บทสนทนาธรรม ตอนที่ 45


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ครั้งที่ ๔๕

    ภูมิมนุษย์เจริญกุศลได้มาก

    การประพฤติทุจริตเป็นการกู้ยืม


    คุณวันทนา สวัสดีค่ะ จากการสนทนาในครั้งที่แล้ว เราได้พูดถึงเรื่องอดีตชาติ และโลกซึ่งเป็นภพภูมิที่เกิดต่างๆ ในจักรวาลที่กว้างใหญ่สุดที่จะนับได้ ซึ่งไม่มีใครรู้ได้ว่าเมื่อจากโลกนี้ไปแล้วจะเกิดในโลกไหน และวันคืนที่เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้ก็ล่วงไปทุกขณะทีเดียว ดังนั้นเพื่อไม่ให้ชีวิตของเราในโลกนี้เป็นการอยู่โดยเปล่าประโยชน์หรือว่าไร้ประโยชน์ เราก็ควรที่จะพิจารณาใคร่ครวญ และมีหลักหรือมีแนวทางของการดำเนินชีวิตเสียแต่ในขณะนี้ว่าเราดำเนินชีวิตกันอย่างไร เมื่อมีหลัก และแนวทางของการดำเนินชีวิตแล้ว การมีชีวิตของเราในโลกนี้ก็คงมีประโยชน์มาก

    ท่านอาจารย์ การเกิดเป็นมนุษย์ในโลกนี้มีประโยชน์ หรือทำประโยชน์อะไรได้บ้างคะ

    คุณวันทนา ถ้าหากว่าจะบำเพ็ญชีวิตให้เป็นประโยชน์จริงๆ แล้ว ดิฉันคิดว่าทำได้ทุกทางเลยค่ะ ทั้งทาน ศีล และการเจริญภาวนา แต่ข้อสำคัญก็คือ การที่จะต้องดำรงชีวิตด้วยการแสวงหาทรัพย์หรือปัจจัยเพื่อความเป็นอยู่ของชีวิตนี่แหละค่ะ ที่ทำให้จิตใจต้องหมกมุ่นอยู่กับสิ่งเหล่านี้ และเมื่อหมกมุ่นแล้วก็ย่อมแสวงหาความเพลิดเพลินไปในทางรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส วันหนึ่งๆ จึงไม่ค่อยได้บำเพ็ญกุศล ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ตนเอง และแก่ผู้อื่นด้วย แต่ถ้าเกิดเป็นมนุษย์แล้วไม่ได้บำเพ็ญประโยชน์ ที่มีโอกาสจะบำเพ็ญได้ทุกทางอย่างนี้ละก็ ดิฉันรู้สึกว่าเกิดในสวรรค์เสียยังจะดีกว่า เพราะการเกิดในสวรรค์เป็นการเสวยผลของกุศลกรรม มีแต่ความสุขอย่างเดียว ไหนๆ เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วไม่ได้เจริญกุศลก็เกิดในสวรรค์เสียดีกว่า เพราะถึงแม้ว่าในสวรรค์จะบำเพ็ญกุศลได้ไม่ครบ เพราะว่าไม่มีทาน แต่ก็สะดวกสบายกว่ามนุษย์มาก

    ท่านอาจารย์ คุณวันทนาคิดว่าการที่มนุษย์ต้องดิ้นรนขวนขวายในการดำรงชีพ เป็นความทุกข์ยากเหน็ดเหนื่อย ทำให้มนุษย์แสวงหาความเพลิดเพลินแม้ในอารมณ์ที่ไม่ประณีตเท่ากับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสในสวรรค์ และการเพลิดเพลินพอใจในอารมณ์ต่างๆ เป็นเหตุให้มนุษย์ไม่ค่อยจะได้บำเพ็ญกุศลกันแล้ว ถ้าไปเกิดในสวรรค์จะมิยิ่งหลงไหลเพลิดเพลินในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสที่ดีๆ ในสวรรค์เสียจนไม่บำเพ็ญกุศลกันหรือคะ

    คุณวันทนา จริงด้วยค่ะ อารมณ์ในโลกซึ่งไม่ประณีตเท่ากับอารมณ์ในสวรรค์ มนุษย์ก็ยังหลงเพลิดเพลินพอใจถึงกับไม่ค่อยได้บำเพ็ญกุศล ลองซิคะ ลองให้ทุกคนเลือกระหว่างการเพลิดเพลินอารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ กับการที่จะสละสิ่งเหล่านี้แล้วบำเพ็ญกุศล คนส่วนมากก็คงเลือกเอาทางเพลิดเพลินกับอารมณ์ที่ดีๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างที่เขาเคยชินกันมากกว่า

    ท่านอาจารย์ ในขุททกนิกาย อปทาน อุมมาปุปผิยวรรคที่ ๓๓ นิคคุณฑิปุปผิยเถราปทานที่ ๗ ข้อ ๓๒๙ มีข้อความว่าเมื่อเทวดาจะจุติจากหมู่เทวดาเพราะสิ้นอายุ และจะเกิดเป็นมนุษย์นั้น เทวดาทั้งหลายก็พลอยยินดีที่ผู้นั้นจะเกิดในสุคติภูมิ และเมื่อจะเกิดเป็นมนุษย์ก็ขอให้ผู้นั้นมีศรัทธาอย่างยอดเยี่ยมในพระสัทธรรม ซึ่งศรัทธาที่ตั้งมั่นคงแล้วนั้นย่อมเป็นที่พึ่ง และขอให้ผู้นั้นทำกุศลด้วยกาย วาจา ใจ มากๆ อย่าเบียดเบียนผู้ใด และให้ทำบุญยิ่งๆ ขึ้นด้วยการให้ทานให้มาก และชักชวนผู้อื่นให้ตั้งมั่นในพรหมจรรย์ด้วย และเทวดาที่เป็นสาวกก็พร่ำสอนธรรมให้เกิดความสลดใจก่อนจะจุติด้วยค่ะ

    คุณวันทนา การที่เทวดาทั้งหลายพลอยยินดีด้วยกับผู้ที่จะเกิดเป็นมนุษย์ ก็เพราะถึงแม้ว่าภูมิมนุษย์จะเป็นภูมิที่ต่ำกว่าเทวดาก็จริง แต่ก็ยังเป็นสุคติภูมิไม่ใช่อบายภูมิ และเป็นภูมิที่มีโอกาสจะเจริญกุศลได้มากทีเดียว และนอกจากนั้นแม้การเกิดในภูมิมนุษย์ซึ่งเป็นสุคติภูมินั้นก็เป็นการเกิดได้ยาก เพราะถ้าพลาดจากภูมิมนุษย์ซึ่งเป็นสุคติภูมิที่ต่ำที่สุดแล้วก็ต้องเกิดในอบายภูมิ ภูมิใดภูมิหนึ่ง และถ้าจะพิจารณาดูชีวิตของมนุษย์โดยทั่วๆ ไป โอกาสที่จะเจริญกุศลดูเหมือนจะน้อยกว่าอกุศล และยิ่งคิดถึงอดีตอนันตชาติด้วยแล้ว ก็ไม่รู้เลยว่าอกุศลกรรมใดบ้างที่ทำไปแล้วจะให้ผลทำให้เกิดในอบายภูมิเมื่อไรอีก

    ท่านอาจารย์ ถ้ายังไม่ได้อบรมเจริญปัญญาจนถึงขั้นรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยบุคคล อกุศลกรรมที่ทำไว้ไม่ว่าจะในชาติใดนั้น เมื่อมีโอกาสก็ทำให้เกิดในอบายภูมิได้ แต่ว่าอดีตก็เป็นสิ่งที่ผ่านพ้นไปแล้ว อนาคตก็ยังมาไม่ถึง ชีวิตในปัจจุบันนี้ก็สำคัญกว่ามากนะคะ ในมัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ วิภังควรรค ภัทเทกรัตตสูตร ข้อ ๕๒๗ พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงเตือนภิกษุทั้งหลายว่า “บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นเป็นอันละไปแล้ว และสิ่งที่ยังไม่มาถึง ก็เป็นอันยังไม่ถึง ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบัน ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆ ได้ บุคคลนั้นพึงเจริญธรรมนั้นเนืองๆ ให้ปรุโปร่งเถิด พึงทำความเพียรเสียในวันนี้แหละ ใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง เพราะว่าความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปกติอยู่อย่างนี้ มีความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวัน และกลางคืนนั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ”

    คุณวันทนา ทุกคนรู้ว่าจะต้องตาย แต่ไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไร และทุกคนก็ย่อมจะรู้ว่าอกุศลกรรม เช่น การฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ การทำให้คนอื่นเขาเดือดร้อนเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ไม่ดี นำความทุกข์ความเดือดร้อนมาให้คนอื่น และตัวเองด้วย บางคนก็ไม่อยากทำ แต่ที่ทำลงไปก็เพราะความจำเป็นของชีวิต อย่างบางคนก็อ้างว่าทำไปเพราะยากจน เพราะจำเป็นจริงๆ และถึงแม้จะรู้ว่าความดีเป็นสิ่งที่นำความสุข ความสบายมาให้กับทั้งคนอื่น และตัวเองด้วย แต่ตัวเองก็ไม่ได้ทำ ถ้าเป็นอย่างนี้ อาจารย์มีวิธีไหนที่จะช่วยให้แต่ละชีวิตแต่ละคนได้ละเว้นอกุศลกรรมให้น้อยลง และเพียรทำกุศลกรรมให้มากขึ้น พอจะมีทางไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาเลย ถึงจะรู้ว่าอะไรไม่ดี ก็ห้ามในที่ไม่ดีไม่ให้เกิดขึ้นไม่ได้เลย ถึงจะรู้ว่าการกระทำใด วาจาใดไม่ดี ก็ห้ามการกระทำนั้นไม่ได้ การที่ธรรมฝ่ายไม่ดีจะลดน้อยลงไปได้ ก็อาศัยการเจริญกุศลทีละเล็กละน้อย จนกว่ากุศลนั้นจะสะสมเจริญมากขึ้น การทำอกุศลจึงจะเกิดยาก และลดน้อยลงเป็นลำดับได้

    คุณวันทนา ถ้าอย่างนั้นปัญหาก็ไม่แคล้วอนัตตาอีกน่ะแหละค่ะ อย่างที่ว่ารู้แล้วก็บังคับใจตัวเองไม่ได้ รู้ว่าอกุศลไม่ดีก็ยังไม่เลิกทำอกุศล และรู้แล้วว่ากุศลเป็นสิ่งที่ดี ก็ยังไม่คิดที่จะทำ

    ท่านอาจารย์ ที่ว่ารู้แล้วนั้นคงรู้น้อยเหลือเกินนะคะ น้อยจนไม่เป็นปัจจัยให้สะสมกุศล ไม่ว่าจะเป็นกุศลประเภทไหน และไม่ว่าจะเป็นในขณะไหนด้วย

    คุณวันทนา ถ้างั้นก็เป็นแต่เพียงรู้นิดเดียว ไม่ถึงขั้นรู้จริงๆ และเมื่อไม่ได้ทำกุศลไม่ได้สะสมกุศลเลย ก็ละเว้นอกุศลไม่ได้เลยซินะคะ

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ค่ะ เพราะถ้ารู้โทษของอกุศลจริงๆ ก็ย่อมจะอบรมเจริญ และสะสมกุศลไปเรื่อยๆ อกุศลจึงจะลดน้อยลง และเบาบางลงได้ เพราะถ้าไม่อาศัยการเจริญกุศล อกุศลก็จะเบาบางลงไม่ได้เลย มีแต่จะเพิ่มขึ้น คุณวันทนาคงจะจำอดีตกรรมของพระสาวกต่างๆ และเรื่องต่างๆ ในครั้งพุทธกาล ที่เราเคยพูดถึงกันมาแล้วได้นะคะ ว่า ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใคร ประกอบอาชีพอะไร พระผู้มีพระภาคก็ทรงพระมหากรุณาเทศนาหรือทรงอนุเคราะห์ด้วยวิธีหนึ่งวิธีใด เพื่อยังจิตใจของผู้นั้นให้เกิดความเลื่อมใส และทำกุศลแม้เพียงชั่วขณะหนึ่งขณะใด และไม่ว่าจะเป็นกุศลประเภทไหนด้วยค่ะ อาจจะเป็นการถวายทาน หรือเป็นการแสดงความนอบน้อม ความเลื่อมใส ทั้งนี้ก็เพราะกุศลที่ได้ทำแล้วนั้นจะเป็นปัจจัยทำให้กุศลอื่นๆ มีโอกาสเกิด และเจริญมากขึ้นได้ในภายหลัง

    คุณวันทนา อย่างคนฆ่าหมูถวายทาน ทานนั้นก็ให้ผลเกิดในสวรรค์ ไม่ต้องฆ่าหมู หรือผลของทานนั้นทำให้เกิดดี ไม่ต้องฆ่าหมูอีก ก็มีโอกาสที่จะให้ได้เจริญกุศลอื่นๆ ทีละเล็กทีละน้อยสะสมไปจนในชาติสุดท้ายก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้จริงไหมคะอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ค่ะ ไม่ว่าจะเป็นใคร อาชีพอะไร หรือเป็นโจรผู้ร้าย พลั้งพลาดทำอกุศลใดไปด้วยกำลังของกิเลส ก็ควรคิดถึงโทษภัยที่จะได้รับเพราะอกุศลกรรมนั้น และไม่ควรประมาทในการทำกุศลแม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ เพราะกุศลแม้เล็กน้อยนั้น เมื่อทำบ่อยๆ ก็ย่อมมีมาก และเป็นปัจจัยให้กิเลสอกุศลลดน้อยลงด้วย การบังคับใครไม่ให้ทำอกุศลกรรมหรือไม่ให้มีอกุศลจิตนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่การช่วยให้บุคคลใดเกิดกุศลจิต และทำกุศลกรรมทีละเล็กทีละน้อย เช่นให้ทานสักครั้งหนึ่ง ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง สงเคราะห์ช่วยเหลือคนอื่นเล็กๆ น้อยๆ หรือมีเมตตาต่อผู้อื่นบ้างแม้เพียงสัก ๑ ครั้ง ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง นั่นก็เป็นการลดอกุศลไปในตัว คือขณะที่กุศลจิตเกิดนั้นอกุศลจิตก็เกิดไม่ได้ และกุศลที่เกิดแล้วนั้นก็ให้ผลได้ และยังเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลอื่นๆ ต่อไปอีกด้วย

    คุณวันทนา ก็เพราะเหตุนี้เองนะคะ พระผู้มีพระภาคทรงทราบเหตุหรือปัจจัยของธรรมทั้งหลาย จึงได้ทรงพระมหากรุณาเทศนาสั่งสอน และทรงอนุเคราะห์ทุกทางที่จะให้สัตวโลกละเว้นอกุศล และเจริญกุศล ซึ่งการละเว้นจากอกุศลนั้นก็เป็นกุศลประเภทหนึ่ง คือเป็นกุศลประเภทศีลนั่นเอง

    ท่านอาจารย์ ถ้าคุณวันทนาฟัง และศึกษาพระธรรมมากขึ้น จะเห็นพระมหากรุณาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีต่อสัตวโลกอย่างสุดที่จะพรรณนาเลยทีเดียวค่ะ พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงนั้นประกอบด้วยพระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ และพระปัญญาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด ไม่มีพระพุทธวจนะสักคำเดียวที่สอนหรือส่งเสริมให้ผู้ใดมีกิเลส แม้เพียงชั่วขณะเดียวหรือแม้เมื่ออยู่ในสถานการณ์ใดๆ ทั้งสิ้น พระองค์มีแต่ทรงชี้โทษของอกุศลกรรมอย่างละเอียด ด้วยคำอุปมาที่ไพเราะชัดเจน เพื่ออนุเคราะห์ผู้ฟังให้เห็นโทษของอกุศล และให้เจริญกุศลยิ่งๆ ขึ้น

    คุณวันทนา อาจารย์จะกรุณายกตัวอย่างด้วยได้ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ในอังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ธรรมิกวรรคที่ ๕ นาคสูตร ข้อ ๓๑๔ มีข้อความว่า สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี เวลาเช้าเสด็จเข้าไปบิณฑบาตในพระนาคสาวัตถี ครั้นเสด็จกลับจากบิณฑบาต ภายหลังภัตแล้ว ตรัสเรียกท่านพระอานนท์ไปเพื่อทรงพักผ่อนกลางวันที่บุพพารามวิหาร เวลาเย็นเสด็จไปพร้อมกับท่านพระอานนท์เพื่อสรงน้ำที่ท่าน้ำชื่อบุพพโกฏฐกะ ครั้นสรงแล้วก็ทรงผ้าอันตรวาสก ประทับยืนผึ่งพระวรกายอยู่

    ก็สมัยนั้น พระเสวตกุญชรของพระเจ้าปเสนทิโกศลขึ้นจากท่าน้ำ เพราะเสียงดนตรีใหญ่ที่เขาตีประโคม มหาชนเห็นช้างนั้นแล้วกล่าวชมว่า ช้างนี้งามยิ่งนัก น่าดูนัก น่าเลื่อมใสนัก เมื่อมหาชนกล่าวชมอย่างนี้แล้ว ท่านพระกาลุทายีก็ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่ามหาชนเห็นช้างเผือกใหญ่ สูง มีอวัยวะสมบูรณ์เท่านี้หรือหนอ จึงเรียกว่าสัตว์ประเสริฐ หรือว่ามหาชนเห็นสัตว์อื่นที่ใหญ่ สูง มีอวัยวะสมบูรณ์ จึงได้กล่าวว่าสัตว์นั้นประเสริฐ

    คุณวันทนา แล้วพระผู้มีพระภาคตรัสว่าอย่างไรคะ

    ท่านอาจารย์ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มหาชนเห็นช้างใหญ่ สูง มีอวัยวะสมบูรณ์ จึงเรียกว่าสัตว์ประเสริฐ มหาชนเห็นม้าตัวใหญ่สูงบ้าง โคตัวใหญ่สูงบ้าง งูตัวใหญ่ยาวบ้าง ต้นไม้ใหญ่สูงบ้าง มนุษย์ผู้มีร่างกายใหญ่สูง มีอวัยวะสมบูรณ์ จึงกล่าวชมว่าประเสริฐ แต่บุคคลใดไม่ทำความชั่วด้วยกาย วาจา ใจ ในโลกนี้กับทั้งเทวโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ เราเรียกบุคคลนั้นว่าประเสริฐ

    คุณวันทนา พระผู้มีพระภาคไม่เคยที่จะทรงเว้นการประทานโอวาทตักเตือนให้เห็นว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรถูก อะไรผิด แม้ในโอกาสใดๆ เลย อย่างแม้แต่เห็นช้างแล้วกล่าวชม พระองค์ก็ทรงให้โอกาสนั้นควรแก่การอุปมาให้เห็นความต่างกันของความคิด ความเข้าใจ ในทางโลกกับทางธรรม ซึ่งอุปมาที่พระองค์ทรงแสดงนั้น ก็ย่อมเป็นความจริงทุกสมัย และแจ่มแจ้งเข้าใจได้ง่ายสำหรับทุกๆ คนด้วย ยังจะมีคำอุปมาอะไรอีกไหมคะอาจารย์ ที่จะเป็นตัวอย่างให้ท่านผู้ฟังได้เห็นพระมหากรุณาที่ได้ทรงอนุเคราะห์ชี้แจงเรื่องที่บุคคลไม่ควรทำอกุศล และควรทำแต่กุศล

    ท่านอาจารย์ ในอังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ธรรมิกวรรคที่ ๕ อิณสูตร ข้อ ๓๑๖ พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า ความจนเป็นทุกข์ของผู้บริโภคกามในโลก ซึ่งภิกษุทั้งหลายก็กราบทูลว่าเป็นอย่างนั้น แล้วพระองค์ตรัสว่า คนจนเข็ญใจ ยากไร้ ย่อมกู้ยืม แม้การกู้ยืมก็เป็นทุกข์ ซึ่งภิกษุทั้งหลายก็กราบทูลว่าเป็นอย่างนั้น แล้วพระองค์ตรัสต่อไปว่า เมื่อกู้ยืมแล้วก็ต้องรับใช้ดอกเบี้ย แม้การรับใช้ดอกเบี้ยก็เป็นทุกข์ ซึ่งภิกษุทั้งหลายก็กราบทูลว่าเป็นอย่างนั้น แล้วพระองค์ก็ตรัสต่อไปว่า เมื่อไม่ใช้ดอกเบี้ยตามกำหนดเวลา ก็ถูกเจ้าหนี้ทวง ซึ่งก็เป็นทุกข์ ซึ่งภิกษุทั้งหลายก็กราบทูลว่าเป็นอย่างนั้น แล้วพระองค์ก็ตรัสต่อไปว่า ถ้าเจ้าหนี้ทวงแล้วไม่ให้ ก็จะต้องถูกเจ้าหนี้ติดตาม แม้การที่ถูกติดตามก็ทุกข์ ซึ่งภิกษุทั้งหลายก็กราบทูลว่าเป็นอย่างนั้น แล้วพระองค์ก็ตรัสต่อไปว่า เมื่อเจ้าหนี้ติดตามทันแล้วก็ย่อมจองจำไว้ แม้การจองจำก็เป็นทุกข์ ซึ่งภิกษุทั้งหลายก็กราบทูลว่าเป็นอย่างนั้น

    คุณวันทนา พระองค์ทรงลำดับความทุกข์ต่างๆ ที่เกิดจากความจนเป็นขั้นๆ เห็นชัดเลยนะคะ อาจารย์ ความจนที่นำเอาทุกข์ต่างๆ นานามาให้นี้ จะเกี่ยวกับกุศลกรรม อกุศลกรรมยังไงบ้างไหมคะ

    ท่านอาจารย์ พระองค์ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า บุคคลบางคนไม่มีศรัทธาในกุศลธรรม ไม่มีหิริโอตตัปปะ คือไม่มีความละอายความเกรงกลัวบาป ไม่มีความเพียร ไม่มีปัญญา ไม่รู้ว่าอะไรเป็นบุญเป็นกุศล บุคคลนั้นเป็นคนจน เข็ญใจ ยากไร้ ในวินัยของพระอริยเจ้า เพราะคนจนเข็ญใจยากไร้นั้น เมื่อไม่มีศรัทธาในกุศลธรรม ไม่มีความละอาย ความเกรงกลัวบาป ไม่มีความเพียร ไม่มีปัญญาในกุศลธรรม ย่อมประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ และพระองค์ตรัสว่า การประพฤติทุจริตนั้นเป็นการกู้ยืม

    คุณวันทนา ก็หมายความว่า จะต้องมีการใช้หนี้กันละนะคะ เมื่อทำกรรมใดแล้วก็ย่อมได้รับผลของกรรมนั้นๆ ก็เท่ากับเป็นการใช้หนี้กรรมนั่นเอง และที่พระองค์ตรัสว่าคนที่ไม่มีศรัทธาในกุศลเป็นคนจน และการกระทำทุจริตเป็นการกู้ยืม จะต้องได้รับผลของการทำทุจริตกรรม อย่างที่เราพูดกันว่า ใช้กรรมหรือว่าใช้หนี้กรรม ซึ่งก็คงไม่ได้หมายความว่าจะต้องเอาเงินไปใช้ให้ใครหรอกนะคะ แต่หมายความว่าผู้ที่กระทำกรรมนั้นแหละจะต้องได้รับผลของกรรมนั้น เมื่อถึงคราวที่กรรมนั้นให้ผล และผลของการกระทำทุจริตกรรมจะมีความทุกข์เป็นขั้นๆ เหมือนการกู้ยืมยังไงบ้างคะ

    ท่านอาจารย์ พระองค์ตรัสว่า เมื่อผู้ใดทำอกุศลกรรมแล้วก็ย่อมปกปิดการทำชั่วนั้นไม่อยากให้ใครรู้ และย่อมปกปิดกรรมชั่วนั้นด้วยการกระทำต่างๆ ทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง เช่นต้องหลบหนีหน้า หรือพูดกลบเกลื่อนอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นต้น และทางใจนั้นก็คือคิดอุบายหาทางที่จะไม่ให้คนอื่นรู้ การที่ต้องหาทาง และปกปิดความชั่วด้วยกระทำ และคำพูดต่างๆ นานานั้น พระองค์ตรัสว่าเป็นการรับใช้ดอกเบี้ย

    คุณวันทนา ถ้าไม่เปรียบเทียบกับการใช้ดอกเบี้ยซึ่งใครๆ ก็ไม่ชอบ และรู้ว่าเป็นทุกข์แล้วละก็คงไม่ค่อยจะมีใครเห็นว่า การเสแสร้งเพทุบายต่างๆ นานา เพื่อกลบเกลื่อนหรือปกปิดความชั่วนั้นก็เป็นความลำบาก และเริ่มทุกข์แล้วนะคะ และขั้นต่อไปล่ะคะ อะไรจะเหมือนกับถูกเจ้าหนี้ทวงล่ะคะ

    ท่านอาจารย์ เมื่อเพื่อนพรหมจรรย์ผู้มีศีลเป็นที่รัก หรือผู้ใดกล่าวว่าผู้นั้นทำอกุศลกรรมอย่างนั้นอย่างนี้ ประพฤติชั่วอย่างนั้นอย่างนี้เป็นต้น การที่ถูกกล่าวเช่นนั้นเป็นการทวงดอกเบี้ย

    คุณวันทนา การที่ถูกผู้อื่นกล่าวหรือประนามว่าได้กระทำกรรมชั่วรู้สึกว่าเป็นทุกข์มากนะคะ อาจารย์ เพราะใครๆ ก็คงไม่ต้องการถูกประนาม มีแต่คนที่ต้องการให้คนอื่นชมทั้งนั้น แต่ความทุกข์ขึ้นถูกทวงดอกเบี้ยก็ยังไม่หมด ยังจะต้องได้รับทุกข์ต่อไปอีก อะไรล่ะคะที่จะเป็นทุกข์เหมือนเจ้าหนี้ติดตาม

    ท่านอาจารย์ ถึงแม้ว่าผู้กระทำชั่วนั้นจะอยู่ที่ไหน ในป่า โคนไม้ เรือนว่าง ถึงจะอยู่ลำพังคนเดียวก็ตาม จะนั่ง นอน ยืน เดิน ก็ไม่มีความสงบสุขเลย มีแต่ความเดือดร้อนใจ พระองค์ตรัสว่า การไม่มีความสงบสุข มีความเดือดร้อนใจนั้น เป็นเจ้าหนี้ที่ติดตามผู้นั้นอยู่ตลอดเวลา

    คุณวันทนา จะหาใครอุปมาได้ชัดเจนเหมือนอย่างพระองค์เห็นจะไม่ได้อีกแล้วนะคะ ทั้งนี้ก็เพราะพระมหากรุณาอย่างแท้จริงทีเดียว ที่ทรงมุ่งอนุเคราะห์ให้สัตว์โลกที่ได้รับฟังพระธรรมเทศนานี้เห็นความทุกข์อันเป็นผลของอกุสล จนไม่อยากทำอกุศลใดๆ ทั้งสิ้นถ้าเป็นไปได้ แล้วที่ว่าเมื่อเจ้าหนี้ติดตรมพบ และจองจำล่ะคะ ความทุกข์ที่ถูกจองจำจะเป็นทุกข์ขณะไหนคะ

    ท่านอาจารย์ ความทุกข์ที่ถูกจองจำนั้นก็คือ เมื่อผู้ประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ ตายไปแล้ว ย่อมถูกจองจำในเรือนจำคือนรก หรือในเรือนจำคือกำเนิดเดรัจฉาน

    คุณวันทนา ท่านผู้ฟังคะ ถึงแม้เราท่านจะรู้กันดีแล้วว่าอกุศลกรรมทั้งหลายไม่ดี แต่ถ้าหากไม่มีผู้ใดชี้โทษให้เห็นโดยละเอียดเป็นลำดับขั้น ดังที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงมีพระมหากรุณาเทศนาชี้แจง และทรงอุปมาโปรดเวไนยสัตว์ในครั้งนั้น เราพุทธศาสนิกชนก็คงขาดข้อคิดที่อาจจะยับยั้งจิตใจของเราไม่ให้ตกไปในฝ่ายอกุศลได้บ่อยๆ นะคะ สวัสดีค่ะ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 1
    9 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ