บทสนทนาธรรม ตอนที่ 34


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ครั้งที่ ๓๔

    พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะอย่างไร


    คุณวันทนา สวัสดีค่ะ ธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงนั้น นอกจากจะเป็นเครื่องมือเตือนให้พุทธศาสนิกชนได้ระลึกถึงพระคุณทั้ง ๓ คือ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณแล้ว พระธรรมคำสอนของพระองค์ ย่อมเป็นประดุจกระจกเงาที่ทำให้ผู้ส่องคือผู้ศึกษาได้เห็นว่า การศึกษาธรรมนั้นเป็นการศึกษาตัวเอง และโลกอย่างละเอียด ฉะนั้นจึงมีคุณประโยชน์ที่สุดแก่ชีวิต

    จากการสนทนาในครั้งที่แล้ว อาจารย์ได้นำท่านผู้ฟังไปสู่เรื่องราวในสมัยพุทธกาลคือ เมื่อครั้งพระเจ้ามธุรราชอวันตีบุตรได้ทรงสดับพระธรรมที่ท่านพระมหากัจจานะ ซึ่งเป็นพระอรหันตสาวกองค์หนึ่งแสดงแก่พระองค์แล้ว พระองค์ก็ทรงเกิดปีติเลื่อมใสถึงกับทรงประกาศของถึงพระมหากัจจานะ พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอให้ท่านพระมหากัจจานะจงจำพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นไป แต่ท่านพระมหากัจจานะก็ได้คัดค้านว่า ขอพระองค์อย่าได้ถึงท่านเป็นสรณะเลย จงทรงถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะเถิด

    สำหรับในข้อนี้ การถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสรณะ และการถึงพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะนั้น ก็คงจะต่างกันนะคะ

    ท่านอาจารย์ ผู้ที่เป็นพุทธศาสกนิกชนถึงพระผู้มีพระภาคเป็นสรณะ ในฐานะทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นพระพุทธรัตนะ ทรงเป็นพระบรมศาสดา และถึงพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะในฐานะเป็นพระสังฆรัตนะ คือเป็นสาวกผู้รู้แจ้งคำสอนของพระผู้มีพระภาคค่ะ

    คุณวันทนา ยังมีข้อหนึ่งค่ะ คือการถึงพระธรรมเป็นสรณะ ในข้อนี้จะแยกจากการถึงพระพุทธ และพระสงฆ์เป็นสรณะได้อย่างไรคะ

    ท่านอาจารย์ การถึงพระธรรมเป็นสรณะเป็นที่พึ่งนั้นก็ได้แก่ การถึงสภาพธรรมที่ไม่มีการเกิดขึ้น ซึ่งก็ได้แก่นิพพานนั่นเองค่ะ สภาพของนิพพานซึ่งไม่มีการเกิดขึ้นนั้น เป็นธรรมที่ไม่สามารถจะบัญญัติได้ว่าเป็นสัตว์บุคคลใดๆ ทั้งสิ้น เพราะว่าสิ่งใดที่มีการเกิดขึ้นปรากฏ สิ่งนั้นจึงจะบัญญัติเป็นบุคคล เป็นสัตว์ เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ได้ เพราะฉะนั้นการถึงนิพพานจึงเป็นการถึงสภาพธรรมที่ไม่เกิดเป็นสรณะ สภาพของนิพพานเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นปรมัตถธรรม จิตที่รู้แจ้งสภาพของนิพพานเป็นโลกุตตรจิต เพราะฉะนั้นทั้งนิพพาน และโลกุตตรจิตจึงเป็นธรรมรัตนะ และการที่พุทธศาสนิกชนจะถึงพระธรรม เป็นสรณะนั้น ก็จะต้องฟัง และศึกษาธรรม เพราะฉะนั้นทั้งนิพพาน โลกุตตรจิต และการศึกษาธรรมคือปริยัติ จึงเป็นธรรมสรณะ

    คุณวันทนา นี่ก็ตรงกับที่พระองค์ตรัสไว้กับท่านพระอานนท์ในมหาปรินิพพานสูตรว่า เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้ว พระองค์มิได้ทรงมอบหรือแต่งตั้งให้ผู้ใดเป็นศาสดาแทนพระองค์ แต่พระธรรมวินัยที่พระองค์ทรงแสดงไว้ดีแล้วนั้นเป็นศาสดาแทนพระองค์ ในสมัยนั้นก็มีพระสงฆ์สาวกที่เป็นพระอรหันต์มากมาย และมีทั้งพระอรหันตสาวกที่เป็นเอตตัคคะคือเป็นเลิศในทางต่างๆ กัน ทั้งในพระวินัยพระธรรม และในทางอิทธิฤทธิ์ ทำไมพระองค์ไม่ทรงแต่งตั้งให้ผู้หนึ่งผู้ใดเป็นศาสดแทนล่ะคะ

    ท่านอาจารย์ ถึงแม้พระภิกษุสงฆ์จะทรงเลิศในทางต่างๆ มากมายสักเพียงใด แต่ก็ไม่มีสาวกท่านใดที่ทรงคุณเสมอหรือเทียบเท่าพระบรมศาสดาผู้ทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าพระสงฆ์สาวกจะเป็นพระอริยเจ้าผู้ทรงคุณเลิศ ท่านก็เป็นผู้ควรแก่การนอบน้อมสักการะบูชาในฐานะพระสังฆรัตนะ ไม่ใช่ในฐานะพระพุทธรัตนะ

    คุณวันทนา จะเห็นได้ว่ารัตนะทั้ง ๓ และการถึงรัตนะทั้ง ๓ เป็นสรณะ ต่างกันอย่างนี้เองนะคะ

    ท่านอาจารย์ ในมัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เทวทหวรรค โคปกโมคคัลลานสูตร ข้อ ๑๐๕ - ๑๑๙ ท่านพระอานนท์ก็ได้สนทนา และชี้แจงให้พราหมณ์โคปกโมคคัลลานะเข้าใจเรื่องนี้ด้วย

    คุณวันทนา ท่านพระอานนท์ และพราหมณ์โคปกโมคคัลลานะสนทนากันว่าอย่างไรบ้างคะ

    ท่านอาจารย์ สมัยนั้นเป็นสมัยที่พระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้วไม่นาน ท่านพระอานนท์อยู่ที่พระวิหารเวฬุวัน เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า ท่านพระอานนท์คิดว่า ยังเช้าเกินกว่าที่จะเที่ยวบิณฑบาต ท่านจึงได้เข้าไปหาพราหมณ์โคปกโมคคัลลานะยังที่อยู่ และที่ทำงานของพราหมณ์โคปกโมคคัลลานะก่อน เมื่อพราหมณ์โคปกโมคคัลลานะเชื้อเชิญ และปราศรัยต้อนรับท่านพระอานนท์แล้วก็ถามท่านพระอานนท์

    คุณวันทนา คนที่สนใจในธรรม ไม่ว่าจะพบกันที่ไหน ก็อดที่จะสนทนา และไต่ถามธรรมกันไม่ได้เลยนะคะ เพราะในเรื่องนี้ถ้าเป็นเวลาที่เช้าเกินกว่าที่จะออกบิณฑบาต ก็แสดงว่ายังเป็นเวลาที่เช้าอยู่มากทีเดียว และอีกประการหนึ่งพราหมณ์โคปกโมคคัลลานะก็คงไม่อยากให้เสียโอกาสที่จะได้ความเข้าใจธรรมอย่างแจ่มแจ้งจากท่านพระอานนท์ เพราะว่าการที่จะได้พบบุคคลอย่างท่านพระอานนท์นั้นคงจะไม่ได้มีโอกาสพบบ่อยนัก ข้อข้องใจที่พราหมณ์โคปกโมคคัลลานะได้ถามท่านพระอานนท์ในวันนั้น เป็นข้อข้องใจเรื่องอะไรคะ

    ท่านอาจารย์ พราหมณ์โคปกโมคคัลลานะสงสัยว่าจะมีภิกษุรูปใดบ้างไหม ที่ถึงพร้อมด้วยธรรมทุกๆ ข้อ และทุกๆ ประการที่พระผู้มีพระภาคทรงถึงพร้อมแล้ว

    คุณวันทนา ดูไม่น่าสงสัยเลย

    ท่านอาจารย์ พราหมณ์โคปกโมคคัลลานะไม่เข้าใจธรรม และไม่รู้แจ้งธรรมอย่างท่านพระสาวกทั้งหลาย และสมัยนั้นก็มีพระสาวกมากรูปที่มีความเข้าใจธรรม และสามารถแสดงธรรมได้ละเอียดลึกซึ้ง และไพเราะแจ่มแจ้ง และยังมีอิทธิฤทธิทำปาฏิหาริย์ต่างๆ ได้ด้วย ดังนั้นพราหมณ์โคปกโมคคัลลานะจึงสงสัยว่า จะมีภิกษุสักรูปหนึ่งไหมที่ถึงพร้อมด้วยธรรมทุกๆ ข้อ และทุกๆ ประการที่พระผู้มีพระภาคทรงถึงพร้อมแล้ว

    คุณวันทนา นี่ก็แสดงว่าพราหมณ์โคปกโมคคัลลานะไม่เข้าใจความแตกต่างของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระสงฆ์สาวกนั่นเองนะคะ แล้วท่านพระอานนท์ตอบว่าอย่างไรคะ

    ท่านอาจารย์ ท่านพระอานนท์ตอบว่าไม่มีเลยแม้สักรูปหนึ่ง เพราะว่าพระผู้มีพระภาคทรงให้มรรคซึ่งยังไม่ได้อุบัติให้อุบัติ ตรัสบอกมรรคซึ่งยังไม่มีใครบอก ส่วนเหล่าสาวกนั้นเป็นผู้ดำเนินตามมรรคที่พระองค์ทรงรู้แจ้ง และตรัสบอก สาวกจึงรู้ตามในภายหลัง

    คุณวันทนา ธรรมดาวิชาทางโลกเท่าที่รู้กัน ย่อมจะมีผู้ที่ศึกษาแล้วรู้ยิ่งกว่าผู้ที่คิดค้นหรือรู้กว่าคนที่ค้นพบคนแรกอยู่เรื่อยๆ ความเจริญทางวัตถุจึงเจริญเพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆ ในด้านต่างๆ แต่ในเรื่องของอริยสัจจ์ซึ่งเป็นสภาพความจริงของสิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้นั้น นอกจากถ้าพระองค์ไม่ทรงแสดงก็ไม่มีใครสามารถรู้ความจริงข้อนี้ได้แล้ว ก็ยังเป็นที่สุดความจริงซึ่งไม่มีผู้ใดในภายหลังจะสามารถค้นพบความจริงได้ยิ่งกว่านั้นเลยนะคะ เพราะพระองค์ทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วนพระสาวกทั้งหลายก็ปฏิบัติตาม และรู้ตามธรรมที่พระองค์ทรงแสดงไว้แล้ว ท่านพระอานนท์กับพราหมณ์โคปกโมคคัลลานะสนทนากันว่ายังไงอีกคะ

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้น วัสสการพราหมณ์ ผู้เป็นมหาอำมาตย์แห่งแคว้นมคธ เที่ยวตรวจราชการในพระนครราชคฤห์ เพราะขณะนั้นพระเจ้าอชาตศัตรูสั่งให้ซ่อมแซมพระนครราชคฤห์ เพราะทรงระแวงพระเจ้าจัณฑปัชโชติแห่งกรุงอุชเชนี เมื่อวัสสการพราหมณ์เที่ยวตรวจราชการในพระนครราชคฤห์แล้ว ก็ได้เข้าไปยังที่ทำงานของพราหมณ์โคปกโมคคัลลานะ ซึ่งในขณะนั้นท่านพระอานนท์ และพราหมณ์โคปกโมคคัลลานะยังสนทนาความข้อนี้ค้างอยู่

    คุณวันทนา วัสสการพราหมณ์คงจะได้ร่วมสนทนาด้วยนะคะ

    ท่านอาจารย์ เมื่อวัสสการพราหมณ์ทราบว่าท่านพระอานนท์กับพราหมณ์โคปกโมคคัลลานะสนทนากันเรื่องอะไร และทราบว่าไม่มีภิกษุแม้สักรูปหนึ่งที่ถึงพร้อมด้วยธรรมทุกๆ ข้อ ทุกๆ ประการที่พระผู้มีพระภาคทรงถึงพร้อมแล้ว วัสสการพราหมณ์ก็ถามท่านพระอานนท์ต่อไปว่า มีพระภิกษุสักรูปหนึ่งไหม ที่พระผู้มีพระภาคทรงแต่งตั้งให้เป็นที่พึ่งที่อาศัยของภิกษุทั้งหลายเมื่อพระองค์ทรงปรินิพพานแล้ว ซึ่งท่านพระอานนท์ก็ตอบว่าไม่มี

    คุณวันทนา แล้ววัสสการพราหมณ์ถามต่อไปอีกหรือเปล่าคะ เพราะว่าคงจะยังไม่หมดสงสัยได้ง่ายๆ

    ท่านอาจารย์ วัสสการพราหมณ์ก็ได้ถามท่านพระอานนท์ต่อไปค่ะว่า มีภิกษุสักรูปหนึ่งไหมที่พระภิกษุเถระมากรูปด้วยกัน สมมติแต่งตั้งไว้เป็นที่พึ่งที่อาศัยของภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงปรินิพพานแล้ว ซึ่งท่านพระอานนท์ก็ตอบว่าไม่มี

    คุณวันทนา เมื่อพระผู้มีพระภาคมิได้ทรงแต่งตั้งใครเป็นที่พึ่งที่อาศัยของพระภิกษุสงฆ์แล้ว ภิกษุสงฆ์ก็ย่อมไม่สมมติแต่งตั้งผู้หนึ่งผู้ใด และวัสสการพราหมณ์ยังสงสัยต่อไปอีกหรือเปล่าคะ

    ท่านอาจารย์ วัสสการพราหมณ์ถามท่านพระอานนท์ว่า ก็เมื่อไม่มีที่พึ่งที่อาศัยแล้ว จะมีอะไรที่ทำให้พวกภิกษุสงฆ์สามัคคีกันได้ ซึ่งท่านพระอานนท์ก็ตอบว่า พวกพระภิกษุสงฆ์มีธรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ไม่ใช่ว่าไม่มีอะไรเป็นที่พึ่งอาศัยเลย

    คุณวันทนา แล้ววัสสการพราหมณ์เข้าใจไหมคะ

    ท่านอาจารย์ วัสสการพราหมณ์ไม่เข้าใจ แล้วท่านพระอานนท์ก็ได้อธิบายให้เข้าใจว่า ตามพระวินัยที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแก่พระภิกษุทั้งหลายนั้น ทุกวันอุโบสถภิกษุสงฆ์ต้องประชุมกันเชื้อเชิญพระภิกษุรูปหนึ่งให้สวดปาติโมกข์ ถ้าภิกษุใดมีอาบัติ และโทษที่ล่วงละเมิด ภิกษุทั้งหลายก็จะให้ภิกษุรูปนั้นทำตามธรรมที่พระองค์ทรงแสดงไว้ ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นเป็นผู้ให้ภิกษุนั้นกระทำ แต่ธรรมที่พระองค์ทรงแสดงไว้ต่างหากที่ทำให้ภิกษุนั้นกระทำ

    คุณวันทนา แล้ววัสสการพราหมณ์ว่าอย่างไรคะ

    ท่านอาจารย์ วัสสการพราหมณ์ก็ถามท่านพระอานนท์ต่อไปว่า มีภิกษุสักรูปหนึ่งไหมที่ภิกษุทั้งหลายสักการะเคารพนับถือ และอาศัยท่านผู้นั้น

    คุณวันทนา ที่ว่าอาศัยนั้นก็คงจะหมายความว่า อาศัยความอนุเคราะห์ในธรรม อาศัยฟังธรรมนั่นเองนะคะ แล้วท่านพระอานนท์ตอบว่าอย่างไรคะ

    ท่านอาจารย์ ท่านพระอานนท์ก็ตอบว่ามี วัสสการพราหมณ์ก็ไม่เข้าใจว่า ท่านพระอานนท์หมายความว่าอย่างไร เพราะเมื่อพระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงแต่งตั้งใครเป็นศาสดาแทนพระองค์ และพระภิกษุสงฆ์ก็ไม่ได้สมมติแต่งตั้งผู้ใด เพราะฉะนั้นเมื่อท่านพระอานนท์ว่ามีภิกษุที่ภิกษุทั้งหลายสักการะเคารพนับถือ และอาศัย วัสสการพราหมณ์ก็สงสัยว่า ภิกษุที่ภิกษุทั้งหลายสักการะเคารพนับถือ และอาศัยนั้น หมายถึงผู้ใด

    คุณวันทนา แล้วท่านพระอานนท์ตอบว่าอย่างไรคะ

    ท่านอาจารย์ ท่านพระอานนท์ตอบว่า พระผู้มีพระภาคตรัสบอกธรรมที่เป็นที่ตั้งของความเลื่อมใสไว้ ๑๐ ประการ ในบรรดาภิกษุทั้งหลายนั้น ภิกษุรูปใดมีธรรมเหล่านั้น ภิกษุทั้งหลายก็ย่อมสักการะเคารพนับถือบูชา อาศัยภิกษุรูปนั้น

    คุณวันทนา ธรรม ๑๐ ประการนั้น คงไม่ได้มีแก่ภิกษุทุกรูปหรอกนะคะ

    ท่านอาจารย์ ธรรม ๑๐ ประการนั้นคือ

    ๑ เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยปาติโมกสังวร ถึงพร้อมด้วยอาจาระ และโคจร คือความประพฤติ และการไป เป็นผู้มีศีล และย่อมเป็นผู้เห็นภัยในโทษแม้เพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลาย

    ๒ เป็นพหูสูต ทรงการศึกษาสั่งสมการศึกษาธรรมที่งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ ประกาศพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ได้สดับมากแล้วทรงจำไว้ได้คล่องปาก เพ่งพิจารณาตามด้วยใจ แทงตลอดด้วยความเห็น

    ๓ เป็นผู้สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร

    ๔ เป็นผู้ได้ฌาน ๔ เป็นเครื่องอยู่สบายในปัจจุบันตามความปรารถนา ได้ไม่ยากไม่ลำบาก

    ๕ ย่อมแสดงฤทธิได้เป็นอเนกประการ

    ๖ มีทิพโสต ฟังเสียงทิพย์ และเสียงมนุษย์ทั้งที่ไกล และที่ใกล้ได้

    ๗ ย่อมรู้จิตคนอื่น เช่น รู้ว่าขณะนั้นจิตของใครมีราคะ และปราศจากราคะ เป็นต้น

    ๘ ระลึกชาติได้เป็นอันมาก

    ๙ เห็นจุติ และปฏิสนธิของสัตว์ทั้งหลายได้ด้วยทิพยจักขุ

    ๑๐ ย่อมบรรลุอริยสัจจ์ สิ้นอาสวะกิเลส

    คุณวันทนา สรุปแล้วคุณธรรม ๑๐ ประการนี้ ก็รวมอยู่ในศีล สมาธิ ปัญญา อย่างเลิศนั่นเองนะคะ เพราะศีลก็จะต้องบริสุทธิ์อย่างยิ่ง สมาธิก็จะต้องได้ถึงขั้นฌาน และอภิญญาต่างๆ และปัญญาก็ต้องบรรลุถึงขั้นคุณธรรมที่ดับกิเลสได้จนหมดสิ้น และตอนนี้วัสสการพราหมณ์เข้าใจหรือยังคะ

    ท่านอาจารย์ วัสสการพราหมณ์เข้าใจค่ะ แล้ววัสสการพราหมณ์ก็ได้เรียกอุปนันทะเสนาบดีมาพูดให้อุปนันทะเสนาบดีเข้าใจว่า ที่พระคุณเจ้าทั้งหลายเคารพนับถือนั้น พระคุณเจ้าทั้งหลายสักการะธรรมที่ควรสักการะ เคารพธรรมที่ควรเคารพ นับถือธรรมที่ควรนับถือ บูชาธรรมที่ควรบูชา เพราะถ้าพระคุณเจ้าทั้งหลายไม่พึงเคารพสักการะนับถือบูชาสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ พระคุณเจ้าทั้งหลายจะเคารพนับถือบูชาสิ่งใด

    คุณวันทนา ข้อความในพระสูตรละเอียด และไม่เว้นแม้แต่คำสนทนาของบุคคลต่างๆ เลยทีเดียวนะคะ ทำให้เห็นภาพ และดูเหมือนจะได้ยินคำที่ท่านสนทนากันอย่างชัดเจน ด้วยความกรุณา และความอนุเคราะห์ของพระสงฆ์สาวกที่ท่านได้ทรงจำต่อๆ กันมา จนถึงได้จารึกไว้เป็นตัวอักษร ตกทอดมาถึงเราในปัจจุบันนี้นะคะ แล้วต่อไปเป็นยังไงคะ ขอความกรุณาเล่าให้จบ

    ท่านอาจารย์ แล้ววัสสการพราหมณ์ก็ได้ถามท่านพระอานนท์ว่า ขณะนั้นท่านพระอานนท์อยู่ที่ไหน ท่านพระอานนท์ก็ตอบว่า เวลานี้ท่านอยู่ที่พระวิหารเวฬุวัน

    วัสสการพราหมณ์กล่าวว่า พระวิหารเวฬุวันเป็นที่น่ารื่นรมย์ เงียบเสียง ไม่อึกทึกครึกโครม มีลมพัดเย็นสบาย สมควรเป็นที่หลีกเร้น

    ท่านพระอานนท์กล่าวว่า ที่พระวิหารเวฬุวันเป็นที่น่ารื่นรมย์ เงียบเสียง สมควรแก่การหลีกเร้นนั้น ก็เป็นเพราะมีผู้คุ้มครองรักษาเช่นวัสสการพราหมณ์

    วัสสการพราหมณ์กล่าวว่า ที่พระวิหารเวฬุวัน เป็นที่น่ารื่นรมย์ สมควรแก่การหลีกเร้นนั้น ก็เป็นเพราะเป็นที่ที่พระคุณเจ้าทั้งหลายเจริญฌานนั่นเอง

    คุณวันทนา ก็แสดงว่าทั้งท่านพระอานนท์ และวัสสการพราหมณ์ต่างก็เห็นคุณที่แต่ละฝ่ายได้อนุเคราะห์ซึ่งกัน และกัน

    ท่านอาจารย์ แล้ววัสสการพราหมณ์ก็ได้เล่าเรื่องถวายท่านพระอานนท์ ถึงสมัยหนึ่งที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กูฎาคารศาลาในป่ามหาวัน เขตพระนครเวสาลี วัสสการพราหมณ์ได้เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคได้ตรัสฌานกถาโดยอเนกประการ และพระองค์ทรงสรรเสริญฌานทั้งปวง

    ท่านพระอานนท์ก็อธิบายให้วัสสการพราหมณ์เข้าใจว่า ไม่ใช่ว่าพระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญฌานทั้งปวง ฌานที่เป็นอกุศลพระองค์ไม่ทรงสรรเสริญ พระองค์ทรงสรรเสริญแต่ฌานที่ไม่เป็นอกุศลเท่านั้น

    คุณวันทนา ฌานที่เป็นอกุศลก็มีหรือคะ เพราะโดยมากเข้าใจกันว่า เมื่ออบรมเจริญสมถภาวนาจนกระทั่งจิตสงบถึงขั้นอัปปนาสมาธิจึงเป็นฌานเพราะจิตแนบแน่นในอารมณ์ทางใจอารมณ์เดียว ไม่รับรู้อารมณ์อื่นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เลย

    ท่านอาจารย์ คำว่าฌานนั้นหมายถึงสภาพจิตที่จดจ่ออยู่ที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ซึ่งเป็นอกุศลก็ได้ ไม่ใช่อกุศลก็ได้ อย่างคนที่จดจ่อพอใจอยู่แต่ในเรื่องของรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ไม่รู้วิธีบรรเทาความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสที่เกิดขึ้น ก็ย่อมจะเพ่งเล็งจดจ่อ และปักใจ มุ่งอยู่แต่เฉพาะเรื่องของความพอใจนั้น หรือคนที่มีจิตเร่าร้อนด้วยความโกรธ ความพยาบาท ก็เพ่งเล็ง จดจ่อปักใจ มุ่งมั่นเฉพาะเรื่องที่พยาบาท ไม่คิดถึงเรื่องอื่นเลย ความจดจ่อปักใจมุ่งมั่นเช่นนี้ เป็นอกุศลฌานที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงสรรเสริญ แต่ฌานที่สงบจากอกุศลธรรมต่างๆ เช่น ปฐมฌานเป็นต้น ที่เกิดจากการเจริญสมถภาวนานั้น พระองค์ทรงสรรเสริญ

    คุณวันทนา ถ้าไม่ศึกษาพระไตรปิฎกให้ทั่วถึงแล้ว ก็อาจจะเข้าใจความหมายของพยัญชนะแต่เฉพาะในหมวดธรรมที่ได้ศึกษาแล้วเท่านั้น ไม่สามารถจะเข้าใจความหมายของพยัญชนะนั้นได้ทั่วถึงในที่ต่างๆ ด้วย และจะเป็นเหตุให้แปลความหมายของคำนั้นตามความเข้าใจของตนเอง ซึ่งไม่ตรงกับความหมายที่ทรงแสดงไว้ในหมวดธรรมแต่ละหมวด อย่างความหมายของคำว่าฌาน เป็นต้น แล้วตอนจบของพระสูตรนี้เป็นอย่างไรบ้างคะ

    ท่านอาจารย์ เมื่อวัสสการพราหมณ์เข้าใจแล้วก็ลาไปค่ะ พอวัสสการพราหมณ์ลาไปแล้ว พราหมณ์โคปกโมคคัลลานะก็กล่าวกับท่านพระอานนท์ว่า ท่านพระอานนท์ยังไม่ได้พยากรณ์ปัญหาที่พราหมณ์โคปกโมคคัลลานะถาม ท่านพระอานนท์เป็นอัครสาวกผู้เลิศในความทรงจำ ท่านตอบพราหมณ์โคปกโมคคัลลานะว่า “เราได้กล่าวกะท่านแล้วมิใช่หรือว่า ไม่มีเลยแม้ภิกษุสักรูปหนึ่งผู้ถึงพร้อมด้วยธรรมทุกๆ ข้อ และทุกๆ ประการที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงพร้อมแล้ว เพราะพระผู้มีพระภาคทรงให้มรรคที่ยังไม่อุบัติได้อุบัติ ที่ยังไม่เกิดได้เกิด ตรัสบอกมรรคที่ยังไม่มีใครบอก ทรงทราบชัดมรรค ทรงรู้แจ้งมรรค และทรงฉลาดในมรรค ส่วนเหล่าสาวกเป็นผู้ดำเนินตามมรรคทั้งพระองค์ทรงรู้แจ้ง และตรัสบอก สาวกจึงรู้ตามในภายหลัง”

    คุณวันทนา เรื่องของพราหมณ์โคปกโมคคัลลานะก็จบลงพร้อมด้วยการสนทนาของเรา สวัสดีค่ะ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 1
    9 ก.พ. 2567

    ซีดีแนะนำ