคลที่ยังไม่ยังธรรมให้แจ่มแจ้ง ไม่ใคร่ครวญเนื้อความในสำนักของบุคคลที่เป็นพหูสูตทั้งหลาย ไม่รู้ด้วยตนเอง ยังข้ามความสงสัยไม่ได้นั้น จะสามารถให้คนอื่นพิจารณาธรรมได้อย่างไร เหมือนคนข้ามแม่น้ำที่มีน้ำมาก และมีกระแสไหลเชี่ยว ถูกน้ำพัดลอยไปตามกระแสน้ำนั้น จะสามารถช่วยให้คนอื่นข้ามได้อย่างไร

    คุณวันทนา ท่านก็ได้แสดงอุปมาให้ฟังแล้วชัดเหลือเกิน แล้วมีข้อความเตือนใจในสูตรนี้อีกไหมคะ

    ท่านอาจารย์ มีค่ะ ต่อไปมีอุปมาว่า ผู้ใดขึ้นสู่เรือที่มั่นคง มีพาย และถ่อพร้อมมูล ผู้นั้นรู้อุบายในเรือนั้น เป็นผู้ฉลาดมีสติ พึงช่วยผู้อื่นแม้จำนวนมากในเรือนั้นให้ข้ามได้ แม้ฉันใด ผู้ใดไปด้วยมัคคญาณทั้ง ๔ อบรมตนแล้ว เป็นพหูสูต ไม่มีความหวั่นไหวเป็นธรรมดา ผู้นั้นแลรู้ชัดอยู่ พึงยังผู้อื่นผู้ตั้งใจสดับ และสมบูรณ์ด้วยธรรมอันเป็นอุปนิสัย ให้เพ่งพินิจได้ ฉันนั้น เพราะเหตุนั้นแลบุคคลควรคบสัปบุรุษผู้มีปัญญา เป็นพหูสูต บุคคลผู้คบบุคคลเช่นนั้นรู้ชัดเนื้อความแล้ว ปฏิบัติอยู่ รู้แจ้งธรรมแล้ว พึงได้ความสุข

    คุณวันทนา จากการสนทนาธรรมของเราในวันนี้ ท่านก็คงได้ประจักษ์ในพระมหากรุณาคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้ประทานโอวาท ตักเตือนผู้ใครในธรรม และผู้ศึกษาธรรมทั้งหลายให้พิจารณาบุคคล และธรรมด้วยความรอบคอบ เพื่อไม่ให้มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะทำให้จิตของผู้ศึกษาธรรมเกิดความเศร้าหมอง และปิดกั้นไม่ให้เจริญกุศลต่อไป สวัสดีค่ะ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 1
    9 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ